แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : พูดถึงเรื่องของทุกขังในความหมายของกฎไตรลักษณ์ นี่จะต่างกับทุกข์ในอริยสัจเลยนะครับ เพราะว่าทุกข์ในเรื่องของทุกขังนั้นเป็นเรื่องของภาวะที่มันทนรูปแบบเดิมนั้นไม่ได้นะครับมันต้องเปลี่ยนแปลงไป เราจะไปฟังรายละเอียดเรื่องนี้จากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือทุกขังของไตรลักษณ์นี่หมายถึงว่า อธิบายถึงสภาวะที่มันเกิดขึ้น มันเป็นอย่างนั้นเอง แต่ไม่ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์ แต่ถามว่าทุกข์ในอริยสัจนั่นนะมันอธิบายถึงความรู้สึก ที่มันมีอยู่ในใจ ที่มันเป็นลักษณะอาการของความทุกข์ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงมาก มากใหญ่หลวง สูญเสียใหญ่หลวง เพราะฉะนั้นทุกขังก็นี่สภาพที่มองเห็น มองอะไรไปก็เห็นทุกอย่าง แม้แต่ข้าวของใช้ประจำตัว หรืออย่างเช่นเสื้อผ้า หรือว่าไม้กวาด ที่บ้าน หรือว่าเครื่องใช้ที่โต๊ะหนังสือ หรือว่า ที่รถยนต์ ที่อะไรก็แล้วแต่ ตลอดจนเฉพาะตัวเรา ก็คือมีสภาวะของทุกขัง ที่มันแสดงความทนอยู่ไม่ได้ เหมือนอย่างเดิมไม่ได้เพราะมันเป็นอนิจจัง เพราะฉะนั้นมันจึงแสดงถึงสภาวะของความเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนให้เห็นทุกขณะๆ นี่คือทุกขัง
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วมันจะโยงกับอนัตตาอย่างนี้ตลอด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นตามลำดับ เป็นความเกิดที่เรารู้สึกแล้วก็สัมผัสได้ข้างใน ซึ่งจะสัมผัสกับความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความเกิดดับ ไปๆ มาๆ ไม่มีอะไรอยู่นิ่งเลยซักอย่าง จะมีแต่แปรเปลี่ยน แล้วก็จะเห็นว่า อ๋อ เนี่ยมันคือความทนอยู่ไม่ได้ แม้แต่ความรู้สึก ความรู้สึกของเรา รู้สึกรัก ทีแรกแหมมันรักจี๋ รักจี๋อย่างชนิดจะเป็นไฟฟ้าช็อตไหม้กันเลย ไม่ช้าความรักจี๋มันก็ค่อยๆ ผ่อนคลายๆ ค่อยๆ เป็นความรักลดลงหรือจะเรียกว่าช้าลง น้อยลงจนบางทีจางคลาย ผลที่สุดกลายเป็นความเกลียดก็มี นี่คือความเป็นอนิจจัง มันแสดงอย่างนี้ และมันก็แสดงให้เห็นถึงทุกขังอยู่ในตัว ที่แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม อย่าว่าแต่รูปธรรมเลย แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม มันก็แสดงความเป็นทุกขัง คือทนอยู่ไม่ได้ คงที่อยู่ไม่ได้ และที่มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยของทุกขังก็คืออนิจจัง แล้วก็จากอนิจจัง จากทุกขังก็เป็นเหตุให้เราได้ซึมซาบ ค่อยๆ สัมผัสกับสภาวะของความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรืออนัตตา ชัดเข้าๆ พอสัมผัสถึงจุดนี้เมื่อใด ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่านี่เป็นฉัน นั่นเป็นเรา นี่ของฉัน นั่นไม่ใช่ ก็ค่อยลดลง ลดลงๆ และความรู้สึกที่จะเห็นว่า อะไรๆ ก็คือเหมือนกัน คำว่าเหมือนกันอย่างนี้คือธรรมชาติ ไม่ใช่มีอะไรแบ่งแยกว่าต้องเป็นเขาต้องเป็นเรา ต้องเป็นพวกฉันเป็นพวกแก ไม่มีความรู้สึกยึดมั่นที่เราเคยสั่งสม มันก็ลดลง เมื่อเราได้ศึกษาจนสัมผัสกับไตรลักษณ์ทั้ง 3 อาการนี้ขึ้นในใจ
และในขณะเดียวกันก็จะเห็นกฎธรรมชาติอีกตัวนึงก็คือ กฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งมันก็แสดงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงก็ตามเหตุปัจจัย ที่มันเป็นทุกขังก็ตามเหตุปัจจัย ที่เห็นอนัตตาก็เพราะเห็นเหตุปัจจัยของมันที่มันเป็นตามอันดับมาอย่างนี้ ฉะนั้นกฎอิทัปปัจจยตาจึงถือว่าเป็นกฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นกฎที่ครอบจักรวาลเลย คำว่าครอบจักรวาลหมายความว่าทุกอย่างในจักรวาลนี้ไม่มีสิ่งใดหนีพ้นกฎอิทัปปัจจยตา แล้วถ้าเรามาดูถึงชีวิตของเรา ที่เราบ่นบ้าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวไม่ชอบ ก็ให้รู้เถิดว่าเพราะเราไม่ได้ประกอบเหตุปัจจัยให้มันถูกต้อง ผลจึงเป็นอย่างนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ถ้าประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ผลมันก็คือสบายใจ เพราะรู้ว่าได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ใจมันก็อิ่มใจ พอใจ เพราะฉะนั้นที่เคยถามถึงเรื่องของงาน เรื่องของอะไรนี่ ก็อยู่ที่ตรงกฎอิทัปปัจจยตานี่แหละ
ผู้ดำเนินรายการ : อยู่การประกอบเหตุประกอบผล ประกอบเหตุให้ถูกต้อง ผลจะได้ถูกต้องอย่างที่ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หากว่าทำงานโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยึดมั่นในตัวฉันว่าฉันจะต้องได้ ฉันจะต้องเป็นผู้ถูกอยู่คนเดียว แล้วก็ เราก็ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเรากระทำเหตุปัจจัยในการทำงาน งานเพื่องาน ทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็จะไม่รู้สึกเป็นทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ กฎอิทัปปัจจยตาเป็นเรื่องของการประกอบเหตุและประกอบผลที่ถูกต้องนะครับ ถ้าหากว่าเราทำเหตุที่ถูกต้อง ผลก็ถูกต้อง การดำเนินชีวิตของเราก็จะมีความสุขมากขึ้น แต่เรื่องของกฎอิทัปปัจจยตาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนนะครับ ก็จะขอให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวนอธิบายให้เราฟังกันต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือกฎอิทัปปัจจยตานี่ ต้องเข้าใจว่ามันมีหลายระดับ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่เราจะมองเห็นชัดและเข้าใจง่ายที่สุดก็คือกฎอิทัปปัจจยตาที่เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเฉพาะตัวโดยตรง เหมือนอย่างง่ายๆ ว่า เรากำลังดูหนังสือเพื่อที่จะสอบเลื่อนชั้น ทีนี้ถ้าเราจะดูหนังสือสอบเลื่อนชั้นนี่ แล้วเราก็อยากจะเลื่อนชั้น อยากจะสอบให้ได้ และก็อยากจะสอบให้ได้ตำแหน่งดีๆ ด้วย เราก็ขะมักเขม้น ทุ่มเทเวลาดูหนังสือ ด้วยความเอาใจใส่อย่างถี่ถ้วนทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราทำอย่างนี้ตลอดเวลา แล้วก็เตรียมตัวอย่างรอบคอบถี่ถ้วน แล้วก็รักษาสุขภาพทางกายให้สมอง จิตใจแจ่มใสเสมอ ถึงเวลาสอบ ผลก็ต้องได้ นี่เรามองเห็นชัดเพราะเป็นการกระทำของตัวเราเอง แต่ถ้าสมมติว่า เราดูบ้างไม่ดูบ้าง หรือว่าไม่เป็นไรหรอกแอบมองเขาหน่อย คนอื่นเขาอาจจะส่งคำตอบให้เราบ้างอะไรอย่างนี้ ผลก็คือได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือไม่งั้นก็ถูกจับทุจริตไปเลย อะไรอย่างนี้ นี่มันคืออิทัปปัจจยตา เห็นชัดใช่ไหม ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนตัวเรา
แต่ทีนี้บางทีในชีวิตของเรา เราไม่ได้ทำอะไรคนเดียวใช่ไหมคะ มันต้องมีคนมาเกี่ยวข้อง เหมือนอย่างในวงการงานเราจะมองเห็นเลยว่าบุคคลคนหนึ่งในที่ทำงานนี่อาจจะตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเลย เต็มฝีมือความสามารถอยู่เสมอ แต่ก็มีผู้บังคับบัญชาใช่ไหมที่ต้องมาเกี่ยวข้อง เพื่อนร่วมงาน แล้วก็ยังมีลูกน้องอีก นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่น เป็นต้นว่า งบประมาณ อุปกรณ์เครื่องใช้ เวลา แล้วก็อื่นๆ อีกเยอะแยะเลย นี่ล้วนแล้วแต่เรียกว่าเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นคนที่มักจะร้องทุกข์ว่า ทำถูกต้องแล้วไม่เห็นได้ผลถูกต้อง คือยังต้องเป็นทุกข์อยู่ หรือทำดีแล้วไม่เห็นได้ดี นี่แหละก็เพราะว่า กฎอิทัปปัจจยตานั้น มันไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป ถ้าสมมุติว่ามันเป็นเส้นตรง จากจุดนี่แล้วก็ไปที่จุดต้นไม้นั่น อย่างนี้เป็นเส้นตรง เราจะเห็นได้ชัด ก็คือกฎอิทัปปัจจยตาที่เกี่ยวกับตัวเราโดยตรงดังยกตัวอย่างแล้ว แต่บางที่นี่เราจะเดินทางออกไปที่ตรงข้างหน้า บางทีเราต้องอ้อมใช่ไหม เราต้องอ้อมถนนนี้ เราต้องหลีกก้อนหินก้อนนั้น เราต้องข้าม คลองคูเล็กๆ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นแทนที่เราควรจะไปถึงตรงถนนใหญ่นี่ภายในเวลาสัก 5 นาที อาจจะกลายเป็น 10 นาที ครึ่งชั่วโมง บางทีชั่วโมงนึงยังไม่ถึงเลย อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็คือหมายถึงว่าอิทัปปัจจยตานั้น เมื่อมันมีเหตุปัจจัยที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายส่วนหลายฝ่ายหลายบุคคล
เราจึงต้องทำในส่วนตัวของเรา ประการแรกที่สุดคือในส่วนตัวของเรา จงทำให้เต็มที่ที่สุด เต็มฝีมือความสามารถ แล้วข้อสำคัญรักษาใจเอาไว้ให้มีความสนุกสนานรื่นเริงในการทำ อย่ามาให้วิตกกังวล อย่าให้มาหนักอกหนักใจจนกระทั่งรู้สึกอึดอัด แล้วก็ทำงานไปก็คร่ำครวญร้องไห้ไป อย่างนี้มันเริ่มผิดแล้ว ผิดตั้งแต่ตอนต้น เพราะจิตมันเป็นมิจฉาทิฐิ มันจึงทำด้วยความยึดมั่นในตัวตน ว่านี่ต้องเป็นฉัน ต้องเป็นฉัน ต้องเป็นฉัน นี่อันแรกที่สุดก็คือสลัดความรู้สึกเป็นฉัน แต่ให้ว่ามีแต่การกระทำที่ถูกต้องและเสร็จแล้วในขณะเดียวกัน ก็นึกถึงกฎธรรมชาติอีกข้อหนึ่งคือไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ตัวแรกของไตรลักษณ์คืออนิจจัง นึกถึงเสมอว่ามันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะได้พยายามกระทำดีที่สุด ถูกต้องที่สุดเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะเกิดขึ้นได้เรื่อย นี่ก็คือกฎธรรมชาติอีกกฎหนึ่ง ซึ่งจะเตือนสติเรา เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้กฎธรรมชาติ ศึกษาอย่างชนิดที่จนประจักษ์แจ้งอยู่ในใจ พอเราทำเต็มที่เต็มฝีมือความสามารถแล้วผลมันไม่เป็นไปอย่างนั้น
แทนที่จะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะได้ 50 หรือว่า 60 70 เราก็มองดูทีเดียวว่าอะไรที่เป็นเหตุปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง หรือถ้าใช้ภาษาของครู ก็เรียกว่าเป็นตัวแปรแต่มันก็คือเหตุปัจจัยนี่แหละ แต่มันมาแปรเปลี่ยนผลที่ควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้มันเปลี่ยนแปลงไป เราก็ดูเหตุปัจจัยอะไร ที่มันมาทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ เราก็ศึกษามันแล้วก็ดูว่าจะแก้ไขเหตุปัจจัยนั้นได้อย่างไรด้วยสติและก็ด้วยปัญญา เพื่อที่จะรักษาใจเอาไว้ไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้วิตกกังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แล้วก็เลยพลอยสมองตัน ถ้าเราทำอย่างนี้เสมอละก็ ก็คือเรายอมรับความเป็นจริงของกฎไตรลักษณ์ และในขณะเดียวกันก็พยายามปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิต ทั้งในเรื่องของการงานที่ทำงาน ทั้งในเรื่องการงานส่วนตัวที่ครอบครัวอย่างเต็มที่อย่างถูกต้องตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ แล้วอะไรเกิดขึ้นมันก็เป็นเช่นนั้นเอง ตถตา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง แต่เราก็พร้อมที่จะแก้ไข แล้วก็แก้ไขด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าศึกษากฎของธรรมชาติอยู่อย่างนี้ จะทำให้เป็นผู้ที่รอได้ คอยได้ ยอมได้ ไม่ต้องเอาเดี๋ยวนี้ให้มันได้ เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ภายใต้กฎธรรมชาติที่กล่าวมา
ผู้ดำเนินรายการ : โอ้ แหม โลกคงมีสันติสุขเยอะเลยถ้าทำได้อย่างนี้ทุกคน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แน่นอนจะมีแต่เศรษฐีไม่มีกระยาจก เพราะมันเต็มไปด้วยความรักซึ่งกันและกัน
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ การได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินี้ รู้สึกว่ามีความสุขมากจริง ๆ เลยนะครับ การดำเนินชีวิตของเราก็เช่นเดียวกันนะครับ ถ้าหากว่าเราดำเนินชีวิตของเราให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติที่ท่านอาจารย์คุณรัญจวนแนะนำไว้ กฎของไตรลักษณ์ก็ดี กฎอิทัปปัจจยตาก็ดี ชีวิตของท่านผู้ชมก็คงจะมีความสุขมากเช่นกันนะครับ ลองไปพิจารณาดูนะครับ