แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เราได้คุยกับท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ถึงเรื่องของการฝึกจิตด้วยวิธีการของอานาปานสติมา ๓ หมวดแล้วนะครับ หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต เหลือหมวดสุดท้ายแล้วครับ หมวดธรรมานุปัสสนา รายละเอียดของหมวดนี้มีการฝึกจิตเราอย่างไร ไปฟังจากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรื่องของหมวดธรรมานุสติ ธรรมานุปัสสนาภาวนานะคะ สำหรับหมวดที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาภาวนานั้นเป็นหมวดที่มุ่งเพื่อการวิปัสสนาโดยตรง หมายความว่าในหมวดที่ ๑, ๒, ๓ เราได้พัฒนาสมถะคือความสงบ แล้วก็ทำให้จิตเป็นสมาธิรวมนิ่งมั่นคงเด็ดเดี่ยวจนกระทั่งพร้อมจะกระทำการงานแล้ว ฉะนั้นเราจึงใช้พื้นจิตที่สงบและก็ค่อนข้างสะอาดและค่อนข้างเกลื้องจากปัญหาที่รบกวนทั้งปวงเนี่ย มาใคร่ครวญในสิ่งที่เราเรียกว่าธรรม คือธรรมะ ธรรมะนั้นก็คือธรรมชาติ และธรรมชาติที่เราควรจะนำมาใคร่ครวญ ศึกษา ในการปฏิบัติสมาธิภาวนาอานาปานสตินั้นก็คือ กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติที่ควรจะศึกษา ก็คือกฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจยตา เรื่องของอริยสัจ ๔ เป็นต้น
สำหรับกฎไตรลักษณ์นั้นก็เชื่อว่า จะมีความเข้าใจกันเป็นส่วนมากแล้วนะคะ แต่ก็ขออธิบายสั้นๆ สักนิดหนึ่งว่า กฎไตรลักษณ์ก็คือหมายถึงลักษณะอันเป็นธรรมดา ๓ ประการ ซึ่งมันเกิดขึ้นเองเป็นธรรมชาติ มันมีอยู่เองในธรรมชาติ แล้วก็มีอยู่อย่างนี้นานนักหนามาแล้วไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปี แล้วก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป นั่นก็คือลักษณะของความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงก็คือเราก็รู้คือไม่เที่ยง เราก็รู้คือความเปลี่ยนแปลง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็ความคงที่อยู่ไม่ได้ นี่เราพูดกันคล่องปากเลย แต่มันไม่เกิดประโยชน์สักเท่าไร ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถจะมองเห็นสภาวะของความไม่เที่ยงที่ใจของเรา ที่มองเห็นสภาวะของความไม่เที่ยงนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็น
การที่เราจะเห็นก็คือว่ามันสัมผัส พอมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเรานะคะ จะเป็นไปในทางดีก็ตาม หรือเป็นไปในทางชั่วก็ตาม ที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา จิตมันสัมผัสกับความไม่เที่ยงทันที และพอมันสัมผัสแล้วนี่ มันมีความรู้สึกสลดสังเวชไปในตัวด้วย มันเกิดความสลดสังเวชว่า มันไม่มีอะไรที่จะอยู่จริงๆ ให้เราได้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่าง มันสลดสังเวช แล้วก็ความสลดสังเวชนี้ มันเลยไปถึงความสลดสังเวชในความเขลาของเราเอง ความเขลาในชีวิตที่ผ่านมาที่เรายึดนั่นก็จริง นี่ก็จริง คนรักก็จริง คนเกลียดก็จริง งานนี่ก็จริง ปัญหานี่ก็จริง อุปสรรคก็จริง อะไรๆ มันจริงไปเสียทั้งหมด
แล้วเราก็หัวฟัดหัวเหวี่ยงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอันนั้น นี่มันจะเกิดความรู้สึกสลดสังเวชในความเขลาของเราว่า มันไม่น่าจะเขลาอย่างนั้นเลย แต่เราก็เขลามาแล้ว นี่จึงจะเรียกว่าเราเห็น เราเห็นด้วยการสัมผัสกับความรู้สึกแห่งความเป็นอนิจจังที่เกิดขึ้นที่ใจ แล้วเราก็ดูมันที่ขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก เรียกว่าทุกลมหายใจ จนกระทั่งผลที่สุดมันชัดเข้าๆ ในสภาวะของความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วผลที่สุดก็จะเห็นชัดอีกถึงสภาวะของทุกขัง ทุกขังก็คือความทนอยู่ไม่ได้
ทุกขังในไตรลักษณ์ก็โปรดอย่าลืมว่า คนละอย่างกับทุกขังในอริยสัจ ๔ ถ้าทุกขังในอริยสัจ ๔ นั้นหมายถึง ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ คือลักษณะอาการของความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นภายในใจของเรา และเราก็รู้ว่าหงุดหงิดอึดอัดขัดใจจนถึงขมขื่นเจ็บปวดชอกช้ำ นี่คือทุกขสัจ ทุกขสัจในอริยสัจ ๔ แต่ทุกขังนั้นคือสภาวะที่มันเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ มันไม่ได้แสดงความรู้สึกเจ็บปวดหรือว่าขมขื่น แต่มันแสดงให้เห็นว่ามันทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนแปลง มันจึงทนอยู่ไม่ได้ ดูอย่างชัดๆ ก็คือสภาวะของร่างกายตัวเรานี้ มันทนอยู่ไม่ได้ มันแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงจากผิวพรรณที่เปล่งปลั่งน่ารัก นัยน์ตาที่ใสแววแจ๋ว ผมที่สลวยดำสนิท มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป หูที่เคยฟังอะไรได้ยินแจ๋วมันก็ค่อยๆ หนักไม่ค่อยได้ยิน ฟันที่มันเคยเคี้ยวอะไรได้คล่องก็ชักจะโยก ตามันก็มองไม่ค่อยเห็นต้องอาศัยแว่น อย่างเนี้ยคือสภาวะของทุกขังที่มันแสดงให้เราเห็นชัด แล้วก็รวมไปถึงทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราอันเป็นธรรมชาติไม่ว่าต้นหมากรากไม้ก้อนหินดินทราย เนี่ยเราก็จะค่อยๆ ชัดแก่ใจในสภาวะของทุกขังทีละน้อยๆ
ทีนี้เมื่อชัดในสภาวะของทุกขัง ไม่ช้าก็จะค่อยๆ เห็นสภาวะของความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่เราเคยยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา ก็จะค่อยๆ จางคลายลงทีละน้อย ละน้อย ละน้อย นี่คือขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาถึงสภาวะของเริ่มต้นด้วยอนิจจัง จนเห็นทุกขัง จนเห็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จนเห็นที่สุดทุกขณะที่ลมหายใจเข้าและออก
ผู้ดำเนินรายการ : ซึ่งเป็นเรื่องยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรื่องยากแต่ต้องทำ
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับเรื่องของการฝึกวิปัสสนา พยายามทบทวนเรื่องของกฎไตรลักษณ์ทุกลมหายใจเข้าออก เรื่องของความไม่เที่ยงนี้นะครับ ก็พยายามฝึกให้แม่นยำให้คล่องแคล่วนะครับ แต่ก็คงต้องอาศัยแนวทางของการฝึกที่ลึกซึ้งลงไปอีก คงต้องขอให้ท่านอาจารย์ คุณรัญจวนได้อธิบายซ้ำโดยละเอียดต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หมวดที่ ๑ ก็คือกายานุปัสสนาภาวนา คือเรื่องของกาย เน้นกายลม หมวดที่ ๒ ก็คือเวทนา อ่านว่า เว-ทะ-นา ไม่ใช่ เวท-ทะ-นา เวทนานุปัสสนาภาวนาก็เน้นเรื่องการศึกษาเรื่องเวทนาจนรู้จักมายาของมัน หมวดที่ ๔ จิตตานุปัสสนาภาวนา ก็คือเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับจิต ตลอดจนทดสอบพลังจิตว่าจะสามารถควบคุมบังคับจิตได้มากน้อยเพียงใด แล้วทีนี้ก็พอหมวดที่ ๔ ก็จะใช้พื้นจิตที่ได้ฝึกอบรมมาตลอดตั้ง ๑๒ ขั้น มาใคร่ครวญธรรมที่เรียกว่าเป็นวิปัสสนาโดยตรง
เมื่อคราวที่แล้วเราก็พูดถึงว่าธรรมานุปัสสนาภาวนาหรือว่าหมวดที่ ๔ ขั้นที่ ๑ ก็คือการจดจ่อจิตไปศึกษาใคร่ครวญในเรื่องของไตรลักษณ์ คือกฎธรรมชาติ เน้นที่เริ่มที่อนิจจัง ทุกลมหายใจเข้าออก เรียกว่าไม่ต้องไปดูเรื่องอื่นเลย ไม่ต้องไปนึกเรื่องอื่น ทุกลมหายใจเข้าออกให้จิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องของความไม่เที่ยง ทีนี้จะดูอะไรความไม่เที่ยง ถ้าจะเอามาเป็นแบบฝึกหัด ถ้านึกไม่ออกก็ลมหายใจนี่แหละ ที่เราใช้มันเป็นเครื่องมือมาตลอดเพื่อพัฒนาจิตให้สงบ เราก็มองดูขณะที่นั่งอยู่ก็นึกจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ประเดี๋ยวมันก็เข้า ประเดี๋ยวมันก็ออก จะให้เข้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะให้ออกอย่างเดียวก็ไม่ได้ นี่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของมัน ประเดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น ยาวก็ไม่เหมือนกัน สั้นก็ไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนิจจัง ก็ใช้ลมหายใจ ทีนี้จากลมหายใจ ประเดี๋ยวมันก็อาจจะมีเวทนาแว่บเข้ามาในใจ ความรู้สึกโน่น ความรู้สึกนี่ ถูกใจไม่ถูกใจ ก็เอาเวทนานั่นแหละมาดู เป็นแบบฝึกหัดของอนิจจัง ก็จะเห็นว่าเวทนาที่มันแว่บเข้า แว่บออกนี่ดูจริงๆ แล้วมันไม่อยู่นาน มันเปลี่ยนเรื่อย แล้วบางทีมันก็เปลี่ยนเรื่องด้วย แล้วเดี๋ยวเวทนาเรื่องนี้ เดี๋ยวเวทนาเรื่องโน้น นี่ก็จะเห็นความเป็นอนิจจังนี่มันปรากฏในทุกที่ ในทุกสถาน ทุกเหตการณ์ ทุกเวลา หรือดูเรื่องจิต
แม้แต่จิตนี่ก็อีกเหมือนกัน ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวก็ร้าย ประเดี๋ยวก็เห็นแก่ตัว ประเดี๋ยวก็ทำเป็นจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประเดี๋ยวก็จิตสงบ ประเดี๋ยวก็จิตวุ่น นี่ดูสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือถ้าจะถามว่าจะเอาอะไรเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ ก็ใช้อันนี้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ ก็ดูไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชัดเจนก็จะเห็นความเป็นทุกขังของทุกอย่างที่กล่าวมาแล้ว จนกระทั่งค่อยๆ ซึมซาบในสภาวะของอนัตตา พอซึมซาบในสภาวะของอนัตตาเนี่ย มันจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งแทรกขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติเป็นธรรมชาตินั่นก็คือสิ่งที่ท่านเรียกว่า “วิราคะ”
วิราคะคือความรู้สึกจางคลาย จางคลายต่อความอยาก อยากโลภ อยากโกรธ อยากหลง จางคลายต่อความยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน นี่วิราคะมันจะเกิดซ้อนขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาเองในใจ มันเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่าย มันรู้สึกไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากเอา มันอยากปล่อย เพราะฉะนั้นในขั้นที่ ๒ ที่เรียกว่า “วิราคานุปัสสี” ก็คือตามพิจารณาดูวิราคะที่เกิดทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก เพื่อจะดูให้วิราคะคือความจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงมันชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น ถ้ามันชัดขึ้นก็หมายความว่าใจนี่มันลึก มันลึกมันดิ่งลงไปในความที่จะไม่เอา มันดิ่งลงไปในความที่จะปล่อย มันไม่อยากยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้ว ก็ดูอยู่อย่างนั้นทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก จนผลที่สุดความจางคลายมันบางเบามากๆๆ จนรู้สึกมันกลายเป็นความดับ ที่ท่านเรียกว่านิโรธ “นิโรธานุปัสสี” ความดับ ดับซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดับในความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเอง มันดับไปเลย พอมันดับไปทำไง จิตก็จดจ่ออยู่ที่ความดับ ก็อย่าเพิ่งไปคิดว่าดับแล้วมันจะไม่ลุกอีกใช่ไหม อาจจะลุกโพลงยังไม่ไว้ใจ เราก็ทุกขณะนี่จิตจะจดจ่อดูความดับ ใหัมันดับจนสนิทจนกระทั่งมันไม่เหลือเชื้ออะไรเลย เหมือนอย่างถ้าเราเอาน้ำไปดับไฟแล้วเราเห็นว่าไฟหมดเปลว ถ้าเราคิดว่าดับแล้วบางทีมันไม่ดับ
ผู้ดำเนินรายการ : จิตมันเปลี่ยนไหมครับ จุดสังเกตุมันดับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันดับมันก็คือเกิดความนิ่ง สงบ ว่าง โปร่ง เฉย มันไม่เอา มันไม่มีความรู้สึกอยากยึดอะไรเลย มันเป็นไปโดยอัตโนมัติเลย เพราะฉะนั้นเราก็จดจ้องอยู่ที่ความดับนี่ นานเท่านานจนกว่าจะรู้สึกว่ามันชัดเจนทุกขณะที่หายใจเข้าหายใจออก นี่เป็นขั้นที่ ๓
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ ในเรื่องของการฝึกวิปัสสนา เมื่อเราพิจารณาเรื่องของกฎไตรลักษณ์ กฎของอนิจจัง ทุกลมหายใจเข้าออกจะมีความรู้สึกแทรกขึ้นมาในใจถึงความจางคลายในความยึดมั่นถือมั่น คือวิราคะที่ท่านอาจารย์รัญจวนกล่าวมาเนี่ยครับ จนถึงความสุขจากความดับจากความยึดมั่นถือมั่น และพิจารณาอยู่อย่างนั้นต่อไป คงจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะฝึกจิตไปถึงขนาดนั้น แต่ว่าก็ขอให้พยายามนะครับ นี่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิตของเราด้วยวิธีอานาปานสติจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง นะครับ แล้วเราจะกลับไปคุยกับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน ในครั้งต่อไป