แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในเรื่องของหัวข้อที่จะพูดนะคะที่มีความว่า พระพุทธศาสนากับการปฏิรูปการศึกษาไทย ในครั้งเเรกดิฉันรู้สึกว่าเป็นหัวข้อที่ไม่น่าจะยากเกินไป เเต่ทว่าเมื่อพิจารณาดูอีกทีหนึ่งเเล้ว มีความรู้สึกว่าหัวข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องเกี่ยวข้องกันถึงสามเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของพระพุทธศาสนา เรื่องที่สองก็คือเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาไทย และเรื่องที่สามก็คือเรื่องของครู ซึ่งจะขาดเสียมิได้ เพราะพระพุทธศาสนาที่จะบูรณาการกับการปฏิรูปการศึกษาไทยนั้น ย่อมต้องอาศัยครูที่จะเป็นตัวจักรสำคัญ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่า ครูนี่เเหละจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้การบูรณาการพระพุทธศาสนากับการปฏิรูปการศึกษาไทยนั้นสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงได้ขอให้ทางฝ่ายท่านกรรมการช่วยเขียนรูปนะคะ ที่ปรากฏอยู่ที่บนกระดานดำ เป็นรูปสามเหลี่ยม เเต่ทว่าสามเหลี่ยมนี้เป็นสามเหลี่ยมกลับหัว คำว่ากลับหัวก็คือว่า เอายอดของมันนี่ลงข้างล่าง เเล้วผู้ที่เเบกยอดข้างล่างนี้มิใช่ใครอื่น คือผู้ที่มีชื่อว่าครูนั่นเอง
พระพุทธศาสนากับการบูรณาการการปฏิรูปการศึกษาไทยจะสำเร็จได้ก็เพราะครู ซึ่งเป็นผู้รับภาระอันหนัก ด้วยความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทำไมจึงเป็นภาระอันหนัก ทุก ๆ ท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ย่อมทราบเป็นอันดี ว่าหน้าที่ของครูคือผู้สร้างคน จากความเป็นคนให้เป็นมนุษย์ สังคมที่ต้องการคือต้องการสังคมมนุษย์ มนุษย์ที่จะอยู่ช่วยกันเพื่อสร้างสรรค์สังคมนี้ให้เป็นสังคมของมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ และก็อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าปราศจากครูเสียเเล้ว ใครจะเป็นผู้สร้าง เกิดมาเป็นคน เป็นปุถุชน จากปุถุชนซึ่งเป็นคนธรรมดา ท่านบอกว่ายังคับเเคบอยู่ด้วยความเห็นเแก่ตัว เเต่เมื่อมีสติปัญญาที่สว่างเแวบเข้ามาสักหน่อยหนึ่ง ก็รู้ว่าจะอยู่เป็นเพียงเเค่ปุถุชนนั้นไม่ได้ จะต้องพัฒนาต่อไป จนกระทั่งถึงเป็นกัลยาณชน คือกัลยาณชนผู้ประกอบด้วยศีลธรรมอันดีงาม เเต่กระนั้นก็ยังมีความหวงกัน ยังเปิดใจกว้างไม่ได้ เเต่ในความหวงกันนั้นก็ยังมีน้อยกว่าในระดับของปุถุชน มีความรู้สึกที่จะเเบ่งปัน และก็ให้เแก่ผู้อื่นนั้นมากกว่า และเมื่อยังไม่พอใจในคุณความดีเพียงเเค่นั้น ก็จะค่อย ๆ พัฒนาต่อไปอีก จนถึงขั้นอริยชน คือชนผู้ประเสริฐ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเป็นจุดหมายที่เราทุกคนอยากจะขึ้นไปถึง เเต่จะขึ้นไปถึงหรือไม่ ไม่เป็นไร เเต่เราจะพยายามนะคะ
เพราะฉะนั้นเมื่อดูว่าเรื่องใหญ่สามเรื่อง คือ หนึ่งพระพุทธศาสนา สองการปฏิรูปการศึกษาไทย สามเรื่องของครู ดิฉันก็ต้องใช้เวลาตัดสินใจกับตัวเองอยู่เป็นเวลานานว่า ภายในเวลาอันจำกัดไม่เกินหนึ่งชั่วโมงครึ่งเศษ ๆ นี่ ดิฉันจะมีสติปัญญาสามารถพูดสามเรื่องให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนได้อย่างไร เมื่อสรุปกับตัวเองเเล้วก็บอกว่า ความสามารถมีไม่พอค่ะที่จะพูดทั้งสามเรื่องให้จบนะคะ และก็ชัดเจนภายในเวลาที่จำกัดนี้
ในที่สุดก็มาพิจารณาว่า เรื่องของครูก็เป็นเรื่องที่ได้พูดกันมามาก ยังเป็นปัญหาที่คงเป็นปัญหา แม้แต่ท่านผู้เป็นครูเองก็ทราบว่ามีปัญหาที่เราจะต้องขัดเกลา ชำระล้างในเรื่องของเราเอง เพื่อให้สามารถเป็นครูที่เป็นปูชนียบุคคล แม้ว่าคำว่าปูชนียบุคคลนั้นฟัง ๆ ดู ดูเหมือนกับจะเป็นที่ค่อนข้างรังเกียจของบรรดาครูในปัจจุบันอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เเต่อย่างไรก็ตามเมื่อคิดดูเเล้ว หนีพ้นไหมความเป็นปูชนียบุคคล หนีไม่พ้นเลย เพราะเราเกิดมาเป็นครู รับหน้าที่เป็นครู จะต้องเป็นปูชนียบุคคลให้ได้ มิฉะนั้นก็ไม่สมแก่การเกิดมาเป็นครู หรือรับชื่อว่าเป็นครูใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเรื่องของความเป็นครู ดิฉันก็คิดว่าจะพักไว้เป็นอันดับรอง
ส่วนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยนั้น เมื่อได้อ่านพระราชบัญญัติการศึกษาเเห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แล้วก็เอกสารที่ สปศ. ได้จัดทำ ก็รู้สึกว่าทางคณะผู้จัดทำนั้นได้พยายามกลั่นกรองอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ แล้วก็ได้ทำด้วยความมุ่งหมายที่ดี เพื่อที่จะพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เข้าสู่สังคมที่เข้มเเข็งและมีดุลยภาพ ตามที่กล่าวเอาไว้ในเเผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเเห่งชาติ ฉบับที่ 9 ที่บอกว่าวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของเรานั้นปรารถนาที่จะให้มีสังคมที่พึงประสงค์ ก็คือสังคมที่เข้มเเข็ง แล้วก็มีดุลยภาพในสามด้าน ด้านหนึ่งก็คือเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ด้านที่สองก็เป็นสังคมที่มีภูมิปัญญา และด้านที่สามก็คือเป็นสังคมที่มีสมานฉันท์และความเอื้ออาทรกัน ดิฉันก็เลยมานึกอีกว่าเรื่องของการปฏิรูปการศึกษานี้ได้มีการพูดถึงกันมากมาย ทั้งที่เป็นตัวหนังสือในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ทั้งในวงการอภิปราย แล้วก็มีเอกสารมาจากสำนักงานที่เกี่ยวข้องมากพอที่ดิฉันไม่จำเป็นจะต้องพูด แม้ดิฉันจะพูดก็คงไม่สามารถจะเข้าถึงเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นคนที่ค่อนข้างจะไกลปืนเที่ยงนะคะ
ฉะนั้นสรุปเเล้วก็เรื่องที่ดิฉันควรจะพูดในวันนี้มากกว่าเรื่องอื่น ก็คือเรื่องของพระพุทธศาสนาที่จะมาบูรณาการกับการปฏิรูปการศึกษาไทย เเต่ก็อยากจะขอเรียนเอาไว้ว่าไม่ใช่เป็นปาฐกถาวิชาการนะคะ ที่ดิฉันจะพูดในวันนี้นะคะจะเป็นการพูดสนทนาคุยกันอย่างกันเองมากกว่า หรือจะว่าอย่างชาวบ้านก็ได้ค่ะ เพราะดิฉันมักจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวบ้าน แม้จะเป็นชาวบ้านที่อยู่วัดก็ยังเป็นชาวบ้านอยู่นั่นเอง ฉะนั้นก็มานึกดูว่าตอนที่ท่านประธานคณะกรรมการพูดกับดิฉันนี่ก็บอกว่า อยากจะขอร้องให้พูดในแง่ที่ ทำอย่างไรเราถึงจะนำเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นมาผสมผสานในวิธีของการสอนบ้าง เพื่อว่าทางโรงเรียนหรือว่าทางบ้านอาจจะนำไปใช้ได้ ดิฉันก็ไปนึกถึงที่เผอิญไปได้อ่านคำปาฐกถาของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ท่านเเสดงในที่ประชุมสัมมนาวิชาการของอุดมศึกษาที่จังหวัดพิษณุโลกเมื่อไม่นานมานี้นะคะ ท่านพูดในแง่ที่น่าคิดและก็น่าฟังมากทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษา ที่เราสามารถจะนำมาใคร่ครวญต่อและก็นำมาปฏิบัติได้ เเต่มีหลายแง่มุม ซึ่งดิฉันไม่อาจจะพูดได้ในเวลานี้อีกเหมือนกันนะคะ เพราะมากเกินไป ก็อยากจะหยิบมาเพียงแง่เดียวในตอนนี้ว่า ท่านได้พูดว่าสิ่งหนึ่งในการที่จะปฏิรูปอุดมศึกษานี่ เราก็ควรจะมีการซ่อมรากภูมิปัญญาไทยแล้วต่อยอด เพราะเหตุว่าปฏิรูปก็คือการต่อยอด เราไม่รื้อทิ้ง เเต่เราจะหยิบสิ่งที่มีอยู่เเล้วนั้นมาต่อยอด เพิ่มเติมเสริมสร้างให้สมบูรณ์ขึ้น ให้งดงามขึ้น ให้เป็นที่น่าพึงปรารถนายิ่งขึ้น ท่านใช้คำว่าซ่อมรากภูมิปัญญาไทยแล้วต่อยอด ทีนี้ดิฉันก็มานึกถึงภูมิปัญญาไทยซึ่งมีมากมายเหลือเกิน เป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ที่บรรพบุรุษไทยท่านได้ทำภูมิปัญญาไทยเอาไว้ให้แก่ลูกหลานนี่มากมาย ดิฉันจะขอหยิบมานิดเดียวเท่านั้นนะคะ พอท่านได้ฟังแล้วท่านจะบอกว่า โอ๊ย คร่ำครึ เรื่องที่ดิฉันจะพูดนี่ มันไม่น่าจะน่าสนใจสักเท่าไหร่ เเต่ก็ขอฝากให้ลองพิจารณาดูนะคะ ว่าพอจะฟังได้ไหมนะคะ แล้วก็จะมาบูรณาการกับพระพุทธศาสนา กับการปฏิรูปสังคมไทยอย่างไรนะคะ เเล้วเราก็จะมาช่วยกันคิดว่าเราจะต่อยอดอย่างไร
ภูมิปัญญาไทยที่ดิฉันจะนำมาคุยกันในเช้าวันนี้ ก็คือเรื่องนิทานยายกะตาค่ะ เห็นไหมคะนิทานชาวบ้านจริง ๆ เลย เเต่ว่านิทานชาวบ้านอันนี้มันสุดเเล้วเเต่ว่า ผู้ใดจะมองอย่างตื้นหรืออย่างลึก อย่างแคบหรืออย่างกว้าง จะมองอย่างโลก ๆ อย่างเดียว หรือจะมองอย่างเอาธรรมะเข้ามาผสมผสาน มันแล้วแต่ว่าจะมีมุมมองในลักษณะใด แต่ก่อนอื่นบางท่านอาจจะลืมไปเเล้วก็ได้นะคะ ว่านิทานยายกะตามีความว่าอย่างไร เพราะฉะนั้นดิฉันขออนุญาต ดิฉันจะเป็นผู้เล่านิทานยายกะตาดัง ๆ นะคะ เเล้วก็เรียนเชิญชวนทุกท่านโปรดเล่านิทานยายกะตาด้วยในใจของท่านเองตามไป ก็เรียกว่าเราได้มีส่วนร่วมกันในการที่จะได้พูดถึงเรื่องพระพุทธศาสนากับการปฏิรูปการศึกษาไทย
นิทานยายกะตาก็ ยายกะตาก็มีหลานอยู่สองคน หลานชายคนหนึ่งหลานสาวคนหนึ่ง เเล้วตายายก็จะออกไปทำงานนอกบ้าน ก็คือทำเรือกสวนไร่นานะคะ ก่อนจะไปก็สั่งหลานว่า ดูถั่วดูงาที่ยายหว่านไว้ตาหว่านไว้ให้ดีนะ แล้วกลับมาจะมาดูว่าเรียบร้อยไหม ก็เผอิญหลานก็ยังเป็นเด็ก หลานก็ชอบสนุกชอบเล่น ก็เลยไปเล่นกันเสียเพลิดเพลินเลย นึกออกใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเจ้ากานี่ซึ่งคอยทีอยู่ อยากจะมาขอกินถั่วกินงา ก็พากันบินมา และก็มาจิกกิน ๆ ๆ จนกระทั่งถั่วงานั้นน่ะหมด หมดที่ตายายหว่านเอาไว้ เพราะฉะนั้นพอตายายกลับมาบ้านตอนเย็น มองไม่เห็นถั่วงาเหลือเลย ก็โกรธ ก็ถามหลาน ทำไมถึงหายไปไหนหมดล่ะ ทำไมถึงไม่ดู ก็ทราบว่าหลานมัวแต่ไปเล่นกันเสีย เพราะฉะนั้นในนิทานก็บอกว่า ยายมายายก็ด่า ตามาตาก็ตี หลานก็ทั้งถูกด่าถูกตีเจ็บปวด และมิหนำซ้ำตายายยังบังคับอีกด้วยว่า ไปหาถั่วหางามาคืนให้ได้นะ ถ้าคืนไม่ได้ล่ะก็ถูกตีถูกด่าไม่รู้จบเลย ผลที่สุดหลานก็ไม่อยากถูกตีถูกด่าตลอดเวลาใช่ไหมคะ ก็เลยพากันคิดว่าทำอย่างไรล่ะเราถึงจะเอาถั่วเอางามาคืนตาได้ ก็เลยปรึกษากันว่ากานี่มันมาขโมยถั่วงา ก็ต้องหาคนที่จะกำจัดกาได้ ท่านก็คงนึกออก เราต้องไปหานายพรานให้นายพรานมาช่วยยิงกา นายพรานก็บอกไม่ใช่ธุระกงการของข้า อ้าว นายพรานไม่ช่วย จะไปหาหนูมากัดสายธนูของนายพราน หนูก็เกิดบอกไม่ใช่ธุระกงการของข้าอีกเหมือนกัน ก็ไปหาแมวช่วยมากัดหนู แมวก็ไม่ใช่ธุระกงการของข้า ไปหาสุนัขมากัดแมว ก็ไม่ใช่ธุระกงการของข้า ไปหาไม้ค้อนมายอนหูหมา เจ้าไม้ค้อนก็บอกไม่เอาไม่ใช่เรื่องของเรา ไปหาไฟมาไหม้ไม้ค้อน ก็ปฏิเสธอีกเหมือนกัน ไปหาน้ำเพื่อที่จะให้มาดับไฟ น้ำก็ไม่เอาไม่เล่นด้วย นี้ก็นึกทำอย่างไรล่ะ ไม่ได้หรอกต้องไปหาช้าง ให้มากระทืบพังตลิ่งเสีย เพื่อตลิ่งจะได้ทับน้ำและก็หมดน้ำไปเลย ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นอย่างไรก็นึกได้ใช่ไหมคะ เป็นสัตว์ที่เขายกว่าเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดล่ะ อย่างแม้แต่ในพระไตรปิฎกท่านก็ยังเปรียบอริยสัจสี่ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ว่าเปรียบประดุจรอยเท้าช้าง ซึ่งหมายความว่าสัตว์อะไรในโลกนี้ก็ตาม เมื่อเดินเข้ามาเเล้วมันจะลงไปในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด ถ้าดิฉันจะพูดเลยไปก็เปรียบเสมือนว่าธรรมะที่พูดกันว่ามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์นี่นะคะ จะเอ่ยถึงธรรมะข้อใดก็ตามจะลงไปอยู่ในเรื่องของอริยสัจสี่ได้ทั้งหมด เป็นเสมือนกับการส่งเสริมให้อริยสัจสี่นั้นเป็นที่สามารถเข้าใจได้อย่างกว้างขวาง และก็ลึกซึ้ง และก็ชัดเจนยิ่งขึ้น นี่เจ้าช้างตัวใหญ่เเต่ว่าใจนิดเดียว คับแคบ และก็มืดมัวด้วย ปฏิเสธอีก ไม่เอาไม่ใช่ธุระกงการอะไรของข้า เกือบจะหมดปัญญาเเล้วนะคะเจ้าหลานสองคนนั่นน่ะ ก็นึกถึงได้ว่าช้างมันตัวใหญ่ เราจะไปหาอะไรดีที่มันตัวเล็ก ๆ นี่ เเล้วมันก็จะสามารถมาจัดการกับเจ้าช้างได้ ก็เลยไปหาริ้น ริ้นก็คือตัวเล็กเท่าปลายเล็บของเรานี่ใช่ไหมคะ พี่ริ้นๆ ไปช่วยตอมตาช้างหน่อยเถอะ เพราะว่าช้างนี่ไม่ยอมไปพังตลิ่ง ตลิ่งก็ไม่ยอมทับน้ำ น้ำไม่ยอมดับไฟ ไฟไม่ยอมไหม้ไม้ค้อน ไม้ค้อนไม่ยอมไปยอนหูสุนัข สุนัขไม่ยอมกัดแมว แมวไม่ยอมกัดหนู หนูไม่ยอมกัดสายธนูของนายพราน พี่ริ้นไปช่วยหน่อยเถอะ ริ้นตัวเล็กนิดเดียว ใจก็น่าจะเล็กตามตัว เเต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ใจของริ้นนั้นน่ะใหญ่กว้างหาประมาณไม่ได้ รับปากทันที เอาเถอะ เราจะไปตอมตาช้างให้ พอช้างได้ยินเท่านั้นน่ะ ลองนึกดูนะคะ ช้างตัวใหญ่ก็จริง เเต่ว่าหางมันนิดเดียวใช่ไหมคะ และก็ถ้าริ้นมาตอมตา หางตรงนั้นจะเอามาปัดก็ไม่ได้ ช้างกลัวเหลือเกิน แม้จะไม่ตาย เเต่มันรำคาญแทบตาย เพราะฉะนั้นช้างก็เลยบอกไม่ต้อง ๆ เราจะรีบไปพังตลิ่งให้ ตกลงตั้งเเต่บัดนั้นไป น้ำก็รับปากว่าจะไปดับไฟ ไฟก็รับปากจะไปไหม้ไม้ค้อน ไม้ค้อนก็รับปากจะไปยอนหูสุนัข สุนัขก็รับปากจะไปกัดแมว แมวก็จะไปกัดหนู หนูก็จะไปกัดสายธนูนายพราน พอนายพรานมาถึงตรงนี้เข้าก็กลัวจะสิ้นอาชีพ เพราะจะหมดเครื่องมือ ไม่ต้อง เราจะรีบไปยิงกา แน่นอนเจ้ากามันก็ต้องรักชีวิต อย่ายิงเลย จะรีบไปคาบเอามาคืนหมดเเหละ ถั่วงาที่ได้เอาไปน่ะ ผลที่สุดตายายก็ได้ถั่วงามาคืนหมดเลย อันนี้มีภาพเป็นลายไทยนะคะ เเล้วก็ท่านวาดไว้สวยงามมากเลยอยู่ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ ของสวนโมกขพลาราม ในภาพเเรกนี่ที่หลานถูกยายก็ด่าตาก็ตี หน้าตาเศร้าหมองขุ่นมัว เพราะไม่รู้จะเเก้ปัญญาอย่างไร เรียกว่ามีความทุกข์ เเต่พอในภาพที่สองซึ่งต่อกัน หลานแสดงความเพลิดเพลิน รื่นเริง บันเทิงใจเป็นอันมาก เพราะปัญหาของความทุกข์ได้รับการเเก้ไขเเล้ว บัดนี้ตายายได้ถั่วงากลับมาคืนเเล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าทุกอย่างที่เคยเป็นปัญหา บัดนี้ได้กลับคืนสู่ความถูกต้องเเล้ว พอนิทานจบเเล้วนี่ดิฉันก็มองว่าเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างไร แล้วเราจะนำมาต่อยอดเพื่อที่จะเป็นการบูรณาการพระพุทธศาสนากับการปฏิรูปสังคมไทยได้อย่างไร ดิฉันก็เริ่มด้วยการคิดว่าเราจะต้องถาม สมมติว่าผู้ใหญ่ จะเป็นครูก็ดี เป็นพ่อเป็นเเม่ เป็นปู่ย่าตายาย หรือพี่ป้าน้าอาที่กำลังเล่านิทานเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟัง เเล้วในขณะเดียวกันนะคะ ท่านผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อเเม่ ปู่ย่าตายาย หรือเป็นครูก็ตามเถอะ มีจุดหมายอยู่ในใจว่าเราจะไม่เล่านิทานเรื่องนี้เปล่าๆ ไม่เอาเพียงหัวเราะเเล้วก็สนุกกัน เเต่เรามีจุดหมายที่จะดึงลูกหลานที่ฟังนี่เข้ามาสู่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ