แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: งั้นถ้าหากว่าอยากมีชีวิตที่สมบูรณ์ เราก็มาฟังคำตอบจากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อไปนะครับว่าชีวิตที่สมบูรณ์นั้น เราควรจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าสมมติว่ามีใครมาคุยด้วยเรื่องชีวิตที่สมบูรณ์ ก่อนอื่นมันต้องทำความเข้าใจกันก่อน ถ้าทำความเข้าใจไม่ตรงกันมันก็คุยกันคนละเรื่อง เช่น ชีวิตที่สมบูรณ์ในความหมายที่เขาถาม หมายความว่าอะไร ก็ลองฟังคำอธิบายของเขา แล้วก็มาหันมาดูเราว่า แล้วเราละ ชีวิตที่สมบูรณ์นี้คืออะไร ในความรู้สึกของเรา แล้วก็ เราก็ค่อยอธิบายให้เขาฟัง แต่อย่างที่เราคุยกันนี่เราก็รู้สึกว่า ชีวิตที่สมบูรณ์ที่คุ้มค่าแก่การที่เราเกิดมาเป็นคน เป็นมนุษย์นั่น ก็คือ สมบูรณ์พร้อมทั้งข้างในและข้างนอก กายก็แข็งแรงแต่ที่แข็งแรงยิ่งกว่านั้นก็คือใจ ที่มันมีความสดชื่น มีความแจ่มใส มีความไม่ตาย และความไม่ตายอันนี้ก็คือ ไม่ตายเพราะความทุกข์ ไม่ตายเพราะถูกความทุกข์เข้าครอบงำ แล้วก็มีความสามารถที่จะดึงใจหรือว่าพยุงใจ ประคองใจขึ้น ให้พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะในความเป็นตัวตน การที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตนจนกระทั่งเกิดความอยากจนหยุดไม่ได้ ก็จะต้องรู้จักเรื่องของชีวิต
อย่างที่ว่าแล้ว ก็ชีวิตคือความที่ยังไม่ตาย คือสดชื่นทั้งภายนอกภายใน แล้วชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและพัฒนาได้ อย่ามัวแต่เสียกำลังใจ ลุกขึ้นมาเพื่อพัฒนาที่ใจเพราะใจมันนำชีวิต ใช่ไหมคะ ชีวิตจะสุขก็ที่ใจจะทุกข์ก็ที่ใจ เพราะฉะนั้นก็ลุกขึ้นมาเพื่อพัฒนาใจ ด้วยการให้มี ปริยัติ คือศึกษาในเรื่องของธรรมะให้มีความรู้ที่ถูกต้อง ให้ตรงกับหัวใจของพระพุทธศาสนา ก็คือเรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ และเสร็จแล้วก็นำเอาความรู้ที่เราได้รับมานั้นมาปฏิบัติ ปฏิบัติที่ใจอีกเหมือนกัน เอามาฝึกหัดขัดเกลา โดยศึกษาในเรื่องของ กฎธรรมชาติดังที่กล่าวแล้วจนชัดประจักษ์ใจ เราก็จะเห็นว่าปริยัติที่เราได้ศึกษามานั้น พอเรามาปฏิบัติเราก็เห็นผลว่า อ๋อความทุกข์มันมีลักษณะอาการอย่างนี้ แล้วพอปฏิบัติอย่างนี้เข้า ความทุกข์มันก็ค่อยๆ จางคลายหายไป ความทุกข์จางคลายหายไปจิตใจก็เบาสบาย เบาสบายมากขึ้นเรื่อย มันเยือกเย็นผ่องใส เพราะมันไม่ต้องแบกตัว
ตัวเรา ตัวเรานี่น้ำหนักข้างนอกอาจจะ 50 กิโล 60,70,80 แต่ข้างในนี่ มันหนักเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านกิโล มันหนักเหลือเกิน เพราะฉะนั้นมันก็จะผ่อนคลายสิ่งที่เป็นของเราลงไป ลงไปๆ จนกระทั่งความเป็นตัวเรานี่มันก็ มีสักแต่ว่ามี เรามีอยู่ดี เราก็จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ อยากจะใช้มันทำงานใช้ อยากจะใช้มันไปบริหารกาย หรือว่าใช้มันไปเพื่อทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ใช้ ใช้มันเต็มที่เลย แล้วเราก็ประจักษ์ผล คือปฏิเวธ อ๋อ ผลของการปฏิบัตินี่มันเป็นอย่างนี้ นี่ก็เพราะว่า เราได้พัฒนาอย่างถูกที่ คือพัฒนาที่ใจ พอใจมันเจริญแล้วละก็ มันก็จะควบคุมการคิดก็ถูกต้อง การพูดก็ถูกต้อง การกระทำก็ถูกต้อง คือเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อตัวเอง และทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะรู้ว่าชีวิตนี้เป็นตัวธรรมชาติ ผลที่สุดมันจะเห็นเอง ไม่ต้องให้ใครบอก เพราะชีวิตนี้เป็นตัวธรรมชาติ แล้วก็มีกฎธรรมชาติมาควบคุมคือมันอยู่ในตัวนี้ไม่ต้องไปดูตัวอื่น
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมนุษย์ก็คือว่า ต้องประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตให้สอดคล้องสมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ อย่าไปต่อต้าน ถ้าต่อต้านจะเอาให้ได้อย่างใจตัวเองเมื่อไหร่ มันก็เกิดความทุกข์เมื่อนั้น
เพราะมันจะเบียดเบียนคนอื่นโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ได้ตั้งใจหรือบางทีก็ตั้งใจ แต่ถ้าหากว่า เราศึกษาจนเห็นชัดแล้วก็ทำหน้าที่ให้สมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ มันก็จะลืมความเป็นตัวตน มันจะมีแต่การกระทำ อย่างที่ครูเคยพูดว่า แล้วเสร็จแล้วเราจะเกลียดจะรักกันหรือคนเราจะมีคุณค่าหรือไร้คุณค่า อยู่ที่การกระทำ เพราะฉะนั้นการกระทำนี่มันจะแสดงถึงว่า เป็นมนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์ จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์หรือไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์ มันก็อยู่ที่การกระทำ เพราะฉะนั้นเรื่องของความรวยนี่ หรือความเป็นเศรษฐี ถ้าเศรษฐีของชาวพุทธแล้วละก็ คือเศรษฐีที่ใจ เพราะมีน้ำใจที่เต็มไปด้วยความรัก ความรักแก่เพื่อนมนุษย์ ว่างั้นเถอะพูดในวงกว้าง แล้วก็ไม่มีความรู้สึกที่จะเบียดบัง หรือว่าเห็นแก่ตัวเพื่อตัวเอง นี่คือชีวิตสมบูรณ์ที่แท้จริง แล้วเชื่อว่าเป็นยอดปรารถนาของเราทุกคน เพราะผลที่สุดแล้วมันก็ลงเอยอยู่ด้วย ความสุขสงบเย็น และเป็นประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ: ก็เอาเป็นความรู้สึกที่ ทุกคนถ้าสร้างได้โลกก็จะมีความสุขมากขึ้น แทนที่จะนั่งทุกข์กันอย่างทุกวันนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คุ้มค่า
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ การเป็นเศรษฐีของชาวพุทธนั้น เราควรจะเป็นเศรษฐีที่ใจกันนะครับ แล้วเราจะมีความสุขสงบเย็นอย่างแท้จริง นะครับ มากกว่าร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง แล้วก็เรียกว่าร้อนลุ่มไปทั้งวันทั้งคืน นะครับ พูดถึงเรื่องของการฝึกสมาธิกันนะครับ ว่า เราควรจะใช้วิธีการฝึกแบบใด สำหรับในการปฏิบัติของเราแต่ละคนนั้น ท่านอาจารย์คุณรัญจวน ก็มีคำแนะนำมาฝากท่านผู้ชมเช่นเคยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ เมื่อต้องการจะนั่งสมาธิ ก็ควรจะต้องมีความเข้าใจเสียก่อนว่าสมาธิคืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วทำไมถึงต้องมานั่งสมาธิ เพื่ออะไร การที่จะอยากจะมานั่งสมาธิหรือมาปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็เป็นเพราะว่า ผู้นั้นคงจะมีความรู้สึกว่า จิตใจข้างในของตัวเองนี่ มันกระจัดกระจายมันวุ่นวาย มันแส่ส่ายไปโน่นไปนี่ มันไม่เคยรวมกันนิ่งสงบได้เลย ฉะนั้นจิตใจที่กระวนกระวายแส่ส่ายกระจัดกระจาย หรือว่าร่อนเร่พเนจรไปกับความคิดความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นจิตใจที่เลื่อนลอย อ่อนแอ เรียกว่าไม่มีรากฐาน ถ้าจะพูดว่าจะหาความสมบูรณ์ของจิตหรือของชีวิตน่ะไม่มีเลย แล้วก็ผู้นั้นคงจะได้สำนึกแล้วว่า จิตใจที่มันแตกกระจายวุ่นวายสับสนอยู่นี้ไม่ดีแน่ เพราะมันมีแต่ทำให้ชีวิตนั้น มันรวนเรและก็ลังเล และก็สับสน มันก็ไม่เป็นสุขไม่มีความสงบเย็น ก็คงจะได้คิดหาวิธีกันหลายอย่าง อาจจะด้วยการใช้เงินไปเที่ยวแสวงหาต่างๆ ผลที่สุดมันก็ไม่พบ คือมันไม่เกิดขึ้น ก็เลยคิดว่าบางทีการทำสมาธิอย่างที่ได้ยินเขาว่ากันอาจจะช่วย เพราะการทำสมาธิ หรือความหมายของสมาธิ ก็คือว่า มาฝึกปฏิบัติจิตเพื่อทำจิตคือความรู้สึกที่กระจัดกระจายให้มันมารวมนิ่ง ให้มันนิ่ง ให้มันสงบ ให้มันมีฐานที่ตั้ง ให้มั่นคงเพื่อว่าจะได้เป็นจิตที่หนักแน่น แล้วก็เข้มแข็ง อยู่ด้วยสติ คือความระลึกรู้ทันว่าอะไรถูกอะไรผิดและก็สามารถยับยั้งความคิดหรือยับยั้งวาจา ยับยั้งการกระทำที่อาจจะไม่ถูกต้องไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทันท่วงที นี่ก็ถ้าทำสมาธิจิตมันหนักแน่นก็จะมีสติ แล้วมันก็จะมีความมั่นคง มีความว่องไว ว่องไวพร้อมทั้งสติพร้อมทั้งปัญญา ที่จะคิดทำอะไรต่ออะไรให้เกิดประโยชน์ได้
เพราะฉะนั้นการทำสมาธิภาวนา กล่าวโดยสรุป เริ่มแรกก็คือมาพัฒนาจิตที่วุ่นวายให้สงบ แล้วก็พัฒนาจิตที่สงบนี้ให้มันรู้จักใคร่ครวญในธรรม ที่เรียกว่าวิปัสสนา ในเรื่องใคร่ครวญในธรรมในเรื่องอะไร ก็คือในเรื่องของกฎของธรรมชาติ อย่างที่เราพูดกันมาแล้ว ศึกษาใคร่ครวญดูเข้าไปที่ข้างในในเรื่องของกฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา จนประจักษ์ชัดเจน จนผลที่สุดมันก็ถึงซึ่งความปล่อยวาง คือปล่อยวางก็คือว่า ไม่เอาอะไรที่จะยึดมั่นมาเป็นของเราอีก มันจะรู้สึกเป็นจิตที่เป็นอิสระ อิสระจากการตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง อิสระจากตัณหาความอยาก อิสระจากความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะยึดมั่นในตัวเอง เพราะรู้แล้วนี่มันเป็นอนัตตา ใช่ไหมคะ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็ไม่รู้จะไปยึดมันทำไม ก็เหมือนกับเรายึดลม ยึดลมเราก็ล้ม มันไม่มีหลักจะยึด เพราะฉะนั้นจะไปยึดทำไม มันไม่มีอะไรให้ยึด เพราะฉะนั้นพอเราไม่ยึดแล้วเราก็ปล่อย พอเราปล่อยได้คือปล่อยเป็นอิสระได้ จากกิเลส จากตัณหา จากอุปาทาน จิตใจมันก็มีแต่ความมั่นคง หนักแน่นที่จะเดินต่อไปด้วยการกระทำที่ถูกต้อง แล้วพอได้การกระทำที่ถูกต้อง มันก็มีแต่ความอิ่มใจพอใจ อิ่มใจพอใจในการกระทำของเรา พอก่อนนอนมันก็ยิ้มนะมันยิ้มชื่นบาน วันนี้แหมมันทำอะไรล้วนแล้วแต่เกิดประโยชน์ คนนั้นก็ชอบ คนนี้ก็ได้รับความสุขคนโน้นก็ได้รับประโยชน์
พอตื่นขึ้นมันก็จะต้องนึก เออวันนี้เราจะทำอะไร มันถึงจะเกิดประโยชน์ต่อคนอื่น แล้วจิตใจเราก็มันก็ไม่พบกับความเศร้าหมอง มันก็จะพบแต่สิ่งที่คิดค้นเรื่อยทำอะไรถึงจะเกิดประโยชน์ ทำอะไรถึงจะเกิดประโยชน์ และเกิดประโยชน์นี่เป็นประโยชน์ที่เกิดแก่ส่วนรวม และก็ต่อเนื่องแล้วก็กว้างขวาง จะเรียกว่าเกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ นี่ถ้าพูดถึงความยิ่งใหญ่ในที่สุด เพราะฉะนั้นนี่คือ
การปฏิบัติสมาธิภาวนา อย่างมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง แล้วก็จะได้ประโยชน์ที่ถูกต้อง ไม่เฉพาะแต่แก่ตนเอง แต่จะนำความสุขสงบเย็นที่เกิดจากใจของเราไปกระจายแผ่ให้แก่ผู้ที่อยู่ใกล้ เริ่มต้นตั้งแต่พี่น้อง เพื่อนฝูง พ่อแม่ ลูกหลานในครอบครัวไปจนกระทั่งถึงเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน แล้วก็คนที่รู้จักทั่วไป ในสังคม
ผู้ดำเนินรายการ: เรื่องที่ผมได้ยินมาบอกว่า การนั่งสมาธิแล้วจะเห็นโน่นเห็นนี่ อันนี้มันก็ไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้องแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ ไม่ใช่จุดมุ่งหมาย ของการทำสมาธิ จุดมุ่งหมายของการทำสมาธิ ก็คือทำจิตที่ร้อนรน กระวนกระวาย กระจัดกระจาย ให้เป็นจิตที่นิ่งสงบ นี่คือจุดมุ่งหมาย พร้อมกับเกิดปัญญาที่จะมองเห็นว่า อะไรคือความจริงของธรรมชาติคือกฎของธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตาแต่ส่วนที่ว่าจะมีครูหรือไม่ จำเป็นหรือไม่นั้น ไว้เราคุยกันอีกที
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ท่านผู้ชมครับ การฝึกสมาธิจะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เราอย่าลืมจุดมุ่งหมายของการฝึกสมาธินะครับ ก็เพื่อจะให้จิตที่ร้อนรนกระวนกระวายมาเป็นจิตที่สงบนิ่งเยือกเย็นนะครับ คือจุดจุดมุ่งหมายของการฝึกสมาธิ ก็เป็นคำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงนะครับ