แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : วันนี้เราจะไปถามท่านอาจารย์คุณรัญจวน 108 ปัญหาของวิธีการฝึกสมาธิโดยอานาปานสตินะครับ ถึงเรื่องของลมหายใจเข้าออกที่ปรากฎว่าไม่ลึกถึงช่องท้องนี้ทำอย่างไร นั่งสมาธิไปแล้วปวดเมื่อยนี้จะทำอย่างไรกันดี แล้วก็ปัญหาจิปาถะเกี่ยวกับเรื่องของการนั่งสมาธิกับท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่ว่าจะกำหนดลมหายใจที่จะให้มันลงถึงช่องท้อง ก็ต้องค่อย ๆ ฝึกปฏิบัติแต่ครั้งแรกที่เรียกว่าตามลมหายใจยาวอย่างที่ว่านี่นะคะ แล้วก็ให้สังเกตว่า ระยะของความยาวของลมหายใจยาวของเราแค่ไหน บางคนลมหายใจยาวอาจจะอยู่แค่นี้ เราก็ค่อย ๆ ผ่อนให้มันยาวลงไปทีละน้อย ครั้งแรกมันแค่นี้ ที่คนลมหายใจยาวแล้วก็หยุดแค่นี้ ให้สังเกตเลยว่า มักจะเป็นคนขี้วิตก ขี้กังวล
ผู้ดำเนินรายการ : ขี้โรคด้วยไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขี้โรคถ้าเป็นโรคหอบโรคหืดนั้นอาจจะเป็นได้ แต่ว่าบางทีไม่ได้เป็นหอบหืด แต่ความวิตก ความกังวล ความเครียดต่าง ๆ เหล่านี้ มันทำให้ลมหายใจติดขัด เพราะว่ามันไม่เป็นธรรมชาติ ร่างกายภายในมันไม่สามารถจะเป็นไปตามธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นการมาฝึกสมาธิภาวนาก็จะทำให้ความเครียดอย่างนี้ค่อยยังชั่วไป ความวิตกกังวลค่อย ๆ หายไป แล้วถ้าสามารถรวบรวมจิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกได้ มันผ่อนคลาย ลมหายใจปรุงแต่งกาย มันผ่อนคลาย มันสบาย เพราะฉะนั้นเราค่อย ๆ ผ่อนให้มันยาว คือ ขยายลมหายใจให้มันยาวไปทีละน้อย ทีแรกแค่นี้ ยาวไปแค่นี้ แล้วเราก็กำหนดตามมันไป พอมันหยุด เราก็หยุด แล้วก็ตามออก เสร็จแล้วก็ลองขยายให้มันยาวไปอีก ทำได้ไหม เพราะฉะนั้นวิธี คือ ทีละน้อย ละน้อย ละน้อย ถ้าสามารถควบคุมจิตอยู่กับลมหายใจแล้วก็ใจสงบได้ มันจะค่อยๆ ออกไปเอง จนกระทั่งลึกยิ่งกว่าช่องท้องเราก็ทำได้ อย่างที่เขาว่าถึงสะดืออะไรอย่างนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วถ้าทำให้อยู่อย่างนั้นนานๆ ล่ะครับ ทำอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ให้อยู่อย่างนั้นนานๆ น่ะหรือ
ผู้ดำเนินรายการ : หมายถึงทำสมาธิให้อยู่อย่างนั้นได้นานๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่งสมาธิอยู่ได้นานๆ ใช่ไหมคะ ถ้าจิตสงบแล้วก็อยู่เป็นชั่วโมงๆ ก็ได้ ที่มันไม่ได้นานเพราะมันไม่สงบ อย่างนั้นไม่ได้อยู่กับลมหายใจ ประเดี๋ยวประด๋าวมันก็นึกเบื่อเมื่อไหร่จะหมดเวลา เมื่อไหร่จะหมดเวลา
ผู้ดำเนินรายการ : หลายคนก็รอระฆังเก๊ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าอยู่กับลมหายใจ มันไม่ได้อยู่ มันไปอยู่กับเวลา เมื่อไหร่จะหมดเวลา เมื่อไหร่จะหมดเวลา เลยเอาบริกรรมเมื่อไหร่จะหมดเวลามาเป็นคำบริกรรมตอนปฏิบัติ มันก็เลยไม่ใช่หนทาง
ผู้ดำเนินรายการ : บางที การนั่งนานๆ มันก็ปวดเมื่อย มันมีส่วนไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็มีส่วนค่ะมีส่วน ท่านจึงแนะนำให้นั่งขัดสมาธิ เธอนั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งขัดสมาธิร่างกายมันสมดุล ท่านบอกว่าเลือดลมจะเดินได้ทั่ว ดีกว่านั่งพับเพียบ ท่านว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเรานั่งได้อย่างร่างกายสมดุล แล้วความปวดเมื่อยมันก็มี แต่ว่ามีน้อย ที่นี้พอปวดเมื่อยเข้า ท่านก็จะว่า อ้าวเมื่อปวดเมื่อยก็อย่าไปสนใจกับความปวดเมื่อย อย่าไปสนใจกับความปวดเมื่อย รู้ว่ามันเป็นความปวดเมื่อย แต่มันเป็นสิ่งสักว่า
ผู้ดำเนินรายการ : ให้มันทรมานอยู่อย่างนั้นแหละ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ้าวเนี่ย ถ้าคิดว่าทรมานล่ะก็ ปวดจนจะหักและกำลังจะตายอยู่ตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าทรมาน แต่ว่าเรานึกแต่เพียงแต่ว่า เอาล่ะ เราลองมาฝึกปฏิบัติเพื่อที่จะข่มบังคับใจควบคุมจิตของเราให้มีวินัยทั้งกายทั้งใจ เพราะฉะนั้น พอรู้สึกปวดเมื่อย เราก็รับรู้ความปวดความเมื่อยถ้ามันมารบกวน และเสร็จแล้วเราก็ดึงจิตกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ มองเห็นความปวดเมื่อยเป็นเพียงสิ่งสักว่า ซึ่งมันเกิดตามเหตุปัจจัย เพราะตามธรรมดาเราไม่ได้มานั่งอยู่ในที่บังคับอย่างที่เรานั่งใช่ไหมคะ มีเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อเรามานั่งในที่บังคับแล้ว ยังบังคับใจให้อยู่กับลมหายใจมันก็เป็นไปได้ แต่เราอยากจะทดสอบดูซิว่า อย่างเราเนี่ย มีความอดทนอดกลั้นสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะดึงจิตกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ อย่าไปสนใจกับความปวดเมื่อย แล้วถ้าสามารถดึงจิตให้อยู่กับลมหายใจได้ตลอดเวลา จิตสงบเข้า สงบเข้า มันเยือกเย็นผ่องใส มันสบายอย่างบอกไม่ถูก เรียกว่าสบายอย่างบอกไม่ถูก มันไม่อยากสนใจกับอะไรที่มันเข้ามา
ผู้ดำเนินรายการ : มิน่าล่ะ คนนั่งที่รู้สึกสบายจึงนั่งไปเรื่อยไม่ค่อยอยากจะออกจากสมาธิ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ มันจะสบายมาก เพราะฉะนั้น ความปวดเมื่อยจะรบกวนไม่ได้ ถ้าในลักษณะอย่างนั้นแล้วล่ะก็ จะนั่งให้นานสักเท่าไหร่ก็นานได้ เท่าที่เวลาเรามี
ผู้ดำเนินรายการ : ขอย้อนไปข้อแรกนิดหนึ่งเมื่อกี้ที่บอกว่า ลมหายใจให้ลึกถึงช่องท้องนี่นะครับ ที่ท่านอาจารย์บอกว่ามันอาจจะติดขัดอะไรต่าง ๆ อย่างเช่น การดื่มน้ำชาร้อน ๆ จะเสริมได้ไหมครับ ทำให้ลมหายใจมันคล่องขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือได้ คือ หมายความว่า การดื่มน้ำถ้าหากว่าบางคนเวลาที่เขาปฏิบัติสมาธิและเกิดน้ำลายเหนียว น้ำลายเกิดเหนียวขึ้นมาบางทีกลืนน้ำลายไม่ได้ บางทีก็เหมือนกับช่องคอตีบ ซึ่งอาการทั้งหลายเหล่านี้ เกิดจากความเกร็ง เกร็งแล้วก็เครียด เพราะความหวังตั้งใจเกินไปว่า จะต้องทำให้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ผ่อนคลายและอาจจะดื่มน้ำช่วยให้มีความชุ่มชื่นสักอึกสองอึกก็ใช้ได้เหมือนกัน
ผู้ดำเนินรายการ : การกำหนดลมหายใจจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก ถ้าเราหายใจทางปากจะได้หรือเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็โดยธรรมชาติเราก็หายใจทางจมูก เราไม่ค่อยใช้ปากหายใจยกเว้นว่าเป็นหวัดคัดจมูกว่าหายใจทางจมูกไม่ได้ ทีนี้ถ้าหากว่าเราหายใจทางจมูกเป็นธรรมชาติอยู่แล้วน่าจะใช้ทางจมูกจะดีกว่า ยกเว้นเรามีอุปสรรคทางจมูกดังกล่าวแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ : อีกข้อหนึ่งนะครับ เวลาฝึกหัดตามลมหายใจไม่ทัน ต้องมีการกลั้นลมหายใจทำให้อึดอัด จะผ่อนคลายให้ถูกวิธีอย่างไร ท่านอาจารย์ไม่เคยสอนเรื่องกลั้นลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือถ้าหากว่าเราตามลมหายใจไม่ทันแล้วก็ต้องกลั้นลมหายใจ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ทำให้อึดอัด และจะต้องทำให้ผ่อนคลาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็คือที่จริงแล้วไม่ต้องกลั้นลมหายใจ คือโดยปกติผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ชำนาญพอ ลมหายใจเข้านี่รู้สึกว่าพอจะตามได้ แต่พอลมหายใจหยุดแล้วก็ออกนี่ตามไม่ทัน แล้วก็เลยมักจะรู้สึกว่าลมหายใจออกนี้มักจะสั้นกว่าลมหายใจเข้า แต่ความเป็นจริงมันเท่ากัน แต่เพราะเมื่อฝึกปฏิบัติใหม่สติไม่ทัน ไม่รวดเร็วพอ ก็เลยพอมันหยุดมันก็ปรู๊ดออก ตามไม่ทัน ที่นี้ก็บางทีก็อาจจะใช้ว่าต้องกำหนดสติจดจ่อมาก เลยพอลมหายใจเข้าไปเพราะรู้สึกว่าหยุด ก็กำหนดความรู้สึกว่าหยุดตรงนั้น พอหยุดตรงนั้นแล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจตามออกมา อย่างนี้ เราก็ไม่ต้องกลั้น แต่ถ้าหากเราจะกลั้น ก็เพียงให้รู้ว่า หยุด อ้อ มันหยุด แล้วเราก็ตามทันที ไม่ใช่ไปกลั้นอยู่ถ้า กลั้นนี่มันไม่ใช่วิธี ไม่ใช่วิธีของการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการ : แต่ว่าในระยะแรกนี้อาจจะฝึกโดยวิธีการกลั้นไปก่อนได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เรียกว่าการกลั้นแต่เป็นการฝึกหยุดให้รู้เอาไว้สักนิดหนึ่งว่า ให้รู้จุดที่หยุด ที่สุดของลมหายใจ ให้รู้ว่าหยุดแล้วก็รีบปล่อยตามทันที ให้ความรู้สึกตามออกมา
ผู้ดำเนินรายการ : นี่เป็นปัญหาของทุกคนใหม่ ๆ ใช่ไหมครับว่า ตามออกไม่ทันสักที
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ สติตามไม่ทัน โดยเฉพาะลมหายใจสั้น จะยิ่งรู้สึกว่าเหมือนมันเร็วมากเวลาออกเพราะมันสั้น
ผู้ดำเนินรายการ : จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้จิตสงบนิ่งจริง ๆ พยายามแล้วก็ยังทำไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ยังไม่ได้พยายาม ถ้าพยายามแล้วต้องทำได้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ยังไม่ได้พยายามจริง ๆ คือ ยังแพ้แก่ความคิด ยังแพ้แก่อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาครอบงำอยู่ เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถจะดึงจิตให้มารู้ ตามลมหายใจได้ทุกขณะ ขอให้พยายามต่อไป แล้วก็ท่าอริยาบถนั่งไม่สามารถตามลมหายใจได้ ก็เปลี่ยนเป็นอิริยาบถยืน จากยืนก็เป็นเดิน
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วเดินจงกรมได้ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ได้ค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : แนะสั้น ๆ นิดหนึ่งครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือเราก็เปลี่ยนจากการนั่งเป็นยืนเสียก่อน ยืนรู้ลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตสงบ แล้วเราก็ก้าวเท้าเดินโดยให้จิตอยู่กับลมหายใจ
ผู้ดำเนินรายการ : อีกข้อหนึ่งนะครับ ถามว่า คือ ชินในอุบายที่ทำให้พิจารณาแล้วเกิดความหน่ายคลายจางในการรักชอบสิ่งสวยงาม การพิจารณาโดยใช้ซากศพจะไม่เหมาะสำหรับสตรีเพศที่จิตไม่แข็งพอหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนี้ก็เจ้าตัวต้องรู้เอง คนอื่นตอบได้ยาก แต่ว่าในการที่จะพิจารณาซากศพนี้ ถ้าผู้ใดสามารถบังคับใจให้มองดูซากศพ คือใคร่ครวญพิจารณาในซากศพ ด้วยการใช้กฎไตรลักษณ์เข้ามาทุกขณะที่หายใจเข้าและออก ถ้าสามารถทำได้ มันก็น่าจะเห็นได้เร็ว แต่ก็ตัวเราเองนี้ ถ้าจะว่าไปเราก็คือซากศพที่เดินได้ พร้อมไปสู่ความตายทุกขณะ มีความเปลี่ยนแปลงทุกขณะ ถ้าคิดว่าใจไม่แข็งพอที่จะไปดูซากศพตามป่าช้า หรืออุบัติเหตุร้าย ๆ ที่พบตามถนน เราก็ดูซากศพของเรานี้แหละทุกวัน ๆ ๆ ทีละน้อย ๆ มันก็เป็นอุบาย ที่จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายจางคลายในการที่จะยึดมั่นในความที่จะเป็นตัวฉัน แล้วก็จะเอาโน่น เอานี่ให้ได้อย่างใจฉัน มันก็ลดลง ๆ เอง
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ เชื่อว่าคำแนะนำของท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง คงจะช่วยให้ท่านฝึกสมาธิโดยวิธีอานาปานสติได้ดียิ่งขึ้นนะครับ