แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ การที่เราจะฝึกปฏิบัติได้ดีนี่นะครับ ต้องมีสิ่งที่เราต้องเริ่มต้นหลายอย่างในการฝึกปฏิบัติ เช่น การหาความรู้ที่ดี การอ่านหนังสือธรรมะที่ดีต่างๆ นี่นะครับ แล้วก็ ถ้าหากว่าเราหาความรู้ที่ดีอ่านหนังสือธรรมะที่ดีแล้ว โดยที่เราไปเข้าวัดเข้าวาเพื่อฟังธรรมะเสริมเข้าไปนี่มันจะช่วยการฝึกปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้นหรือไม่ หรือว่าเราปฏิบัติอยู่ที่บ้านอย่างเดียวก็พอ คงต้องขอให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงที่สวนโมกข์ได้ตอบให้เราฟังกันต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ก็ช่วยค่ะ เพราะว่าสำหรับการอ่านหนังสือนี่นะคะ ก็ต้องการผู้ที่มีความตั้งใจจริง มีความอุตสาหะพากเพียรอย่างยิ่ง เพราะว่าต้องอ่านคนเดียวต้องศึกษาคนเดียว ต้องทำความเข้าใจด้วยตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงว่าผู้ที่ไม่มีพื้นมาเลยก็อาจจะค่อนข้างยาก จึงต้องอาศัยกำลังใจ ที่จะตั้งใจจริงๆ จึงจะสำเร็จนะ จึงจะสามารถทำได้ ทีนี้การที่บางคน ก็ไม่สามารถที่จะบังคับตัวเอง ให้ตั้งหน้าตั้งตาอ่าน แล้วก็สนใจอ่าน จนทำความเข้าใจชัดเจนเองได้ ก็อาจจะอาศัยการฟังผู้อื่น การฟังผู้อื่นก็อย่างเช่น การเข้าวัดฟังธรรม นี่ก็เป็นวิธีการฟังเพื่อหาความรู้คือหาปริยัติอีกวิธีหนึ่ง แต่ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์อันเดิม หรือหลักการอันเดิมนั่นแหละ จะต้องมีจุดมุ่งหมายของการฟัง เพื่อมาศึกษาว่าความทุกข์มันคืออะไร เพราะเราเข้ามาหาธรรมะเพราะใจมันเป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ เราไม่อยากเป็นทุกข์ไม่อยากหม่นหมองไม่อยากอึดอัดไม่อยากเครียด เพราะฉะนั้นเราต้องมีอันนี้เป็นหลักเอาไว้ในใจ ถ้าหากว่าคำสอนใด ที่ท่านพูดท่านบรรยายให้ฟังแล้วมันชวนให้เราเพ้อเจ้อ ยิ่งเพ้อเจ้อ ยิ่งฟุ้งซ่าน ก็ออกจากวัดนั้นได้ ไม่ต้องฟังต่อไป แต่ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าเออนี่ยิ่งฟังยิ่งเย็น เพราะมันรู้หนทาง ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ทำให้เกิดสติรู้ตัวทัน ที่ความทุกข์มาถึง เราก็จดจำเอาไว้ แล้วก็ฟังแล้วก็ใคร่ครวญพิจารณาไป แล้วก็ยังรู้อีกว่าวิธีดับทุกข์จะต้องทำอย่างนี้ๆๆ อย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นการสอนหรือการบรรยายที่ถูกต้องในทางธรรม ก็น่าจะสนใจติดตามต่อไป แต่ถ้าจะถามว่าแล้วต้องมาบวชไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นเลย ก็ศึกษา ฝึกฝน อบรม ปฏิบัติอยู่ที่บ้านนั่นแหละ เพราะว่าที่บ้านก็ดีที่ทำงานก็ดี ผัสสะมันเยอะ ผัสสะที่จะทำให้เกิดนรก นั่นนะมากมายก่ายกอง ใช่ไหม ประเดี๋ยวก็มีรูปผ่านตา ประเดี๋ยวก็มีเสียงผ่านหู ประเดี๋ยวก็มีกลิ่นผ่านจมูก รสผ่านลิ้น สัมผัสผ่านกาย แล้วก็เกิดความรู้สึก ความนึกคิดต่างๆ ผ่านใจ สารพัดเลย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครสามารถใช้แบบฝึกหัดในชีวิตประจำวันที่บ้าน และที่ทำงาน มาฝึกฝนอบรมธรรม คือธรรมะความรู้ในทางธรรมะให้เกิดขึ้นในใจของตน จะเป็นการปฏิบัติที่วิเศษมาก และคนนั้นก็เป็นคนพิเศษด้วยนะ ถ้าใครอยากเป็นคนพิเศษก็น่าจะลองดูไม่ต้องมาวัด คนมาวัดนี่ก็จะว่าไปบางทีอาจจะเรียกว่า เป็นคนกล้าน้อย มีความกล้าหาญน้อยกว่าคนที่ปฏิบัติธรรมที่บ้านด้วยซ้ำไป คนที่สามารถปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้านที่ทำงานนี่เป็นคนกล้าหาญมาก เพราะกล้าสู้กับผัสสะ คือมาอยู่ที่วัดนี่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีผัสสะเสียเลย ผัสสะก็มี แต่ว่ามันก็ยังน้อย คือยังน้อยกว่าที่บ้านที่ทำงาน เพราะคนมาที่นี่รู้ตัวว่าจะต้องมาฝึกฝนอบรมเพื่อขัดเกลา ไม่ใช่มาเพิ่มพูน ก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: ก็แสดงว่านอกจากปริยัติแล้วมีปฏิบัติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ต้องปริยัติ อันแรกต้องเริ่มด้วยปริยัติ เพราะว่านี่เป็นสามส่วนของธรรมะ หรือของในพระพุทธศาสนา ท่านจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ขอได้จำว่า เราต้องเริ่มด้วยปริยัติที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าเราเริ่มด้วยปริยัติที่ถูกต้องด้วยการฟังก็ดี ด้วยการอ่านก็ดี ด้วยการลองทดลองฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้องก็ดี มันจะเป็นต้นทุนที่ทำให้เราสามารถเดินทางตรง ทางลัด และก็ไม่ต้องเสียเวลา แต่ถ้าเพียงแค่นั้นแล้วไม่นำมาปฏิบัติ จะไม่เกิดผลอะไรเลย เพราะฉะนั้นปฏิบัติจึงสำคัญ สำคัญเท่าๆ กันพอๆ กันกับปริยัติ เรียกว่าปริยัติกับปฏิบัตินี่มันเป็นเหตุเป็นผลกัน ถ้าหากว่าเหตุปริยัติถูก การปฏิบัติก็เต็มที่ มันก็จะเกิดผล แล้วก็จะถึงปฏิเวธ คือมองเห็นผลของการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นใน 3 ส่วนนี้นะคะ ถ้าเราจะใคร่ครวญก็จะมองเห็นว่า มันมีเรื่องของกฎธรรมชาติ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ อยู่ในส่วนนี้ ปริยัติเป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดการปฏิบัติ ปฏิบัติก็เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติจะประจักษ์ด้วยใจของตัวเอง เพราะฉะนั้นนี่คือกฎอิทัปปัจจยตา จำได้ไหม กฎแห่งเหตุและผล ซึ่งเป็นกฎที่เป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาหรือธรรมะนั้นไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ จะต้องมีเหตุเสมอ ผลอย่างใดต้องมีเหตุมาจากนั้น มาจากเหตุนั้น ประกอบเหตุอย่างใดผลจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องรู้จัก แล้วก็จะทำให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ถ้าหากว่าฝึกฝนอบรมปฏิบัติจนเต็มที่ อย่างต่อเนื่องทุกขณะ
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับในการไปถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนคราวนี้นะครับ เราอยู่ในเรื่องหลักเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องชีวิตที่สมบูรณ์นะครับ ว่าทำยังไงเราจะมีความสุขที่สมบูรณ์ แล้วก็ ผมก็เรียนถามท่านมาเรื่อยๆ มาถึงช่วงของการหาความรู้ถูกต้อง การอ่านหนังสือธรรมะก็ดี การเข้าวัดฟังธรรมก็ดี ก็เป็นสิ่งหนึ่งของการหาความรู้ที่ถูกต้องนะครับ แค่นั้นไม่พอครับ ต้องลงมือปฏิบัติ ทีนี้การปฏิบัตินี่ ปฏิบัติที่ไหน แน่นอนครับทางธรรมะของเราก็ต้องปฏิบัติที่ใจ ทีนี้เราจะปฏิบัติที่ใจอย่างไรคงต้องขอให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวนได้ขยายความให้ฟังกันต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: การปฏิบัติในทางธรรมนะคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพื่อที่จะให้เป็นคนร่ำรวยที่แท้จริงนี่ ต้องปฏิบัติที่ใจ ทีนี้ก็ ใจก็คือสิ่งที่มันเป็นนามธรรม ที่เราไม่สามารถจะมองเห็นว่า หน้าตามันเป็นยังไงแต่เราก็บอกได้ว่า ใจนี่คือสิ่งที่รู้สึกได้ ใช่ไหมคะ เรารู้สึกสุข หรือรู้สึกทุกข์ รู้สึกชอบใจไม่พอใจ รู้สึกได้รู้สึกเสีย นี่แหละคืออาการของใจที่มันรู้สึกได้ และบางทีมันก็นึกคิดเตลิดเปิดเปิง เพ้อเจ้อฟุ้งซ่านหยุดไม่ได้ นี่ก็คืออาการของใจ หรือบางทีมันก็รู้จักนึกคิดอะไรอยู่ในเหตุในผลก็มี นั่นคือใจที่ได้ฝึกฝนอบรมแล้ว แต่ที่ยังไม่ฝึกฝนอบรมมันมักจะคิดนึกเตลิดเปิดเปิงไม่ค่อยอยู่ที่ แล้วก็ไปมุ่งมั่น จดจำอะไรที่ผ่านมาแล้วที่ท่านเรียกว่าสัญญา อย่างชนิดที่แล้วไม่รู้แล้ว เอามาคร่ำครวญหวนไห้ เดี๋ยวก็มาเสียใจ เดี๋ยวก็มาถอนใจ หายใจยาวสะอึกสะอื้น นี่แหละมันเป็นเรื่องอาการของใจ
ผู้ดำเนินรายการ: อย่างนี้อกหักไม่หาย นี่ก็เข้าสัญญาอย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เรื่องของใจน่ะสิคะ เรื่องของใจละ
ผู้ดำเนินรายการ: มิน่าบางคน เห็นอกหักไม่หายเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วลองดูสิ อกนี้มันก็ยังดีอยู่ ใช่ไหม อก ร่างกาย ตัวตนนี่มันก็ยังดียังแข็งแรง แล้วเรียกว่าอกหัก นี่แหละที่จเลิศ ยกมานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเลยว่า เรื่องของกายก็คือกาย แต่ที่มันรู้สึกว่าจะอกหัก อกเต็มอกสดชื่นนี่มันอยู่ที่ใจ ใช่ไหมคะ ร่างกายมันก็ไม่เป็นอะไร เหมือนอย่างคนที่เป็นโรคประสาทหรือวิกลจริต ร่างกายเขาก็แข็งแรงทั้งนั้นเลย สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นอันนี้มันจึงว่าถ้าจะปฏิบัติ คือ ปฏิบัติที่ใจ ทีนี้ถ้าถามว่าใจมันไม่มีรูปอย่างที่ว่า แล้วปฏิบัติที่ไหน ก็ปฏิบัติที่ตรงความรู้สึก คือควบคุมความรู้สึก ความรู้สึกอะไรที่มันจะพาเราไปสู่สิ่งที่เป็นความทุกข์ คือความเศร้าหมอง ความระทม ความหมองหม่น ความขมขื่นเจ็บปวด ความชอบใจไม่ชอบใจ ความอึดอัดรำคาญ จนความหมั่นไส้หงุดหงิด อะไรเหล่านี้ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้พอมันเกิดขึ้น ใจมัน มันไม่สบายแล้ว มันกระเพื่อมมันหมุน มันซัดส่าย เรารู้อาการ เราก็ห้าม เราก็ฝึกฝนอบรม ไม่ให้มันไปรู้สึกอย่างนั้น นี่คือการฝึกฝนที่ใจ คือควบคุมความรู้สึก ทีนี้จะควบคุมความรู้สึกเมื่อไหร่ ก็เมื่อ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส แล้วใจมันก็รับธรรมารมณ์ต่างๆ เข้ามา นี่เมื่อผัสสะเกิดขึ้น ระมัดระวังความรู้สึกให้ทัน
อันนี้ที่เราพูดถึงเรื่องของว่า เรื่องของชีวิตเป็นรากเหง้าของมนุษย์ นั่นก็คือต้องรู้ว่าชีวิตคือความที่ยังไม่ตาย ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา แล้วก็พัฒนาได้ และชีวิตนี้เป็นตัวธรรมชาติ นี่คือหลักสำคัญมาก ชีวิตนี้เป็นตัวธรรมชาติ ที่เรากำลังพูดกันถึงเรื่องของการปฏิบัตินี่ ก็คือให้รู้ด้วยว่าชีวิตนี้เป็นตัวธรรมชาติ คือมันเป็นตัวธรรมชาติ พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ มันมีทั้งกายมีทั้งใจ และกายใจรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นชีวิต เพราะฉะนั้นชีวิตที่สมบูรณ์จึงต้องสมบูรณ์พร้อม ทีนี้การที่จะสมบูรณ์พร้อมทั้งกายทั้งใจ คือทั้งข้างนอกข้างใน ก็ต้องรู้ด้วยว่า ชีวิตนี้มีกฎธรรมชาติควบคุมอยู่ เราไม่ได้เป็น เราไม่ใช่เป็นผู้บงการชีวิตของเรา ตามใจกิเลส คือตามความโลภ โกรธ หลง หรือว่าตามตัณหาความอยาก หรือว่าตามอุปาทานความยึดมั่น ไม่ใช่ ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ามนุษย์คนไหนทำอย่างนั้นได้จะ จน จน ต่อให้เป็น มหาเศรษฐีมีวัตถุ เงินล้านๆ หมื่นล้านก็ตาม แต่จะเป็นคนจนที่น่าสมเพชที่สุด เพราะในใจนั้นมันมีแต่ความแห้งแล้ง หาความอบอุ่นเยือกเย็นไม่มีเลย เพราะจะเอาให้ได้ตามใจของกิเลส คิดว่าตัวเองควบคุมความรู้สึกหรือชีวิตของตัวได้ แต่แท้ที่จริง ตัวชีวิตนี่ มันถูกควบคุมด้วยกฎธรรมชาติ
ผู้ดำเนินรายการ: กฎข้อไหน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือกฎธรรมชาตินี่นะคะ ถ้าจะว่าไปแล้ว กฎธรรมชาติมันก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาควบคุม แต่มันมีมันเป็นของมันเองอย่างนั้น
ผู้ดำเนินรายการ: โดยสภาวะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โดยสภาวะ มันมีมันเป็นของมันเอง อย่างนั้น กฎธรรมชาตินั้นคืออะไร กฎธรรมชาติก็คือกฎไตรลักษณ์ ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ นี่ละศึกษาไปเถิด เจนจบประจักษ์แจ้งในกฎไตรลักษณ์เมื่อไหร่อยู่บนยอดเขา ร่ำรวยเป็นอิสระที่สุด เมื่อนั้น กฎอิทัปปัจยตา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตมันเกิดจากเหตุและผล มันมีเหตุปัจจัย ประกอบเหตุปัจจัยอย่างนี้ผลเป็นอย่างนี้ ผลเป็นอย่างนี้ก็เพราะประกอบเหตุปัจจัยอย่างนี้ ถ้าผลไม่มีทุกข์คือไม่มีปัญหาก็เพราะ ประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง ถูกต้องก็คือ ไม่เอาใจตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ยึดมั่นในตัวเอง ถ้าหากว่าผลไม่ถูกต้อง คือเป็นทุกข์ ก็เพราะเหตุปัจจัยนั้นมันจะเอาให้ได้อย่างใจตัว คิดว่าตัวเองนี้เป็นผู้ที่บงการชีวิต แต่ความจริงมันมีกฎธรรมชาติควบคุมอยู่ ฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นหลักทีเดียว เป็นชีวิตที่เป็นหลักที่เราควรจะต้องรู้
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ เรากำลังขุดรากเหง้าของความเป็นมนุษย์นะครับ ในเรื่องของชีวิตนี้คืออะไร นะครับ พบว่าสิ่งหนึ่งที่เราคุยกันไปแล้วก็คือ ชีวิตนี้คือตัวธรรมชาติซึ่งมีกฎธรรมชาติคอยควบคุมอีกครั้งหนึ่ง และกฎธรรมชาติที่ควบคุมอยู่นี่นะครับเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมากทีเดียว เราจะได้ขอให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวน ได้ค่อยๆ อธิบายให้เราฟังกันต่อไปในครั้งหน้านะครับ