แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: วันนี้เราจะมาดูกันต่อนะครับว่า ทั้งกระบวนการของการฝึกลมหายใจ ยาว สั้น แล้วก็เราจะเล่นกับลมหายใจอย่างไร ให้เราสามารถฝึกลมหายใจได้ดียิ่งขึ้น กับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงที่สวนโมกข์นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือว่าในขั้นที่ 1 ตามลมหายใจยาว ขั้นที่ 2 ตามลมหายใจสั้น ขั้นที่ 3 ตามรู้ลมหายใจทุกอย่างทุกชนิด เพื่อให้ชัดใจว่าลมหายใจนี่หรือกายลมเป็นกายสังขาร ปรุงแต่งได้ ในทั้ง 3 ขั้นนี่ เราใช้วิธีเรียกว่าวิ่งตาม คือเอาความรู้สึกนี่ คอยรับลมหายใจที่ผ่านเข้าช่องจมูก แล้วมันจะเคลื่อนไปที่ไหนก็ให้ความรู้สึกตามมันไปเรื่อย พอมันหยุด ความรู้สึกก็หยุดตรงนั้น และเสร็จแล้วก็รีบตามมันออก นี่คือหมายความว่าวิ่งตาม ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถวิ่งตามได้ตลอดทั้งเข้าทั้งออกตลอดสาย ไม่ขาดตอนเลย เก่งมากเลย
ผู้ดำเนินรายการ: แต่มันก็เหนื่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โอ ไม่เหนื่อย
ผู้ดำเนินรายการ: ความรู้สึกวิ่งตามไม่เหนื่อย รู้สึกวิ่งตามมันเหนื่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คำพูดนะวิ่ง แต่ตัวเองไม่ต้องวิ่ง ไม่ต้องวิ่งไปไหน นี่คำพูดนะวิ่ง คือ เอาความรู้สึก
ผู้ดำเนินรายการ: ความรู้สึกมันวิ่งตาม มันรู้สึกเหนื่อยตาม รู้สึกต้องคอยวิ่ง เอาความรู้สึกวิ่งไล่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราให้เป็นธรรมชาติ ตอนใหม่ๆ อาจจะเหนื่อย เพราะว่าเราไม่เคยฝึกใช่ไหม เพราะเราตั้งใจมากไป ความเหนื่อยเกิดเพราะว่าตั้งใจมากไป ตั้งใจมากไปจะต้องตามให้ได้ เหมือนกับโปลิศจับขโมยจะต้องจับตัวผู้ร้ายให้ได้ เพราะฉะนั้นตั้งใจมากเกินไปมันก็เครียด แล้วความเครียดนี่มันก็ทำให้เหนื่อย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิท่านจึงบอกว่า ให้สบายๆ ทำสบายๆ เหมือนอย่างเป็นธรรมชาติ จึงฟังคำอธิบายให้มันเข้าใจเสียก่อน พอเข้าใจคำอธิบายทีนี้เราก็ทำตามสบายของเรา ไม่รู้สึกว่าเราอยู่ในที่บังคับ หรือถูกใครบังคับให้ทำ แต่เราจะนั่งเล่นๆ กำหนดจิตรู้อยู่กับลมหายใจ ตามเข้าไปแล้วก็ตามออกมาตามเล่นๆ ให้สบายๆ เปลี่ยนลมหายใจอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง เราจะไม่รู้สึกเหนื่อย ยิ่งเราอยู่ท่ามกลางอากาศเย็นๆ สบายๆ ธรรมชาติยิ่งสบาย เสร็จแล้วก็พอมาถึงขั้นที่4 ซึ่งจะเป็นขั้นที่เรียกว่าควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ คือจะทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีความสงบละ ก็เปลี่ยนจากการวิ่งตามนี่มาเป็นเฝ้าดู คือกำหนดความรู้สึกนี่มาเฝ้าคอยอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่งแถวจมูกนี่ เพื่อให้จิตมีงานทำน้อย ตอนแรกที่ให้วิ่งตามนี่เพราะจิตมันซัดส่ายมากใช่ไหมคะ มันกระจัดกระจายมันวิ่งไปโน่นไปนี่มันไม่อยู่ที่ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้มันทำงานมากๆ คือให้มันวิ่ง มันมีงานวิ่งตาม มันก็จะได้ไม่ไปเที่ยวคิดเที่ยวเพลิดเพลิน เพ้อเจ้อ ทีนี้พอมันค่อยๆ เชื่องเข้าหน่อยละ ตอนนี้เราก็ให้งานมันน้อย คือให้เฝ้าดู เฝ้าดูที่จุดใดจุดหนึ่งอยู่ตรงนี้จุดใดจุดหนึ่ง ทีนี้พอเฝ้าดูตอนนี้ เราก็เลือกเอาลมหายใจที่เรารู้สึกว่าสบาย สบายที่สุด แล้วก็สะดวกในการที่จะควบคุมมัน ซึ่งส่วนมากก็ต่างคนก็ต่างเลือกเอา บางคนอาจจะเป็นลมหายใจช้าๆ แล้วกำหนดจิตรู้ พอเข้าก็รู้ รู้ว่ามันแตะตรงนี้พอออกก็รู้ว่ามันแตะ รับรู้แต่เพียงจุดที่ลมหายใจผ่านแล้วก็แตะ แตะเข้าแตะออก คือมันเคลื่อนไหว แล้วมันก็สัมผัสนี่ รู้อยู่ตรงนี้ แล้วกำหนดจิตจดจ่ออยู่ตรงนั้น คือความรู้สึกด้วยสติจดจ่ออยู่ตรงนั้นที่เดียว ถ้าเราทำได้อย่างนี้แล้วลมหายใจก็สบาย มันก็ปรุงแต่งกายให้สบาย ใจก็ค่อยๆ สงบเข้า สงบเข้า สงบเข้าทีละน้อย ละน้อย จนผลที่สุดมันก็รวมสนิทนิ่ง เป็นความสงบที่เป็นสมาธิ สมาธินิ่งจนดิ่งลึก จนผลที่สุดก็เป็นสิ่งที่ท่านเรียกว่าเป็นเอกัคคตา และเสร็จแล้วบางทีลมหายใจนี่ก็จะเบาบาง ในขณะที่มันนิ่งนี่นะคะ มันจะเบาบางแล้วก็มันก็จะสงบ มันก็จะละเอียดจนกระทั่งบางทีจะรู้สึกเหมือนกับลมหายใจหายไป หรือไม่มีลมหายใจเลย บางคนก็ตกใจ ว่าเออลมหายใจหายไปไหนเดี๋ยวเราจะตายหรืออะไรอย่างนี้ ก็จงทราบเถิดว่า ลมหายใจไม่ไปไหน แต่เพราะว่าจิตมันเริ่มสงบลมหายใจมันละเอียด พอลมหายใจมันเริ่มละเอียดเข้าละเอียดเข้า มันบางเบาจนกระทั่งมันแผ่ว จนกระทั่งเหมือนกับมันไม่มีความเคลื่อนไหวเลย ความเคลื่อนไหวมันแผ่วเบามากเชียว มันละเอียดประณีตมาก เพราะฉะนั้นในตอนนั้นถ้ารู้สึกก็รวบรวมจิตนี่ คือรวบรวมความรู้สึกให้จดจ่ออยู่กับความสงบ ความสงบที่เกิดขึ้นภายใน แล้วก็จดจ่ออยู่อย่างนั้นแหละ จะนานเท่าใดก็ให้ลิ้มรส ชิมความสงบที่เกิดขึ้นภายในใจ ให้นานเท่าที่พอใจ
ผู้ดำเนินรายการ: ที่เขาว่าอิ่มเอมก็อยู่ตรงนี้นี่เอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ก็อยู่กับสมาธิที่สงบ เยือกเย็น ผ่องใส ถ้าทำได้สำเร็จก็ นี่แหละคือความสำเร็จของหมวดที่1 คือควบคุมลมหายใจได้ เรียกใช้ได้ เรียกว่ากระดิกนิ้วใช้ทำอะไรเมื่อไหร่ ใช้ได้ดั่งใจ
ผู้ดำเนินรายการ: มันวิเศษจริงๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ลองทำดูสิ ไม่ต้องไปซื้อหาเลย ไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ลงมือทำเท่านั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ: การได้ฝึกลมหายใจยาวลึกนะครับ แล้วปล่อยออกมารู้สึกมันโล่งนะครับ ปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลายลงไป แต่ว่า คงไม่ฝึกอย่างครั้งเดียวอย่างที่ผมทำนี่นะครับ ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมออย่างที่อาจารย์คุณรัญจวน ได้แนะนำให้เราได้ฟังกัน
พูดถึงเรื่องการฝึกลมหายใจนี่นะครับ ถ้าหากว่าเราฝึกอย่างสม่ำเสมอ พอถึงจุดหนึ่งนะครับ เขาเรียกว่าจิตของเราจะสงบ ระงับ แล้วก็ ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น ก็คือความรู้สึกปีติ เมื่อความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นนะครับ เราจะได้พิจารณาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เรียกว่าหมวดของเวทนา วันนี้เราจะไปฟังเรื่องของ การฝึกสมาธิโดยวิธีอานาปานสติ กับท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ของหมวดกาย ก็คือ อันแรกก็ให้รู้ว่า กายนี้มี 2อย่าง กายเนื้อกับกายลม แล้วก็กายลมนี่จะปรุงแต่งกายเนื้อ ให้เป็นอย่างไรก็แล้วแต่ว่ากายลมนั้นจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือว่าหายใจอย่างไรมันก็จะทำให้กายเป็นอย่างนั้น เช่นหายใจหอบเหนื่อยกระชั้นชิด กายก็จะเหนื่อยจะหนัก ทำหายใจสบายๆ กายก็จะผ่อนคลาย นี่คือหมายความว่าปรุงแต่งกาย ฉะนั้นขั้นที่ 1 ก็คือตามลมหายใจยาวจนรู้จักลมหายใจยาวทุกชนิด ขั้น 2 ก็ตามลมหายใจสั้น จนรู้จักลมหายใจสั้นทุกชนิด พอขั้น 3 นี่เรียกว่าต้องหาความชำนาญ จากการรู้จักลมหายใจทั้งยาวทั้งสั้นทุกอย่างทุกชนิด เรียกว่าเล่นให้สนุก ขั้นที่ 3 นี่เป็นตัวการปฏิบัติ จะต้องปฏิบัติศึกษาให้รู้จริงเอาจริง จนกระทั่งเห็นชัดว่า อ๋อมันปรุงแต่งกายอย่างนี้ แต่ละอย่างมันมีอิทธิพลอย่างนี้ มีประโยชน์อย่างนี้ ไม่มีประโยชน์อย่างนั้น จะแก้ไขกันอย่างไรใช้ลมหายใจอะไรอย่างไร เพื่อแก้ไขปรับปรุง ทีนี้พอรู้ดีแล้วก็ เรียกว่าเราก็ควบคุมลมหายใจทุกอย่าง ให้สงบระงับ จนกระทั่งจิตนั้นเป็นสมาธิ นิ่งแน่วแน่ ประกอบอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ความตั้งมั่นและความว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน นี่ก็เรียกว่าถ้าทำสำเร็จ ก็คือเป็นความสามารถในการควบคุมลมหายใจได้ แล้วก็อบรมจิตฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิได้ เกิดความสงบภายใน
ผู้ดำเนินรายการ: สุดท้ายเพียงควบคุม ลมหายใจที่จะเข้า จุดใดจุดหนึ่งตรงนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ด้วยการเฝ้าดู ขั้นที่ 1, 2, 3 นั้น คือวิ่งตาม แต่พอขั้นที่ 4 ก็เฝ้าดูอยู่ที่จุดเดียว เพื่อให้จิตมีงานทำน้อยลง พอมันมีงานทำน้อยลงมันก็มีโอกาสที่จะสงบได้ เร็วขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: นี่ก็เป็นเรื่องของภาค หมวดกาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ของหมวดกาย
ผู้ดำเนินรายการ: ต่อไปหมวดจิต
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทีนี้ หมวดที่ 2 ก็คือหมวดเวทนา พอเราควบคุมลมหายใจได้สงบแล้วเราก็ต้องทำการศึกษาหมวดที่ 2 ถ้าเป็นไปตามลำดับละก็ พอเราทำจิตให้เป็นสมาธิได้ สงบถึงขนาดนั้น มันจะเกิดปีติ คือความยินดี อิ่มเอิบใจ เพราะเราไม่คาดฝันว่าเราจะทำได้ ซึ่งเป็นธรรมดา งานอะไรก็ตามที่เราไม่คิดว่าเราจะทำได้ แล้วเกิดทำได้สำเร็จมันก็เกิดปีติ ตื่นเต้น ยินดี ท่านก็ให้ถือเอาปีตินี่ เป็นขั้นแรก ของการที่จะศึกษาปฏิบัติ ในหมวดเวทนา คือปีตินี่มันก็เป็นอาการของสุขเวทนาอย่างหนึ่ง เพราะว่าการมีปีติก็คือมีความยินดีเริงรื่น มันก็บันเทิงใจ แต่ในความมีปีติยินดีนี่ จิตมันก็ไม่ปกติ เพราะมันจะ
ผู้ดำเนินรายการ: กระเพื่อม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กระเพื่อม กระเพื่อมขึ้นลง ซัดส่าย อะไรก็แล้วแต่เพราะมันจะปนด้วยความลิงโลด ตื่นเต้น บางทีมากเข้าถึงกับคะนอง ผยองว่าเราเก่งอะไรอย่างนี้ มันมีปีติ ฉะนั้นก็นี่ ลมหายใจที่เราได้ฝึกมาจากหมวดที่ 1 เอามาใช้หมวดนี้ เพื่อจะดูว่า เราจะควบคุมจิตใจที่กำลัง ซัดส่ายกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงเพราะปีตินั้นให้สงบระงับลง ด้วยการใช้ลมหายใจอย่างไร คิดว่าทำได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ต้องทำได้ ใช่ไหม ต้องทำได้ด้วยการควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ ก็ใช้ลมหายใจอย่างไหนละ ที่จะควบคุมปีติ
ผู้ดำเนินรายการ: ก็ต้องลมหายใจยาวละครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยาว ยาวอย่างไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ยาว ช้าๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ได้ ถ้าเราจะใช้ยาวช้าๆ นี่หมายความว่า เรามีความชำนาญมาก
เรามีความชำนาญในการลมหายใจ เราก็ค่อยๆ ผ่อนอาการของจิตที่มันกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงนี่ ให้มันเป็นช้าๆ ควบคุมลมหายใจให้มันช้าลง แล้วอาการของปีติมันก็จะช้าลง ช้าลงๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งมันหายไป นี่ก็ เราก็จะเห็นว่าเราสามารถปฏิบัติได้ในหมวดที่ 1 ทีนี้พอขั้นที่ 2 ของหมวดที่ 2 ก็ทำการศึกษาเกี่ยวกับเวทนาประเภทสุข ที่เขาเรียกว่าสุขเวทนา ที่คนเราพอใจชอบใจ ก็ศึกษาดูสุขเวทนาทุกอย่างทุกชนิดเลย ว่ามันมีลักษณะอาการธรรมชาติอย่างไร เพราะเรื่องของเวทนาในอานาปานสตินั้น ก็คือ ต้องรู้ว่าเวทนานี่คือความรู้สึก แล้วก็เวทนานี่มันมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างไร ชีวิตของเราที่แล่นขึ้นแล่นลง แล้วก็ซัดส่ายระหกระเหินเร่ร่อนนี่เพราะเวทนา ใช่ไหม เพราะความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจทีไร มันก็ทำจิตให้หมุนไป ทุกทีเลย งั้นเราก็รู้ว่า เวทนานี้ถ้าปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำจิต ชีวิตจะไม่มีวันเป็นสุขสงบได้ ฉะนั้นจุดประสงค์ของหมวดที่ 2 นี่ก็คือเพื่อศึกษาเรื่องของเวทนาให้ชัดเจน จนกระทั่งมองเห็นว่า มันมีอิทธิพลปรุงแต่งจิตคือทำให้จิตมันวุ่นวายอย่างที่ว่านี่ เพราะฉะนั้นเราก็ศึกษามันจนกระทั่ง รู้จักชัดว่าเวทนานี้มันเป็นเพียงสิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันไม่ได้อยู่นานเลย ให้รู้จักมันให้ชัดเจน จนกระทั่งเห็นความเป็นมายาของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสุขเวทนา นี่ในขั้นที่ 2 ต้องศึกษาสุขเวทนาทุกชนิดเลย เพราะอะไร เพราะว่าคนเราติดสุข ใช่ไหม ชีวิตนี้ก็ใฝ่ฝันหาอยากจะมีแต่ความสุข เพราะความสุขนี่มันก็ทำให้มนุษย์ติดยึด แล้วก็จะเอาแต่เรื่องของสุข เพราะฉะนั้นสุขเวทนานี่จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดลออ ให้รู้จักเรื่องของสุขเวทนาทุกอย่างทุกชนิด ความสุขจากที่เกิดจากความรักเป็นยังไง ความสุขจากความสำเร็จเป็นยังไง ความสุขจากการที่ได้เป็นพ่อครั้งแรกเป็นแม่ครั้งแรก หรือเมื่อถูกลอตเตอรี่รางวัลที่1 หรือว่าได้ตำแหน่งใหม่ ถ้าเราศึกษาอย่างละเอียดเราจะเห็นว่า อาการของความสุขที่เกิดจากสิ่งต่างๆ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ไม่เหมือนกัน เราศึกษาทำไม เพื่อจะได้รู้ทัน รู้ทันแล้วก็ควบคุมมันให้สงบระงับ
ผู้ดำเนินรายการ: ซึ่งเราจะค่อยๆ ศึกษามันไป ถูกไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ใช่
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ ท่านลองฝึกดูนะครับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านนะครับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากความรักความสุขจากความสำเร็จความสุขจากด้านต่างๆ นั้น ถ้าหากว่าเราได้พิจารณาในเรื่องของความสุขต่างๆ เหล่านี้แล้ว พบว่าทุกอย่างมันก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ตามกฎของไตรลักษณ์นะครับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งสิ้นนะครับ อย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติ นี่เรื่องการฝึกเวทนาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสมาธิโดยวิธีอานาปานสติกับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงนะครับ