แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ทีนี้เราก็จะวกไปฟังท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ ซึ่งท่านได้สอนเรื่องของวิธีอานาปานสติมาจนถึงขั้นของการพิจารณาจิตนะครับว่า ถ้าหากเราพิจารณาจิตจนถึงขั้นที่จิตของเราเป็นสมาธิได้แล้วนะครับ เราก็สามารถใช้พลังจิตไปทดสอบสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งก็ไม่ง่ายอย่างที่พูดหรอกนะครับ เราต้องฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนสามารถที่จะพิจารณาจิตให้จิตสงบเป็น สมาธิไม่ลุแก่อำนาจ โลภ โกรธ หลง แล้วก็จิตเป็นอิสระ เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดีเลวทั้งปวง เท่านี้นะครับ ลองไปฟังคำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันต่อนะครับว่าเราจะพิจารณาจิตของเราอย่างไร จนเราสามารถมีจิตที่สงบแล้วไปทดสอบพลังจิตของเรากันได้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก่อนที่เราจะส่งไปหาคนอื่นนี่นะคะ เราต้องสามารถสร้างพลังจิตภายในของเราเองเสียก่อน พลังจิตภายในที่จะเกิดขึ้นของเราเองนั้นได้อย่างไร สังเกตได้อย่างไร นั่นก็คือพลังจิตที่สามารถจะควบคุมจิตของตนเองได้ ไม่ให้จิตนั้นลุแก่อำนาจของกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ไม่ให้ลุแก่อำนาจของความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่งมีวาจากิริยาท่าทางที่น่าเกลียด ไม่น่าดู เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้นก่อนอื่น ก่อนที่เราอยากจะไปส่งกระแสพลังจิตไปให้ใครนี่นะคะ เราต้องสามารถควบคุมใจของเราเสียก่อน ถ้าเราควบคุมของเราไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะไปควบคุมหรือมีกระแสส่งให้ผู้ใดได้ ฉะนั้นในขั้นที่สอง สาม สี่ ของหมวดที่สาม คือหมวดจิตตานุปัสสนาภาวนา ก็คือการทดสอบว่าเราจะควบคุมได้ไหม โดยขั้นที่สองก็สั่งจิตเองเลยคือจิตสั่งจิต ให้เป็นจิตที่บันเทิงปราโมทย์ บันเทิงปราโมทย์ก็ต้องเป็นจิตที่มีลักษณะรื่นเริงยินดี รื่นเริงยินดีก็ต้องเป็นจิตที่กระเพื่อมขึ้นหน่อยละ คือยกขึ้น ฟูขึ้น ลอยขึ้น เราบังคับมัน เรารู้ว่าจิตที่พอง ที่ลอย ที่ฟูอย่างนี้ ไม่ใช่จิตที่ถูกต้อง เพราะว่าจิตมันผิดจากความเป็นปกติ แต่เราจะทดสอบว่าเราบังคับให้มันทำได้ไหม ให้มันเป็นได้ไหม เพราะฉะนั้นก็บังคับ
ผู้ดำเนินรายการ: เช่นว่าวันนี้...
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ ไม่ต้องเลย ไม่ต้องไปคิดว่าต้องว่า หรือต้องอะไรเลย ถ้าหากว่าเราได้ฝึกปฏิบัติมาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ต้องไปเอาตัวอย่างที่โน่นที่นี่ ก็เราก็ใช้ด้วยลมหายใจของเรานี่แหละ ลมหายใจที่เราบังคับนี่ เราก็บังคับให้จิตนั้นฟูขึ้น พูดง่ายๆ ว่า จะเหมือนกับเจ้าหน้าที่ที่เขาสามารถบังคับเรดาร์ใช่ไหม ที่จะให้ขึ้น ให้ลง ให้ไปจุดโน้น จุดนี้ นี่เราก็จะบังคับจิตของเราให้เป็นจิตที่ฟูขึ้น ให้มันมีอาการฟูบันเทิงเริงรื่นอยู่ข้างใน ถ้าเราสามารถทำได้ก็แสดงว่าเรามีกำลังจิตในระดับหนึ่ง แล้วในขณะนั้น เราผู้ปฏิบัติจะทำอย่างไร ก็ให้จิตนั้นจดจ่ออยู่กับอาการของบันเทิงเริงรื่น ปราโมทย์ที่เกิดขึ้น จะนานสักเท่าไหร่ก็แล้วแต่จะพอใจ เสร็จแล้วก็ควบคุมจิต เปลี่ยนใหม่ จากขณะที่มันกำลังเริงรื่น บันเทิงเหมือนกับเต้นระบำรำฟ้อนนี่ ก็สั่ง นิ่ง ให้เป็นจิตที่นิ่ง สงบ เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น จากการที่กำลังบันเทิง ปราโมทย์ก็จะเป็นจิตนิ่ง จิตนิ่งนี้ก็จะไม่ซัดส่าย ไม่หวั่นไหว แต่จะนิ่งรวมแล้วก็เป็นสมาธิ ที่มีคุณสมบัติของสมาธิก็คือ มีความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะว่าไม่มีโลภ โกรธ หลง เข้ารบกวน แล้วก็จะมีความตั้ง มั่นคง หนักแน่น เข้มแข็ง แล้วก็จะมีความว่องไวในการที่จะทำการงาน พร้อมที่จะทำการงาน แล้วจิตนั้นก็จะนิ่ง เรียกว่ามีอะไรกระทบ ก็เหมือนกับมีกำแพงหนา ใครจะเตะลูกบอลหรือจะขว้างอะไรมา ไม่กระเทือนเลย มันนิ่งมันสนิท ก็จดจ่อจิตให้อยู่กับความนิ่งสนิทที่เป็นสมาธิอย่างนั้น นานสักเท่าใดก็สุดแต่จะพอใจ
ทีนี้เสร็จแล้ว พอพอใจแล้วก็เปลี่ยนไปขั้นที่สี่ ขั้นที่สี่ก็บังคับจิตให้เป็นจิตอิสระ คำว่าอิสระในที่นี้ก็หมายความว่า ให้จิตนั้นปลดเปลื้องจากอารมณ์ของความข้องเกี่ยวผูกพันทุกอย่างทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แม้แต่ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของตัวเรา จะยึดมั่นติด ถือมั่นติด แล้วก็รักใคร่เพียงใด ปลดเปลื้องมันออกไปหมด จากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ให้เป็นจิตที่เป็นอิสระ อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว เหนือสิ่งคู่ทั้งปวง เรียกว่า เหนือลบ เหนือบวก เป็นจิตที่เป็นอิสระอย่างยิ่งนั่นแหละ ถ้าสามารถทำได้ก็แสดงว่าเราสามารถที่จะมีพลัง คือได้ฝึกมาจนกระทั่งมีพลังควบคุมจิตได้ แล้วก็เอาจิตนี่จดจ่ออยู่สภาวะของความปลดเปลื้อง ปล่อยจิตจากอารมณ์ที่ข้องเกี่ยวทุกอย่างทุกประการ จะอยู่นานสักเท่าใดก็สุดแต่จะพอใจ แล้วเสร็จแล้วก็ควบคุมทุกอย่างให้มันสงบระงับลง ถ้าสามารถทำได้ก็หมายความว่า ผู้นั้นนี่เป็นผู้ที่ได้พัฒนาจิตมาเป็นจิตที่เจริญในระดับหนึ่ง แล้วก็เป็นจิตที่เชื่องอยู่ในความควบคุมบังคับ ที่จะใช้พื้นจิตที่สงบเช่นนี้ เพื่อเป็น ฐานในการที่จะพิจารณาใคร่ครวญธรรมในหมวดที่สี่ ที่เป็นหมวดธัมมานุปัสสนาภาวนาต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับในการพิจารณาจิตเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน และก็ยากลำบากพอสมควรนะครับที่จะฝึกฝนจิตของเราให้มีสมาธิ ก็มีผู้มาถามผมนะครับว่า เวลานั่งสมาธินี่ต้องมีครูบาอาจารย์ต้องนั่งคุมด้วยหรือไม่ ต้องมีการบอกบทกรรมฐานหรือไม่ มีการสอบทานอารมณ์ด้วยหรือไม่นี่นะครับ เรื่องนี้คงต้องไปขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันต่อละครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ปฏิบัติด้วยความอยาก มันก็อาจจะเป็นได้ แต่นี่เราไม่ได้ปฏิบัติด้วยความอยาก เพราะเรามาฝึกสมาธิภาวนา หรือมาฝึกวิปัสสนาอย่างที่ว่านี่ เพื่อลดละความอยาก ถ้าเรารู้แล้วว่าความอยากนี่คือต้นเหตุแห่งปัญหาของชีวิต คือต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นในขณะที่เรากำลังฝึกนี่ จิตนั้นพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญาในระดับหนึ่งซึ่งควบคุมอยู่ เพราะฉะนั้นอาการที่ว่า ฝึกสมาธิแล้วเป็นบ้า ไม่เป็นไปได้ ไม่เป็นไปได้ถ้าเราได้รับคำสอน คำแนะนำที่ถูกต้อง แล้วก็ฝึกปฏิบัติมาอย่างถูกต้อง โดยไม่มีความอยาก แต่ปฏิบัติเพราะรู้ว่ามันจะเกิดประโยชน์อย่างไร และวิธีทำที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เราก็ทำตามนั้น
ผู้ดำเนินรายการ: แล้วต้องมีครูบาอาจารย์คอยนั่งควบคุมเราไหมครับ ระหว่างนั่งสมาธิ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะต้องมีครูบาอาจารย์ควบคุมไหมนี่นะคะ ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติเริ่มแรกที่จิตยังไม่สามารถจะดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจได้ ถ้ามีผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรคอยบอกคอยแนะว่า เวลานี้จิตมันกำลังซัดส่ายรวบรวมไม่ได้ ควรจะดึงจิตมาลักษณะอย่างไร อย่างที่เขาเรียกว่าแนะนำในขณะบอกบทกรรมฐาน ก็อาจจะช่วยได้บ้าง แต่ถ้าหากว่าผู้ใดรู้สึกว่า ได้รับคำสอนคำอบรมอย่างถูกต้องแล้ว แล้วก็ลองไปฝึกปฏิบัติเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่าสถานที่เหมาะสมก็ฝึกปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องมีครูอาจารย์ แล้วที่เขามีคำถามกันว่า ต้องมีการสอบอารมณ์ใช่ไหมคะ ต้องมีการสอบอารมณ์ จำเป็นไหมต้องมีครูอาจารย์คอยสอบอารมณ์
ในความรู้สึกและความเข้าใจของดิฉัน ดิฉันคิดว่า ไม่มีใครจะมาสอบอารมณ์ของใครได้ดีกว่าเจ้าตัวเอง จริงไหม อย่างเวลาที่เราไปรำพันกับใครว่าเราเป็นทุกข์ ไม่สบาย ฉันเจ็บปวด ฉันสาหัส ขมขื่นข้างในเหลือเกิน จะบรรยายไปสักเท่าไหร่ ร้องไห้ไปน้ำตาจะเป็นสายเลือด คนฟังก็ฟังด้วยความเห็นใจ แต่เห็นใจอย่างไร มันก็ยังเห็นไม่ถึงขั้วหัวใจที่อยู่ข้างในจริงๆ เพราะไม่ใช่เจ้าตัวใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นการสอบอารมณ์นี่ ไม่ต้องให้คนอื่นสอบ เราสอบของเราเองได้ ถ้าหากว่าเราได้รับคำแนะนำ การสอน การปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วก็ฝึกมาอย่างถูกต้อง เราสอบได้ สอบได้อย่างไร เราจะรู้ว่าเมื่อไหร่จิตกระเพื่อม กระเพื่อมเพราะอะไร กระเพื่อมเพราะความโลภ เพราะความโกรธ เพราะความหลง เพราะความอยาก เพราะความติดยึด อะไรเป็นเหตุปัจจัย สติปัญญามันจะบอกเราทันที แล้วสิ่งที่จะแก้ไขก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นเพียงสิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อ๋อ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันมาแล้วก็ไป มันมาแล้วก็ไป เราไม่ต้องไปตกใจ ยึดมั่นเอากับมัน แล้วเราก็ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ นี่เป็นวิธีแก้
เพราะฉะนั้นการสอบอารมณ์ด้วยตัวเองนี่เป็นอิสระดีไหม ลองนึกดูสิ เป็นอิสระ ไม่ต้องเป็นนักโทษ ไม่ต้องมีใครมาเป็นผู้คุมเรา เราคุมตัวเราเอง เพราะฉะนั้น การเป็นชาวพุทธนี่ คือ การเป็นชาวพุทธหรือเป็นคนที่ฝึกหัดการใช้ปัญญา ด้วยสติและปัญญาของเราเอง ให้เราควบคุมตัวเราเอง เป็นนายตัวเราเอง ไม่ต้องเป็นทาสของสิ่งใด นี่จึงจะเป็นการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะรู้เองว่า เราปฏิบัติถูกต้องไหม ก็นึกถึงจุดมุ่งหมายเบื้องต้นของการมาฝึกปฏิบัติ เรามาฝึกปฏิบัติสมาธิทำไม ก็อย่างที่เราเคยพูดกันแล้วว่าเพราะจิตมันวุ่นวาย มันระส่ำระสาย มันกระจัดกระจาย เพราะความทุกข์ต่างๆ นานาประการ แล้วจิตก็ไม่มีความสุขสงบเย็นเลย เรียกว่าเป็นทุกข์ เราจึงมาฝึกสมาธิเพื่อให้จิตมัน นิ่ง หยุด จากความทุกข์ ให้มีความเย็น ให้มีความสงบ เพราะฉะนั้นถ้ามาฝึกปฏิบัติแล้ว จิตมันเย็น จิตมันสงบ แล้วในขณะเดียวกัน มันเกิดปัญญาที่จะพิจารณามองเห็นว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรที่จริงๆ ที่จะให้เรายึดมั่นเลยสักอย่างเดียว พอเราเห็นอย่างนี้ เราก็รู้ว่า นี่แหละคือการปฏิบัติที่ถูกต้อง
แต่ถ้าเมื่อใดปฏิบัติไป จิตมันเครียด มันยิ่งเครียด มันยิ่งทุกข์ มันยิ่งจะระเบิด ขอให้รู้ว่านั่นไม่ถูกแล้ว ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนจิตทันที เปลี่ยนง่ายๆ นั่นก็คือใช้ลมหายใจยาว แรง ลึก ไล่ความไม่น่าปรารถนาออกไปนั่นอย่างหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่งก็เปลี่ยนพร้อมๆ กับการเปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งเป็นยืน จากยืนเป็นเดิน อย่ายอมให้จิตตกอยู่ในอารมณ์ที่เรารู้ว่า มันกำลังเป็นทุกข์ที่จะนำความเศร้าหมองมาสู่ เพราะนี่มิใช่จุดหมายของการมาปฏิบัติสมาธิภาวนา เราสามารถสืบสวนตัวเราเองได้ แล้วก็สอบอารมณ์ตัวเราเองได้ นี่คือหลักของพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักของปัญญา อัตตาหิ อัตตโน นาโถ อยู่ตรงนี้ค่ะ ที่ว่า ตนของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือเป็นที่พึ่งแห่งตนที่จะควบคุมใจตนเองได้ ไม่ต้องให้คนอื่นเขาควบคุม เราเกิดมาเป็นไท เราก็บอกว่าเราเป็นเสรีอิสรชน อิสรชนที่แท้จริงก็คือการควบคุมตัวเองได้ สอบสวนตัวเองได้ แล้วก็แก้ไขปรับปรุงตัวเองให้พัฒนาเจริญยิ่งขึ้นได้
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ เรื่องของการฝึกฝนจิตของเราให้จิตมีสมาธินี่นะครับ ข้อควรระมัดระวังเรื่องหนึ่งก็คือ ต้องพยายามอย่าให้จิตตกหรือจิตเศร้าหมองนะครับ นั่นเป็นคำแนะนำจากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง นะครับ