แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ
เราได้พูดกันถึงเรื่อง การตามรอยท่านอาจารย์ ซึ่งก็มีรายละเอียดในหลายเรื่องที่ได้พูดมาแล้วนะคะ ในครั้งนี้ ก็อยากจะขอมาสรุป คำว่าสรุปก็เพื่อจะดูว่า สิ่งที่เราได้พูดมาแล้วทั้งหมดนั้น ถ้าจะหยิบที่เป็นประเด็นสำคัญเอาไว้สำหรับจำในใจ และก็จำได้ง่ายๆ นี่ ควรจะมีเรื่องอะไรบ้าง ก็อยากจะพูดเริ่มต้นในการสรุปว่า ให้สังเกตว่า ที่ท่านอาจารย์ท่านทำอะไรต่ออะไรได้ และก็เป็นที่เคารพนับถือ เป็นแบบอย่างทั้งหลายได้นั้น เพราะเริ่มแรกทีเดียวมีการเตรียมความพร้อมขององค์ท่านอย่างรอบด้าน ใช่ไหมคะ? ลองนึกย้อนดูที่เราได้เคยพูดกันมาแล้วนั้น ท่านเตรียมความพร้อมขององค์ท่านอย่างรอบด้าน คำว่ารอบด้านนี่ ไม่ว่าในด้านของการศึกษา ทั้งด้านทางธรรม การศึกษาในทางโลก และก็ความรอบรู้ในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวสัมพันธ์กันกับชีวิต และก็เกี่ยวสัมพันธ์กันกับธรรมชาติ ท่านจะพยายามเตรียมความพร้อมในเรื่องของความรู้ทุกอย่าง เพื่อให้รู้รอบและก็พร้อมที่จะตอบคำถาม เหมือนอย่างในรูปของท่านเอง ในหนังสือ “อสีติ” ที่ท่านบอกว่า ตอนนี้พร้อมแล้วที่จะตอบคำถาม ทีนี้ก็มามองดูว่า ความพร้อมในการที่จะตอบคำถามนั้นนะ ท่านทำได้อย่างไร เราจะไม่ย้อนพูดรายละเอียดที่เคยพูดมาแล้ว แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า ความพร้อมในการตอบคำถามของท่านนั้น มีศักยภาพอะไรที่แสดงออกมาบ้าง นี่เท่าที่ได้เคยสังเกต และก็ได้เคยพบด้วยตัวเองนะคะ ก็พูดได้ว่า การตอบคำถามของท่านนั้น สามารถที่จะทำให้ผู้ที่มุ่งหน้าเข้ามาหาท่าน อย่างชนิดต้องการจะหักล้าง คือ ไม่ได้มาเพื่อที่จะมาขอรับธรรมะ หรือไม่ได้มาด้วยความเคารพ แต่มาอย่างชนิดตั้งใจจะหักล้าง หักล้างคำสอน หักล้างคำบรรยาย หรือว่าหักล้างรูปแบบอะไรต่างๆ ที่ท่านอาจารย์ได้เคยพูด เคยสอน และเคยกระทำเป็นตัวอย่าง ท่าทางที่มานั้น อาจจะมาอย่างกระด้างทีเดียว อาจจะมีความรู้สึกทะนงอยู่นิดๆ อวดดีอยู่หน่อยๆ แต่เสร็จแล้วเมื่อฟังท่านสนทนากันไปมา โต้ตอบกันไปมา ผลที่สุดก็ลงเอยด้วยการเป็นผู้ยอม และยอมด้วยความอ่อนน้อมในที่สุด เหมือนอย่างมาตอนแรกนี้ ท่านอาจารย์ก็มักจะนั่งอยู่ที่ม้าหิน ที่ตรงหน้ากุฏิของท่าน แล้วพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นพื้นดิน เป็นพื้นทราย เวลาที่มาถึงนี่ พูดได้ง่ายๆ ว่า กราบนี่ไม่อยากกราบ ท่าทางไม่อยากกราบท่านอาจารย์ อย่างมากก็เพียงแค่ยกมือไหว้ แต่หลังจากที่ได้พูดสนทนากันเสร็จ คือ ฟังคำตอบของคำถาม ที่เขาได้ถามท่านอย่างเรียกว่าเหมือนกับรัวกระสุนปืนใส่ ก็จบลงของคำถามนั้นแล้ว ก็กลายเป็นผู้ยอม ยอมด้วยความอ่อนน้อม พร้อมที่จะกราบลงที่พื้นดินด้วยความเคารพ นี่ก็เป็นการแสดงถึงว่า การเตรียมพร้อมอย่างรู้รอบนั้นให้คุณอย่างไร นอกจากนี้ ก็อาจจะพูดได้ว่า การพร้อมที่จะตอบคำถามนั้นก็สามารถที่จะดึงใจของผู้ฟัง หรือดึงใจของผู้อ่านนี่ โดยผู้นั้นเป็นบุคคลผู้ไม่มากด้วยทิฐิมานะ ไม่ได้มีทิฐิมานะ ถือตนถือตัวออกมา แต่ทว่าเป็นผู้ที่มีความรู้สึกอย่างกลางๆ อย่างพร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน ก็จะได้รับประโยชน์จากคำสอน จากคำบอก จากการตอบคำถามของท่านอย่างชัดเจน หรือจะพูดได้ว่าอย่างน่าอัศจรรย์ก็ได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าสนใจนะคะ ก็ขอแนะนำให้ลองไปเปิดหนังสือที่ชื่อว่า “ร้อยคนร้อยธรรม” ที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งได้จัดพิมพ์ขึ้น ในงานฉลองครอบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของท่านอาจารย์ในตอนนี้
ร้อยคนร้อยธรรม ก็คือ ๑๐๐ บุคคล ที่ทางสำนักพิมพ์ได้ไปสัมภาษณ์ ไปไต่ถามเกี่ยวกับเรื่องของท่านอาจารย์พุทธทาส ในเรื่องของการสอน การบรรยายธรรมของท่าน ถ้าอ่านแล้วก็จะน่าแปลกเหมือนกันนะ ที่เราไม่นึกว่าบุคคลที่ไม่ได้เคยสนใจ และก็ไม่ได้เคยไปเป็นลูกศิษย์ท่านด้วยนะคะ คำว่าไม่เคยไปเป็นลูกศิษย์ หมายความว่า ไม่เคยไปเข้าใกล้ และก็ไปรับคำสอนอย่างชนิดจากองค์ท่านอาจารย์เอง ได้ยินได้ฟังอยู่ห่างๆ และก็อ่านจากหนังสือที่ท่านอาจารย์ได้เขียน อย่างเช่นจากชุดธรรมโฆษณ์ธรรมะบ้าง แล้วผลที่สุดก็เกิดติดใจ เกิดมีความเข้าใจ ก็ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองยิ่งขึ้นๆ จนผลที่สุด ถึงกับออกปากมาว่า สิ่งใดที่ท่านพูด ที่ท่านสอน ที่ท่านเขียน เขามีความรู้สึกว่าไม่ได้นอกทางจากคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย และก็หลายท่านก็จะบอกว่า ได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิต ได้แก้ปัญหาในตอนที่ชีวิตเขาเข้าสู่จุดวิกฤต ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ ด้วยคำสอนในทางธรรมที่ลัดตรง เป็นต้น นี่ก็เพราะความเป็นผู้พร้อมที่จะตอบคำถามของท่าน นอกจากนี้ ถ้าเราจะมาดูว่า ที่ว่าท่านพร้อมที่จะตอบคำถามนี่ ท่านตอบคำถามในเรื่องอะไรบ้าง ก็อยากจะสรุปออกมาสั้นๆ ว่า คำตอบของท่านอาจารย์นั้น ก็อันแรกพร้อมที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวกับแก่นของพระธรรม หรือแก่นคำสอนขององค์สมเด็จที่เรียกว่า สมเด็จพระบรมศาสดา ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะถามธรรมะในระดับศีลธรรม หรือในระดับปรมัตถธรรม ก็พร้อมที่จะตอบ และไม่ใช่ตอบแบบสั้นๆ เฉยๆ แต่ตอบอย่างชนิดให้ความกระจ่างแจ้งในคำถามนั้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สิ่งที่ท่านตอบ นอกจากพูดถึงแก่นของพระศาสนาแล้ว ก็ยังแสดงถึงจุดยืนที่ถูกต้องของชาวพุทธ ผู้ที่เป็นชาวพุทธที่แท้จริงนั้น ควรจะมีจุดยืนอยู่ที่ไหน ในการปฏิบัติตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ก็ขอสรุปสั้นๆ ว่า จุดยืนของชาวพุทธก็ต้องอยู่ที่จุดของพุทธศาสตร์ ก็คือการศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติธรรมะ อย่างชนิดเป็นศาสตร์ของผู้ใช้ปัญญา
ฉะนั้น คำตอบของท่านก็สามารถที่จะจูงใจพุทธบริษัทให้เข้าสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ที่ท่านเน้นนักเน้นหนา นั่นก็คือ การสละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน คำตอบนั้นจะจูงเข้าไปสู่จุดนี้ นั่นก็คือ การพาเข้าไปสู่จุดของอนัตตานั่นเอง แล้วท่านก็มักจะพูดง่ายๆ ด้วยคำพูดง่ายๆ ไม่ต้องมีคำบาลีอะไรมาปะปนเลยก็ได้ เช่น ความไม่เห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่นให้มากขึ้น เมื่อใดที่สามารถเห็นแก่ผู้อื่นให้มากขึ้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เองใช่ไหมคะ ความเห็นแก่ตัว ความนึกถึงตัวเองก็ลดลง ลดลงโดยลำดับ และโดยที่บางทีอาจจะไม่ได้สนใจว่า นี่เป็นการตั้งใจที่จะลดละอัตตาตัวตนหรือไม่ แต่ทว่าเป็นการลดอัตตาตัวตนไปทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่ามุ่งหน้าแต่ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น แก่โลก แก่สังคม ก็เลยลืมนึกถึงว่า ความต้องการของตัวเอง อย่างเช่น ด้วยความโลภบ้างนั้นนะ ต้องการอะไร อยากจะได้อะไรเป็นของตัวเอง ลืมหมด นึกแต่จะให้ผู้อื่น แล้วจริงๆ แล้วนั้นนะ ในขณะที่ตั้งใจให้ผู้อื่นเราเองก็ได้ ใช่ไหมคะ? ได้ความอิ่มอกอิ่มใจ ได้ความรัก ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้มิตร ได้สหาย ได้ผู้ที่จะร่วมมือกันร่วมใจกัน โดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้ต้องบอกว่าเป็นกำไรแก่ชีวิตมหาศาลทีเดียว
นอกจากนี้ คำที่ท่านอาจารย์จะนำมาบอก .. ว่าง .. จิตว่าง .. แต่คำว่า ว่าง นี้ ก็เป็นคำที่ต้องพิจารณาให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าพูดแต่ .. ว่าง .. เฉยๆ ผู้ที่ไม่ได้เคยสนใจในเรื่องของธรรมะอย่างถึงแก่น ก็จะนึกว่า ถ้า .. ว่าง .. ก็คือไม่ต้องทำอะไร แต่อันที่จริงนั้น .. ว่าง .. ในทางธรรมนี้ ก็หมายถึง ความว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน นั่นคือ .. ว่าง .. ในทางธรรม ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ท่านอาจารย์ได้นำมาพูด และก็มาบอกให้สะกิดใจพุทธบริษัทอยู่เสมอก็คือ เรื่องของภาษาคน ภาษาธรรม ถ้าภาษาคนละก็ .. ว่าง .. ก็คือไม่ต้องทำอะไร หรือไม่ได้ทำอะไรเลย จนกระทั่งไปถึงว่า ไม่ต้องทำหรอก งานการก็ไม่ต้องทำ ทำให้มันว่าง ให้ชีวิตมันว่าง ให้จิตมันว่าง นี่เรียกว่า .. ว่าง .. เห็นแก่ตัว เป็น .. ว่าง .. เอาสบาย เป็น .. ว่าง .. เอาเปรียบคนอื่น นี่เป็นความหมายของปุถุชน และก็เข้าใจตามภาษาคน แต่ภาษาธรรมนั้นนะ ความว่างในที่นี้ หมายถึง ว่างจากกิเลส โลภ โกรธ หลง ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในใจ ว่างจากตัณหา ความอยาก อยากโน่น อยากนี่ ไม่มีเอา เพราะว่าเห็นแก่ผู้อื่น ทำสิ่งที่ดีที่สุด ที่เกิดประโยชน์ที่สุด จนจิตใจมันว่าง เบาสบาย เพราะฉะนั้น ว่างในภาษาธรรมก็จึงเป็นจิตที่ว่าง จากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ก็มีแต่ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความเย็น ความชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เบิกบานใจที่ท่านเรียกว่า เป็นความเกษม ความเกษมนี้จะต้องเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อจิตใจนั้นว่างอย่างแท้จริงในภาษาธรรม เหมือนดังที่ท่านโมฆราชกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านพราหมณ์พาวรี ใน ๑๖ คนที่พากันไปทูลถามคำถามจากพระพุทธเจ้า ก็ทั้งอีก ๑๕ คนนั้น ก็มีคำถามต่างๆ แต่ท่านโมฆราชนี้ก็เจาะจงถามอยู่คำถามเดียวว่า ทำอย่างไรมัจจุราชจึงจะมองไม่เห็น ทำอย่างไรความตายจึงจะตามไม่ทัน ทีนี้ ถามถึงสามครั้ง ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบ พอครั้งที่ ๓ พระองค์จึงได้ตรัสตอบว่า ถ้าหากว่าต้องการที่จะไม่ให้มัจจุราชมองเห็น และก็มัจจุราชตามทันถึงเรื่องของความตายตามทัน ก็จงมีสติ และก็ลดละอัตตานุทิฐิเสีย อัตตานุทิฐิ ก็คือความคิดเห็นว่ามีตัวมีตนจริงๆ ที่จับได้อยู่ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้านี่เป็นตัวตนจริงๆ เป็นเนื้อเป็นหนังของเรา ต้องให้ว่างจากความคิดอันนี้ ว่างจากความคิดเห็นที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน ถ้าหากว่าสามารถทำเช่นนี้ได้ละก็ มัจจุราชตามไม่ทัน มัจจุราชอยากจะหาก็หาไม่พบ ทำไมละถึงไม่พบ ก็เพราะว่าไม่มีตัวตนให้หา ใช่ไหมคะ?
ฉะนั้น อันนี้ .. ว่าง .. ที่พูดในที่นี้อันหมายถึง สุญญตาวิหารนี้ ก็จึงหมายความว่า เป็นความว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน นี่ก็เป็นความหมายของความว่างในภาษาธรรม คำว่าภาษาคน และภาษาธรรมนี้ มีความสำคัญมากนะคะ ถ้าหากว่าหมั่นศึกษาภาษาคนและภาษาธรรม คำง่ายๆ นี่ เช่น คำว่า ลืมตัว นี่ เราพูดกันเสมอใช่ไหมคะ? .. คนนี้เป็นคนลืมตัว .. ถ้า ลืมตัว ในภาษาคน นั่นก็คือหมายถึง คนที่ยโสโอหัง คนที่ทะนงตัว เห็นว่าตัวเองนี่วิเศษกว่าคนอื่น เก่งกว่าเขา ดีกว่าเขา นั่นเป็น ลืมตัว ในภาษาคน แต่ถ้าลืมตัวในภาษาธรรมนี้วิเศษมากเหลือเกิน เพราะลืมตัวในภาษาธรรมนั้นนะ หมายถึงว่า ลืมไปว่ามีตัวมีตน ตัวตนที่กำลังยึดถืออยู่นี่ ลืมไปว่ามีตัวมีตน จนกระทั่งสามารถเป็นผู้ที่ทำอะไรต่ออะไรเพื่อผู้อื่น จนไม่คิดที่จะเห็นแก่ตัว เห็นไหมคะ ความหมายของภาษาคนและภาษาธรรมต่างกันอย่างนี้ และพอรู้จักความหมายในภาษาธรรมได้ ก็จะรู้จักว่า เราจะทำอย่างไร ชีวิตนี้จึงจะเกิดประโยชน์ถึงที่สุด นั่นก็คือ พยายามที่จะลดละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาให้ยิ่งขึ้น คือ ลดมันไปให้เหลือน้อยลงๆ จนวันหนึ่งมันหมด ก็จะถึงซึ่งความว่างที่แท้จริง
นอกจากนี้ ที่ท่านอาจารย์พร้อมที่จะตอบคำถามในเรื่อง หนึ่ง แก่นของพระศาสนา หรือแก่นของพระธรรม อันที่สอง ก็คือ แสดงจุดยืนของชาวพุทธที่ถูกต้อง คือ จุดยืนอยู่ที่พุทธศาสตร์ และอันที่สาม ก็คือ ท่านพร้อมที่จะเผยแผ่พระธรรม ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือให้ชาวพุทธได้สัมผัสว่า การศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะเห็นผลต้อง ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ก็คงจะเคยได้ยินใช่ไหมคะ ท่านจะพูดซ้ำอยู่เรื่อย .. ที่นี่และเดี๋ยวนี้ .. อะไรๆ ก็ต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะคิดอะไรในทางที่จะเกิดประโยชน์ ในทางที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ทำที่นี่และเดี๋ยวนี้ นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่างนี้เป็นต้น ครั้งหนึ่งก็มีกลุ่มผู้คนที่ไปเยี่ยมที่สวนโมกข์นี่ และท่านอาจารย์ก็บอกว่า พาเขาไปเที่ยวชมสวนโมกข์หน่อย พอพาชมกันเสร็จแล้วก็กลับมา ก็มีผู้หนึ่งมากระซิบถามว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่มีปาฏิหาริย์ทางไหนนะ? ตอนนั้นนึกไม่ออกจริงๆ ไม่เคยคิดว่าท่านอาจารย์พุทธทาสมีปาฏิหาริย์ ไม่เคยนึก ก็มีความเห็น และก็รู้สึกว่าสัมผัสท่านอย่างคนธรรมดา อย่างเป็นบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง ท่านนำอะไรมาสอน นำอะไรมาพูดก็อย่างชนิดที่ไม่ได้บอกว่าท่านนี่วิเศษ หรือเก่งกว่าผู้อื่น แต่นำมาบอกให้รู้เรื่องกัน ให้เข้าใจกันอย่างเป็นเพื่อน เพราะฉะนั้นพอได้รับคำถามว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่มีปาฏิหาริย์ทางไหน นึกไม่ออก แต่ทันใดนั้นนะ มีคำตอบขึ้นมาที่จะพูดกับเขาทันทีว่า อ้อ.. มี มีปาฏิหาริย์ทาง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาจะเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ว่าท่านอาจารย์พุทธทาสมีปาฏิหาริย์ทาง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาคงไม่เคยได้ยินปาฏิหาริย์อย่างนี้ และคงจะงงก็เลยหยุดถาม ไม่ถามอะไรต่อ เราก็ไม่ได้อธิบายอะไรต่อเหมือนกัน และก็ยังขันตัวเองว่า เออ.. เราตอบเขาไปได้อย่างไรว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ และก็มาย้อนคิด .. จริงเสียด้วย เพราะท่านอาจารย์ไม่ได้สอนอะไรนอกจากนี้ และก็ไม่เหมือนท่านอื่นที่สอน ก็คือเน้น ที่นี่และเดี๋ยวนี้
ทำไมท่านอาจารย์จึงเน้น ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็ย้อนไปนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้อย่างไร จำได้ไหมคะ? ที่ท่านบอกว่าให้เราทั้งหลายนี่อยู่กับอะไร? นึกออกไหมคะ? อดีต อนาคต ปัจจุบัน ให้อยู่กับอะไร? ก็ให้อยู่กับปัจจุบัน คือวันนี้ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ที่มีลมหายใจอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าอดีตก็ผ่านไปแล้ว จะไปคร่ำครวญถึงไม่มีประโยชน์ ทั้งที่ดีและก็ทั้งที่ไม่ถูกใจ อนาคตก็ยังไม่มาถึง จะไปรำพี้รำพันไปกังวลถึงทำไม? แต่ปัจจุบันนี้สิ ที่เรารู้สึกร้อน รู้สึกหนาว รู้สึกทุกข์ รู้สึกอะไรอยู่ ปัจจุบันนี้สิ เพราะฉะนั้นการที่ท่านอาจารย์พูดว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ การประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในอึดใจนี้ ในลมหายใจนี้ ไม่ใช่ไปคอยเมื่อมันผ่านพ้นมาแล้ว ไปอยู่กับสิ่งที่เป็นอดีต หรือในสิ่งที่เป็นอนาคต มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นการที่ท่านใช้คำว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าจะพูดไปแล้วก็เท่ากับว่า ท่านได้นำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เน้นแล้วเน้นอีกว่า อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบัน ถ้าอยู่กับปัจจุบันก็จะสามารถที่จะประพฤติธรรมอย่างมองเห็นผลได้ นอกจากนี้ที่จะดูว่า สรุปการตามรอยเท้าของท่านอาจารย์ นอกจากการที่ท่านสามารถเป็นผู้เตรียมพร้อมตลอดเวลา อย่างผู้รอบรู้ หรือด้วยความรอบรู้ หรือเรียกว่ารู้รอบ พร้อมที่จะตอบคำถามแล้ว ข้อที่ ๒ ที่เราจะสรุปการฝึกปฏิบัติของท่านก็คือว่า ท่านเป็นผู้มีเครื่องกรองที่ละเอียด เครื่องกรองของท่านอาจารย์ละเอียดมาก ละเอียดยิบเลย ไม่ใช่...นึกถึงตะแกรงนะคะ ตะแกรงที่เป็นเครื่องกรอง มันก็มีหลายอย่าง บางตะแกรง บางชนิดก็มีรูใหญ่ๆ และก็จะมาถึงรูละเอียดๆ เล็กๆ มาเรื่อย ของท่านอาจารย์นี้จะมีเครื่องกรองที่ละเอียดอย่างยิ่ง เดาว่าเครื่องกรองที่ละเอียดของท่านเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดขึ้นจากการที่ท่านเป็นผู้ช่างสังเกตในทุกเรื่อง เรียกว่าในทุกเรื่อง ท่านจะไม่ให้อะไรผ่านหูผ่านตาไปเลย หลักการสังเกตในทุกเรื่องนั้น ก็สังเกตอย่างผู้มีวิจารณญาณ วิจารณญาณก็หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ทดลอง พิสูจน์ จนกระทั่งเห็นได้ว่า สิ่งนี้จริงๆ แล้วคืออะไร
อันที่จริงแล้ว ก็อยากจะพูดซ้ำอีกนะคะว่า ความเป็นผู้มีวิจารณญาณ คือ รู้จักพิจารณาอะไรอย่างชนิดดูเหตุดูผล จนเห็นรายละเอียดของความถูกต้อง หรือของความไม่ถูกต้อง หรือของความบกพร่องผิดพลาด นั้นนะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งทีเดียวของมนุษย์ทุกคน ถ้าหากว่ามนุษย์ทุกคนนะ หรือคนใดคนหนึ่งมีวิจารณญาณอยู่ ก็อยากจะบอกว่า เหมือนกับชีวิตของเขามีเครื่องกรองที่วิเศษ ที่จะรั้งตัวเขานี่ไม่ให้ไปทำสิ่งใดผิดๆ โดยง่าย ไม่ให้ก้าวสู่หนทางที่ผิดนะคะ เพราะว่าการมีวิจารณญาณจะทำให้เป็นผู้รู้จักยั้งคิด ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านสิ่งใด จะไม่เชื่อในทันที แต่จะเอามาคิดกลั่นกรอง ไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน จนกระทั่งถึงทดลองพิสูจน์ให้เห็นจริงจังด้วยตัวเอง แล้วจึงจะเชื่อ ทีนี้พอทำบ่อยๆ เข้า มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ซึมซาบอยู่ในอุปนิสัยโดยอัตโนมัติ ครั้งต่อๆ ไป ก็ไม่ต้องเสียเวลามาก จนกระทั่งถึงจะต้องเอามาทดลองมาพิสูจน์ไปเสียทุกเรื่อง เพราะมีความชำนาญแล้วในการที่จะพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน หรือแม้แต่จะพบบุคคลแปลกหน้าต่างๆ การที่จะดูว่า เป็นเพื่อนได้ไหม? บุคคลผู้นี้จะเป็นมิตรได้ไหม จะคบเป็นผู้ร่วมงานได้ไหม หรือว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ไหม? วิจารณญาณนั้นนำมาใช้ได้ ถ้าหากว่ามีวิจารณญาณแล้วก็มักจะได้เพื่อนที่ดี ได้มิตรที่ดี หรือแม้แต่จะมีคู่ครอง การเลือกคู่ครอง ก็จะได้คู่ครองที่เข้าอกเข้าใจกัน เป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขจริงๆ รู้จักให้อภัยกัน รู้จักช่วยเหลือกัน รู้จักยอมรับกัน ชีวิตที่ครองคู่กันนั้นก็จะมีความสุข มีความสุขกันได้ตลอดรอดฝั่ง ก็น่าเสียดายนะคะ เท่าที่สังเกตรู้สึกว่าการศึกษาในยุคปัจจุบัน ไม่ค่อยจะเน้นการสอนให้ลูกศิษย์นี่มีวิจารณญาณ ที่จริงทำได้ตั้งแต่ระดับประถมขึ้นมาเลย จนถึงมัธยม จนถึงวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย แต่เดี๋ยวนี้แม้แต่การศึกษาในระดับสูงก็ไม่เน้นในสิ่งนี้ เราจึงได้ยินบ่อยๆ ละ เออ.. ดูภาพยนตร์เรื่องนี้มาเป็นอย่างไร? ก็ดี หรือไม่ดี แต่ถ้าจะถามต่อไปว่า ไม่ดีอย่างไร? หรือดีอย่างไร? จนละ ..ไม่มีคำตอบที่จะอธิบายต่อไป หรือว่า เออ.. คนคนนี้เป็นอย่างไร? เธอเห็นว่าเราพอจะคบกัน แล้วก็มาร่วมงานกันได้ไหม? อืม..ก็ท่าทางก็ดีนะ ก็น่าจะทดลองดู โดยไม่ได้นึกว่าแล้วความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร? นี่เพราะการขาดวิจารณญาณ เพราะฉะนั้นวิจารณญาณนั้น ถ้ามีอยู่แล้วนี่จะเป็นประโยชน์กับชีวิต จะไม่ค่อยก้าวไปสู่ หรือไม่ถลำไปสู่ในหนทางที่ผิด
นอกจากนี้ เท่าที่สังเกตมาจากของท่านอาจารย์ เราก็จะสรุปได้อีกข้อหนึ่งว่า ไม่ว่าท่านจะทำสิ่งใด ท่านจะกระทำทุกสิ่งที่ท่านเกี่ยวข้องด้วยความมุ่งมั่น คือ มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ทำเล่นๆ สนุกๆ จะทำอย่างมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง เรียกว่า ทำอย่างมุ่งมั่นให้ถึงที่สุดทุกเรื่อง ให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ที่เราได้พูดมาแล้วก็ในเรื่องการศึกษาของท่าน ทั้งทางโลกและก็ในทางธรรม เช่น ทางโลกก็ท่านเรียนภาษาอังกฤษแค่มัธยม ๓ แล้วก็เป็นเด็กชนบทด้วย เรียนต่างจังหวัด แต่ทำไมท่านถึงสามารถที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษได้อย่างชัดเจน จนแปลเรื่องสูตรของเว่ยหล่าง ของฮวงโป เป็นที่ประทับใจของผู้อ่าน ผู้ที่สนใจธรรมะก็คงจะรู้จักหนังสือสองเล่มนี้แล้วนะคะ ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าในทางธรรมอย่างมากเล่มหนึ่ง ท่านแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ถ้าหากว่าท่านไม่ศึกษาค้นคว้า และก็เตรียมองค์ท่านเองที่จะให้เข้าใจภาษาอังกฤษให้มากขึ้น จนกระทั่งแปลได้ ท่านก็คงจะแปลไม่ได้นั่นแหละนะคะ นอกจากนั้น ท่านก็ได้พยายามศึกษาให้รู้รอบจากหนังสืออ่านที่เป็นภาษาต่างประเทศ ก็คือภาษาอังกฤษมากหลายอย่าง เพราะในสมัยโน้น หนังสือภาษาไทยก็ยังไม่สู้จะมีอย่างรอบด้านมากนัก ถ้าท่านไม่ศึกษาภาษาอังกฤษ ขวนขวายด้วยตนเอง ท่านก็เรียกว่าจะปิดหนทางในการที่จะเปิดทางการศึกษาให้กว้างขวาง หรืออย่างการที่ท่านเรียนภาษาบาลี อย่างที่พูดเมื่อคราวก่อนนี้ว่า เพียงแค่เปรียญ ๓ ท่านก็สามารถที่จะทำหนังสือชุดจากพระโอษฐ์ออกมา ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์นี่ แหม..เล่มใหญ่มโหฬาร อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ เล่มหนาๆ และท่านก็ได้ทำอริยสัจจากพระโอษฐ์นี่ ได้ใช้เวลาถึง ๒๕ ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ทำทีแรกก็เล่มไม่ใหญ่นัก แล้วก็ปรับปรุงเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา มิได้หมายความว่า ท่านก้มหน้าก้มตาทำแต่อริยสัจจากพระโอษฐ์อยู่เรื่องเดียว ๒๕ ปี ก็ไม่ใช่อย่างนั้น ในระหว่าง ๒๕ ปีนั้น ท่านก็ทำเรื่องอื่นๆ ไปอีกด้วย ทำงานอื่นๆ ของพระศาสนาไปพร้อมๆ กันด้วย แต่ท่านไม่ทิ้งในเรื่องของอริยสัจจากพระโอษฐ์ คงพยายามที่จะทำ เสาะแสวงหาเพิ่มเติมให้ได้ความสมบูรณ์ให้เพิ่มมากขึ้น
หรืออย่าง เวลาที่ท่านไปประเทศอินเดียอย่างที่เล่าแล้ว ท่านก็สามารถจะใช้ภาษาของบาลีให้เกิดประโยชน์ในการสนทนาสมาคม ในการที่จะศึกษาเอกสาร หรือว่าสิ่งที่จารึกเอาไว้ให้ได้เข้าใจได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกเช่นเดียวกัน นี่ก็เพราะท่านมีจดเอาไว้ว่า จะทำอะไรต้องทำให้ถึงที่สุด ให้ดีที่สุด และก็ให้เกิดประโยชน์ที่สุด อย่าไปทำเล่นๆ เสียเวลาเปล่าๆ แล้วก็ท่านก็จะเน้นบอกเสมออย่างในส่วนตัวเองก็ได้ยินที่ท่านพูดด้วยบ่อยๆ ว่า จะเรียนอะไร เรียนให้รู้เป็นครูเขา คือ ถ้าหากว่าตั้งใจจะเรียนอะไรเพื่อให้รู้เป็นครูเขา ก็เท่ากับเป็นการบอกตัวเองว่า จะเรียนเรื่องนี้ จะศึกษาเรื่อนี้ หรือจะปฏิบัติเรื่องนี้ มักง่ายไม่ได้นะ นี่มักง่ายไม่ได้นะ หรือจะทำอย่างลวกๆ ก็ไม่ได้ จะต้องทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ต้องสอบสวน ต้องตรวจทาน ทุกขั้นตอน และก็ทุกก้าวย่างก็ว่าได้ ถ้ามิเช่นนั้น ก็จะไม่สามารถไปเป็นครูใครเขาได้ และอันที่จริงนี่ การที่ว่าจะต้องเรียนรู้จนเป็นครูเขา ลูกศิษย์คนแรกคือใคร ตอบได้ไหมคะ? ลูกศิษย์คนแรก ก็คือตัวเองนั่นแหละ ถ้าสอนตัวเองได้ และตัวเองก็ชัดเจนในคำสอนที่สอนตัวเอง ก็มั่นใจที่จะไปสอนคนอื่น หรือไม่ได้ตั้งใจสอนหรอก ก็ไปบอก ไปบอกเล่า ไปแนะนำ ไปบอกกล่าว ก็สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้นท่านจะเน้นเสมอ เรียนอะไร เรียนให้รู้เป็นครูเขา อย่าไปเรียนลวกๆ มักง่าย ถ้ามักง่ายแล้ว มันก็ไม่รู้อะไรจริง มันก็บกๆ พร่องๆ
นอกจากนี้ ก็สิ่งที่จะสรุปและก็มองได้จากการปฏิบัติของท่านอาจารย์ ก็คือ เมื่อท่านแน่ใจแล้ว คือท่านได้ตรวจสอบ ได้ทบทวนอะไรต่ออะไรต่างๆ อย่างที่พูดมาแล้ว พอท่านแน่ใจแล้ว ท่านจึงลงมือทำ และก็พอลงมือทำนี่ ทำด้วยการพูดก็ดี หรือว่าด้วยการกระทำก็ดี ทำอย่างมั่นใจ พูดอย่างมั่นใจในความถูกต้อง ไม่ให้ผู้ใดมาจับผิดท่านได้ ไม่มีการโลเล ไม่มีการสงสัย เมื่อท่านแน่ใจในความถูกต้องแล้ว ท่านจึงเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง แล้วก็ไม่สะทกสะท้าน แม้จะถูกโจมตีอย่างรอบด้าน ที่ได้เคยพูดมาแล้วบ้าง หรือใครที่สนใจติดตามชีวิตของท่านอาจารย์ ก็จะรู้ว่าท่านได้พบอุปสรรคของการที่เข้ามาเป็นพุทธทาสเพื่อรับใช้พระพุทธเจ้าหนักหนาสาหัสเพียงใด แต่ท่านก็รอดพ้นมาได้ ก็คงจะด้วยกุศลกรรมแห่งการที่มุ่งจะทำความดี เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ตามพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ เรามาลองนึกดูนะคะว่า ทำไมท่านอาจารย์พุทธทาส หรือสวนโมกข์จึงได้รับการจดจำ และกล่าวขวัญถึง นี่เราไม่ได้พูดเกินเลย..ใช่ไหมคะ มันเป็นความจริงอยู่ อย่างน้อย ๑๐๐ ปี ชาตกาล ที่องค์การยูเนสโกได้ให้เกียรติแก่ท่านอาจารย์ ก็ปรากฏชัดเจนอยู่ หรือนอกจากนั้น บุคคลทั้งหลายที่อยู่ในเมืองไทย ไปจากเมืองต่างๆ ไปสู่สวนโมกข์ ทุกภาค หรือจากต่างประเทศ ก็มาแวะเยี่ยม มาเคารพ มาสนทนาธรรม ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในศาสนาใด แม้จะอยู่ในศาสนาอื่น ศาสนาคริสต์ หรือมุสลิม ก็ยังมีที่เป็นสหายธรรม เพราะฉะนั้น ทำไมท่านจึงได้รับการจดจำ และได้รับการกล่าวขวัญถึง รวมทั้งเมื่อเอ่ยชื่อสวนโมกขพลาราม นั่นก็คงจะดูได้จากวิธีการสอน การบรรยาย การอบรมธรรม และการเผยแผ่ธรรมของท่าน มีลักษณะของความล้ำยุค ล้ำหน้า นำธรรมะที่ไม่ค่อยจะมีผู้ใดนำมาพูดมาสอน ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจของพระศาสนา เช่น พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องของอนัตตา เรื่องของปฏิจจสมุปบาท อันที่จริงแล้วนี่ อนัตตาก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยนำมาพูดหรือสูงส่ง เพราะเป็นข้อหนึ่งในไตรลักษณ์ หรือเป็นข้อที่สำคัญ เป็นข้อที่ ๓
ตอนที่ ๑ องค์ที่ ๑ ในไตรลักษณ์ ก็คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง พูดกันมากและก็พูดกันคล่องปาก แต่จะปฏิบัติจริงๆ จนสัมผัสกับอนิจจังหรือไม่ อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันที่ ๒ ก็คือทุกขัง ความตั้งอยู่ไม่ได้ ความดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าผู้ใดสนใจอนิจจังจริงๆ จดจ่อดูอนิจจังความเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงในชีวิตตลอดเวลา ก็จะค่อยๆ ซึมซาบในสภาพของความตั้งอยู่ไม่ได้ ความดำรงอยู่ไม่ได้ของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ รวมทั้งตัวเราด้วย ชัดเจนขึ้น แล้วก็จะค่อยๆ เข้าถึงสภาวะของความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ทว่า อนัตตานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เข้าใจยาก เพราะฉะนั้นก็เลยมักจะมีการเลี่ยง ไม่ค่อยสอน ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของอนัตตา พูดแต่เฉพาะอนิจจังเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านก็เห็นว่า เมื่อจะพูดธรรมะของพระพุทธองค์ต้องพูดให้ครบ ให้ครบทุกอย่างที่พระองค์ได้ทรงนำมาสอน ไม่มีการที่จะมาบอกว่า อันนี้สูง อันนี้ต่ำ ธรรมะไม่มีสูง ไม่มีต่ำ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด มีสายสัมพันธ์ที่เรียกว่าสอดประสานกัน ฉะนั้น ท่านก็นำเรื่องของ อนัตตา นี่มาพูดมาสอน ก็ได้มีพระเถระผู้ใหญ่บางองค์ติติง ว่าทำไมถึงได้เอามาสอน มันยากเกินความรู้ แต่ท่านอาจารย์ก็คงจะเห็นว่า ไม่มีอะไรยากเกินความรู้ หรือความเข้าใจของพุทธบริษัท ถ้าหากว่าจะนำมาอธิบาย มาบอกให้เข้าใจ ให้เข้าถึง ก็ย่อมที่จะเข้าใจได้ หรืออย่างเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ท่านก็นำมาพูดมาสอน เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมที่ว่าล้ำหน้า หรือล้ำยุคนี่ ก็คือล้ำยุคที่เขาไม่ค่อยพูดกัน ในธรรมะที่เขาจัดกันว่าเป็นธรรมะชั้นสูง เขาไม่ค่อยพูดกัน แต่ท่านอาจารย์ก็พูด และในส่วนตัวนะคะ ก็มีรู้สึกขอบพระคุณท่านอาจารย์จริงๆ เลย ที่ท่านได้นำมาพูดและก็นำมาสอนให้ฟังนี่ เพราะถ้าหากว่าท่านไม่พูดท่านไม่สอนนี่ เราก็จะไม่รู้หรอกว่า หนทางที่จะเดินต่อไปจนถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติธรรม การศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรมนี่จะไปสู่ที่จุดไหน..ไม่รู้ แต่นี่ท่านบอกเอาไว้ บอกเอาไว้ให้รู้ว่าหนทางเดินของผู้ที่จะประพฤติพรหมจรรย์นะ จะต้องเดินไปอย่างนี้ จนกระทั่งถึงจุดนี้ จึงจะเป็นจุดที่สุด จุดสูงสุด จุดที่สุด ท่านก็บอกให้รู้บอกให้เข้าใจ แล้วก็ส่วนจะไปถึงได้แค่ไหน มันก็เป็นเรื่องของความพากเพียรพยายามของแต่ละคน ดีกว่าที่จะปิดกั้นใช่ไหมคะ? ถ้าปิดกั้นแล้วไม่บอก ไม่รู้ เราก็เหมือนคนตาบอด ไม่รู้ทางที่จะไป แต่ถ้าบอกให้รู้ มันก็ขึ้นอยู่กับส่วนตัวของแต่ละคน ว่าจะมีความอุตสาหะพยายามมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น ที่ได้รับการกล่าวขวัญ และก็ได้รับการจดจำได้นี่ ก็คงจะเป็นเพราะความจริงใจ ความซื่อตรงของท่าน ซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า ซื่อตรงต่อพระธรรม พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ท่านก็นำมาบอกกล่าวอย่างครบถ้วน ก็รู้สึกเป็นการขอบพระคุณทีเดียว ที่ท่านอาจารย์ได้นำมาบอกให้รู้ แล้วก็ขึ้นอยู่กับตัวเราแหละ ว่าเรานี่ตั้งใจจะเดินไปจนถึงไหน แล้วก็จะมาโทษครูบาอาจารย์ไม่ได้แล้ว เพราะรู้แล้ว บอกแล้ว บอกหมดทุกอย่าง เหมือนดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเอาไว้เสมอว่า สิ่งใดที่ควรบอกควรสอน เราก็ได้บอกหมดแล้ว ได้สอนหมดแล้ว คือท่านตรัสกับพระสาวกของท่าน ได้สอนหมดแล้ว ได้บอกหมดแล้ว ไม่มีปิดบัง ไม่มีอะไรที่จะเก็บเอาไว้เป็นส่วนตัวเลย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ของพวกเธอทั้งหลาย ที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ให้ถึงที่สุด แล้วก็ปฏิบัติให้ถึงที่สุด ถ้ามีอะไรที่สงสัย พระองค์ก็ประทานโอกาสให้ไต่ถามได้ แล้วก็จะตอบให้ฟัง เพราะฉะนั้นที่กล่าวขวัญถึงท่านอาจารย์อยู่เสมอ และก็ยังจำได้ จำสวนโมกข์ได้ ก็คงเป็นเพราะเหตุที่ว่า ท่านได้นำธรรมะที่ไม่ค่อยจะมีผู้ใดพูดให้ฟัง มาพูดให้เราฟัง เราก็รู้สึกประทับใจ และก็ขอบพระคุณ กตัญญูต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ประทับใจก็คือว่า ท่านอาจารย์มักจะคิดถ้อยคำสอนที่กระทบใจให้จดจำ มีไหมคะ จำได้บ้างไหม? ที่ท่านอาจารย์พูดถ้อยคำที่ทำให้กระทบใจ และก็จดจำได้ เช่น ตัวกู ของกู บางคนอาจจะบอกว่า โอ้ย.. ท่านอาจารย์พูดไม่เพราะ ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดไม่เพราะ ตัวกู ของกู แต่ว่า แหม.. มันชัดเชียวนะ ตัวผม ตัวดิฉัน หรือหนูอย่างนั้น น้องอย่างนั้นนะ .. ไม่สะใจ เวลาที่อารมณ์โกรธเข้ามาครอบงำจิต นั่นกู นั่นตัวกู ของกู แต่ท่านอาจารย์ใช้คำว่าตัวกูของกูนี่ เพื่อจะย้ำให้เห็นว่า นี่ละนะทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เพราะยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ตัวของกูนี่ แต่ตัวกูนะ อะไรก็กู ของก็ของกู ทุกๆ อย่าง เพราะฉะนั้น อันนี้แหละ มันถึงทำให้ไม่หลุด คือ ไม่หลุดออกไปนอกกระแสหรือวงกลม ติดอยู่ตรงนี้เอง แล้วท่านก็เขียนหนังสือเรื่อง ตัวกู ของกู เล่มใหญ่น่าอ่านมาก อย่าลืมไปหาอ่านนะคะ ถ้าอ่านเรื่อง ตัวกู ของกู เล่มใหญ่นี่แล้วจะซาบซึ้งนะ จะซาบซึ้งในความหมายว่าหมายความว่าอะไร จะซาบซึ้งในโทษทุกข์ของการที่ยึดมั่นถือมั่นในมัน แล้วก็จะซาบซึ้งในคุณประโยชน์มหาศาล ถ้าสามารถจะละลดมันได้ จนกระทั่งหมดไป เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก แม้ชื่ออาจจะฟังไม่เพราะ แต่มันเป็นความจริง หรือ ตายเสียก่อนตาย เคยได้ยินใช่ไหมคะ? คำว่า ตาย นี่ไม่ค่อยมีใครชอบหรอก ถ้าเราพูดคำว่าตายเข้าละก็ รู้สึกว่ามันอัปมงคล แต่ท่านกลับสอนนะ ตายเสียก่อนตาย นี่ก็ต้องศึกษาให้รู้ว่า ตายเสียก่อนตาย นะเป็นยังไง ก็คือตายจากอะไร ตายเสียจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ถ้าตายเสียจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร ก็จะตายจากความทุกข์นั่นแหละ อยู่เหนือความทุกข์ได้ นี่แหละ เพราะฉะนั้น การตายเสียก่อนตาย นี่ไม่ใช่ว่าฆ่าตัวตาย แต่ทว่าตายในลักษณะนี้ ตายจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ตายจากการเป็นทาสของกิเลส โลภ โกรธ หลง ตายจากการเป็นทาสของตัณหาความอยาก ถ้าตายจากสิ่งเหล่านี้ ก็คือตายจากตัวกูและของกูนั่นเอง
นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ก็ยังบอกว่า ยกคำมาให้ฟังง่ายๆ นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ งงนะคะ เพราะเพียงคำว่านิพพานเท่านั้นนะ ก็เป็นคำที่มีความหมายขึ้นมาแล้ว คำว่านิพพานเท่านั้นนะ ไม่ค่อยเข้าใจว่า นิพพาน นี้คืออะไร ยากที่จะมีคนเข้าใจความหมายของ นิพพาน มักจะนึกไปว่า นิพพาน คือสถานที่ที่หนึ่งซึ่งจะต้องเดินทางไปให้ถึง แต่อันที่จริงแล้ว นิพพาน นั้นมิใช่สถานที่ แต่นิพพานนั้นหมายถึง ความรู้สึกที่เย็น เย็นสนิท อย่างชนิดไม่มีอะไรมารบกวน ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เกิดความขุ่นข้อง อึดอัด หงุดหงิด จนเกิดอารมณ์ขึ้นมา ซึ่งความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้ มันเกิดขึ้นที่ไหน? ก็ตอบได้ง่ายๆ ใช่ไหมคะ? มันเกิดขึ้นที่ใจ มันอยู่ที่ข้างใน เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ จิตนั้นก็ไม่ใช่จิตนิพพาน แต่เป็นจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นท่านก็บอกว่า ให้พยายามฝึกอบรมตัวเองให้มี นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็ค่อยฝึกไปแหละ ฝึกไปทีละน้อย ๆ พอโกรธก็รู้จักลดละความโกรธ โลภก็รู้จักลดละความโลภ และความหลงในสิ่งต่างๆ มันค่อยๆ จางไปเอง ความหลงนี่อธิบายยาก หลงในทรัพย์สินเงินทอง หลงในบุตรหลาน ข้าทาสบริวาร หลงในอำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง มันจะค่อยๆ ละลายไปเอง เพราะว่าความหลงใน ตัวกู ของกู นี่มันลดลงไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น ฝึกเสีย ฝึกนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพื่ออะไร? ถ้านิพพานคือฝึกจิตให้เย็นสนิท เป็นจิตที่ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ไม่มีอารมณ์อันใดที่จะสอดแทรกเข้ามาได้เลย สะอาด เกลี้ยง สงบ สว่าง อยู่ตลอดเวลาแล้วละก็ จิตนั้นก็เป็นจิตที่เป็นสุขใช่ไหมคะ? เป็นจิตที่อยู่เหนือทุกข์ และก็ทุกข์มาเท่าไรแล้วละ? ตั้งแต่เกิด รู้ความ จนอายุมาเท่านี้ ๓๐/๔๐/๕๐/๘๐ ก็ตาม ถ้าไม่หันมาดูข้างใน ไม่หันมาฝึกในเรื่องของนิพพาน ที่จะให้จิตนี้มีความเย็นเป็น นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็จะต้องทุกข์ไปจนตาย เพราะที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็คือปัจจุบัน
หรือถ้าหากว่าท่านจะแนะนำ คำพูดอย่างง่ายๆ จำง่ายๆ คำธรรมดาๆ มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด เคยได้ยินไหมคะ? ที่เราพูดกันอยู่เรื่อยๆ นะ เรื่องรักเรื่องเกลียดนี่ แต่ทว่ามันมักจะเป็นตรงกันข้าม พอเห็นหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู จุ๋มจิ๋มหรือว่าหล่อเหลา รักเสียแล้ว ไม่ทันต้องคิดพิจารณาแหละ หรือพอเห็นอะไรที่ไม่ถูกหู ถูกใจ เกลียดเสียแล้ว แต่นี่ท่านเตือนเอาไว้ว่า มาให้รักก็อย่ารัก คือ มาทำน่ารักน่าเอ็นดู พูดจาฉอเลาะ หรือหน้าตาแจ่มแจ๋ว ก็อย่างเพิ่งรัก มาให้รักก็ไม่รัก หรือจะทำอะไรที่ไม่ถูกใจ ก็อย่างเพิ่งเกลียด มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด ที่ท่านสอนอะไร? นึกออกไหมคะว่าท่านสอนอะไร? มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด นี่มันเรื่องของอะไร? ลองนึกดูสิคะ? อะไรละที่จะมากระทบ นึกออกไหม? ถ้าไม่ออก ก็ขอบอกเอาไว้ตรงนี้ ผัสสะอย่างไรล่ะ ใช่ไหมคะ? คือมนุษย์เรานี่จะมีอารมณ์รัก หรืออารมณ์เกลียด พูดง่ายๆ ว่า พอใจหรือไม่พอใจ ถูกใจหรือไม่ถูกใจ นี่ก็เกิดจากผัสสะที่มากระทบ ผ่านทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง จนกระทั่งใจเอง ทีนี้ถ้าหากไม่เคยฝึก ไม่มีสติ และก็ไม่เคยฝึกการลดละอะไรเลย ไม่สนใจเรื่องของไตรลักษณ์เลย ก็แน่ละ พอเห็นเข้าถูกตาถูกใจ.. รักละ แล้วก็หลงไปเลย หัวปักหัวปำ จะพาลงเหวลงนรกไปตามเขาไปหมด น่าเสียดาย ชีวิตทั้งชีวิตถูกทำลายไปหมด เพราะรักง่าย และพอเกลียดง่ายก็อีกเหมือนกัน เอามาขุ่นข้องหมองใจ ขัดแค้น ขัดเคือง จนเป็นอาฆาต พยาบาท จนกระทั่งถึงประทุษร้ายซึ่งกันและกัน มีประโยชน์อะไร ทำร้ายเขา ก็ไม่หายแค้น แต่ว่าจิตของตัวเองนี่สิ ถูกสับ ถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลา ไม่ย้อนมาคิด ไม่ย้อนมาเสียดาย มันก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ ว่า มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด ก็คือการเตือนให้ระมัดระวังในเรื่องของผัสสะนั่นเอง เมื่อผัสสะเกิดขึ้น จะต้องมีสติมาทัน ถ้ามีสติมาทัน ปัญญาก็พามาทัน ว่าผัสสะที่เกิดขึ้นที่กำลังเห็นเป็นรูปท่าทางต่างๆ นี่ มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วจะไปรักทำไม หรือจะไปเกลียดทำไม มันแค่นั้นเอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะไปยุ่งกับมันทำไม ถ้าสามารถเห็นได้อย่างนี้ ผัสสะก็จะเป็นสักแต่ว่าผัสสะ ไม่สามารถจะมาทำร้ายอะไรคนผู้นั้นได้เลย
หรืออย่างอีกเรื่องหนึ่ง ที่เคยได้ยินที่ท่านเขียนเป็นกลอน ซึ่งเขียนง่ายๆ แต่มีความหมายมาก และถ้าหากว่าใครนำมาคิดมาใคร่ครวญ มาพูดกับตัวเองอยู่บ่อยๆ จะได้ประโยชน์ เจริญในธรรม สว่างไสวในทางธรรมยิ่งขึ้น พอเอ่ยขึ้นก็จะบอกว่าเคยได้ยินแล้ว .. ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ .. นึกออกไหมคะ? อันแรก ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ อันที่สอง ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี อันที่สาม ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี , ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย เคยลองท่องไหม? ถ้าเคยได้ยินแล้ว ลองท่องเอาไว้เลย นี่ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่า .. ให้เป็น .. นะ ทำไมให้เป็น? ยามจะได้.. ได้เงินได้ทอง ได้ทรัพย์สิน ได้คู่ครอง ได้ตำแหน่งการงาน ได้หน้าตา ชื่อเสียง ไม่ว่าจะได้อะไร ได้ให้เป็น ได้ให้เป็นหมายความว่าอย่างไร? อย่าไปหลงไง ได้อย่างมีสติ แล้วก็มองเห็นว่า มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นเอง ไม่ใช่สิ่งที่จะไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของกู ใช่ไหมคะ? ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของกู ทุกข์ทันที ถ้ามีอะไรมากระทบเข้า ทนไม่ได้ๆ ทุกข์แล้ว นี่ก็เรียกว่า.. ได้ไม่เป็น แต่ถ้า ได้ให้เป็น มันพร้อมด้วยสติ มันก็ไม่ทุกข์ หรือ ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไร ถ้าทำการงาน เขาจะตั้งให้เป็นหัวหน้า เขาจะตั้งให้เป็นผู้อำนวยการกอง เขาจะตั้งให้เป็นอธิบดี มีจนกระทั่งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรตำแหน่งใหญ่ๆ โตๆ หรือเล็กๆ ประธานบริหารบริษัทอะไรก็แล้วแต่เถอะ ก็เป็นให้มันถูก หรือจะเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นลูก จะอยู่ในตำแหน่งอะไร เป็นให้มันถูก คำว่าถูกนี่ ถูกอะไร ก็คือ ถูกกับหน้าที่ ถูกกับหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ รับผิดชอบเต็มฝีมือความสามารถ และก็ทำให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องที่สุด เท่าที่สามารถจะทำได้ เมื่อทำเสร็จได้แค่นี้..พอใจ พอใจเพราะว่ามันเสร็จแล้ว เราก็พอใจ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ โดยไม่ไปยึดว่า ถ้าฉันเป็นอันนี้ ฉันเป็นพ่อแม่ พ่อแม่นี่ต้องสามารถที่จะออกอำนาจกับลูกๆ ได้ หรือฉันเป็นนายที่จะมีอำนาจมาข่มขี่ลูกน้องได้ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็น .. เป็นไม่เป็น .. แต่ถ้า เป็นเป็น แล้วละก็ จะมีแต่จะให้ ให้ความเยือกเย็นผ่องใส ให้ความมอบอุ่น ด้วยความเมตตากรุณา ไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตใจก็เป็นสุขนะคะ หรือ ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ก็พอถึงเวลาตาย มันก็ตายนะคะ หมดลมหายใจ
ทีนี้ ตายให้เป็น ทำอย่างไรถึงจะตายให้เป็น ใครลองนึกได้บ้างว่า ตายให้เป็น นี่เป็นอย่างไร? ตายให้เป็น นี่ก็คือพูดง่าย ๆ ก็ทุกคนพอถึงเวลาจะตาย หยุดหายใจ อยากไปสุขคติใช่ไหมคะ? พูดง่ายๆ ตามคำที่โลกๆ จะเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ อยากไปสวรรค์ ทั้งที่ไม่รู้ว่าสวรรค์อยู่ที่ไหน ทีนี้ถ้าหากว่า ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ถ้าในทางธรรม ตายให้เป็นอย่างผู้ประพฤติธรรม ก็คือ ตายด้วยความสงบ สงบจากความกังวล ดิ้นรน วิตก กลัวเกรง ประหวั่นพรั่นพรึง ไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น เรียกว่าตายด้วยความสงบ และในความสงบนั้น ก็หมดห่วง หมดกังวล สิ้นทุกข์ สิ้นห่วงสิ้นกังวล ก็จะมีแต่ความผาสุกในการตาย และก็ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกว่า จะไปสุขคติหรือไม่ บอกได้เลยไปสุขคติแน่นอน ไปสุขคติแน่นอน ไม่ต้องสงสัยนะคะ ทำไม่ถึงไปสุขคติแน่นอน ก็เพราะจิตไม่ดิ้นรนในขณะที่ไป จิตมีแต่ความสงบ เยือกเย็น เพราะมองเห็นแล้วว่า ความตายก็เป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นกับทุกชีวิต ไม่ว่าชีวิตของคน หรือของสัตว์ หรือแม้แต่ชีวิตของพืชพรรณต้นหมากรากไม้ มันเกิดแล้วมันก็ตาย ไม่มีอะไรที่จะเกิดแล้วจะยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหมั่นนึกไว้เสมออย่างนี้ ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ก็คือ ตายด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ตายอย่างชนิดไม่เอาอะไร เพราะมีความสบายใจแล้วว่า ชีวิตที่ผ่านมานี่ ก่อนที่จะมาถึงนาทีนี้ของการที่จะหยุดหายใจ เราได้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เกิดคุณประโยชน์ สิ่งที่ดีงาม โดยไม่เห็นแก่ตัวมาโดยตลอด ก็มีแต่ความอิ่มอกอิ่มใจใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจะไปเมื่อไรนี่ไม่มีอะไรน่าห่วง เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์ท่านพูดเอาไว้ ที่พูดคราวก่อนโน้นแล้วว่า โลงศพของอาตมา คือคุณความดีที่ทำไว้ในโลก ป่าช้าของอาตมา ก็คือคุณความดีที่ได้ทำไว้แก่โลกมนุษย์ ไว้แก่เพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วง ได้ทำไว้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา
ฉะนั้น ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ก็อย่างนี้แหละค่ะ เพราะฉะนั้นขณะที่ยังไม่ตายนี่ ก็เป็นเครื่องเตือนอีกแล้ว ขณะที่ยังไม่ตายทำอย่างไรละ? ก็ควรจะทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกหน้าที่ให้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ที่สุด โดยไม่เห็นแก่ตัวเองมาตลอดเวลา ชีวิตมันก็เย็นๆๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งคุ้นกับความเย็น จนกระทั่งความเย็นนี่อยู่ในจิต เหมือนกับมีนิพพานน้อยๆ อยู่ในใจตลอดเวลา ครั้นพอถึงเวลาที่จะตายก็เป็นเพียงสภาวธรรมของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไม่ใช่มีอะไรที่ว่าจะเป็นกับเราคนเดียว คนอื่นไม่เป็น ไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องมีความกลัว นี่แหละ ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ถ้าทำได้อย่างนี้นะคะ ก็จะไม่มีวันมีทุกข์หรอกค่ะ เพราะชีวิตของคนก็มี เรื่องได้ เรื่องเป็น เรื่องตาย แค่นี้ ก็ทำให้มันถูกต้องทุกๆ เรื่อง ก็ไม่ต้องมีความทุกข์ ผ่านควาทุกข์ไปได้ ฉะนั้น สิ่งที่ท่านอาจารย์คิดหาถ้อยคำที่มันกระทบใจมาพูดให้ฟัง ทั้งคำที่ฟังยากบ้าง และคำที่ง่ายๆ บ้าง เหล่านี้มีคุณประโยชน์อย่างไร? ก็อาจจะบอกได้ว่า มีคุณประโยชน์ในการที่ทำให้นำผู้ฟังนี่นะคะ ที่มีปัญญา นำมาคิด แล้วก็นำมาไตร่ตรอง แล้วก็นำมาลองประพฤติปฏิบัติจะค่อยๆ เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม ทีละเล็กทีละน้อย ก็คือการเดินทางขึ้นสู่ที่สูง ขึ้นสู่ปรมัตถธรรมที่เป็นสิ่งที่รู้ยาก เข้าใจยาก นอกจากนั้นก็เท่ากับยังเป็นการที่จะเรียกว่า เตรียมตัวเอาไว้ ท่องคำเหล่านี้เอาไว้ ไม่เสียหาย มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด พอผัสสะอะไรมา มีสติ เออ.. มันก็แค่นั้นเอง เกิดแล้วก็ดับ จริงไหมคะ? ไม่ต้องลุกขึ้นกระโดดโลดเต้น หรือว่าตื่นเต้น ทั้งทางลบและทางบวก เตรียมตัวเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาท แล้วก็จะสามารถอยู่กับปัจจุบันตามที่พระองค์ทรงสอนเอาไว้ นอกจากนั้น มันก็จำง่ายๆ ท่านอาจารย์ก็จะหามาไว้ให้ฟัง พูดเอาไว้ให้ฟัง เพื่อจะได้จำง่ายๆ
เพราะฉะนั้น การที่ท่านอาจารย์ก็ดี หรือสวนโมกขพลารามก็ดี ได้รับการจดจำและก็กล่าวขวัญถึง อีกประการหนึ่งก็เพราะรู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้ เหมือนอย่างพอที่สังเกตนะคะ เราอยู่เฉยๆ นี่ แต่พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราจะได้ยินคนในสังคมไม่น้อยทีเดียวมักจะปรารภแก่กันว่า เออ...ถ้าท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่ ท่านจะพูดว่าอย่างไรนะ? เคยได้ยินไหมคะ? ในส่วนตัวเอง ได้ยินหลายครั้ง อยากจะฟังถ้าท่านยังอยู่ท่านจะพูดว่าอย่างไรนะ ในเรื่องอย่างนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าท่านจะวิเคราะห์วิจารณ์ จะให้ความคิดเห็น ตลอดจนกระทั่งแนะแนวทางว่า ถ้าสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นนี่ เราควรจะวางตัวอย่างไร? และประพฤติปฏิบัติอย่างไร? จึงจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์อันนี้ไปได้ จะใช้ธรรมะข้อไหน? ทำไมเขาถึงปรารภอย่างนี้ ถ้าสรุปก็บอกว่า เออ...เห็นว่าเป็นที่พึ่งได้ ธรรมะในลักษณะที่สวนโมกขพลารามนำมาพูดมาสอนแก่พุทธบริษัทนั้น เป็นสิ่งที่ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน เป็นสิ่งที่พึ่งได้ ที่ใช้ได้ เพราะฉะนั้น จึงได้มีการกล่าวขวัญถึงกันอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะพูดได้ว่า ความเป็นพุทธทาสของท่านอาจารย์นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้กาลเวลาจะผ่านไป ล่วงเลยไป แต่คำสอน คำบรรยาย วิธีการอบรม วิธีการปฏิบัติยังคงเหมือนเดิม โดยเฉพาะคำสอน คำบรรยายของท่านนั้น ก็เป็นอกาลิโก คือไม่จำกัดกาล ไม่ว่าจะพูดเอาไว้เมื่อไหร่ กี่ปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังคงใช้ได้ ฉะนั้น จึงได้ยินคำกล่าวของท่านอาจารย์อยู่บ่อยๆ ว่า ท่านช่วยตักเตือน ท่านช่วยบอก บอกกล่าว และก็บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย เพื่อให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท เช่น ประโยคที่ว่า .. ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ .. เคยได้ยินไหมคะ? ท่านพูดมาหลายสิบปีแล้ว แต่ใครละเปิดหูฟังบ้าง? มีคนในสังคมมากหรือน้อยที่เปิดหูฟัง? ที่ใช้คำว่าอย่างนี้ เพราะปิดหูกันหมด แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร? สังคมเป็นอย่างไร? ก็ไม่อยากจะพูดหรอกว่าใกล้หรือไม่ใกล้ความวินาศ พิจารณากันเอาเอง ดูเอาเอง แต่ถ้าหากว่าได้หันมาฟังท่าน ตื่น เงี่ยหูฟังบ้าง ก็จะได้คอยระมัดระวังกัน และก็เข้าสู่ธรรมะให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสังคมก็จะมีแต่ความอยู่เย็นเป็นสุขเพิ่มมากขึ้น ความวินาศก็จะเข้ามาไม่ถึง นี่คือที่พูดมาทั้งหมดนี้นะคะ ก็จะขอพูดสั้นๆ ว่า ไม่ใช่มานั่งสรรเสริญเยินยอครูบาอาจารย์ให้ฟังหรอก เพราะอะไร? ไม่ต้องสรรเสริญไม่ต้องเยินยอ เพราะความจริงคือความจริง นี่ก็นำความจริงที่ได้ยินได้ฟังมา มาพูดให้ฟัง เพื่อให้นำมาพิจารณาใคร่ครวญว่า ถ้าเราจะเดินตามรอยเท้าของท่านอาจารย์นั้น จะต้องศึกษาเรียนรู้อย่างไรบ้าง
ฉะนั้น เมื่อได้ฟังมาก็พยายามศึกษาเรียนรู้ให้มากขึ้น เข้าถึงให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้นำมาเป็นแบบอย่างให้เดินตาม ให้เกิดกำลังใจ ให้สามารถฝึกอบรมตน ให้อยู่ในความประพฤติแห่งความเป็นผู้มีพรหมจรรย์ได้อย่างงดงาม บริสุทธิ์งดงามให้ยิ่งขึ้นๆ นี่คือ จุดประสงค์ที่มาพูด แล้วก็ขอให้ทุกคนนี่ลองไปสอบสวนทบทวนดู แล้วก็จะรู้เองว่า สิ่งที่พูดมานี้ มีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน หรือจริงทั้งหมด แล้วเราจะหยิบมาเพื่อเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติต่อไปอย่างไร ก็ธรรมสวัสดีก่อนนะคะ.