แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้ก็จะขอพูดเรื่องเครื่องผูกต่ออีกนะคะ คือเครื่องผูกของสัตว์โลก อย่างคราวก่อนนี้เราก็พูดถึงเครื่องผูกของสัตว์โลกที่อาจจะเข้าใจได้ง่ายๆ อย่างคนโลกๆ ซึ่งสรุปลงคือในเรื่องของกามและเรื่องของตัณหา ทีนี้วันนี้ก็อยากจะพูดถึงเครื่องผูกในพระพุทธศาสนาที่ท่านมีไว้เป็นระเบียบกฎเกณฑ์นะคะ คือสิ่งที่เรียกว่าสังโยชน์ หรือสังโยชน์ 10 เพราะว่ามีอยู่ 10 ประการด้วยกัน สังโยชน์แปลว่าเครื่องผูกหรือล่ามเหมือนกับโซ่ตรวนหรือขื่อคาที่เขาจองจำนักโทษ ความหมายของสังโยชน์หมายความว่าอย่างนั้น แต่ทีนี้พวกโซ่ตรวนขื่อคาที่เขาจองจำนักโทษนั้นมันเป็นข้างนอกคือเขาจองจำทางกาย เขาล่ามทางกาย แต่สำหรับสังโยชน์นี้หมายถึงเครื่องที่มันผูกจิตใจเอาไว้ให้ติดอยู่ ติดอยู่กับอะไร คือติดอยู่กับความทุกข์ในวัฏฏะ วัฏฏะก็หมายความว่าในวงกลม เราทั้งหลายนี่แหละล้วนแล้วแต่อยู่ในวงกลมคืออยู่ในวัฏฏะทั้งสิ้นหรือบางทีก็เรียกว่าวัฏฏะสงสาร ก็ว่ายเวียนกันอยู่ในวงกลมนี่แหละ ไม่สามารถจะขึ้นหรือจะออกหรือจะตัดวงกลมนั่นออกมาได้เลย ในวงกลมนี้ก็พูดถึงความทุกข์ในวัฏฏะแบ่งออกได้เป็น 10 ข้อ ความทุกข์นี่มันไม่ได้เกิดขึ้นเองหรอก แต่ว่าจิตไปผูกนี่ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น ข้อที่ 1 คือสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือความเห็น สักกายทิฏฐิก็มีความเห็นว่าสิ่งที่มาประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้านี่ มีแขนมีขามีตัวมีศีรษะมีข้างในมีตามีหูมีจมูกอะไรเหล่านี้รวมกันอยู่หลายอย่าง นี่เขาเรียกว่ากาย เพราะกายแปลว่าหมู่ มีหลายอย่างมารวมประกอบเข้าด้วยกันก็เรียกว่ากาย แล้วก็สักกายทิฏฐิก็หมายถึงความเห็นที่มายึดเอาว่ากายที่มองเห็นนี่แหละเป็นตนเป็นของตน หรือว่าเป็นกูหรือว่าเป็นของกูเพราะฉะนั้นความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะเหตุนี้แหละค่ะ ก็เพราะว่าพอมายึดว่าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นฉันก็อยากจะให้อะไรๆ เป็นไปตามที่ใจฉันต้องการ หรือตัวต้องการหรือว่ากูต้องการ แต่จริงๆ แล้วมันไม่เป็นไปตามนั้นใช่ไหม ที่มันไม่เป็นไปตามนั้นก็เพราะเหตุว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยอย่างใด ผลก็เป็นอย่างนั้น และก็มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่ชื่อว่ากฎอิทัปปัจจยตา ทีนี้เมื่อบุคคลมายึดว่ากายนี้เป็นของตนก็เลยถูกผูกติดอยู่กับความทุกข์ตลอดเวลาเลยเหมือนกับถูกล่ามโซ่ตรวนที่ไม่มีวันปลดสักทีหนึ่ง นี่คือการยึดมั่นถือมั่นในร่างกายว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน มีสงสัยไหมคะในเรื่องของสักกายทิฏฐิ ทีนี้พอข้อที่ 1 ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนแล้วก็ยึดมั่นเอาจริงๆ ด้วยนะคะเห็นเป็นตัวตนเป็นก้อนเป็นแท่งและก็ไม่ยอมให้เป็นอย่างอื่นเลย แล้วก็ต้องการจะให้เป็นอย่างที่ตัวตนต้องการ นี่เป็นข้อที่ 1 หรือเป็นสังโยชน์ข้อที่ 1
ทีนี้สังโยชน์ข้อที่ 2 ก็คือวิจิกิจฉา เราได้ยินคำวิจิกิจฉาอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ได้ยินวิจิกิจฉาในนิวรณ์ วิจิกิจฉาในนิวรณ์คือความลังเลสงสัยไปทุกเรื่องและมันมาทำให้จิตใจนี่ไม่สบาย มันเหมือนกับมีความกังวล มีความวิตก มีความเป็นห่วงระแวงกลัวอะไรไปล่วงหน้า แต่สำหรับวิจิกิจฉาในสังโยชน์นี้ท่านบอกว่ามันก็เป็นความลังเลสงสัยเหมือนกัน แต่เป็นความลังเลสงสัยที่ไม่แน่ใจว่านี่มันถูกต้องหรือเปล่าคือลังเลสงสัยในความไม่ถูกต้องของสิ่งที่เกี่ยวข้องนั่น เช่นเป็นต้นว่าอยู่ๆ ก็เรานี่เป็นโรคอะไรหรือเปล่านะ เขาเป็นมะเร็งกัน อาการของเราอย่างนี้เข้าข่ายเป็นมะเร็งหรือเปล่า ต้องไปถามเพื่อนที่เขาเป็นหรือไปหาหมอ ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เป็น แต่เพราะมันมีวิจิกิจฉาหรือบางทีก็นึกว่าอยู่บ้านนี่มันจะปลอดภัยไหม ไม่ได้มีใครเข้ามาจี้เข้ามาปล้นหรือเข้ามาทำร้ายเพราะได้อ่านข่าวบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ก็ได้ระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้วในส่วนที่บ้านของเรา นี่ก็เกิดจากวิจิกิจฉา แล้วถ้าใครมีอยู่บ่อยๆ นะคะแน่นอนจิตใจก็ไม่ว่างใช่ไหมคะ มันก็เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ มันก็กลัวนั่นกลัวนี่ระแวงไปเรื่อยๆ ไม่เป็นอันได้สงบสุขได้ ฉะนั้นวิจิกิจฉาก็ทำให้เกิดความไม่ปกติ ลังเลสงสัยของวิจิกิจฉาในสังโยชน์คือไม่แน่ใจลงไปเด็ดขาดเลยว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ไม่สามารถจะตัดสินลงไปให้เด็ดขาดได้ แล้วก็เรื่อยไปเลยนะคะ ลังเลสงสัยเรื่อยไป เอ๊ะ บ้านนี้ตอนที่สร้าง ช่างมันไม่ค่อยทำอะไรเต็มฝีมือเลย ต้องคอยกำกับ ต้องคอยบอกแล้วบอกอีก ตรงนั้นก็ไม่แน่นหนาให้มั่นคง พอไปจับๆ มันจะหลุดหรือเปล่านี่ หรือมันจะพังลงมาหรือเปล่า นอน ๆ ก็ชักสะดุ้ง เห็นไหมคะ นี่วิจิกิจฉาเพราะไม่สงสัยว่าถูกต้องหรือไม่ ถูกต้องในที่นี้คือความมั่นคง ความมั่งคงของบ้านแล้วก็ยังเรื่องอื่น ๆ อีก คิดเองได้เลยนะคะ ทีนี้วิจิกิจฉาในสังโยชน์นี่มันก็ละเรื่อยไปจนกระทั่งสงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ เคยได้ยินไหมคะที่เขาถามกันว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ก็นี่มันก็ 2,500 กว่าปีแล้ว แล้วก็กล่าวว่าพระพุทธเจ้ามีพระนามว่าอย่างนั้นมีพระราชประวัติอย่างนั้น และได้ทรงทำอย่างนั้น อย่างนั้น จริงหรือเปล่า ใครจะเป็นพยานจะถามกันมาอย่างนี้ว่าจริงหรือเปล่า นี่เรียกว่าสงสัยในพระพุทธว่ามีจริงไหมหรือว่ามีใครมาหลอก
เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านก็มักจะแนะนำว่าก็ไม่ต้องไปกลัวหรอกว่าใครจะมาหลอก เรามาพิจารณาดูที่คำสอนนั้นว่าคำสอนนั้นมันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงไหม ถ้าเอามาพิสูจน์ทดลองแล้วจะสามารถเป็นจริงคือปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เอาอย่างนี้ดีกว่าใครจะเป็นคนพูดไม่สำคัญ แต่ว่าในทางพุทธศาสนาของเราเราก็เชื่อว่าสมเด็จพระมหาสมณโคดมที่เขาเรียกพระนามท่านในสมัยพุทธกาลนั้นเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงเสาะแสวงหาธรรมะด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งตรัสรู้ ฉะนั้นถ้าสงสัยในพระธรรมที่บอกว่าอิทัปปัจจยตานี่มันเป็นยังไง ก็มันอธิบายอยู่แล้วใช่ไหมคะว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี ถ้าสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่มี คือถ้ากระทำเหตุปัจจัยอย่างนี้ ผลก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอื่นหรือใครจะมีพยานมาอธิบายว่าไม่มีเป็นอื่นก็มี ก็อยากฟังเหมือนกัน มีไหมคะ ถ้ามีก็ว่ามาให้ฟัง ถ้าไม่มีก็ลองไปทดลองดู ลองไปทดลองพิสูจน์ดูทั้งในทางบวกและในทางลบ ทีนี้ถ้าสงสัยในพระธรรมก็พิจารณาด้วยการเอามาพิสูจน์เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสอยู่เสมอว่าเมื่อท่านทรงบอกสิ่งใดไม่ต้องเชื่อ ไม่ขอร้องให้ใครเชื่อ แต่ขอร้องให้ฟังและก็ใคร่ครวญแล้วก็ไปพิสูจน์ทดลอง เรียกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตัดสินกันตรงนั้น เมื่อเวลาที่ไปลองพิสูจน์ทดลองด้วยการปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติให้ตรงด้วยนะคะ ต้องไม่เฉไฉไปนอกธรรมที่ท่านแนะนำ ถ้าเฉไฉหรือไปเปลี่ยนแปลงเอาตามใจของตนเองแล้วก็บอกว่าไม่จริงก็รับไม่ได้เพราะไม่ยุติธรรม เพราะฉะนั้นก็เอาไปลองดู พระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทุกเรื่อง จะบอกว่าทุกแง่ทุกมุมก็ได้เพราะเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงค้นพบแล้ว พบแล้วก็ปฏิบัติ แล้วก็พิสูจน์แล้วถึงได้เอามาสอน หรือบางทีก็สงสัยในพระสงฆ์ก็อาจเป็นได้บ้างนะคะ แต่สำหรับในสมัยปัจจุบันที่เรามีอะไรสงสัยเกี่ยวกับในเรื่องของพระสงฆ์ก็มีพระธรรมพระวินัยเป็นเครื่องตัดสินใช่ไหมคะ ฉะนั้นถ้าเกิดสงสัยในการประพฤติปฏิบัติหรือในสมณสารูปของพระสงฆ์รูปใดองค์ใด ก็อย่าเพิ่งไปพูดอะไรก็ไปอ่านพระธรรมวินัยเสียก่อน คือศึกษาพระธรรมพระวินัยให้เข้าใจที่ท่านบอกว่าผู้เป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร มีระเบียบ มีข้อห้ามที่ท่านจะต้องยกเว้นอะไรอย่างไรบ้าง เอาสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องตัดสิน อย่าไปตัดสินด้วยความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองซึ่งไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ถ้าหากว่าเมื่อเกิดความลังเลสงสัย วิธีที่จะแก้ก็คล้ายๆ กับวิจิกิจฉาในเรื่องอื่นเหมือนกัน คือในข้อธรรมอื่น เมื่อลังเลสงสัยว่ามันจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็เพราะขาดความรู้นั่นเองแหละ ความรู้ไม่เพียงพอในเรื่องนั้น ก็จำเป็นต้องหาความรู้ให้ชัดเจนให้รู้รอบให้ทั่วถึงแล้วจึงค่อยตัดสินหรือดำเนินคือกระทำไปตามนั้น นี่เป็นสังโยชน์ข้อที่ 2 วิจิกิจฉา มองดูฟังดูเหมือนกับว่ามันไม่เห็นจะน่ากลัวอะไร แต่คิดดูให้ดีนะคะมันเสียเวลาไหม มัวแต่มานั่งสงสัยนั่นใช่ไหม นี่ใช่ไหม มันดูเหมือนคนปัญญาอ่อน เพราะฉะนั้นแทนที่จะมานั่งสงสัยอยู่ รีบแก้ไขทันทีด้วยการหาความรู้เพิ่มจากการอ่าน จากการฟัง จากการไต่ถาม จากการลองทดลองด้วยตนเอง แล้วก็จะได้คำตอบที่แท้จริง นี่เป็นข้อที่ 2
ทีนี้ข้อที่ 3 ชื่อว่า สีลัพพตปรามาส อันนี้หมายถึงว่า ถ้าพูดตามตัวที่พูดกันมาท่านก็บอกว่า เป็นการยึดถือลูบคลำอย่างเข้าใจผิดในสิ่งนั้นๆ คือไม่รู้ว่าควรหรือไม่ควรที่จะมีความยึดมั่นถือมั่น มีความเชื่อถืออะไรในสิ่งเหล่านั้น ไม่แน่ใจในสิ่งนั้นๆ เช่น เครื่องรางของขลัง เป็นต้น ก็คงรู้จักเครื่องรางของขลังใช่ไหมคะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรต่ออะไรทั้งหลายที่ทำกันมา แล้วก็พอได้ยินได้ฟังหรือว่าได้มาหรือมีใครเขาให้หรือไปหามาก็ลูบคลำก็มีความหมายว่าค่อนข้างจะเชื่อถือ เชื่อถือในสิ่งนั้น โอนี่คงจะศักดิ์สิทธิ์ คงจะคุ้มครองรักษาเราได้ หรือในเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ ปาฏิหาริย์ของบุคคล หรือปาฏิหาริย์ของดินฟ้าอากาศ หรือปาฏิหาริย์ของอะไรอื่นๆ ต้นหมากรากไม้ที่เช่น ต้นกล้วยออกปลี ออกหน่อ ออกลูกมากกว่าธรรมดาผิดจากปกติธรรมดาก็ได้รับการปิดทองกราบไหว้บูชาเพื่อจะถือว่าจะได้นำโชคลาภมาให้ เพราะฉะนั้นโชครางต่าง ๆ นี่เออวันนี้เดินสะดุดพร้อมๆ กับสะอึกเกิดอะไรขึ้นสักอย่างเป็นแน่เลยก็ต้องระมัดระวัง วันนี้ต้องมีอะไรไม่ดีมันทั้งสะดุดและทั้งสะอึกก็ไปกินน้ำเสีย สะอึกก็ไปกินน้ำ ถ้าสะดุดก็มีสติในเวลาเดิน พอจะเดินจะก้าวมีสติมันก็ไม่สะดุด เพราะฉะนั้นมันก็แก้ไขได้ง่ายๆ แต่เรื่องโชคลางหรือว่าถ้าตุ๊กแกร้อง ถ้าร้อง 1 ครั้ง 2 ครั้งไม่ดี ลางไม่ดี โชคไม่ดี ต้องร้องตั้งแต่ 9 ครั้งขึ้นไป วันนี้โชคดีแน่ ถ้าจะซื้ออะไรก็น่าจะซื้อแล้วถูกทำนองนั้น นี่คือการถือโชคลาง หรือจิ้งจกร้อง จั๊กจั๊กจั๊ก คนที่นั่งอยู่ก็ต้องทำปาก จุ๊ๆๆ เป็นการตอบที่จิ้งจกร้อง จะร้องสักกี่ครั้งก็ต้องทำปากจุ๊ๆๆ อย่างนั้นให้คล้ายๆ กัน ถ้าจะมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นจะได้หายไป นี่ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ซึ่งจะต้องระมัดระวังไว้นะคะ ทำไมถึงบอกระมัดระวัง เพราะว่าในเรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องคิดเอาเอง ถูกหรือเปล่า แล้วก็เป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ คำว่าพิสูจน์ไม่ได้ หมายความว่าพิสูจน์เมื่อใดมันจริงเมื่อนั้น นี่อาจจะเผอิญจริงบ้าง และก็ไม่จริงบ้าง เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัจธรรม นี่ค่ะที่ท่านบอกให้ระวังหรืออย่างในเรื่องศีลในเรื่องวัตร
วัตรก็คือข้อปฏิบัติต่างๆ ไปลูบไปคลำ ใช่หรือไม่ใช่ อย่างเช่น ถ้าหากว่าจะรับศีล รับศีล 5 ก็ตาม หรือรับศีล 8 ก็ตาม วันนี้ตั้งใจมาที่วัดเพื่อมารับศีลจากบ้าน แต่เผอิญท่านเจ้าคุณท่านไม่ลงโบสถ์วันนี้ และก็มีท่านองค์อื่นมาให้ศีล ไม่แน่ใจเลยว่าศีลวันนี้ที่เราได้รับนี้มันจะบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือมันจะปฏิบัติได้ นี่ไม่เข้าเรื่องเลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอย่างหลวงพ่อท่านอาจารย์ชา บางครั้งถึงวันพระ วันลงอุโบสถมีญาติโยมมาเยอะเลย หลวงพ่อขึ้นธรรมมาสน์แล้วหลวงพ่อก็บอกเอาล่ะวันนี้ให้ศีลกันเอง คำว่าให้ศีลกันเองก็คือว่าไป นะโม ตัสสะ อะไรเริ่มต้น ขอศีลเสียก่อนแล้วก็นะโม ตัสสะ แล้วก็ว่าศีลไปตั้งแต่ข้อ 1 2 3 ไปตามลำดับ ท่านบอกมันดีกว่านะ อย่างนี้ดีกว่า ดีกว่าที่จะให้ท่านองค์ไหน องค์ไหนมาให้ เพราะเวลาที่ท่านให้ก็ว่าตาม แต่ถ้าหากว่าเราว่าของเราเองนี่มันคล้ายๆ กับมีความตั้งใจเหมือนตั้งใจจะปฏิญาณจะรับอยู่ในใจ อย่างนี้ยังไงก็วันนั้นพยายามที่จะรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อยนะคะ หลวงพ่อท่านบอกใช้วิธีนี้สิจะได้มีความตั้งใจ มิฉะนั้นพอพระท่านให้ศีลก็ว่าตามกันไปปาวๆ บางทีก็ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำไปว่าความหมายของศีลแต่ละข้อนั้นหมายความว่าอะไร และอย่างไร ฉะนั้น ถ้าหากว่ารับศีลในลักษณะนี้มันก็เหมือนกับสีลัพพตปรามาส เพราะไม่ได้รับศีลด้วยการสมาทานศีล เข้าใจใช่ไหมคะสมาทาน สมาทานท่านหมายความว่ารับไว้ด้วยความเคารพ ไม่ใช่ทำด้วยเล่นๆ ด้วยความเคารพและด้วยความตั้งใจว่าจะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอย่างถูกต้อง งดงามไม่ให้ด่างพร้อย นี่ก็เรียกว่าลูบคลำในข้อศีลข้อวัตร
ถ้าหากว่าใครที่สวดมนต์อยู่เสมอแล้วก็สวดมนต์บทพิเศษด้วยนะคะ พอจะจำได้ไหมบทที่ว่า เขมาเขมสรณทีปิกคาถา นึกออกไหม พะหุงเว สะระณัง ยันติ ปัพพะตานิวะนานิ จะ อารามะรุกขะเจตยานิ มะนุสสา ภะยะตัชชิตา ซึ่งแปลว่า มนุษย์เป็นอันมากเมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้วก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้างเป็นสรณะ เคยได้ยินไหมคะบทนี้ นี่แหละสีลัพพตปรามาส ท่านก็บอกว่า เนตังโข สะระณัง เขมัง เนตัง สะระณะมุตตะมัง เนตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะ ทุกขา ปะมุจจะติ นั่นมิใช่สรณะอันเกษมเลย สรณะคือที่พึ่ง ไม่ใช่สรณะอันเกษม อันเกษมก็คือที่ชื่นใจ ที่ชื่นชมที่เป็นจริงที่ถูกต้องนั่นแหละ นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ นี่จึงเป็นสีลัพพตปรามาส โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต จัตตาริ อะริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐสี่ด้วยปัญญาอันชอบ ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง ทุกขัสสะจะ อะติกกะมัง อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐเครื่องถึงความระงับทุกข์ นี่แหละถ้าหากว่าหันมาศึกษาอริยสัจ 4 ประการ ตลอดจนกระทั่งถึงอริยมรรคมีองค์ 8 อยู่เป็นเนืองนิตย์ นี้จะเป็น เอตังโข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ บทสวดมนต์บทนี้สรุปว่ายังไงคะ บอกว่าไงคะ บอกว่าสิ่งที่ควรเคารพนับถือเป็นสรณะอันสูงสุด เป็นสรณะอันเกษมคืออะไร พระธรรมข้อไหนที่ท่านเน้นบอกให้ชัดเลยพระธรรมข้อไหน อริยสัจ 4 อริยมรรค เพราะอริยสัจ 4 นี่แหละเป็นหลักเบื้องต้นของพรหมจรรย์ เป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครต้องการความปลอดภัย ปลอดจากทุกข์จริง ก็ต้องพยายามที่จะศึกษาให้รู้จักเรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ และชีวิตจะได้มีแต่ความเกษม และก็ศึกษาอริยมรรคมีองค์ 8 ก็คือดำเนิน ดำเนินชีวิตตามหนทางอันประเสริฐอย่างนี้ เพราะฉะนั้นบทเขมานี่เป็นบทที่เตือนสติได้อย่างดีเลยค่ะ แล้วก็จะบอกด้วยว่าอย่าทำอย่างนี้นะ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นสีลัพพตปรามาส มีสงสัยไหมคะเรื่องของสีลัพพตปรามาส นี่เขาเรียกว่าลูบคลำ บางทีก็อาจจะเอ๊ะที่วัดนี้ทำไมไม่เห็นมีพระพุทธรูปมาตั้งให้กราบไหว้กันทั่วๆ ไปเลย ตรงนั้นไม่มี ไปมีอยู่ตรงโน้น ถ้ามาวัดแล้วไม่ได้กราบไหว้พระ มันเหมือนกับไม่ได้มาวัด อันนี้มันก็ไม่เกี่ยวข้องกันอีก เป็นเรื่องจิตใจไปประหวั่นไปนึกอย่างนั้น นี่เป็นข้อที่ 3
ทีนี้ข้อที่ 4 สังโยชน์ข้อที่ 4 ก็คือ กามราคะ กามราคะคือยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความรักความใคร่ นี่กามราคะ ถ้าเห็นอะไรที่เป็นที่ตั้งแห่งความรักความใคร่ คือพอมองเห็นเข้ามันกระตุ้นยั่วยุให้เกิดความรักจนกระทั่งความใคร่ เข้าใจความแตกต่างระหว่างความรักกับความใคร่ใช่ไหมคะ ความรักก็นุ่มนวลดีหรอก แต่พอถึงความใคร่มันร้อน เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าระวังอย่าให้ขึ้นไปถึงความใคร่ ถ้าขึ้นไปถึงความใคร่คืออัตราของความยินดีเพิ่มมากขึ้นๆๆ ทีแรกรักมันก็ยังเย็นๆ แต่เพิ่มมากขึ้นๆ รุนแรงมากขึ้นจนถึงระดับสูงสุดคือความใคร่ นั่นมันกลายเป็นกามไป เพราะฉะนั้นในข้อกามราคะก็คือยินดีรักใคร่พอใจในสิ่งที่เป็นวัตถุหรือเป็นปัจจัยแก่ความใคร่จนกลายเป็นเรื่องของกิเลส ถ้ามีความรักเย็นๆ ล่ะก็มันยังไม่ถึง แต่ถ้ามันรุนแรงขึ้นทุกที ทุกที ในใจก็ดิ้นรนอยากจะอยู่ใกล้ อยากจะกอดรัด นั่นกลายเป็นเรื่องของกิเลส เพราะความยินดีนั้นมันมากเกินความจำเป็น ใช้คำว่าจำเป็นนะคะเป็นเครื่องตัดสิน เช่นเดียวกันกับเรื่องการกินอาหาร ถ้าหากว่ากินเพียงเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน ก็ไม่เป็นกามราคะ แต่ถ้าหากว่าอยู่เพื่อกิน คือจะต้องกินอาหารอร่อย แล้วก็อร่อยไม่ได้หมายความว่าเป็นอาหารที่ถูกสุขภาพอนามัยแก่ร่างกาย แต่มันเป็นเครื่องอร่อยเพราะมันสนองตัณหาของใจของจิต ชอบเปรี้ยว ชอบเค็ม ชอบหวาน ชอบมัน ต้องรสจัดเช่นนั้นถึงจะเรียกว่าอร่อย แล้วถึงจะกินได้ ถ้าอย่างนั้นกินไม่ได้นี่เรียกว่าอะไรกิน อะไรกินอาหาร ลองนึกดูสิคะ กิเลสกิน ถูกไหม กิเลสมันกิน มันเรียกร้องว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้มันเกินความจำเป็น แต่ที่จริงถ้าเขาจะกินอาหารเพื่ออยู่ เพื่อบำรุงร่างกายให้อยู่ได้ มีข้าวมีกับ 2 อย่าง 3 อย่าง 2 อย่างก็มากแล้วที่พอจะรับประทานได้ เป็นอาหารเป็นกับข้าวที่สะอาดไม่สกปรก ไม่มีเชื้อโรคปะปนเท่านี้ก็เป็นอาหารที่เพื่อยังชีวิตก็ถูกต้องแล้ว และก็ไม่เรียกร้อง ไม่บ่นที่จะให้มันมากกว่านั้น ก็ยังไม่เป็นกิเลส แต่เมื่อใดที่ต้องการให้เกิดความเอร็ดอร่อยแก่จิตใจตามกิเลส นั่นมันก็เป็นกามอีกชนิดหนึ่งนี่เราพูดกันถึงเรื่องของรส นึกออกไหมคะ รสนี่แหละเป็นกามชนิดหนึ่ง กามชนิดนี้คือกามอะไร กามชนิดนี้คือกามอะไร แล้วก็พูดกันเมื่อเร็วๆ นี้แหละ กามชนิดนี้คือกามอะไร กามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใช่ไหมคะ ทำไมถึงเป็นกามคุณ 5 หรืออยู่ในประเภทของกามคุณ 5 เพราะมันเป็นการบำรุงบำเรอในความหมายของกิเลส ใช่หรือเปล่า ถ้ากิเลสไม่เรียกร้องจะเดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อน อะไรที่มันพอสะอาดถูกสุขภาพ ใช้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เครื่องตัดสินก็คือว่าถ้าต้องการเท่าที่จำเป็น จำเป็นแก่ชีวิต จำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือยังชีวิต เช่น กินเพื่ออยู่ พออยู่ได้สบายๆ ไม่ใช่โง่กินเพื่อเอร็ดอร่อยอย่างนี้ก็ไม่ใช่กามราคะ แต่ถ้าเกินไปกว่านี้ก็กลายเป็นกามราคะ เดือดร้อนแล้วใช่ไหม เดือดร้อนแม่ครัว เดือดร้อนตัวเอง นี่เป็นข้อที่ 4 ของสังโยชน์
ทีนี้ข้อที่ 5 คือปฏิฆะ ปฏิฆะนี้หมายถึงความรู้สึกไม่ชอบใจ มันไม่ถึงกับโทสะ มันเบา มันอ่อนกว่า ถ้าเป็นโทสะมันจะแสดงออกมารุนแรง ออกทางสีหน้า วาจา ท่าทาง และก็อาจจะตึงตัง หน้าตาจะแดง วาจาจะไม่ไพเราะ น้ำเสียงก็กร้าวกระด้างนั่นแสดงถึงอาการโทสะ แต่ปฏิฆะนี่อาจจะไม่แสดงออกมาข้างนอกเลยก็ได้ ข้างนอกก็ยังมองดูเรียบร้อยมองดูสงบแต่ข้างในนี่มันหงุดหงิดมันตะหงิดตะหงิดอยู่ในใจ นี่คืออาการของปฏิฆะที่มันอ่อนกว่า มันอ่อนกว่าโทสะนะคะ อย่างคนที่มีธรรมชาติเป็นคนใจเย็นแล้วก็อ่อนโยนอยู่เสมอ ก็จะไม่ค่อยออกโทสะแต่ทว่าปฏิฆะนี่ไม่แน่ อาจจะมีปฏิฆะอยู่ในใจ คือรู้สึกไม่ชอบใจ รู้สึกหงุดหงิด มีความกระทบกระทั่งพอมีอะไรที่มาสะดุด ไม่ถึงมากระแทกแรงๆ กระแทกแรงๆ อาจจะเกิดโทสะ นี่มันมาสะดุด สะดุดนิดๆ เกิดหงุดหงิดเกิดไม่ชอบใจ นี่บอกให้ทำอย่างนี้นะ บอกหลายครั้งแล้วทำไมถึงไม่ทำ กวาดบ้านนี่บอกกวาดสะอาดแล้วก็ต้องกวาดตรงมุมตรงซอกด้วย มันก็หงุดหงิดตะหงิดตะหงิดเพราะเคยบอกไว้แล้วอย่างนี้เป็นต้น หรือบางทีก็ปฏิฆะนี่อาจเกิดจากสัญญา สัญญาก็คือความจำได้หมายมั่นที่มีอยู่ ที่มันเกิดขึ้นแล้วในอดีตซึ่งอันนี้เป็นมาก เป็นมากหมายความว่าเป็นเหตุให้เกิดปฏิฆะขึ้นได้ง่ายและก็ได้มากอยู่ เพราะฉะนั้นสัญญาจากอดีตนี่ต้องระมัดระวัง ท่านจึงบอกว่าถ้าไม่มีสังขารคือไม่มีการปรุงแต่ง สัญญาจากอดีตจะทำอะไรไม่ค่อยได้หรอกค่ะ พอมันผุดโผล่ขึ้นมา สติมาทันก็ตัดมันออกไปทันที ใช้ลมหายใจนี่แหละง่ายๆ หรือมิฉะนั้นก็หยุดถ้าเข้มแข็งพอ หยุดหันกลับมาพิจารณาสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันที่เฉพาะหน้าที่จะเกิดประโยชน์ต่อไป ฉะนั้นสัญญาในอดีตต้องระมัดระวัง ทั้งบวกและทั้งลบ มันจะเข้ามากระทบกระทั่งแล้วก็ทำให้จิตใจเกิดหงุดหงิด ไม่ชอบ มันกระตุกกระติกอยู่ข้างใน จิตมันไม่เรียบแล้ว หรือบางทีก็จากผัสสะที่เกิดในปัจจุบัน คือปัจจุบันขณะนี่ก็มีผัสสะมากระทบ ถ้าเป็นผู้ที่ชอบมีโทสะก็ผางออกไปเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยฝึกอบรมใจแล้วมีสติอะไรบ้างพอสมควรแล้วแต่ว่ามันก็ยังมีอยู่ยังไม่ได้หมดเกลี้ยงก็จะออกมาในลักษณะของปฏิฆะ คือค่อยๆ เบาๆ บางๆ นิดๆ หน่อยๆ จะนิดจะหน่อยจะมากก็ตามทีแต่มันทำให้จิตใจนี่ไม่สงบ ไม่ว่างไม่เย็นและก็ไม่เบาสบาย นี่เป็นข้อที่ 5 ของสังโยชน์ ทีนี้ท่านจึงบอกว่าให้ระวังให้ดีๆ นะ เรื่องของสัญญาในอดีตระวังให้มาก
ทีนี้สังโยชน์ข้อที่ 6 รูปราคะ รูปราคะ และข้อที่ 7 คืออรูปราคะ นี่พูดไปด้วยกันได้เพราะว่าความหมายลักษณะอาการของมันนี่เหมือนๆ กัน เรียกว่าอยู่ในเครือเดียวกันเพียงแต่ว่ารูปราคะคือการยึดติดในรูปนั้นก็หมายถึงสิ่งที่เป็นรูปเป็นตัวเป็นตนเป็นวัตถุ เรียกว่ารูป แต่ทีนี้บางคนก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นติดในรูปแต่ไปติดในสิ่งที่ไม่ใช่รูปมันคืออะไร ก็ขออธิบายต่อไป ก็จะเริ่มจากกามราคะ คือเอาราคะมารวมพูดกันเพื่อจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น กามราคะเราก็ได้พูดมาแล้วในข้อที่ 4 ทีนี้ก็เอาพูดซ้ำอีกว่า กามราคะคือพอใจติดแน่นในวัตถุปัจจัยของกาม ชัดเจนเลยถ้าเป็นกามราคะ หมายความว่าวัตถุอันนั้นมันยั่วยุให้เกิดอารมณ์อยู่ในเรื่องของกาม อยู่ในวงของกาม จึงเรียกว่ากามราคะ แต่ถ้าเป็นรูปราคะก็หมายถึงว่าพอใจติดแน่นอยู่ในรูปล้วนๆ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับกาม คือไม่มีความรู้สึกไขว้เขวเกี่ยวไปถึงเรื่องของกาม มันเจาะลงไปในรูปนั้นล้วนๆ เช่นยังไง ก็เช่น คนบางคนไม่ชอบไม่ยุ่งกับผู้หญิง แต่ชอบเครื่องลายคราม เคยได้ยินไหมคะ ที่เขาเรียกว่าบ้าลายคราม หรือว่าบ้าสะสมภาพเขียนของนักเขียนนักวาดภาพ ศิลปินคนนั้นคนนี้ นี่ก็เรียกว่าเป็นรูปแต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของกาม หรือบางทีก็เป็นนักเล่นตะโกดัด นักเล่นต้นไม้ เล่นบอน เล่นนกเขา เล่นปลากัดหรือว่าบ้าเลี้ยงสุนัข บ้าเลี้ยงม้า อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ปรนเปรอลงไปเสียเงินเสียทองเท่าไรไม่มีเสียดาย คนยากจนเข็ญใจไปมองดูแล้วอยากเป็นหมาบ้านนั้น อยากเป็นม้าบ้านนี้ มันสุขสบายกว่าเราที่หาเช้ากินค่ำตั้งเยอะแยะ นี่แหละเรียกว่ารูปราคะ ทีนี้อรูปราคะก็คือการติดใจในสิ่งที่มิใช่รูป มีความยินดีติดแน่นในสิ่งที่มิใช่รูป คือมิใช่เครื่องลายคราม มิใช่ต้นตะโกดัด หรือว่าปลากัดอะไรเหล่านั้น แต่ว่าพอใจในสิ่งที่ไม่มีรูปคือเป็นนาม เป็นนามธรรม เช่น ยินดีในชื่อเสียงเกียรติยศ อย่างนี้เป็นต้น บ้าชื่อเสียง บ้าเกียรติยศ บ้าอำนาจ ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มันไม่มีรูป มันเป็นเรื่องความรู้สึก แล้วมันก็ติดแน่นอยู่ในใจ แล้วก็อยากจะได้ อยากจะมีอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นราคะความยินดีทั้งหลาย คือทั้ง 3 อย่างนี้นะคะ ไม่ว่าเป็นกามราคะหรือรูปราคะหรือ อรูปราคะ เรียกว่าเป็นความยินดีที่ต้องมาจากอวิชชา อวิชชาแน่ๆ เลย เพราะอะไร อวิชชาก็คืออะไรนะ ความไม่รู้ที่เป็นความโง่เขลา ไม่ใช่ไม่รู้เฉยๆ เป็นความไม่รู้ที่เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญา ก็เพราะว่าไม่เคยศึกษา ไม่เคยศึกษาทำความเข้าใจเช่น ไม่เคยทำความเข้าใจในเรื่องอะไรนะ ที่ว่ามาจากความไม่รู้ คือไม่รู้เรื่องของอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องของอะไร นึกออกไหมคะ เราพูดซ้ำซากวนไปวนมาก็มาลงตรงนี้ ความไม่รู้ในเรื่องอะไรที่มนุษย์เราไม่อยากพบไม่อยากเป็น แต่มันก็มาหาเราเกือบทุกเวลานาทีก็ได้ ทุกข์ ไม่รู้เรื่องของทุกข์ก็คือไม่รู้เรื่องของอะไร เรียกชื่อให้ถูกๆ หน่อยสิ
ผู้ดำเนินรายการ: อริยสัจ 4
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อริยสัจ 4 นั่นแหละคือความไม่รู้เรื่องของอริยสัจ 4 จนกระทั่งแม้แต่คำว่าทุกข์ก็ยังไม่รู้เลย ยังไม่รู้อาการที่เกิดขึ้นข้างใน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทุกข์นะ บอกได้ว่า ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ แต่ถ้าให้อธิบาย ไหนที่ทุกข์นี่มันทุกข์ยังไง มันทุกข์มันมีลักษณะอาการยังไง มันมาจากไหน ลองบอกสิ ไม่เคยสนใจศึกษา เหมือนอย่างพูดว่าทุกข์นี่ ลองนึกดู เรารู้ละว่าอาการของความทุกข์คืออาการที่มันไม่สบาย มันอึดอัด มันขัดใจข้างในนี่มันแน่นไปหมด ร้อนรุ่มไปหมด นี่มันทุกข์มันไม่สบายแต่อธิบายไม่ได้ ถ้าลองถามให้แยกแยะลงไป มันทุกข์แหละ ถ้าหากว่าทุกข์เพราะความรักกับทุกข์เพราะล้มละลาย เหมือนกันไหม ไม่เหมือนใช่ไหมคะ ทุกข์เพราะความสูญเสียบิดามารดา กับทุกข์เพราะความสูญเสียตำแหน่งการงาน เหมือนกันไหม ก็ไม่เหมือนอีก แล้วเคยแยกแยะไหม นี่ไม่เคยแยกแยะ ก็เรียกว่ารู้แต่ชื่ออริยสัจ 4 ไม่เพียงพอ ต้องฝึกแยกแยะ ฝึกแยกแยะและจะทันมันทุกที ทันมากขึ้น ทันมากขึ้น พอมันโผล่หน้าขึ้นมาเท่านั้นชี้หน้าได้เลย นี่มันมาจากอะไร นี่มันมาจากอะไร จะชี้หน้าได้ทันที พอชี้หน้าได้ทันทีเราก็สามารถจะแก้ไขมันได้ทันที ถึงแก้ไขในขณะนั้นไม่ได้ทันทีแต่เราก็รู้ตัวแล้ว
ทีนี้เราก็จะจ้องจับตามทางไปเรื่อยๆ ความทุกข์ต่างๆ ที่มามันก็ลดน้อยลงได้ เช่นเดียวกับความสุข สุขเพราะได้แต่งงานกับคนรัก กับสุขเพราะได้ลูกคนแรก เหมือนกันไหมความรู้สึกนี่ มีใครมีอย่างนี้แล้วบ้าง มีไหม เหมือนกันไหม ไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ มันไม่เหมือนกัน นี่เอามาชำแหละดู เอามาพิจารณาดูแล้วเราจะค่อยๆ เป็นคนละเอียดมากขึ้น จะไม่มองอะไรหยาบๆ แม้แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ในความสุขแต่ละอย่างๆๆ ไม่เหมือนกัน ความทุกข์แต่ละอย่างละอย่างไม่เหมือนกัน ทำไมถึงเอามาพูดด้วยกันในเรื่องของสุขและทุกข์ เข้าใจไหมคะ เพราะอะไรถึงเอามาพูดเข้าด้วยกัน มันก็ไม่เชิงนักในแง่นี้ ถ้าถามอีกทีก็ขอถามย้ำว่า จริงๆ แล้วนี่สุขมีไหม ทำไมถึงตอบว่าไม่มี รู้ได้ไงว่าไม่มี รู้ได้ไงว่าไม่มี
ผู้ดำเนินรายการ: ...
อุบาสิกา คุณรัญจวน : น้อยกว่า ทุกข์น้อย ทุกข์มาก เฉียดๆ ยังไม่ถูก เป็นยังไง ก็สุขมีไหม สุขมีไหม สุขจริงๆ มีไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ...
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สมมติว่าเราอยากได้ตำแหน่ง ตำแหน่งที่เราหมายมั่นว่าเรามาทำงานถึงนี่แล้วต่อไปเราต้องได้อันนี้ วันหนึ่งก็ได้สมความปรารถนา ก็สุขใจก็พากันไปเลี้ยง เลี้ยงกอดรับเงินเดือน หมดเกลี้ยงไปแล้ว เงินเดือนมาก็ใช้หนี้เขาต่อไป สุขละ นี่สุขเย็นหรือสุขร้อน
ผู้ดำเนินรายการ : สุขร้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สุขร้อน แล้ววันหนึ่งมันละลายหายไป วันหนึ่งมันละลายหายไปตำแหน่งที่เราได้ ได้อยู่ไม่เท่าไร หัวหน้าใหญ่เขาเปลี่ยน เดี๋ยวนี้เขาเลื่อยขาเก้าอี้กันได้ใช่ไหม หัวหน้าใหญ่เขาเปลี่ยน เขาก็เอาคนของเขามา เขาก็ยกเราไปที่อื่น เป็นไง สุขนั้นเป็นไง ยังอยู่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่อยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่อยู่ เพราะฉะนั้นในทางธรรมท่านถึงบอกว่าสุขไม่มีหรอกมันมีแต่ทุกข์ แต่ทว่าพอความทุกข์มันถอยหลังมันจางหน่อย มันให้โอกาสได้หายใจยาวๆ ก็ไปเรียกว่าสุข ถ้าหากว่าสุขจริงมันต้องอยู่สิ ต้องไม่หายไปสิ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าทุกข์มันมาได้ 2 รูปแบบ รูปแบบหนึ่งมันมาอย่างเปิดเผยคือยังไง มันทุกข์จริงๆ เลย ทำให้เจ็บปวดขมขื่น สูญหายเสียสลายอะไรหลายอย่าง มาตรงตัวไม่ต้องมาดูกันล่ะมองเห็นชัดเลย แต่อีกอย่างหนึ่งมันจะมาในรูปแบบของการซ่อนเร้น ก็คือซ่อนเร้นมาในรูปของสิ่งที่เรียกว่าสุข แต่จริงๆ ไม่ใช่สุข เพราะว่ามันเป็นมายา มันมาก็ไปเดี๋ยวเปลี่ยนไปหมด มันไม่เคยอยู่ที่เลย เพราะฉะนั้นสุขไม่มี มันก็จะมีจริงหรอกเมื่อไร มีเหมือนกันแต่จะมีเมื่อไร และสุขอย่างนั้นจะไม่มีวันสูญหายไปไหน ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น เมื่อจิตนั้นบรรลุถึงจุดสูงสูดของการปฏิบัติ ก็จะมีแต่ความเกษมผ่องแผ้ว สงบเย็น และก็เปรียบกับอะไรไม่ได้เลยความสุขเช่นนั้นและก็จะอยู่ยืนนาน เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเรียกว่าผู้ที่มีรูปราคะหรืออรูปราคะนี่ก็มาจากอวิชชาคือความโง่เขลา เพราะไม่เคยสนใจที่จะศึกษาเรื่องของอริยสัจ 4 จึงไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ทั้งๆ ที่ตัวเองอยากจะห่างไกลจากความทุกข์ ไม่อยากเข้าใกล้ความทุกข์เลย แต่เมื่อไม่ศึกษาก็ไม่รู้จัก มันมาก็ยังไม่รู้ตัว เหมือนอย่างกับผู้ร้ายตั้งใจจะมาปล้นบ้านนี้ เราก็ได้ยินข่าวมานานระมัดระวังอย่างเต็มที่ แล้ววันหนึ่งก็แต่งตัวสวยงามเข้ามาดูสง่าผ่าเผยเรียบร้อยมาทักทาย ก็ทักทายเขาดีเป็นมิตรไปชวนกินข้าวอยู่บ้านเลย นั่นแหละ เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ไง ไม่รู้เพราะไม่ศึกษา ทางหนีทีไล่ก็เลยไม่มี ก็เลยตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าอวิชชานี่ก็เกิดจากความไม่รู้ด้วยความโง่เขลา เพราะไม่เคยศึกษาในเรื่องของอริยสัจ 4 ทีนี้นี่ก็เป็นข้อที่ 6 และข้อที่ 7 นะคะ ข้อที่ 6 รูปราคะ ข้อที่ 7 อรูปราคะ
ทีนี้ข้อที่ 8 มานะ มานะเคยได้ยินใช่ไหมคะ แหมอีตาคนนี้แกทิฏฐิมานะร้ายกาจ เป็นยังไงที่เราพูดว่าเขาอย่างนั้นหมายความว่ายังไงที่ว่ามานะนี่
ผู้ดำเนินรายการ: ...
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใกล้เคียง มานะเป็นยังไง คนที่มีทิฏฐิมานะนี่ บางทีมันออกมาทางสีหน้าเลย ท่าทางด้วย แสดงถึงอะไร ถึงความมีตัวกู ความสำคัญมั่นหมายของตัวกู ถ้าอติ ถ้าเติมคำว่าอติเข้าไป อติมานะ ยิ่งหนาแน่น เหนียวแน่นมาก แกะเท่าไรก็ไม่หลุดยิ่งกว่าตุ๊กแกอีก ยิ่งกว่าความเหนียวของขาตุ๊กแกอีก เพราะฉะนั้นมานะในที่นี้ สังโยชน์ข้อที่ 8 นะคะมานะก็หมายถึงความสำคัญมั่นหมายแห่งตัวกู เด่นชัดออกมาเลย และก็มีความรู้สึกว่าตัวกูนี่มีอยู่ 3 ระดับเดี๋ยวก็ดีกว่าเขา ประเดี๋ยวก็เสมอเขา ประเดี๋ยวก็ด้อยกว่าเขา คือเลวกว่าเขาสู้เขาไม่ได้ จิตมันก็กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงอยู่อย่างนี้ พอดีกว่าเขา พอง ใช่ไหมคะ พอเสมอเขาก็ครือๆ พอด้อยกว่าเขาฟุบแฟบลงไป เคยเป็นไหมคะ เคยรู้สึกไหม นี่ล่ะตัวของเรา ถ้าไม่มีตัวกูจะเอาอะไรไปเปรียบ ใช่ไหม มันก็ไม่มีอะไรไปเปรียบ เพราะฉะนั้นการมีตัวกู คืออัตตาตัวตนด้วยความยึดมั่นถือมั่นมันจึงก่อโทษทุกข์ให้ไง ก่ออย่างร้ายกาจเลย ทำให้ไม่ได้มีความสงบเลย ประเดี๋ยวก็ ยังไงๆ ก็สู้เราไม่ได้ ในโลกนี้มันไม่ได้มีพระเอกนางเอกคนเดียว มันมีหน้าใหม่โผล่มาอีกแล้วยังแจ๋วแหววอยู่เลย เรากลายเป็นครือๆ หรือบางทีก็ตกตำแหน่งไปเสียแล้ว ดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น นี่แหละเป็นเครื่องวัดว่าไง วัดว่าไง ความคิดว่ายังมีตัวกูของกู ยังมีตัวตนอยู่ ถ้าหากว่าไม่มีความรู้สึกใครจะได้ดีมีสุข ใครจะก้าวหน้า ใครจะเก่ง ใครจะสอบอะไรได้ก็เฉยๆ มุทิตาก็ธรรมดา ดีใจด้วยนะที่ได้และในใจนี่ก็ไม่มีความรู้สึกอิจฉาริษยาระคนขึ้นมาสักนิดเดียวก็ไม่มี นั่นแหละจึงจะเรียกว่าบริสุทธิ์ใจ เพราะมันไม่มีความรู้สึกว่าจะเอาตัวกูเข้าไปแข่งกับใคร แต่ถ้าหากว่ามีมานะ มีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูล่ะก็มันต้องมี 3 อย่างนี้เกิดขึ้นเสมอ ฉะนั้นความรู้สึก 3 อย่างนี้ก็จำไว้เถิดว่ามันเป็นเครื่องวัดได้ว่าเรานี้ยังมีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูอยู่นะ จนกระทั่งไม่มีเลย ไม่มีรู้สึกว่าดีกว่าเขา หรือเสมอเขา หรือต่ำกว่าเขา เลวกว่าเขา ไม่มี พอไม่มีเข้าก็แสดงว่ามันว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ว่างจากความหมายแห่งตัวกู ไม่รู้จะเอาอะไรไปวัดกับเขา สบายไหม สบายไหม สบาย สวรรค์อยู่ตรงนี้แหละ ไม่ต้องไปหาสวรรค์ที่ไหนเมื่อตายแล้ว สวรรค์อยู่ตรงนี้ ทำบ้างไหม สร้างได้ไหมสวรรค์นี้ ถ้าต้องการสร้างอย่าสร้างแต่ปากก็แล้วกัน ถ้าสร้างจริงๆ น่ะมันทำได้ นี่เป็นสังโยชน์ข้อที่ 8 ทีนี้สังโยชน์ข้อที่ 9 อุทธัจจะ เราเคยได้ยินคำนี้ที่ไหนคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ที่นิวรณ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่นิวรณ์ แต่นิวรณ์มันมีคำคู่ของมัน อุทธัจจะ กุกกุจจะ แต่นี่อุทธัจจะอย่างเดียว อุทธัจจะในสังโยชน์นี่มันมากกว่า ความหมายของมันมากกว่าและลึกกว่าอุทธัจจะในนิวรณ์ อุทธัจจะในนิวรณ์นั่นน่ะมันความคิดฟุ้งซ่านล่องลอยไปเหมือนกับสร้างวิมานในอากาศ แต่อุทธัจจะเป็นความที่จิตเรียกว่าได้ฝึกฝนอบรมมาพอสมควรแต่ในบางครั้งพอเกิดการเผลอขึ้น จิตมันก็ฟุ้งซ่านขึ้นมา เรียกว่าพลุ่งขึ้นมาอย่างน่ากลัวเหมือนกัน เคยไหมคะ ใครที่เคยไปฝึกปฏิบัติธรรมอยู่ที่ใดที่หนึ่งที่สำนักใดสำนักหนึ่งอาจจะสัก 10 วัน 2 อาทิตย์หรือว่าเดือนหนึ่ง ไปใหม่ๆ ก็แน่ล่ะกว่าจะควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบได้มันก็เอาการอยู่เหมือนกัน แต่พอมันสงบลงไปได้แล้ว สมมติว่า 7 วันผ่านไปแล้วมันเริ่มอยู่ตัว เริ่มอยู่ตัวกับวิธีการฝึกอบรมปฏิบัติ มันก็เริ่มสงบ เริ่มเย็น แต่ขณะใดวันใดที่เกิดเผลอขึ้นมา แล้วก็เกิดปรุงแต่งขึ้นมา พอปรุงแต่งแล้วห้ามไม่ทัน สติมาไม่ทัน มันไปพรึบๆ ไปเลย ตอนนั้นแหมจิตมันดึงกลับยากเหลือเกิน เคยไหม เคยพบไหมที่ดึงกลับยาก ก็คือดึงกลับมาสู่ความสงบ มาสู่ความเป็นสมาธิ ความนิ่งมั่นคงยากมากเลย นั่นละอุทธัจจะในนี้ก็หมายความว่ามันพลุ่งฟุ้งขึ้นมาเกิดความระแวงสงสัย บางทีทั้งๆ ที่ปฏิบัติมาเป็นลำดับแล้วยังเกิดความระแวงในการปฏิบัติของตน ที่กำลังปฏิบัติอยู่นี้มันถูกหรือผิด ที่ครูบาอาจารย์สอนเรานี่สอนถูกหรือสอนผิด ใช้ได้หรือเปล่า มันมีวิจิกิจฉาเข้ามาผสมด้วย ก็เลยทำให้เกิดการฟุ้งพร้อมกับสังขารปรุงแต่งเข้ามาบวกเข้ามาอีก ก็เลยเกิดความพลุ่งขึ้นมา สงบอย่างเดิมไม่ได้ ระแวงไปต่างๆ นานา จิตก็ผิดปกติอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะดูว่าเรานี่มันเข้าข่ายตกกระแสระดับไหน ยังมีอุทธัจจะอยู่หรือเปล่า นะคะ ฟุ้งหรือเปล่า มองดูตัวเองแล้วก็ถามตัวเองยังมีอยู่ไหม ถ้ายังมีฟุ้งอยู่ล่ะก็ ยังไม่บรรลุหรอกนะอย่าเพิ่งไปคิดว่าสำเร็จแล้ว นี่สิ่งเหล่านี้สังโยชน์แต่ละข้อละข้อท่านบอกมานี่ดีนะเพื่อเป็นเครื่องวัดว่าสำเร็จหรือยังคือเข้าถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติหรือยัง นี่เป็นสังโยชน์ข้อที่ 9
ทีนี้สังโยชน์ข้อที่ 10 ก็คืออวิชชา ข้อสุดท้ายนี่แหละตัวร้ายที่สุดอยู่ข้อสุดท้าย เพราะว่าเราค่อยๆ กลั่นกรอง แล้วก็กำจัดมันไปทีละอย่างๆๆ พอมาถึงนี่เป็นยังไง อวิชชายังมีเหลืออีกไหมที่มันเป็นม่านเมฆหมอกไม่ให้เข้าถึงสัจธรรมความจริงมีอีกไหม ที่ว่ารู้เรื่องของอริยสัจ 4 รู้จริงแค่ไหน รู้เรื่องทุกข์ละเอียดละออแค่ไหน ที่ท่านบอกว่าทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ เคยกำหนดบ้างแล้วยัง และกำหนดได้จริงหรือเปล่า หรือว่าสมุทัยนี่ ตัณหาความอยาก ท่านบอกต้องละ ละได้แค่ไหนมากน้อยแค่ไหน นี่ค่ะหมั่นสำรวจ หมั่นกลั่นกรองการปฏิบัติของตนเองก็จะค่อยรู้เข้า เข้าใจเข้า ทีละน้อย ละน้อย หรือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งถือว่าเป็นธรรมะที่มีความละเอียดมากและก็สำคัญมาก เพราะเป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้หรือตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั่นแหละ แล้วก็ตรัสรู้จนกระทั่งเห็นว่าจริงๆ แล้วชีวิตนี้มันมีแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านั้นเองนะ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เมื่อมันเป็นกระแส มันก็แสดงถึงว่ามีตัวตนไหม ไม่มี ถ้าเห็นความเป็นกระแสจริงๆ นะคะ แต่บางทีเราอาจจะเห็นความเป็นกระแสตามคำพูดที่ครูบาอาจารย์ท่านบอก เราก็เห็นตามคำพูด คำว่าเห็นตามคำพูดก็คือเห็นด้วยสมอง แต่มิได้เห็นด้วยใจคือใจนั้นยังไม่ได้เข้าไปศึกษาใคร่ครวญหรือสัมผัส จนกระทั่งได้สัมผัสกับความเป็นกระแสจริงๆ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ก็เรียกว่าวิชชาคือความสว่างในเรื่องอริยสัจหรือเรื่องปฏิจจสมุปบาท บริสุทธิ์แจ่มแจ้งหรือยัง ยังไม่บริสุทธิ์ ยังมัวอยู่ ยังมัวยังมีเมฆหมอกอยู่ ก็ต้องขจัด ขจัดในสิ่งที่เป็นเมฆหมอกเป็นความยังไม่เข้าใจกระจ่างชัดเจนด้วยการศึกษา ขะมักเขม้น เข้มงวดกับตัวเองลงไปให้ทะลุให้ได้ และอวิชชาที่ครอบงำอยู่ก็จะค่อยๆ จืดจางไป นี่คือสังโยชน์ 10 ข้อในทางพระพุทธศาสนาที่ท่านบอกว่าเป็นเครื่องผูกสัตว์ไม่ให้ออกจากโลกได้คือจากโลกของความทุกข์ มีสงสัยข้อไหนบ้างไหมคะ
ทีนี้ทั้ง 10 ข้อนี่นะคะ สังโยชน์ทั้ง 10 ข้อที่ท่านบอกเอาไว้ ก็ยังมีประโยชน์ที่จะเป็นเครื่องวัดอีก ที่มีผู้ปฏิบัติหลายคนมักจะชอบมาถามถึงขั้นไหนแล้วคะ ถึงขั้นไหนแล้วคะ นี่ไม่ต้องมาถามเลย ถึงขั้นไหนก็ดูเอาเองโดยท่านบอกว่าทำความเข้าใจกับสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อให้ชัดเจนและท่านก็บอกว่าถ้าหากว่าผู้ใดละสังโยชน์แต่ละข้อละข้อได้ตามลำดับไป ก็แสดงถึงการบรรลุธรรมคือระดับของการบรรลุธรรม เช่น ถ้าผู้ใดสามารถละข้อที่ 1 คือสักกายทิฏฐิได้ คำว่าละนี่ก็ไม่ถึงกับปลดปล่อยความรู้สึกเป็นตัวตนเกลี้ยงเลยนะคะ ถ้าเกลี้ยงมันก็บรรลุไปแล้วเลย นี่ยังไม่เกลี้ยงแต่มีความเข้าใจชัดเจนและมีความแน่ใจว่าตัวตนมันไม่มี คือในทางความรู้สึกในทางศรัทธาในการที่ได้ศึกษาและทดลองดูบ้างมาแล้วเห็นว่าไม่มี แต่ว่ามันยังทำไม่ได้ถึงที่ เข้าใจคำว่าถึงที่ใช่ไหม ทำยังไม่ได้ถึงที่นี่ก็เรียกว่าละสักกายทิฏฐิได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่เหมือนบางคนที่มืดตื้อแล้วก็เถียงคอเป็นเอ็นหัวชนฝา มี ตัวมี ตัวตนมี นี่ไง นี่ไง จะเอาชนะให้ได้อยู่ตรงนี้ อย่างนั้นก็สักกายทิฏฐิดำมืด แต่นี่ยอม ยอม ยอมละเข้าใจบ้างในระดับหนึ่งแล้วก็ละ แล้วก็ละสังโยชน์ข้อที่ 2 คือ สีลัพพตปรามาส พูดง่ายๆ ว่า เลิกเชื่ออะไรที่เป็นไสยศาสตร์ ไม่เอาละในทางที่เป็นไสยศาสตร์ จะเอาในสิ่งที่เป็นจริงๆ แล้วก็เชื่อว่าสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงนั้นก็คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระรัตนตรัยที่จะเป็นที่พึ่งได้จริง มิใช่ภูเขา แม่น้ำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรต่ออะไรเหล่านั้น นี่ก็เรียกว่าละได้ ข้อที่ 3 ก็คือวิจิกิจฉา ละวิจิกิจฉาได้เพราะว่าแน่ใจว่าพระธรรมคำสอนที่เป็นพระพุทธโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ใช่ ถูกต้องโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นสัจธรรมอันเป็นกฎของธรรมชาติ เช่น กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น เชื่อว่ามันเป็นอย่างนี้จริง แต่ทว่ามันยังไม่ได้สัมผัสประจักษ์ที่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีความเชื่อมั่นว่าเป็นอย่างนี้ ว่ามันถูกต้องตามนี้ตามที่พระองค์ทรงสอน แล้วก็ไม่ออกนอกทาง ไม่ออกนอกทางจากคำสอนของพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าละวิจิกิจฉาได้ในระดับหนึ่ง ทีนี้คำว่าในระดับหนึ่งก็คงเข้าใจนะคะคือยังไม่เกลี้ยง มันยังมีอยู่ ประเดี๋ยวก็ยังรู้สึกอยู่ ประเดี๋ยวก็ปล่อย อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติท่านใด คือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ท่านใดสามารถละสังโยชน์ข้อที่ 1 สักกายทิฏฐิ ข้อที่ 2 สีลัพพตปรามาส ข้อที่ 3 วิจิกิจฉาได้ ในระดับหนึ่งที่ว่ามาแล้วนี้ ก็เรียกว่าเป็นผู้ตกในกระแส ตกในกระแสก็คือระดับไหนจำได้ไหม เป็นอะไรแล้ว ก็เรียกว่าในระดับพระโสดาบัน เหมือนอย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรัสพระปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านที่ตกกระแสเป็นองค์แรกคือใคร นักบวช 5 คน ท่านโกณฑัญญะ เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม มีดวงตาเห็นธรรมเพราะมองเห็นเลยว่าสิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วจะอยู่คงที่ แต่ต้องเกิดดับเกิดดับตามกฎของไตรลักษณ์ พอท่านโกณฑัญญะฟังพระธรรมเทศนาแล้วก็มีความรู้สึกเห็นชัด ประจักษ์ชัดที่ใจ ไม่ใช่สมองนะคะ สมองใช้ไม่ได้ สมองนี่เพียงใช้ในโอกาสที่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเท่านั้นเอง นี่ประจักษ์ชัดที่ใจว่าทุกสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาสิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา ก็เหมือนอย่างที่ท่านพระอัสสชิ ที่ท่านพูดให้ใครฟัง ให้ท่านพระสารีบุตรฟังตอนที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นพระพุทธสาวกเลย แต่ว่าสนใจที่ได้ยินคำสอนที่มีเหตุมีผลได้ยินจากที่ผู้อื่นเล่าให้ฟังก็ดั้นด้นมาจะมาสมัครขอเป็นลูกศิษย์น่ะคะ พอดีไปพบท่านอัสสชิกำลังออกบิณฑบาต และท่าทางของท่านสงบสำรวม สมณสารูปงดงามน่าเคารพนับถือเลื่อมใส ยังไม่ต้องพูดกันสักคำนะ เพียงแต่มองเห็นเท่านั้น เกิดความสงบ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เพราะสมณะสารูปมีความสำคัญตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านถึงได้กวดขัน กวดขันการประพฤติปฏิบัติการวางตัวกิริยาท่าทางการพูดการจาทุกอย่างเพื่อให้มองดูงดงามจะได้เป็นที่เลื่อมใสของผู้คนทั่วไปคือเป็นอันดับแรกแล้วอย่างน้อยก็เรียกศรัทธาได้ก่อน
ถ้าหากว่าละได้ 3 ข้อ 1 2 3 นะคะ ก็อยู่ในระดับพระโสดาบัน แล้วทีนี้ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติธรรมท่านใด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ท่านใดสามารถทำข้อ 2 ข้อ 3 ให้เบาบางลงไปอีก เบาบางลงกว่าระดับพระโสดาบันก็จะเข้าสู่ระดับพระสกิทาคามี ทีนี้พอถ้าหากว่าท่านผู้ใดสามารถละข้อ 1 ถึงข้อ 5 ได้เกลี้ยงเกลา ข้อ 1 คือสักกายทิฏฐิ ข้อ 2 สีลัพพตปรามาส ข้อ 3 วิจิกิจฉา ข้อ 4 กามราคะ ซึ่งร้ายมากนะคะข้อนี้ แล้วก็ปฏิฆะ ความหงุดหงิดอึดอัดอยู่ในใจ กระทบกระทั่งอยู่ในใจ นี่ร้ายมาก ท่านผู้ใดละข้อ 4 ข้อ 5 ได้รวมตั้งแต่ข้อ 1 2 3 4 5 เกลี้ยงไม่มีเหลือเลย ปลดออกได้หมด ก็จะอยู่ในระดับของพระอนาคามี 5 ข้อข้างต้นนี้นะคะคือระดับพระอนาคามี ทีนี้ถ้าหากว่าท่านผู้ใดละได้หมด 10 ข้อเลยตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 สังโยชน์ตั้งแต่ข้อที่ 1 ถึงข้อ 10 ไม่มีข้อไหนเหลือ อวิชชานี่กระจัดกระจายเกลี้ยงเกลาเหลือแต่วิชชาที่แจ่มกระจ่างหมดทุกสิ่งทุกอย่างเรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอด แล้วก็แน่นอนล่ะ ความสุขที่แท้จริงก็ย่อมบังเกิดขึ้น จิตก็มีแต่ความผ่องแผ้วอันเกษมก็เป็นพระอรหันต์ นี่แหละที่เรียกว่าตกกระแสมี 4 ระดับ ระดับโสดาบัน ต่ำสุด ระดับโสดาบันก็จะมีความรู้สึกที่เรียกว่ามีเวทนาได้เหมือนอย่างยกตัวอย่างท่านพระอานนท์ จำได้ใช่ไหม จำชื่อท่านได้ใช่ไหมที่ท่านเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก ท่านพระอานนท์ก็เป็นพระภิกษุพระเถระผู้ใหญ่ที่ฉลาดเฉลียว แล้วก็ความทรงจำดีเลิศจดจำพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ได้ทั้งหมดเลย ถึงเวลาที่สังคายนาครั้งแรกท่านพระอานนท์ก็เป็นผู้ว่าพระสูตรองค์เดียว แต่ถึงกระนั้น ตอนที่ท่านยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ที่ท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ความรู้สึกของท่านก็ยังมีเวทนาขึ้นลง ขึ้นลง เหมือนอย่างเช่นตอนที่ท่านพระสารีบุตรจะปรินิพพาน มีข่าวมาบอกว่าปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ก็น้ำหูน้ำตาไหล พระพุทธเจ้าก็รับสั่งถามว่าอานนท์ เมื่อสารีบุตรปรินิพพานแล้ว ได้พาเอาพระธรรมวินัยไปด้วยหรือเปล่า ท่านพระอานนท์ก็บอกเปล่ายังอยู่พระเจ้าข้า แต่ว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่ ท่านเป็นผู้เอื้อเฟื้อต่อสหธรรมิก ท่านจะพูดธรรมะให้ฟัง ฟังแล้วก็เจริญใจและก็ฟังแล้วประเทืองปัญญาก็เลยระลึกถึงท่าน คิดถึงพระคุณของท่าน นี่แสดงว่าพระโสดาบันยังมีอาการขึ้นลงได้ แต่เมื่อขึ้นไปถึงในระดับพระอนาคามี ก็ยังไม่มีอันนี้ ลดลงเหลือน้อย พอได้ทั้ง 10 ข้อก็จะเป็นพระอรหันต์แล้วนะคะ นี่ก็เป็นเรื่องของสังโยชน์ 10 ข้อ ซึ่งเป็นเครื่องผูกสัตว์โลกให้ติดอยู่ในโลก คือติดอยู่ในความทุกข์ ไม่สามารถที่จะออกได้ ถ้าเราจะแจกแจงออกมาอย่างชนิดเป็นระเบียบแบบแผนในทางพระพุทธศาสนา เราก็พูดถึงสังโยชน์ ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมธรรมดาอย่างที่เราพูดกันแล้วนั่นแหละ ก็ตกอยู่เป็นทาสของกามแล้วก็มีตัณหาที่ละไม่ได้ เป็นทาสของตัณหาอย่างเหนียวแน่น นี่พูดอย่างสั้นๆ แต่ถ้าแจกแจงออกมาเป็นรายละเอียดก็จะเป็นสังโยชน์ 10 ข้อ เพื่อจะเป็นเครื่องตัดสินว่าผู้นั้นได้ละกิเลสตัณหาที่ตนได้เคยมีมามากน้อยแค่ไหน เกลี้ยงเกลาหรือยัง ถ้าถึงที่สุดเกลี้ยงเกลา นั่นก็ถึงระดับแห่งอรหันตภูมิ มีอะไรสงสัยไหมคะ ก็หวังว่าจะไปทบทวนนะคะ ฟังครั้งเดียวไม่พอต้องไปทบทวนดูแล้วก็ลองเอามาสอบสวนดูการปฏิบัติของตนเอง นี่ก็จะเป็นหนทางที่จะพัฒนาการปฏิบัติ การประพฤติพรหมจรรย์ให้งดงามให้ประณีตให้ละเอียดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ธรรมสวัสดีค่ะ