แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ เราได้พูดสรุปถึงเรื่องตามรอยเท้าท่านอาจารย์แล้วนะคะ ทีนี้เมื่อจบเรื่องการตามรอยเท้าท่านอาจารย์ ก็มาถึงตอนที่ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายเราคือทุกคนที่กำลังอยู่ในโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามนี้ จะฝึกตัวเองอย่างไรและก็ด้วยวิธีใด ถ้าเราหันมาดูตัวเราเองนะคะก็คิดว่าก่อนอื่นก็น่าจะทบทวนดูว่าการที่เข้ามาอยู่ในโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์นี้คืออะไร จริงอยู่รู้จักชื่อและเข้ามาอยู่ในโครงการแล้วแต่ก็อยากจะขอให้หมั่นทบทวนถึงความหมายของลักษณะชีวิตพรหมจรรย์นี้ให้บ่อยๆ พรหมจรรย์ก็คือแบบชีวิตอันประเสริฐ แบบชีวิตอันประเสริฐนี้ก็หมายความว่าเป็นชีวิตของผู้ที่อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา คือเป็นชีวิตของผู้ที่ประกอบพร้อมอยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเบื้องต้นที่ควบคุมความปกติให้เกิดขึ้นในทางกาย ทางวาจา แต่ก็แน่นอนจะต้องมาจากใจ ถ้าสมมติว่าใจนั้นไม่มีความรู้สึกว่าการที่ต้องควบคุมกาย ควบคุมวาจาให้มีความเป็นปกติอยู่เสมอนั้นมีความสำคัญอย่างไร หรือเป็นสิ่งที่ต้องการทำ ความเป็นปกติก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ จึงเริ่มจากใจนั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญที่มองเห็นแล้วว่าความเป็นปกติ พอมาถึงคำพูดว่าปกติก็ต้องนึกอีกแล้วว่า คำว่าปกติหมายความว่าอย่างไร คำว่าปกติก็หมายความว่ามีวาจาที่ราบรื่นหรือว่ารื่นหู นุ่มนวล มีเหตุมีผลน่าฟัง กายที่ปกติเป็นอย่างไรก็คือกายที่มีท่าทีท่วงทีที่เรียบร้อย ในความเรียบร้อยนั้นไม่มีอาการของอารมณ์ที่เข้ามาสอดแทรกขึ้น ไม่มีการแสดงอารมณ์ของความโกรธออกมาให้ปรากฏเห็น เพราะฉะนั้นอาการของศีลก็คือเป็นผู้ที่มีกาย วาจาเป็นปกติอยู่เนืองนิตย์ ทีแรกๆ ก็เป็นไม่ได้ที่เป็นอยู่เนืองนิตย์ แต่จากการฝึกอยู่เสมอๆ ด้วยการมีสติคือเพิ่มพูนสติให้เกิดขึ้นอยู่ในจิต รู้จักระงับยับยั้งสิ่งที่ผ่านมา พูดง่ายๆ ก็คือว่าเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้นมากระทบแล้วล่ะก็สามารถที่จะมีสติทันท่วงทีต่อผัสสะที่เกิดขึ้นได้นั้น เพราะฉะนั้นเมื่อทันท่วงทีก็จะไม่มีความรู้สึกที่ผิดจากความเป็นปกติขึ้นคือความเป็นธรรมดาที่มองดูราบรื่นเรียบร้อย นุ่มนวล เยือกเย็น ผ่องใส ทำนองนั้น ฉะนั้นชีวิตพรหมจรรย์ก็เป็นชีวิตของแบบชีวิตอันประเสริฐ ซึ่งมีศีลเป็นเบื้องต้น และมีสมาธิเป็นเบื้องกลาง สมาธิก็หมายถึงความหนักแน่น มั่นคง มันเป็นกำลังอยู่ภายในจิต เป็นจิตที่มีความมั่นคงหนักแน่นอยู่ในเรื่องนี้ ไม่มีความหวั่นไหวสะทกสะเทือนอะไรได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น จิตที่มีสมาธิก็ต้องการฝึกอีกเหมือนกัน ซึ่งก็ทราบแล้วว่าเราใช้ที่นี่เราใช้วิธีการฝึกให้จิตนั้นมีความสงบ มีความนิ่ง มีความมั่นคงหนักแน่น ด้วยสมาธิอยู่ภายในด้วยวิธีของอานาปานสติ คือการใช้อานาปานสติมาเป็นเครื่องมือหรือเป็นวิธีของการฝึก อานาปานสติหมายความว่าอะไร ก็หมายความว่าเราฝึกการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดโดยพยายามผู้ที่ฝึกนั้นจะต้องมีความสามารถในการที่จะควบคุมจิตให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจอยู่ตลอดเวลา ในอานาปานสติเราก็แบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือส่วนของกาย เวทนา จิต ธรรม มีอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน ในส่วนของกายก็หมายความว่า พิจารณากาย กายในอานาปานสติก็มุ่งไปที่ลมหายใจ ซึ่งถือว่าลมหายใจนั้นเป็นสิ่งที่จะปรุงแต่งกายให้มีความสงบระงับได้ ถ้าหากว่ากายไม่มีความสงบระงับ เพราะจิตนั้นมันแส่ส่าย จิตนั้นไม่หยุดนิ่ง ไม่สามารถจะจดจ่อได้กับลมหายใจคือควบคู่ไปกับลมหายใจ ลมหายใจเข้าจิตก็ตามลมหายใจเข้าจนสุดส่าย พอถึงลมหายใจออกก็ตามจับที่ลมหายใจหยุด หยุดเมื่อเข้าก็ตามออกมาจนสุดสาย ถ้าหากว่าจิตสามารถอยู่อย่างนี้ได้กับลมหายใจตลอดเวลา กายนั้นก็จะมีความสงบ ซึ่งก็แน่นอนก็ต้องออกมาจากใจอีกนั่นแหละ เพราะใจมันไม่ไปเที่ยวที่ไหน คงอยู่แต่กับลมหายใจอย่างเดียว เมื่อไม่ไปเที่ยวที่ไหนก็เหมือนกับว่ามีที่อยู่ จิตนั้นมีที่อยู่ คืออยู่กับลมหายใจอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ ก็อย่างที่ทราบแล้วนะคะว่าท่านก็สอนให้ฝึกในการรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เริ่มต้นตั้งแต่ทำความรู้จักกับลมหายใจยาว ดึงขึ้น อยู่กับลมหายใจยาวเหมือนกับว่ามีอยู่อย่างเดียว อันที่จริงเมื่อฝึกแล้วจะรู้ว่าลมหายใจยาวนี้มันมีหลายอย่าง ยาวอย่างลึก ยาวอย่างแรง ยาวอย่างหนัก ยาวอย่างสบายๆ เป็นปกติก็ได้ เพราะฉะนั้นในขั้นที่ 1 ท่านก็บอกว่าแนะนำว่าให้ติดตามลมหายใจ ให้สามารถเข้าใจว่าลมหายใจในลักษณะต่างๆ ของลมหายใจยาวนั้น มีอิทธิพลต่อกายอย่างไรได้บ้าง แล้วก็มีหน้าที่ที่จะช่วยอย่างไรได้บ้าง ฉะนั้น ถ้าหากลมหายใจหนัก ยาว ก็หมายความว่า พร้อมที่จะใช้ลมหายใจนั้นขับไล่อารมณ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนาที่มันเข้ามาสู่จิตทำให้จิตผิดไปจากความเป็นปกติ สงบไม่ได้ ขับไล่ออกไป เมื่อออกไปแล้วก็หันมาอยู่กับลมหายใจธรรมดาที่สบายๆตามปกติที่เคยหายใจอยู่ พอรู้จักลมหายใจยาวก็มาลมหายใจสั้น ฝึกลมหายใจสั้นทุกอย่าง สั้นยาว เบาๆ สั้นอย่างหนัก สั้นอย่างแรง หรือบางทีสั้นกระชั้นถี่ให้รู้ว่าลมหายใจสั้นแต่ละอย่างนั้นมันเป็นอย่างไร มันมีความหมาย แล้วก็มันมีหน้าที่มีความรับผิดชอบในส่วนตัวมันอย่างไร ก็จะรู้ได้ว่าพอลมหายใจสั้นเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับลมหายใจยาว ก็สังเกตได้ทันทีว่าพอลมหายใจสั้นมันไม่ค่อยสบายเหมือนลมหายใจยาว มันจะทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย มันมักจะเป็นด้วยว่ามันมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น มันมีอารมณ์อะไรที่ผันผวนขึ้นมาภายใน ฉะนั้นลมหายใจที่เคยหายใจได้สบายๆ หายใจเข้า ออก สบายๆ มันเกิดเปลี่ยนขึ้นมาทันที นั่นก็แสดงหรือเป็นเครื่องเตือนให้รู้แล้วว่าระวังนะ ถ้าไม่ระวังไม่ควบคุมล่ะก็ มันอาจจะมีอารมณ์อะไรเข้ามาเกี่ยวข้องและก็เข้ามาทำให้ความเป็นปกติความสงบหายไปก็ได้ เราจึงต้องรู้จักลมหายใจทุกๆ อย่าง ทีนี้พอรู้จักทั้งลมหายใจยาวทุกอย่าง ลมหายใจสั้นทุกอย่าง หลายๆ อย่าง รู้จักได้อย่างไร ก็ฝึกดูสิ ในขณะที่เราอยู่เฉยๆ เราก็ลองหายใจยาวหลายๆ อย่าง หายใจสั้นหลายๆ อย่าง แล้วก็ดูว่าอย่างไหนสบาย แล้วอย่างไหนไม่สบาย แล้วอย่างไหนจะเอามาใช้ประโยชน์เมื่อไรก็ลองนึกดู
ทีนี้พอสามารถรู้จักลมหายใจยาวได้ทุกๆ อย่างแล้วก็มาดูว่าทีนี้เราจะสามารถควบคุมบังคับลมหายใจทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นในตัวนี้ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ไหม ควบคุมบังคับให้มันสงบระงับได้ไหม นี่ก็เป็นการฝึกในหมวดของกาย ถ้าสามารถควบคุมลมหายใจให้สงบระงับได้ จิตก็จะสงบยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น นี่จึงเรียกว่าลมหายใจเป็นเครื่องปรุงแต่งกายที่จะทำให้กายนั้นมีความสงบมีความระงับแล้วก็เป็นสมาธิ ในหมวดที่ 1 นี่ก็หมายความว่าเราฝึกเพื่อใช้ลมหายใจให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมจิตให้เป็นสมาธิ ท่านก็บอกว่าสมาธินี่เป็นอยู่ในระดับกลาง แต่ทีนี้ถ้าผู้ใดสามารถที่ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับได้อย่างที่ใจต้องการ อยากจะควบคุมเมื่อไรก็ควบคุมได้ทันทีไม่ปล่อยให้เป็นไปตามใจ หรือว่าผ่านไปเรื่อยๆ จะสามารถบังคับควบคุมได้ทันทีก็เรียกว่าสามารถฝึกสมาธิ อบรมสมาธิให้เกิดขึ้นแก่ใจของตนได้แล้ว แล้วก็จะได้ใช้พื้นฐานของจิตนี้พิจารณาในการที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ที่มาทำให้เกิดความผันผวนหรือแปรปรวนขึ้นในจิตต่อไป เช่น ไปถึงหมวดที่ 2 ที่เรียกว่าหมวดเวทนา หมวดเวทนานี่ก็คือความรู้สึกนั่นเอง เราอ่านว่า เว-ทะ-นา ไม่อ่านว่า เวด-ทะ-นา ถ้าเราอ่านว่า เวด-ทะ-นา ในภาษาไทยเวทนาก็จะแปลว่า สงสาร สมเพช ก็ได้ แต่ว่านี่เว-ทะ-นา เวทนาในภาษาของธรรมะแปลว่าความรู้สึก ก็เพราะว่าเรามีความรู้สึกนั่นแหละมันจึงทำให้อารมรณ์นี้ผันผวน จิตใจเดี๋ยวมันก็ตื่นเต้น เดี๋ยวก็เร่าร้อน เดี๋ยวก็ตกลงไปข้างล่าง เดี๋ยวก็ขึ้นไปข้างบน อย่างที่เรียกว่าฟูๆ แฟบๆ ท่านจึงบอกว่า ถ้าผู้ใดสามารถควบคุมเวทนาให้สงบระงับได้ ก็ไม่มีอารมณ์คือจะเป็นจิตที่สงบเยือกเย็นผ่องใสอยู่เสมอ แต่มันไม่ใช่ของง่ายใช่ไหมคะ ที่มันมีเรื่องทำให้จิตไม่เป็นปกติ ไม่เป็นสุขอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะตกเป็นทาสของเวทนา เวทนาก็จะเกิดขึ้นตอนไหนล่ะ ก็ตอนที่ผัสสะเกิดขึ้น อย่างที่เราพูดท่านอาจารย์เคยแนะนำไว้ว่ามาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด แต่ทีนี้พอผัสสะเกิดขึ้นเมื่อไร จิตที่มิได้เคยฝึกหรือฝึกไม่เพียงพอก็จะตกเป็นทาสของสิ่งคู่ในอารมณ์ที่ว่าถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง พูดง่ายๆ ก็คือว่าถูกใจก็รัก ไม่ถูกใจก็เกลียด ก็ขึ้นลงอยู่ 2 อย่างในระหว่างสิ่งคู่นี่แหละ มันตกอยู่ในอำนาจของสิ่งคู่อย่างนี้ นั่นก็คือหมายความว่า ไม่ได้อยู่ตรงกลางแล้ว จิตมันขาดจากความเป็นปกติไป เพราะมันออกไปสุดโต่ง ไปรักเลยหรือไปเกลียดเลย เรียกว่าไปอยู่ 2 ฝั่ง แต่ว่าไม่ได้อยู่ตรงกลาง ฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงเคยพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าผู้ใดสามารถควบคุมเวทนาได้ ก็เหมือนกับควบคุมโลกได้ เหมือนเหยียบโลกไว้ในอุ้งมือหรือในอุ้งเท้าก็ได้ เพราะสามารถควบคุมผัสสะที่มากระทบ ไม่ตกเป็นทาสของผัสสะ ผัสสะจะไม่สามารถก่อให้เกิดอารมณ์ใดๆ ขึ้นในจิตใจของผู้ที่ได้ฝึกมาแล้วอย่างเนิ่นนาน ไม่ใช่ฝึกอย่างชนิดผิวเผินหรือฝึกในเวลาสั้น ๆ หรือฝึกบ้าง ไม่ฝึกบ้าง จะหวังให้เกิดผลที่เป็นความสงบเป็นความนิ่งไม่ได้ เพราะว่าในเรื่องของทางธรรมะเป็นเรื่องนามธรรม ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกอยู่ไม่น้อยทีเดียว ทีนี้พอควบคุมเวทนาได้ เพราะสามารถควบคุมลมหายใจเอามาใช้ประโยชน์ได้ นี่ที่ได้ฝึกดูลมหายใจยาว ลมหายใจสั้นต่างๆ หลายอย่าง หลายชนิด ก็เพื่อมาใช้ประโยชน์อย่างนี้แหละ ตอนนี้แหละ
ทีนี้พอควบคุมเวทนาคือความรู้สึกได้แล้ว ก็จะต่อไปหมวดที่ 3 คือหมวดของจิต ที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนา หมวดของจิตก็เป็นส่วนที่ลึกเข้าไปอีก กายนี้เป็นส่วนหยาบใช่ไหมคะ เรามองเห็นง่าย สัมผัสได้ง่าย ลมหายใจมีความเคลื่อนไหวผ่านเข้าผ่านออก เราควบคุมลมหายใจได้ ก็เข้าไปในส่วนที่ 2 คือ หมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนา ซึ่งลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่งแต่ก็ยังรู้สึกได้ คือรู้สึกขึ้น รู้สึกลง รู้สึกชอบ ไม่ชอบ รู้สึกร้อน รู้สึกหนาว ก็ลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ยังสัมผัสได้รู้สึกได้ ทีนี้พอควบคุมเวทนาในหมวดที่ 2 นี้ได้ ก็ต่อไปที่จิต ซึ่งมันลึกเข้าไปอีก มองไม่เห็น อย่างที่บอกว่าการที่จะดำเนินชีวิตไปอย่างใดก็ขึ้นอยู่กับว่าได้ฝึกอบรมจิตของตนไว้มากน้อยเพียงใด ถ้าอบรมจิตของตนให้อยู่ใน ถ้าจะใช้คำที่มองเห็นได้ก็อาจจะบอกว่าให้อยู่ในระเบียบวินัย มันมีระเบียบวินัยที่จะไม่ออกนอกแถว คำว่าไม่ออกนอกแถวก็คือไม่ตกไปเป็นทาสของผัสสะสิ่งโน้นสิ่งนี้ มันสามารถที่จะมีความสงบได้เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าควบคุมเวทนาได้ และที่จะควบคุมได้อย่างนี้ก็แน่นอนล่ะต้องฝึกจิตเอาไว้ในระดับหนึ่งให้พร้อมอยู่ด้วยสติ และก็พร้อมอยู่ด้วยสมาธิ เพราะฉะนั้นมันก็จะมีปัญญา เมื่อควบคุมจิตได้แล้ว มันก็จะมีปัญญา ปัญญาที่จะมองเห็นว่าสิ่งที่มากระทบทั้งหลายทั้งปวง พูดง่ายๆ ก็คือผัสสะที่ผ่านเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี มันเป็นแต่เพียงสักว่าผัสสะเท่านั้นเอง คำว่าสักว่านี่นะคะ โปรดจำไว้ทีเดียวว่า มันมีความหมายถึงว่ามันเป็นแต่เพียงเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไม่เคยตั้งอยู่ได้เลย แต่จิตที่หลงน่ะ ที่มันเขลา ที่มันยังไม่ฉลาด มันคิดว่ามันตั้งอยู่ได้ ความจริงตั้งอยู่ไม่ได้ มันจบแล้ว มันผ่านแล้วพอเกิดแล้วมันก็ดับทันที แต่สิ่งที่ร้ายมากของจิตของมนุษย์เราก็คือสัญญาที่ไปจำเอาไว้ ว่าได้ยินอย่างนั้น ได้เห็นอย่างนั้น ได้ฟังอย่างนั้น ลิ้มรสอย่างนั้น ถูกใจก็จำเอาไว้ ว่าอยากได้อีก ไม่ถูกใจก็จำเอาไว้ ด้วยความอาฆาตพยาบาทไม่ชอบไม่เอาอย่ามา อย่าใกล้อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ฝึกจิตในหมวดที่ 3 คือหมวดของจิต ก็คือฝึกทดสอบกำลังของจิต ฝึกทดสอบกำลังของจิตอย่างไร ก็เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าเราสามารถจะควบคุมจิตให้อยู่ในภาวะเช่นนั้นเช่นนี้ได้อย่างใจ ท่านก็ให้ทดลองดู ทีแรกก็ดูเสียก่อนว่าภาวะของจิตนี้เป็นอย่างไร มันตกอยู่ภายใต้กิเลสตัวไหนมากกว่าเพื่อน เจ้าตัวเองถ้าซื่อตรงต่อตัวเองก็จับได้ ตกอยู่ในความโลภหรือว่าหลง ช่างเป็นคนช่างหลง ช่างโลภ ช่างโกรธ อย่างนี้เป็นต้น ตรวจดูก็จะรู้ หรือว่าบางทีมันก็เป็นจิตที่มีความสงบดีเหมือนจิตที่มีความสงบแล้วก็เป็นจิตที่ค่อนข้างจะเห็นแก่ผู้อื่น พูดง่ายๆ ก็เห็นแก่ผู้อื่น เป็นจิตที่เรียกว่าเป็นจิตที่ให้ อยากจะให้ อยากจะช่วย แทนที่จะเป็นจิตที่เห็นแก่ตัว นี่ก็สำรวจจิตเสียก่อนว่าเป็นจิตที่เห็นแก่ตัวหรือเป็นจิตที่เห็นแก่ผู้อื่น เป็นจิตที่สงบมากหรือเป็นจิตที่วุ่นวายมาก ดูๆ ไปเถอะจะรู้เอง ทีนี้พอดูแล้วว่าจิตเป็นอย่างไรก็ลองพยายาม พยายามที่จะฝึกจิต เอาล่ะ ตอนนี้จะฝึกจิตให้มีความบันเทิงเป็นจิตที่บันเทิงเริงรื่น สนุกสนานอยู่ข้างในของตัวเองนั้น คือบังคับ ลองบังคับจิตว่าทำได้ไหม พอมันบันเทิงเริงรื่น ตอนนี้บังคับให้มันนิ่ง บังคับให้จิตนิ่ง ขณะที่มันกำลังบันเทิงเริงรื่นสนุกสนานเพลิดเพลิน นิ่งหยุดทำได้ไหมในทันที บังคับได้ไหม ทำได้ไหม ให้นิ่ง ให้หยุด ถ้าสามารถทำได้ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่มีพลังจิตพอสมควรทีเดียว ทีนี้ให้นิ่งในที่นี้แหละก็คือนิ่งอย่างมีสมาธิมั่นคงหนักแน่น ทีนี้พอมันนิ่งมันสงบมันอยู่ในอาการของสมาธิที่มั่นคงหนักแน่นบริสุทธิ์คล่องแคล่วว่องไว รู้ตัวทั่วพร้อม มีสติสัมปชัญญะ ลองอีก ทีนี้บังคับให้เป็นจิตปล่อย เป็นจิตปล่อยที่เป็นอิสระ จิตปล่อยที่เป็นอิสระเป็นอย่างไร ก็หมายความว่าปล่อยความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงออกไปอย่างที่เคยยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนหรือตัวกูของกู สลัดออกไปหมด เป็นจิตที่เป็นอิสระมันทำยากนะคะ แต่ในที่นี้เราทดลองฝึกดู ในขณะนี้มันทำได้ไหม อย่างน้อยถ้าทำได้ถึงแม้จะอยู่ไม่นาน แต่ก็แสดงว่าที่เราฝึกมาแล้วจากหมวดที่ 1 เรื่องของกาย หมวดที่ 2 เรื่องของเวทนา มันก็ไม่เสียหลาย มันมีพลังเพิ่มขึ้นๆ ตามลำดับ จนกระทั่งมาถึงหมวดจิต สามารถบังคับจิตได้ ให้เป็นจิตร่าเริงเบิกบานก็ได้ ให้เป็นจิตสงบนิ่งก็ได้ ให้เป็นจิตปล่อยเป็นอิสระไม่เอาอะไรเลย โดยเฉพาะก็คือว่างจากความหมายแห่งความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน บางคนก็บอกว่ายาก ทำไม่ได้หรอก การที่จะมาควบคุมจิตให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ทำไม่ได้ ก็อยากจะบอกว่าถ้าสมมติว่าพอเริ่มอยู่กับลมหายใจแล้วจะกระโดดไปบังคับจิตทันที คือไปควบคุมจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันทำไม่ได้หรอก มันต้องอาศัยการฝึกทุกวันตลอดเวลา ไม่มีหยุดต่อเนื่อง
ถ้าจะเปรียบอุปมาให้ฟังนะคะ ก็อยากจะเปรียบเหมือนอย่างคงเคยได้ยินใช่ไหมคะที่บางคนเขาพูดแต่เราก็ยังไม่เคยทำ แต่พอพูดเราก็อยากจะเอามาเปรียบกับเรื่องการฝึกอานาปานสตินี้ได้ เช่นบางคนเขาบอกว่าเราอยากจะอุ้มวัวตัวใหญ่ๆ ก็ได้นะ เคยได้ยินใช่ไหม แต่ต้องอุ้มตั้งแต่มันยังเล็กๆ มันเป็นลูกวัว แล้วก็อุ้มมันทุกวันๆ จนมันโตขึ้นตามลำดับ ฉะนั้นแม้มันจะโตแค่ไหน น้ำหนักจะมากแค่ไหนก็ยังอุ้มได้ เพราะมันเคยอุ้มมันทุกวัน เหมือนอย่างเคยอุ้มลูกหมาที่เลี้ยงรัก ๆ เราก็สามารถที่จะอุ้มได้ทั้งที่ไม่น่าจะอุ้มได้เลย วัวตัวโตๆ และมันก็น่าจะเตะจะถีบเอาใช่ไหมคะ แต่มันก็ไม่ทำอะไร ทำไมล่ะ ก็เพราะความเคยชิน เพราะความชำนาญ เพราะประสบการณ์ เพราะความคุ้นเคยระหว่างวัวตัวนั้นกับผู้อุ้มที่เคยคุ้นกันมาเป็นปีๆ ตั้งแต่ยังเล็กๆ เด็กๆ นี่ก็สามารถจะอุ้มได้ นี่แหละก็อยากจะเปรียบว่าผู้ใดที่หวังว่าจะควบคุมจิตได้ก็ต้องฝึกอานาปานสติคือเรื่องของลมหายใจ กำหนดลมหายใจอยู่ทุกเวลานาที ทุกเวลานาทีและอย่าไปหวังว่าเมื่อไร นี่เราทำมาเดือนนึงแล้วน่าจะได้แล้วนะ เราคิดว่าน่าจะได้เพราะเราโลภเราว่าน่าจะได้ เรามีตัณหาความอยากแต่ในความอยากและความเป็นจริงมันคนละอย่าง ความเป็นจริงมันจะเกิดขึ้นเพราะฝึกแล้วก็ลองทำ เพราะฉะนั้นถ้าฝึกแล้วรู้สึกว่าถ้าทำไม่ได้เมื่อไรก็อย่าเพิ่งท้อแท้นะคะ นึกถึงคนที่เขาอุ้มวัวตัวโตๆ ได้ เขาต้องอุ้มมาตั้งแต่มันยังเล็กๆ ทุกวัน ทุกวัน จนคุ้นเคยสนิทสนม เจ้าวัวนั้นก็ยอมให้อุ้มโดยดีด้วย ก็เหมือนกัน ถ้าอยากจะฝึกจิตก็ต้องฝึกตั้งแต่ขั้นที่ 1 ของหมวดที่ 1 ทุกวัน เรื่องลมหายใจยาวไปลมหายใจสั้น แล้วก็ฝึกควบคุมลมหายใจจนกระทั่งมันสงบระงับได้ แล้วก็ถึงหมวดเวทนา ก็ไปควบคุมเวทนาทุกอย่างไม่ว่าเวทนาที่เกิดจากความรู้สึกเป็นสุขปีติตื่นเต้นยินดี หรือเวทนาที่เกิดจากความทุกข์ ทุกข์เพราะสูญเสีย ทุกข์เพราะขาดทุน ทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการอะไรก็แล้วแต่ทุกอย่างทุกชนิด สำรวจดูมันว่ามีอะไรบ้างในเรื่องของเวทนามันมาจากเหตุอะไรบ้างแล้วก็ควบคุมให้มันสงบระงับได้ ทำมาได้อย่างนี้ตามลำดับ ก็เหมือนกับเราสะสมกำลังกำลังข้างใน กำลังของจิตเอาไว้ เพราะฉะนั้นพอถึงวันหนึ่งเราฝึกมาถึงหมวดของจิต เราอยากจะควบคุมจิตให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้อย่างที่ว่าก็คงจะค่อยทำได้ทีละน้อยๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องหมดกำลังใจแต่ขอให้ฝึกอย่างสม่ำเสมอ ทีนี้การที่ฝึกมาเรื่อยๆ นี่เพื่อประโยชน์อะไรก็เพื่อว่าต้องการพื้นจิตที่สงบแน่วแน่นิ่งมั่นคง เป็นพื้นของจิตที่มีรากฐานพื้นฐานที่จะไม่วอกแวก ไม่แปรปรวน ไม่เข้าๆ ออก ๆ และเราจะใช้พื้นจิตเช่นนี้แหละเพื่อพิจารณาธรรมต่อไป หรือใช้จิตที่เป็นสมาธิในระดับนี้แหละฝึกฝนจนกระทั่งเกิดปัญญาที่จะพัฒนาธรรม และที่จะพิจารณาธรรมจนสามารถเข้าใจถึงธรรมในเรื่องนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอริยสัจ 4 หรือเป็นเรื่องอิทัปปัจจยตา สามารถจะพิจารณาได้โดยอาศัยพื้นจิตที่นิ่งสงบและมีความมั่นคงหนักแน่นบริสุทธิ์ไม่แปรปรวนไม่มีอะไรเข้ามารบกวน ทีนี้ก็พิจารณาธรรมไป เมื่อพิจารณาธรรมได้พื้นจิตอย่างนี้ก็แน่นอนล่ะก็จะสามารถประจักษ์แจ้งในธรรมนั้นทีละน้อยๆ ไปตามกำลังของการปฏิบัติ นี่ก็เรียกได้ว่าชีวิตของพรหมจรรย์นั้น จะต้องมีประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเบื้องต้นคือต้องมีความเป็นปกติเสียก่อน และถ้าจะดูความเป็นปกติของเราอย่างไร ก็อยากจะขอแนะว่าเอาศีล 5 นี่แหละเป็นพื้นฐาน แล้วก็เอาสำรวจตัวเราเอง คือสำรวจการกระทำของตนเองในวันหนึ่งหยิบศีลมาทีละข้อ ตั้งแต่ข้อที่ 1 ปาณาติปาตาเวรมณี ทำอะไรบ้างวันนี้ได้ล่วงศีลข้อนี้หรือเปล่า มองไปทั่ว ๆ แล้ววันนี้ไม่ได้ประทุษร้ายใครเลยไม่ว่าชีวิตของสัตว์ ของมด ของแมลงตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยเลย วันนี้เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะประทุษร้ายชีวิตของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคนหรือของสัตว์ ไม่ไปเอาชีวิตและไม่กระทำให้เขาเจ็บปวดด้วย ด้วยความเมตตาด้วยความกรุณาด้วยความสงสาร หลีกเลี่ยง อดทน ไม่ทำเลย วันนี้ศีลข้อ 1 ไม่ด่างพร้อยแล้ว ชื่นใจไหม ก็ชื่นใจ เพราะบางทีวันหนึ่งๆ ตบยุงไม่รู้กี่ตัว เหยียบมดไม่รู้กี่ตัว นี่ก็เรียกว่าศีลข้อ 1 ด่างพร้อยแล้ว วันนี้ข้อ 1 ไม่ด่างพร้อย น่าชื่นใจ พอศีลข้อที่ 2 อทินนาทานาเวรมณี วันนี้เราไม่ลักขโมยหรอกนะคะ ขนาดอย่างเราๆ ที่ว่าจะไปลักไปขโมยก็คงจะไม่เป็น แต่ทว่าไปเที่ยวหยิบอะไรของใครเขาหรือเปล่าถือว่าสนิท นี่ของเพื่อน นี่ของพ่อ นี่ของพี่ นี่ของน้อง ใช้ก่อนไม่เป็นไร ไม่ต้องบอกหรอก แล้วบอกทีหลังก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าในทางธรรมถือว่าล่วงศีลแล้วนะ ศีลข้อนี้ข้อที่ 2 นี่ด่างพร้อยแล้วเพราะไปหยิบของคนอื่นโดยเขาไม่ได้อนุญาต แม้แต่เดินผ่านมาเห็นดอกไม้ ดอกกุหลาบ ดอกชบา หรือว่าดอกอะไรอื่นๆ ที่มองดูสวยงามออกดอกสะพรั่งเลย ขอเด็ดหน่อยเถอะไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เห็นมีเจ้าของมายืนอยู่ตรงนี้ ขอเด็ดหน่อยเถอะ ล่วงศีลแล้ว คือศีลข้อที่ 2 นี่ผิดไปแล้ว อย่าไปเห็นว่าไม่มีค่า ของไม่มีค่า ของที่เขาไม่เห็นว่าเขาหวง ไม่เห็นติดป้ายไว้ว่าห้ามเด็ดแต่เราไปเด็ดเข้า เราเด็ดด้วยความโลภ เด็ดด้วยความอยากได้ นี่ล่วงศีลข้อที่ 2 แล้ว ก็ต้องถอนใจวันนี้ศีลข้อ 2 ไม่สามารถจะรักษาให้สะอาดบริสุทธิ์ได้มันด่างพร้อยไปแล้ว ทีนี้ศีลข้อที่ 3 เป็นอย่างไร กาเมสุมิจฉาจาร ก็มักจะนึกกันแต่เพียงว่า ไม่ไปล่วงสามีภรรยาผู้อื่น ศีลข้อนี้ก็ถูกต้องแล้ว ถือว่าสะอาดบริสุทธิ์ ไม่พอ เพราะว่าท่านให้ลองคิดไปให้ไกลว่าสามีก็ดี ภรรยาก็ดีย่อมเป็นที่รัก ใช่ไหมคะ สามีก็เป็นที่รักของภรรยา เขาก็อยากจะให้ไว้เป็นของเขาคนเดียว ภรรยาก็เป็นที่รักของสามี เพราะฉะนั้นต้องมาดูให้ถี่ถ้วนให้รอบด้านเพราะมันต้องคลุมความถึงว่าถ้าไปเกี่ยวข้อง หรือไปยื้อยุดฉุดเอา หรือไปหยิบฉวยเอาสิ่งอันเป็นที่รักของผู้ใดผู้หนึ่ง มันก็ล่วงศีลข้อนี้มัวหมองโดยอัตโนมัติเลย พอข้อที่ 4 มุสาวาทาเวรมณี ก็ไปเล็งเอาแต่ว่าฉันไม่โกหก ฉันไม่พูดปด ศีลข้อนี้สะอาดแล้ว แต่ให้พิจารณาดีๆ เถอะ ศีลข้อนี้แหละที่ทำให้ศีล 5 นี้มีความมัวหมอง จริงไหม เพราะมันไม่ได้เพียงแค่พูดปด พูดไม่จริง มันไม่ใช่แค่นั้น มันรวมความไปถึงพูดจาส่อเสียด พูดจาเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ มันรวมไปถึงอันนั้นด้วยจะอยู่ในข้อนี้ หรือบางทีท่านเรียกว่าพูดโปรยประโยชน์ พูดเพราะๆ น่าฟังแต่เพื่อเอาประโยชน์ที่แฝงเอาไว้คำพูดเพราะๆ นั้น ที่เขาเรียกว่าพูดโปรยประโยชน์ ถ้าทำอย่างนี้เสมอๆ ศีลข้อ 4 นี้ไม่บริสุทธิ์ได้เลย ไม่สะอาดได้เลย โดยเฉพาะคนที่ชอบพูดตลกเฮฮา เป็นตัวพระเอก หรือตัวนางเอกอยู่ในวงการสนทนา ไปที่ไหนๆ เพื่อนก็ชอบรุมล้อมเพราะสามารถทำให้เขาหัวเราะสนุกสนานได้และก็ภาคภูมิใจที่เราทำอย่างนั้นได้ และก็ชอบทำบ่อยๆ นี่แหละให้รู้เถิดว่าศีลข้อ 4 ก็ด่างพร้อยแล้ว เขาอาจจะมาเถียงว่าก็ไม่เห็นจะโกหกอะไรนี่ ก็ไม่ได้โกหกหรอก แต่ในขณะที่พูดอะไรเพื่อจะให้คนอื่นเขาขัน ให้เขาติดใจให้เขาหัวเราะนั่นล่ะ ต้องเติมพริกน้ำส้ม เติมน้ำตาล เติมกระเทียม เติมพริกไทย ใช่ไหม ให้มันออกรสออกชาติ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เติมออกไปเพื่อให้มันออกรสออกชาตินี่ สำนึกบ้างไหมว่าความจริงแท้ๆ มันมีอยู่เท่าไร หรือว่ามันมีพวกน้ำที่เติมเข้าไปนั่นแหละสิ่งเหล่านี้เรียกว่ากลายเป็นไม่จริงโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นศีลข้อนี้ขอให้ระมัดระวังให้มาก ยากมากเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงแนะนำอย่างไรแล้วว่าการประพฤติธรรมควรจะอยู่เงียบๆ ตามลำพังของตน เฝ้าดูข้างในคือดูจิตข้างใน ไม่ออกไปเพ่นพ่านดูข้างนอก และก็ไม่คลุกคลีกับเพื่อนฝูงหมู่พวก เพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะได้สามารถอันแรกคือ ระงับวาจา วาจาที่ชอบพูด ชอบคุย ชอบสนุกสนานเฮฮา ให้ลดลงจนกระทั่งไม่มีเลย ถ้าในขณะที่เฮฮายังชอบเฮฮาอยู่ล่ะก็แน่นอนศีลข้อ 4 รักษาให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ทีนี้ก็ไปถึงศีลข้อ 5 สุราที่บอกว่าถ้าไม่กินเหล้า ศีลข้อ 5 ก็ไม่ด่างพร้อย แต่ความจริงมันรวมไปถึงการเสพติดทั้งหลาย สิ่งที่เป็นของเสพติดทั้งหลายมันรวมอยู่ในนี้ทั้งนั้น และก็ไปดูความหมายว่าทำไมท่านถึงบอกว่าอย่าทำ อย่าไปเที่ยวติดในสิ่งเสพติดทั้งสิ้นทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเหล้ายาปลาปิ้ง กัญชาหรืออะไรก็ตามที ก็เพราะว่าเมื่อไปตกอยู่ในทาสของสิ่งเสพติด ในขณะนั้นสิ่งเสพติดนั้นๆ จะเป็นอะไรก็ตามมันมอมเมาแล้วใช่ไหมคะ มันมอมเมาจิตใจให้มืดมัว ให้สลัว เกิดตีบตันในเรื่องของความคิด ไม่สามารถจะคิดอะไรต่ออะไรออก ถ้าจะคิดทำอะไรก็คิดทำด้วยความหลง ความประมาท ซึ่งเป็นความที่ไม่นำไปสู่หนทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเมื่อขาดสติเข้าล่ะก็ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ข้อ 1 ไม่คิดประทุษร้ายอะไรทั้งนั้นทำได้เพราะไม่ได้ตั้งใจ มันไม่รู้เรื่อง เพราะถูกสิ่งเสพติดเหล่านั้นมัวเมา มอมเมาเสียจนกระทั่งเรามืดไปหมดไม่รู้จักอะไร ข้อ 2 ไม่อยากจะไปขโมยใครเขาหรอกแต่ก็ทำได้โดยไม่ตั้งใจ หรือข้อ 3 ข้อ 4 ก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้วข้อ 5 น่ากลัวมากเลย แต่ถ้าหากว่าผู้ใดมีสติอยู่เสมอก็จะสามารถรักษาศีลเหล่านี้ได้ด้วยการเตือนใจรั้งใจเอาไว้
ฉะนั้นการที่จะว่ามีศีลเป็นเบื้องต้นอยู่กับไตรสิกขาชีวิตพรหมจรรย์เป็นแบบเป็นชีวิตที่เป็นแบบแห่งความสะอาด สว่าง สงบ ทุกอย่างทุกประการอย่างนี้เราก็จะพิจารณาศีลแต่ละข้อละข้อ สำรวจในแต่ละวัน พอเราสำรวจไป สำรวจไปแล้วก็ปรากฏว่าแม้วันนี้สะอาดบริสุทธิ์จริงๆ เลย ไม่มีอะไรด่างพร้อย ชื่นใจไหม นี่ความชื่นใจอย่างนี้มันเป็นความชุ่มชื่นอย่างบอกไม่ถูก เป็นความชุ่มชื่นใจที่บังเกิดความพอใจ แล้วก็บังเกิดกำลังใจที่อยากจะทำต่อไป จะรักษาศีลเอาไว้ให้สะอาดบริสุทธิ์หมดจดเอาไว้เป็นพลัง ทีนี้มันก็เป็นพลังที่จะชื่นใจหรือว่ากระตุ้นใจให้คิดทำแต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้องให้มากยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น เพราะว่าได้สัมผัสกับความชุ่มชื่น รสของความชุ่มชื่นที่เกิดจากรักษาศีลด้วยบริสุทธิ์สะอาดนี่มันเป็นความชุ่มชื่นที่บอกไม่ถูกหรอกนะคะ ใครที่เคยรับประทานอะไรแล้วบอกนี่อร่อยที่สุดในโลก ก็อร่อยไม่ถึงเศษของความอร่อยหรือความน่าชื่นใจของศีล ก็มีกำลังใจที่อยากประพฤติปฏิบัติที่จะให้ศีลนั้นบริสุทธิ์สะอาดมากยิ่งขึ้น และเมื่อศีลบริสุทธิ์สะอาดมากยิ่งขึ้น ก็ลองนึกดูสิ เมื่อเวลาที่เราอยากจะนั่งสมาธิหรือเราอยากจะรักษาศีลให้สงบนั้นล่ะทำได้ง่ายไหม ลองนึกดู ก็ย้อนกลับไปนึกเวลาที่เราพยายามตั้งใจอยากจะทำสมาธิแต่ทำไม่ได้ จิตมันระส่ำระสายมันวิ่งวนวุ่นวายไปโน่นไปนี่ก็เพราะอะไร เพราะมีนิวรณ์รบกวน นิวรณ์อันนี้ก็เกิดจากการที่ได้กระทำสิ่งต่างๆ ที่มันไม่ถูกไม่ต้อง มันเป็นกามฉันทะพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสในทางกาม ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกามารมณ์ แต่หมายถึงว่าต้องอะไรๆ อร่อยๆ ถูกอกถูกใจ ติดอกติดใจมากมายอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีนิวรณ์เข้ามารบกวน จิตนั้นมันก็จะสงบจะเข้าสู่สมาธิได้ยาก เพียงแต่กำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ จดจ่ออยู่กับลมหายใจอย่างเดียว นั่งๆ ไปมันก็รู้สึกไม่ไหวเลย เคยกินนั่นก็อร่อย นี่ก็อร่อย มาอยู่อย่างนี้มันหาไม่ได้เลย มันเหี่ยวแห้ง เพราะฉะนั้นแทนที่จิตจะสงบได้มันก็ไม่สงบ มันไปอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสที่เคยได้ก็อยากจะได้อีก หรือคิดไปคิดมามันไม่ได้ มันไม่มีเกิดโกรธขึ้นมาอีก ทำไมนะ จัดแค่นี้ก็จัดให้ไม่ได้ ให้มันถูกใจอย่างนี้ก็ไม่ได้ ให้อร่อยอย่างนี้ก็ไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็มีสัญญาเก่า สัญญาเก่าต่างๆ ที่เคยผ่านมาในชีวิตมันก็โผล่ขึ้นมาเล่นงาน มาลองท้าทาย ลองยั่วดูสิ มันจะเก่งแค่ไหน มันจะทนแค่ไหน ผลที่สุดก็รุ่มร้อนไปในขณะที่นั่งพยายามจะเป็นสมาธิมันรุ่มร้อนมันทนไม่ได้ หรือบางคนก็ไปถึงง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งง่วงเหงาหาวนอนนี้ไม่สำคัญเท่าไรหรอก ทำไมถึงว่าไม่สำคัญ ก็ถ้าง่วงจริงๆ ก็ไปนอนเสีย ไปนอนให้หลับครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมง พอหลับแล้วรู้สึกเต็มอิ่ม สดชื่น ลุกทันที อย่างนี้ก็ถือว่าการนอนนั้นนอนเพื่อเป็นกำลังที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป ไม่เป็นไรอนุญาตกันได้ แต่ถ้าพออิ่มลืมตาแล้วก็อีกนิดเถอะ แหมกำลังอร่อยขออีกนิดเถอะ พลิกไปพลิกมาดิ้นไปดิ้นมาอยู่นั่นอย่างนี้ขี้เกียจแล้ว นี่มันนอกแล้วนอกธรรมะแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ที่ว่าถีนมิทธะที่พูดถึงว่าง่วงเหงาหาวนอนในความรู้สึกส่วนตัวไม่สำคัญหรอก ง่วงก็นอนนอนพักแต่นอนอย่างมีสติ แล้วก็นอนอย่างผู้มีวินัยแก่ตัวเอง เอาล่ะฉันจะนอนเพียงแค่นี้พอถึงเวลาแค่นี้ฉันตื่นแล้วลุกทันที กระฉับกระเฉงพร้อมที่จะปฏิบัติธรรมต่อไปหรือจะทำการงานที่กำหนดไว้ก็ทำต่อไป ฉะนั้นถีนมิทธะที่น่ากลัวนะคะ ที่น่ากลัวมากแล้วก็เป็นนิวรณ์ข้อที่น่ากลัวมาก แต่คนบางคนหรือคนทั้งหลายส่วนใหญ่ไม่สำนึกหรือไม่สังวรณ์ เพราะถีนมิทธะที่น่ากลัวก็คือความรู้สึกอ่อนเปลี้ยละเหี่ยใจหมดเรี่ยวหมดแรงไม่นึกอยากทำอะไร จนกระทั่งรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีความหมายและก็รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีค่า ถ้าปล่อยให้เป็นไปอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจนกระทั่งมองอะไรมันมืดมัวมันไม่น่าที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องจนกระทั่งไม่น่าจะมีชีวิตอยู่มันร้ายได้ถึงขนาดนั้นด้วย ถ้าไม่รีบปรับปรุงแก้ไขเสีย ท่านจึงบอกว่าอาการของถีนมิทธะเกิดขึ้น ต้องรีบทำตัวให้กระฉับกระเฉง ออกกำลังกายหรือไปหางานที่ต้องใช้แรง ไปฟันดินเสีย ไปปลูกต้นไม้เสียหรือไปวิ่งเสียให้รอบสนามสัก 10 รอบหรือ 20 รอบจนเหนื่อยอ่อนแฮกไปหมด ไม่มีแรงจะไปคิดอะไรอีกแล้วต้องกำจัดมันออกไปทันที เล่นกีฬาต่างๆ ก็จะช่วยได้ เพราะฉะนั้นถีนมิทธะนี่น่ากลัว คนที่เป็นโรคประสาทจนกระทั่งถึงกับอยากฆ่าตัวตายก็เพราะปล่อยให้จิตใจของตนนั้นตกต่ำ ไม่พยายามที่จะยกจิตขึ้นคือไม่พยายามกระทำสิ่งที่ดีงามที่ตนเองจะสามารถพึงพอใจได้ และก็ชุ่มชื่นใจ ภูมิใจในตัวเองได้ ไม่ทำสิ่งอย่างนั้น มันก็เลยเกิดความรู้สึกดูถูกตัวเองแล้วก็มองไปมองมาตัวเราไม่มีค่าอะไรเลย เกิดความรู้สึกไปถึงอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ก็มีแต่มันไม่อยากมองดู มันไปมองดูจุดที่ว่าไม่มีอะไร น่ากลัวมากเลย ฉะนั้นถ้าหากว่าพิจารณายกตัวอย่างง่ายๆ อย่างพิจารณาเรื่องศีลทั้ง 5 ข้อแล้วก็ดูไปดูมาเราก็สามารถรักษาศีลได้อย่างสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีอะไรด่างพร้อยแค่นี้เราก็เคารพตัวเองได้ใช่ไหมคะ ภูมิใจในตัวเองได้ ก็รู้สึกว่าชีวิตของเรามีคุณค่ามีศักดิ์ศรี เท่านี้ก็เป็นกำลังใจแล้ว และนอกจากนั้นเมื่อจะทำอะไรในชีวิตประจำวันเห็นแก่ผู้อื่นให้มากขึ้นอย่างที่อาจารย์ท่านแนะนำอย่างง่ายๆ ทำโดยเห็นแก่ผู้อื่นให้มากขึ้น อย่าเห็นแก่แต่ตัวเอง ถ้าเห็นแก่แต่ตัวเองไม่เห็นแก่ผู้อื่นก็แน่นอนที่สุดใครเขาจะรักล่ะ คนที่จะกวาดเอาอะไรต่ออะไรมาเป็นของตัวทั้งหมด อยากเป็นใหญ่เป็นโตมากกว่าคนอื่นเขา อยากจะมีแต่เอาได้เอาให้ได้อยู่ตลอดเวลาไม่ยอมเสียไม่ยอมให้ใครเขาอยากจะอยู่ใกล้คนอย่างนี้ ถ้าเราฝึกตัวเองเปลี่ยนเสียใหม่ เท่านั้นเห็นแก่ผู้อื่นให้มากขึ้น ก็รู้สึกไม่เสียทีที่เกิดมาชีวิตนี้มีค่า แล้วก็จะไม่ต้องไปอุทธัจจะฟุ้งซ่านล่องลอยขึ้นไปเหมือนกับว่าสร้างวิมานในอากาศ อุทธัจจะ และคู่กันซึ่งอยู่ในข้อเดียวกันก็คือกุกกุจจะ ในขณะที่อุทธัจจะล่องลอยขึ้นไปเรียกว่าล่องลอยไปฟ้าไปทั่วโลกปรุงแต่งไปต่างๆ สารพัดเพ้อเจ้อ แต่กุกกุจจะมองไปข้างหลังว่าสิ่งที่เคยผ่านมาแล้วแล้วก็มาเสียใจไม่ควรทำอย่างนั้นเลย ไม่ควรพูดอย่างนั้นเลย อะไรๆ ก็ไม่ควร จนกระทั่งแม้จะทำสิ่งดี เช่น ให้ของเขา แบ่งปันให้ของ หรือให้ทาน ให้เสร็จไปแล้วดีใจสบายใจตอนนั้น ก็ฉุกคิดมาอีกสักครู่ใหญ่ๆ ควรจะให้เขามากกว่านั้นนะ ท่าทางเขาน่าสงสารดูท่าทางเขาขาดแคลนจริงๆ ท่าทางเขาไม่มีอะไร เราก็มีเยอะแยะทำไมเราให้เขาแค่นั้น ติตัวเองทั้งที่เป็นการทำความดี มาติตัวเองแล้วก็เอามาท่องรำพันอยู่นั่นล่ะ ก็เสียเวลาใช่ไหม ก็ทำให้จิตใจตัวนี้เรียกว่าขาดน้ำหนักของตัวเองด้วย นี่กุกกุจจะก็คือย้อนไปดูในอดีตที่ผ่านมาแล้ว และเห็นว่าก็ไม่ควรอย่างนั้นไม่ควรอย่างนี้ มันเสียเวลา เพราะฉะนั้นก็อยากจะบอกว่าท่านถึงบอกให้มีสติอย่างไรล่ะ ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไรถ้ามีสติ ปัญญาก็จะมา และเมื่อมาพร้อมกันทั้งสติและปัญญา ก็มักจะช่วยให้บุคคลผู้นั้นได้กระทำอะไรๆ อย่างเหมาะสมอย่างเหมาะควรแก่สิ่งที่จะกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการให้ จะเป็นการพูดหรือจะเป็นการทำอะไรก็ตามมันจะเหมาะเจาะอยู่พอดิบพอดี ฉะนั้นการมีสติอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างยิ่ง ก็จะนำเอาปัญญาเข้ามาประกอบ ทีนี้ข้อสุดท้ายที่บอกข้อสุดท้ายของนิวรณ์ก็คือวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย นี่เป็นข้อสุดท้ายแต่ทว่าร้ายกาจที่สุดยิ่งกว่าข้ออื่นๆ เพราะว่ามันจะทำให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยวิจิกิจฉา คือมักจะลังเลสงสัยในสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เรื่อย กลายเป็นผู้ที่ขาดความมั่นใจ จะตัดสินใจอะไรก็ไม่กล้าตัดสินใจมีแต่ถอยหน้าถอยหลัง จะเอาดีหรือไม่ดี ไปดีหรือไม่ดี ทำโครงการนี้ดีหรือไม่ดี มีแต่ถามอยู่เรื่อย ถามตัวเอง และก็ไปเที่ยวถามคนอื่นเพราะไม่สามารถจะตัดสินใจได้ ฉะนั้นคำแนะนำก็คือถ้าเกิดความลังเลสงสัยในสิ่งใดว่าจะพูดอย่างนี้ดีไหมจะทำอย่างนี้ดีไหม ก็ลองคิดดูสิว่าเรื่องที่จะพูดจะทำเรารู้เรื่องนั้นหรือเปล่า คือเรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือเปล่า เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่ต้องมานั่งลังเลเสียเวลา หาความรู้ทันที หาหนังสือมาอ่านหรือมิฉะนั้นก็ไต่ถามผู้ที่เขารู้กว่าเรา ไม่ต้องมาเป็นห่วงหรอกเสียศักดิ์ศรีอายเขาแย่ เพราะถ้าทำอะไรผิดๆ มันไม่น่าอายกว่าเหรอ และมันเกิดความเสียหายมากกว่าไหม ฉะนั้นผู้ที่มีสติและปัญญาก็ต้องเลือกอีกทางหนึ่งล่ะ คือเลือกถามคนอื่นเขาดีกว่า และในการถามนั่นอย่าไปคิดว่าจะเป็นการถูกเขาดูถูก หรือสบประมาท ทำไมไม่มองอีกมุมหนึ่งคือมองว่านี่ล่ะเราจะได้เพื่อนเข้ามาอีก ได้ผู้ที่เห็นใจและผู้ที่เขาอาจจะยกย่องว่าคนนี้ดีนะเขาไม่ถือศักดิ์ศรีตัวเอง ไม่อวดเก่งแต่รู้ว่าคนๆ นี้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนและเป็นคนฉลาด เมื่อไม่รู้อะไรก็รู้จักถามและเขาก็ได้ความรู้และก็มาทำงานสิ่งที่เขาต้องการทำสำเร็จลุล่วงด้วยดีและก็ไปขอบคุณเขาสักหน่อยท่านผู้ใดที่แนะนำ เราก็จะได้เพื่อนได้ผู้ที่เป็นที่ปรึกษา ถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่าก็จะมีความเอ็นดู ฉะนั้นวิจิกิจฉาไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยนะคะ และก็มองดูตัวเองเถอะพอถึงค่ำๆ จะนอน วันนี้เรามีวิจิกิจฉาในเรื่องใดบ้าง กี่ครั้ง อาจจะมีหลายๆ ครั้งแม้แต่ในเรื่องกินที่เป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องนอน เรื่องแต่งตัว เรื่องไปเที่ยว ไปดีหรือไม่ดี ไปดูหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี หนังสือเรื่องนี้อ่านเสียทีเถอะ ดีหรือไม่ดี อย่างนี้มันเรื่องอะไรถ้าจะว่าไปมันบ้าแท้ๆ นะ มานั่งลังเลอยู่ทำไม พอเรานับได้ว่าวันนี้ลังเลตั้งกี่ครั้ง แย่เลย ไม่เอา สมมติวันนี้เราลังเลไปแล้ว 9 ครั้ง พรุ่งนี้ต้องให้เหลือ 5 ครั้ง แล้วก็ลองสำรวจเปรียบเทียบกัน เราทำได้วันนี้แค่ 5 ครั้ง วันพรุ่งนี้ต้องไม่มีเลยและไม่ลังเลสงสัยอะไรเลย พอเกิดลังเลถอยหน้าถอยหลังต้องตัดสินใจทันที แล้วเราก็จะค่อยๆ มีความมั่นคงมากขึ้น ฉะนั้นอันนี้นะคะ ถ้าหากว่ามีศีลบริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอคือมีความภูมิใจชุ่มชื่นใจได้บ้างว่าศีลของเราไม่ด่างพร้อย มันก็ทำให้จิตนี่มีความเป็นปกติ ไม่ได้มีอะไรมาวุ่นวายมาคอยกระตุกอยู่ในใจ จิตมันก็สะอาด เมื่อมันไม่วุ่นวายพอเราอยู่กับลมหายใจ คือตามลมหายใจเข้า ตามลมหายใจออกจดจ่อกับลมหายใจได้อย่างเดียวก็จะทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน แล้วก็ไม่ช้าอาจจะชั่วประเดี๋ยวเดียวจิตก็รวมสนิทมาเป็นสมาธิได้ ให้สังเกตเถอะว่าที่ไม่สามารถจะรวมจิตได้ ไม่สามารถจะอยู่กับลมหายใจได้อย่างติดต่อกันก็เพราะมันมีนิวรณ์อันโน้นบ้างอันนี้บ้าง นิวรณ์นี่มันตัวร้ายกาจอย่างที่หลายคนคงทราบแล้วนะคะว่ามันเป็นตัวอุปสรรคที่มาขวางกางกั้นการกระทำความดีทุกอย่างทุกประการ มันมาเป็นอุปสรรคไม่ว่าจะเป็นการทำความดีในทางโลกหรือในทางธรรม ถ้าปล่อยให้นิวรณ์เข้ามาวุ่นวายในจิตแล้วล่ะก็ จะไม่ล่วงพ้นคือหมายความว่าจะไม่ก้าวไปถึงความสำเร็จได้
เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่าศีลเป็นเบื้องต้นหรือเป็นบาทฐานของสมาธิ คำว่าเป็นบาทฐานคงพอเข้าใจใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าผู้ใดไม่มีศีลเป็นพื้นของจิตอยู่แล้ว จะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิยากมาก เพราะมันจะมีนิวรณ์มารบกวนนี่แหละ ทำให้ใจระส่ำระสายกระวนกระวายอยู่นิ่งไม่ได้วุ่นอยู่ตลอดเวลา ความว่างไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของที่บอกว่าศีลเป็นบาทฐานของสมาธิก็พิจารณาในเรื่องนี้นะคะแล้วก็ทบทวนไปมาให้เห็นว่าเรามีความสามารถที่จะภูมิใจได้ในความไม่ด่างพร้อยของศีลที่เราได้ประพฤติปฏิบัติในวันหนึ่งวันหนึ่ง ศีลนั้นก็จะเป็นบาทฐานให้จิตนั้นเข้าสู่ความเป็นสมาธิได้โดยไม่ยาก ทีนี้พอจิตเป็นสมาธิแล้วท่านก็บอกต่อไปว่าสมาธินี่แหละเป็นบาทฐานของปัญญาคือถ้าหากว่าจิตไม่สงบ จิตไม่เป็นสมาธิไม่มีความหนักแน่นมั่นคง การที่จะหาปัญญาเพื่อพิจารณาธรรมให้แจ่มแจ้งให้ประจักษ์แจ้งให้จิตได้สัมผัสหลักธรรมก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะจิตมันวุ่นวายมันจะไปสัมผัสอะไรได้ในสิ่งที่ลึกซึ้งเรื่องของธรรมะเรื่องของสัจธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่สิ่งที่จะสัมผัสได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องการจิตที่เป็นสมาธิ คือเป็นจิตที่บริสุทธิ์ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวและก็คล่องแคล่วรู้ตัวทั่วพร้อมพร้อมที่จะทำการงาน เช่นนี้แหละถ้าทำได้เช่นนี้แหละ ก็แน่นอนที่สุดการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อจะเดินไปสู่ความลึกซึ้งในทางธรรมสูงขึ้นๆ จนถึงที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ท่านจึงบอกว่าแบกชีวิตของพรหมจรรย์นั้นคือเป็นชีวิตของผู้ที่ประกอบด้วยไตรสิกขาคือศีล สมาธิและปัญญาจะต้องประกอบกันเช่นนี้อยู่ตลอดไป ฉะนั้นเมื่อตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสกับพระอรหันต์ 60 องค์แรก ใครจำได้บ้าง 60 องค์แรกในสมัยพุทธกาล คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์แรกในโลกใช่ไหมคะ และเสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสสอนอบรมผู้ที่เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์หรือเข้ามาขอคำแนะนำอบรมจากพระองค์ ก็เริ่มต้นไปจนกระทั่งผลที่สุดก็มี 60 องค์ และพระองค์ก็ตรัสกับพุทธสาวกที่เป็นพระอรหันต์ 60 องค์แรกว่าเอาล่ะท่านคงจะอบรมและรู้สึกแล้วว่าสามารถที่จะเป็นครูไปบอกกล่าวไปแนะนำผู้อื่นได้ ท่านก็บอกไปเธอทั้งหมดนี่จงแยกย้ายกันไปคนละทาง ไม่ใช่ไปทางเดียวกันนะคะ เพราะว่า 60 องค์นี่ไม่มากถ้าไปทางเดียวกันแล้วก็จะไปเผยแผ่ธรรมะไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้แยกกันไปคนละทาง ไปคนละองค์ แล้วก็ไปแสดงชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ให้ผู้คนทั่วไปได้มองเห็นได้เข้าถึงแล้วก็ได้มองเห็นว่าชีวิตพรหมจรรย์นี้ไปแสดงให้เขาเห็นเป็นแบบอย่าง ให้เห็นความงามของความเป็นชีวิตพรหมจรรย์ที่งามทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลางและทั้งเบื้องปลาย พูดง่ายๆ ว่าผู้ที่มีชีวิตพรหมจรรย์นั้นจะเป็นผู้พร้อมด้วยความงาม คำว่างามในที่นี้คืองามสงบ งามสง่า งามสะอาด พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ งามสงบ งามสง่า งามสะอาด มองอะไรเหลี่ยมไหนมุมไหนตรงไหนมีแต่ความงามให้เกิดความชื่นใจแล้วก็อยากจะกราบกรานเคารพนับถือแล้วก็อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้างจะปวดร้าวใจของผู้นั้นให้เกิดความรู้สึกอยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เพราะมันช่างเป็นความงามที่ไม่รู้จะเปรียบกับความงามอะไรเพราะมันเลิศ เป็นความงามที่เลิศยิ่งกว่าความงามใดๆ ในโลก ที่เขาประกวดอะไรต่ออะไรกันเรื่องงามนี่เทียบกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าหากได้สัมผัสกับความงามอย่างนี้แล้วล่ะก็จะรู้สึกว่าชีวิตนั้นมีความสุขและก็เป็นชีวิตที่มีค่าควรแก่การนึกถึง ควรแก่การประพฤติปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นเราก็มาทบทวนกันเสียหน่อยว่าการที่เข้ามาอยู่ในโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามนี้มันคืออะไร นั่นก็คือต้องรู้ว่าชีวิตพรหมจรรย์นั้นมันคือลักษณะอย่างไรใช่ไหมคะ ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตพรหมจรรย์ให้ถ่องแท้ เราก็ยังไม่รู้จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร มันถึงจะเข้าสู่แนวทางของความเป็นผู้มีชีวิตพรหมจรรย์ได้ และก็ให้เป็นพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามด้วย ไม่ใช่เป็นพรหมจรรย์ที่กระดำกระด่าง คือเอ่ยชื่อว่าฉันอยู่ในชีวิตพรหมจรรย์แต่ไม่ได้ประพฤติให้งดงามสะอาดไม่มีความด่างพร้อยนี่ก็คือชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ที่เราพูดนี่ฟังดูก็ไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะ แต่ก็คงรู้แล้วก็คงเข้ามาทำมันไม่ใช่ของง่ายตั้งแต่เริ่มมาเข้าโครงการนี่ก็เบาะๆ เท่านั้นเองนะคะ มันไม่ใช่ยังถึงเข้มงวดเหมือนอย่างที่เป็นแล้วในสมัยพุทธกาลยังไม่ถึงขนาดนั้น ต้องเรียกว่าเบาะๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นท่านจึงอธิบายถึงลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์ให้ชัดเจนให้ละเอียดลงไปอีกว่า ชีวิตพรหมจรรย์ที่ต้องประกอบไปด้วยไตรสิกขาคือพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นั่นน่ะยังจะต้องมีลักษณะอะไรอยู่อีกที่จะเป็นเครื่องอธิบายเพื่อชี้ให้เห็นชัดขึ้น ข้อแรกก็ต้องว่าชีวิตพรหมจรรย์ต้องเป็นชีวิตเดี่ยว เป็นชีวิตเดียว เป็นชีวิตอิสระอยู่เหนือความข้องเกี่ยวผูกพันทั้งปวง เหมือนกับนกอย่างที่เปรียบเหมือนกับนกอินทรีย์ที่เป็นพญานก ไม่ใช่นกกระจอก นกกระจอกนี่หาได้เยอะแยะมากมายก่ายกองแล้วก็เกลื่อนกลาด และก็ไม่เคยมีใครเขายกย่องนกกระจอก เขามีแต่ว่านกกระจอกแตกรัง ไม่ได้เป็นนกที่มีศักดิ์ศรีในตัวเองก็เพราะการประพฤติปฏิบัติของนกกระจอกพูดง่ายๆ คือ ศีลข้อ 4 นกกระจอกไม่มี ทั้งนี้เป็นการพูดเปรียบเทียบ แต่พญานกอินทรีย์ไม่เคยมาบินเรี่ยๆ ให้ใครเห็น จะบินก็สูงลิบ มองก็คอตั้ง ไม่ค่อยจะเห็นตัว เป็นชีวิตเดี่ยว เป็นชีวิตเดียวคือเดี่ยวคือหมายความว่าออกไปไม่ต้องมีใครตามเป็นพรวน ไม่ต้องมีใครวิ่งมาตามหา ถ้าเป็นชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่แท้จริงไม่เกี่ยวข้อง เป็นชีวิตเดี่ยว ชีวิตอิสระ อิสระจากทรัพย์สินเงินทองจากบ้านเรือนบ้านช่องเขาจึงเรียกว่าเป็นอนาคาริกา ถ้าเป็นผู้หญิงน่ะคะ อนาคาริกาเพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่มีบ้านไม่มีเรือนเป็นของตนเอง ไม่มีทรัพย์สมบัติไม่มีเงินทองข้าวของไม่มีชื่อไม่มีเสียงไม่มีตำแหน่งอะไรที่จะเป็นที่สังเกตทั้งสิ้น ถ้าหากว่าจะเข้ามาเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างแท้จริงจะต้องอยู่ในลักษณะนี้ เหนือความเกี่ยวข้องทั้งปวง ใจหายหรือเปล่าเมื่อได้ยินอย่างนี้ว่าชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะไปนับว่ามีเท่าไร หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นั้นมีไม่มากหรอก กับผู้ไม่ประพฤติกับผู้ที่อยู่ข้างนอก เปรียบจำนวนกันไม่ได้เลยอย่างที่อาจจะว่าเหมือนกับเขาวัวกับขนวัวอย่างนี้เราจะเปรียบกันไม่ได้ มีจำนวนแตกต่างกันมาก เพราะว่ามันเป็นชีวิตที่ต้องเดี่ยวอย่างนี้ พอพูดถึงเดี่ยวเท่านั้นล่ะเกิดความรู้สึกวังเวงละ เกิดความรู้สึกกลัว ใจหาย นี่จะไม่มีใครเลยหรือนี่ จะอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผู้ใดที่คิดอย่างนี้นะคะ ออกไม่ได้ ต้องตีบตันอยู่อย่างนั้นเพราะกลัวจะอยู่คนเดียวลืมนึกไปว่าถึงเวลาหยุดหายใจน่ะ ใครมาหยุดหายใจด้วย หรือถึงเวลาตายน่ะ ใครมาตายด้วย ตายคนเดียวใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีคนนั่งห้อมล้อมอยู่มากมายก่ายกอง มีใครไปด้วยได้บ้าง ไม่มีใครไปสักคน ไม่มีใครช่วยได้เลย ถึงอย่างไรอย่างไรก็มาคนเดียวก็ต้องไปคนเดียวอยู่ดี และจะไปอย่างไรล่ะถึงจะไปอย่างประเสริฐก็ลองนึกดูนะคะ นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบให้ฟังว่าชีวิตพรหมจรรย์ต้องเป็นถึงขนาดนี้คือต้องฝึกอบรมจิตของตนถึงขนาดนี้ นอกจากนี้ก็เป็นชีวิตที่จืด ไม่มีรสชาติ จืดจากรสทั้งปวงนี่ก็อีกล่ะ จะกินข้าวกินปลาก็ยังต้องการเปรี้ยวหวานมันเค็มอยู่ตลอด แล้วจะให้มาเป็นชีวิตจืดๆ นี่มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่บอกว่าจืดจากรสทั้งปวง ไม่เอาทั้งนั้นน่ะ ไม่มีอะไรที่จะมาชวนให้สนุก ไม่มีอะไรที่ชวนให้เพลิดเพลิน จะผ่านมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มี มันจืดหมด รูปมันก็เท่านั้น เสียงมันก็เท่านั้น กลิ่นก็เท่านั้น รสมันก็เท่านั้น สัมผัสก็เท่านั้น ธรรมารมณ์ก็เท่านั้น คือมันไม่มีอะไรเพราะมันรู้เท่าถึงเสียแล้ว เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เขายกย่องกันว่าสวย ว่างาม ว่าเอร็ดอร่อย ว่าซาบซ่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่สักแต่ว่าทั้งสิ้น สักแต่ว่าเพราะมันไม่มีตัวจริง มันไม่มีอะไรตั้งอยู่จริงๆ มันมีแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับอยู่แค่นั้นเอง บัดนี้เมื่อได้เห็นได้สัมผัสได้เข้าถึง สภาพของความเป็นจริงแล้วมันรู้เท่าทันมันก็เลยไม่ถูกหลอก คือไม่ยอมให้หลอกอีกต่อไป เพราะรู้แล้วว่าแกไม่ได้อยู่จริง แกมาแล้วแกก็ไป แกอย่ามาทำกระดี๋กระด๋าหรืออย่ามาทำน่ารักน่าเอ็นดู เดี่ยวมันก็ไป มันไม่เหลือหรือจะมาทำน่าเกลียดน่าชัง มันก็ไปอีกเหมือนกัน มันไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าไม่สยบกับสิ่งใดเลย จึงจืดจากรสทั้งปวงเพราะอะไร เพราะใจนั้นได้ฝึกอบรมมาอย่างตลอดเวลาจนเข้าถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเอาไว้ จึงหยุดได้ มันจึงจืด ไม่หลง ไม่ติดอีกต่อไปแล้ว จึงเป็นชีวิตที่มองดูเหมือนไม่มีรสชาติ เหมือนอย่างเวลาที่เห็นพระภิกษุสงฆ์ที่ท่านประพฤติพรหมจรรย์จริงๆ น่ะ คงมองเห็นท่าน เวลาท่านฉันอาหารใช่ไหมคะ ท่านก็เททุกอย่างลงไปในบาตรของท่าน สำรวมแล้วก็คลุกๆ คนๆ ให้เป็นอย่างเดียวกัน อย่างเวลาเราจะรับประทาน ปลาก็ปลา เนื้อก็เนื้อ ไก่ก็ไก่ ผักก็ผัก ผัดคนละอย่างละอย่าง แกงก็แกงจะมาปนกันไม่ได้มันมองดูแล้วเขะขะกินไม่ได้สะอิดสะเอียน แต่ก็ลืมนึกว่าพอผ่านเข้าปากใครไปแยกมันได้ นี่แกงนะ นี่ผักนะ นี่ยำนะ นี่ทอดนะ ใครจะแยกมันได้ มันก็รวมไปกันหมด พอมันเข้าปากเราเท่านั้นแหละมันพร่องรวมไปกันหมด แต่ทีนี้ถ้าเรามองตั้งแต่ตอนต้นเราจะเห็นความเป็นจริงด้วยตาเนื้อของเราใช่ไหมคะ เป็นประจักษ์พยานว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรคงทน ไม่มีอะไรที่จะสามารถรักษาสภาพของมันได้เลย พอมันผ่านเข้าไปแล้วมันเกิดขึ้นมาแล้วผ่านเข้ามาแล้วเปลี่ยนสภาพทันที เพราะฉะนั้น ก็เรียกว่ารู้เท่าทัน เรียกว่าประจักษ์แจ้งในกฎของไตรลักษณ์ มองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ประจักษ์ชัด มันก็เลยจืด มันรู้เท่าทันความเป็นจริงเสียแล้ว ก็เลยไม่มีอะไรจะมาหลอกล่อมันได้อีกต่อไป จึงเป็นผู้ที่จืดจากรสทั้งปวง ฉะนั้นก็พูดเพียงเท่านี้ก่อนสำหรับวันนี้ ลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์นี่เป็นชีวิตเดี่ยวเป็นชีวิตเดียวเป็นชีวิตอิสระและเป็นชีวิตที่จืดจากรสทั้งปวง แล้วเราจะพูดกันต่อไปอีก ธรรมสวัสดีก่อนค่ะ