แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: เราได้ฟังท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ได้อธิบายให้เราฟังถึงเรื่องของวิธีฝึกปฏิบัติด้วยวิธีอานาปานสติ มานะครับ ว่าลมหายใจนี่ครับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้จิตของเราสงบ ลมหายใจดูเหมือนเป็นเรื่องของกล้วยๆ นะครับ ทำไมเราต้องมาศึกษากัน เราไปฟังรายละเอียดจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก่อนอื่นจะต้อง มีปริยัติก่อน อย่าลืม 3 ส่วนของการปฏิบัติในพุทธศาสนา จะต้องรู้ปริยัติ ปริยัติก็คือต้องรู้เรื่องของอานาปานสติ ที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ 16 ขั้นนี่ ให้เข้าใจชัดเจนว่าแต่ละหมวดนี่มันมีจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างไร และการปฏิบัติตามลำดับไปนี่ทำอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: จะสอดคล้องกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน ค่ะ ถ้าเราเข้าใจถูกต้องแล้ว แล้วก็ เราก็ฝึกลองปฏิบัติ และเสร็จแล้วเราก็ไปทำต่อได้ ทำต่อที่บ้านหรือว่าที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้เสียก่อน เหมือนอย่าง ก็จะเห็นได้ว่าการทำอานาปานสติ สมาธิ อานาปานสติภาวนานี่ ก็เรื่องของกาย เวทนา จิต ธรรม นี่ 4 หมวดนี่ เพื่อให้เกิดสติปัฏฐาน ก็หมายความว่าเพื่อเป็นการพัฒนาฐานที่ตั้งของใจ ให้เป็นใจที่ประกอบด้วยสติ เพราะสตินี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดเลยของมนุษย์ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของมนุษย์สำหรับเรื่องของสตินี่นะคะ ถ้าหากว่ามนุษย์คนใดขาดสติ ก็เห็นอยู่แล้ว ข่าวในหนังสือพิมพ์ทุกวันนั่น นั่นแหละเพราะขาดสติ ถ้าหากว่าไม่ขาดสติมันก็จะเป็นข่าวที่น่าชื่นชม ถ้าขาดสติมันก็เป็นข่าวที่น่าสงสารน่าสมเพช เพราะฉะนั้นการที่มาปฏิบัติสมาธิเพื่อพัฒนาสติ แล้วทีนี้การที่จะพัฒนาสตินี่ มันก็จะต้องทั้ง 4 ส่วน คือทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต แล้วก็ต้องรู้ในเรื่องของธรรมคือปฏิบัติ คือวิปัสสนาในทางธรรมได้อย่างชัดเจนนะคะ
ทีนี้ในหมวดกายของอานาปานสตินั้นนี่ ท่านเน้นว่า ให้มีความเข้าใจว่าคำว่ากายนี่แบ่งออกเป็น 2 อย่าง กายเนื้อและก็กายลม กายเนื้อก็คือร่างกายนี้ นี่กายเนื้ออย่างที่เรามองเห็น ส่วนกายลมก็คือลมหายใจ ทีนี้เนื่องจากเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดในการปฏิบัติสมาธิแบบนี้ จึงถือว่าลมหายใจนี่เป็นอาวุธสำคัญ เป็นอาวุธสำคัญหรือเครื่องมือสำคัญที่เราจะต้องศึกษาให้รู้จัก ว่าลมหายใจที่เราหายใจมาตั้งแต่เกิด แหมมันดูกล้วยๆ มันมีอะไรที่จะต้องศึกษานักหนา แต่ความเป็นจริงแล้วเรื่องของลมหายใจมี ความลับในเรื่องของมันนี่หลายอย่าง แล้วก็คุณค่าของมันนี่ก็มีมากกว่าที่จะเพียงทำให้เรายังมีชีวิตอยู่ คือเคลื่อนไหวได้เพราะหายใจได้ ไม่ล้มตึงตาย แท้ที่จริงแล้วถ้าเรารู้จักใช้ลมหายใจให้ถูกต้อง มันจะช่วยพัฒนาใจให้สงบได้ ในขณะที่มันช่วยกายให้เคลื่อนไหวได้ ลมหายใจนี่นะคะมันก็จะช่วยพัฒนาใจให้มีความสงบได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะหยิบ คือ คำว่าหยิบนี่เป็นคำสมมตินะคะ เราหยิบลมหายใจมาใช้เป็นเครื่องมือนี้ เราจึงต้องรู้จักลมหายใจว่า มันมีกี่อย่าง อันแรกมีกี่อย่าง มีกี่ชนิด 2 ก็แต่ละอย่าง แต่ละชนิดนั้นมีลักษณะธรรมชาติอาการอย่างไร แล้วก็อย่างที่ 3 ก็ควรจะรู้ต่อไปว่า แต่ละอย่างแต่ละชนิดนั้น มันมีอิทธิพลปรุงแต่งกายอย่างไร คำว่าปรุงแต่งนี่ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่าสังขาร คือท่านบอกว่ากายลมคือลมหายใจนี่ เป็นกายสังขาร กายสังขารก็คือมันปรุงแต่งกาย อย่างเช่นเป็นต้นว่า ถ้าลมหายใจหอบนี่กายเป็นไง
ผู้ดำเนินรายการ: หอบหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สบายไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่สบาย มันเหนื่อย มันหอบ บางทีมากๆ เข้าอย่างกับจะขาดใจ นี่คือหมายถึงการปรุงแต่งกาย แต่ถ้าลมหายใจนั้นมันยาว ช้า สบาย สม่ำเสมอ กายก็สบายใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กายก็รู้สึกสบายผ่อนคลายอย่างเต็มที่ นี่คือความหมายของคำว่าปรุงแต่ง ฉะนั้นในหมวดที่ 1 นี่ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักเรื่องของลมหายใจดังกล่าวแล้ว จนกระทั่งผลที่สุดว่า ลมหายใจที่ปรุงแต่งกายนี่ แต่ละอย่างละอย่างนี่ มันมีอิทธิพลในการปรุงแต่งนั้นอย่างไร และก็ลมหายใจแต่ละอย่าง มันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง หรือไม่มีประโยชน์อย่างไรบ้าง เพื่อจะรู้ว่าเราจะใช้ลมหายใจนั้นเพื่อมาเป็นประโยชน์ในการที่จะควบคุมใจนั้นได้อย่างไร ในโอกาสไหนและก็เพื่ออะไร เพราะฉะนั้นเรื่องของ เพียงหมวดกายหมวดเดียวนี่ ถ้าเราจะปฏิบัตินี่ก็ใช้เวลานานกว่าเราจะศึกษาเรื่องของลมหายใจทุกชนิด จนผลที่สุดสามารถควบคุมมันได้ ถ้าควบคุมได้นี่จิตก็จะรวมกัน คือทีแรกก็รวมกันหลวมๆ หลวมๆ แล้วก็มันค่อยๆ รวมแน่นสนิท นิ่ง ดิ่ง ที่ท่านเรียกว่าเป็นเอกัคคตา เป็นจิตที่เป็นสมาธิที่พร้อมอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ คือไม่มีความโลภ โกรธ หลง เข้ามารบกวน ตัณหาอุปาทานไม่มี แล้วก็มีความตั้งมั่น คือมั่นคงหนักแน่นแล้วก็มีความว่องไว ว่องไวเฉียบคมพร้อมที่จะทำการงาน แม้ว่าจะนั่งหลับตาอยู่นี่แต่มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ นี่คือลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติใดปฏิบัติหมวดที่ 1 แล้วก็ทำได้ถึงจุดนี้ก็เรียกว่ามีความสัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติหมวดกาย กายานุปัสสนาภาวนา
ผู้ดำเนินรายการ: คงต้องขอศึกษาเรื่องของลมหายใจกันต่อนะครับ คราวต่อๆ ไป มิเช่นนั้นเราจะ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ไม่งั้นการทำสมาธิของเราก็จสักแต่ว่าทำกันไปตามรูปแบบวิธีการนะครับ
ท่านผู้ชมครับ ท่านพอจะเห็นประโยชน์ของการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการฝึกสมาธิกันแล้วนะครับ ว่ามีประโยชน์อย่างไรบ้าง ต่อไปเราจะมาดูกันนะครับว่าลมหายใจมีกี่ชนิด แล้วก็จะฝึกกันอย่างไร จากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้ต้องลองหายใจดู
ผู้ดำเนินรายการ: ผมคิดว่าจะมีสัก 2 อย่าง ไม่สั้นก็ยาวอะไรอย่างนี้นะครับ น่าจะอย่างนั้นนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ก็ลองดูว่า ในลมหายใจยาวนี่ เราหายใจยาวอย่างเดียวอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นั่นแหละ แสดงถึงว่า แม้แต่ลมหายใจยาวก็มีได้หลายอย่าง เช่น บางทีเราก็หายใจยาวสบายๆ ใช่ไหมคะ บางทีเราก็หายใจยาวอย่างแรงๆ หนักๆ
ผู้ดำเนินรายการ: แบบถอนใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ แบบถอนใจ แล้วก็บางทีเราก็หายใจยาวลึก แรง บางทีก็หายใจช้าๆ ยาวช้าๆ เพราะฉะนั้นมันมีตั้งหลายอย่าง ซึ่งเราควรจะลองฝึกดู ทีนี้ถ้าหากว่า พอจะลองฝึกนี่ สำหรับการที่เราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดนี่มันก็ไม่ง่ายนักนะ เพราะว่าลมหายใจมันไม่มีตัวตน มันมีแต่เพียงความเคลื่อนไหวเท่านั้น ฉะนั้นก็อยากจะแนะนำ ผู้ที่สนใจในการที่จะฝึกปฏิบัติว่า ถ้าเราจะลองฝึกแบบใช้ลมหายใจนี่ครั้งแรกนี่ ควรจะหายใจยาวแรง ทำไมถึงยาวแรง ก็เพื่อว่า พอยาวแรงนี่ความเคลื่อนไหวของลมหายใจมันจะชัด แล้วก็ความสั่นสะเทือนของลมหายใจนี่มันก็จะปรากฏ เวลาที่มันเข้า หายใจเข้าสู่ภายใน เราก็จะรู้ว่ามันเคลื่อนไปที่ไหน แล้วเราก็จะกำหนดความรู้สึกนี่ตามลมหายใจนั้นไปได้ แต่ถ้าเราหายใจเริ่มด้วยการหายใจเบาๆ ช้าๆ บางทีเพราะความไม่เคยชิน ความรู้สึกที่มันกระจัดกระจายอยู่แล้วที่จะรวบรวมให้มันจดจ่อตามลมหายใจนี่มันจะทำได้ยาก เพราะฉะนั้นก็อยากจะแนะนำให้ลองเริ่มด้วยการหายใจยาวแรง ก็ลองดู รู้สึกว่าพอตามได้ไหม หมายความว่าพอจะกำหนดจิตรู้ลมหายใจ เพราะมันรู้แล้วนี่ เราลองใหม่ เข้านะนี่ ที่นี้ออก จิตอยู่กับลมหายใจไหม ลองอีก ออก เข้า ออก นี่ นี่คือการรวมจิต
ผู้ดำเนินรายการ: ทำไมท้องเราต้องแบบ แน่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ให้อยู่กับลมหายใจ เพราะเราหายใจแรง
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราหายใจยาวแรง พอเราหายใจยาวแรงนี่ บางทีมันต้อง เหมือนกับต้องใช้กำลังนิดหน่อย แล้วมันมีการยก ตัวนี่มันยกส่วนอกที่ยกเผยอขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ยิ่งหายใจยาวแรงเท่าไหร่ จะรู้สึกว่าท้องมันแฟบ ข้างบนนี่มันพองใช่ไหมเวลาหายใจเข้า แล้วพอหายใจออกมันก็จะตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น นี่ก็ เราก็รวบรวมความรู้สึก แล้วก็ให้ลมหายใจนี่ตามเข้า ตามออก อยู่อย่างนี้ แล้วเราก็จะรู้ว่า ลมหายใจแรงนี่ถ้าเราหายใจบ่อยๆ สัก5, 6, 7 ครั้งต่อๆ กัน ไม่ไหว
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ไหว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ไหว มันเหนื่อย เพราะมันไม่ใช่ลมหายใจที่หายใจตามธรรมชาติ แต่ลมหายใจยาวแรงอย่างนี้มีประโยชน์ไหม ลองนึกดู
ผู้ดำเนินรายการ: รู้สึกสบายครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สบายยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: มันรู้สึกมันปล่อยโล่งออกมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันไล่อะไรๆ ที่มันค้างอยู่ข้างในออกไปหมด จะเป็นอารมณ์โกรธ อารมณ์ไม่ชอบ หงุดหงิด ขัดใจหรือแม้แต่ความเศร้าหมอง หรือความเหนื่อยความง่วงอะไรอย่างนี้ ความไม่น่าปรารถนา จะขับไล่ไปหมดเลย งั้นครั้งเดียวล้างไม่หมด ก็ 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ครั้งเท่าที่เราสามารถจะทำได้ นี่ถ้าเราฝึกหายใจอย่างนี้ เรารู้แล้วใช่ไหมว่า ลมหายใจยาวคือลมหายใจนี่ก็มี อันแรกก็ 1 เข้า 2 ออก อย่างที่ 2 ก็ สั้น ยาว อย่างที่ 3 ก็มาศึกษาลมหายใจยาว นี่เราก็รู้แล้วใช่ไหมว่า ยาวนี่อย่างหนึ่งก็คือ ยาวแรงมันไม่ค่อยสบายคือมันปรุงแต่งกายไม่ให้สบาย แต่ว่ามีประโยชน์ มีประโยชน์ตรงที่ มันสามารถจะขับไล่สิ่งต่างๆ ที่มันค้างคาอยู่ในใจ ให้มันออกไป แม้แต่ความง่วงความเหนื่อย นอกจากนั้นแล้วมันยังทำให้มีแรงเหมือนกัน มีแรง ในขณะที่เราทำงานเหนื่อยเราหายใจ รู้สึกได้ออกซิเยนเข้ามาเต็มปอด ถ้าเราอยู่ในที่ธรรมชาติอย่างนี้นะ แต่ถ้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ ก็แน่ละ ก็ได้แก๊ส แก๊สพิษเข้ามาเต็มปอดอีกเหมือนกัน ใช่ไหม อย่างนั้นเราก็ต้องรู้จักอีกเหมือนกัน
ผู้ดำเนินรายการ: รู้จักเลือกที่จะทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ใช่ ถ้าเราฝึกอานาปานสติ เราจะรู้จักว่าในภาวะอย่างนั้น เราจะใช้ลมหายใจแบบไหน และหายใจขนาดไหน มันถึงจะไม่เป็นอันตรายกับร่างกายจนเหลือเกิน เพราะฉะนั้นนี่เราก็รู้อย่างหนึ่งแล้ว ใช่ไหมคะ ว่าลมหายใจยาวแรง มันมีประโยชน์อย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับเรื่องของลมหายใจ เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อยๆ ฝึกฝนกันไปทีละเล็กละน้อยนะครับ จนเรามีความคุ้นเคยกับลมหายใจชนิดต่างๆ แล้วจะทำให้เราสามารถควบคุมจิตของเราให้สงบนิ่งได้ในที่สุดนะครับ นั่นก็เป็นเรื่องของการฝึกภาคปฏิบัติ คำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงนะครับ