แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จะขอพูดต่อเรื่องของ “เครื่องผูกสัตว์โลก” นะคะ ที่ไม่ให้ออกจากโลกของความทุกข์ ก็ตั้งใจจะเล่าชีวิตอันโน้นอันนี้ให้ฟังละนะคะเท่าที่เล่าได้ แล้วก็ได้เล่ามา ๓ ชีวิตแล้ว ก็จะเล่าต่ออีกสัก ๒ ชีวิต ชีวิตที่ ๔ ที่จะพูดถึงนี่ก็จะเป็นชีวิตของผู้หญิงเหมือนกัน ถ้าใครอ่านเรื่อง..หลายชีวิต..ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชแล้ว ก็คงจะนึกออกที่กล่าวถึงว่า วันหนึ่งเรือโดยสารที่มีผู้โดยสารนั่งไปเต็มลำเรือนะคะ ก็เป็นลำใหญ่พอสมควร แล้วเสร็จแล้วก็เกิดไปอุบัติเหตุล่มที่บ้านแพน คนตายไปหมด แล้วเขาก็จับ เรียกว่าจับหรืออุ้มนะ อุ้มคนที่เสียชีวิตแต่ละคนๆ มาวางเรียงเอาไว้บนชายหาด มีทั้งหญิงมีทั้งชายมีทั้งคนแก่คนสาวละค่ะ แล้วคุณคึกฤทธิ์เธอก็หยิบเอาแต่ละชีวิตนี่มาเล่าให้ฟังว่า ชีวิตของคนเหล่านี้ไปอย่างไรมาอย่างไร แล้วก็มาอยู่ในที่เดียวกันตรงนี้ ที่อยากจะพูดถึงชีวิตของหนึ่งคนในกลุ่มนั้นก็คือชีวิตของทองโปรย ซึ่งเป็นผู้หญิงชนบทคนหนึ่ง เกิดมาก็โชคดีอีกแหละ อยู่ในครอบครัวที่มีพ่อแม่ที่ค่อนข้างจะมีฐานะ แล้วก็รักลูกเป็นที่สุด ตามอกตามใจทุกอย่างตั้งแต่เล็กมา ทองโปรยต้องการจะได้อะไรไม่เคยขัดเลย พูดง่ายๆ ว่าอยากได้อะไรได้ทุกอย่าง แล้วก็เป็นผู้หญิงที่หน้าตาดีด้วย แล้วก็มีสติปัญญาพอสมควร คือไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อนละนะคะ ก็มีสติปัญญาพอสมควร แล้วทองโปรยก็มีความสุขอยู่กับชีวิตในชนบทของตัว แต่อยู่ไปๆ ก็ค่อนข้างจะชิน ก็เกิดความเบื่อ เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายชีวิตในชนบทที่อยู่ แล้วก็แน่นอนในตอนนั้นหรือแม้แต่เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน พอคนชนบทได้ยินชื่อกรุงเทพฯ ก็อยากจะไปกันทั้งนั้นใช่ไหมคะ อยากจะไปเที่ยวกรุงเทพฯ ทองโปรยก็เหมือนกัน แต่ว่านี่ ๓๐ – ๔๐ ปีมาแล้วนะคะ ไม่ได้ไปกรุงเทพฯ กันง่ายๆ ได้อย่างนี้ พอนึกอยากจะไปก็ขึ้นรถไฟไป หรือว่าขึ้นรถเมล์ไป หรือว่าขึ้นเครื่องบินไป ไม่ใช่ทำง่ายๆ อย่างเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนนี้กว่าจะไปได้ก็ลำบาก แล้วเมื่อจะไปก็ต้องใช้เงินทองทรัพย์สินมากด้วย
เพราะฉะนั้น พวกเด็กผู้หญิงสาวที่อยู่ในรุ่นวัยเดียวกันนี่ก็ไม่ค่อยมีใครได้ไป แต่ก็เพราะทองโปรยมีเงินมีทอง พ่อแม่รักใคร่ตามใจ ก็มีโอกาสได้ไปกรุงเทพฯ เรียกว่ามีหน้ามีตาละ มีหน้ามีตากว่าเพื่อนฝูงในวัยเดียวกันหรือว่าในกลุ่มละแวกนั้น แต่ว่าพอไปถึงกรุงเทพฯ แทนที่จะตื่นเต้นและก็ แหม..ดีอกดีใจ แล้วก็รู้สึกว่า เออ..เรานี่มีบุญนะได้มาเที่ยวกรุงเทพฯ ทองโปรยก็ไม่อย่างนั้น มีความรู้สึกเฉยๆ เอ..กรุงเทพฯ นี่เราวาดภาพเอาไว้คิดว่าจะมีอะไรที่ตื่นเต้น มีอะไรที่น่าจะสนุกสนานน่าดูมากกว่านี้ ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่าเขาก็ไม่ได้เป็นคน ไม่ได้ทำตัวเป็นคนแปลกหน้าแปลกถิ่น แล้วก็เพราะมีเงินมีทองจะจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวซื้อของตามที่ต้องการได้ ก็เลยไม่เป็นคนบ้านนอกละนะคะ ใครๆ ก็ไม่มองอย่างดูถูกดูแคลนว่า เออ..นี่มาจากบ้านนอก ทองโปรยก็เที่ยวกรุงเทพฯ เต็มที่เท่าที่จะเที่ยวได้ แม้จะไม่ตื่นเต้นก็ตาม แล้วก็ได้ซื้อข้าวของติดมือกลับมาบ้านไม่น้อย ที่กลับมาบ้านก็เพราะพออยู่ไปๆ ก็คงจะบอกตัวเองว่า กรุงเทพฯ ก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไรมากกว่านี้เลย ก็กลับมาบ้าน พอกลับมาบ้านก็คงจะตื่นเต้นตอนมาใหม่ๆ เพราะได้มีโอกาสเล่าถึงกรุงเทพฯ ให้เพื่อนฝูงฟัง ก็เป็นคนมีหน้ามีตา คนอื่นยังไม่ได้ไป ไม่ช้าไม่นานก็เกิดรู้สึกว่า เออ..ชีวิตมันเซ็งอีกแล้ว หมดเรื่องเล่าหมดเรื่องคุย กรุงเทพฯ ก็อะไรๆ มันก็เหมือนเดิม ไม่เห็นมีอะไรน่าตื่นเต้นที่จะทำให้ชีวิตนี้มีความหมายเลย เขารู้สึกอย่างนั้น แต่ก็นับว่าเขาเป็นคนมีบุญอย่างหนึ่งนะคะ ในขณะที่เขารู้สึกว่า โอย..ชีวิตไม่มีความหมาย กำลังเบื่อเต็มทีแล้วนี่ ทองโปรยก็เกิดมีผู้ชายมาติดเนื้อต้องใจ เริ่มตื่นเต้นเข้ามาอีกแล้วใช่ไหมคะ เพราะเป็นของใหม่
ทีนี้ผู้ชายที่มาติดใจทองโปรยนี่ก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี สำหรับในต่างจังหวัดในชนบทนั่นนะ เพราะเป็นถึงปลัดอำเภอ และหน้าตาก็หล่อเหลา ลักษณะนิสัยใจคอก็ดีใช้ได้น่านับถือ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าหลงทองรักโปรยนี่อย่างหัวปักหัวปำเลย ถ้าจะถามว่าทองโปรยรักหรือเปล่า คงตอบไม่ได้ว่ารักนายปลัดอำเภอที่ชื่อสันต์คนนี้ รักหรือเปล่าคงตอบไม่ได้ แต่ก็ตอบได้ว่าสันต์นี่จะเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้เขาเกิดความตื่นเต้นขึ้นมาในชีวิตใหม่ อันนี้แหละเขารู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นทองโปรยก็เลยเต็มใจที่จะแต่งงานกับสันต์ ก็มีความสนุกสนานชื่นชมในชีวิตอยู่ได้สักปีหนึ่ง พอหนึ่งปีผ่านพ้นไปเริ่มเบื่ออีกแล้ว มันไม่มีอะไรใหม่แปลก ความเป็นสามีภรรยาก็อย่างนั้นอย่างนั้นนะ เพราะมันซ้ำซากมันเคยชิน เรียกว่าชาชินไม่เห็นมีอะไรแปลกกว่านี้ ทองโปรยก็เริ่มเบื่อหน่ายเริ่มรำคาญที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเดิม แล้วเผอิญๆ ที่สันต์ก็เป็นสามีที่แสนจะดีเกินไป ดีเกินไปสำหรับความรู้สึกของทองโปรยก็เป็นได้ เพราะเคยรักเคยทะนุถนอมเคยเอาใจอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีเปลี่ยนแปลง ในใจของผู้อ่านนี่ก็นึกในใจว่า โอย..ถ้าหากว่าสันต์นี่นะเปลี่ยนเป็นจากเป็นสามีที่ดี ลงมือลงไม้กับทองโปรยบ้างสักครั้งสักคราวน่าจะดี ทองโปรยก็คงจะได้ตื่นเต้นมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ นี่อะไรๆ ก็ตามใจไปเสียทั้งหมด แม่ทองโปรยก็เลยชาชินเซ็งอีกแล้วชีวิต พอเซ็งมากๆ เข้าแล้วไม่มีอะไรมาทดแทน จิตก็คงมีความเครียด ทั้งที่ไม่ควรเครียดใช่ไหมคะ ไม่น่าเครียด แต่ทองโปรยก็เกิดความเครียด แต่ถ้าไปถามเขาสมัยนั้นคำว่าเครียดยังไม่ค่อยเป็นคำที่ใช้กันมากอย่างในสมัยปัจจุบัน แต่สมัยปัจจุบันก็พูดได้ว่าเขาเครียดอยู่ข้างใน เขาเครียดที่เขาไม่สมปรารถนาที่ไม่มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มาให้เขาได้ชุ่มชื่นใจหรือว่าตื่นเต้น เครียดไปเครียดมาทองโปรยก็เลยเกิดมีโรค เพราะความเครียดนี่เป็นต้นเหตุของโรคใช่ไหมคะ โรคใดโรคหนึ่งนะ แต่เขาไม่ได้บอกว่าทองโปรยเป็นโรคอะไร แต่ก็เจ็บๆ ออดๆ แอดๆ เป็นโน่นเป็นนี่อยู่เรื่อย รักษาหมอที่ชนบทก็ดูไม่ค่อยยังชั่วไม่กระเตื้อง เพราะอะไรละ เพราะใจไม่ยอมนะ ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับการรักษา เพราะการรักษาของหมอก็รักษาทางกาย อาจจะช่วยให้กายแข็งแรงขึ้นบ้าง แต่ใจที่โหยหาอะไรอยู่ไม่รู้นั่นนะไม่ได้รับการรักษา
ฉะนั้น อาการของทองโปรยก็ทรุดลงๆ ผลที่สุดสามีก็เลยต้องพามารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ก็นั่งเรือลำนี้แหละค่ะมา แล้วก็เผอิญมาล่มที่บ้านแพน แล้วเขาก็บอกว่าในขณะที่เรือล่มนะต่างคนก็ต่างตะเกียกตะกายที่จะเอาตัวรอดใช่ไหมคะ ฝ่ายทองโปรยนี่ในขณะที่คนอื่นเขาพยายามแหวกว่ายใช้กำลังของตัวเองที่จะว่ายเข้าฝั่ง หรือว่าจะให้หลุดรอดมาให้เต็มที่ เขาบอกว่าทองโปรยนี่เฉย ไม่กระดิกไม้กระดิกมือแข้งขา..ไม่เลย ไม่ยอมที่จะว่ายน้ำ ไม่ยอมที่จะทำอะไร ใครจะไปช่วยก็เฉย คล้ายๆ กับว่ากำลังตื่นเต้นพอใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขา คืออะไรละ คืออะไร ก็ความตายใช่ไหมคะ นี่เขาบอก เออ..ความตายนี่เป็นสิ่งใหม่ เรายังไม่เคยพบไม่เคยเห็นนะ ก็ตื่นเต้นดี ก็เลยพอใจที่จะตายไม่กระดิกกระเดี้ยตัวเอง ก็ปล่อยให้ตัวเองจมน้ำลงไปจนสิ้นใจตายนั่นนะ แปลกไหมคนอย่างนี้ น่าแปลกจริงๆ นะ หมื่นคนนี่จะพบสักคนหนึ่งหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะเรียกแม่ทองโปรยนี่ว่าผู้เห็นความสมปรารถนาเป็นความทุกข์ใช่ไหม เพราะตั้งแต่เกิดมานี่ไม่มีอะไรที่ไม่สมปรารถนา อยากได้อะไรอยากเป็นอะไรพ่อแม่ก็ปรนเปรอหาให้ พอแต่งงานสามีก็ปรนเปรอหาให้ เพราะฉะนั้นดูได้ไปเสียทุกอย่าง หรืออีกอย่างหนึ่งก็อาจจะบอกว่าเป็นคนที่ไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ..ใช่หรือเปล่า คำว่าสันโดษคงไม่ได้กระทบหูทองโปรยเลย เพราะฉะนั้นเป็นคนที่ไม่รู้อิ่มรู้พอ มีแต่ความกระหายไม่มีที่สิ้นสุด คนอย่างนี้เขาเรียกว่าอะไรคะ คนที่ไม่รู้อิ่มไม่รู้พอเอาแต่อยากจะเอาอย่างเดียว คนอย่างนี้เรียกว่าอะไร แหม..คิดมากกันนะ คนอย่างนี้เขาเรียกว่าอะไร ทองโปรยเคยให้อะไรบ้างไหมแก่คนอื่น ทำอะไรให้แก่คนอื่นบ้างไหม เขาเรียกว่าอะไร คนเห็นแก่ตัว นี่ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านพูดแล้วพูดอีก อย่าเห็นแก่ตัวแต่ให้เห็นกับผู้อื่น ถ้าหากว่าเห็นแก่ผู้อื่นเสียบ้าง มันจะทำให้เป็นอย่างไร ท่านถึงแนะนำว่าให้เห็นแก่ผู้อื่น มันจะทำให้เป็นอย่างไร จะทำให้นึกถึงตัวเองอยู่ตลอดเวลาไหม ก็ไม่นึกใช่ไหมคะ จะทำให้ลืมนึกถึงตัวเอง พอลืมนึกถึงตัวเองเข้าไปเห็นแก่ผู้อื่น ก็มีงานทำแล้วใช่ไหม จิตใจมีงานทำ ก็มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ นี่เกิดขึ้นเรื่อย
นี่แหละประโยชน์ของการเห็นแก่ผู้อื่น ทำให้ชีวิตมีความหมาย ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ทำให้ชีวิตมีความเป็นศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ทองโปรยไม่เคย ไม่เคยปรากฏว่าตั้งแต่เกิดมานี่ได้คิดทำอะไรเพื่อผู้อื่น มีแต่จะมุ่งแต่จะเอามาให้ตัวอย่างเดียว แล้วเสร็จแล้วพอมองไปรอบๆ ตัว หมดในสิ่งที่อยากเอาอยากได้ ก็เลยรู้สึกชีวิตหมดความหมาย นี่ก็เพราะอะไรละ ก็เพราะอะไร เพราะไม่รู้ว่า ไม่รู้ว่าอะไร โธ่..คำถามนี้ไม่ควรลืม ไม่รู้ว่า..เกิดมาทำไม นี่ละประโยคสำคัญ คำถามนี้ละสำคัญมาก ถ้าใครหมั่นถามตัวเองแล้วจะรู้สึกชีวิตสนุกสนาน ชีวิตตื่นเต้น ชีวิตมีคุณค่า เพราะถามว่าเกิดมาทำไม ก็ต้องทำนะ ต้องทำอะไรสักอย่าง ชีวิตจึงจะมีความหมาย จึงจะมีคุณค่า จึงจะมีศักดิ์ศรี แต่ทองโปรยอย่าไปคิดฝันเลยว่าจะมาคิดว่าเกิดมาทำไม ไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจในเรื่องของชีวิต เพราะฉะนั้นจึงปล่อยให้ชีวิตนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของอะไร มองเห็นชัดเลยทองโปรยนี่สิ้นเชิงเลย ตกอยู่ใต้อำนาจของอะไรอย่างสิ้นเชิงคะ ..ตัณหา.. ชัดเจน เพราะมีแต่อยากๆๆ ใช่ไหมคะ อยากได้ๆ อย่างนี้เรียกว่ากิเลสตัวไหนคะ อยากๆ ได้อยู่เรื่อยกิเลสตัวไหน ..โลภ.. มีแต่ความโลภ อยากได้อยู่อย่างเดียว ไม่เคยคิดจะให้ใคร ไม่เคยคิดแบ่งปันใคร เพราะฉะนั้นชีวิตของทองโปรยนี่ ก็จึงเรียกว่าปล่อยให้ตัณหาที่เป็นลูกน้องของอวิชชานี่ ลากถูลู่ถูกกังอย่างไม่ปราณีปราศรัย แต่พอใจ พอใจให้ถูกลากไปอย่างไม่รู้ทิศรู้ทาง ถ้าจะว่าไปแล้วก็เหมือนเจ้าหนุ่มน้อยบนหลังม้าใช่ไหม เจ้าหนุ่มน้อยบนหลังม้าในนิทานครึ่งนาทีนะ เป็นไงคะ ถูกลากออกไปแล้วเป็นไงละ ก็เพราะไม่เคยถามตัวเอง จึงไม่เคยรู้ว่าชีวิตนี้มีความมุ่งหมายอะไร แล้วยังเหมือนหนุ่มน้อยบนหลังม้า ที่คนเขาถามว่าจะไปไหน ไม่รู้โว้ย แล้วแต่ม้าโว้ย เป็นคนแต่ให้ม้านำม้าพาไป ม้านั่นคือม้าอะไร ม้าอวิชชา ม้านั่นคือม้าอวิชชา เพราะเมื่อมันนำไปด้วยความไม่รู้ด้วยความโง่เขลา มันก็ตะบึงไปละโดยไม่ต้องดูทิศทาง จะเข้าป่าจะลงห้วยลงเหวมันก็พาไปเพราะมันไม่ต้องคิด
เพราะฉะนั้น อันนี้นะคะ ชีวิตของคนทั้งสี่จึงเป็นชีวิตที่น่าสังเวช น่าเสียดาย เพราะเกิดมาแล้วไร้ค่า ไม่ได้ทำให้ชีวิตนี้เกิดประโยชน์แก่ใครเลย นี่ก็นึกถึงความเห็นของไอน์สไตน์ (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) รู้จักไอน์สไตน์ใช่ไหมคะ นั่นนะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เรืองนามของโลกนั่นนะ ในตอนหลังตอนที่ไอน์สไตน์มีอายุมากขึ้น แล้วเขาก็เขียนหนังสือไว้ในตอนที่มีอายุมากนี่ ก็จะหนักไปในทางของสังคมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไอน์สไตน์ได้แสดงความเอาใจใส่ในเรื่องการพัฒนาสังคมเอาไว้มากทีเดียว ได้เคยพูดเอาไว้บ้างแล้วหลายครั้ง แต่ทีนี้ก็อยากจะย้ำให้เห็นเพื่อความเห็นของไอน์สไตน์นี่จะแสดงให้เห็นถึงว่า ชีวิตที่ล้มเหลวของคนทั้งสี่นี่ เกิดขึ้นเพราะอะไร ไอน์สไตน์เขาบอกว่าจุดมุ่งหมายของความเป็นมนุษย์ของคนเรานี่นะ เขาจะเน้นอยู่ที่เรื่องหน้าที่อย่างเดียว คือหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ก็เหมือนอย่างอาจารย์พุทธทาสท่านพูดว่าอย่างไรนะ ธรรมะคือ..ธรรมะคือหน้าที่ นี่แหละถ้าจะปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ โดยเห็นแก่ผู้อื่นให้มาก อย่าเห็นแต่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ไอน์สไตน์เขาก็พูดบอกว่า ผู้ใหญ่นะคะจะเป็นครูหรือจะเป็นพ่อแม่ก็ตาม ไม่ควรที่จะอบรมเด็กให้ถือความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรในการศึกษานี่จะมุ่งอะไร การศึกษาปัจจุบันนี่จะว่าปัจจุบันทีเดียวก็ไม่ใช่ ก็เป็นอย่างนี้มาตั้ง ๑๐ – ๒๐ ปีแล้ว จะเน้นอย่างเดียวว่าชีวิตนี้ต้องทำอย่างไร เอาอะไรเป็นสำคัญ เอาอะไรเป็นสำคัญ เธอต้องมีความสำเร็จนะ..ใช่ไหม เราจะได้ยิน เธอต้องมีความสำเร็จ คือหมายความว่ามีความสำเร็จในชีวิต แต่ไอน์สไตน์เขาบอกว่า ไม่ควรอบรมเด็กให้ถือความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต จะสำเร็จนี่..ปริญญาหรือสำเร็จด้วยอะไรก็ตามที หรือพอทำการงานก็ต้องสำเร็จ ต้องสำเร็จ
แล้วในความสำเร็จนั้นยังย้ำอีกว่า สำเร็จก็คือต้องล้ำหน้าคนอื่นเขาด้วยใช่ไหม ต้องก้าวหน้าคนอื่นเขาด้วย เพราะรุ่นๆ เดียวกันก็ต้องถามว่า เออ..คนนั้นไปถึงไหนแล้ว ก็คือจะดูมีความสำเร็จล้ำหน้าเพื่อนฝูงไปได้แค่ไหนแล้ว แต่ไอน์สไตน์เขาบอกไม่ให้เน้น เขาบอกไม่ให้เน้น ไม่ให้ถือเอาความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ไอน์สไตน์บอกว่าเพราะคุณค่าของชีวิตมนุษย์อยู่ตรงที่ว่าเขาได้ให้สิ่งใดแก่สังคม นี่เห็นไหมคะ..ไอน์สไตน์ก็สิ้นชีวิตไปนานแล้ว เขาก็มีชีวิตเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่พอพูดถึงสังคมเขากลับมุ่งที่จะพัฒนาสังคมด้วยการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ นั่นก็คือควรจะพัฒนาเด็กนี่แหละให้นึกอยู่เสมอว่าได้ให้สิ่งใดแก่สังคม นี่แหละคุณค่าของชีวิตจึงจะเกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่ตรงที่สิ่งที่เขาได้รับ ไม่ใช่ดูว่าสิ่งที่เขาได้รับ ต้องดูว่าได้ให้อะไรแก่สังคมบ้าง นอกจากนี้ไอน์สไตน์ก็ยังบอกว่ามนุษย์เรานี่จะสามารถค้นพบความหมายในชีวิต ซึ่งสั้นและเต็มไปด้วยอันตรายได้ก็ต่อเมื่ออุทิศชีวิตหรืออุทิศตัวนี่ให้กับสังคมเท่านั้น ถ้าอุทิศตัวให้แก่สังคมก็จะค่อยรู้แล้วว่า ความหมายของชีวิตเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่างานนั้นจะต้องหนักเหน็ดเหนื่อยลำบาก ต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เขาจะมีความภูมิใจ มีความสุข มีความอิ่มใจทุกครั้งที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคนั้น ข้ามพ้นอุปสรรคนั้นไปได้ นี่ละจะรู้สึกว่า อ้อ..ชีวิตมีความหมายตรงนี้เอง ไม่ใช่มีความหมายตรงที่คอยรับจากคนอื่น นอกจากนี้ไอสไตล์ยังเน้นอีกว่าชะตาของคนนี่ถูกลิขิตเพื่อให้มารับใช้ ไม่ใช่มาปกครอง นี่เราจะหวังแต่เป็นอะไร เป็นหัวหน้าใช่ไหมคะ เป็นหัวหน้า เป็นผู้อำนวยการ เป็นรองอธิบดี เป็นตัวอธิบดี เป็นอะไร..คือเป็นผู้ปกครอง แต่การที่จะมารับใช้ละ..ไม่มี เพราะฉะนั้นพอไปอยู่ในตำแหน่งใหญ่เข้า รับใช้ไม่เป็น มีแต่เรียกคนอื่นมารับใช้ เพราะฉะนั้นสังคมที่อยู่ในความรับผิดชอบ สังคมส่วนนั้นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลเช่นนั้นจะพัฒนาไหม ก็บอกได้ว่าไม่พัฒนา เพราะเหตุว่าเอาแต่ปกครอง แล้วก็ปกครองโดยไม่ดูว่าได้ให้อะไรแก่ผู้อยู่ใต้ปกครองที่จะเป็นการส่งเสริมให้มีความสุขได้บ้าง นอกจากนี้อีกข้อหนึ่งที่เราจับได้ว่าไอสไตน์พอใจที่จะให้อบรมหรือพัฒนาสังคมในลักษณะนี้ก็คือ นี่เขาเน้นเลยนะคะ..ที่โรงเรียน ว่าโรงเรียนมีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็คือหมายถึงนักเรียน หมายถึงชุมชน..บุคคลที่อยู่ในชุมชน ด้วยการพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เอาปริมาณ เพราะว่าสังคมจะเจริญได้ก็ด้วยสังคมมีบุคคลมีสมาชิกของสังคมที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยกันขยันขันแข็งคนละไม้คนละมือ แต่ถ้ามีแต่ปริมาณ ก็ไม่มีละนะคะ
คำว่ามีปริมาณ ถ้าปริมาณด้วยคุณภาพ แหม..วิเศษ แต่ไม่ใช่มีปริมาณแต่เพียงนับหัวคนก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าการพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ก็คือด้วยการฝึกอบรมให้แต่ละบุคคลมองเห็นคุณค่าของการรับใช้สังคม นี่เขาเน้นตรงนี้อีก ก็ไม่น่านึกนะไม่น่านึกว่าไอน์สไตน์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกจะมาเน้นอยู่ในเรื่องของการพัฒนาสังคมที่การพัฒนาคน โดยให้รู้จุดมุ่งหมายว่าต้องรับใช้สังคม ทีนี้ก็จะเห็นเลยว่าความเห็นของไอน์สไตน์กับความเห็นของท่านอาจารย์สวนโมกข์นี่มีส่วนคล้ายกันไหม คล้ายกันตรงไหนบ้าง ที่ท่านอาจารย์ท่านเน้นอยู่ตลอดเวลาก็คือว่าจงอย่าเห็นแก่ตัว แต่จงเห็นแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้นด้วยการที่เน้นด้วยการไม่เห็นแก่ตัวให้เห็นแก่ผู้อื่น ท่านก็เน้นไปมุ่งไปที่ธรรมะข้อไหน มุ่งไปที่ธรรมะข้อไหน ทำลายอัตตาเพื่อเข้าสู่ความเป็นอนัตตาใช่ไหมคะ ทั้งๆ ที่อัตตามันไม่มี ไม่มีจะให้ทำลาย แต่เพราะความเขลาของคนทั่วๆ ไป ของปุถุชนว่านั้นเถอะ เพราะความเขลาของปุถุชนก็เลยไปยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ว่าเป็นตัวตน พอยึดมั่นถือมั่นตัวตนก็เลยคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวตน ไม่มีความสามารถคือไม่กล้า ใจไม่ถึงที่จะไปแบ่งปันอะไรให้แก่ใครเลย เพราะฉะนั้นท่านถึงเน้นว่า..อย่าเห็นแก่ตัวให้เห็นแก่ผู้อื่น ถ้าเห็นแก่ผู้อื่นมากเพียงใดก็เท่ากับได้ทำลายความยึดมั่นในอัตตาให้ลดลงๆ และจะเข้าสู่..อะไรละ จะเข้าสู่สัจธรรมแห่งอนัตตาได้ยิ่งขึ้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าความเห็นของไอน์สไตน์ที่เกี่ยวกับสังคมหรือความเห็นของท่านอาจารย์สวนโมกข์นี่ก็มีส่วนคล้ายคลึง น่าเสียดายแต่เพียงว่าไอน์สไตน์ไม่ได้มีโอกาส อาจจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาในเรื่องของธรรมะในพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และโดยเฉพาะคือไม่ได้ฝึกทดลองปฏิบัตินั่นเอง ถ้ามิฉะนั้นละก็มีสิทธินะ มีความรู้สึกว่าเขามีสิทธิทีเดียว มีสิทธิที่จะบรรลุธรรม บรรลุธรรมถึงที่สุดได้
ทีนี้เราก็ได้พูดมา ๔ ชีวิตแล้วนะคะ ก็จะพูดถึงชีวิตที่ ๕ ก็หลายคนก็อาจจะเคยได้ยินแล้วชีวิตนี้ ก็เป็นชีวิตของสิทธารถะ เคยได้ยินชื่อไหมคะ สิทธารถะ ไม่ใช่..สิตธัตถะ..นะ สิทธารถะเป็นบทประพันธ์ของเฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) ซึ่งเป็นนักเขียนมีชื่อของเยอรมัน เป็นชาวเยอรมัน แล้วเขาก็ว่าเขาได้ไปศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย คือเขาเขียนอะไรเยอะนะคะ..หลายเรื่อง แล้วเขาก็ได้ไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แล้วเขาก็มาเขียนเรื่องสิทธารถะ แต่ถ้าไปอ่านดูอย่างละเอียดก็จะมีความรู้สึกว่าไม่ตรงทีเดียวกับเรื่องของในพุทธศาสนา แล้วถ้าเราจะเห็นว่าเขาตั้งชื่อเรื่องก็ชื่อ..สิทธารถะ.. พยายามจะให้คล้ายคลึงกับเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็วิธีการแสวงหาความจริงอะไรของสิทธารถะก็จะเอาให้คล้าย แต่มีคล้ายอยู่อย่างเดียวที่ว่าเขาจะต้องศึกษาแสวงหาด้วยตัวเอง แต่อย่างอื่นก็ไม่คล้ายหรอกนะคะ ทีนี้พอพูดถึงสิทธารถะนี่เขาก็เป็นลูกของพราหมณ์ แล้วก็เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ พราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็เป็นพราหมณ์ที่ได้รับการยกย่องนับถือในหมู่พราหมณ์ด้วยกันว่าเป็นผู้ทรงคุณความรู้มากท่านหนึ่งทีเดียว แล้วก็สิทธารถะก็เป็นลูกชายคนเดียว เป็นลูกชายที่พ่อแม่ภาคภูมิใจมาก รูปร่างหน้าตาก็หล่อเหลางดงาม สติปัญญาก็เฉลียวฉลาด เรียนรู้อะไรได้เร็ว และนอกจากนั้นก็ยังมีความคิดอ่านอะไรต่างๆ ได้กว้างขวาง กล่าวว่าสิทธารถะไปอยู่ที่ตรงไหน คือปรากฏตัวที่ตรงไหนละก็นำเอาความสุข ความพอใจ ความสบายอะไรนี่มาสู่บุคคลในชุมชนนั้น คงรักที่จะมองหน้าตาที่งดงาม แล้วก็รักที่จะฟังคำพูดที่แสดงความเฉลียวฉลาด อะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นผู้ที่พ่อแม่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่มีลูกชายคนนี้ สิทธารถะก็เลยภาคภูมิใจในตัวเองด้วยเหมือนกัน แต่แล้วจู่ๆ นี่เรื่องไม่ได้ปูพื้นอะไรไว้เลย ก็ปรากฏว่าวันหนึ่งสิทธารถะเกิดรู้สึกเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในชีวิตของความเป็นพราหมณ์ แล้วก็กิจวัตรของพราหมณ์ เช่น เขาบอกว่าทำไมจะต้องไปอาบน้ำเพื่อที่จะลอยบาปทุกวันๆ ก็ยังไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่ได้อธิบายให้คนอ่านเข้าใจว่าคืออะไร อย่างไร
เพราะฉะนั้น สิทธารถะก็มีเพื่อนคู่หูที่คุ้นเคยสนิทสนมกันมาแต่เด็กชื่อว่าโควิน และทั้งสิทธารถะและทั้งโควินจะไปไหนก็จะไปด้วยกันตลอด แต่ว่าโควินนี่มักจะเป็นผู้ตามยอมให้สิทธารถะนี้ออกนำหน้า เพราะเขาเห็นว่าสิทธารถะเป็นคนเฉลียวฉลาดกว่าเขา เขาเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนพอสมควร แล้ววันหนึ่งสิทธารถะก็บอกว่า เขาคิดว่าเขาจะออกจากบ้าน วันหนึ่งนี่หมายความว่าหลายวันที่ผ่านมาแล้ว..เขาเคยมองเห็นสมณะ คือคนที่แต่งตัวเหมือนกับเป็นผู้บวชนะคะ แต่งตัวเหมือนกับเป็นผู้บวชอยู่สามคนเดินผ่านไป เขาเกิดความรู้สึกว่า เออ..ความเป็นผู้บวชนี่ น่าจะเป็นชีวิตหนึ่งที่น่าจะศึกษาและน่าจะลองเดินตาม เขาก็บอกโควินว่าเขาคิดจะออกจากบ้านละ แล้วก็จะไปเป็นสมณะ ซึ่งสมณะนี่ความหมายแปลว่าผู้สงบ เพราะฉะนั้นถ้าว่าไปแล้วถึงแม้จะไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ แต่เป็นผู้บวชหรือเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ที่มีความสงบรำงับ ก็เรียกว่าสมณะได้ แต่ทีนี้สามคนที่ผ่านไปนั่นนะที่เดินผ่านไปนั่น สิทธารถะเขาเรียกว่าสมณะ อาจจะเรียกตามความเข้าใจของเขา แล้วเขาก็บอกว่าเขาตั้งใจจะไปเป็นสมณะ เขาจะออกจากบ้าน โควินก็ถามว่า..จริงหรือ? สิทธารถะก็บอกพรุ่งนี้พบกันนะ..เราจะออกจากบ้าน แล้ววันนั้นพอกลับไปบ้านเขาก็ไปหาพ่อแล้วก็บอกพ่อว่า จะขออนุญาตออกจากบ้านแล้วก็ไปเป็นนักบวช เขายืน..ไม่ใช่ยืนนี่ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนกระด้างหรืออะไร อาจจะเป็นกับสถานที่ พ่อก็บอกว่าพ่อไม่อนุญาต ไม่เห็นด้วยที่ลูกจะออกจากบ้าน ก็เพราะลูกชายคนเดียว แล้วก็เป็นพราหมณ์ เขาก็ย่อมหวังว่าจะได้ลูกชายนี่เป็นผู้สืบตระกูลต่อไป แต่สิทธารถะก็ยืนอยู่อย่างนั้นละคือไม่เปลี่ยนท่าทาง พ่อก็ถามว่า อ้าว..ทำไมยังยืนอยู่ละ เขาก็บอกว่าก็พ่อก็ได้ยินแล้วว่าเขามีความตั้งใจอย่างไร เขาได้บอกกับพ่อแล้ว พ่อก็บอก..แต่พ่อก็ไม่อนุญาต ลูกก็ไม่เปลี่ยนแปลง เขาก็บอกว่าเขาไม่เปลี่ยนแปลง เขาก็ยืนอยู่นั่น พ่อก็ลุกออกไป ไปทำธุระอะไรอย่างอื่นตามกิจวัตรของเขา
จนกระทั่งมาถึงตอนค่ำมามองดู สิทธารถะก็ยังยืน..ยืนตัวตรงอยู่อย่างนั้นนะ ไม่ยอมไปกินข้าว ไม่ยอมเปลี่ยนท่า พ่อก็ไปนอน นอนแล้วก็เป็นห่วงก็กลับมาดูอีก กลับมาดูทีไรก็ยืนตรงอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเกือบสว่าง ก็ไม่เปลี่ยนที่เหมือนกัน พ่อก็เลยมาถาม แต่ว่าเห็นมองเห็นสิทธารถะก็ดูจะอ่อนโรย และแข้งขาที่ยืนก็ไม่มั่นคงเหมือนตอนแรก คือชักจะมีสั่นอะไรนิดๆ เพราะยืนมาเป็นเวลานาน แต่สิทธารถะก็ยืนกรานว่าอย่างไรเสียเขาก็จะยืนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน พ่อก็คงมีความสงสารแล้วก็คงรู้สึกว่าลูกคงตั้งใจจริงก็เลยบอกว่า เอาเถอะ..อนุญาต แต่ว่าถ้าหากว่าลูกไปพบอะไรที่ดีที่เกิดประโยชน์ก็มาเล่าให้พ่อฟังบ้าง แล้วก็ไปลาแม่เสียก่อนนะ แล้วถึงค่อยไป เขาก็ออกไป แล้วก็ไปกับโควิน โควินก็ยืนคอยอยู่ในตอนเช้ามืดนั่น ก็เดินไปแล้วก็ไปอยู่ประพฤติธรรม เรียกว่าไปปฏิบัติ แต่สมณะนั้นจะสอนอะไรก็ไม่ทราบนะคะ เพราะไม่ได้อธิบายในเรื่องไม่ได้บอกวิธีสอนอะไรให้เข้าใจเลย แต่เสร็จแล้ววันหนึ่งนี่..ในเรื่องก็บอกขึ้นมาเลยว่า บอกว่าสิทธารถะนี่เรียนเรื่องศีลอดแล้วก็ปฏิบัติสมาธิ จนกระทั่งจิตเขานี่มีความกล้าแข็ง เขาสามารถที่จะใช้พลังจิตของเขานี่เห็นนกผ่านมาเขาสามารถสะกดนก แล้วก็เอาจิตของเขานี่ไปเป็นนก นี่จริงไม่จริงไม่ทราบนะคะอย่ามาเชื่อว่าจริงนะ อันนี้พูดตามที่ได้ยินนะ ตามที่อ่านมาก็เล่าให้ฟัง เรียกว่าฝึกสมาธิจนกระทั่งจิตนี่แข็งขึ้นมาเชียว แต่เขาก็บอกว่า เอ..ก็ยังไม่เห็นรู้อะไรมากกว่านี้เลย ก็รู้แค่นี้ คือถือศีลแล้วก็ฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ แต่ปัญญานี่ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมากกว่านั้น คือก็มีความสมถะ มีความสงบอะไรอย่างนี้ แล้วก็วันหนึ่งก็ได้ยินข่าวว่า ได้มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็อยู่ที่นั่นๆ คือที่เชตวัน ใครๆ เมื่อได้ยินข่าวว่ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ต่างก็อยากจะพากันไปกราบนมัสการ แล้วก็ไปฟังธรรม แล้วก็ไปเป็นลูกศิษย์ของท่าน โควินกับสิทธารถะได้ยินข่าวเหมือนกันก็มีความรู้สึกว่าอยากจะไปบ้าง อยากจะไปบ้าง เขาก็ไปขออนุญาตสมณะที่เป็นหัวหน้า บอกเขาจะขอไปเฝ้าพระพุทธเจ้าคือพระมหาสมณโคดมนี่ เพื่อจะไปลองศึกษาแล้วก็ลองปฏิบัติธรรมตามวิธีที่ท่านได้รู้ได้สอนมา
หัวหน้าสมณะคือ ๓ คนนั้นกับผู้อาวุโสที่เป็นหัวหน้าโกรธมากเลย ไม่ยอมให้ไป แล้วก็โกรธว่าคล้ายๆ กับว่าไม่เชื่อถือไม่เคารพหรืออย่างไร มาเป็นลูกศิษย์กันอยู่ แล้วก็อยู่ๆ ก็จะไป ก็ว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง สิทธารถะก็บอกโควิน..คอยดูนะเขาจะพยายาม เขาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะให้สมณะหัวหน้านี่ต้องยอมให้เขาไป เขาก็ใช้สมาธิทางจิตที่สร้างพลังทางจิตที่เขาเคยเรียนมาจากครูนั่นแหละ แล้วก็จ้องครูสะกดจิตครู จนครูนี่ก็จิตอ่อนไปเลย อ่อนไปจนกระทั่งอนุญาตให้ไป พูดจาด้วยความไพเราะ นิ่ง ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้แล้ว เขาก็เลยไป ก็ใช้วิจารณญาณเอาเองนะ แล้วเขาไป เขาก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เดินทางไปเรื่อยจนกระทั่งไปพบ พอไปพบแล้วท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง เขาก็กราบทูลถามคำถาม โควินไปฟังธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็รู้สึกเคารพ แล้วก็นอบน้อมด้วยความศรัทธา เรียกว่ารู้สึกเทิดทูนบูชาแหละ แต่ฝ่ายสิทธารถะนี่มีคำถาม มีคำถามตั้งขึ้นมาเรื่อย แล้วเขาเป็นคนที่มีความรู้สึกทรนงอยู่ในตัว อยากจะใช้คำว่าเป็นคนทรนง คิดว่าตัวเก่ง คิดว่าตัววิเศษ คิดว่าตัวฉลาดอะไรทำนองนั้นนะ แล้วเขาก็บอกตัวเขาว่า เขานี่จะแสวงหาหนทางทำลายอัตตา แต่จะแสวงหาอย่างไรวิธีไหนไม่ปรากฏชัดเจนอีกเหมือนกัน เพราะว่ามีแต่ความอยาก มีความอยากที่จะทำลายอัตตานี่เป็นจุดประสงค์ของเขา เขาจะทำลายอัตตา แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเขาเกลียดชังอัตตานี้อย่างไร เพราะอะไร ทำไมจึงต้องทำลายมัน แล้วอีกอันหนึ่งที่เขาพูดประกาศไว้ก็คือว่า เขาต้องการจะค้นหาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเขาจึงจะว่าปฏิเสธในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่เชิง ก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่คล้ายๆ กับว่าถ้าเขารับฟังคำสอนแล้วเอามาปฏิบัติ เขาก็ไม่ได้ใช้สติปัญญาของเขาเอง เขาก็ต้องการจะไปค้นคว้าด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่าพระมหาสมณโคดมนี่เป็นบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ จะไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว ตกลงก็เป็นอันว่าโควินนี่อยู่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมต่อไป แต่ส่วนสิทธารถะนี่ก็ออกเดินทางต่อไปเพื่อไปแสวงหา แต่แสวงหาอะไรก็ไม่ได้ปรากฎชัด รู้แต่ว่าเขาก็เดินทางไปๆ
จนผลที่สุดก็ไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง แล้วก็ไปพบชายแจวเรือจ้างที่มีความสงบเยือกเย็นผ่องใส แล้วก็ไปแจวเรือจ้างพาเขาไปส่งข้ามฟาก พอเขาขึ้นอีกฝั่งหนึ่งได้ ก็เดินเข้าไปปะปนเข้าไป เข้าไปสู่เมือง แล้วก็ในเมืองนั้นน่ะก็ได้พบผู้หญิงงามคนหนึ่งที่ชื่อกมลา เป็นผู้หญิงงามที่เขาเรียกว่าเป็นผู้หญิงงามประจำเมืองก็คงเข้าใจใช่ไหมคะ ในสมัยโน้นอินเดียเขาก็มีประเพณีว่าผู้หญิงคนไหนสวยมาก แล้วใครๆ ก็ตอมรัก อยากจะได้ เขาก็ตัดปัญหาด้วยการยกให้เป็นนางงามประจำเมือง แล้วก็จะรับแขกทุกคนที่ผ่านมา โดยสามารถที่จะจ่ายเงินให้ตามที่กำหนดกัน กมลานี้ก็เป็นผู้หญิงงามมากแล้วก็เป็นผู้หญิงฉลาดมากด้วย สิทธารถะเพียงแต่เห็นกมลานั่งรถ ไม่ใช่นั่งรถนะ..นั่งอะไรละ จะเรียกว่าเกี้ยวหรือว่าวอ หรืออะไรสมัยก่อนนี้นะ..ที่คนหามผ่านไป แล้วก็ตาสบกันเท่านั้นนะ เขาก็ติดใจแล้ว..ติดใจกมลาแล้ว แต่ทีนี้ในตอนนั้นนะก็อย่าลืมว่าการแต่งเนื้อแต่งตัวของเขานี่ไม่ใช่เป็นสิทธารถะลูกของพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่มีเครื่องแต่งกายหรูหราเป็นแพรพรรณสวยงาม เขาไปเป็นสมณะอยู่หลายปี เพราะฉะนั้นก็เครื่องแต่งตัวที่เขาแต่งนี่คือผ้าเตี่ยว มีผ้าห่มเล็กๆ แล้วก็ขะมุกขะมอมมากเลย จะไปเทียบกับกมลาหญิงงามนี่ไม่ได้กัน เข้ากันไม่ได้ แต่ผลที่สุดเขาก็เดินตามไปจนกระทั่งถึงสวนของกมลาที่เป็นบ้าน แล้วก็หาโอกาสจนกระทั่งได้เข้าพบ กมลาก็รู้ว่าผู้ชายคนนี้ถึงแม้จะขะมุกขะมอมเหมือนผ้าขี้ริ้วเพียงใดก็ตาม แต่ในตัวเขานี่ก็มีอะไรที่แสดงถึงความเฉลียวฉลาด แสดงถึงความองอาจกล้าหาญ แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองอะไรทำนองนั้น ก็ดูเหมือนนะถ้าจำไม่ผิด ก็จะได้เปลี่ยนผ้านุ่งผ้าห่ม ได้รับประทานอาหาร แล้วก็เข้าเมืองต่อไป เพราะกมลาเขาจะไม่ชอบผู้ชายที่เป็นช้างเท้าหลัง หรือผู้ชายที่ไม่พยายามสร้างศักดิ์ศรีของตนเองให้เกิดขึ้นให้สมกับความเป็นผู้ชายเป็นลูกผู้ชาย ก็แต่เขาก็แนะนำ..แนะนำวิธีให้ไปหาพ่อค้าผู้หนึ่งที่เป็นผู้ที่มีกิจการค้ากว้างขวาง เฉลียวฉลาด แล้วก็เป็นเพื่อนของกมลา นั่นแหละสิทธารถะก็ไปพบกับพ่อค้านั่น และก็ด้วยความเฉลียวฉลาดของเขา เขารู้หนังสือเขียนหนังสือได้ เขาสามารถใช้ภาษาที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นภาษาที่ใครอ่านแล้วก็จะต้องชมว่าเป็นภาษาที่งดงามไพเราะ ตกลงก็เป็นอันว่าได้ทำงานกับนักธุรกิจผู้นั้น
แล้วด้วยความฉลาดของเขานี่ เขาก็ทำไปจนกระทั่งได้เป็นหุ้นส่วน จนกระทั่งมีเงินมากมาย และในระหว่างนี้เขาก็ได้ไปหากมลาเกือบทุกวัน คือกมลาก็จะรู้สึกว่าพอใจในสิทธารถะนี่มากกว่าผู้ชายคนอื่น คือเขาเคยชมว่า..ถ้าจะว่าไปแล้วสิทธารถะนี่เป็นผู้ชายที่แข็งแรงมาก สรุปก็คือว่าในช่วงของชีวิตนี้ เขาเรียกว่าเป็นช่วงที่สิทธารถะตกอยู่ในวัฏสงสาร ในวงของวัฏสงสาร วัฏสงสารคืออะไร ก็เป็นวงกลมของการเวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกามคุณ ๕ ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง มีบ้านใหญ่อยู่ แล้วก็มีข้าทาสบริวาร กิจการค้าก็รุ่งเรือง แต่ในขณะเดียวกันสิทธารถะก็ยิ่งกระโจนเข้าไปในวงล้อของสังสารวัฏยิ่งขึ้น ดื่มเหล้า เล่นการพนัน เป็นนักสกาที่มีชื่อ แล้วก็นอกจากนั้นแล้วเขาก็พร้อมที่จะต่อรองในเรื่องการพนันอย่างชนิดไม่ยอมแพ้ จึงได้เงินมาก เป็นแพ้ก็มี..แต่ว่าส่วนมากแล้วเขาก็จะได้คืน นอกจากนั้นอาหารซึ่งแต่ก่อนเขารับประทานมังสวิรัติตอนนี้รับประทานทุกอย่าง เนื้อ หมู ปลา อะไรรับประทานหมด ขอโทษหมูเขาคงไม่รับประทานนะพวกอินเดียนะ เขาก็รับประทานหมดทุกอย่าง ก็เป็นอันว่าเขากระโจนเข้าสู่วงของสังสารวัฏอย่างเต็มที่เลย แล้วก็วงจรของเขาก็อยู่ที่บ้านที่ทำงานแล้วก็มาหากมลา มาอยู่กับกมลาเป็นประจำ แล้วก็อยู่อย่างนี้ ใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้เห็นจะร่วม ๒๐ ปีหรือเปล่าไม่ทราบ เขาบอกตอนนี้เขามาส่องกระจกดู เขามองเห็นผมเขาเริ่มมีสีขาวๆ เขาเริ่มมีอายุเข้า ๔๐ ปี ก็แสดงว่าแก่เร็วนะ เพราะว่าคนอายุ ๔๐ นี่ผมยังไม่เริ่มหงอกเลย แต่นี่เขาบอกเริ่มจะมีประปรายแล้ว แล้วก็พอคิดไปคิดมาวันหนึ่งนี่จิตที่เคยตั้งใจเอาไว้ว่าอยากจะมาอยู่กับสมณะ อยากจะมีชีวิตเป็นผู้บวช บางครั้งคราวก็กลับมา คือกลับมาเตือนอยู่ในจิตใต้สำนึก แต่ส่วนใหญ่แล้วละก็หลงลืมเสียบ่อยๆ เพราะความที่คลุกเคล้าอยู่กับเรื่องของกามคุณ ๕ เรื่องของโลกีย์วิสัยอยู่เป็นประจำ
แต่แล้ววันหนึ่งนี่ผ่านไปก็เกิดความรู้สึกเอือมระอาน้อยๆ กับชีวิตที่เป็นอยู่ เริ่มเบื่ออาหารที่หรูหรา เริ่มเบื่อชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ เริ่มเบื่อเสื้อผ้าที่เป็นแพรพรรณ เบื่อบ้าน เบื่ออะไรต่ออะไรทุกอย่างที่เขาเคยมี เขามีอยู่มากมายทั้งสวนทั้งอะไร เบื่อหมด แล้วก็เอือมระอาการดำรงชีวิตอย่างที่เป็นอยู่อย่างนั้น เขาก็ไปนั่งเงียบสงบอยู่ที่ใต้ต้นมะม่วงที่ในสวนของเขา แล้วก็รำลึกถึงย้อนหลังถึงความรู้สึกที่เขามี ก็นั่งเงียบอยู่อย่างนั้นนะ จนกระทั่งรุ่งเช้าเขาก็ตัดสินใจว่าขออำลา อำลาจากทุกสิ่งที่เขามีอยู่เป็นอยู่ทั้งหมด เปิดประตูออกไปจากสวนของเขา ไม่มีอะไรติดตัว คำว่าไม่มีอะไรติดตัวทรัพย์สินเงินทองไม่ได้มีไม่ได้ติดตัวไป เพราะว่าตั้งใจไปนั่งเล่นในสวน แต่เมื่อตัดสินใจเขาก็เดินออกไป ก็เดินเรื่อยๆๆๆ ไป ก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะไปที่ไหน แต่ก็เดินเรื่อยออกไป จนกระทั่งไปถึงแม่น้ำ แม่น้ำสายเก่าที่เขาเคยข้ามเรือมา ที่มีผู้แจวเรือจ้างที่สงบเย็นแล้วก็น่าเคารพที่ชื่อว่าสุเทพ เป็นผู้แจวเรือจ้างอยู่ตรงนั้น ก่อนที่จะไปถึงตรงท่าที่จะลงเรือจ้าง ก็เหนื่อยมากหิวมาก เพราะไม่ได้กินอะไรเลย ก็เลยไปนอนหลับที่ใต้ต้นมะพร้าว พอนอนหลับอยู่ที่ใต้ต้นมะพร้าว แล้วก็เข้าใจว่าคงหลับไปเป็นหลายชั่วโมงเชียว อิ่ม นอนหลับ..นอนหลับอย่างอิ่ม ตื่นขึ้นก็เห็นพระภิษุองค์หนึ่งมานั่งอยู่ข้างๆ แล้วก็หันมองเขา แต่เขาจำได้ทันทีเลยว่าพระภิกษุผู้นั้นนะคือโควิน ซึ่งบัดนี้ได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว โควินจำสิทธารถะไม่ได้ ก็บอกว่าที่มานั่งอยู่ตรงนี้เพราะเห็นว่านอนหลับอยู่ แล้วที่ตรงนี้มีงูผ่านไปมามาก แล้วดูท่านนี่หลับสนิทจะปลุกก็เกรงใจ เลยนั่งเฝ้า แล้วตัวโควินเองก็หลับไปบ้าง แล้วก็พอตื่นขึ้นมาก็พอดีสิทธารถะตื่นขึ้น สิทธารถะจำได้ ถามว่าท่านจะไปไหนนี่ ก็นี่พวกเราที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ก็จะจาริกไปตามที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเผยแผ่ศาสนา สั่งสอนอบรมผู้คนทั้งหลาย นี่ก็ให้บรรดาเพื่อนพระภิกษุเดินทางล่วงหน้าไปก่อน บัดนี้เมื่อท่านตื่นขึ้นแล้วปลอดภัยแล้วก็จะไปละ
แล้วเสร็จแล้วสิทธารถะเขาก็ร้องเรียกชื่อโควิน ก็เป็นอันว่าทักทายกันในฐานะที่จำได้ โควินจากไป สิทธารถะก็เดินไปตามทางถึงที่แม่น้ำ ซึ่งยังคงเป็นแม่น้ำที่สงบ แต่วาสุเทพที่เป็นผู้แจวเรือจ้างบัดนี้ก็ดูแก่ชราไปบ้างเหมือนกัน วาสุเทพก็จำสิทธารถะไม่ได้ สิทธารถะก็ขอข้ามฟาก พอลงข้ามฟากเขาก็บอกว่า เมื่อคราวก่อนนี้ท่านพาเราไปส่งฟากด้านโน้นนะก็ไม่มีเงินให้ท่าน เพราะตอนนั้นมาอย่างสมณะที่ยากจน คราวนี้ก็ไม่มีเงินให้ท่านอีก ขอท่านกรุณารับเสื้อผ้าอันนี้เป็นค่าโดยสารได้ไหม วาสุเทพก็บอกอย่าหลอกกันเลยแต่งตัวหรูหราอย่างนี้จะไม่มีเงินได้อย่างไร สิทธารถะก็ย้ำว่าเขาไม่มีเงิน วาสุเทพก็เลยบอกถ้าอย่างนั้นขอเชิญพักที่บ้านเขาก็ได้ ที่บ้านเขาก็เป็นกระท่อมเล็กๆ สมถะไม่มีอะไรมาก สิทธารถะก็รับคำด้วยความเต็มใจ เพราะเขานี่คงเบื่อนะคะ เบื่อโลกีย์วิสัย ความหรูหรา ความฟุ้งเฟ้อฟู่ฟ่าทั้งหลายที่พบมา อยู่กับกามคุณ ๕ นี่ก็เบื่อเต็มทีแล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้เมื่อได้มาอยู่ในที่สงบที่เย็น ในความเรียบง่ายกับธรรมชาติไม่มีอะไร ก็พอใจ..พอใจที่ได้อยู่อย่างนี้ แล้วเสร็จแล้ววาสุเทพก็เลยขอเป็นลูกศิษย์ ขอโทษ..สิทธารถะก็ขอเป็นลูกศิษย์ของวาสุเทพ แล้วก็ขอเรียนงานการแจวเรือเพื่อจะได้ช่วยกันแจวเรือต่อไป ก็เป็นอันว่าสิทธารถะก็มาใช้ชีวิตของเขาในตอนท้ายที่เขาบอกเป็นชีวิตแสวงหานี่นะคะ ก็คือมาอยู่กับความสงบ อยู่กับธรรมชาติ แล้วก็เรียนรู้ความสงบที่วาสุเทพมีในจิตใจ แล้วก็ในตัวของเขา แล้วก็แผ่รัศมีของความสงบนี่ออกมาสู่ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ด้วย ทั้งสองก็อยู่ด้วยกันอย่างนี้เป็นเวลานานพอสมควร ต่อมาก็วันหนึ่งนะคะ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งๆ มา เดินมากับลูกน้อยคนหนึ่ง ท่าทางกระหืดกระหอบ แล้วก็รีบร้อนมาก ก็มีคนถามว่าจะไปไหน ก็ได้ข่าวว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่จะปรินิพพาน เพราะฉะนั้นสตรีนี้ก็พยายามที่จะรีบไปเพื่อให้ทันเวลาที่จะได้เฝ้าก่อนที่จะปรินิพพาน แต่ในขณะนั้นนี่ก็อ่อนเพลีย เหนื่อย ก็นอนพัก ก็เลยมีงูเลื้อยมาก็เลยกัด หญิงนั้นก็คือกมลา จูงมือลูกชายน้อย ซึ่งก็คือลูกของสิทธารถะ ว่าจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่วนลูกชายน้อยนั่นนะเกะกะเกเรมากเพราะว่าแม่ตามใจ แล้วเคยอยู่แต่ความสุขสบายร่ำรวย เมื่อถูกพาเดินระหกระเหินเป็นระยะทางไกล ก็แหม..ออกฤทธิ์กับแม่ต่างๆ นาๆ พอแม่ถูกงูกัดก็ตกใจมากเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร
ก็พอดีวาสุเทพกับสิทธารถะมาทางด้านนั้น ก็ได้ยินเสียงร้องของเด็ก ก็มาดูก็จำได้ ก็เลยอุ้มพาไปที่บ้าน แต่ว่ากมลาก็เจ็บหนักมากแล้ว เพราะเหตุว่าถูกงูที่กัดนี่เป็นงูมีพิษร้ายแรง แล้วกมลาก็จำสิทธารถะได้ ก็ดีใจ ก็พูดจาฝากฝังกัน และก็บอกว่านี่คือลูกของสิทธารถะ ซึ่งพอเห็นหน้าลูกเท่านั้นนะก็ชื่นใจแล้วสิทธารถะ ก็รักทันทีว่านี่เป็นลูกของเรา แล้วไม่ช้ากมลาก็สิ้นชีวิต สิ้นชีวิตที่เตียงเดียวกับที่ภรรยาของวาสุเทพได้เสียชีวิต แล้วเขาก็พากันนำศพของกมลาไปฝัง แล้วก็สิทธารถะก็พยายามจะเกลี้ยกล่อมลูกน้อยให้อยู่กับตัวที่กระท่อมนั่น แต่ว่าเจ้าลูกน้อยคนนี้โอหังยะโสแล้วก็ยอมรับไม่ได้ เราอยู่บ้านโอ่โถงเป็นตึก มีบริวารเยอะแยะ แล้วนี่จะต้องมาอยู่กระท่อมเล็กๆ แล้วก็ไม่มีอะไรเลย แล้วก็อยู่กับตาแก่จนๆ คนนี้ ท่าทางก็ไม่น่านับถือ และถึงแม้ว่าจะบอกว่าเป็นพ่อก็เถอะ ฉลาด..เด็กคนนี้ฉลาด แล้วก็ใช้คำพูดที่แหลมคม เรียกได้ว่าทิ่มแทง ทิ่มแทงให้สิทธารถะต้องเจ็บใจต้องเสียใจ แต่ด้วยความรักลูกยอมอดทน จะด่าจะว่าอย่างไร จนกระทั่งไม่ยอมเชื่อว่านี่เป็นพ่ออะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็ยอมๆ ทุกอย่าง แต่อย่างไรเสียเจ้าเด็กน้อยนี้ก็ไม่ยอมอยู่ดี วันหนึ่งขณะสองคนนี้ออกไปทำงานคือสิทธารถะกับวาสุเทพกำลังออกไปทำงาน ก็ปรากฏว่าพอกลับมาไม่เห็นเจ้าเด็กน้อยนี่แล้ว แล้วก็ที่เก็บเงินนี่ก็เปิดอ้า แล้วเงินในนั้นไม่เหลือเลย พร้อมกับเรือก็ถูกพายไปฟากกระโน้นแล้ว พายก็ถูกทิ้งไปด้วย เขาก็เดาได้ละเจ้าหนูน้อยนั่นก็ขโมยเงินไป แล้วก็พายเรือข้ามฝั่งไป แล้วด้วยความฉลาดก็เอาพายทิ้งเสียจะได้ไม่ติดตามได้อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเป็นอันว่าลูกน้อยหนีไป สิทธารถะก็ยังพยายามตามอยู่ แต่วาสุเทพก็เตือนสติว่า ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับเด็กจะอยู่นะ เด็กที่คุ้นเคยกับความรุ่มรวย ความสบาย แล้วก็เป็นเด็กที่ฉลาด แล้วก็ค่อนข้างจะดื้ออย่างนี้ด้วย ดื้อแล้วก็เรียกว่าโอหังด้วย ก็คงจะไม่ได้หรอก สิทธารถะพยายามตาม ตามแล้วผลที่สุดก็มานึกถึงคำของวาสุเทพก็เลยหยุดตาม แต่ก็เศร้าหมองเสียใจ เป็นทุกข์อยู่เป็นเวลานานเชียว แล้วก็ค่อยๆ จางคลายไป ก็หันกลับมาอยู่กับความสงบ เรียนรู้ความสงบกับวาสุเทพต่อไป
แล้ววันหนึ่งวาสุเทพก็บอกว่า เขาก็จะไปละตอนนี้ เขาก็ไม่อยู่ด้วยแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าถึงเวลาที่เขาจะต้องไป ไปคนเดียว เพื่อที่จะได้ฝึกปรืออบรมตนเองให้ยิ่งขึ้น สิทธารถะก็เลยรับหน้าที่เป็นผู้แจวเรือจ้างต่อไป เป็นอย่างไรคะเรื่องนี้อะไรผูกใครละ อะไรผูกอะไร อะไรผูกใคร ลองอธิบายสิคะ สิทธารถะนี่มีอะไรผูกไหม ในชีวิตของเขานี่ เขามีอะไรที่จะผูกเขาบ้างไหม ก็ดูชีวิตที่เขาผ่านมาเป็นระยะๆ อันแรกที่เป็นขั้วใหญ่หรือเป็นก้นบึ้งนะเรารู้แล้ว อันนั้นคืออะไร ตัณหาความอยาก ไม่ต้องพูดนะคะ มันมีอยู่ในใจของเขา เขามีความอยาก แล้วเขาก็มีความทรนงในความเก่งกล้าสามารถ ในสติปัญญาความเฉลียวฉลาดของเขา เพราะฉะนั้นเขามีความอยาก..อยากที่จะเป็นหนึ่ง ชีวิตจิตใจของสิทธารถะอยากจะเป็นหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ยอมที่จะเรียนรู้หรือยอมเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่เขาก็ยอมรับว่าพระองค์ยิ่งใหญ่ แต่ถึงกระนั้นเขาก็อยากที่จะเรียนรู้ แสวงหาด้วยตนเอง แต่วิธีการแสวงหานั้นก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่าแสวงหาได้ด้วยวิธีไหน แต่อันหนึ่งก็คือความอยากนี่เป็นเบื้องต้นตลอดทาง เด่นออกมาในชีวิตของสิทธารถะ ปุถุชนทุกคนก็มีความอยากทั้งนั้นนะคะ แต่ความอยากก็จะแยกแขนงออกไป อยากอะไร อยากอะไร แต่สำหรับของสิทธารถะนี่เขาบอกต้องการอยากที่จะทำลายอัตตาของเขา แต่ในขณะที่อยากจะทำลายอัตตาตั้งแต่ออกจากบ้านมา สิทธารถะก็ตกไปอยู่ในวังวนของวัฏสงสารใช่ไหมคะ ของโลกีย์ ของกามคุณ ในขณะที่เขาไปมีชีวิตอยู่ในเมืองตั้งร่วม ๒๐ ปีนะ ก็เรียกว่าเฉไฉออกนอกทาง แต่ถึงกระนั้นด้วยจิตลึกๆ ของเขานี่ก็สำนึกได้ ก็ดึงตัวออกมา พอดึงตัวออกมาแล้ว เขามาโดนเครื่องผูกอะไรอีก ที่ทำให้เขาต้องเศร้าหมอง เสียใจ เป็นทุกข์ ..ลูก.. เห็นไหม ลูกของใคร ลูกของฉันๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่เล็ก เพียงแต่กมลาบอกว่านี่แหละลูกของเรา ลูกของเธอ เพราะกมลาจำได้ว่าใครเป็นพ่อ เพราะตั้งแต่สิทธารถะจากมากมลาหยุดรับแขก ไม่รับแขกอีกเลย เพราะฉะนั้นลูกคนนี้คือลูกของสิทธารถะแน่นอน สิทธารถะก็ถมเอาความรักของความเป็นพ่อเข้าไปให้ลูกอย่างเต็มที่ แต่ลูกไม่ยอมรับ ลูกไม่ยอมรับลูกตัดความสัมพันธ์ ลูกนี่ฉลาดนะ เพราะฉะนั้นที่ขโมยเงินก็เพื่อกลับไปบ้านในเมือง
เพราะที่บ้านในเมืองก็กมลาก็ยังมีบ้านอยู่ ยังมีข้อทาสบริวารที่จะดูแลต่อไป เพราะฉะนั้นก็ไปถูกสังโยชน์ที่ผูกมัดอีก นั่นก็คือลูก แต่ก็ด้วยเหตุปัจจัยนั่นเอง เหตุปัจจัยแวดล้อม เหตุปัจจัยอันนี้ก็เพราะลูกไม่ยอม ถ้าลูกโอนอ่อนเข้ามาเป็นลูก มาเป็นลูกอยู่กับพ่อ น่ากลัว น่ากลัวอะไร ที่พูดว่าน่ากลัวนี่ น่ากลัวอะไร น่ากลัวสิทธารถะก็เลยตกจมอยู่ตรงนี้..ไม่หลุดใช่ไหมคะ แต่นี่บังเอิญลูกหนีไปเสียไม่สามารถที่จะมาเลี้ยงดูเขาเป็นลูกเพราะเขาไม่ยอมรับแล้ว สิทธารถะก็มีโอกาสได้เป็นอิสระพ้นจากเครื่องผูกนั้นได้ ทีนี้พอมาติด พอพ้นจากลูก สิทธารถะก็พยายามที่จะอยู่กับความสงบให้ยิ่งขึ้นด้วยการที่จะแสวงหาแก้ไขตัวเองด้วยอะไร ด้วยอะไร สิ่งที่สิทธารถะไปหาในตอนสุดท้ายนี่คืออะไร นี่ละเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าจะมาคล้ายกันกับวิธีแสวงหาของเจ้าชายสิทธัตถะก็คือธรรมชาติ เข้าหาธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ แต่ทว่าวิธีแสวงหาของสิทธารถะนั้นจะว่าไปแล้วแสนสบาย ทำไมถึงแสนสบาย เพราะไม่ได้ตกระกำลำบากนอนกับดินกินกันทราย หรือว่าทรมานพระวรกายด้วยวิธีต่างๆ เพื่อที่จะค้นหา..ไม่ต้อง เพียงแต่ว่าแจวเรือจ้าง แล้วก็ปลูกอะไรต่อมิอะไรรับประทานเอง แล้วก็อยู่กับความสงบเรียบง่ายอย่างสบาย แล้วยังมีเพื่อน แต่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั้นองค์เดียวที่ทรงอยู่ในป่า แต่ถึงกระนั้นก็ตามสิ่งที่ควรเป็นที่สังเกตก็คือว่า ผลที่สุดแล้วธรรมะนั้นจะหาได้จากที่ไหน..ธรรมชาติ นี่อย่าลืมนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามนุษย์เรานี่อยู่ห่างไกลธรรมชาติมากเท่าใด ก็เท่ากับห่างไกลธรรมะเท่านั้น ยิ่งอยู่ใกล้ธรรมชาติก็จะยิ่งเห็นธรรมะหรือสัจธรรมที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติ แล้วก็จะนำเข้ามาสอนตนได้ ฉะนั้นผลที่สุดสิทธารถะก็สามารถที่จะชนะได้ ก็ด้วยการที่เขาเข้าอยู่กับธรรมชาติ จนกระทั่งความเป็นอัตตายึดมั่นในอัตตาค่อยๆ ละลายไป ค่อยๆ ละลายไปก็เพราะอะไร เพราะเขาปลดสิ่งที่เป็นเครื่องผูกที่มีต่อเขานี่ ที่เขามีอยู่นะ ออกไปทีละอย่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่ปลดกามคุณที่มีต่อกมลา กมลาเองก็รักสิทธารถะด้วยความสุจริตใจ พยายามที่จะช่วยเหลือบอกกล่าวสนับสนุนทุกทางเท่าที่จะทำได้ นี่เขาก็ปลดตัวเขาเองจากกามารมณ์ คือจากเรื่องของทางเพศ แล้วก็ปลดตัวเองจากกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทุกอย่างทุกประการ ปลดออกไปทีละน้อยๆๆ
จนกระทั่งมาถึงปลดออกจากความผูกพันของสิ่งที่เป็นของกูที่สนิทชิดชอบกับหัวใจที่สุด ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก เพราะลูกไม่เอาหรอกว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้าลูกเอาก็คงยังปลดไม่ค่อยจะออกละนะคะ แล้วผลที่สุดก็ยอมอุทิศชีวิตของตัวนี่เข้าอยู่กับธรรมชาติ เขาจะพิจารณาดูจากสายน้ำไหล..น้ำที่ไหลผ่านไปนี้นี่ให้ความเย็น ในกระแสน้ำนั้นมีอะไรบ้าง เขาก็จะดูทุกอย่างจนกระทั่งซึมซาบความสงบ ความเย็น ที่เกิดจากสายน้ำนั้น แล้วก็เมื่อดูข้างนอกจากข้างใน หมายความว่าการที่เขาดูข้างนอกนี่เขาไม่ได้ดูด้วยตาเนื้อ แต่เขาเอาใจนี่ออกไปสัมผัส เพราะฉะนั้นเขาก็ได้รับสิ่งที่เป็นธรรมะนะ สิ่งที่เป็นธรรมะอันอยู่ข้างในนั้น ออกมาสู่ใจของเขามากยิ่งขึ้น ซึ่งไอน์สไตน์เองก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาเอาไว้เหมือนกัน เขาบอกว่าคนที่รู้แจ้งเห็นจริงในศาสนาคือคนที่ได้ปลดเปลื้องตัวเองออกจากโซ่ตรวนแห่งความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน นั่นก็คือปลดตัวเองออกจากโซ่ตรวจของอะไร ถ้าพูดอย่างสั้นๆ ความเห็นแก่ตัวก็คือจากอะไร ความเห็นแก่ตัวจากความยึดมั่นในอัตตา จากความยึดมั่นในอัตตาตัวตน นี่ไอน์สไตน์เขาก็บอกว่าคนที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในศาสนาคือเข้าถึงธรรมะอย่างสูงสุดนั้นนะ ต้องเป็นคนที่ปลดเปลื้องตัวเองออกจากโซ่ตรวจแห่งความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ก็คือจากความยึดมั่นในอัตตา นี่ที่ว่าน่าเสียดายนะที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมคือเขาไม่มีโอกาสเพราะไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด เข้ามาปฏิบัติธรรม แต่ที่เขาพูดนี่ก็ตรงกับเรื่องของอนัตตาใช่ไหม ถ้าเขาเข้าใจไตรลักษณ์แล้วเขาพิจารณา แล้วก็พิจารณาในเรื่องของอนัตตา ไอน์สไตน์นี่มีสิทธิที่จะได้บรรลุธรรมแน่ๆ เลย เพราะความเฉลียวฉลาดและความเห็นแก่ผู้อื่น
ฉะนั้น เขาก็เลยเท่ากับว่าสรุปมาให้เราฟังนะว่า โอ..สิทธารถะนี่ก็เป็นชีวิตที่หลุดพ้นมาจากเครื่องผูกที่เราพูดอย่างโลกๆ ละนะ สรุปอย่างโลกๆ เขาก็หลุดพ้นมาจากเครื่องผูก ก็คือหลุดพ้นมาจากสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ กาม คือการที่อยากจะหลุดพ้นจากตัวตนนี่ อยากจะหลุดพ้น แต่ทีนี้ถ้าหากว่าไอ้สิ่งที่จะมาขวางที่เป็นอุปสรรคนี่ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากตัวตนได้ ที่สำคัญที่สุดนี่คืออะไร คือเรื่องของกาม ใช่ไหมเราทุกคนนี่ เราอาจจะไม่ได้ไปติดพันกับเรื่องของกามารมณ์ แต่กามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใครหลุดแล้วบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของรสใช่ไหมคะ เรื่องของรส ร เรือ ส เสือ นี่สำคัญมากเลย ทุกวันนี้รสที่ตัดไม่ขาดนี่ รสอะไร รสอาหารใช่ไหม รสอาหาร ตัดไม่ขาด มันเอร็ดอร่อยอยู่ตลอดเวลา ต้องการความเอร็ดอร่อยอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เรียกได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นเครื่องผูกที่น่ากลัวของมนุษย์นี่ คือเรื่องของกาม จากรสของอาหาร ก็ยังมารสของกามารมณ์ รสที่ได้รับทางตา รสที่ได้รับทางหู รสที่ได้รับจากสัมผัส นี่ล้วนแต่อยู่ที่คำว่ารสทั้งนั้น รวมแล้วคืออยู่ในคำว่ากาม เพราะฉะนั้นเรื่องของกามท่านผู้รู้ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ความจริงแล้วมันน่ากลัวเพราะให้โทษทุกข์อย่างสาหัสจากผู้ที่ติดอยู่ในกาม ท่านถึงเปรียบว่ากามนี่มันเหมือนกับกระดูกติดเศษชิ้นเนื้อ เศษมัน เหมือนอย่างกระดูกหมูทอดกระเทียมพริกไทย เอ้า..คนก็กินหมดแล้ว กินเนื้อหมดแล้ว แทะเนื้อหมดแล้ว ก็ยังมีเนื้อเศษนิดๆ หน่อยๆ ติดกระดูกนั่น พอโยนลงไป อะไรมาคาบ หมา หมาหรือแมวไม่รู้คาบได้ แต่หมามันไวกว่ามันก็มาคาบเอาไป ก็แทะอยู่นั่นแหละ แทะจนฟันจะเหี้ยนจะเตียน แล้วเศษเนื้อที่ตัวกระดูกไม่เหลือแล้ว ก็ยังเอร็ดอร่อย ลองไปแย่งมันสิ ได้เห็นดีกันละว่านั้นเถอะ เพราะฉะนั้นนี่ท่านถึงเปรียบว่ากามนี่น่ากลัวมาก บางทีท่านก็เปรียบเหมือนกับหัวงูพิษ ถ้าไปถูกถ้าไปจับมันเข้า หรือมันกัดหัวงูพิษก็ถึงตาย
ท่านมีคำเปรียบความหมายของคำว่า..กาม..เยอะแยะหลายอย่าง ล้วนแล้วแต่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะได้พิจารณาถึงเรื่องโทษทุกข์ของกามนี่ยิ่งขึ้นๆ วันนี้ก็อยากจะจบเพียงแค่นี้ก่อน เพราะว่าถ้าพูดต่อไปแล้วถ้าหากว่าเดี๋ยวมันจะไม่จบมันจะค้าง แต่อย่างไรก็ตามเถอะก็จะขอสรุปเอาไว้สักนิดหนึ่งว่า ในห้าชีวิตที่ผ่านมานี่นะคะ เรื่องของกามเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และต่อมาที่เป็นพื้นฐานที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ เรื่องของตัณหาที่เป็นสมุทัยของความทุกข์ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้แล้ว นี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งทีเดียว ฉะนั้นที่พูดมาทั้งหมดว่าติดในอะไร ติดในกาม ติดในรส ก็เนื่องจากอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาตัวตัณหาที่ใจ เมื่อมันเกิดตัณหาขึ้นมาเมื่อไหร่ ดับมันทันที ถ้าดับตัณหาได้..ทุกข์ดับ ละลายตัณหาได้..ทุกข์สิ้น จะไม่เกิดขึ้น และวิธีที่จะช่วยได้ก็คือถามตัวเองอยู่เสมอด้วยคำถามว่า..ชีวิตคืออะไร หมั่นถามอยู่เสมอ แล้วจะเป็นเสมือนกับเครื่องเร่งให้จิตของเรานี่อยากจะกระทำสิ่งที่ถูกต้องที่เป็นคุณงามความดี ที่จะเกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากยิ่งขึ้นๆ ชีวิตนั้นก็จะมีแต่จะยกขึ้น ไม่ถลำตกลงไปสู่ที่ต่ำ หรือจะตกลงไปอยู่ในเหวของความทุกข์
ธรรมะสวัสดีนะคะ