แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ คราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของชีวิตพรหมจรรย์ ว่าคืออะไรอย่างไร และก็ลักษณะชีวิตของพรหมจรรย์นะคะ ว่าผู้ที่เข้ามาประพฤติพรหมจรรย์นี้จะต้องมีลักษณะของการดำเนินชีวิตอย่างไร ก็ได้พูดเอาไว้ว่า
ข้อแรกทีเดียว จะต้องสำนึกเสมอว่า ชีวิตพรหมจรรย์นั้นเป็นชีวิตเดียว ชีวิตเดียว ชีวิตอิสระ อยู่เหนือความข้องเกี่ยวผูกพันทั้งปวง เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเลย มีแต่ชีวิตเรานี่แหละที่คงดำเนินอยู่ ไปอยู่ เป็นอยู่ แต่ไม่มีความข้องเกี่ยวกับสิ่งใดทั้งสิ้น ทรัพย์สินเงินทอง แม้แต่ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือว่าลูกหลานบริวาร เพื่อนฝูง ญาติมิตร มีก็เหมือนไม่มี มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น มีก็เหมือนไม่มี ไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งใดทั้งสิ้น เป็นชีวิตเดี่ยว อิสระอยู่เหนือความข้องเกี่ยวผูกพันทั้งปวง
แล้วนอกจากนั้นก็เป็นชีวิตที่จืดจากรสทั้งปวง คือไม่ติดในรสใดทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เคยพึงพอใจอย่างใด บัดนี้มันจืดหมดแล้ว มันเห็นเท่าทันความเป็นจริงของรสนั้น ๆ ว่ามันเพียงสักแต่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรที่จะอยู่นานให้ยึดมั่นถือมั่น หรือให้มั่นหมายได้ว่าจะเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มี เพราะว่าได้เข้าใกล้ความรู้สึกของความที่ไม่มีอะไรนี้ แม้จนกระทั่งถึงตัวตนที่เคยยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเรา ของเรา ตัวฉัน ของฉัน มันก็จืดจางไปหมด มันเป็นชีวิตที่จืด ฉะนั้นก็จะเห็นจะสังเกตได้ว่า ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์นั้นจะไม่ค่อยหัวเราะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า จะไม่สนุกสนาน จะไม่ร้องไห้ โฮ โฮ จะมีแต่อาการสงบ ถ้ามีเห็นอะไรที่น่าชื่นชม น่าพึงพอใจ ก็จะเพียงแต่แย้มยิ้มเท่านั้น และถ้าหากเห็นอะไรว่าเป็นสิ่งที่น่าสลดสังเวช มันก็จะรู้สึกแต่เพียงว่า อืม ธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ มันเป็นเช่นนั้นเอง จะไม่เห็นอะไรมากไปกว่านี้ เพราะมันเป็นชีวิตที่จืดจากรสทั้งปวง
นอกจากนี้ประการที่สาม ลักษณะที่สาม ก็คือ เป็นชีวิตของความไม่มี เป็นชีวิตของความไม่มีที่แท้จริง ความไม่มีก็คือว่าไม่มีอย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่มีสิ่งใดที่จะชี้ว่านี่เป็นฉัน นี่เป็นของฉัน มันไม่มี เพราะฉะนั้นเป็นความไม่มีอย่างแท้จริง ไม่เหมือนกับชาวโลกที่พูดว่า ฉันก็ไม่มีนั่น ฉันก็ไม่มีนี่ แต่ข้างในมันมี และก็มีความยึดมั่นผูกพัน มีความอยากได้ มีความอยากมีอยากเป็น อยู่ตลอดเวลา แต่จริง ๆ แล้วชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อพูดว่าไม่มี คำว่าไม่มีนี้ ก็ไม่มีทั้งข้างนอกและข้างใน วาจาอย่างไร จิตก็เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ติดข้องกับสิ่งใดทั้งสิ้นนะคะ จึงเป็นชีวิตของความไม่มีที่แท้จริง แต่ในความไม่มีนี้ ลองนึกดูอีกที น่าพึงพอใจไหม น่าเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มแห่งความไม่มีเช่นนี้ไหม มันเป็นอิสระ มันน่านะ น่าที่เราจะเข้าไปร่วมเป็นสมาชิก เพราะมันจะเรียกว่าเบาสบายอย่างบอกไม่ถูก มันไม่ต้องแบกอะไรที่มันเป็นภาระ ที่ว่าเป็นฉัน เป็นของฉันเลย ไม่มี
นอกจากนี้ก็พูดได้ว่า เป็นชีวิตที่อยู่เหนือโลกสมมติอย่างสิ้นเชิง ที่สมมติกันว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนเป็นฝูง เป็นอะไรต่ออะไร หรือว่าเป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เป็นผู้บังคับบัญชา ไม่มี สิ่งเหล่านี้มันสมมติเรียกกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอยู่เหนือสมมติ อยู่เหนือโลกสมมติอย่างสิ้นเชิง พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ไม่อยู่กับสมมติสัจจะอีกแล้ว
สัจจะนั้นมี ๒ อย่าง ทราบอยู่แล้วใช่ไหมคะ “สมมติสัจจะ” และ “ปรมัตถสัจจะ” สมมติสัจจะ ก็คืออย่างที่เราสมมติกัน เราสมมติตั้งชื่อ เรียกนั่นว่าพัดลม เรียกนี่ว่านาฬิกา เรียกนั่นว่ากล้องโทรทัศน์ เรียกคนนั้นว่าชื่อนั้นชื่อนี้ นั่นเป็นผู้หญิง นั่นเป็นผู้ชาย นี่ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงสมมติ แต่จนกระทั่งมาเดี๋ยวนี้ก็เห็นแก่ใจเห็นแก่ตาเองแล้วใช่ไหมคะ ที่สมมติกันว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันก็รางเลือนหายไป มันสลายไป มันเกิดแล้วมันก็ดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสมมติสัจจะนั้นจึงเป็นความจริง คือไม่เถียงหรอกว่านี่จะเรียกว่าต้นชบา นั่นจะเรียกว่าต้นมะม่วง นั่นเรียกว่าต้นไผ่ ก็ไม่เถียง เพราะเรียกกันมานานแล้ว ตามที่สมมติเรียกกัน แต่ถ้าว่าจริง ๆ แล้ว มันหาใช่ความตั้งอยู่อย่างชนิดคงทนและยั่งยืนไม่ มันจึงเป็นสิ่งที่สมมติเรียกกันไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และแต่ในละท้องถิ่น แต่ในละสถานที่ ก็ยังแตกต่างกันอีก เรียกก็ไม่เหมือนกัน เหมือนอย่างที่นี่เขาจะเรียกมันเทศว่าหัวมัน เราก็พูดไปตั้งนานว่า เออ มันเทศนี่ต้องนึ่งนะ แต่เขาบอกว่าไม่ได้น่ะ นึ่งไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่ของนึ่ง คือเป็นมันแกว พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น นี่มันเรียกกันคนละอย่าง ของอย่างเดียวแต่เรียกคนละอย่าง เพราะฉะนั้นง่ายๆ อย่างนี้ก็พอจะเป็นตัวอย่างได้ว่า สมมติสัจจะเอาแน่กับมันไม่ได้ มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา สมมติว่ารวย อ้าว อีกไม่กี่วันล้มละลายแล้ว สมมติว่าจน เออ เกิดถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เกิดรวยขึ้นมา มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสมมติ นี่คือสมมติสัจจะ อย่างที่ชาวโลก ๆ ตั้งกันขึ้นมา เรียกกันขึ้นมา
แต่สัจจะอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ นั่นคือสัจจะสูงสุด เป็นสัจจะขั้นสูงสุดเพราะอะไร ก็เพราะว่าเป็นสัจจะที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง จะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป นั่นก็คือสัจจะที่เกี่ยวกับกฎของธรรมชาติ เช่น “กฎไตรลักษณ์” ที่เราพูดกันมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น นี่ก็เป็นสัจจะที่เชื่อถือได้ เป็นสัจจะที่ควรรู้จัก เข้าใจ เข้าถึง แล้วก็ดำเนินตาม หรือ “กฎของอริยสัจ ๔” “กฎของอิทัปปัจจยตา” “กฎปฏิจจสมุปบาท” อย่างนี้เป็นต้น นี่ล้วนแล้วแต่เป็นปรมัตถสัจจะ คือเป็นสัจจะขั้นสูงสุดที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น แต่ทว่าผู้ที่อยู่ในชีวิตพรหมจรรย์นั้นจะอยู่เหนือโลกสมมติอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าโลกของผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ จะมีแต่ปรมัตถสัจจะอย่างเดียว ศึกษาเรียนรู้จนเข้าใจ แล้วก็เข้าถึงปรมัตถสัจจะอยู่อย่างเดียวเท่านั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์จึงเป็นชีวิตที่เรียกว่า ได้เข้าถึง แล้วก็ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เรียกว่า “สัจจธรรม” ที่พระพุทธองค์ทรงสอนและอบรมมาตลอด สัจจธรรมนั้นหมายความว่าอย่างไร สัจจธรรมนั้นก็คือ สภาวะอันเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นสัจจธรรมอันเป็นสภาวะตามธรรมชาติ ก็ยังมีกฎของธรรมชาติเหมือนดังที่กล่าวแล้ว อยู่รวมในสัจจธรรมอันนี้ด้วย เพราะฉะนั้นสัจจธรรมนั้น เมื่อมันเป็นกฎธรรมชาติ มันจึงเป็นสิ่งที่จะต้องเป็นอยู่อย่างนั้น ตั้งอยู่อย่างนั้น ตามธรรมดาของมัน จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ต่อให้โลกสลายไปกฎธรรมชาติก็ยังอยู่ ยังอยู่ยังไง ถ้าจะเถียง ก็เพราะโลกมันสลายไปแล้ว ก็มันสลายไปตามเหตุปัจจัยของมันใช่ไหม ฉะนั้นเมื่อมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตาอยู่นั่นเอง อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ที่แสดงถึงความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความตั้งอยู่ไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นถ้าหากเราจะเปรียบชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์กับชีวิตของนก ก็เป็นชีวิตที่อิสระจริง ๆ เพราะว่าสิ่งที่นกมีก็เพียงปีกสองข้าง ปีกสองข้างที่จะพาโบยบินไปตามที่ต่าง ๆ ในโลกได้อย่างอิสระ และเมื่อไปแล้ว พอนกบินสูง เหมือนอย่างพญานกอินทรี มองเห็นรอยไหม สมมติว่าบินผ่านมานี้ มองเห็นรอยที่ผ่านไป ทิ้งรอยอันเหลือไว้หรือเปล่า ไม่มี ไม่ทิ้งรอยที่จะเหลือเอาไว้เลย เพราะฉะนั้นชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าจะเปรียบกับชีวิตของนก ก็ต้องเปรียบเหมือนกับชีวิตของนกอินทรีที่เป็นชีวิตเดี่ยว เป็นชีวิตอิสระ เป็นชีวิตที่แข็งแกร่ง กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว แล้วก็เด็ดขาด ไม่ใช่ชีวิตของนกกระจอกที่ชอบคลุกคลีเป็นฝูง พูดคุย ปรุงแต่ง แตกรัง ตื่นตระหนกอย่างขาดสติ นั่นเป็นชีวิตที่มิใช่ชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ฉะนั้นเมื่อหันมาพิจารณาดูอีกที ในฐานะที่เราเข้ามาอยู่ในโครงการฝึกฝนอบรมตน เพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ถ้าเช่นนั้นลักษณะของชีวิตพรหมจรรย์เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ของง่าย ที่จะมาอยู่ ๔ เดือนนี่นะคะ ก็เท่ากับว่ามาลิ้มรส มาทดลองดูว่ามันจะมีรสชาติอย่างไร แล้วก็จะสามารถดำเนินตามไปได้แค่ไหน เพียงไร มาลิ้มรสลองดู แต่ถึงแม้จะว่าตั้งใจมาเพียงลิ้มรสลองดู แต่ก็ควรที่จะได้ลองฝึกอย่างเข้มงวดกวดขันแก่ตัวเอง ไหน ๆ มาแล้วก็เอาให้เข้มข้น อย่าทำเหลาะ ๆ แหละ ๆ หรือว่าทำอย่างเสียมิได้ ฉะนั้นก็ต้องดูว่าเมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้ถึงแบบชีวิตของท่านอาจารย์แล้ว ว่าท่านดำเนินอย่างไร ก็นำสิ่งที่เราได้เรียนรู้ได้เข้าใจนั้นเอามาพิจารณาดูว่า แล้วเราล่ะจะเริ่มการฝึกฝนอบรมตนอย่างไร และด้วยวิธีใดบ้าง ถ้าเราจะเลียนแบบตามท่านอาจารย์ ก็แน่นอนใช่ไหมคะ ที่เราจะต้องเริ่มต้นด้วย “การฝึกตนเอง” คือการเตรียมพร้อมด้วยตนเอง อบรมตนเอง พัฒนาตนเองอย่างเข้มงวดกวดขันทีเดียว แล้วก็กระทำด้วยความขวนขวายเพื่อการเรียนรู้จนเป็นครูเขาให้จงได้ ตามที่ท่านอาจารย์ท่านบอกท่านสอนเอาไว้ จะเรียนรู้สิ่งใด จะศึกษาอะไร จะทำอะไร ต้องทำให้รู้จนเป็นครูเขา ถ้าหากว่าไม่ถึงขนาดเป็นครูเขา ก็คือยังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่รู้อย่างชนิดจริงจังจนถึงที่สุดอันนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนรู้จนกระทั่งเป็นครูเขา ตอนแรก ๆ ก็เป็นลูกศิษย์ไปก่อน เตาะแตะ ๆ ไปก่อน เริ่มจากชั้นอนุบาล จากชั้นอนุบาลต่อไปก็ขึ้นประถม ขึ้นมัธยมไปตามลำดับ จนถึงวิทยาลัย มหาวิทยาลัย จนจบ พยายามให้ได้ที่จะรับปริญญาของพระพุทธเจ้า จำได้ไหมคะว่าปริญญาของพระพุทธเจ้านี้ ท่านก็มีปริญญาเอกให้นะ ปริญญาเอกของพระพุทธเจ้าคืออะไร นั่นก็คือปริญญาที่จบด้วยการอยู่เหนือโลภะ -ความโลภ อยู่เหนือโทสะ -ความโกรธ อยู่เหนือโมหะ -ความหลง จะต้องพยายามให้ได้ ถ้าสามารถอยู่เหนือกิเลสทั้งสิ้นทิ้งปวง อยู่เหนือตัณหาอุปาทาน จบแล้ว จบปริญญาเอกของพระพุทธเจ้า แต่ก็น่าเสียดาย มองไปมองมาไม่ค่อยมีใครที่มาส่งใบสมัครและก็แย่งกันเข้า เหมือนอย่างไปเข้าโรงเรียนมีชื่อหรือว่ามหาวิทยาลัยมีชื่อเลย ไม่ค่อยจะมี มีแต่ถอยหลังหนีกรูด ๆ กันทั้งนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้านี้เปิดกว้าง รับไม่จำกัดจำนวน ยิ่งกว่านั้นไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิตสักสตางค์แดงเดียว เพียงแต่เสียความอดทน ความพากเพียรพยายามส่วนตนเท่านั้นเอง ซึ่งทุกคนมีใช่ไหมคะ ไม่ต้องไปขวนขวายหา ไม่ต้องมาอุทธรณ์ว่า อุ๊ย ฉันเป็นคนจน ฉันไม่มีเงินมีทอง ไม่ต้องเลย จะจนทรัพย์สินเงินทองขนาดไหน ก็เข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าได้ จะร่ำรวยขนาดไหนก็เข้าได้ ได้เรียนรู้เท่ากัน และก็ได้รับปริญญาเท่ากัน มันก็น่าจะมาเข้ากันมาก ๆ ล่ะนะ และก็น่าแปลกใจ น่าเสียดาย ทำไมถอยหลังหนีกันกรูด ๆ และกรูด ๆ ไปไหนล่ะ ตกเหว ตกเหวกันลงไป โดยบางทีก็ไม่ได้กลับขึ้นมาจากเหว บางคนลงแล้วลิบลับหายไปเลย หาไม่พบก็มี น่าเสียดาย น่าใจหาย น่าสงสาร ทุกอย่างทุกประการเลยเชียว
เพราะฉะนั้นไหน ๆ มาแล้วนะคะ มาเข้าโครงการฝึกอบรมตน เพื่อความชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ก็ลองพยายาม พยายามศึกษาให้ผ่านพ้นขั้นอนุบาล ไปถึงประถม ไปถึงมัธยม ไปถึงมหาวิทยาลัย จนได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า ปริญญาเอกด้วยนะ แล้วก็โดยไม่ต้องหวังว่าเมื่อไหร่จะได้ เพราะถ้าหากว่าศึกษาไป แล้วก็หวังอยู่นั่นแล้วว่าเมื่อไหร่จะได้ มันจะเป็นทุกข์ มันจะไม่มีความสุขเลยในการศึกษานั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องหวัง หน้าที่ก็คือเรียนรู้ศึกษาให้เข้าใจว่าคืออะไร มีวิธีปฏิบัติอย่างไร แล้วลงมือทำ ทำให้เต็มที่เลย เหมือนอย่างเช่นเริ่มต้นใช้อานาปานสติเป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมสมาธิให้เกิดขึ้น เบื้องต้นที่สุดก็คือฝึกอยู่กับลมหายใจ ตามลมหายใจเข้า ตามลมหายใจออก เพื่อให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ พอลมหายใจเข้า ก็จดจ่อจิตเอาไว้ตรงช่องจมูก แล้วก็รับลมหายใจที่กำลังเคลื่อนไหวเข้ามา แล้วก็ตามไปจนถึงที่สุดของลมหายใจ เรียกว่าสุดสายลมหายใจ จดจ่อตรงจุดนั้นให้แน่นเชียว คือให้แม่นยำ แล้วค่อย ๆ รีบตามออกมา ส่งลมหายใจออกไป เขาออกไปเหมือนกับเขากลับบ้านแล้ว แขกคนสำคัญกลับบ้าน คอยรับแขกคนสำคัญต่อไปอีก รับเข้าจนถึงที่สุดลมหายใจ แล้วก็รับ แล้วก็ส่งออก รับเข้า-ส่งออก รับเข้า-ส่งออก ให้สนุกเพลิดเพลินไปเลย นี่เบื้องต้นที่สุด อนุบาลนะคะนี่ ถ้าสมมติผ่านขั้นอนุบาลไปได้ คือสามารถที่จะตามลมหายใจเข้าออกได้อย่างตลอดสาย ไม่ขาดตอนเลย ก็แน่นอนล่ะจิตเริ่มสงบ จิตเริ่มเป็นสมาธิ พอจิตที่เริ่มเป็นสมาธิเป็นจิตที่มีกำลัง และจะทำอะไรในสิ่งที่ปรารถนาจะทำ ก็จะมีเรี่ยวแรงที่จะทำ และก็ทำได้ด้วยความสนุก ด้วยความเพลิดเพลินด้วย นี่เป็นขั้นอนุบาล
จากนั้นก็ศึกษาพระธรรม ตั้งแต่พระธรรมที่เป็นในระดับเบื้องต้น ในระดับของศีลธรรม เรียนรู้ไป จนกระทั่งเข้าสู่ปรมัตถธรรม ทีละน้อย ๆ ๆ โดยไม่เร่งรีบนะคะ ไม่เร่งรีบ และไม่รวบรัด จะศึกษาในเรื่องใดศึกษาไปเถอะ ศึกษาอยู่นั่นแล้ว จนกระทั่งลืมตาก็สัมผัส หลับตาก็สัมผัส เพราะว่าได้ศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนเลย นี่เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามฝึกใจของตน ควบคุม อบรม ข่มขี่ บังคับ แต่อย่าให้ถึงเคร่งเครียด ถ้าเคร่งเครียดแล้วเป็นความทุกข์ก็จะไม่สนุก การประพฤติธรรมนั้นสามารถจะทำให้สนุกได้ ถ้าเรารู้ในความเบื้องต้นเสียก่อนว่าคืออะไร อย่างไร วิธีใด แจ่มแจ้ง ตอนนี้ลงมือทำ ก็เป็นบทของการทดลอง แล้วก็พิสูจน์ว่าที่ท่านสอนมาท่านบอกมา แล้วก็เราเรียนรู้มา มันจริงไหม ถ้าจริงก็ต้องทำได้สิ ถ้าทำได้อย่างที่สอน ตอนใหม่ ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ไม่ท้อถอย ไม่ยอมถลอกปอกเปิก หรือยอมถลอกปอกเปิก ยอมเจ็บ แต่ว่าจะเดินต่อไป
ฉะนั้นการที่เริ่มต้นด้วยการฝึกตนเอง อบรมตนเอง พัฒนาตนเอง อย่างเข้มงวดกวดขัน ขวนขวายเล่าเรียน เพื่อจะให้สามารถรู้จนเป็นครูเขา คือครูของตัวเองนั่นแหละก่อน สอนตนเองได้ เตือนตนเองได้เป็นเบื้องต้น ฝึกอันนี้ก่อน อย่าไปหวังว่าจะพึ่งผู้นั้นผู้นี้ การหวังพึ่งผู้อื่นน่ะ ท่านอาจารย์ท่านเขียนกลอนเอาไว้ง่าย ๆ ว่า ก็พึ่งได้แต่ภายนอก คือช่วยบอกช่วยสอน แต่ว่าจริง ๆ แล้วพอถึงการฝึกปฏิบัติจะต้องทำเอง ทีนี้พอเริ่มต้นฝึกแล้ว ก็มีแหละ บางครั้งมันก็ต้องท้อใจบ้างเป็นธรรมดานะคะ ฉะนั้นต่อไปนี้ต้องรู้จักปลุกเร้าใจตนเอง ปลุกใจตนเอง เร้าใจตนเอง ให้สนุก ให้เพลิดเพลิน พอได้สัมผัสหรือลิ้มรสกับอะไรที่รู้สึกว่า อืม น่าชื่นใจ มันน่าสนุก แหม มันสงบเย็น มันเป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่มีรสชาติที่ท่านบอกว่ามันเอมโอช เป็นรสชาติที่สุขเกษมอย่างเปรียบเทียบกับรสชาติอื่นไม่ได้เลย ก็ลองดู ปลุกเร้าใจให้เพลิดเพลิน แล้วก็จดจำรสชาติอย่างนั้นไว้ เพื่อจะเป็นสื่อต่อไป ให้เกิดรสชาติเช่นนี้มาก ๆ และก็บ่อย ๆ ปลุกเร้าใจตนเองให้เพลิดเพลินสนุกสนานที่จะเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง ก้าวหน้าไปเรื่อย มุ่งหน้าเรียนรู้เรื่อย จะเหน็ดเหนื่อย จะถลอกปอกเปิก จะรู้สึกเบื่อหน่ายบ้างในบางครั้ง ก็รู้ว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนี้เอง ธรรมดาของการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ สิ่งใดที่มีคุณค่าสูงสุด มีคุณค่าอันประเสริฐ จะเอาให้ได้ง่าย ๆ ได้อย่างไรใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าอะไรที่ได้มาง่าย ๆ คว้ามาง่าย ๆ สิ่งนั้นมันก็ไม่มีคุณค่านาน เพราะสิ่งใดที่ประเสริฐมันก็ต้องลงทุนมากหน่อย ลงทุนความพากเพียรพยายามให้มากหน่อย ก็เรียนรู้ไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงความสิ้นสงสัย ไปตามลำดับ ๆ ของการปฏิบัติ เพราะพอปฏิบัติแล้วได้สัมผัส ความสงสัยที่เคยมีก็จะค่อยลดลง จากนั้นเมื่อเรียนรู้สิ่งใดแล้วต้องนำมาฝึกทดลองปฏิบัติทันที อย่าทอดทิ้งเอาไว้ อย่าคิดว่าอันนี้เรียนรู้แล้วเก็บเอาไว้ก่อน แล้วก็จะเรียนรู้ต่อไปอีก แล้วก็เก็บเอาไว้ก่อน ให้หมดสต๊อกของการเรียนรู้แล้วถึงจะมาเริ่มปฏิบัติ บางทีมันจะเบื่อหน่ายเสียก่อน แล้วมันจะยังไม่เห็นจริง มันก็จะไม่เกิดกำลังใจจริง ๆ ที่อยากจะทำอย่างนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นพอเรียนรู้สิ่งใด ไม่ว่ามาก ไม่ว่าน้อย ทดลองปฏิบัติทันที เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะตรัสเสมอว่า สิ่งใดที่พระองค์ทรงสอน พระองค์ไม่เคยขอให้เชื่อ ไม่ว่าใครทั้งนั้น แต่ขอให้ฟังให้เข้าใจ แล้วก็นำไปทดลองฝึกปฏิบัติ เมื่อฝึกปฏิบัติแล้วรู้สึกอย่างไรนั่นแหละจึงค่อยเชื่อ ถ้ารู้สึกว่า เออ จริงอย่างที่ได้ยินได้ฟัง ผลมันออกมาจริงอย่างนี้ จึงค่อยเชื่อ เพราะประจักษ์ใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่ไปเชื่อตามผู้อื่นบอก อย่างที่พระองค์ทรงพูดเอาไว้ในหลักของกาลามสูตร ที่ชาวกาลามะกราบทูลถาม จะเชื่อครูบาอาจารย์คนไหนดี มีครูบาอาจารย์ผ่านมาตำบลนี้เยอะเหลือเกิน ท่านผู้นั้นมาก็สอนอย่างนี้ ท่านผู้นี้มาก็สอนอย่างนั้น แตกต่างกันไป แล้วจะเชื่อคนไหนดี พระองค์ก็ไม่ตรัสว่าควรจะเชื่อผู้นั้น ควรจะเชื่อผู้นี้ นี่ให้สังเกตนะคะ
วิธีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะไม่บอกว่า นั่นดี นี่ดี นั่นถูก นี่ผิด ไม่ ไม่ตรัสอย่างนั้นเลย ก็เพราะอะไร เพราะมันไม่มีถูก ไม่มีผิด ใช่ไหมคะ เมื่อผู้ที่ได้ตรัสรู้จนถึงที่สุดแล้ว ก็จะมองเห็นว่าทุกอย่างมันเป็นธรรมดาอย่างนี้ มันเกิดแล้วมันก็ดับ มันไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด ความถูกตรงนี้มันก็เปลี่ยนแปลงได้ ความผิดตรงนี้มันก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงจะตรัสให้เกิดปัญญาแก่ผู้ฟังหรือแก่ผู้ทูลถาม และคิดเอาเอง พิจารณาเอาเอง จนกระทั่งเห็นจริง จึงตรัสว่าก็อย่าเชื่อ คือจะทรงให้หลักนะคะ ให้หลักไว้เป็นทางดำเนินหรือพิจารณา ไม่ต้องไปเชื่อตามที่เขาพูดกัน เขาเล่าลือกัน หรือว่าไปเชื่อตามตำราที่เขาเขียนไว้ หรือเขาบอกกล่าวเอามา ไม่ต้องเชื่อ แม้แต่ผู้พูดเป็นครูของท่าน ก็ไม่ต้องเชื่อ พูดง่าย ๆ ก็แม้แต่พระองค์ตรัส พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่เชื่อ ไม่ต้องเชื่อ ว่าพระองค์พูดอย่างนี้แล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ ขอให้ลองไปทดลองปฏิบัติก่อน แล้วจึงเชื่อ เหมือนอย่างที่ท่านพระสารีบุตรท่านกราบทูล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า สารีบุตรเธอเชื่อหรือไม่ที่พระองค์ทรงสอน ท่านพระสารีบุตรก็เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ทราบแล้วใช่ไหมคะ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสชมอยู่เสมอ ว่าท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นผู้ที่มีปัญญามาก และท่านทรงยกย่องถึงขนาดว่าเทียบเคียงท่าน ท่านจะแสดงธรรมเรื่องอะไร หรือสารีบุตรจะแสดงธรรมเรื่องอะไร เหมือนกัน ท่านแสดงธรรมอย่างนี้ สารีบุตรพูดอย่างนี้ เราก็จะพูดอย่างนี้เหมือนกัน เมื่อมีคนมาทูลถามท่าน แต่เมื่อท่านตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า สารีบุตรเชื่อไหมที่เราสอนไป ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า ยังไม่เชื่อพระเจ้าข้า ที่ยังไม่เชื่อนี่ ไม่ใช่ว่าไปสบประมาทพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูบาอาจารย์ แต่เชื่อเมื่อได้นำมาฝึกทดลองปฏิบัติแล้ว และก็เห็นจริงตามที่พระองค์ทรงสอน จึงเชื่อ นี่คือวิสัยของผู้มีปัญญา แล้วก็ผู้ปฏิบัติที่ต้องการความกระจ่างแจ้งด้วยตนเอง เรียกว่าเป็นบัณฑิต เป็นวิธีของบัณฑิต ต้องสอบสวน ทบทวนด้วยตัวเอง ด้วยปัญญาที่ได้เพิ่มพูนขึ้นมาตามลำดับ พระพุทธเจ้าก็ทรงชมว่าถูกแล้ว ที่ท่านสารีบุตรได้กราบทูลตอบอย่างนี้ ถูกแล้ว ที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนรู้สิ่งใดแล้วต้องนำมาฝึกทดลองปฏิบัติทันที นี่จึงเรียกว่าดำเนินตามท่านอาจารย์ ดำเนินตามรอยเท้าของท่านผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย หรือท่านผู้เป็นนักปราชญ์ทั้งหลาย พระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาลก็ได้ทรงกระทำอย่างนี้นะคะ ทำไมล่ะจึงแนะนำว่าควรจะต้องนำมาฝึกทดลองปฏิบัติ ก็เพื่อเป็นประจักษ์พยานแก่ตนเอง ไม่ต้องเอาคนอื่นมาเป็นพยาน เอาคนอื่นมาเป็นพยาน บางทีมันก็ไม่แน่นะคะ มันอาจจะจริงก็ได้ มันอาจจะเท็จก็ได้ แต่ถ้าได้ฝึกทดลองด้วยตัวเองก็จะรู้ประจักษ์ด้วยตัวเอง และก็สามารถที่จะพูด อธิบาย ชี้แจงให้แก่ผู้อื่นฟังได้ เข้าใจได้อย่างถ่องแท้
นอกจากนั้นในขณะที่ฝึกอบรมตนเองไปนี้ สิ่งที่อยากจะขอฝากไว้ก็คือว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์นั้นจะต้องรู้จักรักษาเกียรติศักดิ์ของการเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ต้องรักษาเกียรติศักดิ์นะคะ อย่าไปรู้สึกว่า โอ๊ย ประพฤติพรหมจรรย์นี้ไม่เป็นไรหรอก เราจะทำอะไรพลาด ๆ ไปบ้าง หรือสนุก ๆ ไปบ้าง เพลิน ๆ ไปบ้างก็ได้ ขอตอบว่าไม่ได้ ถ้าหากว่าไปทำอะไรสนุก ๆ บ้าง เพลิน ๆ ไปบ้าง ตามอารมณ์หรือตามใจของตัว นั่นคือประมาทแล้ว แล้วก็เริ่มเปิดหนทางแห่งความเป็นผู้หละหลวมให้เกิดขึ้น เป็นผู้หละหลวม และก็เป็นผู้ย่อหย่อน แล้วก็จะทำอะไรที่ไม่จริงจัง ไม่ช้าไม่นานก็ออกไปนอกหนทางของความเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่รู้ตัว เรียกว่าพาตัวเองไปตกเหวโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นต้องรักษาเกียรติศักดิ์ของการเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์
รักษาเกียรติศักดิ์อย่างไร ก็คือไม่กระทำการอันใดที่จะเป็นที่ติฉินนินทา หรือเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลผู้อื่นได้ ถ้าหากว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ผู้ใดได้กระทำหรือประพฤติปฏิบัติอันใดที่เป็นที่ติฉินนินทา หรือให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เอาไปถกเถียงกันได้ นั่นแหละเรียกว่าเปิดช่องโหว่แล้ว เปิดช่องโหว่ให้ผู้อื่นมองชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์เหมือนอย่างกับว่าไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบาก ไม่ใช่สิ่งที่ประพฤติได้อย่างลำเค็ญ อย่างต้องอดทน อย่างต้องใช้ความพากเพียรอย่างสูงสุด จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกอย่างนั้น และตัวเองนั่นแหละในไม่ช้าก็จะมีความรู้สึกว่าเกิดความรังเกียจ เพราะไม่สามารถจะเคารพตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ ในฐานะที่เราอุตส่าห์เป็นผู้สละทุกอย่าง เป็นผู้ที่มีชีวิตเดี่ยว เป็นผู้ที่ไม่มีจริง ๆ ไม่มีอะไรเป็นสมบัติเลย อยู่เหนือความเป็นสมมติทุกอย่างทุกประการ ตอนที่ออกมาจากบ้านก็เด็ดเดี่ยวเด็ดขาดขนาดนั้น แต่เสร็จแล้วความพากเพียรมันเกิดย่อหย่อนออกไป มันก็เลยไม่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้นต้องหมั่นทำ ปลุกเร้าใจตนเอง ให้กำลังใจตัวเอง ที่จะเดินต่อไปอย่างเข้มงวดกวดขันให้จงได้
นึกถึง พอรู้สึกว่าจะหมดกำลังใจก็ขอให้นึกถึงท่านพระนางมหาปชาบดีโคตมี ที่ท่านเป็นพระภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา ใครที่ได้เคยอ่านประวัติของท่านก็จะทราบได้ว่า กว่าท่านจะได้รับประทานพระอนุญาตให้เป็นพระภิกษุณีได้นี้ลำบากยากเข็ญแค่ไหน ก็ทราบแล้วใช่ไหมคะว่าท่านเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง เป็นพระบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่าท่านเป็นผู้หญิงชาววัง และไม่ใช่ชาววังธรรมดาด้วย เป็นผู้หญิงชาววังอย่างชนิดที่เป็นราชินี เป็นพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ เป็นพระราชินีที่เป็นผู้เป็นใหญ่ในบรรดาผู้หญิงทั้งหลายที่อยู่ในวัง เคยมีอำนาจ เคยบังคับบัญชาผู้คนมากมาย นอกจากนั้นชีวิตในส่วนพระองค์ของพระนางเองก็ทรงมีแต่ความสุขสบายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคหรืออุปโภค ไม่เคยมีอะไรที่ต้องลำบากตรากตรำเลย เรียกว่าพระบาทของท่านนี้ไม่เคยแตะดินก็ว่าได้ แล้วคงจะอ่อนนุ่มไปหมดนะคะ พอมากระทบของแข็งเข้าก็คงจะเจ็บระบมอย่างบอกไม่ถูกเลย
แต่เมื่อพระนางมหาปชาบดีตัดสินพระทัยว่าจะทรงประพฤติพรหมจรรย์ หลังจากที่พระเจ้าสุทโธทนะได้เสด็จสวรรคตแล้ว เรียกว่าเสด็จสวรรคตอย่างปรินิพพาน เป็นพระอรหันต์พระองค์หนึ่ง คือเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นกษัตริย์ด้วยและก็เป็นพระอรหันต์ด้วย พระนางมหาปชาบดีก็รู้สึกว่าตอนนี้หมดภาระที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อก่อนนี้มีพระเจ้าสุทโธทนะยังอยู่ก็ต้องทรงคอยดูแลรับใช้ แต่บัดนี้เมื่อท่านเสด็จสวรรคตไปก็เป็นอิสระ มีผู้อื่นเป็นกษัตริย์ที่จะปกครองต่อไป ก็จึงตัดสินพระทัยที่จะออกมาประพฤติพรหมจรรย์ ก็ได้กราบทูลขอประทานอนุญาตจากพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา ขอประทานกราบทูลเมื่อไหร่ก็จะได้รับคำตรัสตอบว่า เธออย่าสนใจเลย เธออย่ามาเห็นดีเห็นชอบกับการเป็นภิกษุณีหรือการประพฤติพรหมจรรย์เลย คือคล้าย ๆ ว่าเป็นผู้หญิงนี้อย่าได้สนใจในสิ่งเหล่านี้เลย ก็ไม่ทรงห้ามนะคะว่าไม่ให้เป็น ไม่ได้ตรัสอย่างนั้น แต่บอกว่าอย่าเลย อย่าสนใจเลย ถึง ๓ ครั้ง ทั้ง ๆ ที่พระนางนั้นได้เป็นพระเจ้าน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะหรือของพระพุทธเจ้า ได้ทรงเลี้ยงพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่อพระมารดาได้สิ้นพระชนม์ไปเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง ๗ วัน ก็เรียกว่าถ้าจะพูดในทางโลกก็เป็นผู้ที่มีบุญคุณอย่างใหญ่หลวงแหละนะคะ เพราะเท่ากับทำหน้าที่เป็นมารดาเป็นแม่มาโดยตลอด และก็ยังเป็นพระญาติผู้ใหญ่ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมาตลอดอีกด้วย แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังตรัสอย่างนั้นนะ อย่าเลย อย่าสนใจเลยในการที่จะเป็น พระนางมหาปชาบดีก็แน่นอนล่ะ เสียพระทัย เศร้าโศกสุดที่จะพรรณนาได้ จนในที่สุดพระนางก็ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดว่าต้องใช้วิธีนี้ นั่นก็คือตกลงว่าจะเดินทางไปล่ะ ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูเหมือนจะเสด็จไปอยู่ที่ไพศาลีที่แคว้นวัชชี แล้วก็พระนางก็อยู่กรุงกบิลพัสดุ์นะคะ ก็ตัดสินพระทัยว่าจะต้องไปกราบทูลขออนุญาตให้จงได้ ก็ปลงพระเกศา พูดง่าย ๆ ก็คือปลงผม แล้วก็เปลี่ยนเครื่องทรงอย่างพระนางที่เรียกว่ามีราคาแพง สวยงาม หรูหรา เป็นผ้าทรงอย่างหยาบ ๆ แล้วก็ไม่สวมรองพระบาท คือไม่สวมรองเท้า เดินเท้าเปล่า พร้อมกับบรรดาสตรีที่เป็นลูกหลานบ้าง แล้วก็เป็นสนมกำนัลบ้าง อีกจำนวนมากทีเดียว ที่เต็มใจที่จะออกประพฤติพรหมจรรย์ตามเสด็จพระนางมหาปชาบดี ก็เดินกันไปเป็นขบวน เดินไปตามทางเป็นระยะทาง ไม่ได้มีรถรามารับไปนะคะ ไม่มีรถที่จะมาพาไป ไม่มีผู้คนที่จะพาไป พากันเดินไปเอง นึกดูสิว่าเด็ดเดี่ยวแค่ไหน ทรงอดทนเสียสละเพียงใด เรียกว่าเสียสละในเรื่องของความทุกข์ยาก ในทางพระวรกายไม่ต้องพูดถึงแล้วล่ะ เหน็ดเหนื่อยลำบาก เท้าที่บางที่ไม่เคยถูกต้องไม่เคยแตะดิน แล้วก็ไม่เคยแตะพื้นดินที่เป็นกรวดเป็นทราย บัดนี้ก็แตกระบม น้ำเหลืองไหล ก็ไม่ทรงยอมแพ้ เรียกว่าเครื่องทรงที่ทรงไปก็เต็มไปด้วยเหงื่อไคลไหลย้อย หมักหมม เหม็น ซึ่งไม่เคยทรงอย่างนี้เลย ไม่ย่อท้อ สิ่งเหล่านี้ข้างนอกไม่สำคัญ จะเจ็บ จะป่วย จะทนทรมานอย่างไร กัดฟันดำเนินต่อไป จนผลที่สุดก็ไปถึงที่พระพุทธเจ้าประทับ ไปถึงก็ยังไม่กล้าที่จะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยตรง ก็ไปยืน เรียกว่าไปยืนเกาะประตูอยู่ข้างนอก แล้วก็ทรงกันแสง คงจะกันแสงด้วยความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บปวดระบมต่าง ๆ ที่ได้เดินทางมาเป็นระยะทางไกลเหลือเกิน นั่นอย่างหนึ่ง และก็คงจะด้วยความไม่แน่พระทัยว่า อุตส่าห์ลำบากลำบนทนทรมานมาถึงอย่างนี้แล้วจะได้รับการต้อนรับอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงประทานอนุญาตหรือไม่ ด้วยความก้ำกึ่งอยู่ในพระทัย ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ทรงยืนกันแสงอยู่ตรงนั้น
ก็พอดีพระอานนท์เดินผ่านมา พระอานนท์ซึ่งเป็นพระพุทธอุปัฏฐากก็ตรงเข้าไปทูลถามว่า เสด็จมาเพื่ออะไร เป็นอย่างไร ก็ถามทุกข์สุขน่ะ เพราะพระอานนท์ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตา แล้วก็อ่อนโยน แล้วก็ขี้สงสาร ขี้เห็นใจผู้อื่น เมื่อพระนางมหาปชาบดีเล่าให้ฟัง ว่าเพราะเหตุนี้ ๆ จึงได้เสด็จมาถึงตรงนี้ พระอานนท์ก็รู้สึกมีความเห็นใจเป็นที่สุดเลย ด้วยความสงสาร ด้วยความซาบซึ้งในความพากเพียรพยายาม ก็บอกว่าขออนุญาตไปกราบทูลพระพุทธเจ้าก่อน แล้วพระองค์ตรัสอย่างไรก็จะกลับมาบอก พระอานนท์ก็กลับไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ ว่าพระนางมหาปชาบดีพร้อมกับพระญาติฝ่ายหญิง แล้วก็ยังมีนางกำนัลทั้งหลายที่ได้ติดตามมาอีกเป็นจำนวนมาก แล้วก็แสดงองค์อย่างชนิดเป็นผู้เสียสละ ตั้งแต่เริ่มปลงพระเกศา แล้วก็สวมเครื่องทรงอย่างเป็นผู้ที่เรียกว่าไม่เห็นแก่ความสวยงาม มีแต่เพียงว่าเป็นเครื่องทรงที่หมดจด เรียบ ๆ ง่าย ๆ เท่านั้นเอง พร้อมที่จะขอบวชเป็นภิกษุณี พระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างเดิมอีก คือไม่ประทานอนุญาต จนพระอานนท์ก็หาอุบายกราบทูลถามว่า แล้วถ้าผู้หญิงปฏิบัติธรรมจะสามารถบรรลุอรหัตผลได้ไหม พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ ทำไมจะไม่ได้ เพราะผู้หญิงก็สามารถจะเป็นบัณฑิตได้เท่า ๆ กับผู้ชาย ถ้ารู้จักที่จะใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยเหตุผล ที่ท่านเรียกว่า “วิจักขณญาณ” ก็สามารถจะบรรลุได้ ท่านพระอานนท์ก็เลยใช้จุดนี้ ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ก็ถ้าเช่นนั้นแล้วทำไมพระองค์ไม่ตรัสอนุญาตให้ ประทานอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีได้บวชเป็นภิกษุณี พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสประทาน “ครุธรรม ๘ ประการ” ให้กับพระอานนท์ไปบอกว่า ถ้าหากว่าต้องการจะบวชเป็นภิกษุณีล่ะก็ จะต้องปฏิบัติตามครุธรรม ๘ ประการ คำว่า คุรุ ก็คงทราบอยู่แล้วว่า หนัก ใช่ไหมคะ ไม่ใช่ของง่าย ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ภิกษุบวชใหม่วันนี้ แต่ภิกษุณีที่จะบวชมาแล้วกี่ปีก็ตามจะต้องกราบไหว้ภิกษุ และภิกษุณีจะต้องไปขอธรรมะจากภิกษุอยู่เป็นประจำ อย่างนี้เป็นต้น คือเพื่อจะแสดงว่าจะทำได้ไหมนี่ เพราะการที่เป็นพระนางเป็นพระมหาราชินีมา ก็ย่อมจะมีเกียรติศักดิ์ ถ้าจะพูดอย่างธรรมดาก็บอกอัตตาตัวตนนี่ต้องใหญ่ แต่บัดนี้จะลดละอ่อนน้อมลงไปกราบไหว้ภิกษุที่เพิ่งบวชในวันเดียวได้ไหม และมีอื่น ๆ อีกนะคะ แต่นี่ยกตัวอย่างว่า ท่านตรัสให้เห็นว่าต้องลดละตัวตนถึงขนาดนี้ พอพระอานนท์กลับมาบอกเล่าว่าพระพุทธเจ้าก็ประทานอนุญาต แต่ให้ “ครุธรรม ๘ ประการ” มา แล้วก็ว่าให้ฟังทั้ง ๘ ข้อ แล้วก็บอกว่าจะรับได้ไหม ถ้ารับครุธรรม ๘ ประการได้ ก็จะอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี ไม่มีอะไรเป็นข้อแม้นะคะ พระนางมหาปชาบดีก็ทรงดีพระทัยอย่างที่สุดเลย แค่นี้ก็วิเศษเหลือเกินแล้ว เพราะฉะนั้นทรงรับทันที เมื่อรับทันทีก็ถือว่านี่เป็นการได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงจัดที่อยู่ที่ประทับให้ผู้ที่จะเป็นภิกษุณีต่อไป ได้อยู่อย่างสมควร แล้วก็ปลอดภัย
นี่พอเราจะหมดกำลังใจนะคะ หมดกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติชีวิตพรหมจรรย์ ก็ขอให้รำลึกถึงความยากลำบากแสนเข็ญ ต้องบอกว่าแสนสาหัสทีเดียวของพระนางมหาปชาบดี ว่าพระองค์ทรงทรมานพระวรกายด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพื่อที่จะไปกราบทูลขอให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานั้น ลำบากยากเข็ญเพียงใด สำหรับของเรานี่สถานที่มีพร้อมอยู่แล้ว อุปโภคบริโภคจัดให้พร้อมทุกอย่าง เพียงแต่พาตัวเข้ามาอยู่เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วก็ไม่ต้องไปเดินเท้าเปล่าในระยะทางไกลกว่าจะมาถึง มีรถมีรามาส่งจนถึงที่ และเพียงแค่นี้ยังจะทำต่อไปไม่ไหวแล้วหรือ ไม่มีแรงแล้วหรือ ไม่มีความอดทนอดกลั้นแล้วหรือ ความพากเพียรพยายามอย่างที่มนุษย์เขามีกันมันหายไปไหนหมด ว่าง่าย ๆ ก็ต้องประณามตัวเอง ว่าตัวเอง จะด่าว่าไปอย่างไรก็ทำไปเถอะ แล้วก็ดูสิ ไปหาหนังสืออ่านเกี่ยวกับพระนางมหาปชาบดีที่มีผู้เล่าถึงท่าน เท่าที่เคยอ่านมานี้ ก็อยากจะบอกว่าฉบับที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เขียนเกี่ยวกับชีวิตของท่านพระนางมหาปชาบดี ตอนที่เสด็จไปเพื่อที่จะไปขอประทานอนุญาตเพื่อบวชเป็นภิกษุณี หนังสือเล่มนั้นท่านอาจารย์สุชีพพรรณนาไว้น่าอ่านมากเลย ชื่อว่า “นันทปชาบดี” นันทะก็คือพระโอรส เป็นชื่อพระโอรสของพระนางมหาปชาบดี ก็เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ได้พรรณนาเอาไว้อย่างน่าเห็นใจเลย ใครอ่านแล้วน้ำตาจะไม่ไหลนี้หายากเต็มที เพราะได้พรรณนาถึงความศรัทธาที่พระนางมีต่อการประพฤติพรหมจรรย์ และก็ได้พรรณนาถึงความยากลำบากประการต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ฉะนั้นลองไปหาอ่านนะคะ ลองหาอ่านหนังสือเล่มนี้เรื่องนี้ พออ่านแล้วจะเกิดกำลังใจ กำลังใจที่กำลังจะหมด จะท้อถอย ไม่เหลือหลอแล้ว เชื่อว่าจะกลับคืนมา เมื่อเราได้เห็นตัวอย่างของผู้ที่ได้เสียสละ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้หญิงได้ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปข้างหน้า เรียกว่าวางเอาไว้เป็นตัวแบบ
ฉะนั้นการรักษาเกียรติศักดิ์ของการเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้ ต้องพยายามทำ และก็พยายามทำให้ได้ หาโอกาสที่จะแนะนำตัวเอง กระตุ้นตัวเอง สั่งสอนอบรมตัวเอง จนเกิดมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป แล้วก็เดินหน้าต่อไป ให้เกิดจนกระทั่งเป็นผู้ที่สามารถที่จะเคารพตัวเองได้ แล้วก็ควรแก่การเคารพกราบไหว้ของผู้อื่นด้วย ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าผู้อื่นมาเคารพกราบไหว้ แล้วเรารู้สึกว่าเราสามารถจะรับการเคารพกราบไหว้ของผู้อื่นได้อย่างสนิทใจ ไม่รู้สึกกระดากอายตัวเอง ว่าฉันยังไม่ได้ประพฤติอะไรที่ควรแก่การกราบไหว้เลย อย่างนี้ก็เรียกว่าเราพอใจในตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้และก็เคารพตัวเองได้ ขอให้ระมัดระวังให้จงหนักนะคะ อย่าให้ความรู้สึกรังเกียจตัวเองเกิดขึ้น ถ้าความรู้สึกรังเกียจตัวเองเกิดขึ้นนี่เป็นผลลบอย่างยิ่งเลย เพราะนั่นจะนำไปสู่การดูถูกตัวเองว่า โอ้ เรานี่ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเป็นคนที่ไม่มีค่าเลย ไม่มีความหมาย ทำอะไรก็ทำไม่ได้ เหลาะแหละ ไม่สามารถจะต่อสู้ไปถึงจุดหมายปลายทาง อย่าให้เกิดความรู้สึกรังเกียจตัวเอง มีแต่ควรจะปลุกเร้าตัวเองให้มีกำลังใจที่จะเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ จนเคารพตัวเองได้ ภูมิใจตัวเองได้ เหน็ดเหนื่อยทรมานลำบากก็ฟันฝ่าต่อไป จนถึงที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หลงตัวเองนะคะ ระวัง การที่จะเคารพตัวเองนี่ ไม่ใช่หลงตัวเอง เคารพตัวเองเพราะแน่ใจว่าตนเองได้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้นจึงสามารถที่จะเคารพตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างสนิทใจ ไม่ต้องรู้สึกละอายใจเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ไม่ใช่หลงตัวเอง ถ้าหลงตัวเองก็คงรู้แหละนะคะ ว่าเราไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้นจริง เราไม่ได้เป็นอะไรอย่างนั้นจริง แต่ว่าเราคิดเอาเองว่าเราทำได้ คิดเอาเองว่าเราเป็นได้ แต่จริง ๆ เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ไปโอ่กันอย่างนั้น โอ่อวดกันอย่างนั้น อย่างนี้ระวังอีกอย่างหนึ่ง อย่าให้เกิดขึ้น อย่าให้เป็น เพราะถ้าเป็นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว จะหลงทางอีกเหมือนกัน แล้วพอหลงทางอันนี้ก็ แหม อันตราย เดี๋ยวหลงไปแล้วกู่ไม่กลับจะลำบากมาก เพราะฉะนั้นระหว่างตรงจุดนี้ เหมือนกับเป็นทางสองแพร่ง ให้อยู่ในจุดที่ถูกต้อง ที่เป็นความเคารพตัวเองได้ อย่างถูกต้อง อย่างจริงจัง ฉะนั้นสามารถไหว้ตัวเองได้ทุกขณะ ก็เชื่อว่าจะเป็นโอกาสแหละค่ะ เป็นโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวอยู่ในชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์
ทีนี้ก็หันมาดูว่า อุปกรณ์เครื่องมือในการที่จะฝึกตนเอง อบรมตัวเอง หรือพัฒนาตนเองนี้ เราควรจะใช้อะไรบ้าง ก็แน่นอนที่สุด ธรรมะข้อแรกที่ควรจะนำมาใช้ หรือธรรมะเรื่องแรกก็คือ “อิทธิบาท ๔” ซึ่งท่านบอกว่าเป็นบาทฐานของความสำเร็จทุกอย่างทุกชนิด ทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าหากว่าใครต้องการจะกระทำหรือประกอบการงานสิ่งใด ไม่ว่างานในทางโลกหรืองานในทางธรรมก็ตาม ถ้าขาดอิทธิบาท ๔ แล้ว มันจะหักกลางคัน มันไม่ถึงที่สุดได้ เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาเรื่องของอิทธิบาท ๔ ให้เข้าใจอย่างชัดเจน ที่จริงเราได้พูดมาแล้วครั้งหนึ่งนะคะ ในเรื่องของอิทธิบาท ๔ นี้ แต่ก็ขอพูดซ้ำอีกนิดหน่อยว่า
ข้อแรกที่สุดที่ท่านบอกว่า “ฉันทะ” นี้ อย่าไปประมาทว่าฉันทะ ความพอใจ มันของง่าย ๆ แต่ความหมายของมันลึกซึ้งมาก ลองนึกถึงตัวเราเองเถอะค่ะ ตั้งแต่เราเล็ก ๆ เด็ก ๆ มา พอเราเกิดฉันทะคือความชอบความพอใจในสิ่งใด และสิ่งนั้น ความฉันทะในสิ่งนั้น มันได้เคยเป็นกำลังใจกระตุ้นให้เราเดินต่อไป แล้วกระทำต่อไป จนกระทั่งสำเร็จในสิ่งนั้นหรือเปล่า ใช่ไหม แต่ถ้าหากเรารู้สึกจะถูกใจ จะเห็นดีเห็นงามในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ฉันทะคือความพอใจ ความรักในสิ่งนั้น มันเป็นเพียงผิว ๆ มันไม่ลงไปลึกซึ้ง มันไม่เข้าถึงจิตใจ มันก็จะไม่มีกำลังใจที่จะทำจนถึงที่สุด ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเรื่องของฉันทะนี้สำคัญมาก จึงต้องปลุกใจของตนให้มีความรักในชีวิตพรหมจรรย์ นั่นก็คือศึกษาชีวิต ตั้งแต่ชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ลองไปอ่านพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หรือจะเริ่มต้นจากเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าก็ได้ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุท่านเขียนเรื่องง่าย ๆ เป็นตอนที่กล่าวถึงเจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยที่จะเสด็จออกจากวัง หันหลังออกจากชีวิตทางโลกเพื่อก้าวไปสู่ชีวิตทางธรรม จะเสด็จออกสู่ป่า ในตอนนั้นเมื่ออ่านคำบรรยายแล้วก็รู้สึกจับใจเหมือนกัน ว่าเป็นการตัดสินที่ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องบอกว่าด้วยน้ำตา แต่พระองค์เป็นบุรุษอาชาไนยก็ไม่ได้มีน้ำตาให้เห็น แต่ในพระทัยของพระองค์นี่ก็ต้องถูกยื้อยุดแหละนะคะ ในระหว่างความรัก ความอาลัยอาวรณ์ ต่อพระชายา ต่อพระโอรส แล้วก็ต่อพระราชบิดา และก็ต่อทุกสิ่งที่พระองค์เคยมี แต่กระนั้นด้วยความเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ด้วยความที่ประจักษ์แจ้งแล้วในคุณค่า ในคุณประโยชน์อันมหาศาลของชีวิตพรหมจรรย์ ว่าจะสามารถนำประโยชน์มาสู่เพื่อนมนุษย์ในโลกนี้ได้มากกว่า ก็ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดดำเนินออกไปไม่เหลียวหลัง นี่เพราะฉันทะ ฉันทะที่มีในชีวิตพรหมจรรย์ ฉะนั้นก็ขอให้เรามีฉันทะในชีวิตพรหมจรรย์
การที่ทุกคนเข้ามาในโครงการฝึกอบรมตน เพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม เชื่อว่าเข้ามาด้วยความรักใช่ไหมคะ เข้ามาด้วยความพอใจ เข้ามาด้วยความเห็นคุณค่า ไม่มีใครผลักให้มา เพราะว่าเรื่องอย่างนี้ไม่มีใครผลักให้ใครเข้ามาได้เลย และบางทีอาจจะถูกคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านหรือญาติสนิทมิตรสหายท้วงติงด้วยซ้ำไป ว่าเธอจะเข้าไปอยู่ได้อย่างไร ประพฤติพรหมจรรย์ เธอเป็นคนโลก เธอมีหน้าที่การงาน มีชื่อเสียงเกียรติยศ เธอจะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร ใช่ไหมคะ อาจจะถูกทัดทานด้วยซ้ำไป แต่ก็ด้วยจิตที่มีฉันทะในชีวิตพรหมจรรย์ เห็นคุณค่า จึงได้อุตส่าห์เข้ามาใช่ไหม เพราะฉะนั้นรักษาฉันทะอันนี้ไว้ให้ดี ให้สม่ำเสมอ ให้หนักแน่น ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นการเพิ่มพูนกำลังใจของเราที่จะอยู่ประพฤติปฏิบัติในชีวิตพรหมจรรย์ได้อย่างยั่งยืนให้ยิ่งขึ้น ฉันทะมีความสำคัญมากที่สุด ไม่ต้องอธิบายต่อไปหรอกนะคะ ลองพิจารณาใคร่ครวญด้วยตัวเอง
ทีนี้ในฉันทะนี่แล้ว เราก็จะเกิด “วิริยะ” คือความพากเพียร มันจะลำบาก มันจะเหน็ดเหนื่อย การนั่งสมาธิภาวนา การประพฤติตนอย่างเข้มงวด อยู่ในกรอบของความถูกต้องตามธรรมตามวินัย ก็ไม่ใช่ของเคยชิน ก็เป็นของยากสำหรับเราอีกเหมือนกัน เราเคยพูด เคยคุย เคยเล่น เคยสนุกสนาน แบบนี้ต้องอยู่เงียบ ไม่พูดไม่คุยกัน แล้วก็จะฝึกดูแต่จิตของตัวเอง ดูไปก็มองไม่เห็นเลยจิตมันอยู่ที่ไหนอย่างไร มันแสนจะยาก มันเป็นบทเรียนที่ยากยิ่งกว่าเรียนปริญญาเอกทางโลกอีก ถ้าจะว่าไปนะคะ บางคนที่ได้ปริญญาโทปริญญาเอกมาแล้ว แต่พอมาถึงจะเข้าโรงเรียนของพระพุทธเจ้านี่ ไม่ใช่กล้วย ๆ ไม่ใช่ของง่าย ๆ มันยากมันลำบากจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้วิริยะอย่างพิเศษ คือต้องเป็นวิริยะ เป็นความพากเพียรบากบั่น ต้องใช้คำว่าบากบั่น มุ่งหน้าด้วยความอาจหาญ ไม่ท้อถอย ไม่ถอยหลัง และก็เด็ดเดี่ยวที่จะทำให้ได้ มันจะพลั้งพลาดอย่างไร ลุกขึ้นทำต่อไปใหม่ เพราะฉะนั้นวิริยะอันนี้จะต้องเป็นวิริยะที่พิเศษที่จะต้องเข้าไปสู่สัมมาวายามะ ในอริยมรรคมีองค์ ๘ วายามะในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คือเป็นความพากเพียรอย่างถูกต้อง อย่างอุกฤษฏ์ ต้องใช้คำว่าอย่างนี้นะคะ ก็ขอให้ดูตัวเอง ถ้าเราจะเกิดท้อถอยก็ถามตัวเองว่า นี่เราพยายามพากเพียรอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง อย่างสุดความสามารถแล้วหรือยัง อย่างสุดกำลังของเราแล้วหรือยัง ถ้ายัง เอาล่ะกัดฟันต่อไป อย่างไร ๆ มันก็ไม่เกินตาย และก็ไม่เคยมีปรากฏว่าใครตายเพราะประพฤติพรหมจรรย์นะคะ เชื่อเถอะ ไม่มี ไม่มีใครตายเพราะประพฤติพรหมจรรย์ จะตายก็เพราะกิเลสนั่นแหละ เคยได้ยินบ่อย ๆ ฉะนั้นไม่ต้องกลัว นี่เรากำลังจะเดินทางไปสู่ความผ่องใส ไปสู่ความผ่องแผ้ว ไปสู่ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ มันเป็นสิ่งที่น่ายินดี เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่าย ๆ เป็นสิ่งที่ประเสริฐจริง ๆ และการทำอะไรที่มันยากเย็นอย่างนี้ ที่ประเสริฐอย่างนี้ ก็แน่นอนล่ะ เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชานะคะ
ทีนี้ข้อที่ ๓ ก็คือ “จิตตะ” ที่ว่าเอาใจจดจ่อ เพราะฉะนั้นทุกลมหายใจ อย่าไปหายใจเรื่องอื่น หายใจเรื่องชีวิตพรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้น ใคร่ครวญคิดไปด้วย ว่าเราจะหาวิธีประพฤติปฏิบัติอย่างไรนะ ชีวิตพรหมจรรย์ของเราจึงจะงอกงามให้ยิ่งขึ้น ๆ คิดอย่างเดียว ไม่ต้องคิดอย่างอื่น หายใจจิตจดจ่อ ก็อยากจะใช้คำธรรมดาที่ในส่วนตัวพูดแล้วมันมองเห็นภาพ ลืมตาตื่นขึ้นก็หายใจเรื่องนี้ ในระหว่างที่ลืมตาในระหว่างวันก็หายใจในเรื่องนี้ จะนอนก็หลับไปด้วยเรื่องนี้ ถ้าหากว่าเราหายใจอยู่อย่างนี้ จิตไม่ออกนอกทาง ไปอื่นไม่ได้ มีแต่ที่จะเกิดความมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้น อะไรที่เป็นอุปสรรคก็พร้อมจะแก้ไข พร้อมจะสู้ พร้อมจะฟันฝ่า จนกระทั่งชนะ
และข้อสุดท้ายก็คือ “วิมังสา” ก็รู้จักจะคิดใคร่ครวญหาหนทาง เรายังมีอะไรบกพร่องบ้างนะ สอบสวน ตรวจทานดูตัวเอง คือทบทวนดูการประพฤติปฏิบัติของตัวเองที่ได้กระทำมา อะไรที่มันยังบกพร่อง ที่ยังไม่เพียงพอ ยังขาดอยู่ เพิ่มเติมให้หนักแน่น ให้มั่นคง ให้ยิ่งขึ้น อะไรที่ดีอยู่แล้ว สมบูรณ์แล้ว เพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้นอีก จนกระทั่งมันถึงที่สุด สิ้นความสงสัยให้จงได้นะคะ
เพราะฉะนั้นนี่เป็นอิทธิบาท ๔ ที่ท่านบอกว่าเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ เป็นพื้นฐานของความสำเร็จ ไม่ว่าจะทำงานในเรื่องใดทั้งนั้นก็จะมีความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นอุปกรณ์เครื่องมือประการที่สำคัญที่สุด ก็คืออิทธิบาท ๔ นะคะ โปรดจำเอาไว้ จะต้องมีอิทธิบาท ๔ ประจำใจอยู่เสมอทีเดียว ทีนี้เมื่อเกิดอิทธิบาท ๔ ก็มานึกดูสิว่า ที่เราตามรอยเท้าท่านอาจารย์มาแต่ต้นโดยตลอดมา พูดถึงมากันในรายละเอียดก็มากเพียงพอแล้วนะคะ ท่านอาจารย์ท่านเริ่มต้นด้วยอะไร จำได้ใช่ไหมคะ ท่านเริ่มต้นด้วยการใฝ่หาความรู้ เพื่อที่จะให้ท่านเป็นผู้รู้รอบ พร้อมที่จะตอบคำถามต่าง ๆ ได้ และท่านเริ่มด้วยอะไร ทั้งที่ท่านเป็นผู้ที่การศึกษาทางโลกก็ไม่มาก การศึกษาทางธรรมที่ไปเรียนเปรียญกับเขาก็ไม่มาก แต่ทำไมท่านถึงรู้รอบ แล้วก็สามารถที่จะตอบคำถามต่าง ๆ ได้ ทำงานในทางพระศาสนาเอาไว้ทั้งงานพูด งานเขียน เรียกว่าหาประมาณไม่ได้เลย ก็เริ่มด้วยการอ่านใช่ไหมคะ ที่เราได้พูดถึงคุณประโยชน์ของการอ่านมามากแล้วก็จะไม่พูดซ้ำอีก แต่ขอจงเริ่มเป็นนักอ่าน ทีนี้บางคนก็จะบอกว่ามาประพฤติพรหมจรรย์จะมานั่งอ่านอะไรล่ะ มันก็ต้องอ่านเมื่อจำเป็น อ่านเพื่อเพิ่มเติมจากที่ได้ยินได้ฟังมาแล้ว แล้วก็อ่านศึกษาอย่างเจาะจง ไม่ใช่ไปอ่านเรี่ยราดอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ตามไปหมด เราอ่านหนังสือที่จะส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรม เช่น พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อย่างที่เอ่ยถึงเป็นตัวอย่าง พุทธประวัติจากพระโอษฐ์นี้พออ่านแล้วส่งเสริมกำลังใจมากเลย เพิ่มพูนความรัก ความเคารพ ความเทิดทูน ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เต็มอกไปเลย อย่างบอกไม่ถูกเลย พอเราเกิดความรัก ความศรัทธา ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเพียงใด มันก็มีกำลังใจที่อยากจะบุกบั่นพากเพียรต่อไป ให้บรรลุถึงที่สุดของชีวิตพรหมจรรย์ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นนอกจากว่าจะเกิดฉันทะ แล้วก็เกิดความศรัทธาเทิดทูนพระองค์แล้ว ก็ยังจะได้รับความรู้ในวิธีการที่พระองค์ทรงศึกษาแสวงหาการปฏิบัติจนกระทั่งตรัสรู้ แล้วก็จะได้เข้าถึงด้วยความซาบซึ้งในความลำบากตรากตรำของพระองค์ด้วยประการต่าง ๆ ใน ๖ ปีที่เสด็จไปอยู่ในท่ามกลางป่า ไปอยู่กลางดินกินกลางทราย ทั้งที่ได้เคยอยู่ในพระราชวัง พรั่งพร้อมทุกอย่าง แต่ว่าเสด็จไปอยู่กลางดินกินกลางทราย ทรมานพระองค์พระวรกายด้วยประการต่าง ๆ เพื่อค้นหาสัจจธรรม ไม่ใช่ของง่ายเลย ก็จะทำให้เกิดเห็นพระทัย เห็นความเสียสละ ที่ทรงกระทำเช่นนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้อมตธรรมนะคะ เพื่อจะให้เข้าถึงอมตธรรม นำอมตธรรม -ธรรมอันไม่ตายนั้นมาสู่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ให้รู้จักว่ามันมีนะ วิถีที่จะล่วงพ้นจากความทุกข์นี้มันมี ถ้าเดินไปตามทางนี้ เหมือนดั่งที่พระองค์ได้ดำเนินมา แล้วก็ดำเนินมาแล้วประจักษ์แล้ว ก็นำมาบอกกล่าว มาสั่งสอนให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลายได้รู้ เป็นความลำบากเพียงใด เสียสละเพียงใด เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้สึกมีกำลังใจขึ้น โอ้ เรานี่เหมือนกับเป็นผู้ชุบมือเปิบก็ว่าได้นะคะ พระองค์ได้ทรงแสวงหาสิ่งเหล่านี้ สัจจธรรมนี้ มาวางเอาไว้ให้เรา เหมือนเขาจัดสำรับมาวางไว้ให้แล้ว เหลือแต่เพียงว่าจะเปิบรับประทานเท่านั้น แล้วยังไม่ทำอีกหรือ นี่ย้อนถามตัวเอง ยังไม่ทำอีกหรือ โอ้ นี่มันคนอะไรนี่นะ คนอะไรอย่างนี้ มันแย่จริง ๆ มันคบไม่ได้แล้วคนอย่างนี้ ว่าไปเถอะ ด่าว่าไปเถอะ ให้มันเจ็บ เจ็บมาก ๆ มันจะได้รู้สึกเกิดความละอายขึ้นมา
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องสอบสวนทบทวนตัวเองอยู่เรื่อย และก็สร้างสรรค์วิจารณญาณในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะได้วิเคราะห์วิจารณ์ตัวเอง แก้ไขตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นก็ควรที่จะต้องอบรมคุณธรรมที่สำคัญทีเดียวให้เกิดขึ้นในจิต นั่นก็คือ “หิริโอตตัปปะ” ที่ท่านเรียกว่าเป็นเทวธรรม หิริโอตตัปปะนี้สำคัญมากนะคะ ความละอาย แล้วก็ความเกรงกลัวต่อบาป ที่คนเราทำอะไร ๆ เบียดเบียนกันอยู่ทุกวันนี้ แล้วก็เวลาที่มาออกสมาคมหรือว่าออกนอกหน้าในสังคม ก็ดูเรียบร้อย น่ารัก ภูมิฐาน น่าเคารพ แต่เมื่ออยู่ตามลำพังแล้วสามารถจะทำอะไร ๆ ที่คนข้างนอกคาดไม่ถึง เพราะคิดว่าไม่มีใครเห็น แต่ก็ลืมไปล่ะ อย่างน้อยที่สุดตัวเองเห็นก่อนใช่ไหมคะ แต่ไม่อายตัวเอง เพราะฉะนั้นสร้างสมหิริโอตตัปปะ คือความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปที่คนไม่เห็น คือต่อการกระทำที่ประพฤติชั่ว ที่ไม่เหมาะสม ที่เบียดเบียนผู้อื่นให้มาก ๆ และแม้ว่าอันนี้จะเป็นการเบียดเบียนตนเอง ก็ให้มีความละอายให้มาก ๆ เถอะ ถ้าหากว่ามีความละอายมีหิริโอตตัปปะแล้วจะย่อหย่อนไม่ได้ เพราะข้างหน้า แหม ดูเป็นผู้ที่เคร่งขรึม เข้มงวด ประพฤติถูกต้อง ประพฤติดีน่าเคารพ พอคนอื่นไม่เห็นก็อีกอย่างหนึ่งคนละแบบเลย ไม่นึกว่ามีใครเขาจะโผล่หน้าต่างมาแอบดูบ้าง ถ้าเขาแอบเห็นเข้าอย่างนั้นล่ะจะรู้สึกอย่างไร แล้วเราจะรู้สึกละอายไหมเมื่อมีคนเห็น แต่เมื่อไม่มีคนเห็น ตัวเองเห็น ทำไมจึงไม่อาย เพราะฉะนั้นอันนี้นะคะ หมั่นฝึกฝนอบรมเอาไว้ให้มีหิริโอตตัปปะเพิ่มมากขึ้น ๆ แล้วอันนี้เป็นเทวธรรม ก็เรียกว่าเป็นเทวดาน้อย ๆ เป็นนางฟ้าน้อย ๆ เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นก็อย่าคิด กระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลานะคะ ไม่ต้องกลัวเลย
ทีนี้อุปกรณ์อีกอันหนึ่งที่อยากจะขอเสนอแนะ นั่นก็คือหลักการต่าง ๆ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านได้ให้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของหมู่คณะที่สวนโมกขพลาราม ซึ่งก็คงเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่ขอจะพูดซ้ำอีกหน่อย ท่านก็จะบอกหมู่คณะเสมอว่าให้เป็นผู้เรียนมาก เรียนมากก็คือศึกษามาก ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับในเรื่องของทางธรรม คือในเรื่องของปริยัติให้พอตัวทีเดียวที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการปฏิบัติ ถ้าหากว่ามีปริยัติพอตัวจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติอย่างไร นั่นก็คือการปฏิบัตินั้นจะกว้างขวางออกไป จะไม่มีอะไรติดขัด พอจะติดขัดตรงไหนก็นึกถึงหลักธรรมที่ได้เคยรู้เคยเรียน แล้วก็นำมาใช้แก้ไขได้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นท่านก็แนะนำว่าให้เป็นผู้เรียนมาก คือศึกษามาก และจากนั้นก็ทำงานให้มาก คืออย่าทำงานอย่างขี้เกียจ การทำงานให้มากนี้ก็คือทำงานเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่คิดทำงานเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นที่สวนโมกข์จะมีวันกรรมกร คือวันโกนนี้ถือเป็นวันกรรมกร เป็นวันที่พระเณร หรืออุบาสกอุบาสิกาก็ช่วยกันทำงานของวัดที่เป็นงานส่วนกลาง นอกจากนั้นก็มีการอบรมต่าง ๆ ที่สวนโมกข์อยู่เสมอ การอบรมนี้ก็มีทั้งหมู่คณะและก็ทั้งบุคคลเฉพาะตัว งานเหล่านี้ก็ต้องใช้กำลังของพระภิกษุบ้าง ของอุบาสกอุบาสิกาบ้างช่วยกัน เพราะฉะนั้นทำงานมาก ทำงานตลอดเวลา ไม่ได้มีเวลาหยุดเลย ทำงานให้มาก เอาเหงื่อเป็นน้ำมนต์ ท่านบอกว่าอย่างนั้น เอาเหงื่อเป็นน้ำมนต์ ไม่ต้องไปรดน้ำมนต์ที่ไหนหรอก เอาเหงื่อนี่แหละเป็นน้ำมนต์ เพราะฉะนั้นเมื่อเอาเหงื่อเป็นน้ำมนต์แล้ว มันก็มีความสุขนะคะ ว่าสิ่งที่เราทำไปแม้จะเหนื่อย เหงื่อออก เหงื่อไหลไคลย้อย แต่ประโยชน์มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้รับอย่างที่มองเห็นอยู่ เพราะฉะนั้นเรียนมาก ศึกษามาก ทำงานให้มาก แต่กินอยู่ง่าย ๆ ไม่ต้องมาเลือกกินโน่นกินนี่ หมูเห็ดเป็ดไก่ อะไรที่พอเป็นอาหารก็กินได้ และนอกจากนั้นแล้วท่านก็ได้สอนให้เป็นผู้อดทน อดทนอดกลั้น อดทนต่อการทำงานหนัก อดกลั้นต่ออารมณ์ที่มายั่วยุ แล้วก็บริสุทธิ์ คือบริสุทธิ์ในศีลนั่นเอง เป็นผู้บริสุทธิ์ในศีล ถ้าบริสุทธิ์ในศีลแล้วก็มีความสุขในการที่จะทำงานต่อไป อยู่ในชีวิตพรหมจรรย์ต่อไป
นอกจากนั้นท่านก็ยังแนะนำว่าให้ปรารถนาสูงในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ท่านจะมีคำขวัญพูดง่าย ๆ ซึ่งคงเคยได้ยินแล้วที่บอกว่า “เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่มีการกระทำอย่างสูง” อยู่กับดินกับทรายก็ได้ กินอะไรง่าย ๆ ก็ได้ ไม่ต้องเป็นของแพง เป็นของง่าย ๆ เป็นของถูก ๆ แต่มีการกระทำอย่างสูง คือการกระทำที่ไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นอยู่เสมอ ถ้าผู้ใดสามารถประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ได้ตลอดเวลา ก็แน่นอนที่สุดการประพฤติธรรมในส่วนตนก็ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าอีกด้วยเหมือนกัน และจะก้าวหน้าไปได้ไกลด้วย ก้าวหน้าไปสู่ความสว่างไสวของความเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่มีอะไรติดขัด และก็จะมีความสุขที่แท้จริงอยู่ในการประพฤติพรหมจรรย์นี้อย่างไม่ต้องสงสัยนะคะ แล้วก็ไม่ต้องขอร้องต่อใครด้วย
เพราะฉะนั้นนี่เราก็พูดมาถึงว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แล้วก็ได้เรียนรู้ในเรื่องรอยเท้าที่ท่านอาจารย์ได้ฝากรอยเอาไว้ให้ในการฝึกฝนอบรมองค์ท่านเองอย่างไร และเราก็จะนำมาเพื่อเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติแห่งตน จนบรรลุถึงความสิ้นสงสัยไปตามลำดับ และมีความสุขสงบเย็นอยู่ในชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ ธรรมสวัสดีค่ะ