แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้อยากจะขอพูดถึงเรื่องของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่อันที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทั้งหมด แต่อยากจะพูดถึงคำว่านิโรธ แต่เผอิญมันอยู่รวมกันในนี้ แล้วก็มีธรรมะที่เกี่ยวข้องกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เราก็คงจะต้องพูดเกี่ยวพันกันไปด้วย เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องนะคะ หลายคนคงได้ทราบแล้วว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก หรือเรียกว่าเป็นปฐมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ 2 เดือน ก็เสด็จไปเพื่อที่จะไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์นั้นก็เนื่องจากว่า หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ก็ทรงมีความรู้สึกว่าเรื่องของธรรมะขั้นสูงที่พระองค์ตรัสรู้นี้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งยากแก่การที่จะเข้าใจ แล้วก็ทรงเกรงว่าบุคคลทั่วไปอาจจะไม่มีความพากเพียร พยายามพอที่จะศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือในเรื่องของธรรมะที่จัดว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ก็เลยทรงคิดว่า เห็นจะไม่แสดงธรรมดีกว่า พูดง่ายๆ ก็คือไม่สอนดีกว่า เพราะถ้าสอนไปก็คงจะเหนื่อยเปล่า คงจะเสียเวลาเปล่า คงจะไม่สามารถโปรดผู้ใดให้เข้าใจธรรมะได้ ฉะนั้นในตอนแรกก็จึงคิดว่าจะไม่เทศน์ล่ะ จะไม่แสดงธรรม ไม่บรรยายให้ฟัง แต่คงจะด้วยพระมหาเมตตา มหากรุณาที่มีอยู่ในจิตของพระองค์นั่นเอง คงจะเมื่อได้ทรงคิดใคร่ครวญทบทวนไปมาแล้วก็คงทรงเห็นว่า เอาเถอะ ถึงแม้จะรู้ไม่ได้ ศึกษาไม่ได้ทุกคน แต่ก็คงจะมีบางคนที่ท่านบอกว่ามีธุลีในดวงตาน้อย คำว่ามีธุลีในดวงตาน้อย ก็หมายความว่ายังไม่หนาแน่นอยู่ด้วยกิเลสเกินไป คือไม่ถูกกิเลสจับจนหนาแน่น จนแกะไม่ออก คงจะมีอยู่บ้างหรอก พอได้ฟังแล้วก็คงจะพอเข้าใจได้ แล้วก็อาจจะติดตามศึกษาเรียนรู้ แล้วก็นำมาปฏิบัติ จนวันหนึ่งอาจจะมีดวงตาเห็นธรรมได้นะคะ
หลังจากที่พระองค์ได้ทรงคิดใคร่ครวญในลักษณะนี้แล้ว ก็เลยตัดสินพระทัยว่า เอาล่ะ จะแสดงพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้แก่มนุษย์ในโลกได้เรียนรู้ แล้วก็ทรงดำริต่อไปเป็นขั้นที่ 2 ว่าจะทรงแสดงธรรมล่ะ แต่ว่าจะแสดงแก่ใครดี คือเราควรจะเลือกแสดงธรรมแก่บุคคลกลุ่มไหนดีจึงจะสามารถมีความตั้งใจ แล้วก็มีสติปัญญาที่จะเรียนรู้ธรรมนี้ได้ ในครั้งแรกก็คงจะจำได้นะคะ พระองค์ก็รำลึกถึงท่านครู 2 คนของท่าน อุทกดาบส อาฬารดาบส ที่ตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วก็เสด็จออกมาจากพระราชวัง ก็ได้ลองไปศึกษาวิธีการปฏิบัติกับอุทกดาบส แล้วก็อาฬารดาบส แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อได้ศึกษาจนกระทั่งจบ เรียกว่าจบการสอนของท่านอาจารย์ 2 คนนั้นแล้ว พระองค์ก็มีความรู้สึกว่านี่ยังไม่ใช่ทางถึงที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ หรือที่สิ้นสุดแห่งการเรียนรู้ ก็จึงได้เสด็จเข้าป่าแล้วก็ไปแสวงหาธรรม ศึกษาธรรมด้วยพระองค์เอง หลังจาก 6 ปีผ่านไปก็ได้ตรัสรู้ เพราะฉะนั้นพอนึกขึ้นได้ว่า เราควรจะสอนใครก่อนนะ ก็นึกถึงอาจารย์ 2 ท่านนี้นะคะ เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญธรรมมามาก นานพอสมควรทีเดียว มีพื้นฐานที่จะเรียนรู้ได้เร็ว แล้วท่านก็เชื่อว่าถ้าได้เรียนรู้จริงก็คงจะมีโอกาสที่จะได้บรรลุธรรมได้ แต่ก็เผอิญอาจารย์ 2 คนนั้นได้สิ้นชีวิตไปเสียแล้ว ท่านก็นึกว่า เออถ้าอย่างนั้นควรจะเป็นใครล่ะ ก็มานึกถึงปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์นี่ก็คือต้องเรียกว่าเป็นนักบวชนะคะ เป็นนักบวช 5 คน ซึ่งในตอนที่พระองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็ทรงแสวงหาสัจธรรมอยู่ในป่านั้น ปัญจวัคคีย์คือนักบวช 5 คนนี้ก็กำลังแสวงหาทางที่สุด คือหมายความว่าที่จะบรรลุถึงธรรมในตอนที่สุดอยู่ แต่ทีนี้แสวงหาด้วยตนเองก็ยังไม่พบ ก็มาพบว่าท่านเจ้าชายสิทธัตถะนี่กำลังแสวงหาอย่างเข้มงวด แล้วก็ดูท่าทางว่าพระองค์มีสติปัญญาที่คงจะได้ตรัสรู้สักวันหนึ่งหรอก เพราะฉะนั้นในระหว่างนั้นปัญจวัคคีย์คือนักบวช 5 คนนี้ ก็เฝ้าอยู่ดูแลรับใช้เจ้าชายสิทธัตถะอย่างใกล้ชิด แล้วก็ติดตามทุกอิริยาบถ คำว่าทุกอิริยาบถก็หมายความว่าเฝ้าสังเกตวิธีการศึกษาแสวงหาธรรมของพระองค์ท่าน ก็ได้ศึกษามาจนกระทั่งมาถึงตอนที่พระองค์ได้ทรงทรมานพระวรกาย เพราะว่าทรงมีความคิดว่าบางทีการทรมานกายอาจจะเป็นทางช่วยให้ได้ตรัสรู้บ้างละกระมัง เพราะพระองค์เองก็ได้เคยผ่านหนทางของความสุขความสบายด้วยประการต่างๆ ตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในวังใช่ไหมคะ ไม่มีสิ่งใดขาดแคลน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ล้วนแล้วแต่สวยงาม ล้วนแล้วแต่ไพเราะ เอร็ดอร่อย ได้ทรงพบมาหมดทั้งนั้นแล้ว แต่ก็ทรงดำริว่าในความสุขที่เราเรียกกันว่าทางกามนี่ ที่พระองค์ได้พบมาทั้งหมดแล้ว ไม่เห็นทำให้ทรงเกิดสติปัญญาที่จะเฉลียวฉลาดยิ่งขึ้นเลย เรียกว่าไม่ทำให้เกิดการรู้ธรรมะที่ลึกซึ้งสูงขึ้นไปได้อย่างไร
ฉะนั้นจึงได้ลองมาทดลองด้วยการทรมานพระวรกายด้วยประการต่างๆ จนถึงการอดพระกระยาหาร รับประทานทีละน้อย ละน้อย ละน้อย จนถึงทีละคำ แล้วก็ตามพระประวัติบางแห่งก็กล่าวว่าผลที่สุดแล้วแค่เม็ดถั่วเหลือง เม็ดถั่วเขียว ขอโทษ ก็นึกดูเถอะเม็ดถั่วเขียวว่าแค่ไหน เรียกว่าจะเสวยเพียงแค่นั้น เพราะฉะนั้นก็ผอม ทรงผอมจนกระทั่งทรงเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถ้าพูดอย่างคำเราๆ นะคะ หลายคนคงจะได้เคยเห็นพระพุทธรูปที่เรียกได้ว่าปางทรมานพระวรกายแล้วใช่ไหม ซี่โครงนี้นับได้เลยเป็นซี่ๆ เมื่อเวลาที่จะจับท้อง คือหมายความว่าจะแตะท้องก็เรียกว่าไปถูกไปกระดูกสันหลัง ถ้าแตะกระดูกสันหลังมาก็มาถูกท้อง นี่พูดถึงอุปมาให้เห็นว่าทรงผอมแค่ไหน ทรงทรมานพระวรกายอย่างทุกข์ยากลำบากเพียงแค่ไหน ไม่เฉพาะเพียงแค่อดอาหารนะคะ ได้ทรงทรมานพระวรกายด้วยประการต่างๆ เช่น กลั้นลมหายใจ ไม่ยอมหายใจเลย ให้ลมเข้าหู ออกหู จนอื้ออึงไปหมด ต้องไปอ่านเอาเองในรายละเอียดนั้น แต่ในขณะที่พระองค์ทรงทรมานพระวรกายด้วยประการต่างๆ ปัญจวัคคีย์หรือนักบวช 5 คน แหม มีความเลื่อมใส ศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่งเลย แล้วก็คิดว่าเจ้าชายสิทธัตถะนี่จะต้องตรัสรู้แน่นอน เพราะอะไรจึงศรัทธาอย่างมาก ก็เพราะว่าในประเทศอินเดียสมัยโน้น เป็นสมัยที่บรรดาพวกนักบวช หรือผู้คนในอินเดียที่ออกมาแสวงหาธรรมก็มักจะเริ่มต้นแล้วก็ลงท้ายอยู่ด้วยการทรมานกายด้วยประการต่างๆ หรือทำให้กายนี้เจ็บปวดรวดร้าว แล้วก็ลำบากลำบนทนทุกข์ เพื่อคิดว่าการทรมานกายมากๆ นี่ คงจะเป็นทางให้ได้เห็นธรรมะหรือได้ธรรมะ
เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงทรมานพระวรกายด้วยประการต่างๆ ก็คงจะตรงกันกับทิฏฐิของปัญจวัคคีย์ที่คิดว่าเป็นหนทางถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็เลยมีความเลื่อมใสศรัทธา เคารพยกย่อง แล้วก็รับใช้ทุกอย่างอย่างใกล้ชิด แต่เสร็จแล้วเจ้าชายสิทธัตถะก็มีความรู้ ทรงมีความรู้สึกว่าเห็นจะไม่ใช่หนทาง เพราะเหตุว่ายิ่งทรงทรมานพระวรกายเท่าใด ก็ยิ่งเหน็ดเหนื่อย ทรงเหน็ดเหนื่อย ทรงอ่อนล้า อ่อนเปลี้ย เพลียไม่มีแรงเหลือ ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วจะไปตรัสรู้ได้อย่างไร คือหมายความว่าแล้วจะมีกำลังสติปัญญามาพิจารณาคิดค้นธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ทรงรู้สึกว่าหนทางนี้คงจะเป็นทางสุดโต่งเป็นแน่เลย คำว่าสุดโต่งมันก็คือ มันไม่อยู่ในทางสายกลาง ไม่เป็นความพอดี แต่มันเป็นความสุดโต่งอย่างชนิดที่ทำลายมากกว่า เพราะฉะนั้นพระองค์ก็เลยคิดว่าได้เคยทรงมีความสุขมาแล้ว นั่นก็สุดโต่งไปในหนทางความสบาย บัดนี้มาทรงทรมานพระวรกายก็เป็นสุดโต่งในทางที่ลำบาก ทำให้กายของตนเองนั้นมีความลำบาก แต่ทั้ง 2 ทางนี้ไม่เห็นเกิดสติปัญญาอะไรเลย พระองค์ก็เลยคิดว่าควรจะเปลี่ยนดีกว่า ก็ทรงเปลี่ยนหันมาเสวยพระกระยาหารอย่างปกติ ก็มิได้มากมายนะคะ แต่ว่าทรงเสวยพระกระยาหารก็เพื่อให้มีกำลัง มีพละกำลัง ให้สมอง สติปัญญาแจ่มใส แล้วจะได้คิดค้นแสวงหาธรรมต่อไป
พอนักบวช 5 คนหรือปัญจวัคคีย์นี่ เห็นว่าเจ้าชายสิทธัตถะเลิกทรมานพระองค์ ทั้ง 5 คนก็เลยคิดว่า เจ้าชายสิทธัตถะนี่ ไม่มีความพากเพียรพยายาม ความตั้งใจก็ไม่มั่นคง น่ากลัวจะเลิกเสียเป็นแน่แล้ว เลิกการแสวงหาธรรม เพราะฉะนั้นคงจะไม่มีวันได้ตรัสรู้ธรรมะอะไรยิ่งไปกว่านี้ ถ้าเราขืนอยู่ด้วยคอยรับใช้ใกล้ชิด เราก็คงเสียประโยชน์ไปด้วย คงไม่ได้รับอะไร เพราะฉะนั้นทั้ง 5 คนนี่ ก็เลยหนีไป หรือพูดง่ายๆ คือละทิ้งพระองค์ไป แล้วก็เดินทางแสวงหาอะไรของเขาไปตามเรื่อง จนผลที่สุดก็ไปพำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทีนี้เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงคิดว่าจะสอนใครดีนะ อาจารย์ 2 คนนั้นก็สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็เลยทรงคิดว่าปัญจวัคคีย์นี้แหละ เรียกว่านักบวช 5 คนนี่แหละ คงจะมีสติปัญญาที่พอจะรับรู้ศึกษาธรรมะนี้ได้ ก็จึงทรงตั้งใจทีเดียวว่าจะเริ่มแรกด้วยการโปรดปัญจวัคคีย์นี้ก่อน เมื่อทรงทราบว่าปัญจวัคคีย์นี้ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันก็ทรงอุตส่าห์เดินทางไป ไปถึงที่ป่านั้น ปัญจวัคคีย์คือทั้ง 5 คนนี้ พอเห็นเจ้าชายสิทธัตถะดำเนินมา ต่างบอกกันว่าเราเฉยๆ เสียนะ อย่าไปทำท่ารับรองต้อนรับอะไรเลยเชียว น้ำท่าก็ไม่ต้อง ไม่ต้องไปล้างเท้าท่าน ไม่ต้องตั้งอาสนะอะไรให้ท่านนั่ง พูดง่ายๆ ก็คือแสดงความไม่เคารพ เพื่อจะแสดงว่าไม่เชื่อถือแล้วล่ะ เพราะรู้สึกว่าเป็นคนไม่มีความตั้งใจจริง แต่ว่าพอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปใกล้ๆ สัญญิงสัญญาที่บอกกันเองว่าไม่ต้อนรับ ไม่แสดงอาการเคารพนบนอบ ก็เปลี่ยนไปหมดเลย อาจจะเป็นเพราะความเคยชินที่ได้เคยเคารพพระองค์ ได้เคยรับใช้พระองค์นั่นอย่างหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นด้วยพระบารมีของความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นทั้ง 5 คนนี้ต่างก็กุลีกุจอจัดอาสนะให้พระองค์นั่ง มาตักน้ำล้างพระบาท แล้วก็คอยเช็ดพระบาทให้ แล้วก็เชิญ กราบทูลเชิญให้นั่งประทับ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เรียก คือยังเรียกพระองค์เหมือนกับว่าเป็นคนเท่าๆ กัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่าอย่าเรียกอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้ธรรมแล้ว
5 คนนี้ก็ไม่เชื่อ นักบวช 5 คนนี้ก็ไม่เชื่อ ก็บอกว่าเวลาที่ทรมานพระวรกายอย่างสาหัสก็ไม่เห็นท่านรู้อะไร แล้วท่านกลับมาเสวยอาหารเป็นปกติเหมือนอย่างคนทั้งหลาย แล้วท่านจะมารู้ธรรมได้อย่างไร ก็ไม่ยอมเชื่อ ก็คัดค้านโต้แย้ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าตั้งแต่ได้เคยรู้จักกันมา ที่มาอยู่ใกล้ชิดรับใช้พระองค์นี่ เคยมีบ้างไหม เคยมีครั้งใดที่พระองค์ตรัสว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว เคยมีไหม เคยบอกอย่างนี้บ้างไหม นักบวชทั้ง 5 ก็ต่างก็ยอมรับว่าไม่เคย พระองค์ไม่เคยตรัสอย่างนี้เลย แต่เมื่อบัดนี้พระองค์ตรัสก็คงจะต้องเป็นความจริงแน่นอน เพราะว่าไม่เคยทรงพูดสิ่งที่ไม่จริง ฉะนั้นก็เปลี่ยนท่าที แล้วก็แสดงความเคารพนอบน้อม แล้วก็พร้อมที่จะรับฟัง นี่แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ให้แก่ปัญจวัคคีย์ 5 คนนี่ได้ฟัง
ทีนี้ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นแปลว่าอะไร ท่านก็บอกว่าเป็นสูตรที่เปรียบเหมือนกับการยังธัมมจักให้เป็นไป ธัมมจักก็หมายถึงวงล้อแห่งธรรม คือเวลาที่พระจักรพรรดิในสมัยก่อนโน้นนะคะ ต้องการจะแผ่ราชอาณาจักรก็จะ เรียกว่าทรงไสวงล้อ คือทรงไสจักรนี่ ออกไปเหมือนกัน ไปตามประเทศนั้นประเทศนี้ แล้วประเทศใดที่จักรของพระจักรพรรดินี่ผ่านหมุนไปถึง ก็เท่ากับว่าประเทศนั้นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้าผู้ปกครองก็จะต้องอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ถ้าไม่ยอมก็รบราฆ่าฟันเป็นสงครามฆ่ากันจนชนะ แต่ทว่าสำหรับธัมมจักนี่ เป็นธัมมจักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นธัมมจักที่ไม่มีการฆ่าฟัน มีแต่ความสงบเย็น มีแต่ความรัก ความเมตตากรุณาต่อกัน และเป็นจักรที่เมื่อหมุนไปแล้ว ไม่มีผู้ใดในโลกจะต้านทานให้จักรหรือวงล้อนี้หมุนกลับได้ จะมีแต่หมุนไป หมุนไปข้างหน้า เพื่อไปโปรดบุคคลอื่น เพื่อทำประโยชน์แก่บุคคลอื่นให้ยิ่งขึ้นๆ นี่ก็คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ความหมายของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็หมายถึงสูตรที่เปรียบเหมือนกับการยังธัมมจักให้เป็นไป พูดง่ายๆ ก็คือว่าจากพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกหรือที่เรียกว่าปฐมเทศนานี่ บัดนี้ธัมมจัก หรือจักรแห่งธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประดิษฐานขึ้นในโลกนั้น บัดนี้กำลังเริ่มที่จะหมุนไปแล้ว และไม่มีวันจะหมุนกลับ คำว่าไม่มีวันจะหมุนกลับ หมายความว่าอย่างไร ไม่มีการเลิกละ แต่จะมีแต่เดินหน้า เดินหน้าไปเรื่อยๆ แล้วก็เชื่อว่าย่อมจะต้องมีผู้คนที่หันเข้ามาหาวงล้อของธัมมจัก คือฟังพระธรรมนี่ มากยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ
ฉะนั้น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็คงทราบแล้วนะคะ หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ประมาณสัก 2 เดือน พระองค์ก็แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ทีนี้พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เกี่ยวกับอะไร ก็มีหนังสืออยู่ด้วยกันแล้วนะคะ ก็ลองเปิดดูที่บทสวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งอยู่ตอนต้นของหนังสือ ในบทสวดมนต์นี้ก็มีทั้งคำบาลี แล้วก็มีทั้งคำแปล เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสนใจที่จะอ่านพระคำบาลีก่อน แล้วก็ดูคำแปลก็จะมีความเข้าใจได้ง่าย ก็อยากจะให้สังเกตย่อหน้าแรกนะคะ ลองสังเกต ลองอ่านดูสิว่าในย่อหน้าแรกนี่ พระองค์ตรัสในเรื่องใดก่อน พอจะจับได้ไหมคะ ย่อหน้าแรกนี่ ตรัสในเรื่องใดก่อน ใครอ่านเห็นแล้ว ตรัสในเรื่องใดก่อน
เทวเม ภิกขะเว อันตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดแห่งการกระทำทั้ง 2 อย่างเหล่านี้ มีอยู่ อันตานี้คือที่สุด ที่สุด 2 อย่างนั้นคืออะไร ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย นี่ทรงบอกแก่ผู้บวช ที่จริงก็ควรจะเป็นฆราวาสทั้งหลายที่สนใจในการประพฤติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ควรจะต้องสนใจอย่างยิ่งว่าที่สุด 2 อย่างที่ผู้บวช ผู้ปรารถนาความสงบ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องเลยนี่ มันคืออะไร ประการแรกเลยก็คือ โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค นี้คือการประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย เห็นไหมคะว่าเรื่องของกามนี่ มันเป็นโทษทุกข์ที่นำมาสู่มนุษย์นี่อย่างน่ากลัวเพียงใด พระองค์จึงเริ่มขึ้นเป็นอันดับแรกทีเดียว ที่เริ่มขึ้นเป็นอันดับแรกก็เพราะว่า พระองค์ได้ทรงเห็นแล้ว เห็นโทษทุกข์ของกามในขณะที่ประทับอยู่ในพระราชวัง เมื่อย้อนคิดดูแล้วก็ทรงได้รับการบำรุงบำเรอทุกอย่างทุกประการ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสไม่มีอะไรขาด มีแต่เกิน บริบูรณ์เกินต้องการ ก็ลองไปอ่านดูพุทธประวัติของพระองค์เองก็จะทราบ จนผลที่สุดหลังจากที่พระองค์ได้จมอยู่ในห้วงแห่งกาม หรือในสิ่งแวดล้อมอันพร้อมบริบูรณ์ด้วยกาม ทั้งเรื่องการเสวย พูดเป็นคำธรรมดาก็คือว่า ที่ประทับก็แสนจะโอ่โถงโอ่อ่า มีความสุข มีปราสาท 3 ฤดู ส่วนเครื่องทรงทั้งหลายน่ะไม่ต้องสงสัย ยังจะต้องเป็นแพรพรรณที่ล้วนแล้วแต่งดงาม การเสวยคือเรื่องของพระกระยาหารก็มากมาย มากรส มากอย่าง จนสุดที่จะพรรณนา นอกจากนี้ยังมีการบำรุงบำเรอด้วยดนตรี การร้องรำขับฟ้อนของบรรดาหญิงที่รูปสวยงดงามต่างๆ นานา ก็ได้ทรงพัวพันอยู่กับเรื่องของกามนี่ ไม่ทราบว่านานเท่าไหร่ ซ้ำซาก ซ้ำซาก ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น จนเชื่อว่าวันหนึ่งก็ทรงเกิดความเบื่อหน่าย ผิดเกินพอ เอือมระอา
ท่านจึงตรัสว่า หีโน เป็นของต่ำทราม เรื่องของกามนี่ เป็นของต่ำทราม ต่อให้มันจะวิเศษอย่างไรก็ตาม เหมือนกับว่าเป็นของที่เลิศรสเหมือนอย่างของสวรรค์ มันก็ยังทรามอยู่นั่นเอง ทำไมถึงทราม เพราะมันพาจิตของคนที่เสพกามนี่ มัวเมา มัวเมามืดมัวจนมองไม่เห็นอะไร ก้มหน้าก้มตาเข้าก็มองเห็นแต่เรื่องของกาม จิตมันก็ยิ่งต่ำลงๆ เรียกว่าถ้าจะใช้คำว่าสกปรกก็ได้ สกปรกโสโครก ไม่ได้ประสบไปด้วยสิ่งที่สะอาด เกลี้ยงเกลา หมดจด ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลายเป็นของต่ำทราม คัมโมเป็นของชาวบ้าน โปถุชชะนิโกเป็นของชนชั้นบุถุชน บุถุชนนี้ก็คือผู้ที่ยังหนาด้วยกิเลส คือยังตกอยู่ภายใต้กิเลส โลภ โกรธ หลง ตกอยู่ภายใต้ตัณหาความอยาก แล้วก็เต็มไปด้วยอุปาทานยึดมั่นต่างๆ นานา อะนะริโยไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า อริยะก็คือประเสริฐ ก็คือของบุคคลผู้ปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุธรรมในระดับใดระดับหนึ่งก็จึงเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐ อะนัตถะสัญหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย การที่จะไปมัวเมาอยู่ในความใคร่ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย ลองนึกดูเองนะคะว่าจริงไหม นี้อย่างหนึ่ง นี่อย่างหนึ่งเป็นหนทางสุดอย่างหนึ่งที่ไม่ควรเดินเลย ทำไมถึงพูดว่าลักษณะอย่างนี้ การที่ติดอยู่ในทางกามนี่ เป็นของต่ำทรามเพราะมันมืดมัวจนมองไม่เห็นอะไร
หลายคนคงจะได้เคยได้ฟังนิทาน 1 นาทีของท่านอาจารย์แล้วใช่ไหมคะ ที่ท่านพูดถึงคนขี่อยู่บนหลังม้าน่ะ มีหนุ่มน้อยคนหนึ่งนั่งอยู่บนหลังม้า แล้วก็ควบม้าตะบึงไปเลย คนที่ยืนอยู่ข้างทางก็ถามว่า นี่จะไปไหนนั่นน่ะ หนุ่มน้อยก็ตอบว่า ไม่รู้โว้ย แล้วแต่ม้าจะพาไป นิทานอันนี้ก็จบไม่ถึงครึ่งนาที อันนี้มันแสดงอะไร ทำไมตัวขี่ม้าอยู่บนหลังม้าจับบังเหียนม้าอยู่ แต่กลับบอกไม่ได้ว่าจะไปไหน แล้วแต่ม้านั่นน่ะจะพาไป ม้ามันตะบึงไปทางไหนตัวก็ไป ติดหลังม้าไปเรื่อย ห้อยร่องแร่งก็ตามไปเรื่อย นี่แสดงถึงลักษณะของจิต จิตที่เต็มไปด้วยอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ มืดมัวไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ตอบอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงแล้วแต่จะถูกฉุดลากพาไป ถูลากพาไป ตามเขาไปทั้งหมด ทั้งๆ ที่ไม่ได้สัมผัสกับรสชาติอะไรทั้งนั้น ฉะนั้นนี่จึงเรียกว่าถ้าผู้ใดปล่อยชีวิตให้เป็นไปอย่างนั้น ผู้นั้นก็คงจะมีความลำบากในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง แล้วการตกอยู่ในกามนี่ ก็คือตกอยู่ในความมืดมัว ทั้งๆ ที่เจ้าตัวคิดว่ากำลังอยู่ในหนทางที่สว่างไสว
โย โยจายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค ทีนี้ ทิศทางที่ตรงกันข้าม อีกอย่างหนึ่งคือการประกอบการทรมานตนให้ลำบาก ทุกโข เป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์ อะนะริโย ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า อะนัตถะสัญหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย เพราะเป็นทางสุดโต่งทั้ง 2 ทาง ทรมานร่างกายจนกระทั่งลำบากลำบน ธรรมชาติเขาไม่ได้ให้ร่างกายเพื่อเอามาทรมาน มาตอกเล็บจนกระทั่งทะลุออกไป หรือมายืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม หรือทรมานด้วยประการต่างๆ นี่ก็ไม่ใช่ ธรรมชาติเขาไม่ได้บอกอย่างนั้น เขาบอกให้ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง จะได้เกิดความสุขความสบายตามควรแก่อัตภาพ สังเกตไหมว่า ที่ตรัสสิ่งแรกที่สุดนี่คืออะไร ไม่ควรเลย ไม่ควรไปข้องแวะเลย 1.อย่าข้องแวะกับในเรื่องของกาม คืออย่าเสพกามด้วยประการทั้งปวงจนกระทั่งมันเกินความพอดี ถ้าเกินความพอดี ถ้าอยู่ในความที่พอดีก็คงจะพอไปได้หรอก แต่ถ้าเกินความพอดีล่ะก็ มันก็จะมืดมัวตกอยู่ภายใต้ของอวิชชา แล้วก็จะถูกม้าอวิชชานั่นแหละ มันพาตัวลากกระชากถูไป อีกทางหนึ่งก็คืออย่าไปทรมานตนให้มันลำบาก ให้มันยากเข็ญ ให้มันลำเค็ญเกินความจำเป็น ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่ใช่หนทางที่บรรพชิต หรือผู้ประพฤติธรรมจะควรดำเนิน
ทีนี้พอย่อหน้าที่ 2 พระองค์ทรงแนะทีเดียว ฉะนั้นหนทางที่ควรเดินนี้คืออะไรล่ะ ต้องบอกว่าเป็นใจความสำคัญทีเดียวนะคะของในพระพุทธศาสนา เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตรัสถึงอะไร เห็นไหมคะ ที่บอกว่านี่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดแห่งการกระทำ 2 อย่างนั้นมีอยู่ นี่แหละการที่ดำเนินชีวิตอยู่ในทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปซ้าย ไม่สุดโต่งไปขวา ก็แน่นอนล่ะไม่ถูกกระแทกใช่ไหมคะ ถ้าสุดโต่งไปซ้ายก็กระแทกซ้าย สุดโต่งไปขวาก็กระแทกขวา มันก็ชอกช้ำไปหมดทั้งตัวนั่นแหละ เพราะฉะนั้นการที่เดินทางสายกลางอย่างชนิดพอดีพอประมาณ ไม่ให้ชีวิตต้องชอกช้ำ ไม่ต้องเกิดปัญหาขึ้นมาอีกนี่ ท่านก็บอกว่า ตะถาคะเตนะ อภิสัมพุทธา เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว คือได้ทรงประพฤติปฏิบัติทดลองแล้ว พิสูจน์แล้ว จนกระทั่งเห็นแล้วว่ามันเกิดคุณประโยชน์นะคะ เพราะว่าพระองค์จักขุกะระณี คือเป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ คือตาสว่างมองเห็น มองเห็น เกิด เรียกว่าเกิดทัศนวิสัยที่จะมองเห็นทีเดียวว่า จริงๆ นี่เป็นอะไร ญาณะกะระณีเป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ เกิดญาณก็คือเกิดปัญญาที่จะมองเห็นทะลุในสิ่งที่ถูกต้อง อุปะสะมายะ เพื่อความสงบ เมื่อมองเห็นสิ่งที่ถูกต้องไม่หลงไปทำสิ่งที่ถ่วงที่มืดมัว จิตนั้นก็มีความสงบ เยือกเย็น ผ่องใส อะภิญญายะเพื่อความรู้ยิ่ง ก็ยิ่งเกิดความรู้ในเรื่องสัจธรรมนั้นกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามลำดับ สัมโพธายะเพื่อความรู้พร้อม ก็มีความรู้พร้อมทั่วถึงมากขึ้นๆ นิพพานายะ สังวัตตะติ เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน นี่ก็เรียกว่าศึกษาอบรมฝึกฝนจิตจนพร้อมถึงซึ่งนิพพาน คือหมายความว่าพร้อมที่จะเดินเข้าถึงที่สุด คือถึงนิพพานได้
แล้วท่านก็ทรงเล่าถึงว่า ถ้าอย่างนั้นล่ะก็ ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางเป็นอย่างไรเล่า ก็ทรงกล่าวถึงอริยมรรคมีองค์ 8 ยังพอจำได้ไหมคะ อริยมรรคมีองค์ 8 ที่ถือว่าเป็นทางดำเนินเพื่อให้ถึงซึ่งนิพพาน หรือเรียกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง เพราะฉะนั้นอริยมรรคมีองค์ 8 นี่ เรียกอีกชื่อหนึ่งก็เรียกได้ว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือเป็นทางสายกลาง เป็นหนทางอันประเสริฐ เป็นหนทางอันประเสริฐที่บุคคลผู้แสวงหาความหลุดพ้นจะต้องเดินตามทางนี้นะคะ ก็มีอยู่ 8 องค์ด้วยกัน ทีนี้ก็ตรัสต่อไปว่า อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ย่อหน้าที่ 2 ในหน้า 2 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ถ้าดำเนินตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้อง เห็นถูกต้องอย่างไร ก็เห็นถูกต้องเริ่มแรกด้วยการไม่ข้องแวะกับส่วนสุดทั้ง 2 นั้น แล้วก็พยายามที่จะดึงชีวิต ดำเนินชีวิตมาอยู่ในหนทางสายกลาง ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว พระองค์ทรงย้ำ เพราะว่าได้ทรงแสวงหา ได้ทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง จักขุกะระณีเป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ ญาณะกะระณีเป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ อุปะสะมายะเพื่อความสงบ อะภิญญายะเพื่อความรู้ยิ่ง สัมโพธายะเพื่อความรู้พร้อม นิพพานายะ สังวัตตะติ เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน สังเกตไหมคะว่าเมื่อปฏิบัติอยู่ในทางสายกลางอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตอน จนกระทั่งมันเกิดการปฏิบัติขึ้นในใจอย่างเป็นอัตโนมัตินี่ ก็จะเกิดจักขุกะระณี แล้วจะตามมาตามลำดับทีเดียว สังเกตเถอะค่ะเมื่อเกิดจักขุกะระณี ก็จะมีญาณะกะระณี จะมีอุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ แล้วก็นิพพานายะ สังวัตตะติเป็นข้อสุดท้าย นี่มันจะเป็นไปตามลำดับอย่างนี้ ทีนี้เสร็จแล้ว พอย่อหน้าต่อไป เรื่องที่ 1 ที่ได้ตรัสในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรคือ ไม่ให้ไปข้องแวะกับส่วนสุด 2 ข้าง เมื่อไม่ข้องแวะกับส่วนสุด 2 ข้างแล้ว ควรจะทำอะไรล่ะ ก็คือเดินทางสายกลาง นี่เป็นข้อตรัสในข้อที่ 1 ทางสายกลางนั้นทรงเล็งถึงอะไร ก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 อย่าลืมนะคะ นี่อยู่ด้วยกัน
ทีนี้พอผ่านอริยมรรค ได้ตรัสถึงว่าทางสายกลางนี่ ก็คือการดำเนินตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ตรัสต่อไปในย่อหน้าสุดท้ายของหน้า 2 อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง ตรัสเรื่องอะไร เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ก็เรื่องของอริยสัจ 4 ซึ่งหลายคนคงเคยได้ฟังมาแล้ว อริยสัจคือ ทุกข์นี้มีอยู่ ก็ตรัสไปว่าสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่คนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่สนใจ ก็ไปโทษเอาว่าความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความจริงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้มาทำให้ใครเป็นทุกข์ ไม่ได้มีความมุ่งหมายอย่างนั้น แต่จิตของคนที่ยังเขลาอยู่ ยังเต็มไปด้วยอวิชชาก็เลยไปโทษเอาว่าความเกิด ความแก่ ความตายนี่แหละมันทำให้ทุกข์ ถ้าไม่มีความแก่ ความตาย โดยเฉพาะไม่มีความเจ็บมันคงไม่ทุกข์หรอก เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาปฏิบัติหรือมาประพฤติพรหมจรรย์ต้องศึกษาแล้วก็ทำความเข้าใจ แล้วก็เพ่งดูจนสัมผัสกับสภาวะธรรมที่เป็นเรื่องของความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่ ให้เข้าถึงให้จงได้นะคะ ถ้ามิฉะนั้นแล้วล่ะก็ ก็จะมีแต่ โสกะ ปะริเทวะ ทุกขะ โทมะนัส สุปายาสาปิ ทุกขา ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ นี่ก็อาจบรรยายไปถึงอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจมันเป็นยังไง แล้วเสร็จแล้วก็ อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ประสบสิ่งไม่เป็นที่รักที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ หรือพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี้แหละเป็นตัวทุกข์ นี่ท่านอธิบายเรื่องของทุกข์ให้เข้าใจ
ทีนี้พอต่อไปท่านก็พูดถึงเรื่องของย่อหน้าแรกของหน้า 3 อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะ สมุทะโย อะริยะสัจจัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่ นี่เรื่องของพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงเรื่องใดจะไม่พูดไปเปล่าๆ แล้วก็ปล่อยไปลอยๆ แต่ว่าจะเจาะหาลงไปว่าสาเหตุมาจากอะไร นี่สำคัญนะคะ เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรานี่ ถ้าพบปัญหาขึ้นก็อย่ามัวแต่เสียใจ เศร้าหมอง หรือว่าโทษโน่นโทษนี่ ให้นิ่ง หยุด สงบ ให้มีสติ แล้วก็ค้นหาทีเดียวว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา แล้วจะได้แก้ไขสิ่งที่เป็นสาเหตุนั้นให้ถูกต้อง ท่านก็จึงอธิบายว่าเมื่อรู้ว่าความทุกข์มันคืออย่างนี้ แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ หน้าที่ก็คือต้องหาสาเหตุ อะไรมันเป็นเหตุที่ให้มีความทุกข์หรือให้เกิดความทุกข์ขึ้น ยายัง ตัณหา นี้คือตัณหา โปโนพภะวิกา อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก ก็เพราะมีตัณหานี่แหละ อยากโน่นอยากนี่ ไม่ได้อย่างใจเลยสักอย่างเดียว มันก็เลยทำให้มีการเกิดอีก เกิดอะไร ก็เกิดความทุกข์นี่แหละ เกิดความเป็นตัวเป็นตนในความรู้สึกนี่แหละอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นตัณหานี้ ถ้าจะถามว่ามีกี่อย่าง ก็กามตัณหา-ตัณหาในกาม ภวตัณหา-ตัณหาในความมีความเป็น วิภวตัณหา-ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น และตัณหานี่แหละก็จะผลักใจของมนุษย์หรือชีวิตของมนุษย์ให้หมุนไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่ไม่ได้หมุนไปหาความสุขสบาย แต่จะหมุนไปหาสิ่งที่เป็นความทุกข์ สิ่งที่ทำให้จิตนั้นเศร้าหมอง สิ่งที่ทำให้เกิดความระทมทุกข์ขึ้นภายในใจอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในตอนสุดท้ายต่อไปท่านก็ตรัสว่า เอาล่ะ เมื่อรู้เหตุของความทุกข์แล้ว อิทังโข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง มันก็มีทางดับทุกข์นะ ไม่ใช่ว่าพอทุกข์เกิด แล้วก็รู้เหตุของความทุกข์แล้ว ก็จะเผชิญหน้ามันอยู่เฉยๆ ให้ทุกข์อย่างนั้น แต่การที่พระองค์ตรัสรู้ก็เพื่อจะดับทุกข์ ที่พระองค์ไปแสวงหาธรรมะนี่ก็เพื่อให้รู้ว่าทุกข์คืออะไร และความดับทุกข์มันคืออะไร
ฉะนั้นก็จึงตรัสว่า อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้มีอยู่ โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อเสสะวิราคะนิโรโธ ประโยคนี้สำคัญมาก แล้วก็ตั้งใจจะพูดตรงนี้ แต่เนื่องจากมันมีอะไรเกี่ยวข้องก็เลยจำเป็นจะต้องพูดมาตั้งแต่ตอนต้นไปเสียก่อน นี้คือความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่มีเหลือของตัณหานั้นนั่นเอง ทุกข์จะดับ หรือสมุทัยของความทุกข์จะดับ ก็คือต้องดับสนิท ดับตัณหานั้นให้สนิทไม่เหลือเลย จะดับด้วยวิธีใด จาโคเป็นความสละทิ้ง สละมันไป สละอะไรล่ะที่มันทำให้เราทุกข์ ลองนึกดูสิคะ จาโคก็คือจาคะที่เราเคยได้ยิน เราจะได้ยินคำว่าจาคะนี่ บางทีก็ควบคู่ไปกับคำว่าอะไร นึกออกไหมคะ กับคำว่าทาน ทานัง ใช่ไหมคะ ถ้าพูดถึงว่าทานล่ะก็ เรามักจะมองไปในแง่ของการบริจาค การให้สิ่งของ วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง หรือว่าข้าวของอะไรต่ออะไรอย่างอื่นๆ เราทำบุญทำทาน พูดติดกันอย่างนั้น ถ้าหากว่าเราทำแก่พระภิกษุสงฆ์ เราก็ เราก็จะเรียกว่าไปทำบุญ ถ้าหากว่าทำแก่คนธรรมดาทั่วไป เราก็จะเรียกว่าทำทาน แต่อันที่จริงแล้วก็คือลักษณะเดียวกัน เพราะหมายถึงการบริจาคให้ไปนะคะ
ทีนี้พอใช้คำว่า จาคะหรือจาโค มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น แล้วก็ในการที่จะดับความทุกข์นี่ ต้องใช้จาคะหรือจาโค เพียงแค่ทานเฉยๆ ไม่พอ คำว่าจาคะหรือจาโคนี่ คือต้องสลัดออกไปทีเดียว ต้องสละสิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ โลภะ โลภขึ้นมามันก็ดิ้นรน มันหวั่นไหว มันอยู่นิ่งไม่ได้ มันกระเสือกกระสน น่าทุเรศ น่าสงสารมากเลย เพราะฉะนั้นสลัด สลัดความรู้สึกโลภให้ออกไปให้พ้น ความโกรธ ความไม่พอใจด้วยประการต่างๆ อย่าให้มันเกิดบ่อยๆ ให้มันเกิดน้อยๆ ลดลง ลดลง ลดลง จนกระทั่งมันหยุดได้ มันไม่เกิดอีกเลย แล้วความทุกข์ที่เกิดจากความร้อนเผาไหม้ของความโกรธก็จะไม่มี ปะฏินิสสัคโค สลัดคืน สลัดคืนก็คือสลัดสิ่งที่มันมาถ่วงดึงชีวิตให้เป็นทุกข์ โลภ โกรธ หลง ตัณหา อุปาทาน ซึ่งมันมีรากเหง้ามาจากอวิชชา อวิชชาเป็นต้นขั้ว สลัดออกไปให้หมด สลัดไปไหนล่ะ ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกว่าจะมีใครเขามารับ หรือจะมาทำให้คนอื่นเขาลำบาก ไม่ต้องห่วง สลัดไปเลย ท่านก็จะบอกว่ามันมาจากไหนมันก็ไปที่นั่นแหละ มันมาจากธรรมชาติซึ่งมันมีอยู่เอง มันก็กลับคืนไปสู่ธรรมชาติ ที่สำคัญก็คือสลัดออกไป สลัดให้มันออกไปพ้นจากจิตใจของเรา ฝึก ฝึกลดละความโลภ ฝึกลดละความโกรธ ฝึกลดละความหลง
ถ้าฝึกได้อย่างนี้ก็หมายความว่า จิตนั้นค่อยมีความสะอาดมากขึ้นๆ ตัณหาไม่ค่อยจะมีอำนาจ พอตัณหามีอำนาจนี่ ตัณหามันจะผลักเราให้ไปสนใจที่อยากจะโลภ อยากจะโกรธ อยากจะหลง ตัณหามันก็ค่อยอ่อนกำลังลง อ่อนกำลังลง จนมีความรู้สึกว่าไม่เห็นจำเป็นเลยที่จะไปอยากโน่นอยากนี่ ทำสิ ประสงค์จะทำอะไรที่เกิดประโยชน์ ทำเลยแต่ไม่ต้องอยาก ถ้าอยากเมื่อไหร่แล้วมันมีทุกข์เจือปน ทุกข์มันจะสอดแทรกเข้ามาทุกทีนะคะ จะบอกว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปะฏินิสสัคโค นี่ก็สลัดส่งคืนไปให้ธรรมชาติ มุตติเป็นความปล่อย ความปล่อยนี่ปล่อยอะไร ก็คือปล่อยหมด ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ อุปาทาน ความคิดที่ต้องการโน่นต้องการนี่ ความอยากทั้งหลาย ความโลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ปล่อยหมด นี่คือเป็นความปล่อย ปล่อยสิ่งที่ไม่ดีๆ ที่มันโสโครก มันสกปรก มันถ่วงดึงจิตให้ตกต่ำ ปล่อยออกไปหมด อะนาละโย เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น เห็นไหม ตอนสุดท้ายนี่ กวาดให้เกลี้ยงเลย กวาดตัณหาให้เกลี้ยง
ทีนี้ก็ต้องการจะพูดตรงนี้นะคะ เราอยากจะมาคุยกันเรื่องตรงนี้ เพราะการมาประพฤติพรหมจรรย์นี่ เราจะต้องพยายามทำ คือพยายามฝึกอบรมจิตนี่ ให้สามารถอยู่เหนือตัณหาได้ นั่นก็คือทำตัณหาให้ดับให้ได้ หรือทำความแจ้งในความดับให้เกิดขึ้นได้ แต่ทีนี้มันก็ไม่ใช่ของง่ายนะคะ เราก็คงจะต้องมาพูดกันหรือว่าคุยกันเพื่อที่จะทำความเข้าใจในเรื่องการดับของตัณหานี้ให้ชัดขึ้น โดยคงจะต้องกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องดังที่มีอยู่ในบทสวดมนต์นี้ แล้วก็ได้พูดมาถึงแล้วบ้างแล้ว ทีนี้ก็ได้พูดแล้วว่าสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่กล่าวถึงเอาไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูครนี้ ก็คือ 1. ทางสายกลาง แล้วก็ 2. อริยสัจ 4 แต่อริยสัจ 4 นี่แหละถือเป็นหลัก เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาทีเดียว อริยสัจ 4 นี่นะคะ เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ท่านเปรียบเหมือนกับรอยเท้าช้าง เคยได้ยินใช่ไหมคะ ช้างนี่เป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด รอยเท้าของมันใหญ่มาก แล้วสัตว์ไหนๆ ที่เดินไปเดินมานี่ ผ่านมานี่ มันก็จะต้องลงไปในรอยเท้าช้าง ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต เม่น หมูป่า หรืออะไรก็ตามที เพราะว่าเท้ามันเล็กกว่า เพราะตัวมันเล็กกว่า เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า สัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปบนผืนแผ่นดินสิ้นทั้งปวงย่อมประชุมลงในรอยเท้าช้าง คือเดินไป เดินไป ก็ต้องหล่นลงไปอยู่ในรอยเท้าช้างนี่ คือจะต้องเหยียบลงไปในรอยเท้าช้าง เพราะฉะนั้นรอยเท้าช้างนั้นกล่าวได้ว่าเป็นยอดเยี่ยมในบรรดารอยเท้าทั้งหลายหรือรอยเท้าเหล่านั้น โดยมีความขนาดใหญ่ฉันใด กุศลธรรมทั้งสิ้นทั้งปวงก็สงเคราะห์ลงในอริยสัจฉันนั้น นี่ความสำคัญของอริยสัจ
แล้วท่านยังตรัสอีกว่า อริยสัจนี้เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อยู่เหนือกฎไตรลักษณ์ว่างั้นเถอะ เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่าเรื่องของความทุกข์นี่ คืออาการของความทุกข์ต่างๆ ที่พูดมา มันมีลักษณะอาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่นไหมคะ มันก็เริ่มด้วยการอึดอัด หงุดหงิด เขม่น หมั่นไส้ รำคาญ จนกระทั่งถึงปฏิฆะ ความโกรธอย่างเบาบาง จนกระทั่งถึงความโกรธมากๆ จนกระทั่งรุนแรงออกมาทางท่าทาง ออกมาทางวาจา จนกระทั่งถึงเป็นความอาฆาตพยาบาท ถึงกับเบียดเบียนประทุษร้ายชีวิตซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นลักษณะของความทุกข์เคยเป็นอย่างไรมาแต่สมัยไหนๆ ก็ตาม กี่ร้อยกี่พันปี คนในสมัยนี้ก็ยังมีอาการความทุกข์เหมือนกับคนในสมัยหลายร้อยปีหลายพันปี ใช่ไหมคะ นี่แหละข้อแรกก็บอกแล้วว่าเรื่องของอริยสัจ 4 นี่ เป็นกฎที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง จะต้องคงอยู่อย่างนี้ตลอดไป เรื่องของอริยสัจ 4
นอกจากนี้เหตุแห่งทุกข์ล่ะ เปลี่ยนแปลงไหม เหตุแห่งทุกข์เปลี่ยนแปลงไหม ใครบอกว่าเหตุแห่งทุกข์มาจากเหตุอื่นที่ไม่ใช่ตัณหา ตอบได้ไหมคะ ก็ตอบไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะถ้าไม่มีตัณหานี่ ทุกข์มันไม่รู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่มันทุกข์นี่ ก็เพราะมันไม่ได้อย่างใจ ใช่ไหมคะ ต้องการนั่นก็ไม่ได้ ต้องการนี่ก็ไม่ได้ หรือได้มาแล้วมันยังไม่พอใจแก่ความโลภที่อยากจะได้มากยิ่งขึ้นอีก เพราะฉะนั้นที่ท่านบอกว่าตัณหาเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ มันก็ใช่ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดมา คนในยุคไหน ยุคไหนก็ตาม จนกระทั่งถึงสมัยนี้ มาตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา มันก็มีแต่ความทุกข์ครอบงำจิตอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้เรื่องของความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ไม่มีใครอยากจะเป็นทาสของมันอยู่ตลอดชีวิตหรอก ก็อยากจะหลุดพ้นบ้างเหมือนกัน ใช่ไหมคะ อยากจะหลุดพ้นบ้าง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีนิโรธ คือการดับ ดับความทุกข์นั้นน่ะ คือต้องดับให้ได้ จะต้องทำให้ได้ แล้วมันก็ทำได้ ถ้ามีความตั้งใจจริงที่จะศึกษาเรียนรู้ แล้วก็ฝึกอบรมปฏิบัติตาม ตามอะไร ก็ตามอริยสัจข้อที่ 4 คือ คืออริยมรรคมีองค์ 8 หรือที่เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยมรรคก็เป็นหนทางที่จะดำเนินไปถึงสู่ความสิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหนทางก็เรียกได้ว่าหนทางที่จะนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ก็คือความเป็นผู้ที่สามารถควบคุมตัวเอง ฝึกอบรมตัวเองให้อยู่ในหนทางดำเนินของทางสายกลาง เหมือนดังที่พระองค์ตรัสมาแต่ต้น
นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทรงกล่าวเพื่อสอน เพื่อบอก ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนะคะ ทีนี้ในตอนที่พระองค์ตรัสเรื่องของอริยสัจ 4 นี่ ก็กำลังประทับอยู่ที่ป่า แล้วก็ทรงหยิบใบประดู่ลายจากป่ากำเอาไว้ในพระหัตถ์ แล้วก็ถามบรรดาพระพุทธสาวกที่นั่งอยู่ว่า ใบไม้ในมือเรา ในกำมือเรากับใบไม้ในป่า ไหนจะมากกว่ากัน ก็แน่นอนล่ะนะคะ ใบไม้ในป่านี่มากอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ทำไม ที่พระองค์หยิบมาเป็นอุปมานี้เพื่ออะไร ก็เพื่อจะบอกว่าธรรมะทั้งหลายนี่มีมากมายมหาศาล อย่างที่เราได้ยินใครๆ พูดกันว่ามีตั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ ใช่ไหมคะ แต่ทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นี่ ที่เป็นหัวใจ ที่มีความสำคัญก็เหมือนกับใบไม้ในกำมือ หรือในกำพระหัตถ์ของพระองค์ นั่นก็คือเรื่องของอริยสัจ 4 คือเรื่องของความจริงเกี่ยวกับความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย เรื่องของความจริงเกี่ยวกับความทุกข์อย่างเดียว
ฉะนั้นพระองค์จึงได้หยิบเอาเรื่องของอริยสัจ 4 นี่มาสอนก่อน มาพูดก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็จะไม่ตรัสสอนแก่คนทั่วๆ ไป หรือพอพบกันก็จะตรัสสอนทันที จะไม่อย่างนั้น ในขณะที่อยู่ในที่ประชุมชนแล้วก็ทรงพิจารณาดูแล้วก็รู้สึกว่า ประชุมชนคือผู้คนที่มาฟังพระธรรมเทศนาในตอนนี้ครั้งนี้ ยังไม่มีผู้ใดที่จะมีจิตสะอาด เกลี้ยง อ่อนโยน นุ่มนวล ที่จะรับพระธรรมขั้นสูงสุดคือ เรื่องของอริยสัจ 4 ได้ พระองค์ก็จะทรงแสดงธรรมที่เรียกกันว่า อนุปุพพิกถา เคยได้ยินใช่ไหมคะ อนุปุพพิกถา คือหมายถึงการแสดงธรรมที่แสดงไปตามลำดับ มีจุดประสงค์ก็เพื่อที่จะฟอกจิตใจ จิตใจของสัตว์ที่ยังไม่สะอาด ยังถูกปกคลุมด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มากบ้างน้อยบ้าง ยังไม่พร้อมที่จะรับฟังธรรมะขั้นสูง ก็จะทรงแสดงในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้นะคะ ก็เท่ากับว่าเป็นการเตรียมจิตของ ของผู้ฟังนี่ให้สะอาดหมดจด ไปเป็นชั้นๆ ชั้นๆ ชั้นๆ ตามลำดับ จนกระทั่งทรงรู้สึกว่า เออตอนนี้ผู้ฟังที่นั่งอยู่นี่ค่อนข้างที่จะมีจิตอ่อนโยน มีจิตนุ่มนวล มีจิตสะอาดขึ้น เหมือนกับตะแกรงละเอียดที่พร้อมจะกลั่นกรองสิ่งที่มีคุณค่า ก็จึงจะแสดงเรื่องของอริยสัจ 4
นี่เป็นความสำคัญของอริยสัจ 4 ที่พระองค์ตรัสว่า ที่พระองค์แสดงเรื่องของอริยสัจ 4 นั้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นหลักเบื้องต้นของพรหมจรรย์ อริยสัจ 4 นี่ ถ้าใครจะประพฤติพรหมจรรย์ก็ต้องประพฤติให้รู้เกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ เพราะชีวิตมนุษย์นี่นะคะ ที่เขาถูกรบกวนอยู่ในเรื่องนี้ เรื่องความทุกข์ ถ้าจิตนั้นมันสะอาดหมดจด มันเบาสบาย มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องมาเป็นปัญหา ก็จะมีแต่ความสุข ความสงบ เพราะฉะนั้นท่านจึงเห็นว่าถ้าจะประพฤติพรหมจรรย์ต้องรู้เรื่องของความทุกข์ แล้วก็ต้องรู้จักเรื่องของการดับทุกข์ด้วย ถ้าหากว่าไม่รู้ 2 เรื่องนี้ ก็เข้าไม่ถึงชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ แน่นอนล่ะนะคะก็คงจะยังคงพอใจอยู่กับกิเลส ตัณหา อุปาทานอยู่นั่นเอง พระองค์ก็เลยตรัสบอกว่า ที่พระองค์ทรงสอนเรื่องของอริยสัจ 4 นี่ เพราะเห็นว่าเป็นธรรมะที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเมื่อผู้ใดฟังแล้วก็ใคร่ครวญตาม ตรึกตรองตาม แล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติก็จะสามารถดึงจิตของตนนี่เข้าสู่นิพพิธา
นิพพิธาคืออะไร ความเบื่อหน่ายจางคลายไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อย เหมือนอย่างที่พระองค์เสด็จออกจากวังก็เพราะนิพพิธา เบื่อหน่ายในกาม เบื่อหน่ายในการที่จะต้องอยู่ ข้องเกี่ยว มั่วสุมซ้ำซากอยู่กับเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส เพราะฉะนั้นพอทรงเบื่อหน่าย ก็ค่อยๆ ถอนใจออกจากความเพลิดเพลิน ความติดยึดที่เคยมี ก็จะนำไปสู่วิราคะ วิราคะคือความจางคลาย จางคลายจากความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็จะค่อยๆ เข้าสู่ความเป็นนิโรธ
เหมือนอย่างทุกคนที่นั่งอยู่นี่ก็เหมือนกันแหละ ใช่ไหมคะ ล้วนแล้วแต่มีงานมีการทำเป็นหลักเป็นฐาน ถ้าจะพูดในทางโลกก็เรียกว่าเป็นคนมีหน้ามีตาพอสมควรล่ะ มีเกียรติในตัวเอง มีชื่อมีเสียงพอสมควร แล้วสละสิ่งเหล่านั้นมาทำไม อุตส่าห์มาอยู่ลำบากลำบนเป็นเวลาถึง 4 เดือนนี่ เข้ามาประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร ก็แน่นอนล่ะ ไม่มากก็น้อย ทั้งๆ ที่ได้มีกินดีอยู่ดี ทำงานดี สนุกเพลิดเพลินตามควรแก่ฐานะของตน แต่มันมีบางครั้งใช่ไหมคะ ที่เกิดความเบื่อหน่าย เหนื่อยหน่าย เอือมระอากับสิ่งที่เราคลุกคลีอยู่ทุกวี่ทุกวัน มันไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นให้อะไร มันมีแต่ความซ้ำซาก ไปดูหนังดูละคร หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง กลับมาบ้าน แล้วก็บางทีเอามาต่ออีกเพราะสัญญามันจำเอาไว้ แล้วก็กลับไปดูอีกก็เป็นอย่างนั้น หรือไปกินอาหารเจ้าอร่อย ขับรถไปเป็น 50-60 กิโล มันก็อร่อยเวลากิน เสร็จแล้วมันก็เข้าไปห้องน้ำหมด มองดูไม่เห็นมันเหลืออะไรเลย แล้วก็ไม่ช้าไม่นานก็กลับไปกินอีก ไปเสียเวลาขับรถไป เสียเงินเสียทองไปกิน สนุกสนานเฮฮา มันก็ไม่เห็นทำให้ชีวิตนี้มีความหมายอะไรเพิ่มขึ้น หรือเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้น แต่ถ้ายังมัวเมาอยู่นะคะ ก็ยังอร่อยอยู่นั่นแหละ ไปอีก ไปจนกระทั่ง เหน็ดเหนื่อยหมดเงินหมดทอง หมดเวลา หมดแรงไปน่ะถึงจะหยุด แต่นี่ไม่ต้องถึงกับหมดเรี่ยวแรง เกิดความเบื่อหน่าย เกิดนิพพิธาขึ้นทีละน้อย ทีละน้อย แล้วก็จางคลาย
ทีนี้ถ้าปล่อยให้ความรู้สึกเรื่องของนิพพิธาและวิราคะเกิดขึ้นในใจมากๆ ไม่ช้าความยึดมั่นถือมั่น ความติดพันนี่ ก็จะค่อยๆ สงบไป จนกระทั่งถึงดับไป เออ ไม่เอาอีกแล้วเบื่อ กินไปก็เท่านั้น เล่นไปก็เท่านั้น ดูไปก็เท่านั้น มันไม่เห็นเป็นมรรคผลอะไรเกิดขึ้นมาเลย ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย มีแต่ความวุ่นวายตามมา แต่ถ้าหากว่าหันมามองเพราะมันเกิดนิพพิธา เกิดวิราคะ จนเกิดความดับ มันก็จะเกิดความสงบเย็น ความรู้ในเรื่องของทางธรรมก็จะกว้างขวางลึกซึ้ง แล้วก็หนทางที่จะเดินไปสู่ความเป็นนิพพาน นิพพานนั้นคือความสงบเย็นที่จะเกิดขึ้นในจิตก็เป็นได้ พระองค์ทรงเห็นประโยคนี้ พระองค์จึงบอก จึงพูดให้คนทั้งหลายรู้โดยเฉพาะพระพุทธสาวก เพื่อให้รู้ รู้ว่าทุกข์คืออะไร ทุกขสมุทัยคืออะไร ทุกขนิโรธคืออะไร แล้วก็ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์นั้นคืออะไร เพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะได้พ้นจากความทุกข์ อยู่เหนือความทุกข์ แล้วก็มีสุขสงบเย็นร่วมกัน เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสอธิบายบรรยายในเรื่องของอริยสัจ 4 แล้ว ก็ยังทรงย้ำเสมอทีเดียวว่า ให้พระภิกษุทั้งหลายนี่นำเอาเรื่องของอริยสัจ 4 คือเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ไปบอกเล่าให้พวกชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสที่อยู่บ้านทั้งหลายนี่ ได้รู้เรื่อง ได้เข้าใจเรื่องอริยสัจ 4 แล้วเขาจะได้มีชีวิตอยู่ร่วมกัน ในครอบครัวก็สบาย ที่ทำงานก็สบาย ในสังคมก็สบาย แล้วก็จะได้มีชีวิตเย็นร่วมกัน นี่ทรงย้ำ
เพราะฉะนั้นก็ขอได้เห็นเถอะว่า เรื่องของอริยสัจ 4 นั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นหลักสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา แล้วเราก็จะต้องศึกษาทุกๆ เรื่อง คือหมายความว่าทุกๆ ข้อของอริยสัจ 4 ตั้งแต่เรื่องของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่พูดอย่างย่อนะคะ ให้ละเอียดชัดเจนทุกจุด แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือวิธีการปฏิบัติเพื่อจะไปให้ถึงสิ่งนั้น ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะศึกษาในลักษณะนี้ เราก็คงจะเข้าถึงหัวใจของอริยสัจ 4 แล้วก็จะมองเห็นได้ว่าที่บอกว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ถ้าผู้ใดเข้าถึงแล้ว ผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก ข้าศึกก็คือความทุกข์จะไม่สามารถมาขบกัด ทำให้ชีวิตของผู้นั้นเป็นทุกข์ได้อีกเลย คุณค่าก็มหาศาล เพราะที่เราทำอะไรๆ ทุกวันนี้ ก็เพื่อจะมีความสุข ไม่อยากมีความทุกข์ แต่ถ้าอยู่เหนือทุกข์ได้จะพบความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ความสุขเทียมที่มาเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เรายังจะพูดกันต่อไปอีกนะคะ แต่ตอนนี้คงจะต้องหยุดก่อน ธรรมสวัสดีค่ะ