แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: แต่สิ่งที่ท่านอาจารย์คุณรัญจวนบอกเราก็คือว่า ความรวยทรัพย์สินเงินทองนั้นไม่ใช่รวยที่แท้จริง รวยที่แท้จริงมันอยู่ที่รวยที่จิตใจ ทำอย่างไรละครับเราจึงจะมีความร่ำรวยที่จิตใจกันได้ ไปฟังจากท่านอาจารย์คุณ รัญจวน กันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ผู้ที่ไม่รู้ว่ายอดของความรวย หรือความรวยที่น่าปรารถนาคืออะไร แล้วก็ไม่รู้ว่าความจนที่น่ากลัวนั้นมันคืออะไร นี่ก็เพราะเขาไม่รู้จักเรื่องของชีวิต คำว่าไม่รู้จักเรื่องของชีวิตนี่ก็อยากจะบอกว่า เพราะเขาไม่รู้ว่ารากเหง้าของมนุษย์ของความเป็นมนุษย์นี่ มันอยู่ที่ความรู้จักเรื่องของชีวิต
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คงได้ยินคนเขาพูดถึงหรือหนังสือที่เขาเขียนเรื่องของ รากของชีวิตของมนุษย์ รากชีวิตของฉันอยู่ที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่างที่เรื่องรูท ที่เขาว่าเป็นหนังสือมีชื่อ อะไรทราบไหมคะ หรือบางทีก็พูดว่า แหมกำพืดของฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อันที่จริงแล้วละก็ ไม่ว่าจะกำพืดของฉันหรือว่ารากเหง้าของฉันมาจากไหนวัฒนธรรมอะไรเผ่าพันธุ์อะไร มันก็คือมนุษย์เหมือนกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะเรียนรู้เป็นเรื่องแรกก็คือ รากเหง้าของความเป็นมนุษย์ มันอยู่ที่ตรงไหน ในความรู้สึกของครูนี่ครูก็รู้สึกว่ารากเหง้าของความเป็นมนุษย์เนี่ย มันอยู่ที่ความรู้เรื่องของชีวิต ถ้าเราไม่รู้ว่าเรื่องของชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม แล้วก็มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เราก็จะไปหวังไปปรารถนาไปดิ้นรน ในสิ่งที่ล้วนแล้วแต่นำความร้อน ความทุกข์ ความกระวนกระวายมาสู่ใจเรา อย่างที่จเลิศถามนี่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าความรวยที่น่าปรารถนาคืออย่างนี้ แต่ยังหยุดความดิ้นรนที่จะอยากได้ ตำแหน่งการงาน ยศศักดิ์อำนาจวาสนาทรัพย์สินเงินทอง อย่างที่คนอื่นเขามีไม่ได้ ยังอยากได้อยู่ก็เพราะไม่รู้ว่ารากเหง้าของชีวิตนี่มันคืออะไร
ทีนี้ถ้าพูดถึงว่า รากเหง้าของชีวิต ของมนุษย์นี่ คืออะไร ก็คือความรู้ที่ต้องรู้ว่าชีวิตนี้น่ะมันเป็นความที่ยังไม่ตาย อย่างที่เราเคยพูดกัน ชีวิตคือความที่ยังไม่ตาย มันก็เป็นคำพูดที่กำปั้นทุบดิน คืออะไรที่มีชีวิตอยู่มันคือยังไม่ตาย หายใจได้ แต่นี่ในภาษาธรรมมันมีความหมายลึกกว่านั้น ถ้าในภาษาคนมันก็จะบอกแต่เพียงว่า ชีวิตคือความที่ยังไม่ตาย ต้นไม้รอบตัวเรานี่มันก็ยังไม่ตายเพราะมันใบเขียวชอุ่ม ลมพัดมามันก็ยังไหวมันไม่ร่วงหล่น อะไรอย่างนี้ ยังไม่โค่นลงก็ยังไม่ตาย หรืออย่างเราทุกคนนี่ ก็ยังไม่ตายเพราะว่ายังหายใจอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราจะมาย้อนนึกดูว่า ชีวิตที่บอกว่ายังไม่ตายเพราะว่ากายมันยังหายใจอยู่นี่ แล้วข้างในละมันหายใจอยู่หรือเปล่า คือมันหายใจด้วยความปลอดโปร่ง ด้วยความเบาด้วยความผ่องใสเบิกบานหรือเปล่า ถ้าหากว่าข้างนอกหายใจ แต่ข้างในมันเหี่ยวมันแห้งมันหด มันสลดไปหมดมันพร้อมที่จะเน่าจะเหม็นตายไป อย่างนี้ก็เรียกว่า ในทางธรรมชีวิตนี้ตายแล้ว แม้จะยังหายใจอยู่ก็ตายแล้ว
เพราะฉะนั้นชีวิตคือความที่ยังไม่ตาย มันต้องมีความสดชื่น ทั้งข้างนอกและข้างใน กายก็สดชื่น ใจก็สดชื่น
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้างั้น ข้างในตายแล้วนี่ทำให้มันฟื้นขึ้นมาได้ใช่ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้ เพราะชีวิตคือสิ่งที่ต้องพัฒนา
ผู้ดำเนินรายการ: ค่อยยังชั่วหน่อย นึกว่าข้างในตายแล้วก็ตายกันไปเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โอ เปล่าเลย เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เพราะอย่าลืมนะต่อไปก็คือ ชีวิตคือสิ่งที่ต้องพัฒนา และโอกาสที่ยังหายใจได้นี่เป็นอานิสงส์สูงสุดของชีวิตมนุษย์เลย เพราะเป็นโอกาสของการพัฒนาชีวิต เมื่อเรารู้ตัวว่าชีวิตเรายังขาดความสมบูรณ์เพราะใจมันไม่สมบูรณ์ เราก็พัฒนา และจุดที่จะต้องพัฒนาของชีวิตก็คือ จุดที่ใจไม่ใช่ที่อื่น ถ้าหากว่าใจมันได้รับการพัฒนาที่ถูกต้องพร้อมด้วยสติปัญญาเท่านั้น มันจะรู้จักรักษากาย ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์เหมือนอย่างที่พูดตอนต้น ใช่ไหมคะ คำว่าสมบูรณ์ก็พร้อมทั้งสมองทั้งร่างกาย ความว่องไวกระฉับกระเฉง ในการทำงานในการประกอบกิจกรรมของชีวิตทุกอย่าง แล้วนอกจากนั้นแล้ว มันก็ยังจะรู้จักบังคับชีวิตนี้ให้มีการพูดการกระทำ การคิด จากการคิดที่ถูกต้อง มันก็มีแต่ความเกิดประโยชน์ มันก็มีแต่ความอิ่มใจ พอใจ เป็นสุข นี่แหละเป็นความรวย ที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน เพราะฉะนั้นก็ขอได้ลองช่วยกันแสวงหาแล้วเราจะพบ
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ ท่านอาจารย์คุณรัญจวน บอกว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ถ้าอย่างนั้นนี่นะครับ ชีวิตมันคืออะไรละครับ เรามาให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวน ได้ขุดรากเหง้าของชีวิตกันดูนะครับว่า ชีวิตที่แท้มันคืออะไรกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็อย่างที่เราพูดมาว่า อันแรกที่สุดก็คือ ชีวิตคือความที่ยังไม่ตาย
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แต่ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าความที่ยังไม่ตายในภาษาธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ใช่เพียงแต่หายใจอยู่ แต่ต้องเป็นความไม่ตายที่สดชื่น พร้อมทั้งข้างนอกและข้างใน พร้อมที่จะเจริญงอกงามต่อไปเพื่อกระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตนเองและเพื่อนมนุษย์ แล้วก็นอกจากนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดที่ได้ประสบ ความล้มเหลว หรือความผิดผลาดในชีวิตมีความเศร้าหมอง ขมขื่น ก็จงรู้เถิดว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ คือต้องพัฒนาแล้วก็พัฒนาได้ เพราะฉะนั้นก็อย่ามัวไปเศร้าหมองเสียใจกับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ผู้ดำเนินรายการ: การพัฒนาในที่นี้หมายถึงว่า ต้องเข้ามาวัดมาฟังเทศน์ฟังธรรม หรือซื้อหนังสือธรรมะมาอ่าน หรืออะไรกันแน่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือการฝึกฝนอบรมที่ใจ ซึ่งการฝึกฝนอบรมที่ใจหรือพัฒนาที่ใจนี้ มันอาจจะทำได้หลายอย่าง เช่นข้อแรกก็ต้องมี ปริยัติ คือการหาความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องของธรรมะ ซึ่งปริยัตินี้อาจจะอ่านหนังสือก็ได้ แต่ว่าเลือกหนังสืออ่านที่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ชัดที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องแก่นสำคัญที่สุด ก็อย่างที่รู้แล้วนั่นแหละ คือท่านจะไม่ทรงพูดเรื่องอื่น คือเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นหนังสือธรรมะที่จะเลือกอ่าน ก็ควรจะเลือกอ่านเรื่องที่ อธิบายให้เข้าใจชัดเจนว่าความทุกข์คืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร เพื่อไว้เป็นข้อสังเกตสำหรับตัวเรา เราจะได้รู้ว่าเมื่ออาการอย่างนี้มันเกิดขึ้น นี่เป็นเครื่องแสดงว่าความทุกข์กำลังจะมาแล้วนะ จะได้ระมัดระวังตัว แล้วก็เตรียมตัวป้องกันทัน ฉะนั้นหนังสือธรรมะนั้นควรจะอธิบายถึงเรื่องของลักษณะความทุกข์อย่างละเอียดลออ แล้วก็ให้รู้ด้วยว่า ที่เกิดของความทุกข์หรือเหตุที่เกิดทุกข์นั้นมันเป็นเพราะอะไร มนุษย์เราไปสะสมอะไรไว้ มันถึงได้ทำให้เกิดความทุกข์อย่างนี้ นั่นก็คือเช่น ตัณหาความอยาก อุปาทานความยึดมั่น เป็นต้น
แล้วก็นอกจากนั้น ก็ต้องอธิบายถึงว่า แล้วถ้าหากว่าต้องการจะดับความทุกข์ละ จะดับที่ตรงไหน นี่ก็จะต้องศึกษาไปให้ชัดเจน จนกระทั่งรู้ว่าสิ่งที่ความทุกข์มันเกิดขึ้นนั้น มันผ่านทางไหนบ้าง ก็อย่างที่เราเคยพูดกัน คงจำได้ใช่ไหม ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส แล้วกายก็รับสัมผัส จากลมจากผู้คนจากวัตถุอะไรก็แล้วแต่ แล้วใจก็ถูกกระทบด้วยธรรมารมณ์ คือความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วมันไม่ฉลาดทัน ไม่ฉลาดทัน มันก็ไปกระโจนจับเอาว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกที่กระทบ มันจริง พอมันถูกใจ อุ๊ยถูกใจจริง น้ำลายไหล อยากจะกอดรัดเอาไว้ดึงมาเป็นของเรา พอไม่ถูกใจก็อยากจะขยี้ เข่นฆ่าให้ตายคามือ นี่ความโง่ที่ท่านเรียกว่าอวิชชา คือความไม่รู้
เพราะไม่รู้เรื่องของชีวิต ก็เลยยึดทุกอย่างเป็นจริงเป็นจัง มันก็เลยทำให้กลายเป็นคนจน คือจนความรัก จนน้ำใจ จนมิตรภาพ
เพราะฉะนั้นอย่าไปปรารถนาหาเลยคู่ครองที่ดีหรือมิตรที่ดี ไม่มีวันพบ ถ้าเราจนน้ำใจ เพราะฉะนั้นหนังสือนั้นควรจะอธิบายให้ถูกต้อง ว่าวิธีที่จะดับความทุกข์ได้นี่ คือต้องระมัดระวังที่ตรงไหนเป็นสิ่งแรก คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ท่านรับสั่งว่า นรกก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จำได้ไหม สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเรารู้จักจัดการกับมันให้ถูกต้อง คือมีสติปัญญาควบคุมมันถูกต้องทันเวลา ที่มันเกิดขึ้น ที่เราเรียกว่าผัสสะ เราก็จะมีความเย็น เป็นสวรรค์ คือเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นหาหนังสือธรรมะอ่านก็ได้ แต่ขอให้เป็นหนังสือธรรมะที่อธิบายตรงถึงแก่นหรือหัวใจของคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ นี่ท่านเรียกว่าปริยัติ เริ่มแรกต้องเริ่มด้วยปริยัติที่ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการ: แต่ถ้าเราจะหาอ่านหนังสือเหล่านี้นี่ทั่วๆ ไป เราพิจารณายังไง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราก็ต้องมีหลักอยู่ในใจว่า เรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ เป็นต้นเหตุของการที่เราจะหาหนังสืออ่าน ถ้าเราหาหนังสืออ่านแล้วมันตอบคำถามอันนี้อย่างถูกต้องชัดเจน ก็ใช้ได้ แต่เราต้องมีอันนี้เป็นจุดหมาย