แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องหนึ่งซึ่งเราได้เรียนถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนไว้ก็คือเรื่องของชีวิตที่สมบูรณ์คืออะไร ท่านบอกว่าเราควรจะหันกลับมาดูรากเหง้าของชีวิตของเรากัน โดยท่านให้พิจารณาถึงเรื่องของ กฎของธรรมชาติ กฎธรรมชาติกฎหนึ่งที่ท่านแนะนำเราไว้ก็คือเรื่องของ กฎไตรลักษณ์ วันนี้เราจะไปฟังรายละเอียดเรื่องของกฎไตรลักษณ์ จากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตัวของกฎธรรมชาติก็ ถ้าจะว่าไปที่เห็นชัดๆ ก็คือกฎไตรลักษณ์ ที่แสดงถึงลักษณะอันเป็นสามัญธรรมดา 3 ประการ เริ่มต้นด้วยอนิจจัง ความไม่เที่ยง เรารู้กันทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ แต่เราไม่เอามาศึกษา ไม่เอามาใคร่ครวญ ไม่เอามาฝึกปฏิบัติ ทีนี้จะมาฝึกปฏิบัติจะมาใคร่ครวญนี่ที่ไหนเขียนเป็นตำราหรือว่าเรียงความ อย่างงั้นหรือ คงไม่ใช่ นั้นก็คือต้องมานั่งดู ดูเข้าไปที่ไหน ดูเข้าไปที่ข้างใน ที่ข้างในความรู้สึก ให้มองเห็นว่าสภาวะของความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจัง คือความเกิดขึ้น ตั้งอยู่สักหน่อยแล้วก็ดับไป แล้วก็เปลี่ยนแปลง มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไปนี่ จริงหรือเปล่า ที่เขาว่าเป็นกฎธรรมชาติ อันแรกเราอาจจะเริ่มถามด้วยการถามตัวเอง จริงไหม จริงไหมนี่ ถ้าถามนี่จริงหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : แบบนี้ต้องตอบว่าจริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จริง แต่ว่าจริงด้วยปากใช่ไหม เพราะว่าเราเข้าใจด้วยสมองว่าจริง มันเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราไม่เอามาใคร่ครวญ ก็จริงแต่ปาก แล้วพอผัสสะมาก็เอาเรื่องกับผัสสะแล้วก็เป็นทุกข์ทุกที นี่เพราะเรายังไม่ได้ศึกษาด้วยวิธีการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติ เราต้องย้อนเข้ามาดูข้างใน แล้วการย้อนเข้ามาดูข้างใน นี่เอาที่ชัดที่สุดที่เราพิสูจน์ด้วยตัวเองได้ เพราะว่าชาวพุทธนั้นเป็น เรียกว่าคนมีปัญญาว่างั้นเถอะ เราต้องใช้ปัญญา งั้นเราก็ต้องใช้ปัญญามาศึกษาสิ่งที่เราพิสูจน์ได้ ไม่เอาตามเขาว่า ถ้าชาวพุทธไปเชื่อตามเขาว่านี่ไม่ใช่ชาวพุทธเพราะไม่ได้ใช้ปัญญาก็จะถูกเขาจูงจมูกได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพิสูจน์ได้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ตัวเรานี่แหละ นี่ เราดู ดูอนิจจังของตัวเรา เห็นไหม
ผู้ดำเนินรายการ : เห็นครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เห็น เห็นอยู่ตลอดเวลา ว่ามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่อายุกันเท่าไหร่แล้ว ก็รู้แล้วใช่ไหม เมื่อสมัยสิบขวบเราเหมือนอย่างนี้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เหมือนเลย 15, 20, 25, 30 ไม่เหมือน ยิ่งตอนเป็นพ่อคน เป็นแม่คน ยิ่งไม่เหมือนใหญ่ นี่พอ 30, 40 เข้าไป โอ้โฮ ไม่ ไม่เหมือนเลย แต่เราไม่เคยคิด แล้วเราก็บอกว่า มันธรรมดา แต่ธรรมดานี่ เรายอมรับไหม ใจของเรายอมรับความเป็นธรรมดาอันนี้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ยอม ถ้ายอมละก็ ไม่ต้องไปตกแต่งประดับประดากันใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ต้องไปดัดจมูกไม่ต้องไปกรีดตรงนั้นกรีดตรงนี้ ใช่ไหม เพื่อที่จะต่อต้านและฝืนธรรมชาติ แต่นี่เรายอมแต่ปาก แต่ใจมันไม่ยอม ใจไม่ยอมก็เพราะไม่ได้ศึกษา จึงไม่เห็นความจริงของธรรมชาติ แม้จะไปตกแต่งประดับประดาให้เปล่งปลั่งเต่งตึงอะไรสักเท่าไหร่ก็ตาม ก็รักษาไว้ไม่ได้ เดี๋ยวก็ต้องไปอีก ไปทำอีก แล้วผลที่สุดก็แตกสลาย ไม่กลับคืนสู่เดิมที่จะให้เหมือนเมื่อสาว 20 หรือว่าหนุ่ม 25 เป็นไปไม่ได้ นี่คือศึกษาจากตัวเองจากความเป็นจริงของเรา นี่คือจากสิ่งที่เป็นวัตถุนะ ทีนี้อีกอย่างหนึ่ง เราก็อาจศึกษาจากเหตุการณ์ในชีวิต เหตุการณ์ชีวิตของเรานี่ไม่ต้องไปเอาชีวิตคนอื่น เพราะชีวิตของเรา เรารู้ เราผ่านมาเองประสบเอง เราพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตเราเอาที่เราประทับใจที่เราจำได้ ทั้งในทางดีหรือทางที่ถูกใจ แล้วก็ทั้งในทางที่ไม่ถูกใจที่ทำให้ทุกข์ทนหม่นหมองนัก เอามาดู เอามาศึกษาว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น ทั้งที่เศร้าหมอง ทั้งที่ชื่นชมยินดี รักษาไว้ได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ได้เลยสักอย่าง
ผู้ดำเนินรายการ : เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ รักษาไม่ได้ อะไรที่แหมมันถูกใจ เราก็อยากให้มันอยู่ ก็ไม่อยู่ แล้วก็จะเห็นได้ว่า มันไม่อยู่ มันไปนี่เมื่อไหร่ มันไปตามเหตุตามปัจจัย พอมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น มันก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในทางดีและไม่ดี ที่เราไม่ชอบที่เราเกลียดก็เหมือนกันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอีกเหมือนกัน นี่ลองหมั่นศึกษาอนิจจัง ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุจากตัวเราเองนี้เพราะเราพิสูจน์ได้ แล้วก็ทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม คือเป็นสิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นๆ ที่ผ่านมา แล้วก็พิสูจน์ด้วยใจของเราเอง นั่งใคร่ครวญ อย่างสมมติว่ามาที่นี่แล้ว นี่นะ เราลองนึกดู ลองนึกดูสิว่าเรามาที่นี่แล้วเราพบเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว เราจะลองมาใช้สถานที่เงียบๆ เหล่านี้ ก็นั่งสงบๆ เย็นๆ แล้วก็ศึกษาดูใจของเราได้ไหม นี่แหละถ้าเราทำอย่างนี้ นี่คือการปฏิบัติ การปฏิบัติที่ใจเพื่อดูอนิจจังอย่างเดียวเท่านั้นนะ ดูอนิจจังอย่างเดียว
ผู้ดำเนินรายการ : ยังไม่ถึงทุกขัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โอ้ ยัง ถ้าเราเห็นอนิจจัง ต้องเห็นอนิจจังให้ชัดก่อน ถ้าไม่เห็นอนิจจังจะไม่มีวันเห็นทุกขัง เราต้องเห็นจนชัดประจักษ์ชัดอยู่ในใจ ในเรื่องของอนิจจังว่า อ๋อผลที่สุดแล้วชีวิตนี้มันไม่ มันไม่อยู่ที่ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลง เกิดดับ เกิดดับๆๆ แหละนี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นจริงจริง มันเกิดขึ้นเองอย่างนี้ มันไม่เปลี่ยนไปอย่างอื่น มันเกิดขึ้นเองอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะค่อยๆ ซึมทราบ เห็นสภาวะของทุกขัง ทีละน้อยละน้อยโดยไม่ต้องบังคับ มันเห็นเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ชีวิตมีแต่การเปลี่ยนแปลง เกิดดับๆ ตลอดเวลา เป็นเรื่องของอนิจจังนะครับ มาดูเรื่องของทุกขังกันบ้างนะครับ ทุกขังจะมีความหมายว่าเป็นความทุกข์อย่างที่เราประสบอยู่ทุกวี่วัน หรือไม่ ต้องไปฟังรายละเอียดจากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อละครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ก็อยากจะให้ทุกๆ ท่านนะน่ะ ได้มองสังเกตในเรื่องของอนิจจัง คืออย่ารับอนิจจังแต่เพียงปาก อย่างพล่อยๆ จะไม่ช่วยอะไรเลยเพราะจะไม่ถึงการปฏิบัติ แต่อยากให้ใคร่ครวญในเรื่องของอนิจจัง ถ้าเรายอมรับอนิจจังอย่างด้วยใจเพราะใจสัมผัสกับสภาวะของความเป็นอนิจจัง ชีวิตเราจะเบาขึ้นมากเลย จะไม่หนักไม่เครียดเหมือนอย่างที่เราเป็นอยู่ เพราะเราค่อยๆ มองเห็นว่า จริงๆ เป็นอย่างนี้ เป็นกฎธรรมชาติ หน้าที่ของเราก็คือต้องแก้ไขตามสติปัญญา ตามเหตุปัจจัยที่ควรจะเป็น ทีนี้ถ้าหากว่าเราหมั่นดูอนิจจังจนกระทั่งใจมันชัดเพราะมันสัมผัส
แล้วเราก็บอกเราพอเห็นนะ เห็น เราก็จะค่อยๆ เห็นสภาวะของทุกขัง ทุกขังอันนี้ในกฎไตรลักษณ์กับทุกขังในอริยสัจ 4 คนละอันนะ ในอริยสัจ 4 นั่น ทุกข์ นั่นหมายถึงความจริงเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ ที่จะอธิบายถึงลักษณะอาการของความทุกข์ว่าเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ที่มันเกิดขึ้น มันเป็นยังไงในเรานี่ ข้างในเรา แต่ส่วน ทุกขัง นี่หมายถึงสภาวะของความทนได้ยาก ความทนอยู่ไม่ได้ของทุกสรรพสิ่งในโลกเลย ไม่ว่าเป็นวัตถุสิ่งของ ต้นหมากรากไม้ พืชพรรณธัญญาหาร เม็ดกรวดเม็ดทราย ท้องฟ้า ดินน้ำ อากาศ ตลอดจนกระทั่งถึงผู้คน สัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งเราด้วย
ผู้ดำเนินรายการ : ทนได้ยากหมายถึงว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้ ก็เหมือนอย่างตัวเรา เราอยากจะหนุ่มตลอดเวลา แต่ว่าก็ทนไม่ได้ คือว่ารักษาความหนุ่มเอาไว้นั้นไม่ได้ ความหนุ่มนั้นจะต้องค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เป็นความเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็ความเป็นคนแก่ ความชราจนกระทั่งสลายไปที่สุด นี่คือสภาวะของทุกขัง หรืออย่างก้อนหินก้อนนี้นี่ เรามองดูสิ ก็ไม่สะสวยแล้ว ใช่ไหม เต็มไปด้วยตะไคร่ คราบ แล้วก็มองดูคร่ำเก่าแก่ นี่คือสภาวะทุกขังของก้อนหินอันนี้ ลองย้อนนึกไปเมื่อก้อนหินก้อนนี้มาตั้งอยู่ตรงนี้ใหม่ๆ ครั้งแรก คงสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลา ก็น่ารักน่าเอ็นดูเหมือนเด็กเด็กสี่ห้าขวบที่กำลังอยู่ในวัยน่ารักน่าชม แต่กาลเวลาผ่านไป อนิจจังเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนได้เรื่อยๆ จากก้อนหินก้อนเล็กเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ จากก้อนหินสะอาดแต่แล้วก็เพราะเหตุปัจจัยที่ถูกฟ้า ถูกฝน ถูกแดด ถูกความสกปรกของคนอาจจะมาป้ายมาอะไร เห็นไหมนี่เหตุปัจจัย มันก็จริงแสดงถึงสภาวะของทุกขังคือความทนอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้ก็คือทนอยู่ตามสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลง เพราะมันเปลี่ยนแปลงมันจึงทนอยู่ไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะอนิจจังก็เลยเกิดทุกขัง มองตรงนี้ให้เห็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เพราะงั้นทำไมถึงต้องเริ่มด้วยอนิจจัง ทีนี้คนเรานี่ พออะไรถูกใจมันจะเอาให้คงอยู่ทน เหมือนสร้างบ้านสวยงามขึ้นมา ก็หวังจะให้บ้านสวยอย่างนั้นสะอาดอย่างนั้น เหมือนวันขึ้นบ้านใหม่ จะผ่านไปสิบปีแล้ว พออันไหนจะกะเทาะสักนิดนึงตรงไหนสกปรกสักนิดก็บ่นเป็นวักเป็นเวร ปวดหัวตัวร้อน นี่เพราะไม่รู้จักทุกขัง ไม่รู้จักทุกขังก็เพราะไม่รู้จักอนิจจัง เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปบ่นไปว่าไปจู้จี้ให้ใจต้องหมองหม่น เราก็แก้ไขสิ จะทำยังไงจะปรับปรุงยังไง ให้มองดูเรียบร้อยงดงามเราก็ทำ นี่คือสภาวะของทุกขังซึ่งเราจะดูได้จากทุกอย่างอีกเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ใดก็ตามปฏิบัติที่ใจด้วยการศึกษาใคร่ครวญดูสภาวะของอนิจจังให้ชัด ชัดๆ จนเห็นสภาวะของทุกขังๆๆ คือทนอยู่ไม่ได้ ไม่ช้าใจที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นนั่นเป็นนี่อยู่อย่างนั้นว่าเป็นอัตตา ก็ค่อยๆ สลายคลายไป เพราะจะซึมซาบเข้ามาเองว่า โธ่เอ๊ย ตัวตนของฉันนี่ไม่เห็นจริงเลย มันก็เปลี่ยนแปลงมาจนเดี๋ยวนี้ พอส่องกระจกเข้า โอ้ยเดี๋ยวนี้ทำไมเล่าเหลาอย่างนี้ บางทีถึงกับเหลาเหย่ ดูไม่ได้เลย ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม แล้วค่อยๆ เห็นเข้า แล้วไหนละอัตตาตัวตนโก้หรูหนุ่มหล่อเฟี้ยวนะไปไหน หายไปเสียแล้ว นี่ก็จะค่อยๆ เห็นความเป็น อนัตตา เพราะฉะนั้นความเป็นอนัตตาเราจะไปสร้างขึ้นมาว่า อนัตตาคืออย่างนี้ไม่ได้ ต้องศึกษาไปทีละขั้นตอน จากอนิจจังไป ไปทุกขัง ต้องค่อยๆ ซึมซาบในสภาวะของความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อนัตตาคือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือที่เราพูดอย่างนี้ก็เพื่อจะขี้เกียจฟัง ที่ว่าก็นี่ไงตัวตน ก็จริงก็เป็นตัวเป็นตนตามที่ธรรมชาติให้มา แต่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆ เพราะทนอยู่ไม่ได้ เพราะต้องเปลี่ยนแปลง แล้วผลที่สุดก็สลาย ซึ่งจะเห็นเมื่อหยุดหายใจ
ถ้าเอาให้ชัด พอหยุดหายใจก็นอนเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน แล้วผลที่สุดก็ค่อยๆ ผุพังแตกสลาย กระจัดกระจายกลายไปเป็นดินเป็นทรายเป็นปุ๋ยเป็นอะไรต่อไป นี่คือสภาวะของความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นนี่คือกฎธรรมชาติที่ควรจะศึกษา ถ้าศึกษาเพียงเท่านี้เท่านั้น เราก็จะรู้สึกว่า ปัทโธ่เอ้ย ที่เบียดเบียนกัน แข่งกันแย่งกัน จะเอาโน่นเอานี่ แบ่งกันไม่ได้นี่เพื่ออะไร ผลที่สุดก็ลงเอยแบบเดียวกัน รักกันไม่ดีกว่าหรือ แบ่งกันไม่ดีกว่าหรือ จะได้มีความสุขด้วยกัน ผลที่สุดความรวยก็ค่อยเข้ามาสู่ใจ ร่ำรวยด้วยความรัก พร้อมที่จะให้โอกาสแก่คนอื่น พร้อมที่จะแบ่งปันกับคนอื่น ฉะนั้นความยากจนคืออะไรไม่รู้จัก ไม่รู้จักเลยถ้าเรารู้จักเรื่องรากเหง้าของชีวิต ไม่รู้จักความจน จะมีแต่ความรวย รวยอยู่ด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจและก็ความเพลิดเพลินในการที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องเลือกเอาใช่ไหมครับว่าจะเลือกรวยแบบไหน แบบที่ท่านอาจารย์ว่าหรือจะรวยแบบที่ใฝ่ดิ้นรนกันอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จะเลือกรวยอย่างผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ที่ถูกต้องแท้จริงหรือจะเลือกรวยอย่างผู้ที่มีชีวิตอย่างขาดๆ วิ่นๆ กระพร่องกระแพร่ง
ผู้ดำเนินรายการ : เลือกเอาเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เลือกเอาเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ ถ้าหากว่าท่านต้องการมีชีวิตที่สมบูรณ์ ต้องพิจารณากฎของไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ นะครับ จนมีความเข้าใจสภาพของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยธรรมชาติของตัวเรานะครับ และเมื่อเรามองเห็นสภาพได้อย่างนั้นชัดเจน เราก็จะลดการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราลงมากทีเดียวเลยครับ นั่นคือคำสอนจากท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหงนะครับ