แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: พูดถึงเรื่องของวิธีฝึกจิตโดยวิธีอานาปานสติกันอยู่นะครับว่า เมื่อเราสามารถมองเห็นเรื่องของกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้เรามีความรู้สึกจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เพื่อจะให้จิตนั้นดับนิ่งสนิทอยู่กับที่นะครับ แล้วเราจะอยู่ในสภาวะเช่นนี้ได้นานหรือไม่อย่างไร เป็นปัญหาของผู้ที่ฝึกจิตหลายคนทีเดียว ท่านอาจารย์คุณรัญจวนจะตอบคำถามนี้กันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เท่าที่พอใจ คำว่าเท่าที่พอใจนี่น่าจะจดจ่ออยู่กับอาการของความรู้สึกว่าดับซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงนี้ ให้นานจนกระทั่งเราแน่ใจว่า มันจะไม่ลุกโพลงขึ้นมาอีก คือไม่ลุกโพลงที่จะเอาโน่นเอานี่ขึ้นมาอีก ให้เราอยู่กับความดับอย่างนั้น อยู่ไปๆ ๆ จนความดับมันชัดเอง แล้วจิตมันก็จะเพิ่มความว่าง มันยิ่งว่าง ยิ่งสะอาด ยิ่งโปร่ง ยิ่งเรียบ มันจะไม่มีอะไร แล้วผลที่สุดมันก็จะมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งซ้อนขึ้นมาซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของอานาปานสติ คือ ขั้นที่ 16 คือขั้นที่ 4 ของหมวดที่ 4 นั่นก็คือ ความรู้สึกอยากสลัดคืนทุกอย่าง ที่แต่ก่อนนี้มันยึดมันเอาว่าเป็นของเราโดยเฉพาะตัวตน มันอยากสลัดคืน ที่จริงมันก็ดับแล้ว แต่ว่ามันยังรู้สึกว่าอยากคืนไปให้หมด คืนให้ธรรมชาติ ซึ่งบัดนี้ใจมันชัดเจนว่าเจ้าของแท้ๆ นี่คือ ธรรมชาติ มันไม่อยากตู่แล้ว ไม่อยากโกงแล้ว มันชัด มันดับ ซึ่งความอยากจะเอาแล้ว มันพร้อมที่จะสลัดคืน สลัดคืนนี่ก็ไม่ใช่ด้วยอาการเคลื่อนไหวของมือไม้อะไร แต่มันเป็นความรู้สึกข้างในที่ว่าง โปร่ง เบาสบาย แล้วก็มีแต่ความเป็นสุญญตาที่ท่านเรียกว่าจะมีแต่ สุญญตาวิหาร วิหารแปลว่าเครื่องอยู่ นั่นก็คือ มีความว่างเป็นเครื่องอยู่ คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่างจากความจะเอาในทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง เรียกว่า อยู่เหนือโลก
โลกก็คงยังเป็นโลกที่เป็นอยู่อย่างนี้ เราก็ยังเดินอยู่ในโลกนี่ ร่างกาย แต่ใจมันจะอยู่เหนือโลก อยู่เหนือจากความจะเอาอย่างที่คนอื่นเขาเอา อยู่เหนือจากการติดสิ่งคู่ ซ้ายขวา ได้เสีย บวกลบ แล้วก็อยู่เหนือจากความอยาก อยากจะเอา อยากจะมี อยากจะเป็น อยากจะได้ อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงโดยเฉพาะความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเอง มันเป็นความรู้สึกที่เป็นอิสระอย่างยิ่ง เป็นการปลดเปลื้องจิตที่เคยอยู่ในความเขลาของอวิชชา บัดนี้ก็จะเต็มไปด้วยวิชชา คือ ปัญญาที่เป็นแสงสว่าง มันจะมองไปทางไหน อะไรจะเกิดขึ้น จะผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรู้ว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองคือ ตถตา เช่นนั้นเอง คือ มีเกิด ดับ เกิด ดับอยู่อย่างนี้ มันไม่มีอะไรนอกจากนี้ แล้วสุดท้ายก็ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ ใจมันจะชัดอยู่อย่างนี้ ก็ดูอาการที่เกิดขึ้นในจิตทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก แล้วก็ควรจะต้องดูอยู่อย่างนี้จนตลอดชีวิต ตลอดชีวิตเพื่อว่า เหมือนอย่างกระจกที่เราเช็ดสะอาดแล้วนี่นะคะ แต่บางครั้งมันก็อาจจะมีฝุ่น มีละอองปลิวมา เราก็ต้องหมั่นทำความสะอาดเสมอ
ผู้ดำเนินรายการ: พิจารณาใหม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้องพิจารณาใหม่ ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ทุกวัน เป็นการปัดฝุ่นปัดละอองทุกวันจนกระทั่งเป็นจิตที่ดับสนิท ดับสนิท สลัดคืนอย่างสิ้นเชิง แล้วถ้าเป็นได้อย่างนี้ก็หมายความว่า มันจะมีแต่ความสุขที่แท้จริง คือ เป็นความสุขสงบเย็นแล้วมันก็เป็นจิตที่จะไม่กลับไปอีกแล้ว จะไม่กลับคืนไปสู่หนทางเดิมที่เคยได้เดินมาด้วยความร้อน มันจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว ถ้าพูดง่ายๆ ตามคำของในทางพระพุทธศาสนาเขาเรียกว่า เป็นจิตที่เป็นนิพพาน เพราะว่าคงจำได้ว่า นิพพานแปลว่า เย็นใช่ไหมคะ นิพพานแปลว่า เย็น ทีนี้ความเย็นของนิพพานก็คือเย็นอย่างนี้ เพราะมันเกิดจากเห็นอนิจจัง ทุกขังจนเห็นอนัตตาแล้วก็เกิดวิราคะจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง แล้วก็เกิดนิโรธะ คือ ความดับจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง แล้วผลที่สุดก็สลัดคืนทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เบาสิ มันก็เบา ไม่มีอะไรแบก มันจึงมีแต่ความว่าง ความว่าง ความเย็น ความสบาย ความเป็นอิสระ แล้วนี่ก็คือจิตเย็นที่จะอยู่แต่ตรงกลาง ไม่ไปซ้าย ไม่ไปขวาอีกต่อไป เป็นจิตที่เป็นอิสระอย่างยิ่ง แล้วนี่ก็เป็นสิทธิของมนุษยชนที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมีได้ แล้วก็เป็นได้
ผู้ดำเนินรายการ: แต่ต้องทำได้ด้วยตนเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แน่นอน ไม่มีขาย แล้วก็ไม่มีจ้างใครทำให้ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการรวยอย่างนี้มันจึงเป็นการรวยที่ประเสริฐ คือเป็นความมั่งคั่งที่ประเสริฐ ไม่อยากใช้คำว่ารวย เป็นความมั่งคั่งร่ำรวย มีความเป็นเศรษฐีที่ประเสริฐ เพราะว่ามันภาคภูมิได้ว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเอง มีเอง เป็นเอง ไม่ใช่ใครทำให้ แล้วก็การรวยอย่างนี้เป็นการรวยที่พร้อมจะให้คนอื่นด้วย แล้วที่วิเศษกว่านั้นก็คือ ไม่มีโจรที่ไหนมาจี้มาปล้นเอาไปได้เลย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะสถิตอยู่ภายในจิตใจอยู่เป็นนิจนิรันดร์ถ้าสามารถจะทำได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ตามลำดับของการปฏิบัติอานาปานสติ จุดมุ่งหมายก็คือ เพื่อความสุขสงบเย็นจนถึงที่สุดและเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องแล้วจะเห็นผลเอง นี่ก็จะพบพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธซึ่งเป็นกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าหากว่าท่านอยากจะร่ำรวยเป็นเศรษฐีที่ประเสริฐ ด้วยวิธีของการฝึกจิตอย่างนี้ก็เดินเข้ามาสู่เส้นทางของการฝึกจิตด้วยวิธีอานาปานสติกันนะครับ สำหรับท่านผู้ชมหลายท่านที่ไม่ได้ติดตามรายการของเรามาโดยตลอดนะครับ ถ้าหากอยากรู้ว่าวิธีการฝึกจิตด้วยวิธีอานาปานสติทั้งหมดเป็นอย่างไร ท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงจะสรุปให้เราฟังทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อานาปานสติก็เป็นวิธีของการฝึกปฏิบัติสมาธิวิธีหนึ่งด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด ที่ว่าเป็นเครื่องกำหนดก็คือเป็นเครื่องผูกจิต เพราะว่าจิตที่มันวุ่นวายระส่ำระสายนี่ก็คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่า เขาเปรียบเหมือนลิง เหมือนลิงเถื่อน ลิงป่า ช้างป่า ม้าป่า อะไรที่มันป่าๆ ที่มันเถื่อน มันพยศร้าย มันแผลงฤทธิ์ มันไม่ยอมอยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าจะฝึกมันให้เชื่องก็ต้องมีอะไรผูกมัน เช่นเดียวกับจิตเถื่อนที่มันวิ่งว่อน ทีนี้เมื่อมาฝึกแบบอานาปานสติ เราก็จะใช้ลมหายใจเป็นเครื่องผูกจิต ก็คือดึงจิตที่วุ่นวายเร่ร่อนไปนี่ให้มาจดจ่ออยู่กับลมหายใจ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าลมหายใจไปไหนก็ให้จิตตามไปด้วย ทีนี้จิตมันไม่มีตัวตนก็คือเอาความรู้สึกนี่ตามมันไป ไม่ว่าลมหายใจจะไปทางไหน จะออกข้างนอกก็ตามไปข้างนอก มันเข้าข้างในก็ตามไปข้างใน มันจะอยู่ตรงไหน หยุดตรงไหนตามมันไปทุกอย่าง หากว่าจิตมันตามอยู่กับลมหายใจอย่างนี้ มันก็เหมือนว่ามีจิตที่ถูกผูกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันก็ดิ้นไม่ได้ ดิ้นรนซุกซนแผลงฤทธิ์ไม่ได้ใช่ไหมคะ นี่ก็คือทำจิตนั้นให้เป็นสมาธิแล้วมันก็จะสงบนิ่ง
ฉะนั้นการที่มาฝึกอานาปานสติก็เป็นวิธีการฝึกสมาธิด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดหรือเป็นเครื่องผูกจิต เพื่อฝึกจิตที่เถื่อนนั้นให้เป็นจิตที่เชื่อง ทีนี้เมื่อเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดหรือเป็นอาวุธในการฝึกปฏิบัติ เราก็ต้องรู้จักเรื่องของลมหายใจ คือศึกษาเรื่องของลมหายใจให้ละเอียดชัดเจนทุกแง่ทุกมุม ให้รู้ว่ามันมีคุณค่า มีประโยชน์ แล้วก็มีสิ่งที่เอามาใช้ได้โอกาสไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทีนี้ก็เป็นการปฏิบัติในหมวดที่ 1 ซึ่งจากหมวดที่ 1 อันนี้เราก็เน้นที่การศึกษาเรื่องกายลม กายลมที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งกาย แล้วแต่ว่าลมหายใจจะเป็นลักษณะอย่างใด มันก็จะทำให้กายนี้มีลักษณะอาการตามลักษณะของลมหายใจ เช่น ลมหายใจยาวสบาย กายนี้ก็ผ่อนคลายเยือกเย็นผ่องใส ถ้าลมหายใจหอบเหนื่อยกระชั้น กายนี่ก็พลอยเหนื่อยพลอยกระสับกระส่าย ไม่สบายไปด้วย
ฉะนั้นหมวดที่ 1 ก็คือ ศึกษาจนรู้ว่าลมหายใจนี่มันเป็นกายสังขาร คือปรุงแต่งกายและควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ
เสร็จแล้วก็มาศึกษาหมวดที่ 2 เวทนาซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญว่า ให้รู้จักเวทนานี่คือสิ่งที่ปรุงแต่งจิตแล้วก็มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ ทำให้ชีวิตของมนุษย์เป็นทาสหมุนไปตามกำลังของเวทนา เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านถึงบอกว่า ผู้ใดควบคุมเวทนาได้จะควบคุมโลกได้ คือโลกของความวุ่นวายของจิตเอาไว้ใต้เท้าเลยเพราะฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาจนเห็นว่า เวทนานี้เป็นมายา มันเป็นมายาที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่เคยอยู่นานเลยสักอย่างเดียว แล้วเสร็จแล้วก็ควบคุมเวทนานี้ให้สงบระงับทุกอย่างทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา
เสร็จแล้วเราก็จะไปถึงหมวด 3 ที่จะศึกษาเรื่องของจิตให้รู้จักว่า จิตนี้มันมีจุดอ่อน จุดแข็ง จุดด้อย จุดเด่นอย่างไรที่เราควรจะพัฒนาจิตและจะพัฒนาด้วยวิธีใด จิตนี้จึงจะเป็นจิตที่สงบ แล้วก็ความสงบนี้จะสงบได้อีกไหม พอเราพัฒนาจิตจนเราพอใจ เราก็ทดสอบกำลังจิต เราจะควบคุมบังคับจิต ให้เป็นจิตที่เริงรื่นบันเทิงปราโมทย์บ้าง ให้เป็นจิตที่นิ่งดิ่งเป็นสมาธิบ้าง ให้เป็นจิตที่ปลดเปลื้องเป็นอิสระบ้าง ทำได้ไหม
ถ้าทำได้ก็พร้อมที่จะใคร่ครวญธรรม คือ วิปัสสนาในหมวดที่ 4 ธรรมานุปัสสนาภาวนา ใคร่ครวญจนเห็นชัดในความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ อนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ผลที่สุดจนเกิดวิราคะจางคลาย ไม่รู้จะเอาอะไรกับมันแล้ว พอไม่รู้จะเอาอะไรกับมันแล้ว ผลที่สุดมันก็เลยหยุดคือดับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เอาอะไรอีกเลย พอดับเสร็จแล้วก็อยู่กับความดับ จ้องอยู่กับความดับทุกลมหายใจเข้าออก จนผลที่สุดก็สลัดคืน ไม่เอาอะไรเลย จิตมันก็ถึงซึ่งความว่าง อยู่กับสุญญตา เป็นจิตที่เป็นอิสระ แล้วก็มีความเยือกเย็นเป็นนิพพานทุกกาลเวลา ถ้าสามารถทำได้ตามนี้นะคะ ถ้าทำไม่ได้อย่ามาต่อว่า
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ นั่นก็คือวิธีฝึกจิตโดยวิธีอานาปานสติกับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถฝึกจิตด้วยวิธีลัดตัดตรงได้นะครับ ถ้าสนใจก็ลองใช้วิธีอานาปานสติกันดูนะครับ