แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ คราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องตามรอยเท้าท่านอาจารย์ การตามรอยเท้าท่านอาจารย์ก็เพื่อที่จะเรียกว่าแสวงหาพลัง เพื่อที่จะมาช่วยส่งเสริมให้จิตของเรามีกำลังของความมั่นคง หนักแน่น เข้มแข็ง แล้วก็เด็ดเดี่ยว อาจหาญให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากว่าธรรมาศรมธรรมาตานั้นท่านอาจารย์เป็นผู้ที่จัดตั้งขึ้น เราก็เลยมานึกดูว่าน่าที่จะลองมาศึกษาสิ่งที่ท่านอาจารย์ได้ดำเนินมาในชีวิตของท่าน มีสิ่งใดที่เราควรที่จะติดตามแล้วก็ศึกษา แล้วก็ทำตามอย่างท่านเพื่อที่เราจะได้สามารถส่งเสริมกำลังใจของตัวเองให้เป็นผู้ที่มีความมั่นคงหนักแน่นในการศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นนะคะ
คราวที่แล้วก็พูดถึงว่า เราจะดูว่าท่านคิดอะไร การที่จะดูว่าท่านคิดอะไรนั้น สิ่งที่เราจะดูจากหนังสือซึ่งเป็นงานเขียนของท่านด้วยองค์ท่านเอง ก็จะรู้จักชัดได้ไม่ยากเลย ได้ยกตัวอย่างเรื่องหนังสือ “สิบปีในสวนโมกข์” และ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” นอกจากนั้นก็ “อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์” แล้วก็มีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องนะคะ จากสามเรื่องนั้น หากว่าเรามาอ่านอย่างละเอียดก็จะทำให้ทราบทีเดียวว่าท่านอาจารย์ท่านมีความคิดอย่างไร ในเรื่องการดำเนินชีวิตของท่านในฐานะเป็นพุทธทาส เป็นพุทธสาวกขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ก็พูดได้ว่า ท่านได้พยายามเสียสละทุกอย่างที่จะสร้างอุดมคติ และก็วางเป้าหมายให้แน่นอน เมื่อท่านจะดำเนินรอยตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างชนิดอยู่ในร่องรอย ไม่ขยับออก นอกร่องรอยนั้นเลย สิ่งที่เราได้มองเห็นก็คือดูว่าท่านคิดอย่างไร นั่นก็คือคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรไว้ในแง่ของธรรมท่านก็จะนำสิ่งนั้นมาสอนมาบอกกล่าวแก่พุทธบริษัทอย่างละเอียดละออถี่ถ้วน อย่างไม่ปิดบัง แล้วก็จะลัดตัดตรงสู่คำสอนอย่างไร แล้วท่านพูดอย่างไร ทีนี้ก็ดูว่าท่านทำอย่างไร การที่ท่านทำอย่างไร การที่จะดูได้ง่ายๆ ก็คือ ดูจากสวนโมกข์นี่แหละ ท่านอาจารย์ท่านได้สร้างสวนโมกข์อย่างไร มีอะไรบ้างในสวนโมกข์ ทุกคนก็ทราบดีว่าท่านอาจารย์ได้สร้างสวนโมกข์ไว้เพื่อเป็นวัดเปิด เปิดเพื่อให้โอกาสในการศึกษา หาความรู้ หรือมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ไม่เลือกชาติ ศาสนา ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย ถ้ามีความสนใจในธรรมะ แล้วก็อยากจะศึกษา อยากจะปฏิบัติ ส่วนโมกข์จะให้โอกาส ให้โอกาสก็คือให้ทั้งสถานที่ แล้วก็ได้จัดอุปกรณ์การสอน อุปกรณ์การฝึกอบรมให้แก่ตัวเองเอาไว้หลายอย่าง แล้วก็หลายแห่ง ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่นท่านได้สร้างหินโค้ง พอเข้าไปเราจะมองเห็นหินโค้ง หินโค้งนั้นเป็นที่ที่ท่านอาจารย์อยากประกาศ เพื่อบอกให้รู้ว่าในสมัยพุทธกาลนั้นพระพุทธเจ้า ท่านทรงอยู่อย่างไร ท่านทรงมีชีวิตอย่างไรในสมัยพุทธกาล ท่านก็จะพูดย้ำเสมอว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน และก็ทรงประกาศศาสนาก็กลางดิน แม้กระทั่งถึงเวลาที่ปรินิพพาน ก็ได้ปรินิพพานกลางดินอีกเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว แผ่นดินนี่แหละ อันเป็นพื้นธรรมชาติได้สร้างขึ้นมานั้น เราควรจะได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ และการอยู่กับธรรมชาติอยู่ที่แผ่นดินย่อมจะนำความเย็น ความสะอาด ความสว่างสงบ มาสู่ผู้ที่คลุกคลีกับธรรมชาติมากกว่าที่จะไปคลุกคลีกับตึกรามบ้านช่อง หรือไปคลุกคลีกับป่าคอนกรีตทั้งหลาย ท่านอาจารย์จึงได้สร้างหินโค้งขึ้นมา เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อน เวลาที่บรรดาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายท่านจะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันก็ตามหรือท่านจะฉันอาหารก็ตาม ท่านใช้สถานที่ไหนก็ใช้ที่กลางดินนั่นเอง เพราะฉะนั้นที่ลานหินโค้งนั้นจึงเป็นที่ที่ทั้งแสดงธรรม สวดมนต์ทำวัตรทั้งเช้าและเย็น แล้วก็เป็นที่ที่พระจะฉันภัตตาหาร เมื่อเวลาที่ญาติโยมอยากจะถวายภัตตาหารก็จะมาที่หินโค้งโดยเฉพาะในวันเสาร์ การที่จะมาหินโค้งนี้ก็ต้องมีการบอกล่วงหน้าหน่อยนะคะ แล้วก็เป็นภาพที่น่าดูมากทีเดียว เมื่อพระภิกษุแต่ละองค์ๆ ก็นั่งอยู่บนลานหินโค้ง แล้วองค์ที่เป็นประธานก็จะนั่งตรงกลาง ข้างหน้าของท่านก็จะมีบาตรวางอยู่ หลายคนคงเคยเห็นใช่ไหมคะ คงเคยไปดู แล้วก็บาตรที่วางอยู่ก็จะมีฝาบาตรวางไว้ใกล้ๆ และตรงกลางก็เป็นตัวบาตร บรรดาผู้ที่เป็นเจ้าภาพหรือว่ามีอาหารจะมาถวาย พอถึงเวลาก็จะยกหม้อข้าวยกหม้อแกงหรือว่าจะเป็นถาด เป็นจานหรืออะไรก็แล้วแต่ขึ้นไป ก็เริ่มต้นตักอาหารถวาย เริ่มไปจากปลายแถวเรื่อยไปทีเดียวจนกระทั่งครบรอบ จากหัวแถวถึงปลายแถว พอเสร็จแล้วก็มานั่งเพื่อที่จะคอยฟังที่ท่านสวด ยถา สัพพี หรือพูดง่ายๆ ก็คือให้พรแก่ญาติโยมที่ได้นำอาหารมาถวาย พอเสร็จเรียบร้อย
เมื่อท่านฉันเรียบร้อยแล้วก็เป็นเรื่องของโยมที่จะต้องได้รับการรับประทานอาหารบ้าง และในระหว่างที่พระฉัน ก็มีการสวดมนต์ทำวัตรกัน เพราะฉะนั้นภาพของการที่จะถวายอาหารที่ลานหินโค้ง ก็เป็นภาพที่ประทับใจอย่างมากที่จะเห็นพระท่านฉันอย่างชนิดที่เป็นธรรมชาติด้วยความสงบ ด้วยความสำรวม และก็ด้วยความตั้งใจที่จะดูว่าอาหารที่มีอยู่นั้น เมื่อพิจารณาอย่างที่เราเรียกว่า “ปัจจเวกขณ์” ก็คงจะทราบนะคะ เพราะว่าที่ในโครงการฝึกฝนอบรมตนฯ เราก็มีการปัจจเวกขณ์ คือพิจารณาอาหาร ทั้งในตอนเช้าแล้วก็ในตอนเพลที่ตอนรับประทาน ในขณะที่พระท่านพิจารณาอาหารท่านพิจารณาอย่างไร ก็คือพิจารณาให้เห็นความเป็นธาตุ การไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความมีอยู่ แล้วตั้งอยู่ แล้วมันก็ค่อยๆ เสื่อมสลายไป โดยเฉพาะเมื่อตักเข้าปากก็เปลี่ยนจากรูปร่างของอาหารที่เป็นสีสันงดงาม เป็นผักเป็นปลา เป็นเนื้อเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็ค่อยเปลี่ยนสภาพเป็นอะไรที่บอกก็ไม่ได้ คือหมายความว่าเมื่อมันไปปนกันอยู่ในปาก จากการเคี้ยวในปากก็ค่อยๆ ไหลเลื่อนเข้าไปสู่ลำคอ สู่ท้อง ย่อยออกไป ไม่มีรูปร่าง ไม่มีอัตตาตัวตนที่จะแสดงให้เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นการอยู่กับธรรมชาติ การที่จะฉันอาหารกับธรรมชาติ หรือการรับประทานท่ามกลางธรรมชาติ มันช่วยใช่ไหมคะ มันช่วยให้เรามีโอกาสที่จะได้รับประทานด้วยความสงบ พิจารณาดูด้วยการใช้วิจารณญาณใคร่ครวญด้วยจิต เพื่อที่จะให้สัมผัสให้เห็นถึงสภาพตามธรรมชาติของความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของทุกอย่างแม้แต่อาหาร ทีนี้นอกจากลานหินโค้งที่ท่านสร้างเอาไว้เพื่อเป็สถานที่ทำกิจกรรมที่ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไร แต่เป็นกิจกรรมที่อยู่คลุกคลีกับธรรมะโดยตลอดใกล้ๆ กับลานหินโค้งก็จะเห็นอาคารหนึ่งที่เรียกว่า “โรงมหรสพทางวิญญาณ” เขาเรียกว่าโรงมหรสพ ท่านอาจารย์สร้างโรงมหรสพทำไมขึ้นในวัด นึกแปลกใจไหม ยังไม่เห็นใช่ไหมคะ เพราะมหรสพเแปลว่าความเพลิดเพลิน เราไปดูมหรสพก็เพื่อเราไปเอาความเพลิดเพลิน ไปหัวเราะ ไปร้องไห้ ไปสนุกสนานอะไรก็แล้วแต่ กับหนัง กับละคร กับลิเก รำตัด หรืออะไรอย่างอื่นๆ เป็นที่ทำให้เกิดเพลิดเพลิน ท่านอาจารย์ก็คงจะได้ดำริแล้วก็มีความรู้สึกว่า ทำไมละ คนโลกนี่ยังมีโรงมหรสพต่างๆ หนัง ลิเก ละคร รำตัด อื่นๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้ก็ยิ่งมีมากยิ่งขึ้น ทั้งดนตรีทั้งอะไรต่างๆ แล้วนั้น แล้วทำไมในวัดนี่ เราถึงไม่คิดสร้างโรงมหรสพขึ้นบ้าง ท่านอาจารย์ก็ได้สร้างโรงมหรสพขึ้นในวัด ท่านอาจารย์มุ่งหมายว่าจะให้ความเพลิดเพลินบันเทิงแก่ผู้ที่เข้าวัดด้วยเหมือนกัน เคยไปแล้วหรือยังคะ ถ้าใครไปก็จะรู้ว่าความบันเทิงของโรงมหรสพในสวนโมกข์นั้นน่ะมันมีความบันเทิงอย่างไร ท่านบอกว่าความบันเทิงของโรงมหรสพในสวนโมกข์นั้นเป็นความบันเทิงทางวิญญาณ น่ากลัวหรือเปล่าไม่ทราบ ได้ยินความบันเทิงทางวิญญาณไม่ได้หมายถึง ผีสาง นางไม้ แต่วิญญาณในที่นี้หมายถึงสติปัญญา สติปัญญาในทางธรรม ฉะนั้นเมื่อเข้าไปในโรงมหสพทางวิญญาณนี้ ท่านอาจารย์ก็สรรหารูปภาพต่างๆ เรียกว่าไม่จำกัดว่าจะเป็น ภาพไทย หรือเป็นภาพจากศาสนาอื่น เช่นจากศาสนาคริสเตียนหรือว่าจากเซน ท่านอาจารย์ก็จะหาภาพเอามา โดยมีผู้มาเขียนลอกภาพนั้นให้ขยายใหญ่ขึ้นให้พอเหมาะกับสถานที่ แล้วเสร็จแล้วก็ ภาพแต่ละภาพจะเป็นปริศนาธรรมอยู่ในตัว คำว่าปริศนาธรรมก็คือ พอดูภาพแล้วมันชวนให้คิด เหมือนอย่างเช่นภาพหนึ่งของ“เอ็มมานูเอล เชอร์แมน” ซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมาก คนก็พูดถึงกันมากท่านอาจารย์ก็ใช้คำภาษาไทยว่า ตัวกูกับตัวกู นึกออกไหมคะ ในภาพนั้นเอ็มมานูเอล เชอร์แมนเป็นชาวต่างประเทศ ไม่แน่ใจว่าเป็นอิตาเลียนหรือเป็นฝรั่งเศสกันนะคะ แล้วเขาก็เป็นคนที่สนใจในธรรมะแล้วก็มีฝีมือในการวาดภาพเรียกว่าเป็นศิลปิน เขาก็มาที่เมืองไทย ได้ยินใครๆ พูดว่าเขาก็ตั้งใจจะมาที่สวนโมกข์นี่แหละ แต่ด้วยเหตุปัจจัยอะไรไม่ทราบก็มาไม่ถึงสวนโมกข์ ก็ไปอยู่ที่เกาะพงัน ก็เผอิญอยู่ไม่นานนัก เขาก็เป็นไข้แล้วก็เสียชีวิต ก็มีผู้ไปดูว่าตอนที่เอ็มมานูเอล เชอร์แมน เสียชีวิตเขามีอะไรที่เป็นสมบัติเหลืออยู่บ้าง ก็พบเป็นกล่องเป็นหีบแล้วเปิดออก ไม่ใช่เป็นลายแทงสมบัติ แต่พบภาพต่าง ๆ มากมายหลายภาพเลย เยอะแยะ ซึ่งคนที่เขาพบทีแรกเขาก็ทราบว่าท่านอาจารย์สนใจภาพเช่นนี้ ก็รวบรวมแล้วก็นำมาถวาย พอท่านอาจาร์ยเห็นภาพเหล่านั้น ท่านรู้สึกมีค่ามหาศาล จะเอาเงินไปซื้อสักเท่าไรก็ไม่ได้เพราะภาพที่เอ็มมานูเอล เชอร์แมน เขียนไว้ล้วนแล้วแต่เป็นภาพปริศนาธรรม
ถ้าใครดูภาพแล้วก็รู้จักคิดใคร่ครวญตาม แน่นอนที่สุดปัญญาในทางธรรมจะสว่างขึ้นจะแหลมคมขึ้นและก็จะชัดเจนแจ่มแจ้งในทางธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นที่เอ่ยถึงที่ว่า“ตัวกูกับตัวกู”ซึ่งเอ็มมานูเอล เชอร์แมน ใช้ภาษาอังกฤษว่า “The self and the self” คือตัวกูกับตัวกูนี่ มันหันหน้าเขาหากัน ไม่ใช่หันหน้าไปสนุกสนานเพลิดเพลิน มันหันหน้าเข้าต่อสู้กันเตรียมพร้อมจะกัดกัน โดยเขาวาดภาพเป็นตุ๊กแกสองตัวเป็นตุ๊กแกหรือเป็นจิ้งจกก็ไม่ทราบ แต่มันน่าจะเป็นตุ๊กแกมากกว่า มันหันหน้าเข้าหากันแล้วก็ทำท่าเหมือนกับพร้อมที่จะกัดกัน กัดกันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง นี่แหละคือลักษณะตัวกู ของตัวกู ของมนุษย์ หรืออัตตากับอัตตาของมนุษย์ เพราะเกิดไม่ถูกใจกันแล้ว ไม่ถูกตามที่ฉันคิดไม่ถูกตามที่ฉันพอใจ ก็พร้อมที่จะเข้าต่อสู้กัน ใช่ไหมคะ เราก็เคยเป็นใช่ไหม เอาตัวกูกับตัวกูเข้าไปปะทะกัน เพราะฉะนั้นภาพปริศนาธรรมที่ท่านเอาเข้ามาใส่ ที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังนี่นะคะก็เป็นภาพปริศนาธรรมที่จะเชิญชวนให้รู้จักคิด คิดแล้วมันจะเกิดความแตกฉานในทางธรรมะมากขึ้น และถ้าหากว่าใครมีจิตใจที่ใฝ่ธรรมจริงๆ แน่นอนสนุกมากเลย ยิ่งดู ยิ่งสนุก ยิ่งดูยิ่งเพลิดเพลิน และก็ทำให้เกิดความลึกซึ้งในการที่จะคิดพิจารณาธรรมได้มากยิ่งขึ้น ภาพนั้นมีมากมายหลายภาพ หรือภาพปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นภาพใหญ่มากทีเดียว อธิบายให้รู้ว่า ปฏิจจสมุปบาท คืออะไรอย่างไร มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นวงกลมในลักษณะไหน ก็เป็นภาพที่ชวนให้คิดอยู่เหมือน ฉะนั้นโรงมหรสพทางวิญญาณนี่ก็เรียกว่าท่านก็สร้างขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนที่เข้าไปรู้จักที่จะขยายความคิด แล้วก็รู้จักที่จะปรับปรุงความคิดในธรรมของตนโดยอาศัยภาพปริศนาธรรมนั้นเป็นสะพานก็ว่าได้ พอดูไปแล้วก็เข้าใจลึกซึ้งขึ้นก็อยากจะศึกษาธรรมะนี้ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นจนกระทั่งเข้าใจที่จะอธิบายธรรมะแก่ตัวเอง จนกระทั่งถึงกับอธิบายกับคนอื่นได้
ฉะนั้นการที่ท่านสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นมา ก็ไม่ใช่สร้างเล่น ๆ หรือสนุกสนาน เพื่อไปดูหนังดูละคร ถ้าจะพูดว่าไปดูหนัง ดูละครก็อาจจะพูดได้ว่า ไปดูหนังดูละครของตัวเองนี่ล่ะคือไปดูกิเลสในตัวเอง ที่ตัวเองได้เคยแสดงออกมามีอะไรๆ บ้าง ด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลง หรือด้วยอุปาทานด้วยตัณหาที่มีอยู่ ก็จะเกิดความสนุกสนาน เกิดความเพลิดเพลินด้วยเหตุนี้ ฉะนั้นก็ไม่เคยเห็นที่ไหนที่สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นในสถานที่ที่เรียกว่าวัด แต่ท่านอาจารย์ก็จะเรียกว่าแหวกแนวก็ได้ ท่านก็สร้างขึ้นเพราะว่าท่านรู้ว่าสร้างแล้วมันเกิดประโยชน์ นี่ท่านดูเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยก็เพราะว่า พุทธบริษัทของเรา ไม่ค่อยสนใจที่จะศึกษาธรรมให้กว้างขวาง แล้วก็ไม่สนใจที่จะหาความฉลาดหลักแหลมในทางธรรมให้มากยิ่งขึ้นอย่างที่ในทางโลก เรามีมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตออกมาเยอะแยะนับไม่ถ้วน เดี๋ยวนี้บัณฑิตก็เดินชนกัน งานไม่มีทำเสียมากมายก่ายกอง แต่บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นเป็นบัณฑิตทางโลก แต่เราจะหาบัณฑิตในทางธรรมจริงๆ นี่หายาก และไม่มีโรงเรียนที่ไหนที่ตั้งใจจะฝึกฝนอบรมบัณฑิตในทางธรรมด้วยการขัดเกลา ก็เข้าใจว่าท่านอาจารย์คงจะนึกแล้วว่าโรงมหรสพทางวิญญาณนี่จะเป็นเครื่องมืออย่างดีเลย ถ้าหากว่าผู้สนใจธรรมะจริงๆ คนไหนสนใจอย่างถ่องแท้ ยอมสละเวลาเข้าไปอยู่ในโรงหนัง ถ้าเราเรียนในโรงหนังทั้งวันเลย วันรุ่งขึ้นไปอีก วันรุ่งขึ้นไปอีก มีอยู่ 2 ชั้น เป็นอาคาร 2 ชั้น จากชั้นล่างเดินรอบขึ้นไปถึงชั้นบนเดินรอบ ไม่ใช่เดินเฉยๆ พอเดินแล้วก็หยุดศึกษา แล้วก็หยุดศึกษา ไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลากี่เดือนหรือกี่ปี ถึงจะศึกษาได้อย่างรอบด้าน ถ้าศึกษาได้หมด ไม่ต้องสงสัยเลย ความเป็นบัณฑิตในทางธรรมก็ต้องเกิดขึ้นในใจของผู้นั้นเป็นแน่นอน
หรืออีกแห่งหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญกันเป็นอันมาก นั่นก็คือที่ว่า “สระนาฬิเกร์” ก็คงเคยได้ยินแล้วใช่ไหมคะ “นาฬิเกร์” เป็นภาษาใต้ก็หมายถึงมะพร้าว สระนาฬิเกร์ก็คือ สระมะพร้าว แต่สระนั้นเป็นสระใหญ่แล้วก็มีเหมือนกับเป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ตรงกลางแล้วก็มีต้นมะพร้าวโดดเดียวอยู่ต้นเดียวอยู่ข้างบนนั่นแหละ ในสระนาฬิเกร์แห่งนี้ เมื่อมีต้นมะพร้าวอยู่ต้นเดียว มันมีความหมายอะไร ท่านก็นำเอาบทกล่อมเด็กของชาวใต้มาพูดให้ฟัง แล้วก็สร้างสระนาฬิเกร์ขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้สอดคล้องกับบทกล่อมเด็กนั่นว่า "เออ...น้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย" สะกิดใจอะไรบ้างไหมคะ มะพร้าวนาฬิเกร์ ก็อาจจะสมมติว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ เหมือนจะแทนจิตใจของคนที่เรียกว่ามนุษย์ ทีนี้มะพร้าวนาฬิเกร์อันนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่กลางทะเลขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้งนั้นมีลักษณะอย่างไร มันมีลักษณะที่ถูกแดดก็อ่อนเหลวจนถึงเป็นน้ำก็ได้ ที่เป็นขี้ผึ้งถ้าหากว่ามันถูกอากาศหนาว ถูกฝน มันก็จะแข็ง แล้วก็แข็งอย่างอ่อนๆ จนกระทั่งแข็งถึงที่สุด แข็งและกระด้าง มะพร้าวนาฬิเกร์ต้นเดียวโน้นกลางทะเลขี้ผึ้ง มันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้องฟ้าร้องไม่ถึง แต่ทั้งๆ ที่มันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง แล้วก็ไม่มีหลังคานะคะ ไม่มีหลังคาที่จะมาคลุม มันก็ตากแดดตากฝนอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน แต่ฝนตกก็ไม่ต้อง ไม่ต้องก็คือไม่ถูก ไม่ถูกอะไร ไม่เปียก ก็พูดอย่างภาษาที่เราจะแปลออกมาว่า ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อน ฟ้าร้องก็ไม่หนวกหู ไม่รู้สึกแก้วหูจะแตก อยู่ได้อย่างชนิดที่ไม่สะท้านสะเทือนอะไรเลย
มะพร้าวนาฬิเกร์ต้นนี้มันอยู่ได้อย่างนี้ตลอดเวลา แล้วมันอยู่ได้เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่า ไม่ใส่ใจกับฝน ไม่ใส่ใจกับแดด ไม่สนใจกับเสียงฟ้าร้องหรือเสียงธรรมชาติอื่นๆ เพราะว่าอะไรถึงไม่ใส่ใจ ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ ฝนตกแดดออก มันเป็นของธรรมดาใช่ไหมคะ ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันๆ ก็ไปเอาเรื่องอะไรกับมันนักหนา ถ้าหากเราไปเอาเรื่อง ฝนตกก็โกรธ ฟ้าร้องก็โกรธ แดดออกก็โกรธ ก็ไม่ถูกใจ ก็แน่นอนแล้ว คนคนนั้นก็จะถูกแดดเผา จะถูกฝนตกให้เปียกหนาวสะท้าน จะถูกฟ้าร้องลั่นเปรี๊ยะๆๆๆ จนเหมือนกับแก้วหูจะแตกไปเลย เพราะเอาเรื่องเสียทุกอย่าง ไม่ยินยอมเลย เอาเรื่องกับทุกๆ อย่าง ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอันนี้แหละ ท่านจึงเปรียบว่าคนนี่ จิตของคนก็เหมือนกับมะพร้าวนาฬิเกร์ต้นนั้น แต่ว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ ถ้าเปรียบแล้วอาจจะเก่งกว่าคน เพราะอะไร ก็เพราะสามารถฝึกอบรมจิตของเขานั้นให้นิ่ง ให้สงบ ให้เย็น ไม่เอาเรื่องกับอะไรที่เกิดขึ้นรอบตัว ก็มองเห็นว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาที่เป็นเช่นนั้นเอง มันเกิดขึ้นมาอย่างนั้นเอง เท่ากับว่าเพลงกล่อมเด็กอันนี้ ก็อยากจะสอนมนุษย์ทั้งหลายให้รู้ว่า ชีวิตของเราที่อยู่ในโลกนี้ก็เหมือนกับอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง เดี๋ยวมันก็ร้อน เดี๋ยวมันก็หนาว มันไม่มีหรอกที่จะคงที่อยู่อย่างเดียว มันขึ้นๆลงๆ ไปตามอารมณ์ มันขึ้นๆ ลงๆ ไปตามอำนาจของกิเลสที่ชีวิตจิตใจของคนนั้นตกเป็นทาสของมัน เพราะฉะนั้นถ้าหากตกเป็นทาสของมัน อะไรเกิดขึ้น ฟ้าร้องก็กลัว ตัวสั่น ปิดหู ไม่อยากได้ยิน แดดออก ตากแดดไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่สบาย ผิวจะไม่สวย ฝนตก ก็ไม่อยากได้ยินเสียงฝน คือว่าอะไรเกิดขึ้น ที่ผ่านมาทางตา ก็ดี ผ่านมาทั้งหู ก็ดี ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่สัมผัสก็ดี หรือผ่านเข้ามาทางใจโดยตรง ก็ดี ไม่ถูกใจทั้งนั้นแหละ อะไรๆ ที่ผ่านมามันไม่ถูกใจ มันจะเกิดความชอบ เกิดความไม่ชอบ เกิดความรัก เกิดความไม่พอใจขึ้นมาตลอดเวลา นี่คืออารมณ์ของคน เป็นอยู่หรือเปล่า ถ้ายังเป็นอยู่แล้วก็ นึกดูว่ามะพร้าวนาฬิเกร์กับเรานี่ อะไรมันเก่งกว่ากัน เรานี้เป็นคนเป็นมนุษย์ผู้ฉลาดแล้วทำไมมันยังสู้มะพร้าวนาฬิเกร์ที่อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวโนเน ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนเลย ทำไมมันถึงได้นิ่งสนิท สงบ อะไรเกิดขึ้นไม่กระทบกระเทือนเลยสักอย่างเดียว ทำไมท่านอาจารย์ท่านถึงได้สร้างสระนาฬิเกร์ขึ้นมา สร้างทำไม นึกออกไหมคะ สร้างขึ้นมาเพื่ออะไรสระนาฬิเกร์ พูดง่ายๆ ก็เพื่อประเทืองปัญญา อยากให้เป็นเครื่องมือเพื่อประเทืองปัญญาของมนุษย์ มนุษย์ที่ไม่ค่อยชอบใช้ปัญญา เก็บปัญญาเข้าลิ้นชัก ไม่ยอมเปิดออกไม่ใช้เลย เอาแต่ของทื่อๆ ออกมา ของคมๆ เก็บ แล้วก็ไม่พยายามที่จะเอามาลับ มาฝน ให้มันคม ฉะนั้นท่านก็จึงเห็นว่า ในเมื่อพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาของปัญญาแล้วก็เป็นพุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะรู้จักศึกษาธรรมะด้วยการลับปัญญาให้คม ทีนี้ปัญญาที่เราจะลับให้คมในด้านของธรรมะ เอาอะไรมาลับ ก็เอาเรื่องของสัจธรรมที่พระองค์ทรงสอน อย่างที่พูดมาแล้วเรื่องของไตรลักษณ์ เรื่องของอริยสัจสี่ เรื่องของปฏิจจสมุปบาท เอามาศึกษาอบรมใจตนเองให้เข้าใจ ให้ลึกซึ้งชัดเจนยิ่งขึ้นจนประจักษ์แจ้ง แต่ถ้าไม่คิดไม่อบรม ไม่ลับปัญญาของตนอยู่เสมอ มันก็ทื่อเข้าๆ แล้วทื่อมากเท่าไหร่ก็เป็นทาสของกิเลสมากเท่านั้น เรียกว่าถูกกิเลสเอาไปกิน ถูกตัณหาคาบเอาไป ถูกอุปาทานฮุบเอาไป ไม่เห็นเนื้อเห็นตัว หมด ไม่มีอะไรเหลือ
เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ ท่านจึงเห็นว่าถ้าจะส่งเสริมให้เกิดปัญญาในทางธรรมได้จริงๆ แล้ว ต้องสร้างเครื่องมือที่จะส่งเสริม ให้รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักใคร่ครวญ ให้มากขึ้นๆ ตามลำดับ ท่านจึงได้คิดสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้น ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ได้พูดก็ดี หรือได้ทำก็ดี ล้วนแล้วแต่เพื่อคล้อยตามตามพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น คล้อยตามพระพุทธประสงค์เพื่ออะไร ก็เพื่อที่ว่าเมื่อสนใจศึกษาธรรม ต้องสนใจจริง ศึกษาจริง สัมผัสจริง จนกระทั่งประจักษ์แจ้งในธรรมะนั้นๆ มันจึงจะเกิดประโยชน์ แล้วก็ได้ผล แล้วก็จะเจริญในธรรมจนถึงที่สุด อย่างที่ท่านบอกว่าธรรมาศรมธรรมมาตาสร้างขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาส ปฏิยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวทสูงสุด การที่ปฏิเวทจะสูงสุดก็ต้องอาศัยเครื่องมือเช่นนี้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง เพื่อที่จะประเทืองปัญญาคือให้ได้มีโอกาส ลับปัญญาในทางธรรมของตนให้แหลมคมให้ยิ่งขึ้น แล้วก็ให้เกิดความลึกซึ้งในทางธรรมยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์คิดจะทำอะไรอย่างนี้ คิดที่จะดำเนินตามรอยของพระพุทธเจ้า ถวายชีวิตของท่านเป็นทาสของพระพุทธเจ้า แล้วท่านพูดอย่างไร ท่านก็พูดธรรมะอันนี้เพื่อที่จะให้คนมีปัญญาทางธรรมยิ่งขึ้นๆ ถึงที่สุดของยิ่งขึ้นมีอะไรเป็นเกณฑ์ทราบไหมคะ ก็คือถึงซึ่งความผ่อนคลายจากความทุกข์จนกระทั่งวันหนึ่งอยู่เหนือความทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ไม่ได้สอนเรื่องอย่างอื่น สอนเรื่องอะไรตอบได้ใช่ไหมคะ ความทุกข์และการดับทุกข์ การที่จะรู้จักความทุกข์ถึงขั้นดับทุกข์ได้ก็ต้องหมั่นฝนปัญญา มีปัญญาในทางธรรมของตนเอง คือลับสมองในทางธรรมนี่ให้แหลมคมยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถแทงทะลุ แทงทะลุผ่าน ท่านเรียกว่าผ่านของอวิชชา คือผ่านความไม่รู้ ผ่านความเขลา ออกไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จนประจักษ์แจ้งในใจ แล้วความทุกข์ก็จะคลายลงๆ เมื่อใดที่สามารถคลายลงได้จนถึงที่สุดจิตนั้นก็จะอยู่เหนือความทุกข์ เป็นจิตที่พ้นทุกข์ ในเมื่อตลอดพระชนม์ชีพไม่ทรงสอนอย่างอื่นนอกเหนือจากความทุกข์และการดับทุกข์
เมื่อใครไปที่สวนโมกข์นะคะ จะเบื่อหรือไม่เบื่อก็จะต้องฟังเรื่องนี้เหมือนกันแหละค่ะ ท่านอาจารย์ก็จะไม่เทศน์เรื่องอื่น จะไม่บรรยายเรื่องอื่น ท่านก็จะพูดเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ โดยปกติท่านอาจารย์ก็นั่งอยู่ที่หน้าม้าหินตรงหน้ากุฏิของท่าน ก็มีม้าหินตั้งอยู่ แล้วก็มีม้าหินเปล่าๆ ตั้งไว้อีกหลายตัว ใครที่แวะไปเที่ยวสวนโมกข์ มีไปกันเยอะเป็นร้อยเป็นพันนะคะ ไปแวะชมสวนโมกข์ แล้วก็พอเห็นท่านอาจารย์ท่านนั่งอยู่ที่ม้าหิน หลายคนก็จะเข้าไปกราบแล้วก็เอ่ยปาก อยากจะเรียนถามโน่นถามนี่ ถ้าหากว่าใครถามว่าที่วัดนี้มีพระกี่องค์ บางทีท่านก็อาจจะถามว่าถามทำไม ไม่ใช่คำถามที่เดินทางไปไกลแสนไกลแล้วมาถามว่ามีพระกี่องค์ที่วัดสวนโมกข์ หรือบางทีก็จะถามว่าท่านอาจารย์อายุเท่าไหร่ ท่านก็อาจจะถามว่า ถามทำไม หรือไม่ตอบเลย ไม่ใช่เรื่องของคุณ เมื่อมาวัดแล้วละก็ควรจะมาถามสิ่งที่เป็นแก่นสารที่จะให้ความรู้แก่ตัวเองในทางธรรม ทำให้ตัวเองมีความฉลาดในทางธรรมขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเผอิญมีใครสักคนไปพูดถึงเรื่องของความทุกข์ว่า ผมหรือดิฉันมีความทุกข์เหลือเกิน รู้หรือไม่ว่าความทุกข์มันเป็นยังไง ถ้าเริ่มถามอย่างนี้แล้วคนนั้นโชคดี ท่านอาจารย์จะคุยได้ยาวเลย แล้วท่านก็จะอธิบายเรื่องลักษณะของความทุกข์ ความทุกข์มันเกิดอย่างไร จะสังเกตอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือว่าจะได้ฟังธรรมะเรื่องของอริยสัจสี่ โดยไม่รู้ตัว และแน่นอนว่าจะเป็นธรรมะที่น่าจับใจ คือฟังแล้วน่าประทับใจเพราะว่าเป็นธรรมะที่เป็นหลักสำคัญทีเดียว เพราะว่าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ทรงแสดงธรรมเรื่องอริยสัจสี่ง่ายๆ แก่ใครนะคะในสมัยพุทธกาล พระองค์ จะทรงเลือก เลือกคนแล้วก็เลือกโอกาสว่าเมื่อใดที่จะแสดงธรรมเรื่องอริยสัจสี่ให้ฟัง ถ้ามิฉะนั้นก็อาจจะทรงแสดงธรรมอย่างธรรมดาๆ เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องสวรรค์ เรื่องทาน เรื่องศีล เป็นต้น จนกระทั่งทรงเห็นว่าคนที่นั่งฟังอยู่นี่แหละ มีจิตใจอ่อนโยน ประณีต แล้วก็พร้อมที่จะเป็นตะแกรงที่ละเอียด ร่อนอะไรต่ออะไรที่เป็นกรวดเป็นทรายใหญ่ทิ้งลงไปได้หมดแล้ว เหลือแต่ที่จะร่อนธรรมะขั้นสูงเอาไว้เท่านั้น ท่านถึงจะแสดงธรรมเรื่องอริยสัจสี่ หรือมิฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงรู้ด้วยพระญาณ ทรงทราบด้วยพระญาณ เมื่อผู้ที่นั่งอยู่ในกลุ่มคนที่ฟัง มีบางคนที่มีจิตใจ สะอาดอ่อนโยนประณีต เขาฝึกฝนของเขาอยู่เสมอและพร้อมที่จะรับฟังเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ พระองค์ก็จะทรงแสดงธรรมเรื่องอริยสัจสี่ให้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์ หรือว่าคล้ายๆ ว่าจะไปชักชวนท่านอาจารย์สนทนาเรื่องของความทุกข์ คนนั้นจะโชคดีที่จะได้ฟังธรรมที่น่าจับใจ แล้วก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งนะคะ คุ้มกับการจะเดินทางมาที่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์ก็จะพูดเรื่องความทุกข์เรื่องดับทุกข์ให้ฟังอย่างละเอียดชัดเจน แล้วพร้อมๆ กับแนะนำท่านให้ไปดูที่โรงมหรสพทางวิญญาณ ไปดูที่สระนาฬิเกร์ ไปนั่งดูแล้วก็นั่งคิดเอาเองว่าที่ตรงนี้บอกอะไรเราบ้าง เพื่อให้รู้ถึงเรื่องความจริงของ
ชีวิต
ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวข้อการแสดงธรรมของท่านอาจารย์ก็คือ เรื่องของชีวิต ชีวิตคืออะไร ชีวิตนี้เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร และอยู่เพื่ออะไร ท่านอาจารย์ย้ำมากทีเดียวในเรื่องนี้ ตลอดเวลา ทำไมถึงย้ำในเรื่องนี้นักคือเรื่องของชีวิต ทำไมท่านอาจารย์ถึงพูดย้ำๆ ต้องลองถามตัวเราเองดูสิคะว่า ที่นั่งกันอยู่นี่ มีผู้ที่รู้จักเรื่องของชีวิตแล้วอย่างละเอียดถ่องแท้สักกี่คน ชีวิตคืออะไร ตอบตัวเองได้บ้างหรือไม่แล้วชีวิตคืออะไร แล้วเกิดมาทำไม ก็จะบอกว่าพ่อแม่ให้เกิดมา นี่เป็นคำตอบที่ไม่มีสาระแก่นสาร พ่อแม่ให้เกิดนี่ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดมาแล้ว แต่ทีนี้พอเกิดมาแล้วจะมีชีวิตนี้อยู่เพื่ออะไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แล้วก็ถ้าหากว่าใครรู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วก็จะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร รู้แล้วก็ศึกษาแล้วพยายามหาคำตอบ บุคคลนั้นจะสามารถที่จะดำเนินชีวิตอย่างชนิดเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ควรที่จะรู้จักว่าชีวิตนี้คืออะไร ท่านอาจารย์ท่านจะย้ำให้รู้ ถ้าหากว่าใครรู้ว่าชีวิตนี่คืออะไร เกิดมาทำไม จะพยายามทะนุถนอมชีวิตของตน แล้วก็ใช้ชีวิตของตน ในทางที่เกิดประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นๆ คำว่าประโยชน์ในที่นี้ ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อตัวเองเท่านั้นนะคะ แต่ว่าจะเป็นประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เพื่อนำความสุข ความสงบ นำสันติสุขมาสู่เพื่อนมนุษย์ทั่วกัน แล้วก็ทำชีวิตของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่มุ่งแต่เพียงว่าจะเอา จะเอาสิ่งที่ตนต้องการ ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ ความมีหน้ามีตาหรืออื่นๆ แต่ทว่าจะใช้ทุกๆ เวลานาทีของชีวิต เพื่อกระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และแก่เพื่อนมนุษย์และผู้อื่น ความเบียดเบียนซึ่งกันและกันที่เราเห็นอยู่ทุกวันๆ หรือตามประกาศของหนังสือพิมพ์ หรือว่าในโทรทัศน์ที่มีการเบียดเบียนจนถึงฆ่าฟันแย่งชิงกันอยู่ทุกวันจะไม่เกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะแต่ละคนไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่ามีชีวิตทำไม เพราะฉะนั้นแทนที่จะใช้ชีวิตนี้อย่างสงบเย็น แล้วให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่น ก็กลับมาใช้ชีวิตนี้เบียดเบียนตัวเองและเบียดเบียนผู้อื่นด้วย มันจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือว่าไม่คุ้มแก่การที่เกิดมาใช่ไหมคะ มันเหนื่อย เกิดมาทั้งชีวิตมันเหนื่อยลำบากตรากตรำกว่าจะถึงที่สุดของชีวิต ในแต่ละช่วงของชีวิตเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้ามันไม่เกิดประโยชน์ ถ้ามันไม่ได้ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตนเองและผู้อื่น มันก็เลยมีแต่ความเหี่ยวแห้งใจ เป็นชีวิตที่แห้งแล้ง ไม่มีความชุ่มชื่นเบิกบานใจเกิดขึ้นเลย สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ท่านอาจารย์นำมาพูด พูดอยู่เสมอ แล้วก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นด้วยว่านี่แหละชีวิตอย่างนี้มันถึงจะมีค่า มันมีค่าได้อย่างไรล่ะ ก็ทุกวันเวลานาทีนั้น มันล้วนแล้วแต่ทุ่มเทลงไปเพื่อการกระทำที่เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นทั้งสิ้น และความเบียดเบียนกันจะไม่เกิด
เพราะฉะนั้นในตอนสุดท้ายของชีวิตของท่านอาจารย์ ถ้าใครติดตามงานของท่านอาจารย์ติดตามคำพูดของท่านอาจารย์ แล้วก็ติดตามหนังสือที่เขายกขึ้นมากล่าว ถึงท่านอาจารย์ก็จะเห็นว่าท่านอาจารย์ท่านพูดว่า “โลงศพของอาตมาคือความดีที่ได้ทำไว้ในโลก ป่าช้าของอาตมาก็คือคุณประโยชน์ที่ได้ทำให้แก่เพื่อนมนุษย์” ใครกล้าพูดอย่างนี้บ้าง ที่นั่งๆ อยู่นี่ เอาล่ะเราไม่กล้าพูด แต่อยากจะพูดไหม เราอยากจะพูดประโยคอย่างนี้ไหม ประโยคอย่างว่า โลงศพของอาตมา โลงศพของฉันนั้นก็คือความดีที่ทำให้ในโลก ที่ไปซื้อโลงศพเป็นไม้เท่าไหร่ๆ มาใส่ตัวตอนที่ไม่มีชีวิต ไม่มีลมหายใจแล้ว โลงศพที่คนจะไม่ลืม ว่าสิ้นชีวิตไปตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังตั้งอยู่อย่างสง่างาม คือความดีที่ทำไว้ในโลก ประโยชน์ที่ทำให้แก่เพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นมันกว้างขวาง กว้างขวางยังไม่มีขอบเขต ประมาณไม่ได้เลย ผู้ที่จะทำอย่างนี้ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้แล้วว่า ชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม อยู่เพื่ออะไร เพราะฉะนั้นชีวิตวันหนึ่งๆ จะไม่เปลืองเปล่า ไม่เปลืองเปล่าไปอย่างไร้ค่า ไม่มีความหมาย ทุกวันๆ มีแต่ความหมาย มีความหมายที่จะต้องกระทำ ทำอะไร ทำเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ อย่างในหนังสืออสีติฯ มีรูปอยู่รูปหนึ่ง คือมีรูปท่านอาจารย์นะคะ และก็มีคำพูดเขียนเอาไว้ว่า คิดได้ตั้งหลายอย่าง คือในความคิดนี้มีเยอะแยะเลย แต่ว่าจริงๆ แล้วถึงเวลาทำ ทำไม่ได้กี่อย่างเลย ท่านปรารภไว้อย่างนั้น คิดไว้เยอะเลย มีความคิดจะทำโน่นทำนี่เยอะแยะ แต่ว่าทำไม่ได้กี่อย่าง ที่ทำไม่ได้กี่อย่างนั้นก็คงจะเหตุปัจจัยไม่อำนวย หรือเวลาไม่พอในการที่จะทำ ท่านที่บอกว่า ทำไม่ได้กี่อย่างเลย แต่คิดไว้ได้เยอะแยะ แต่ขณะที่ท่านบอกว่าทำไม่ได้กี่อย่างนี่ เราก็รู้สึกว่ามหาศาล ไปดูในศาลาธรรมโฆษณ์ หนังสือเทศน์ที่ท่านทำเอาไว้นับไม่ถ้วน แล้วก็บอกว่าเป็นงานของคนคนเดียวไม่ใช่มีกลุ่มมีทีมมาช่วยกันทำ แต่ก็ได้ทำเอาไว้มากมายก่ายกอง นี่แหละ เพราะท่านพิจารณาอยู่เสมอว่าชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม เพื่อประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นท่านจึงใช้ทุกเวลานาทีเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็สวนโมกข์นี่ใหญ่โตมหาศาล ใครที่เคยไปแล้วก็จะรู้นะ เป็นวัดที่ท่านสร้างเอาไว้ ให้โอ่โถงมาก สง่างามมาก พอเดินผ่านเข้าไปในประตู รู้สึกว่ารู้สึกสัมผัสถึงความสง่า ความสงบ ความเย็น มีพร้อมอยู่ในสวนโมกข์ ไม่ใช่ว่ามีเครื่องทำความเย็นหรืออะไรมาตั้งอยู่ มีแต่ป่าไม้ธรรมชาติ มีหิน มีดิน มีทราย ไม่มีเครื่อง เครื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นอุปกรณ์ แต่ว่าพอเดินผ่านเข้าไปจะได้สัมผัสกับสิ่งนี้ แล้วก็ยังมีสวนโมกข์นานาชาติ ตามที่เล่าให้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์เองน่ะ ไปดูสิท่านอยู่ยังไง ท่านอยู่ของท่านห้องเล็กนิดเดียว กว้างสักสองเมตร อาจจะสักเมตรครึ่ง ประมาณนั้น แล้วก็ยาวก็คงไม่เกินสองเมตรครึ่ง พูดง่ายๆ คือห้องเดิมจะเป็นห้องเขาจะสร้างเป็นห้องน้ำถวายท่าน แล้วก็สร้างตึกก็ไม่ใหญ่ พอสมควร ถวายเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ไม่เคยอยู่ที่ตึกนั้น ท่านกลับใช้ชั้นบนนั้นเป็นห้องสมุด และห้องสมุดที่สะสมหนังสือเอกสารที่มีค่าทั้งนั้น และตัวท่านเองก็ไปอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องนั้น ที่เป็นห้องน้ำ ห้องส้วม แล้วก็ห้องนั้นน่ะเป็นทั้งที่อยู่ ที่ทำงาน ที่เขียนหนังสือ ที่พักผ่อน ที่อะไรต่อมิอะไรอยู่ที่ตรงนั้น ทุกอย่างอยู่ตรงนั้น มองดูมันอาจจะรกบ้าง กองหนังสือก็ตั้งมีพิมพ์ดีดเก่าๆ อยู่เครื่องหนึ่ง พอถึงเวลาที่ท่านจะบรรยายธรรม ท่านก็จะพิมพ์ดีดต๊อกแต๊กๆ เพื่อเตรียมหัวข้อที่ท่านคิดจะพูด ให้แจ่มแจ้งแก่ผู้ฟัง ชีวิตของท่านมีแค่นั้น และฉันโดยปกติก็มื้อเช้า ท่านเสริมมื้อเพลก็เมื่อเวลาที่ทำงานหรือเวลาที่ท่านอาพาธ รายจ่ายของชีวิตท่าน มากไหม ลองนึกดูสิคะ รายจ่ายของท่านมากไหม ถ้านึกถึงตัวเราที่เราจ่ายให้ตัวเราวันหนึ่งๆ บวกรวมกัน ไม่ได้เลยใช่ไหมคะ แต่นั่นของท่านมีแค่นั้น แต่งานที่ท่านทำ ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ก็ประมาณไม่ได้อีกเหมือนกันว่ากว้างใหญ่เพียงไหน ว่ามีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นอันนี่แหละเป็นสิ่งที่น่าจะฉุกคิดนะ เราทุกคนในควรจะฉุกคิด ฉุกคิดคำถามง่ายๆ ชีวิตคืออะไร ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ให้ชีวิตมา ให้มีลมหายใจ เป็นผู้ชายบ้าง เป็นผู้หญิงบ้าง ไม่ใช่แค่นั้น การเกิดมาแค่นั้นเป็นเนื้อเป็นตัวแค่นี้ไม่มีความหมายอะไรหรอก ไม่มีความสำคัญ คนเขาจะจำได้ ก็ต่อเมื่อได้จารึกเอาไว้ว่าชีวิตนี้ได้ทำอะไร เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าได้ทำคุณประโยชน์ เขาก็จารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์แห่งชีวิตของครอบครัวว่าบุคคลผู้นี้ได้ทำประโยชน์อะไรบ้าง แก่ตนเอง แก่สังคม แก่โลก หรือถ้าหากว่าไปทำประโยชน์ หรือว่าทำในสิ่งตรงกันข้าม ตรงกันข้ามก็คือไม่ใช่คุณประโยชน์กับผู้อื่น แต่เป็นการเบียดเบียนมหาศาล เขาก็จารึกไว้เหมือนกัน ตอนนี้เราถึงทางเลือกใช่ไหมคะ จะเลือกอะไรล่ะ แต่อย่าไปเลือก เอาเมื่อหมดแรงแล้วนะ ไม่มีโอกาส ถ้าไม่เลือกไปคิดเอาเมื่อตอนหมดแรงแล้วไม่มีโอกาส แม้ว่าจะเกิดความคิดดีๆ อยากจะทำดีๆ สิ่งที่วิเศษๆ หมดแรง เพราะอะไร เพราะท่านบอกว่าความแก่ง่อมย่อมทุลักทุเลมาก มันไม่ไหวจริงๆ ทำอะไรไม่ได้เหมือนอย่างที่ต้องการทำ ฉะนั้น คำว่าชีวิตคืออะไรนี่ เป็นสิ่งที่เป็นคำถามที่ท่านอาจารย์จะพูดแล้วพูดอีก แล้วก็กระตุ้นให้ทุกๆ คนที่ได้ผ่านมานี่เอาไปลองคิดถึงสิ่งนี้ว่าเกิดมาแล้วชีวิตรู้จักไหม ชีวิตคืออะไร ควรจะทำอย่างไร ชีวิตนี้จึงจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าสมแก่การที่ได้เกิดมา ถ้าถามว่าท่านพูดอะไร สิ่งที่ท่านพูดนี่เป็นสิ่งที่สมควรไหม สมควรพูดไหม เป็นประโยชน์ให้คนคิดไหม ทำให้คนโง่ลงหรือทำให้คนฉลาดขึ้น ว่าไงค่ะ คิดว่าโง่ลงหรือฉลาดขึ้น ถ้าหากว่าคิดว่าใครฟังแล้วก็เอามาคิดตาม สว่างไสวขึ้น ไม่เคยคิดเลยว่าเกิดมานี่เกิดมาทำไม ก็รู้แต่เพียงว่า เราเกิดมาเป็นลูก แล้วก็โตขึ้นหน่อยก็ไปโรงเรียน พอเรียนหนังสือก็เรียนต่อๆ ไปจนถึงมหาวิทยาลัยให้ได้ปริญญา แล้วก็ทำงานทำการแล้วก็มีครอบครัว แล้วก็อยู่ไปเถอะ อยู่ไปเถอะ นี่หมายความว่าไง ก็อยู่ไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ แล้วก็นอนขึ้น นอนลงอยู่ตลอดเวลา ตามแรงผลักดันของกิเลสตัณหาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิต อย่างนี้คุ้มค่าไหม คุ้มค่ากับการมีชีวิตไหม ลองตั้งคำถามตัวเองสิคะ เป็นชีวิตที่มีคุณค่าไหม ก็คงตอบตัวเองได้แหละใช่ไหมคะ ไม่คุ้มเลยๆ มาคิดเอาได้ตอนเฮือกสุดท้าย หมดโอกาสแล้ว ท่านจึงสอนให้รู้จักคิดตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ยังเด็กๆ หมั่นคิดอย่างนี้ คิดไว้เรื่อยๆ แล้วเราก็จะได้รู้จักพัฒนาชีวิตนี้ไปในหนทางที่ถูกต้อง ถ้าถามว่าดูว่าท่านอาจารย์คิดอะไร ท่านพูดอะไร หรือพูดอย่างไร แล้วก็ท่านทำอะไร เราก็ดูจากสิ่งที่ท่านสร้างขึ้นในสวนโมกขพลาราม ที่ท่านเอื้อเฟื้อเอาไว้ สร้างไว้เพื่อเอื้อเฟื้อให้คนทั้งหลายได้มาศึกษามาเรียนรู้ มาพัฒนาตนเอง เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาแล้วก็พัฒนาได้ ถ้าเรารู้จักวิธีโดยใช้ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้นี่แหละเป็นแนวทางของการพัฒนาชีวิต เราก็จะสามารถพัฒนาชีวิตไปได้อย่างชนิดที่มีแต่ความเจริญรุ่งรุ่งเรือง มีแต่ความสว่างไสวเพิ่มขึ้นๆ ทุกขณะของชีวิต
นอกจากว่าท่านจะได้สร้างสิ่งที่ประเทืองปัญญาในทางธรรมโดยตรงเช่น โรงมหรสพทางวิญญาณ หรือสระนาฬิเกร์แล้ว ท่านอาจารย์ก็ยังสร้างสิ่งอื่นๆ ที่จะเป็นเครื่องช่วย เครื่องช่วยอบรมเด็กพัฒนาเด็ก เช่น โรงปั้น โรงปั้นปั้นอะไร โรงปั้นของท่านอาจารย์ท่านก็ปั้นตั้งแต่พระพุทธรูป ภาพพระพุทธรูป ภาพพระพุทธประวัติต่างๆ ที่ท่านปั้นขึ้นมา ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้ปั้นเองหรอก แต่ทว่าท่านเป็นผู้ให้ความคิด แนะแนวทางแล้วก็หาแบบอย่างมาให้ แล้วท่านก็ฝึกพระในสวนโมกข์ที่ท่านไม่เคยไปเข้าโรงเรียนปั้นที่ไหนเลยนะคะ แต่ว่าบางองค์ท่านอาจจะมีความสามารถพิเศษ มีศักยภาพในเรื่องนี้อยู่ในตัวท่าน ท่านก็ดูภาพแล้วก็ลองปั้น แล้วก็ฝึกไปๆ จนกระทั่งสามารถปั้นได้เหมือน แล้วก็ปั้นได้งาม ไม่ผิดจากศิลปินที่เคยศึกษาในเรื่องการปั้นมาโดยตรง เพราะฉะนั้นที่โรงปั้นนี้นอกจากจะปั้นภาพพระพุทธประวัติแล้วก็ยังปั้นตุ๊กตา ตุ๊กตาต่างๆ เหล่านี้ก็จะเป็นตุ๊กตาที่จะสอนธรรมะแก่เด็กๆ และให้ใช้ประโยชน์ได้ด้วย เช่น ทำเป็นกระป๋องออมสิน เป็นต้น ที่โรงปั้นก็จะมีเด็กๆ มากันมาก มาเพื่อขอตุ๊กตา บางทีก็มาเรียนปั้นสนุกๆ เป็นงานอดิเรกของเขาในการปั้นต่างๆ แล้วก็บางทีก็มีพ่อแม่มาด้วย พอพ่อแม่มาสักครั้งสองครั้งจะติดใจ จะพยายามพาลูกมาที่โรงปั้นนี้ เพราะอะไรก็เพราะว่าเมื่อตอนที่มีโรงปั้นใหม่ๆ ก็มีพระภิกษุอาวุโสท่านหนึ่งชื่อท่านอาจารย์ไสว หลายๆ คนก็จะเรียกท่านว่า หลวงตาไสว ท่านมีความสามารถที่จะพูดจาชักชวนทั้งพ่อแม่แล้วก็ทั้งเด็กๆ ให้หันมาสนใจในเรื่องของตุ๊กตาปั้นที่เป็นธรรมะ แต่กว่าที่จะนำพาเด็กๆ แล้วพ่อแม่เข้ามาสู่ตุ๊กตาที่ปั้นที่โรงปั้นนี่แล้ว ท่านหลวงตาท่านก็จะเริ่มพูดตั้งแต่ความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก หน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่ หน้าที่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก จะต้องมีต่อกันอย่างไร เป็นต้น แล้วจากนั้นก็จะจูงลงมาถึงเรื่องของศีล ให้เห็นว่าการรักษาศีลที่ต้องรักษา กาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติอยู่เสมอนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหน้าที่ ฉะนั้นหน้าที่ของลูกทีดีก็คือต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูแล้วก็กระทำอะไรต่างๆ เพื่อรับใช้พ่อแม่ ให้พ่อแม่สบายใจ ให้พ่อแม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นพอมาถึงที่โรงปั้น พ่อแม่ที่มีลูกดื้อ ที่ว่าไม่ได้ อบรมลูกไม่ได้ก็จะได้อาศัยหลวงตาท่านพูดหวานล้อม คุยไปคุยมาจนผลที่สุดลูกใจอ่อน ยอมกราบพ่อแม่ และอะไรที่ได้เคยล่วงเกินพ่อแม่ พูดไม่เพราะ ดื้อ ไม่ยอมรับใช้ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง พ่อแม่ก็จะได้รับความสบายใจขึ้นมีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่มักจะพาลูกมาที่โรงปั้นเพื่อให้หลวงตาท่านพูดกล่อมเกลา จนกระทั่งเด็กๆ นี่ เป็นด็กที่ว่านอนสอนง่าย รู้จักกตัญญู รับใช้พ่อแม่ พ่อแม่ก็มีความชื่นอกชื่นใจ นั่นอย่างหนึ่ง ทีนี้อีกอย่างหนึ่งที่สังเกตตอนที่ไปที่โรงปั้นใหม่ๆ นะคะ ก็จะเห็นมุมหนึ่งของโรงปั้น มีกองใหญ่เป็นกอง ไม้ขีดไฟ ไฟแช็คราคาแพงๆ เป็นพันๆ หรือหลายพัน มีบ้องกัญชาหลายชนิด ชนิดอย่างธรรมดา หรือว่าชนิดที่ตกแต่งให้สวยงาม แล้วก็มีอะไรอย่างอื่นอีกเยอะ เรื่องพวกของเสพติด นั่นก็ด้วยความสามารถในการพูดเกลี้ยกล่อม ชี้ให้เห็นถูก ชี้ให้เห็นผิด ชี้ให้เห็นโทษของการติดสิ่งเสพติดต่างๆ เหล่านั้น บุคคลที่มาถึงก็ยอมสละ ยอมสละให้คำปฏิญาณ ทีเดียวว่าจะไม่เสพอีกแล้ว จะไม่สูบอีกแล้ว จะไม่ดื่มอีกแล้ว บางคนก็ถึงจะยอมรับศีล เพื่อจะยอมอดสิ่งเหล่านั้น เพราฉะนั้นที่โรงปั้นนี่นอกจากจะเป็นที่ที่จะทำให้พ่อแม่ กับลูกสมานสามัคคีกัน แล้วก็มีความเข้าใจ อันดีต่อกัน แล้วก็ทำหน้าที่ถูกต้องต่อกันและกันแล้ว และก็ปั้นภาพของพระพุทธประวัติแล้วก็ยังเป็นที่ๆ ให้มาสละทิ้งสิ่งชั่วร้ายที่ตนได้กระทำมา เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์สร้างโรงปั้นในลักษณะนี้ขึ้นมาทำไม ก็คงพอจะตอบได้แล้วนะคะ ท่านสร้างขึ้นมาก็เผื่อจะช่วยบรรดาคนทั้งหลาย ที่อยู่ในโลก หรือญาติโยมทั้งหลาย ให้สามารถที่จะรู้จักว่าสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดดี สิ่งใดสมควร แล้วก็ละสิ่งชั่วเพื่อที่จะกระทำสิ่งที่ดีให้ยิ่งขึ้น ให้เกิดประโยชน์ต่อไปให้ยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นการช่วยพุทธบริษัทโดยทางอ้อม แม้จะไม่ได้เข้ามาวัดไม่ได้มา อยู่ที่วัดก็ตามทีเถอะ แต่ด้วยวิธีนี้ก็จะทำให้เขาสามารถอยู่ในศีลอยู่ในธรรม แล้วก็ประพฤติถูกต้องต่อไป ฉะนั้นถ้าเราจะดูว่าทำไมท่านอาจารย์ถึงทำได้ ถ้าดูว่าความรู้เดิมของท่านอาจารย์เท่าไหร่ ใครที่อ่านประวัติท่านอาจารย์ก็จะรู้ว่าท่านอาจารย์จบแค่มัธยมสาม แต่ความคิดอ่านของท่าน การกระทำของท่าน เราบอกชั้นเรียนของท่านอาจารย์ได้ไหมคะ บอกไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะมหาศาลเกินมหาวิทยาลัย เกินปริญญาเอก งานที่ท่านอาจารย์ทำ ท่านทำอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าคิดใคร่ครวญ อยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างไรจะใช้ชีวิตนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดต่อเพื่อนมนุษย์ อย่างเดียวเท่านั้นที่ท่านคิดอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นวันนี้ก็พูดง่ายๆ ว่าการที่ตามรอยเท้าท่านอาจารย์ ท่านคิดอย่างไร พูดอย่างไร ทำอย่างไร เราก็ดูสภาพแวดล้อมของสวนโมกข์ สิ่งที่เรียกว่าสวนโมกข์สัญลักษณ์ของสวนโมกข์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจ ว่าชีวิตคืออะไรอย่างไรนี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าหากว่าสามารถมองเห็นว่าท่านอาจารย์มีพลังได้ยังไงนะที่ท่านมาสร้างสวนโมกข์ให้ใหญ่โตมโหฬาร บางคนยังยอมรับว่าสวนโมกข์เป็นสถาบัน ถ้านึกถึงสวนโมกข์ เหมือนเป็นสถาบัน จะต้องประพฤติตรง ตรงต่อธรรม อยู่ในทางธรรมอย่างเดียวไม่อยู่ในอย่างอื่น แล้วก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน ไม่พูดอย่างอื่น ไม่ทำอย่างอื่น พอพูดถึงสวนโมกข์แล้วนี่ ตรงต่อพระธรรมอย่างเดียว ไม่มีเฉไฉ ไม่มีเอนเอียง ใครจะมาชักชวนอะไรไปอย่างอื่นจะไม่มียอมพูดอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่เป็นแก่นของธรรมะ นี่เป็นสัญลักษณ์ของสวนโมกข์ ท่านสร้างขึ้นมาได้ยังไง อัศจรรย์ไหมคะ และเรานี่อยากจะสร้างตัวเราเอง ให้เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามจริงๆ เอาแค่นี้แหละบ้างไหม แล้วก็คงคิดกันหรอก คงคิดกัน แต่คงคิดกันแต่ยังทำไม่ได้ แล้วทำไงถึงจะทำได้ แล้วทำไมถึงทำไม่ได้ล่ะ ที่ทำไม่ได้ก็เพราะมันขาดพลัง ขาดกำลังใจ เพราะฉะนั้นที่พูดนี่ ตามรอยเท้าท่านอาจารย์ก็เพื่อที่จะส่งเสริมจิตของตนเองให้มีกำลัง หนักแน่นมากขึ้น ด้วยการตามรอยเท้าท่าน ท่านเด็ดเดี่ยวอย่างไร เราเด็ดเดี่ยวอย่างท่านบ้าง ท่านมีปณิธานอย่างไร เรามีอย่างนั้นบ้าง ท่านมีอุดมคติอย่างไร เรามีอย่างนั้นบ้าง ท่านอุทิศชีวิตของท่านอย่างไร เสียสละอย่างไร เราก็พยายามอย่างนั้นบ้าง แล้ววันหนึ่งเราจะไม่ถึงความสำเร็จบ้างหรือ จุดของการสำเร็จยังไม่เกิดขึ้นบ้างหรือ ลองไปคิดดูนะคะ ก็คงต้องเกิดแน่นอน ก็หวังว่าทุกคนจะนำเรื่องของชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม แล้วก็อยู่เพื่ออะไรมาใคร่ครวญ ฟังแล้วก็ดูสิว่าท่านอาจารย์พุทธทาสองค์เดียวนี่ ท่านคิดของท่านได้อย่างไร ท่านทำได้อย่างไร สวนโมกขพลารามจึงกลายเป็นสถาบันขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของพุทธบริษัทเป็นจำนวนไม่น้อย ตลอดไปถึงชาวต่างประเทศบางกลุ่มบางพวกด้วย ท่านทำได้อย่างไร แล้วเราจะเจริญรอยตามรอยเท้าท่านในฐานะที่ กำลังอยู่ในธรรมาศรมธรรมาตา จะเป็นสมาชิกคนหนึ่ง เราสมควรไหมที่จะเจริญรอยตามรอยเท้าของท่านอย่างใกล้ชิด แล้วก็ฝึกฝนอบรมตน จนสามารถทำได้ ขอให้พิจารณาดู แล้วก็ให้มีคำตอบที่น่าพอใจอิ่มใจแก่ตัวเองเกิดขึ้นนะคะ เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต เพื่อความสำเร็จแห่งความเป็นพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามอย่างแท้จริง ธรรมสวัสดีก่อนนะคะ