แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะเริ่มรายการเรื่องอะไรดีคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ท่านอาจารย์ครับเราไปที่สวนโมกข์มาหลายครั้ง วันนี้เรามาที่เสถียรธรรมสถาน แล้วท่านอาจารย์เคยเขียนหนังสือเรื่องสวนโมกข์ทำไม ทำไมสวนโมกข์ ก็เลยอยากจะเชิญท่านอาจารย์คุยถึงเสถียรธรรมสถานในเชิงตั้งประเด็นเช่นเดียวกับที่ท่านอาจารย์เคยเขียนหนังสือว่าเสถียรธรรมสถานทำไม ทำไมเสถียรธรรมสถาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำไมเราถึงต้องมาที่เสถียรธรรมสถาน เสถียรธรรมสถานทำไม ก็คงทราบแล้วว่าเสถียรธรรมสถานก็คือสถานที่ที่เป็นแหล่งสำหรับปฏิบัติธรรมได้อีกแห่งหนึ่ง แต่ที่นี่อาจจะจัดได้ว่ามีลักษณะเหมือนกับเป็นบ้าน คือเป็นบ้านส่วนตัวของคุณชีศันสนีย์ เสถียรสุต ซึ่งมีความตั้งใจที่จะแบ่งปันบ้านที่สุขสบายมองดูร่มรื่นอันนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นผู้มีความประสงค์อยากจะพักใจอยากเกิดความเย็นใจสงบใจก็จะมีโอกาสมาที่นี่ ด้วยการที่เราจะมีจัดการอบรมฝึกปฏิบัติธรรมกันเป็นครั้งคราว
ฉะนั้นถ้าจะถามเสถียรธรรมสถานทำไม ก็เป็นสถานที่ที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักใจมาปฏิบัติทางใจอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งหาได้ไม่ง่าย ถ้าเราออกไปต่างจังหวัดเราอาจจะพบสถานที่สงบอย่างนี้ได้แต่ในกรุงเทพฯนี้ หาไม่ได้ง่ายเลย ฉะนั้นเมื่อเรามาพบสถานที่ในกรุงเทพฯ อย่างนี้ก็รู้สึกว่าเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ควรจะได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในการที่จะฝึกปฏิบัติอบรมจิตใจของตนได้รู้จัก
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่มีการฝึกอบรมทุกวันใช่หรือไม่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การฝึกอบรมนี่ไม่มีทุกวันเพราะว่าคุณศันสนีย์ก็มีความตั้งใจที่จะเปิดสถานที่นี้ขึ้นในบางครั้งคราว ในบางโอกาสที่เหมาะสมด้วยการที่จะเชื้อเชิญเด็กๆ เป็นพวกเด็กนักเรียน และเรียกได้ว่าจัดรายการพุทธบุตรสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมนี่ก็เป็นการที่จะปลูกฝังอบรมให้มีจริยธรรมเกิดขึ้นในใจ
นั่นก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นเด็กดีเป็นเด็กที่ประพฤติตนได้น่ารักแล้วเกิดประโยชน์แก่ตัวเองและเป็นประโยชน์แก่ที่บ้าน คือรู้จักรับใช้คุณพ่อคุณแม่ และนอกจากนั้นก็ยังจะเป็นนักเรียนยังเป็นลูกศิษย์ที่ดีของครู พูดง่ายๆ ก็การที่จะอบรมจริยธรรมแก่เด็กๆ ที่เรียกว่าพุทธบุตรนี้ทำให้เขารู้จักว่าการเป็นพุทธบุตรนี้คือเป็นอย่างไร
พุทธบุตรคือ บุตรของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เพียงเรียกเอาแต่ปากว่าฉันเป็นพุทธบุตรแต่การจะเป็นพุทธบุตรที่แท้จริงคืออยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้นที่เสถียรธรรมสถานก็จะให้โอกาสแก่พวกเด็กๆ ซึ่งจัดขึ้นดูเหมือนจะเป็นปีละ 2 ครั้ง ในระหว่างเดือนจะมีเด็กนักเรียนมัธยมทั้งหญิงชายมาอยู่ที่นี่ ครั้งหนึ่งก็ไม่น้อยกว่า 200 กว่าคนประมาณ 250 คน
เด็กเหล่านี้ก็จะมากินมานอนมาฝึกอบรมปฏิบัติตั้งแต่เช้าตรู่ คือเช้ามืดเลยแล้วก็เรียกว่าเป็นการเข้าค่ายกัน แล้วก็ฟังว่าวิธีการที่จะฝึกอบรมจิตใจในทางที่ถูกนั้นควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง ในระหว่างนี้เขาจะอยู่ในระเบียบในวินัยมีการทดสอบจิตใจของตัวเองมีการฝึกหัดดูใจของตัวเอง ฟังธรรมบรรยาย และก็สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็เรียกว่าได้ประโยชน์ ได้ยินว่าเด็กนักเรียนก็ชอบมากขึ้นจนไม่ทราบว่าจะรับได้เพียงพอต่อไปหรือไม่ เรียกว่าเป็นการฝึกปฏิบัติอบรมในเรื่องจริยธรรมแก่เยาวชน ซึ่งเสถียรธรรมสถานจัดมานานแล้ว
และอยากถือโอกาสบอกสักนิดนึงว่า เสถียรธรรมสถานนี้ก็มีคำขวัญๆ ประจำของเสถียรธรรมสถานบอกว่า ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน กิน เก็บ ใช้แต่พอประมาณ ที่เหลือเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นจุดประสงค์ของเสถียรธรรมสถาน ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน ก็เชื่อว่าคณะของเราเมื่อเข้าไปในที่นี้ก็จะเห็นว่ามีผู้กระทำงานที่นี่เยอะแยะเลย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ทั้งหญิงทั้งชายแต่ละคนที่คนงานในที่นี้ก็ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นงานเหลือบ่ากว่าแรงแต่ทุกคนรู้สึกว่างานที่ทำนี้เป็นหน้าที่ และก็หน้าที่ไม่ใช่หน้าที่อันอื่นแต่เป็นหน้าที่ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง มีกำลัง สติปัญญา ความสามารถ มีกำลังกายกำลังใจอย่างไรก็ทุ่มเทไปเพราะรู้แล้วว่าการทำงานในเสถียรธรรมสถานไม่ใช่เป็นการทำงานเพื่อตัวเองแต่เป็นการเพื่อเพื่อนมนุษย์เพื่อประโยชน์ที่จะได้ ฉะนั้นในขณะที่ทุกคนทำงานจะมองเห็นว่าหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วก็พอใจและไม่เคยกำหนดเวลาว่าจะต้องล่วงเวลาไปเท่าไรถึงจะหยุดทำงาน แล้วก็ไม่มีโอเวอร์ไทม์ (overtime) แต่ว่าทุกคนทำงานด้วยกำลังใจ ถึงเวลาที่จะต้องเตรียมงานเพื่อการอบรมอะไรก็ตามจะเห็นว่าที่นี่ทำงานกันจนดึกจนดื่น เริ่มตั้งแต่เช้ามืดโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับทุกคนรู้ว่ามีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้างตามงานที่ต้องทำ ตามความรับผิดชอบ ตามกำลังของตน นี่ก็ตรงกับคำขวัญที่ว่าทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน ก็ไม่รู้สึกว่าการทำงานนี้เป็นพิษร้ายที่จะกัดกินจิตใจของตนไม่ให้ตนมีความสุขได้เลยหรือเห็นว่าการทำงานเป็นความทุกข์ทรมานกับเป็นว่ามีความสุข และการทำงานที่ทำได้อย่างสนุกทางธรรมท่านก็เรียกว่าเป็นการทำงานเพื่อการปฏิบัติธรรม คือการทำงานอย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว
นอกจากนี้ก็ยังมีคำขวัญต่อไปว่า กิน เก็บ ใช้แต่พอประมาณ นี่ก็ตรงกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านทรงสอนให้เราอยู่ในความพอดี คือ มัชฌิมาปฏิปทา จะกินก็ไม่ให้สุดโต่งคือเห็นแก่กิน แล้วก็จะเก็บก็เก็บแต่พอประมาณไม่ใช่เห็นแก่ตัวเอาไว้มากๆ คนเดียวไม่แบ่งปันคนอื่น ใช้ก็แต่พอประมาณก็แต่พอดีที่สมควรแก่การใช้ เพราะฉะนั้นกิน เก็บ ใช้ แต่พอประมาณ นี่เรียกว่าเป็นคำขวัญที่ตรงกับมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นคำสอนซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วสุดท้ายก็คือที่เหลือเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ นี่ก็ตรงกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกเหมือนกัน ที่ท่านทรงสอนมนุษย์ทั้งหลายให้รู้จักมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ นั่นก็เป็นวิธีการฝึกหัดปฏิบัติธรรมที่สำคัญที่สุด คือการฝึกหัดลดละความเห็นแก่ตัว
ถ้ามนุษย์เรานึกถึงแต่ตัวเองเราจะแบ่งปันอะไรไม่ได้ มีเงินก็อยากจะเก็บเข้ากระเป๋าส่งเข้าธนาคารอย่างเดียว มีกินก็แอบเก็บไว้กินคนเดียว กลัวคนอื่นจะเห็นเดี๋ยวจะมาขอกิน มีเสื้อผ้าเครื่องใช้ก็เก็บไว้คนเดียวหมด บ้านช่องอะไรต่ออะไรก็ไม่มีการแบ่งปันที่จะให้ใครมาเอื้อเฟื้อหรือว่าอาศัยใช้ได้นี่คือความเห็นแก่ตัว ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่มีอยู่ทุกวัน
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็บอกได้ว่าคำขวัญของเสถียรธรรมสถานนั้นตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นคุณศันสนีย์ผู้เป็นผู้เลือกคัดถ้อยคำเหล่านี้มาเป็นคำขวัญ แล้วคุณศันสนีย์ก็ได้พยายามที่จะประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามคำขวัญนั้น ก็ด้วยการแบ่งปันสถานที่ซึ่งถ้าหากว่าเธออยู่แต่ผู้เดียว เพราะเธอมีเพศของการเป็นนักบวชที่เรียกว่าแม่ชี ถ้าเธอใช้สถานที่นี้เพื่อฝึกหัดปฏิบัติอบรมใจของตนแต่คนเดียวได้อย่างสงบ ได้อย่างสุขสบาย ได้อย่างสงบและก็ไม่ต้องมีปัญหาไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยแต่ว่าไม่ได้ทำอย่างนั้นเพราะได้แบ่งปันสถานที่ให้แก่ผู้อื่น
ฉะนั้นจึงจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เช่นอย่างเป็นกิจกรรมการอบรมพุทธบุตรเหมือนดังที่กล่าวแล้วนั้น นี่ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก จะให้อธิบายเลยตอนนี้หรือว่าอย่างไร หรือว่าจะซักถามอะไรต่อ
ผู้ร่วมสนทนา : อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายต่อเลยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นอกจากมีการอบรมพุทธบุตรซึ่งเป็นการอบรมแก่พวกเด็กๆ เยาวชนหนุ่มสาวแล้ว ก็ยังมีการอบรมที่คุณศันสนีย์ตั้งใจจะให้เป็นการอบรมที่เน้นในเรื่องการฝึกปฏิบัติธรรมโดยตรง เราเรียกว่าเป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา เป็นวิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง โดยใช้แนวทางการปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดและเราก็มีการฝึกอบรมกันถึง 10 วัน เริ่มต้นตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 แล้วก็ปฏิบัติตามระเบียบของการดำเนินตามตารางประจำวันไปจนถึง 3 ทุ่ม ซึ่งก็มีทั้งการบรรยายธรรมการฝึกปฏิบัติธรรมด้วยการนั่ง การยืน การเดิน ตลอดไปจนกระทั่งถึงทำวัตรสวดมนต์ กิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้เรารู้จักขัดเกลาจิตใจของเราที่หมักหมมอยู่ด้วยความทุกข์
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เพราะว่ามีความเห็นแก่ตัว จะเห็นแก่ตัวมาก เห็นแก่ตัวน้อย เห็นแก่ตัวอย่างดี หรือเห็นแก่ตัวอย่างไม่ดี ก็อยู่ในความเห็นแก่ตัว มันจะทำให้ใจเราเป็นทุกข์ถ้าเราไม่เห็นแก่ตัวไม่นึกถึงตัวเองมากความทุกข์จะไม่เกิดเท่าไร ถ้าเรามีเวลานึกถึงคนอื่นมากเท่าไรความทุกข์ก็ลดน้อยลง ฉะนั้นอานาปานสติภาวนานี้ก็มีจุดประสงค์อย่างนี้ เพื่อให้ใครเข้ามารับการอบรมให้เข้ามารู้ว่า การปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาทางจิตนี้คืออะไร ทำอย่างไร แล้วธรรมนั้นที่เป็นธรรมหัวใจของพุทธศาสนาท่านสอนอย่างนี้ ท่านก็สอนเราในเรื่องของการลดละ ในเรื่องขจัดความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นก็ได้จัดมาหลายครั้งแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไปก็มี แล้วก็สำหรับอย่างในครั้งแรกที่จัดขึ้นก็มีบรรดาท่านแม่ชีทั้งหลายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เมษา ปี30 ก็มีบรรดาท่านแม่ชีทั้งหลายมารับการอบรมเป็นจำนวนมาก
แล้วก็จากนั้นมีกลุ่มคนทั่วไปอยู่ในวงอาชีพต่างๆ มาก ที่เข้ามารับการอบรมก็รู้สึกว่าได้รับผลสำเร็จๆ นี่ไม่ได้ดูจากฝ่ายที่จัดแต่ดูจากฝ่ายผู้ที่เข้ามารับการอบรม ก็มีความตั้งใจไปปฏิบัติธรรมต่อเนื่องที่บ้าน นอกจากนั้นในวันสำคัญเราก็มีการฝึกปฏิบัติธรรมร่วมกันเหมือนอย่างเช่น ในวันมาฆบูชา เมื่อไม่นานมานี้ก็มีผู้เข้ามาร่วมการปฏิบัติตั้งแต่ 9 โมงเช้าเป็นจำนวนมาก แล้วก็มีการเวียนเทียนในตอนค่ำ รวมแล้วก็มีคนมาถึง 300 กว่าคนในวันมาฆบูชาที่ผ่านมา หรือ เมื่อเวลาที่ในวันอื่นๆ อย่างเช่นวันอาทิตย์ที่เราเห็นว่าเป็นโอกาสสะดวกที่เจอกัน ก็มีผู้มาร่วมฝึกการปฏิบัติร่วมกันเพื่อเป็นการทบทวน ฟื้นฟู ที่เราได้ฝึกไปแล้วนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ก็มากันเยอะ
เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าเปิดให้แก่บุคคลต่างๆ เข้ามาฝึกอบรมขัดเกลาจิตใจตนเองมาลิ้มรสของความสงบว่าเป็นความสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสุขที่เราไม่อาจจะเปรียบเทียบกับความสุขอย่างอื่นได้ นี่เป็นกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ
นอกจากนั้นก็มีโครงการ โลกสวยด้วยน้ำใจ นี่ก็คือเป็นงานที่เกิดจากน้ำใจของผู้ที่อยู่ในเสถียรธรรมสถานทุกคนสละแรงงาน สละเวลาของตน สละกำลังกายเพื่อที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแล้วก็สิ่งที่มองเห็นอยู่ได้ชัดเจนก็มีต้นไม้ซึ่งเป็นต้นไม้ที่หายาก และที่หาธรรมดาได้และก็จัดอยู่ในประเภทหาไม่ง่ายนัก ก็จะมีแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจที่จะบริจาคน้ำใจของตนเพื่อผู้อื่น แต่ที่ไม่เป็นการขายแก่ผู้ใดทั้งสิ้นแต่เป็นเรื่องของน้ำใจและก็นอกจากนั้นแล้วก็มีกิจกรรมที่จะเปิดโอกาสให้แก่พวกเด็กๆ ที่มีโอกาสน้อยที่จะได้มาประสบความรื่นรมย์ของชีวิตเหมือนอย่างที่เด็กต้องการ ที่นานๆ จะได้มีโอกาสออกไปพบปะกับโลกที่เป็นความรื่นเริงบันเทิงใจ ซึ่งปีหนึ่งก็จะมีวันหนึ่งสำหรับเด็กพิการที่จะได้มีโอกาสมาสนุกสนานกันที่นี่ มีการเล่นกีฬา เล่นเกมส์ ฟังดนตรี และตอบปัญหา เรียกได้ว่าเป็นความสนุกสุดเหวี่ยงของเขามาพร้อมกับเด็กที่เราเรียกว่านักสู้คู่คุณธรรม เด็กนักสู้เหล่านี้ก็คือเด็กนักกีฬา ที่เขาจะมาช่วยมาเล่นกันกับพวกเด็กๆ ที่เป็นเด็กพิการ เห็นว่าฝ่ายหนึ่งมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมทั้งกายทั้งใจ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนพิการแต่เขาจะช่วยเหลือกันได้อย่างไรเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนามาก
เพราะฉะนั้นถ้ามาดูด้วยตัวเองถึงจะรู้ว่า เสถียรธรรมสถานนี้เป็นสถานที่ที่ได้พยายามดำเนินการตามคำขวัญอย่างชัดแจ้งประจักษ์แก่ใจ และจัดว่าเป็นตัวอย่างที่คิดว่าท่านที่มีสถานที่มีความพร้อมก็น่าคิดจะลองทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ แล้วเราก็จะมีโอกาสแบ่งปันความสุขแก่เพื่อนมนุษย์บนโลกแผ่นดินนี้อีกได้มากเลย
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่าน่าอนุโมทนานะครับ แต่ว่าท่านผู้ชมที่ฟังรายการเราอยู่ไม่ทราบว่า ที่ตั้ง อยู่ตรงไหน อย่างไร จุดตรงไหนของกรุงเทพมหานครครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตั้งอยู่ที่ ซอยวัชรพล ถนนรามอินทรา ท่านผู้ใดที่รู้จักถนนรามอินทรา ถ้ามาจากหลักสี่ ก็จะถึงกิโลเมตรที่ 5 แล้วซอยวัชรพลก็อยู่ตรงกันข้ามกับหลักกิโลเมตรที่ 5 หาไม่ยากเลย เข้ามาประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นเสถียรธรรมสถานอยู่ทางซ้ายมือ
ผู้ร่วมสนทนา : เรื่องของการจัดกิจกรรมอบรมต่างๆ จะมีเป็นช่วงระยะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะจะประกาศให้ทราบอยู่ตลอดเวลา เวลานี้อาจจะบอกได้ว่ามีผู้ที่สนใจในธรรม รู้จักเสถียรธรรมสถานกันมากไม่น้อยเลย
ผู้ร่วมสนทนา : พูดถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งต่างๆ รู้สึกว่าจะมีกันหลายแห่งหลายที่ บางคนก็ไม่แน่ใจจะไปที่นั่นดี ที่นี่ดี ท่านอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช้อะไรเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสิน ในการเลือกที่จะไปมีอยู่นิดเดียว เมื่อเวลาที่เราตั้งใจที่จะไปสถานที่ใดเพื่อไปฝึกปฏิบัติธรรม เรามีจุดมุ่งหมายอยู่ในใจแล้วอย่างไร ถ้าจุดมุ่งหมายที่จะไปฝึกปฏิบัติธรรมมีอยู่ว่าอยากจะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาที่อยู่ในใจที่ทำให้ใจนี้ไม่มีความสุข ใจนี้เดือดร้อน กระวนกระวายระส่ำระส่าย หรือว่ามืดมัวครึ้มอยู่ตลอด เหมือนกับมองไม่เห็นแสงสว่าง ถ้าเราต้องการจะขจัดจุดนี้จุดที่เป็นปัญหาของชีวิต แล้วก็ต้องการที่จะให้สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นก็คือจิตเป็นทุกข์ไม่เป็นสุข อยากให้สิ่งที่เป็นทุกข์หลุดไปจากใจ ถ้าเรามีอันนี้เป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป็นจุดยืนอยู่ในใจ เราก็จะใช้อันนี้เป็นเกณฑ์เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสิน
เมื่อเราไปสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใดได้ฟังคำสั่งสอนได้เข้ารับการอบรม แล้วเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนแล้วเรามีความเข้าใจแล้วเราก็ฝึกปฏิบัติอบรมจนกระทั่งเรารู้สึกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาหรือสิ่งที่เป็นความทุกข์ค่อยๆ ลดลงไปจากใจของเราทีละน้อยๆ แล้วจิตใจก็มีความผ่องใสมากยิ่งขึ้น นั่นแหละคือถูกต้อง เพราะฉะนั้นจะตัดสินว่าที่ไหนถูกที่ไหนใช้ไม่ได้อย่าไปเชื่อคำคนอื่น ถ้าเชื่อคำคนอื่นแล้วจะไม่ได้คำตัดสินที่แน่นอนหรือถูกต้อง ต้องใช้ใจของตนนี่แหละเป็นหลักในการตัดสิน ว่าใจของตนนั้น เพราะว่าความทุกข์นั้นได้เบาบางลงแต่ไม่ใช่ถ้าหากว่าผู้ใดมีความตั้งใจว่าจะเข้ามาหาการปฏิบัติธรรมเพื่อมีหูทิพย์ตาทิพย์เพื่อที่จะได้พบความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เกิดขึ้นในตนเอง นี่ไม่ใช่จุดมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านทรงสอน ท่านทรงสอนเรื่องของทุกข์และการดับทุกข์ ฉะนั้นถ้าหากเราที่เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ควรจะมีจุดนี้เป็นจุดยืนอยู่ในใจ และเป็นจุดมุ่งหมายในการเข้ามาหาธรรม แล้วเราก็จะใช้สิ่งนี้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินได้ตลอดว่าสถานที่นั้นเหมาะสมหรือไม่แก่การฝึกปฏิบัติอบรม อันที่จริงท่านก็บอกว่ามีสิ่งที่เป็นสัปปายะหลายอย่างในการที่เราจะเลือกสถานที่ไหนเหมาะสมถูกต้อง แต่ในความรู้สึกของดิฉันก็คือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดนั้นนั่นก็คือคำสอน คำสอนที่ถูกต้องที่ทำให้ความทุกข์เบาบางลง นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการมากกว่าสิ่งอื่น เรื่องอาหาร เรื่องสถานที่ เรื่องความเป็นไปได้อะไรอย่างอื่นเป็นเรื่องรองทั้งนั้น เพราะสิ่งที่เราต้องการคือสิ่งที่จะแก้ไขภายในใจของเรา
เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเสถียรธรรมสถานก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งหาได้ยากสำหรับในปัจจุบันนี้ที่จะเป็นสถานที่ที่ช่วยฝึกอบรมจิตของเราให้ได้ประสบพบกับความสงบ ก็หวังว่าถ้ามีโอกาสก็คงจะได้มาแวะเสถียรธรรมสถานเมื่อเวลาที่เรามีกิจกรรม ในขณะที่มีกิจกรรมจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดซึ่งเมื่อกิจกรรมเกิดขึ้นเราจะจัดกิจกรรมเมื่อไร จะมีประกาศทางหนังสือพิมพ์
ธรรมสวัสดีทุกคนนะคะ