แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ผู้ร่วมสนทนา: ไปบ้านนิทานกันเถอะ มีนิทานตั้งเยอะให้พวกเราฟัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีทุกคนนะคะ ชอบฟังนิทานเรื่องอะไรคะ นิทานอย่างไหนที่หนูชอบฟัง
ผู้ร่วมสนทนา: ผจญภัยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ชอบผจญภัยเหรอคะ ถ้าอย่างนั้นไอที่เราจะเล่ากันนี้ก็ผจญภัยเหมือนกัน แต่จะผจญภัยถึงใจหรือไม่คอยดูเอาเองนะคะ ลองสังเกตเอาเอง บางทีเชื่อว่าหนูๆทุกคนคงเคยได้ยินนิทานเก่าแก่โบราณ ที่ท่านเล่ากันมาเรื่องยายกะตา เคยได้ยินไหมคะ ไม่เคยได้ยินเลยเหรอคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่เคย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะงั้นควรจะฟัง เพราะนิทานนี้เป็นนิทานสมัยที่คุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายฟังกันมาทุกสมัยเลย ยายกะตาก็บอกแล้วว่าเป็นเรื่องของคนหนุ่มคนสาวรึเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะงั้นก็เป็นเรื่องของคนแก่นะคะ เพราะงั้นเมื่อเป็นยายกะตาก็มักจะต้องมีหลาน ยายกะตาก็มีหลาน ก็มีหลานสาวอยู่คน หลานชายอยู่คน แล้วก็ยายกะตาก็สั่งหลานบอกว่า สิ่งที่จะให้หลานทำนี้ จงตั้งใจ ยายปลูกถั่วปลูกงาเอาไว้ ก็ขอให้หลานช่วยดูถั่วดูงาให้ดีนะ อย่าให้กามาเอาไปกินนะคะ แล้วยายก็ออกไปทำไร่ทำนา ไปข้างนอก ให้หลานอยู่บ้าน หลานผู้หญิงคน หลานผู้ชายคน แต่หลานสองคนนี่พอยายตาไปแล้ว แทนที่จะดูถั่วดูงาให้เรียบร้อย ไม่ให้กามากิน ก็กลับพากันไปวิ่งเล่นซะ พอไปวิ่งเล่น กามันก็ได้โอกาส มันก็มากินถั่วกินงา พอกลับมาตายายไม่เห็นถั่วงาเหลือในทุ่งนาเลย ในนาที่ว่านเอาไว้ ก็โกรธ ก็อดไม่ได้ ที่จะดุจะว่า แล้วก็เลยเอาไม้ตีทั้งหลานสาวหลานชาย เพราะเห็นว่าบอกเท่าไหร่ก็ไม่เชื่อ แล้วยายตาก็เลยบอกว่า นี่นะ ต้องไปหาถั่วหางามาคืนให้ด้วยนะ หลานสองคนก็นึกว่า แล้วเราจะไปหาถั่วหางามาได้ยังไง ใครมาเอาไปกิน กาใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นหลานสองคนก็ไปหากา ขอถั่วของาคืนเถอะ กาก็ไม่ยอมให้ ก็ไม่ยอมให้ หลานสองคนก็ไปหานายพราน เพื่อให้มายิงกา นายพรานก็เกิดบอก ไม่เอาหรอก ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของข้าสักหน่อยนึง แกไปทำเรื่องเดือดร้อนแล้วมารบกวนเราทำไม ไม่เอาไม่ไป ทีนี้ ไม่ยอมนิ นายพรานนี่มีอะไรเป็นเครื่องมือคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ธนู
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มีธนู แล้วธนูนี่ก็เป็นสายธนูใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อนายพรานไม่ยอมยิงกา หลานสองคนก็คิดว่า ทำยังไงให้นายพรานคนนี้เดือดร้อนสักหน่อย ก็จะต้องทำยังไงกับสิ่งที่เป็นเครื่องมือของนายพราน ก็ไปหาหนูเพื่อให้มา
ผู้ร่วมสนทนา: กัดสายธนู
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กัดสายธนูนายพราน ตอนนี้ชักจะนึกเรื่องออกแล้วใช่ไหมคะ นั้นแหละค่ะสายธนูนายพราน หนูก็อีกนั้นแหละ ไม่เอา ไม่ใช่ธุระอะไรกงการของข้า เราไม่ยอมไปกัดหรอก ทีนี้หลานจะไปไหนคะ
ผู้ร่วมสนทนา: หาแมว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถูกค่ะ หนูไม่ยอมกัดสายธนูนายพรานก็ต้องไปหาแมวมาทำไมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: กินหนู
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ มากัดหนู แมวนี่ก็เกิดใจดำ ขี้เกียจ ไม่ยอมช่วยอีก หลานไปไหนล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: หาหมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หาหมามาทำไมล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: กัดแมว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กัดแมว หมานี่ก็เหมือนแมวอีกเหมือนกัน ไม่เอาเรื่องคนอื่น จะเอาแต่เรื่องของตัวเองอย่างเดียว ทีนี่จะไปไหนล่ะค่ะ นึกออกไหม ตอนที่ไปหาหมา หมาไม่ยอมมากัดแมว ทำยังไงถึงจะให้หมาเจ็บปวด ถึงจะได้หันมาช่วย อย่างนั้นก็ได้นะคะ แต่เผอิญในนิทานเรื่องนี้เขาก็บอกว่า หลานก็เลยไปหาไม้ค้อน รู้จักไม้ค้อนใช่ไหมคะ ไม้ค้อนไปย้อนหูหมาที ทีนี่ไปย้อนหูหมา หูหมามันเจ็บ ไม้ค้อนก็เลิก หูหมาก็แค่นี้ ถูกไหมคะ ไม้ค้อนไปย้อนหูหมาหน่อยเถอะ ไม้ค้อนก็อีกแหละ ไม่เอา เราไม่ไป เราขี้เกียจ ทีนี่ไม้ค้อนทำด้วยอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ไม้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำด้วยไม้ ทำยังไงถึงไม้จะไหม้ล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไฟ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปเผาไฟ หลานสองคนก็พากันไปหาไฟ ไฟไปช่วยเผาไม้ค้อนหน่อยเถอะ ไฟก็เกิดใจดำขึ้นมาอีกเหมือนกัน ทีนี้จะไปหาใคร
ผู้ร่วมสนทนา: น้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หาน้ำ หาน้ำให้มาทำไม
ผู้ร่วมสนทนา: ดับไฟ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หาน้ำให้มาดับไฟ เอาไปราดไฟ กองไฟให้ดับสักที น้ำทั้งๆที่เย็น ก็เกิดใจดำไม่เย็น ไม่ยอมช่วย ทีนี่หลานสองคนก็นึก ทำยังไงนะ ถึงจะทำให้น้ำนี่มันต้องเจ็บปวดด้วยการที่มันไม่มีน้ำแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา: หาดินมาถม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หาดินมาถม แต่เผอิญดินที่มันอยู่ใกล้ที่สุดกับน้ำก็คือดินตรงไหนล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ตลิ่ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตลิ่งถูกต้อง ตลิ่งที่มันอยู่ใกล้น้ำใช่ไหมคะ ก็ไปหาตลิ่ง ตลิ่ง ช่วยพังทับน้ำทีเถอะ คือให้ตลิ่งนี่มันมันโรยตัวลงไปเสียแล้วน้ำมันจะได้เต็ม มันจะได้หมดไปเพราะว่าดินลงไปถมเต็ม ตลิ่งไม่ยอม ไม่ยอมทำตาม ทีนี่ทำไงถึงจะทำให้ตลิ่งมันพังลงมาได้ สัตว์อะไรตัวใหญ่คะ
ผู้ร่วมสนทนา: ช้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ช้าง หลานสองคนก็เอาล่ะ ไปหาช้างซึ่งเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่สุดนี่แหละ ช่วยไปกระทืบตลิ่งทีเหอะน่า เท้าใหญ่ๆนี่กระทืบลงไปให้ตลิ่งพังเลย ช้างก็ไม่เอาอีกเหมือนกัน ทั้งๆที่กระทืบทีเดียวตลิ่งก็พัง ช้างก็ไม่ยอม ช้างสัตว์ตัวใหญ่ที่สุดนี่ไม่ยอมช่วยเรา เราจะไปหาอะไรนะที่เป็นสัตว์เล็กที่สุดที่จะทำความรำคาญให้แก่ช้างได้
ผู้ร่วมสนทนา: มด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นอกจากมดอะไรที่เล็กเหมือนมด
ผู้ร่วมสนทนา: ผึ้งก็ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตัวที่มันบินได้ ตัวริ้น ตัวริ้นเล็กๆ รู้จักไหมคะ ตัวริ้นเล็กๆนิดเดียวเหมือนแมงหวี่อะนะคะ ตัวเล็กเกือบจะเท่าปลายเล็บก้อยของเรานี่นะคะ ก็ไปหาตัวแมงหวี่แมงหวี่นี่เป็นสัตว์เล็กนิดเดียวถ้าเปรียบกับช้างนี่ก็โอ้โหไม่รู้กี่เท่าไม่รู้กี่เท่ากี่เท่า กี่หมื่นส่วนกันอะนะคะ ก็บอกว่าแมงหวี่ช่วยหน่อยเถอะ ช่วยไปทำอะไรช้างถึงจะรำคาญ
ผู้ร่วมสนทนา: ตอม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปตอม ตอมที่ไหนคะ
ผู้ร่วมสนทนา: งวง ตา…
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ ไปตอมตาช้าง ก็อย่างเรานี่ เรานั่งอ่านหนังสือเขียนหนังสือหรือแม้แต่เล่น ถ้ามีอะไรมาตอมวี่ๆอยู่ตรงลูกนัยตาเราเป็นไง
ผู้ร่วมสนทนา: รำคาญครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รำคาญ มันหมดสมาธิทำอะไรไม่ได้ ก็ไปขอแมงหวี่มาช่วยตอบตาช้างหน่อยเถอะ แมงหวี่นี่เป็นสัตว์ตัวเล็กนิดเดียว แต่ว่าเกิดมีน้ำใจ น้ำใจสงสารว่าหลานสองคนนี่ได้ไปเที่ยวหาใครๆมากมายก่ายกองแล้วเพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครช่วย ก็เอาเถอะ จะไปตอมตาช้างให้ พอบอกว่าแมงหวี่จะไปตอมตาช้างนะ ช้างทั้งๆที่ตัวใหญ่นี่ มันรู้ว่าถ้าแมงหวี่มาตอมมันช่วยตัวเองได้ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หางช้างก็เป็นไง
ผู้ร่วมสนทนา: สั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สั้น เล็กนิดเดียวแล้วก็อยู่ไกลตัวด้วยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นช้างก็เลยบอก เอาเถอะไม่ต้องมาตอมหรอก เราจะรีบไปพังตลิ่งให้ ตลิ่งก็บอกไงคะ เราแทนสิคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ตลิ่งก็จะไปทับน้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตลิ่งก็บอกจะไปทับน้ำให้ น้ำก็
ผู้ร่วมสนทนา/อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะไปด้บไฟให้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไฟก็
ผู้ร่วมสนทนา: จะไปเผาไม้ค้อนให้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม้ค้อนก็
ผู้ร่วมสนทนา: จะไปย้อนหูหมาให้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หมาก็…
ผู้ร่วมสนทนา: หมาก็ไปกัดแมว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แมวก็
ผู้ร่วมสนทนา: แมวก็ไปกัดหนูให้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หนูก็
ผู้ร่วมสนทนา: จะไปกัดสายธนูนายพราน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สายธนูนายพราน นายพรานก็เป็นไงคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไปยิงกา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ่า นายพรานก็เอาเถอะ นายพรานจะไปยิงกาให้เอง เพราะถ้าขืนกินสายธนูนายพราน นายพรานก็หมดเครื่องมือหากิน หมดอาชีพเลย ไม่ต้องเราจะไปยิงกาให้ พอกาได้ยินก็รีบบอกเลย อย่ายิงเลยนายพราน เราจะ…
ผู้ร่วมสนทนา: คืนถั่วคืนงาให้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราจะคืนถั่วคืนงาให้ ก็ไปคาบเอาถั่วงาที่หยิบมากิน ที่มาคาบไปเก็บไว้เป็นเสบียงของเขาเอามาคืน พอเอามาคืนหลานก็ดีอกดีใจ ตายายก็หยุดด่าหยุดตีหยุดว่า แล้วสองคนก็เต้นระบำกันสนุกสนานเลย นี่ก็เป็นนิทานยายกับตาก็จบลง นี่เป็นนิทานยายกะตาไทยนะคะ ทีนี้ถ้าหนูลองนึกดูว่านิทานยากะตาของไทยหรือมีของฝรั่งที่จะเรียกนิทานยายกะตาก็ได้เขาไม่ได้บอกว่ายากะตา แต่วิธีลักษณะการเล่าเรื่องนี่เหมือนกัน นี่เราพูดถึงของไทยนะ ทีนี่จะพูดถึงของฝรั่งให้ฟัง ของฝรั่งนี่เขาก็พูดถึงว่า มียายแก่คนนึง ยายแก่ฝรั่งนี่นะคะแกก็มีเหยือกนมเหยือกหนึ่ง แล้วก็ก็ถือเหยือกนมไปที่ชายป่า แล้วก็วางเหยือกนมเอาไว้เพื่อที่จะไปหักฝืนสำหรับที่จะมาก่อไฟ ในขณะที่แกวางเหยือกนมเอาไว้นี่แกก็ไปหาฝืน ในขณะที่แกหาฝืน ก็มีเจ้าหมาจิ้งจอกตัวนึงออกมาจากป่า มาถึงก็ เห็นเหยือกนมอยู่ดีอกดีใจดื่มอั้กๆๆๆจนหมดเกลี้ยงเลย น้ำนมในเหยือกหมดเกลี้ยงเลย พอยายแก่หันมา อ้าว นมหมดแล้ว แก้ก็ใช้มีดที่แกตัดฝืนตัดหางจิ้งจอกฉับ! ขาดเลย ทีนี่หมาจิ้งจอกนี่มันสวยตรงไหนคะ
ผู้ร่วมสนทนา: หาง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สวยที่หาง หางมันเป็นพวงงาม แหม่พอถูกตัดหางออกไปหมาจิ้งจอกเศร้าใจ โถ่ แล้วเรานี่ก็กลายเป็นหมาหางด้วน หมาหางด้วนก็ไม่เป็นไร แล้วยังจะหาความงามไม่ได้อีก ก็อ้อนวอนยาย ยายคืนหางมาให้เราเถอะ ช่วยเย็บหางให้ติดกับตัวเราหน่อย ยายแก่ก็…ไม่เอา ถ้าแกอยากได้หางแกคืน แกก็ไปเอานมมาคืนเราสิ ไปหานมมาคืน นึกสิคะว่าเจ้าหมาจิ้งจอกจะไปไหน
ผู้ร่วมสนทนา: หาวัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปหาวัว ไปหาแม่วัวที่กำลังมีนมอยู่อะนะคะ แม่วัวขอนมหน่อยเถอะ แม่วัวก็บอก ก็ได้แต่ต้องไปหาอะไรมาให้เรา วัวกินไรล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: หญ้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปหาหญ้ามาให้เรา ถ้าเราได้หญ้ากินเราถึงจะให้นมวัว ก็ไปไหนแหละหมาจิ้งจอก
ผู้ร่วมสนทนา: ไปหาหญ้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ไปหาหญ้า ขอหญ้าหน่อยนะ จะได้ไปให้วัวกินแล้วจะได้ให้นมเราแล้วเราจะได้ไปคืนยายแก่แล้วยายแก่จะได้คืนหางให้ หญ้านี่ก็อีกเหมือนกัน เกิดหวง ไม่ได้ อยากได้กินหญ้า อยาก…อยากได้หญ้าเราก็ต้องไปหา…
ผู้ร่วมสนทนา: น้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หาน้ำมาทำไมคะ
ผู้ร่วมสนทนา/อุบาสิกา คุณรัญจวน: รดหญ้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หญ้าจะได้เจริญเติบโตไง หลังจากนั้นล่ะ อ่า นี่ก็เดินต่อไปอีกหมาจิ้งจอก ไปที่ไหนล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ที่บ่อน้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ก็จัดแจงไปที่แม่น้ำนี่เพื่อที่จะได้ขอน้ำ น้ำก็บอกก็ได้จะเอานำก็ได้ แต่ต้องไปหาเหยือกมาก่อน แกจะเอาอะไรมาตักล่ะ แกต้องไปหาเหยือกมาก่อน ถ้าได้เหยือกมาแกก็เอาน้ำไป นี่ก็เดินไป เดินไป ก็พอดีพบผู้หญิงคนนึง หน้าตาก็สะสวยถือเหยือกอยู่ บอกขอได้ไหม ขอเหยือกได้ไหม ผู้หญิงนั้นก็บอกได้ จะเอาเหยือกก็ได้แต่ไปหาลูกปัดสีน้ำเงินมาให้เราก่อน แหม่ผู้หญิงคนนี้ชอบสวยแต่เผอิญชอบใส่ลูกปัดแล้วก็เจาะจงว่าสีน้ำเงินด้วย แหม่หมาจิ้งจอกก็กลุ้มใจ จะไปหาลูกปัดสีน้ำเงินที่ไหนนะคะ ก็เดิน เดินไปก็พอดีไปพบพ่อค้าเร่พ่อค้าเร่ที่ขายของกระจุกกระจิกโน่นนี่แล้วก็มีลูกปัดสีน้ำเงินอยู่ด้วยก็ขอ ขอลูกปัดสีน้ำเงินหน่อยได้ไหม นี่ก็บอกได้ แต่ว่าไปเอาไข่มาแลกสิ จะไปไหนล่ะคะทีนี่
ผู้ร่วมสนทนา: แม่ไก่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปหาแม่ไก่ แม่ไก่ขอไข่หน่อยเถอะขอไข่สักใบนึงเราจะไปให้พ่อค้าเร่ เขาจะได้ให้พวกลูกปัดสีน้ำเงิน นี่ก็บอก ไม่ได้ ไม่ได้ จะมาเอาอย่างนี้ไม่ได้ หากว่าแกอย่างจะได้ไข่ ไปหาแม่ไก่นี่นะ หากว่าแกอยากจะได้ไข่ แม่ไก่กินไรละคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ข้าวเปลือก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ข้าวเปลือก ต้องไปไหน ข้าวเปลือกไปไหน ไปหาที่ไหน ที่เขาจะมีข้าวเปลือก ที่จะทำข้าวสาร
ผู้ร่วมสนทนา: โรงสี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โรงสี ก็ไปโรงสี ก็ไปหาเจ้าของโรงสีบอกขอข้าวเปลือกหน่อยเถอะจะไปให้แม่ไก่ ถ้าแม่ไก่ได้กินข้าวเปลือกเขาจะได้ให้ไข่แล้วก็อ้อนวอนร้องไห้ เผอิญเจ้าของโรงสีนี่ เป็นคนในอ่อนขี้สงสารก็เลยบอกเอาเหอะเราจะให้ ก็เลยจัดแจงข้าวเปลือกใส่ถุงให้ แล้วเสร็จแล้วก็เอาถุงนั้นน่ะห้อยคอเจ้าหมาจิ้งจอก เจ้าหมาจิ้งจอกก็เดินอย่างอิ่มอกอิ่มใจ ก็ไปไหนล่ะคะ ไปหาใคร
ผู้ร่วมสนทนา: ไปหาแม่ไก่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปหาแม่ไก่ เพื่อ…
ผู้ร่วมสนทนา: เอาไข่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาไข่ เอาข้าวเปลือกให้แล้วขอไข่ออกมา ได้ไข่แล้วไปไหนคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไปหาพ่อค้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หาพ่อค้าเร่ เพื่อ
ผู้ร่วมสนทนา: เอาลูกปัดสีน้ำเงิน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาลูกปัดสีน้ำเงิน แล้วเอาไปไหนล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เอาไปให้หญิง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาไปให้ผู้หญิงคนนั้น แล้วผู้หญิงคนนั้นก็ให้
ผู้ร่วมสนทนา: เหยือก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาเหยือกไปไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ตักน้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปตักน้ำจากแม่น้ำ แล้วเอาน้ำไปไหนล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: รดหญ้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปรดหญ้า แล้วเอาหญ้าไปไหนล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เอาหญ้าไปให้วัวกิน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: วัวกินหญ้าแล้วก็…
ผู้ร่วมสนทนา: ให้นม…
อุบาสิกา คุณรัญจวน: พอได้นมแล้วไปไหนละคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไปคืนยายแก่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วไปคืนยายแก่ พอยายแก่ได้นมคืนก็หยิบหางที่ตัดไว้อะมาเย็บฉับๆๆๆติดกับตัว หมาจิ้งจอกก็กลายเป็นหมาจิ้งจอกที่มีหางสวยเป็นพวงดังเดิม ก็มีความภูมิอกภูมิใจในความสวยงามของตัวที่ได้หางกลับคืนมา เรื่องนี้ก็จบ ทีนี้สังเกตไหมคะว่านิทานยายกะตาอย่างนี่ ถ้าหนูอยากจะแต่งสักเรื่องนึง แต่งเอง แต่งได้ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: แต่งได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แต่งได้ หรืออยากจะแต่งต่อจากเรื่องที่หนูฟังทั้งยายกะตาของไทย ยายกะตาของฝรั่งแต่ต่ออีกได้ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หนูอยากจะแต่ต่อให้ยาวต่อไปอีกสักห้านาที สักสิบนาทีก็ทำได้ใช่ไหมคะ มันเป็นนิทานที่เราอยากจะแต่งต่อเท่าไหร่ๆก็ได้ หรืออยากไม่รู้จบ ถ้าเราต้องการ แต่ในการแต่งนิทานต่อนี่ หนูสังเกตไหมว่ามันจะต้องต่อกันอย่างมีเหตุมีผลรึเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ต้องมี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ ต้องมีเหตุมีผล ทีนี่เรามาดูนิทานยายกะตาไทยซะก่อนนะคะ นิทานยายกะตาเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ฟังแล้วนึกสักนิดสิคะ เรื่องนี้มันเกิดเป็นเรื่องเป็นราวต่อกันมาได้ยังไง มันเริ่มที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา: หลานๆไม่ยอมไปเฝ้าถั่วกะงาให้คุณตาคุณยาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่หลานๆไม่ยอมเฝ้าถั่วเฝ้างาให้ตากะยาย ซึ่งอันนี้เป็นหน้าที่ของหลานรึเปล่าคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เป็นหน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เป็นหน้าที่ของหลานเพราะตายายก็ขอร้องแล้วใช่ไหมคะ ว่านี่นะช่วยดูแลหน่อย ช่วยเหลือยายหน่อย แต่ว่าหลานสองคนนี่ไม่ทำหน้าที่ของตัว รับผิดชอบไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่รับผิดชอบ เอาแต่อะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เล่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาแต่เล่นสนุกสนานไม่รับผิดชอบเลย ฉะนั้นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดที่ตรง
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่มีความรับผิดชอบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หลานไม่มีทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนนี่เป็นจุดเริ่มต้นนะคะ หนูช่วยสังเกตอันนี้เอาไว้ เมื่อใดที่มีการทำหน้าที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เมื่อนั้นจะเป็นเหตุที่ผลนั้นตามมาอย่างถูกต้องไม่ถูกต้อง
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วสุขสบายไหม
ผู้ร่วมสนทนา/อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่สุข
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คนที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความสุขไม่สบาย มันจะต้องมีอะไรที่หงุดหงิดอัดอึดอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นมันก็เริ่มต้นจากอันนี้ แล้วเสร็จแล้วก็ไปหานายพรานเพื่อให้มายิงกา นายพรานนี่เป็นยังไง มีนิสัยใจคอยังไง
ผู้ร่วมสนทนา: ใจดำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใจดำ คนใจดำนี่เขาเรียกว่าคนเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ผู้อื่นคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เห็นแก่ตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของเราเราไม่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเรื่องของเราเราถึงจะทำ แต่ถ้าหากอะไรที่เราได้เราจะชอบอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นนายพรานนี่ก็แสดงถึงความไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกันกับอะไร จากนายพรานไปไหน
ผู้ร่วมสนทนา: หนู
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากหนู
ผู้ร่วมสนทนา: แมว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากแมว
ผู้ร่วมสนทนา: หมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากหมา
ผู้ร่วมสนทนา: ไม้ค้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากไม้ค้อน
ผู้ร่วมสนทนา: ไฟ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากไฟ
ผู้ร่วมสนทนา: น้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากน้ำ
ผู้ร่วมสนทนา: ตลิ่ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จากตลิ่ง
ผู้ร่วมสนทนา: ช้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่มาจนถึงช้างนี่นะคะ ตั้งแต่นายพรานจนถึงช้างแต่ละชีวิตที่ผ่านมา ที่กล่าวมาแล้ว เป็นชีวิตที่เป็นยังไง
ผู้ร่วมสนทนา: เห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ล้วนแล้วแต่เห็นแก่ตัวทั้งนั้น แล้วหนูคิดว่าถ้าที่ใดมีการเห็นแก่ตัวไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือในวงเพื่อนฝูงของเราหรือในสังคม มีความสุขไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่มีความสุขเพราะว่ามีแต่การเบียดเบียนกันมีแต่การเอาเปรียบกัน แต่พอมีถึงสุดท้ายคือใคร
ผู้ร่วมสนทนา: ริ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตัวริ้นหรือตัวแมงหวี่ก็ได้ตัวเล็กๆอย่างนี้ อันที่จริงเป็นหน้าที่รึป่าว ถ้าจะว่าไป
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ใช่หน้าที่ ถ้าหากแมงหวี่จะปฏิเสธใครจะว่าเขาได้ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ว่าไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนก่อเรื่องรึเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: เปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เขาไม่ได้ก่อเรื่อง แต่แมงหวี่เป็นไง
ผู้ร่วมสนทนา: มีน้ำใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มีน้ำใจ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนแต่เขาก็เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างนึง แล้วเขาก็คงจะมีความรู้สึกว่าบรรดาที่เราอยู่ด้วยกันในโลกนี้อะนะคะจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นคนหรือเป็นสัตว์ สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ แมลงอะไรก็แล้วแต่ ตลอดจนกระทั่งต้นหมากรากไม้พื้นหินดินหญ้าท้องฟ้าน้ำทะเลล้วนแล้วแต่อาศัยกันรึเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: อาศัยกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ล้วนแล้วแต่อาศัยกันทั้งสิ้นเลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อเราอาศัยกัน เราก็ควรจะเอื้อเฝื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นแมงหวี่นี่ก็พูดได้ว่าถึงไม่ใช่หน้าที่ของเขาโดยตรง แต่เขาก็มีความรู้สึกว่าหน้าที่ของสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคมพึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แมงหวี่จึงทำหน้าที่ของเขาในส่วนนี้ถูกต้องไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราอยากมีสิ่งมีชีวิตอย่างแมงหวี่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: อยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตรงที่เขามีน้ำใจที่เขาทำหน้าที่ของเขาอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นพอแมงหวี่เริ่มทำหน้าที่อย่างถูกต้องนั้นด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น หนูสังเกตไหมคะ ทุกๆอย่างเริ่มเป็นยังไง
ผู้ร่วมสนทนา: ดีขึ้นเรื่อยๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เริ่มถูกต้องไปตามลำดับ เห็นไหมคะ พอแมงหวี่เริ่มทำหน้าที่ของเขาอย่างถูกต้อง นี่เป็นเหตุปัจจัยใช่ไหม พอเราประกอบเหตุปัจจัยด้วยการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ช้างก็เริ่มทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ถูกไหมคะ แล้วก็ตลิ่ง น้ำ ไฟ ไม้ค้อน ไปจนกระทั่งถึงหมา แมว หนู นายพราน กา เริ่มทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง พอทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องเท่านั้น สุขไหม
ผู้ร่วมสนทนา: สุขครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยิ้มแย้มแจ่มใสไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ยิ้ม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ต้องโกรธเคืองกันไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ต้องมีการร้องไห้ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะมีแต่เสียงหัวเราะ มีแต่ความแย้มยิ้มแจ่มใส เพราะฉะนั้นนิทานเรื่องยายกะตานี่หนูคิดว่าเป็นนิทานแต่สนุกๆรึเปล่าคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่หรอก เพราะงั้นถ้าเราจะฟังอะไร ถ้าเราจะใคร่ครวญคิดเราจะเห็นว่าในนิทานนั้นๆนี่ที่จะเป็นข้อคิดที่จะเป็นประโยชน์ที่เราจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เปล่าคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้แล้วก็เกิดประโยชน์ด้วย ฉะนั้นสิ่งที่บอกเราในเรื่องนี้ถ้าจะพูดให้ชัดเจนใครจะบอกได้ว่าบอกให้เราทำอะไร
ผู้ร่วมสนทนา/อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำความดี มีน้ำใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือการเริ่มโดยการทำ…
ผู้ร่วมสนทนา: หน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือการเริ่มโดยการทำหน้าที่ของตนด้วยความถูกต้อง ด้วยความรับผิดชอบอย่าบิดพริ้ว อย่าทอดทิ้ง ถ้าเราเริ่มต้นทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ที่นั้นคือที่ที่เป็นธรรมะ และผู้ใดที่ทำหน้าที่ถูกต้อง ผู้นั้นคือผู้มีธรรมะหรือเรียกว่าเป็นผู้มีคุณธรรมมีจริยธรรมอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าหนูทุกคนคงสามารถพัฒนาสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในใจได้โดยไม่ยากใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ยากครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่แหละค่ะ ยายกะตาของไทยของฝรั่งเหมือนกัน หนูลองไปเปรียบเทียบละลองคิดเองในเรื่องยายกะตาของฝรั่งคงจำได้ใช่ไหมคะ ธรรมสวัสดีทุกคนทุกคนนะคะ