แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : พูดถึงเรื่องการฝึกสมาธิฝึกจิตของเรานี่นะครับ ที่จริงเรามีเรื่องที่เราไม่รู้อีกมากมายที่ทางพระท่านเรียกอวิชชา ทำไมอวิชชาจึงเกิดขึ้นกับเรามากมาย เราจะแก้มันได้อย่างไร ไปฟังเรื่องนี้จากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะอวิชชานี่มันมีอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังไม่ยอมศึกษาเรื่องของสัจจธรรมที่เป็นกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราจะตกอยู่ภายใต้ของอวิชชา อวิชชามันก็นำให้เกิดอุปาทาน เกิดตัณหา และกิเลสต่าง ๆ ก็ตามมา ในขณะนั้นเรามืดมิด และเราไม่อยากมืดมิด เราก็หันมาศึกษาวิธีนี้ ศึกษาจนกระทั่งเราเห็นแสงสว่างของสิ่งที่เป็นสัจจธรรม คือกฎของธรรมชาติ เราก็จะค่อย ๆ สว่างขึ้น และเราก็จะรู้ว่าวิธีดำเนินนั้นเป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : แต่เราไม่รู้เท่าทันมันนี่ครับ ปัญหาหลักที่เราศึกษา เราไม่รู้เท่าทันมัน ว่าเราตกอยู่ภายใต้อวิชชาครอบงำเราอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เพราะเราไม่ได้ฝึกอยู่เสมอ นี่เราพูดไปพูดมา มันก็เหมือนกับเราพายเรือในอ่าง เราก็วนไปวนมา ก็เพราะว่าเราไม่ได้ฝึก เรารู้แต่เราไม่ได้ฝึก เดี๋ยวพอเรานึกขึ้นได้ เราก็ฝึกสักประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็หยุดไปนาน หยุดไปนาน แล้วจะมาฝึกอีกสักนิดหนึ่ง มันก็ไม่ติดต่อกัน เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับเราไม่รู้ อวิชชามันจึงจ้องได้โอกาส แล้วมันก็เข้ามามีอำนาจเป็นนาย เหนือใจเราทุกที เพราะฉะนั้นมันจึงทำให้ชีวิตนี้มีปัญหา มันนึกถึงแต่ตัวเอง มันขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งนี้ เราจึงต้องฝึกเสมอ ฝึกทุกขณะ ถ้าเราฝึกเสมอ ฝึกทุกขณะ ไม่ว่าเราจะทำกิจการอันใดอยู่ เราระลึกรู้ถึงว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะได้ก็ดี จะเสียก็ดี มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถ้าเราไม่อยากให้มีการได้ การเสีย ซึ่งมันจะฉุดเราขึ้น ฉุดเราลง อยู่ตลอดเวลา เราฝึกทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง แล้วเราจะไม่ต้องไปกังวลกับว่าได้หรือเสีย มันจะมีแต่การกระทำที่ถูกต้อง เพื่อเกิดประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ : ตอนของท่านอาจารย์เอง ตอนท่านอาจารย์ฝึก ท่านอาจารย์มีปัญหาและแก้ไขอย่างไร ก่อนที่จะมีความรู้สึกว่ามันเลยจุดนั้นมา ภาวะจุดนั้นมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็จะต้องฝึกด้วยวิธีนี้ วิธีนี้ด้วยความที่ว่า พอแพ้ เราไม่ยอมแพ้ คำว่าแพ้นี้ก็คือว่า เมื่อเรารู้สึกว่าจิตตก จิตเรากำลังจะอยู่ภายใต้อำนาจการเกาะกุมของกิเลสอีกแล้วนะ เราจะต้องทะลึ่งตัวขึ้นมาให้พ้นให้ได้ เปรียบเหมือนกับเรากำลังจะจมน้ำ เราจะไม่ยอมตายในน้ำ ไม่ยอมสำลักน้ำ เราก็ต้องพยายามทะลึ่งตัวขึ้นมาให้ได้ แล้วสิ่งที่จะผลักดันให้เราทะลึ่งตัวขึ้นมา พ้นจากการจมน้ำ นั่นก็คือ การที่จะศึกษาในเรื่องกฎของธรรมชาติ ในเรื่องของไตรลักษณ์ ให้ซึมซาบในเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่งมันแจ่มแจ้งอยู่ในใจ พร้อม ๆ กับที่เห็นว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปนี้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยเหตุปัจจัย โดยเหตุปัจจัย จนกระทั่งแน่ใจว่าชีวิตของคนนี้ มันดำเนินไปตามเหตุปัจจัย คือการกระทำ อย่างที่พูดว่า ถ้าหากว่าเราศึกษาในเรื่องของเหตุปัจจัย ในเรื่องของการกระทำ เราก็จะรู้ว่าชีวิตนี้อย่างที่พูดกันตามชาวบ้านบอกว่า เป็นไปตามกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมก็คือกฎแห่งการกระทำ แต่กฎแห่งกรรมที่นึก ๆ กัน มักจะนึกว่าคนอื่นทำให้ แต่อันที่จริงแล้วเราทำเอง เพราะฉะนั้นเราคือผู้ลิขิตชีวิตเอง ถ้าเรานึกอย่างนี้และเราฝึกอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ มันก็จะช่วยดึงเราขึ้น แล้วเราก็จะพ้นจากความมืดขึ้นสู่ความสว่าง แล้วก็จะมีกำลังใจที่จะเดินต่อไปเรื่อย ๆ นี่ก็เป็นวิธีที่จะฝึกใจตัวเราเอง แล้วก็หมั่นฝึกสมาธิภาวนาให้มีจิตที่มั่นคงขึ้น เพื่อมันจะได้ช่วยเสริมปัญญาที่มีอยู่แล้วนั้นให้มีความหนักแน่น แล้วก็เข้มแข็ง แล้วก็ไม่อ่อนละลายไปตามอำนาจของกิเลสง่าย ๆ แล้วจะเลิกคิดว่าวิธีของการปฏิบัติอย่างนี้ คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปจะสามารถทำได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ทำได้ มันใช้เวลาเหมือนกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือเวลาก็จริงหรอก แต่สิ่งที่ต้องใช้มากกว่านั้นก็คือความตั้งใจ ความตั้งใจและความศรัทธา ความศรัทธาที่จะทำ เพราะฉะนั้นครูรู้สึกว่าในช่วงชีวิตการของปฏิบัติธรรมที่ผ่านมานี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นพลังที่จะผลักดันไม่ให้เราถอยหลังอยู่ตลอดเวลา คือจุดหมาย จุดหมายที่เราตั้งเอาไว้ในตอนต้น นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจุดหมายของเรานั้น เพื่อที่จะศึกษาเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์จนถึงที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อเรามั่นคงอยู่ในจุดนี้ ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่าเราถูกรบกวนด้วยความทุกข์ เราถูกความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี้กระทบกระแทกอยู่ตลอดเวลา และเราไม่อยากเป็นอย่างนั้น เราก็จะมีกำลังใจที่จะศึกษาสิ่งที่จะเป็นหลักของชีวิตให้มากยิ่งขึ้น ๆ จนกระทั่งมีความมั่นคงพอที่เราจะเดินต่อไปได้ ด้วยตัวของเราเองจริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ : โดยสรุปถ้าหากว่าเราต้องการที่จะเดินเข้ามาสู่เส้นทางการปฏิบัติธรรมอย่างจริงนี่นะครับ มันก็จะต้องตั้งใจหาจุดมุ่งหมายเสียก่อน แล้วค่อยเดินเข้ามา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือต้องมีจุดหมายที่แน่นอน อย่าไปทำตามคนอื่นเขา เพียงเห็นว่าเวลานี้กำลังสนใจการปฏิบัติธรรม หรือว่าสนใจการบวช อย่าให้มันเป็นแฟชั่น ให้มันเกิดจากศรัทธาที่เรียกว่าเป็นพุทธศาสตร์ เพราะมองเห็นเหตุเห็นผล เห็นความจริงที่จะเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นแล้ว แล้วเราจึงตัดสินใจทำ แล้วเราก็แน่วแน่ในจุดหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้แล้ว อย่าถอยหลังออกมาง่าย ๆ ถ้าเรามีจุดหมายที่แน่นอนแล้วละก็ ปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะหนักหนา มันก็มีกำลังใจที่จะแก้ไขได้ เหมือนอย่างในตอนที่ครูเล่าว่า อย่างออกไปอยู่กับหลวงพ่อในตอนแรกในตอนนั้นนะ ก็หวังจะฝากชีวิตไว้กับท่านล่ะ เพราะเรายังอ่อนนักในการปฏิบัติยังไม่รู้อะไรเลย เสร็จแล้วหลวงพ่อก็เกิดอาพาธ หลวงพ่อท่านอาจารย์ชา ท่านเกิดอาพาธเกิดสอนไม่ได้ อบรมไม่ได้ ตอนนั้นนะถ้าหากว่าจุดหมายไม่แน่วแน่ จะต้องรู้สึกว่าสั่นคลอนอ่อนแอมากทีเดียว เพราะอะไร ก็เพราะว่ามองไปข้างหน้านี่ แหม มันจะดูเวิ้งว้าง ไม่รู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน เพราะว่าจะมีใครล่ะที่จะเป็นผู้แนะนำอบรมเราต่อไป หรือเป็นที่พึ่งของเราต่อไป ก็ไม่มีใครเลย แต่ว่าจุดหมายแน่วแน่ เพราะฉะนั้นพอมองไปข้างหน้าว่า เอ ตอนนี้เราจะไปไหน อย่างเรานี่บ้านช่องก็ไม่มี มันก็จากวัดสู่วัด และวัดนี้เป็นวัดที่เราได้เลือกแล้ว ว่าเราจะมั่นคงปลอดภัยในด้านสถานที่ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ผู้จะสอนอบรม บัดนี้ท่านก็สอนไม่ได้ แต่เพราะความแน่วแน่ในจุดนี้ และก็มั่นใจว่าพระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม สิ่งนี้หรือว่าคำพูดนี้ผู้ใดที่ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจะแน่ใจได้ ว่าพระธรรมนี่ไม่ทอดทิ้ง ท่านไม่ได้ทอดทิ้งเพราะอะไร ก็เพราะการกระทำที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลให้ชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างถูกต้อง ฉะนั้นครูจึงขอย้ำว่าจุดหมายที่จะเข้ามาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นพุทธศาสตร์ คือไม่ให้ด้วยการงมงายหลงตามเขามา แต่ว่าเราทำเพราะรู้ว่าเรากำลังทำอะไร สิ่งนี้จะเป็นหลักหรือเป็นจุดยืนที่จะทำให้เราไม่ถอยหลังง่าย ๆ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ อย่างไรก็ตามเรื่องจุดหมายและครูบาอาจารย์ก็สำคัญอย่างเช่นอาจารย์ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แน่นอน
ผู้ดำเนินรายการ : ระหว่างที่อาจารย์มีปัญหา กัลยาณมิตรก็ช่วยได้ในบางขณะเหมือนกันใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าเรามีกัลยาณมิตรก็ดี เราจะได้ปรึกษาหารือกัน แต่ถ้าสมมุติเราหากัลยาณมิตรไม่ได้ เราก็สอบทานจากตัวของเราเองนี่แหละ ให้ตัวเราเองเป็นกัลยาณมิตรของตัวเอง ถ้าผู้ใดสามารถสร้างสรรค์ตัวเองให้เป็นกัลยาณมิตรของตนเองได้ ผู้นั้นจะมีกัลยาณมิตรอยู่ติดตัวตลอดชีวิต แล้วก็จะคอยเตือนคอยบอก ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา ไม่ให้เราหลงทาง
ผู้ดำเนินรายการ : ก็เหมือนตัวเรามีสองคนในร่างเดียวกับเรา ส่วนหนึ่งก็คือส่วนที่จะคอยเตือนสติเรา ในซีกนั้นเรียกว่ากัลยาณมิตรได้ใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ จะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าถ้าจะถามว่าอะไรคือกัลยาณมิตร สิ่งที่จะเป็นกัลยาณมิตรในนามธรรม นั่นก็คือสติ สมาธิ และปัญญา ที่เราจะสร้างให้เกิดขึ้นภายใน เมื่อสติ สมาธิ และปัญญา เพิ่มพูนมากขึ้นเท่าใด กัลยาณมิตรผู้นั้นก็จะเป็นกัลยาณมิตรที่ซื่อสัตย์ แล้วก็มีสติปัญญาเฉียบแหลมที่จะให้คำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้อง แล้วก็จะมีสมาธิความมั่นคงที่จะค่อยเหนี่ยวรั้งเรา ถ้าเผอิญจะเกิดอ่อนแอหรือว่าหลงทาง ก็จะดึงกลับมาได้ เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรนั้นก็คือ สร้างขึ้นด้วยพื้นฐานของสติ สมาธิ และปัญญาผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นก็คือมาจากการปฏิบัตินั่นเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ถ้าหากสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หมดนี่ จุดมุ่งหมายของการเข้ามาสู่เส้นทางการปฏิบัติธรรมก็จะลดน้อยลงไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็จุดหมายของการปฏิบัติธรรมที่เข้ามา นอกจากจะช่วยตัวเราเองแล้ว ยังจะสามารถช่วยเราให้ได้ช่วยแนะนำเพื่อนที่เกี่ยวข้องให้ได้รู้จักด้วย ว่าหนทางที่ถูกต้องนั้นควรจะเดินอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องขอบคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ สวัสดีครับ