แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน ได้สอนวิธีอานาปานสติให้เราได้ฟังกันหลายตอนแล้วนะครับ เรื่องของการฝึกลมหายใจเข้าออกนี่นะครับ ถ้าหากว่าเรายังฝึกลมหายใจเข้าออกยังไม่คล่อง แล้วก็ระหว่างฝึกครูบาอาจารย์ท่านก็มักจะสอนหลักธรรมะของเราอยู่ด้วยนะครับ เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หมายความว่าในขณะที่ยังไม่สามารถจะควบคุมจิตให้อยู่กับลมหายใจได้ แล้วก็จะต้องฟังธรรม จะสามารถฟังธรรมไปพร้อมๆ กันได้ไหม ก็การที่จะต้องฟังธรรมะที่เป็นการอธิบาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของหลักธรรมแล้วก็จะมาเป็นการประกอบความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติ อย่างนี้มันก็ ผู้ปฏิบัติก็ควรที่จะต้องฟัง ฉะนั้นในขณะที่ฟังก็รวบรวมสมาธิอยู่ในการฟัง แล้วในขณะเดียวกันเรายังหายใจอยู่ แล้วเราเองก็ไม่ต้องเขียน ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ฟังอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็ลองกำหนดจิตให้รู้อยู่กับลมหายใจ เป็นระยะๆ เท่าที่เราสามารถจะทำได้ เราไม่สามารถจะทำให้มันติดต่อกันได้ ก็เท่าที่เราสามารถจะทำได้ แต่ก็รวบรวมจิตเรียกว่าสมาธิข้างหน้า ต้องพุ่งไปอยู่ที่การฟัง ฟังให้รู้เรื่อง ว่าเรื่องนี้กำลังพูดอะไร แล้วเราเข้าใจหรือไม่เข้าใจอย่างไร สาระแก่นสารเป็นอย่างไร และอันที่สองก็ พยายามรู้ลมหายใจไปพร้อมๆ กันด้วย เท่าที่สามารถจะทำได้
ผู้ดำเนินรายการ: เป็นไปได้ไหมครับว่าที่ผู้ถามจะถามตอนที่เวลานั่งสมาธิเป็นจำนวนมาก แล้วครูบาอาจารย์ก็มักจะสอนให้วิธีไปด้วยนะครับ ก็เลยมีความรู้สึกว่า ระหว่างที่สอน ลมหายใจก็ต้องกำหนด หูก็ต้องฟังสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน ก็เลยทำให้กังวลขึ้นมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือถ้าหากว่าเป็นชั่วโมงของการปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นชั่วโมงการบรรยายธรรมนะคะ ทีนี้ก็จะมีการพูดอย่างนั้นเรียกว่าเป็นการพูดนำกรรมฐาน หรือบางทีเขาเรียกว่าบอกบทกรรมฐาน ซึ่งผู้ปฏิบัติใหม่ๆ นี่ บางคนที่สามารถจะตั้งใจปฏิบัติได้เร็ว ก็ทำไปได้เลยก็มี ถ้าหากว่าสามารถทำไปได้อย่างนี้ ไม่ต้องมาสนใจ ไม่ต้องมาสนใจกับคำที่เขาเรียกว่าบอกบทกรรมฐาน บอกบทกรรมฐานก็คือการที่จะช่วยเรียกจิต เรียกความตั้งใจ เรียกสมาธิ ของผู้ที่มักจะปล่อยสมาธิให้มันกระจายไปกับความคิด ความรู้สึก แล้วจิตก็ไม่สามารถอยู่กับลมหายใจ นี่ก็เรารู้ว่าผู้ปฏิบัติควบคุมตัวเองไม่ได้ ผู้สอนผู้อบรมก็จะช่วยด้วยการพูด เพื่อที่จะให้เกิดสติแล้วก็ เหมือนอย่างเช่นว่าให้ระลึกถึงอนิจจังว่า ทุกอย่างที่ผ่านมาเป็นอะไรให้เกิดจิตใจเศร้าสลด สลดแล้วก็สนใจในเรื่องของธรรมะ จิตก็จะได้สงบ กลับมาอยู่กับลมหายใจ เพราะฉะนั้นการพูดอย่างนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ปฏิบัติไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่ผู้ใดที่ควบคุมได้แล้ว ก็ไม่ต้องสนใจ ก็คงกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ: อีกท่านหนึ่งนะครับ ถามบอกว่า ระหว่างที่กำลังฝึกนี่นะครับ รู้สึกว่ามันปวดศีรษะอะไรต่างๆ จะแก้ยังไง คือเครียด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ ถ้าสมมติว่าก่อนนั้นไม่ได้ปวดหรือว่า ไม่ใช่เป็นคนเป็นโรคปวดศีรษะอยู่เป็นประจำ แล้วพอนั่งสมาธิเข้าแล้วก็มีอาการปวดศีรษะ อย่างนี้ก็บอกได้ทีเดียวว่า เป็นเพราะว่ามีความตั้งใจมากเกินไป ตั้งใจเอาจริงเอาจังมากเกินไป จนกระทั่งบังคับขู่เข็ญตัวเอง ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ อันนี้จึงมักจะแนะนำผู้ปฏิบัติเสมอว่า พอเริ่มจะนั่งสมาธิแล้วก็ ต้องลืมตัวเสีย คือตัวอัตตานี่ อย่าเอาอัตตาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าเอาตัวฉันเข้ามาเกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ให้มีแต่การกระทำ ถ้ามีแต่การกระทำแล้วละก็ มันไม่ต้องมาพะวงกับตัวเอง ว่าฉันทำได้ไหม ฉันทำได้ไหม เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่ว่าฉันจะต้องทำให้ได้ ซึ่งมันมักจะมีติดตัวมากับคนทำงานกันทั้งนั้นเลย เพราะคนที่เคยมีความสำเร็จในการทำงาน แล้วก็งานที่ทำมาก็รู้สึกว่าอย่างยาก เราคิดว่า อุ๊ย เราทำงานยากเย็น แค่มานั่งหลับตา
ผู้ดำเนินรายการ: แค่ลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ มานั่งหลับตาอยู่กับลมหายใจแค่นี้ มันหมูๆ สำหรับเรา พอมาลองทำก็รู้ว่า มันไม่หมู มันไม่กล้วย มันลำบากใช่ไหมคะ ทีนี้ก็พยายามจะสู้สิ กลัวจะเป็นคนล้มเหลว เดี๋ยวจะเสียศักดิ์ศรี ต้องให้ได้ ต้องให้ได้ นี่แหละความที่บอกว่า ฉันต้องทำให้ได้ ฉันต้องทำให้ได้ ในขณะนั้นจิตไม่ได้อยู่กับลมหายใจ แต่อยู่กับความวิตกกังวล และความยึดมั่นว่าฉันจะทำให้ได้ แต่เจ้าตัวคิดว่ากำลังอยู่กับลมหายใจ นี่แหละคืออาการที่มันทำให้เกิดความเครียด เพราะไปข่มขู่บังคับตัวเอง จนกระทั่งการปฏิบัตินั้นไม่เป็นธรรมชาติ
คำแนะนำก็คือว่า ลืมเสีย อย่าไปนึกว่า ฉันจะต้องทำให้ได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า อย่าเอาความหวังเข้ามาปนในการปฏิบัติธรรม ซึ่งแม้แต่ในการทำงาน ถ้าเราหวัง เราก็มักจะผิดหวังใช่ไหมคะ แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น แม้แต่มานั่งทำสมาธิ เรารู้ว่าวิธีทำที่ถูกต้องเป็นยังไง ทำ โดยไม่ต้องหวังว่าต้องสงบ ต้องสงบ ถ้าหวังต้องสงบ จิตมันกระจายไปอยู่กับความหวัง เพราะฉะนั้น ก็แก้ด้วยการลืมตัวเสีย ในภาษาธรรม อย่าเอาตัวฉันเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้มีแต่การกระทำ แล้วก็...
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าไม่จดจ่อมันก็ไม่ได้อีก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ จดจ่อ แต่จดจ่ออย่างเป็นธรรมชาติ อย่าไปจดจ่ออย่างข่มขี่บังคับ จดจ่ออย่างชนิดที่เรารู้แล้วว่านี่ถูกต้อง เราก็ทำ ทำตามที่ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการ: ทำอย่างสบาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ อย่างสบายๆ
ผู้ดำเนินรายการ: เล่นกับลมหายใจอย่างสบายๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วความเครียด ความปวดเมื่อย หรืออะไรทั้งหลายก็จะหายไป
ผู้ดำเนินรายการ: แต่ถ้าจิตมันยังกระจายละครับ ก็ไม่เป็นไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ แน่นอน ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ไม่กระจาย แต่ถ้าหากว่าทำไม่ได้ มันก็กระจาย แล้วมันก็จะนึก โอย ฉันเครียด ฉันปวด มันทรมานสารพัด เลยเตลิดเปิดเปิงไปกับการปรุงแต่ง ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแล้ว เราอาจจะพูดกันต่อไปอีกก็ได้ในคราวหน้า ถ้าสนใจ
ผู้ดำเนินรายการ: การกำหนดลมหายใจในทุกอิริยาบถ เราจะใช้กำหนดลมหายใจขั้นที่สี่เลยได้หรือไม่ ถ้าหากว่าเรามีความชำนาญแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าชำนาญแล้วทำได้ค่ะ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้การฝึกสมาธิภาวนา เพียงทำให้ใจสงบมีสมาธิตามสมควร ไม่ได้ตั้งใจว่าจะปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุถึงที่สุดนะคะ เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการลำบากเกินไป ก็เริ่มต้นได้ที่ขั้นที่สี่ แต่อย่างน้อยถ้าหากว่าจะเริ่มตามลมหายใจยาวสักหน่อย สั้นสักหน่อย สักประเดี๋ยวๆๆ
ผู้ดำเนินรายการ: เป็นการเอ็กเซอร์ไซส์เบื้องต้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เรียกว่า วอร์มอัพ สักหน่อยหนึ่งแล้วก็ไปจดจ่อคอยอยู่ที่ช่องจมูก ให้จิตสงบแล้วจากนั้น ก็พิจารณาในเรื่องของอนิจจังที่เกิดขึ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มต้นตั้งแต่พิจารณาลมหายใจ เวทนา จิต แล้วก็เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ อันเดียวกันนะครับ ผู้ถามเขายังไม่วายที่จะกังวลต่อ บอกว่า ขณะที่กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าบังเอิญว่าเกิดช็อคหรือว่าเกิดอุบัติเหตุในเวลานั้น แล้วก็ตายไป ถามว่าเขาจะไปสู่สุคติหรือไม่ อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ในขณะที่กำลังปฏิบัติสมาธิอยู่นั้น จิตใจนั้นอยู่ในสมาธิจริงหรือเปล่า คือจิตสามารถอยู่กับลมหายใจนี่อย่างตลอดแล้วก็ นิ่งสงบ เยือกเย็นผ่องใสหรือเปล่า ถ้าสมมติว่าเยือกเย็นผ่องใส แล้วก็เผอิญลมหายใจมันหยุดไป หรือนั่งรถไป รถมันเกิดอุบัติเหตุ มันจิตมันก็กำลังมีแต่ความสงบเยือกเย็นผ่องใส ก็ไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าหากว่าในขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ แล้วเราคิดว่าเราสงบ แล้วก็เราก็อยู่กับลมหายใจ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราคิดเอาว่ามันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้นมันคงจะวุ่นวาย แล้วก็นึกเอา นึกเอาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จิตมันก็คงไม่ได้สงบจริง ถ้าหากว่าหยุดหายใจไป ในสภาวะของจิตเช่นใด มันก็เป็นอย่างนั้น ตามเหตุปัจจัย
ผู้ดำเนินรายการ: ขออนุญาตไปเป็นเรื่องอื่น พอท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องนี้ มีผู้ถามอีกข้อหนึ่งถามว่า จิตที่ไม่ปรุงแต่งเป็นจิตประภัสสรเช่นนั้น เด็กเกิดใหม่เป็นจิตประภัสสรด้วยหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือท่านก็บอกว่า จิตเดิมแท้คือจิตของทารกที่เกิดมานี่นะคะ ถือว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นความบริสุทธิ์นั้นนี่ ยังไม่ได้พัฒนา ถ้ามันสุดแล้วแต่ว่า จิตนั้นนี่จะได้รับการพัฒนาหรือไม่ ก็อาจจะเปรียบเหมือนกับว่าเพชรนี่นะคะ เหมือนกับเป็นเพชร จิตนั้นเป็นเพชร แต่ว่าเป็นก้อนเพชรอย่างนั้น เป็นก้อนเพชรที่...
ผู้ดำเนินรายการ: ยังไม่ได้เจียระไน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ยังไม่ได้เจียระไน เพราะฉะนั้น ก็เรียกว่าเป็นเพชร ดีใช้ได้นะคะ แต่ทีนี้เพชรอันนี้นี่ ถ้าสมมติว่าเราเอาไปตกอยู่ในโคลนในตม มันก็หมองมัว มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็กลายเป็นคนที่ไม่เห็น ไม่เห็นประโยชน์ มันก็เลยไม่รู้เรื่อง ก็เลยใช้เพชรอันนั้นไปในทางที่ผิด ตีราคาถูกไป แต่ถ้าหากว่าก้อนเพชรนั้นได้รับการเจียระไน มันก็จะกลายเป็นเพชรที่มีราคา เช่นเดียวกับจิตเดิมแท้ที่ของทารกในครั้งแรก เป็นจิตที่บริสุทธิ์ แต่ถ้าสิ่งแวดล้อม คำสั่งสอนอบรมที่ได้รับจากพ่อแม่ผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์อะไรเหล่านี้เป็นต้นนี่ มันไม่แนะนำ เสริม เสริมสร้างในทางที่จะให้พัฒนาขัดเกลาจิต ให้พ้นจากความโลภโกรธหลง หรือว่าตัณหาอุปาทานที่เราพูดกัน จิตเดิมแท้ที่มันบริสุทธิ์ มันก็จะเริ่มหมองมัว แทนที่ความถูกต้องจะเข้าครอบงำ มันจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันจะเห็นอะไร มันจะคิดผิด เห็นผิด พูดผิด ทำผิดไปเลย เพราะฉะนั้นความบริสุทธิ์แต่เริ่มแรก มันก็กลายเป็นความไม่บริสุทธิ์ คือเป็นความสกปรกมัวหมองไปได้เลย แต่ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมดีงาม ผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ล้วนแล้วแต่ได้พูดจาสั่งสอนในสิ่งที่ถูกต้อง ได้พัฒนาจิตขัดเกลา สิ่งที่จะเป็นปัญหาอุปสรรคของชีวิต เช่น อย่าโลภนัก อย่าโกรธนัก อย่าหลงนัก แต่มีวิธีพูดที่จะให้เด็กเข้าใจได้โดยง่าย อย่างนี้ก็เรียกว่า เพชร จิตที่บริสุทธิ์นั้นนะ มันก็มีโอกาสที่จะใสสะอาดเกลี้ยงเกลา แล้วก็บริสุทธิ์ถึงที่ได้ในที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ: พ่อแม่นี่สำคัญนะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ แน่นอน เริ่มต้นด้วยพ่อแม่ จากนั้นก็ครูบาอาจารย์ แล้วก็สิ่งแวดล้อม เพราะนั้นถ้าหากว่าทุกอย่าง เหตุปัจจัยทุกอย่างประกอบกัน เราไม่ต้องสงสัย จิตที่บริสุทธิ์ของทารกที่เกิดมาแต่ทีแรกนี่ ย่อมจะมีโอกาสบริสุทธิ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าจิตที่ดีงามอยู่แล้ว ย่อมจะงดงาม แล้วก็ส่องแสงเปล่งประกายแวววาว เป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้แน่นอน