แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : วันนี้จะไปถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนน่ะครับว่า วิธีการฝึกจิตโดยวิธีอานาปานสตินั้น ก็มีปัญหามากมายทีเดียวน่ะครับ ที่เราจะถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนกัน เราได้ประมวลคำถาม ที่ท่านผู้ชมได้เขียนมาถาม ไปถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนในช่วงนี้กันน่ะครับ
ผู้ดำเนินรายการ : การกำหนดลมหายใจแบบอานาปานสติ ขณะที่ทำงานใช้ความคิด หรือขณะอ่านหนังสือ ทำได้หรือไม่ ถ้าได้จะมีวิธีทำอย่างไร, แบบใด ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือ..ถ้าสำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ คงจะทำได้ยากหน่อยหนึ่ง เพราะว่ายังไม่มีความชำนาญในการที่จะทำความรู้สึก ให้สัมผัสกับลมหายใจทุกขณะที่เข้า-ออก เพราะฉะนั้นในขณะที่ทำงาน เราก็ต้องรวบรวมสมาธิทั้งหมด จดจ่อลงไปที่การทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ หรือทำอะไรอย่างอื่น
ทีนี้ในระหว่างทำงานนั้นน่ะ ไม่มีใครจะทำได้ติดต่อกันตลอด จะต้องมีเวลาหยุดพักบ้าง อย่างน้อยสักอึดใจหนึ่ง สักนาที สองนาที ในช่วงที่พักสักอึดใจหรือนาที สองนาทีนี่.. เอาจิตหรือสติจดจ่อมารู้อยู่กับลมหายใจ ตลอดเวลาทุกขณะที่เข้าและออก แล้วก็..พอถึงเวลาจะต้องทำงานก็ทำต่อไป พอพักก็ทำอย่างนี้อีก ทีนี้ถ้าทำบ่อยๆ ไม่ช้ามันก็จะค่อยๆ เกิดความเคยชิน เรียกว่าชำนาญ ทีนี้มันก็จะติดต่อกันมากขึ้น ถ้าติดต่อกันมากขึ้น ทำจนกระทั่งเกิดความชำนาญ ทีนี้มันจะไม่ต้องนึกแล้วว่าเราจะต้องควบคุมลมหายใจ มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ อย่างที่ครูชอบเปรียบเหมือนกับคนขับรถยนต์ พอขับรถยนต์จนชำนาญแล้วก็ไม่ต้องคอยเขม็งจับพวงมาลัย หรือว่าคอยขาแข็งอยู่ที่เบรคอะไรอย่างนี้ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ มันคล้ายๆ กับว่า แตะนิด แตะพวงมาลัยนิด มันก็เลี้ยว หรือว่าแตะเบรคหน่อยหนึ่งมันก็ใช้ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ฝึกใหม่ๆ ทุกคน ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ คือผู้ที่ฝึกใหม่ๆ ก็จะรู้สึกจะไปทำได้ยังไง เพราะว่าขณะที่ตั้งใจทำ มันยังไม่ค่อยจะได้ ทีนี้ ทำงานด้วยจะทำได้ยังไง ก็อย่าไปหนักใจ..ฝึกไปเรื่อย คือเวลาทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรก็ฝึกเรื่อยทุกขณะที่มีโอกาส นาทีหนึ่งก็ฝึก สองนาทีสามนาทีก็ฝึก ให้มันต่อๆ กันเรื่อย เหมือนกับเราเก็บสะสมไว้ ความชำนาญจะเพิ่มขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : เชี่ยวชาญแล้วก็จะหมดปัญหานี้ไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ.. จะไม่รู้สึกหนักใจ
ผู้ดำเนินรายการ : อีกสักข้อหนึ่งน่ะครับ..ผู้ถามถามว่า ทำไมเวลาตามลมหายใจสักสองสามนาทีแล้วจึงรู้สึกว่าสัปหงกนี่ ง่วง ช่วงที่สัปหงกนั้นน่ะครับ เรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันก็ผ่านแว่บเข้ามาในความคิด อย่างนี้ถามว่า จะจับลมหายใจไม่ติดใช่ไหม ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่..เพราะว่าในขณะที่คิดว่ากำลังนั่งสมาธิอยู่นี่ แท้ที่จริงแล้วนี่ จิตมันไม่ได้อยู่กับลมหายใจ สิ่งที่พิสูจน์ก็คือ ความคิดที่มันแว่บเข้ามานั่นแหละ มันเป็นเครื่องพิสูจน์บอกแล้ว เพราะถ้าหากว่าจิตคือความรู้สึกรวบรวมจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ จะไม่มีอะไรที่ผ่านเข้ามา คือผ่านเข้ามาทำให้สะดุดได้ แต่นี่ผ่านเข้ามาแสดงว่าช่วงนั้น ทีนี้เจ้าตัวก็นึกว่า เรากำลังนั่งตั้งใจนี่ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้หลุดออกไปจากสมาธิเลย แต่ความเป็นจริงนี่มันหลุดแล้ว เพราะสติที่ยังไม่มั่นคงนี่ มันอาจจะขาดได้เร็วๆ ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ารู้สึกว่าเป็นอย่างนี้ ก็ยืดตัวตรง แล้วกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ ด้วยการตามลมหายใจยาว
ผู้ดำเนินรายการ : ซึ่งก็จะคล้ายกับท่านที่ถามมาบอกว่า ขณะที่ตั้งใจจะหลับ ระหว่างช่วงจะหลับและรู้สึกตัวจะมีความรู้สึกตัววูบหนึ่ง คล้ายน้ำหรือคลื่น แต่ว่าจับไม่ได้ แต่พอจะจับก็จะรู้สึกตัว แต่ถ้าปล่อยไป ก็จะหลับไปเลย คืออยู่ระหว่าง ช่วงหลับกับตื่น ถามว่า สิ่งนี้คือ “นิมิต” ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ใช่ “นิมิต”.. สิ่งนี้ไม่ใช่ “นิมิต” ..สิ่งนี้เป็นอาการที่ผู้ปฎิบัติเองยังไม่สามารถจะควบคุมจิตให้สดใส และก็ตื่นอยู่กับลมหายใจ คำว่า “ตื่น” ไม่ใช่ตื่นเต้นน่ะคะ แต่หมายความว่ามันตื่น มันผ่องใสจิตใจ แล้วก็รู้ลมหายใจเข้าออก ทีนี้อาจจะเกิดอาการเพลีย หรือว่าอาจจะเกิดอาการที่ มันเหนื่อยหน่ายในการที่จะทำโดยไม่รู้ตัว มันก็เลยเกิดความง่วง เพราะเราหลับตาอยู่ ใช่ไหมค่ะ ซึ่งมันเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นที่ว่า อย่างนี้ ไม่ใช่ “นิมิต” “นิมิต” นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตมันสงบ และมันก็อาจจะเป็น สี แสง เสียง ภาพ ก็สุดแล้วแต่ อันนั้นเป็นอีกต่างหาก
ผู้ดำเนินรายการ : การหายใจสั้น-ยาวน่ะครับ เปลี่ยนสีผิว ได้หรือไม่ โดยผู้ถามบอกว่า ถ้าหายใจช่วงสั้นประมาณ 30-40 นาที เมือดูสีผิวจะออกคล้ำๆ แต่ถ้าหากว่า หายใจช่วงยาวและก็ทำความรู้สึกให้ระงับไปน่ะครับ เวลาเช่นเดียวกันประมาณ 30-40 นาที บอกว่าสีผิวของเค้านี่ ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : 30 นาทีหรือวินาที
ผู้ดำเนินรายการ : นาทีครับ..30-40 นาที
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หายใจสั้น 30-40 นาที
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ..ถ้าสั้นเมื่อไหร่ ผิวออกคล้ำ คล้ำไป แต่ถ้าหายใจช่วงยาวๆ สีผิวออกใส ถามว่า อันนี้เป็นไปได้หรือไม่ หรือว่าคิดไปเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือ ไม่ค่อยนึกว่าใครจะหายใจสั้น ที่ไม่ใช่หายใจปกติอยู่โดยปกติน่ะค่ะ คือถ้าบางคนอาจจะหายใจช่วงสั้นอยู่เป็นปกติก็แล้วไป แต่ถ้ามาตั้งใจปฏิบัติสมาธิภาวนาคือ อานาปานสติแล้วก็หายใจสั้นอยู่ 30 นาทีนี่ มันไม่น่าจะไหวน่ะ แล้วถ้าสมมติว่าฝืนทำไหว แล้วที่สีผิวมันคล้ำๆ ไป มันคงจะเป็นลม เพราะว่ามันเหนื่อยเกินไป มันผิดปกตินะคะ เพราะฉะนั้น อันที่จริงแล้ว มันไม่เป็นไปได้ มันไม่เป็นไปเช่นนั้น คือพูดง่ายๆ ว่าตอบง่ายๆ ว่า เรื่องของลมหายใจสั้นและยาว จะทำให้ผิว สีผิวของผู้ปฎิบัตินี่เปลี่ยนไปรึเปล่า..ไม่เปลี่ยน ยกเว้นแต่ว่า มันเกิดเหน็ดเหนื่อยจนกระทั่งจะเป็นลมขึ้นมา เพราะหายใจสั้นนะ มันก็เหนื่อยอยู่แล้วใช่ไหมค่ะ ที่ถ้าไม่ใช่ลมหายใจปกติ แล้วหายใจได้อย่างไร 30-40 นาที น่ากลัว เพราฉะนั้นอย่า อย่าฝืนใจทำอย่างนี้เลย
ผู้ดำเนินรายการ : อาจจะเป็นไปได้ไหมครับ ที่ได้ยินท่านอาจารย์อธิบายบอกว่า ให้ฝึกสลับกันระหว่างช่วง ฝึกหายใจสั้น หายใจยาว เจ้าตัวก็เลยเอา สั้น สั้น สั้น ยาว ยาว ยาว ยาว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือถ้าเราฝึกในขั้นที่ 3 ของบทที่1 ที่บอกว่าเราจะเล่นกับลมหายใจ ทั้งสั้นทั้งยาว ทุกอย่าง ทุกชนิด เพื่อจะได้รู้ว่า มันปรุงแต่งกายจริงๆ ก็หมายความว่า เราสลับกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่า ยาวก็ยาว แล้วก็สั้นก็สั้น อาจจะเป็นยาวแรงแล้วก็ไปสั้นแรง ยาวเบาแล้วก็สั้นเบา อาจจะสลับกันอย่างนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่า สั้นอยู่ตั้งนาน ยาวอยู่ตั้งนาน มันควรจะสลับกัน
ผู้ดำเนินรายการ : มันอาจจะเกินไปได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อาจเป็นได้ ถ้ามันมากเกินไป
ผู้ดำเนินรายการ : ขออีกข้อหนึ่งน่ะครับ บอกว่า..ผมเคยฝึกสมาธิโดยกำหนดใจให้หยุดนิ่ง เมื่อจิตจับลมหายใจอยู่ ลมหายใจก็ค่อยๆเบาลงแล้วก็หยุดไปโดยไม่มีลมเข้าออก เป็นเวลานานประมาณ 4 นาทีอยากถามว่า ตรงนี้มันเป็นอะไร แล้วก็ถูกต้องหรือไม่ ? บอกว่าช่วงนั้นนี่ เจ้าตัวรู้สึกว่าใจเบาสบายที่สุด แต่ก็กลัว ก็เลยหายใจหยาบๆ ขึ้นมาแทน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันที่จริง ในขณะที่ลมหายใจเบา บางละเอียดมาก แสดงว่าผู้ปฏิบัตินี่ สามารถควบคุมลมหายใจได้และจิตก็มีความสงบ เพราะฉะนั้นพอสงบเข้า ทุกอย่างมันผ่อนคลาย ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน เพราะฉะนั้นลมหายใจนี้ก็ยิ่งบางเบา แล้วก็ยิ่งละเอียด ยิ่งประณีต ซึ่งถ้าหากว่าท่านผู้ใดนี่ปฏิบัติได้ถึงในลักษณะอย่างนี้ อย่าตกใจ อย่าไปคิดว่าลมหายใจจะหายไปแล้วก็ไม่มี แท้ที่จริงลมหายใจยังอยู่ แต่ว่า มันบางมาก มันประณีต มันละเอียดมาก จนเหมือนเกือบกับไม่มี
ฉะนั้น ก็จงคงกำหนดความรู้สึกจดจ่อลงไป ที่อาการของความสงบ ที่มันเกิดขึ้นในใจ ถ้ารู้สึกว่าจับตัวลมหายใจไม่ได้ เพราะความเคลื่อนไหวมันเบามาก ก็จดจ่อลงไปที่ความสงบ เพื่อที่จะให้จิตนี้ได้สัมผัสกับอาการของความสงบที่เกิดขึ้น แล้วก็ดูอยู่อย่างนั้น แล้วจิตก็จะรวม รวมนิ่ง มากเข้า มากเข้า ลึกสนิท มั่นคงหนักแน่น จนกระทั่งเป็นสมาธิ ที่เค้าเรียกว่าเป็น “เอกัคคตา” ได้ แต่ทีนี้ ด้วยความตกใจ ก็เลยไปเปลี่ยนเป็นลมหายใจหยาบ นั่นก็ดี คำว่าดีในทีนี้หมายความว่า ก็ชมว่าผู้ปฏิบัติก็มีสติ แทนที่จะหยุดหายไปเลยเลิกสมาธิ แต่รู้จักเปลี่ยน แสดงว่าสามารถที่จะรู้จักการใช้ประโยชน์จากลมหายใจได้พอสมควร จึงรู้จักเอาลมหายใจหยาบมาแก้ไข แทนที่จะตกใจจนเสียสติ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ..ถ้าอย่างนั้นขอถามข้อนี้ต่อเลยน่ะครับ บอกว่า..การฝึกอานาปานสติขั้นใดต้องใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้ฝึก เพราะกลัวจิตจะเตลิดไป ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าได้รับคำสอนที่ถูกต้องแล้ว อย่างที่เคยพูดมาแล้วนี่น่ะค่ะ แล้วก็รู้เรื่องของอานาปานสติ ตั้งแต่ จุดประสงค์ ความมุ่งหมาย วิธีการ แล้วก็แต่ละขั้น ละขั้น ดำเนินการอย่างไร และเข้าใจชัดเจนแล้ว ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะต้องเกิดการเสียสติ ถ้าสมมติว่า มันเกิดมีอุปสรรคในขณะที่ปฎิบัติอย่างไรขึ้นมา เราก็จะเริ่มมาตั้งต้นใหม่เสมอ ตั้งต้นใหม่ที่ขั้นที่ 1 แล้วเราก็จะเริ่มไปตามลำดับ จิตมันก็จะราบเรียบไปเรื่อยๆ แล้วก็อีกวิธีหนึ่งก็คือว่า ถ้าสมมติว่ามันเกิดสะดุดขึ้นมาด้วยวิธีใด เช่น เกิดตกใจหรืออะไรอย่างนี้ ก็ให้มองเห็นว่า อาการที่เกิดขึ้นมาทำให้สะดุดนี้เป็นเพียง สิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือให้มองเห็นอนิจจังของมันแบบนี้ หรือแม้แต่มีนิมิตเกิดขึ้น ก็ไม่ไปติดในนิมิต แต่เห็นอนิจจังของมัน และดำเนินการปฎิบัติต่อไปตามขั้น ฉะนั้นถ้าผู้ที่มีสติควบคุมได้ถึงขนาดนี้ ไม่จำเป็น ที่จะต้องมีครู อาจารย์ มาคอยคุม
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าอยากให้มีครู อาจารย์ คุมล่ะครับ ตรงไหน ขั้นตอนไหน ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โดยมาก ไม่มี ไม่จำเป็นเลยสำหรับอานาปานสติ ถ้าได้รับการฝึกปฎิบัติถูกต้อง แล้วผู้ปฎิบัติก็ฝึกปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีความชำนาญ แล้วนอกจากนั้นแล้วก็เป็นคนที่มีความมั่นคงในการปฎิบัติจะไม่เกิดความกลัว เพราะว่าพอเกิดมีอุปสรรคของการปฎิบัติด้วยประการใดก็ตาม
หนึ่ง คือ เริ่มต้นใหม่ไปขั้นที่ 1 ใหม่ตามลำดับเลยทีเดียว นี่เราก็จะรู้แล้วว่า นี่เราไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นมันก็จะไปสู่จุดหมายอย่างที่เราต้องการปฏิบัติ
และอันที่สองก็คือ ดูอนิจจัง เรียกว่าใช้ปัญญาเข้ามาช่วย ว่าแม้แต่การปฏิบัตินี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างปฎิบัติ มันก็เป็นสิ่งสักว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง จะต้องไปพะวงกับมันทำไม แล้วถ้าเราสามารถควบคุมลมหายใจได้ กลับมาอยู่ในภาวะปกติ เราก็ดำเนินการปฎิบัติต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ นั่นก็คือคำถามเกี่ยวกับวิธีฝึกจิต โดยวิธีอานาปานสติกับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี น่ะครับ เราจะได้ประมวลคำถามต่างๆ เหล่านี้ ไปถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันอีก ในครั้งต่อไปน่ะครับ