แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: เรื่องของการฝึกสมาธินั้น เรื่องของจิตตภาวนานั่นเองนะครับว่าเราจะฝึกสมาธิวิธีใดจึงจะถูกต้องคงต้องขอความรู้จากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน กันต่อครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้เห็นจะพูดยากนะคะว่า วิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะว่าถ้าหากว่าพูดอย่างเป็นกลางๆ มันก็ต้องแล้วแต่ว่าวิธีไหนจะสบอัธยาศัย ถ้าในทางการปฏิบัติ เขาก็เรียกว่า ถูกกับจริต ถูกกับจริตของตน อันไหนที่จะถูก เพราะฉะนั้นบางแห่งเขาอาจจะชอบใช้วิธีบริกรรม เช่น บริกรรมคำว่าพุทโธ หรือว่ายุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอะระหัง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น หรือบางคนก็อาจจะใช้วิธีเคลื่อนไหว ที่จะต้องอยู่กับความเคลื่อนไหว หรือบางทีก็อาจจะใช้เพ่งกสิณ หรือเพ่งเปลวเทียน หรือบางทีก็เก่งมากเข้าป่าช้าไปเลย เข้าป่าช้าไปเลยก็ไปนั่งพิจารณาอสุภ อสุภก็คือซากศพ ซากศพที่อยู่ในป่าช้าไปตอนดึกๆ ตี 1 ตี 2 ตี 3 ขณะที่มันเย็นยะเยือกนั่นนะ แล้วก็สั่นแต่ว่าใจอยากจะทดลอง ก็ไปฝึกในนั้น แล้วถ้าใครทำได้ก็จะเกิดความกล้า เป็นความกล้าหาญที่ ที่มันจะไม่ค่อยกลัวอะไรง่ายๆ อีกต่อไป มันมีหลายวิธี
ทีนี้ส่วนวิธีที่ใช้ลมหายใจท่านก็เรียกว่าอานาปานสติ แต่อานาปานสติเองก็ยังมี ที่ทำกันก็มีหลายอย่าง เหมือนอย่างเช่นการบริกรรมคำว่าพุทโธอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นอานาปานสติได้วิธีหนึ่งเหมือนกัน เพราะว่าในขณะที่หายใจเข้าก็จะบริกรรมว่าพุท หายใจออกก็โธ เพราะฉะนั้นอานาปานสติก็หมายความว่าการปฏิบัติสมาธิด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด แล้วก็กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่อยู่กับลมหายใจ ทุกขณะๆ ไปเลย เหมือนอย่างทุกขณะที่เข้าพุทแล้วก็พอออกก็โธ พุทโธๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นอานาปานสติ หรือสมมติว่าจะเอาเรื่องของความตาย พิจารณาเรื่องของความตาย มรณานุสติ ทุกลมหายใจเข้าออก มองเห็นว่าความตายนี้ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง คำว่าไม่เที่ยงก็หมายความว่า เกิดเมื่อไหร่ก็ได้ ความตายน่ะทางกายตายกันแน่ ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องตายแน่ แต่ทีนี้ถ้ามองดูแล้ว ความตายมันไม่เที่ยง เอามาพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก นี่ก็ดีเหมือนกัน เป็นการเตือนใจให้ไม่ประมาท ที่ยื้อแย่ง แข่งกันจนกระทั่งทำร้ายฟาดฟันกันทุกวันนี้ เพราะไม่เห็นความตาย ลืมตายเรียกว่าอย่างนั้นเถอะ ลืมตาย ก็เลยคิดว่ามันต้องเอามันต้องให้ได้ เพราะว่าคงจะอยู่กินอยู่ใช้จนฟ้าดินสลาย ซึ่งเข้าใจผิด แต่ถ้าสมมติว่าเราพิจารณา ความตายไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ทุกขณะที่หายใจเข้าออก นี่ก็เรียกว่าเป็นอานาปานสติได้เหมือนกัน
แต่อานาปานสติที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบก็มี อย่างที่สวนโมกข์นี่ ท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านก็นำมา แต่ไม่ใช่เป็นของท่านนะ ก็เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์พรรษา หรือตลอด เรียกว่าตลอดชีวิตของท่าน ท่านก็ทรงใช้เรื่องของอานาปานสติ อานาปานสติ 16 ขั้นนี้ก็ แบ่งออกเป็น 4 หมวด หมวดแรกก็ เกี่ยวกับเรื่องหมวดกาย กายานุปัสสนาภาวนา ก็หมายความว่า พิจารณาในเรื่องของกาย แต่ว่าในเรื่องของกายของอานาปานสตินั้นจะพิจารณากายลม คือลมหายใจ และเสร็จแล้วก็หมวดที่ 2 ก็เวทนานุปัสสนาภาวนา พิจารณาในเรื่องของเวทนาคือความรู้สึก แต่ว่าอานาปานสติจะพิจารณาเวทนาในแง่ที่ว่า เวทนานี้มันไม่เที่ยง มันเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นมายาให้เห็นความเป็นมายาและให้ควบคุมเวทนาได้ จากนั้นไปหมวดที่ 3 จิตตานุปัสสนาภาวนา ก็คือพิจารณาเรื่องของจิต ด้วยการศึกษาให้รู้จักธรรมชาติอาการของจิต เพราะจิตนั้นไม่มีรูปร่าง แล้วเราก็มาฝึกสมาธิเพื่อพัฒนาจิต ฉะนั้นหมวด 3 ก็ทำการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับเรื่องจิตจนรู้จักสภาวะธรรมชาติของจิตของตนอย่างดี ถี่ถ้วน แล้วก็ทดสอบกำลังของจิต แล้วก็หมวดที่ 4 ก็ธรรมานุปัสสนาภาวนา ก็คือพิจารณาใคร่ครวญธรรม อันเป็นเรื่องของวิปัสสนาโดยตรง เพื่อพัฒนาปัญญา ที่จะเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติจนประจักษ์ชัดเจน นี่ก็เป็นอานาปานสติที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ 16 ขั้น 4 หมวด หมวดละ 4 ขั้น ก็รวมเป็น 16 ขั้นด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องยาว แล้วถ้าหากว่าสนใจเราคงจะต้องพูดกันอีก
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ในคราวต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ: อานาปานสติ เป็นคำศัพท์ทางพุทธศาสนาที่เราอาจจะฟังแล้วยังไม่คุ้นเคยนะครับ แต่ฟังไปจะค่อยๆ คุ้นเคยเอง เราจะให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวนได้ทวนให้ฟังกันอีกครั้งนะครับว่าอานาปานสติคืออย่างไร แล้วเราจะฝึกลมหายใจ เราจะฝึกกันอย่างไรครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อานาปานสติ ก็คือการปฏิบัติสมาธิภาวนาวิธีหนึ่ง ซึ่งใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด นั่นก็คือว่าทุกขณะทุกอิริยาบถ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน หรือกำลังกระทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ตาม ทุกลมหายใจเข้าออก ให้มีความรู้สึกในลมหายใจที่กำลังเข้าและออก ว่า คือจิตนั้นนะ ความรู้สึกนั้นได้สัมผัสกับอาการที่ลมหายใจเคลื่อนเข้าเคลื่อนออกอยู่ตลอดเวลา
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ แต่มันไม่สะดุดหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คะ
ผู้ดำเนินรายการ: มันไม่สะดุดหรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็หายใจอยู่ทุกวันนี่สะดุดบ้างหรือเปล่า หกล้มไหม เวลาหายใจ
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ครับ แต่ ถ้าจะต้องกำหนดว่าให้มันเข้า ออก อะไรอย่างนี้รู้สึกว่ามันจะสะดุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ ไม่ต้องไปฮืด เรารู้ว่าลมหายใจนี่มันเข้าผ่านทางช่องจมูกใช่ไหมคะ เราก็รวบรวมความรู้สึกที่มันกระจัดกระจาย แทนที่จะปล่อยให้มันกระจัดกระจายวิ่งไปโน่นไปนี่ รวมมันมาอยู่ที่จุดเดียว และก็จุดตรงแถวนี้ แถวช่องจมูกนี่ แล้วก็คอยจับจ้องให้ดีๆ ว่า ตรงจุดไหนที่เวลาลมหายใจผ่านเข้าแล้วมันกระทบแรงที่สุด นั่น จำจุดนั้นไว้ แล้วพอมันผ่านออก มันก็จะกระทบตรงจุดนั้นแรงที่สุด แล้วเราก็กำหนดจิต คือความรู้สึกนะ หยุดรอคอยอยู่ตรงนั้น พอผ่านเข้าก็รู้ ผ่านออกก็รู้ ผ่านเข้าก็รู้ ผ่านออกก็รู้ เราจะไปเดินจะไปทำอะไร จะไปเล่นจะไปกวาดจะอาบน้ำอาบท่า ซักผ้าซักผ่อน ได้ทั้งนั้นเลย
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ได้นะอาจารย์ มันรู้สึก ใจมันคิดแต่อย่างอื่น รอก็พยายามรออยู่ตรงนี้แต่ว่า ส่วนหนึ่งก็ไปคิดอย่างอื่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่แหละ คือการไม่ได้ปฏิบัติ
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือการไม่ได้ปฏิบัติ การปล่อยให้จิตมันกระจัดกระจายไงละ มันถึงได้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงถือว่า เราจะพยายามรวมจิตให้มันมาอยู่เป็นหนึ่ง มันจะได้เลิกกระจัดกระจายเสียที
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันถึงจะเป็นจิตที่นิ่งสงบ แล้วก็เยือกเย็นผ่องใส
ผู้ดำเนินรายการ: แล้ว เวลานั่งต้องนั่งเอามือซ้อนอะไรอย่างนี้ อันนี้ด้วยไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนั้น ถ้าหากว่าเราต้องการจะนั่งสมาธิอย่างชนิดเป็นพิธี เป็นพิธีการ เราก็ต้องนั่งซ้อน แต่ถ้าหากว่าเราอยู่ในรถในเรือ หรือว่าเรากำลังทำกิจกรรมอะไร เราก็ไม่ต้องนั่ง เพราะฉะนั้นที่ท่านแนะนำอานาปานสติคือการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด เพราะมันสะดวก ใช่ไหมคะ ไม่ว่าเรากำลังจะทำอะไรอยู่ แม้แต่กำลังนั่งประชุม
ผู้ดำเนินรายการ: โหนรถเมล์ก็ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้ ก็บอกว่าทุกอิริยาบถ ไม่มีจำกัดเลย ไม่ว่าเราจะทำอะไรที่ไหนอย่างไรนี่มันสะดวกทั้งนั้นเลย และก็ไม่มีอะไรเป็นที่ผิดสังเกต
ผู้ดำเนินรายการ: ครับใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เป็นที่ผิดสังเกตเพราะเราหายใจอยู่ ใช่ไหม ใครๆ ก็หายใจอยู่ ไม่มีอะไรเป็นที่ผิดสังเกต ถ้าหากว่าเราใช้บางวิธีนี่ แล้วเราก็ไปทำในที่สาธารณะ อย่างสมมติว่าเรากำลังนั่งประชุม แล้วก็จะทำอาการของเราเช่นเราจะอยู่กับความเคลื่อนไหวนี่ สมมติเราจะเคลื่อนไปเคลื่อนมาอย่างนี้ มันก็เป็นที่สังเกต ว่านี่กำลังทำอะไร ทำไมถึงไม่นั่งให้เรียบร้อย แต่ถ้าเราหายใจใครๆ ก็หายใจแต่เราได้เปรียบ เราได้เปรียบตรงไหนที่เราหายใจอย่างมีสติ ในขณะที่คนบางคนหายใจอย่างไม่มีสติ แล้วเราก็จะเห็นว่า โอ้โฮ โต้แย้งกัน ทะเลาะกัน จำได้ไหมรูปตุ๊กแก 2 ตัวนั่น ตุ๊กแก 2 ตัวที่มันหันหัวเข้าหากัน นั่นแหละคือหายใจอย่างไม่มีสติ เพราะฉะนั้นพออะไรถูกใจไม่ถูกใจ กระทบหูเข้าก็พร้อมจะกัดกัน เพราะขาดสติ แต่ถ้าเราหายใจอย่างมีสติอยู่ในขณะที่ประชุมใครเขาจะพูดอะไรยังไงก็ตามที เราก็ ในใจมันเย็นได้ มันยิ้มได้ แล้วเมื่อถึงคราวที่เราจะพูดเราก็พูดด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เราก็จะไม่รู้สึกว่า จิตใจนี้เกิดความทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ: งั้นเราก็สามารถทนเขาตำหนิเราได้ อะไรต่างๆ ในที่ประชุม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ เราไม่ต้องทน เราไม่ต้องทนเลย ทำไมถึงว่าไม่ต้องทนนะ เพราะในขณะนั้นนี่จิตใจมันจะแจ่มใส คือจิตนี่มันสงบนะ อันแรกจิตมันสงบ เพราะจิตมันนิ่ง มันไม่ได้กระจัดกระจายไปกับความวิตกกังวลความฟุ้งซ่าน อะไรต่ออะไรจิตมันนิ่ง พอจิตมันนิ่งมันมีความสงบแล้วมันก็มีกำลังข้างใน ในขณะเดียวกันเมื่อจิตมันนิ่งมันไม่ต้องกระจัดกระจายวุ่นวาย สมองมัน ปัญญามันก็แจ่มใส ความรู้อะไรที่เรามีอยู่ ประสบการณ์อะไรที่เรามีอยู่ เราสามารถเรียกมันมารวบรวมได้ แล้วก็ใช้ได้ทันที
เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่จะพูดจะพูดได้ทันทีอย่างมีเหตุมีผล แล้วก็อย่างตรงต่อความหมายตรงกับจุดที่เราควรจะต้องการ ที่เราต้องการจะให้เรื่องมันเป็นยังไง จะพูดได้ชัดเจนแจ่มแจ้งตรงจุด แล้วก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต้องทะเลาะวิวาทกับใครด้วย
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หรือถ้าใครเขากำลังโต้แย้งทะเลาะวิวาทกัน จิตที่มีสติด้วยความสงบเย็น ก็อาจจะช่วยผ่อนคลาย ผ่อนคลายสถานะการณ์ที่กำลังทะเลาะวิวาทกันนั้นให้กลายเป็นได้สติซึ่งกันและกัน แล้วก็หันมาพูดกันอย่างมีเหตุมีผลได้ เพราะฉะนั้นมองดูแล้วมัน มันไม่มีอะไรเสียนี่ ไม่เห็นมีอะไรเสีย มีแต่ได้ แล้วก็ได้ความสุขสงบเย็นได้ประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะฉะนั้นวิธีของอานาปานสตินี่ทำได้ทุกหนทุกแห่งทุกที่ แล้วก็ จิตเราก็สามารถสงบเย็นได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าทำได้จริง
ผู้ดำเนินรายการ: ได้ในทุกอิริยาบถด้วย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าทำได้จริง ทุกอิริยาบถ มันถึงเป็นการสะดวกไงคะ
ผู้ดำเนินรายการ: คงต้องขอคุยเรื่องนี้กันต่ออีกคราวหน้า ท่านผู้ชมครับ เรื่องของการฝึกลมหายใจเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องไปฝึกฝนกันต่อไปนะครับ เป็นส่วนหนึ่งของวิธีอานาปานสตินะครับ จากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง