แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: การทำอานาปานสติโดยไม่กำหนดลมหายใจใช้วิธีอื่นได้หรือเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าจะเรียกว่าอานาปานสติก็จะต้องใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด แต่ถ้าหากว่าจะใช้วิธีอื่น ก็เป็นการปฏิบัติสมาธิภาวนาเหมือนกัน จะเป็นวิธีไหนก็สุดแท้แต่เหมาะกับอัธยาศัย ที่เมื่อปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบได้ เป็นสมาธิได้
ผู้ดำเนินรายการ: อานาปานสติจะสอนเด็กได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตั้งแต่เด็กเริ่มรู้ภาษา เริ่มรู้ภาษาที่พูดกันรู้เรื่องให้เล่นอยู่กับลมหายใจ
ผู้ดำเนินรายการ: สี่ห้าขวบนี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้ เด็กอนุบาลนี่ก็ได้ เด็กอนุบาลก็สอนได้แล้ว เพราะว่าเราตั้งแต่เกิดเราก็เริ่มหายใจแล้วใช่ไหมคะ ทีนี้ก็อาจจะเริ่มคำถามง่ายๆ อย่างที่เคยพูดว่า หนูกำลังหายใจเข้าหรือออกนี่ ถ้าเราถามเท่านี้ เด็กจะต้องรู้สึกงง เอ๊ะ ก็หนูกำลังหายใจอยู่นี่ จริง หนูหายใจอยู่ เพราะงั้นหนูถึงยังไม่ตาย หนูถึงยังเคลื่อนไหวได้ แต่หนูรู้ไหมว่า เดี๋ยวนี้หนูกำลังหายใจเข้าอยู่ ขณะนี้ อึดใจนี้ กำลังหายใจเข้าหรือกำลังหายใจออก นี่จะทำให้เด็กหยุดคิดละ หยุดคิดว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังหายใจเข้าหรือเรากำลังหายใจออก ทีนี้เด็กบางคนก็อาจจะถามต่อไป หนูไม่รู้ แล้วทำไมถึงต้องรู้ล่ะ ทำไมถึงต้องรู้ด้วยว่าหายใจเข้าเมื่อไหร่ หายใจออกเมื่อไหร่ ก็กำลังหายใจอยู่นี่แหละ ทำไมถึงต้องรู้ด้วยล่ะ
ก็บอกว่าถ้าหนูรู้สักนิดนึงนี่มันจะดีขึ้นอีกไหม อย่างน้อยๆ ก็เท่ากับว่า เราฉลาดที่เราจะรู้เท่าทันลมหายใจ ว่านี่กำลังหายใจเข้านะ กำลังหายใจออกนะ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ เราก็ ลมหายใจมันเข้าทางไหนล่ะ ครั้งแรกมันก็ผ่านเข้าช่องจมูก เพราะฉะนั้นตรงช่องจมูกก็เปรียบเหมือนกับประตู แล้วก็เรานี่ก็เปรียบเหมือนกับเป็นเจ้าของบ้าน ใจนี่เปรียบเหมือนกับเจ้าของบ้าน พอแขกจะมานี่ เจ้าของบ้านก็ต้องมาคอยอยู่ตรงแถวประตูใช่ไหม เพื่อต้อนรับแขก เพราะเราเชิญแขกมาบ้าน เพราะฉะนั้นพอแขกเข้าบ้าน เราก็ต้องจูงแขกไปเรื่อย แขกจะไปที่ตรงไหน อยากจะหยุดดูอะไร เราก็หยุดด้วย แล้วเสร็จแล้วพอแขกจะกลับเราก็ต้องพาแขกออก นี่เราก็บอกเด็กไปนี่ มันเหมือนอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ: เป็นอุบายที่ดีนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ เป็นอุบาย แล้วเราก็บอกเด็ก หนูลองทำดูสิ เพราะฉะนั้นลองเอาความรู้สึกของเรามาคอยอยู่ตรงประตู ตรงช่องประตู ตรงช่องจมูก ตรงไหนก็ได้ แถวนี้ แล้วพอลมหายใจมันผ่านเข้า หนูจะรู้ได้ยังไงว่าลมหายใจผ่านเข้า ลมหายใจมันไม่มีรูปร่าง แต่มันมีความเคลื่อนไหว มันมีอาการกระเทือนเวลาที่มันเข้า แล้วหนูจะเห็นได้ชัดเลย ก็ลองหายใจแรงๆ สิคะ หายใจแรงๆ เป็นอย่างไร จับได้ไหมว่าลมหายใจมันกระทบตรงไหน นี่ก็ฝึกเด็กอย่างนี้ แล้วก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทีละน้อย ละน้อย เด็กก็จะค่อยรู้สึกว่า อ๋อ ตอนนี้หนูรู้แล้ว นี่กำลังเข้า กำลังเข้า เอ้า กำลังออก กำลังออก เล่นกันอย่างนี้ก็จะสนุก และในขณะนั้นนี่ จิตของเด็กก็ไม่วิ่งไปเที่ยวคิดโน่นคิดนี่ อยากจะทะเลาะกับเพื่อน อยากจะเล่นแกล้งหรือเกะกะเกเรก็จะไม่ แต่จะสนุกกับเรื่องของการดูลม ของการรู้ลมหายใจ
แล้วเราก็จะถามว่าเป็นยังไง สมมุติว่าอยู่กับลมหายใจไปได้สัก 3 นาทีนะคะ เป็นยังไงระหว่าง 3 นาทีนี่ จิตใจหนูเป็นยังไง อยู่ที่ไหน รู้ไหม เด็กก็ต้องบอก รู้ค่ะ มันไม่ไปไหน มันอยู่กับลมหายใจนี่ แล้วมีอะไรวุ่นๆ เข้ามาไหม มันก็ไม่มีอะไรวุ่นๆ รู้สึกรักใครบ้างไหม ตอนนั้นน่ะ รู้สึกเกลียดใครบ้างไหมตอนนั้น มันก็ไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ เพราะจิตมันรู้อยู่แต่กับลมหายใจอย่างเดียว เพราะฉะนั้นนี่ก็ เป็นการฝึกให้เด็กมีสติ แล้วก็มีสมาธิโดยไม่รู้ตัว โดยเราไม่ต้องไปพูดกับเด็กว่า นี่เรากำลังฝึกสมาธินะ นี่เรากำลังฝึกสตินะ มันยากเกินไป แล้วก็ แต่เด็กจะรู้สึกเหมือนกับว่า อ๋อ นี่เป็นวิธีธรรมชาติ เราหายใจนี่เป็นวิธีธรรมชาติแล้ว แต่ถ้าเรา รู้เรื่องของลมหายใจอีกสักหน่อยนึงว่า นี่กำลังเข้า นี่กำลังออก มันสนุกยิ่งขึ้น แล้วก็พอต่อมานี่ เราจะค่อยๆ บังคับลม หายใจได้ด้วย ทีนี้หนูลองบังคับสิ ลองบังคับลมหายใจ หายใจยาวนะ บังคับให้มันยาว ก็ลองให้เขาลมหายใจยาว แล้วก็อาจจะถาม ไหนของใครยาวแค่ไหน เอ้า ถ้ายาวตรงแค่นี้ ดีแล้ว เอ้า ไหนลองยาวอีกหน่อยได้ไหม นี่ก็เป็นการฝึกลมหายใจยาว แล้วจากนั้นก็ เป็นยังไง หายใจยาวอย่างนี้สบายดีไหม อย่างนี้สบายหรือเปล่า อย่างนั้นไม่สบาย นี่ เรียนโดยอัตโนมัติธรรมชาติ
ผู้ดำเนินรายการ: อยากฝากครูอนุบาลไปสอนนักเรียนด้วย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็สอนได้ทุกคน แล้วก็ไม่ต้องครูอนุบาลหรอก คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านก็ได้ อยู่กับลูกที่บ้านนั่นแหละ สอนได้แล้ว สอนเวลาจะนอนก็ได้ เวลาก่อนจะนอน เอ้า เรามาเล่นกับลมหายใจก่อนนะ ก่อนนอน นี่ก็คือการฝึก ฝึกสติ ฝึกสติ ฝึกสมาธิ แล้วต่อไปเด็กก็จะค่อยๆรู้จักควบคุมลมหายใจ แล้วก็ใช้ลมหายใจให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต
ผู้ดำเนินรายการ: ผู้ที่สามารถละวางได้โดยไม่ต้องฝึกนั่งสมาธิมีหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ หมายความว่า
ผู้ดำเนินรายการ: นิโรธ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นิโรธนั้นคือความดับ คำถามอันนี้อาจจะไม่ชัดเจน นิโรธคือความดับ แล้วก็ดับในที่นี้ก็หมายความว่า ดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง คือความยึดมั่นถือมั่นที่เคยมีอยู่ในจิตตั้งแต่ยึดมั่นถือมั่นเล็กๆ น้อยๆ จนถึงยึดมั่นถือมั่นที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน เป็นอัตตา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเมื่อใดถึงนิโรธก็คือความยึดมั่นที่เป็นอุปาทานทั้งหลายดับหมดสิ้นเชิง ไม่เหลือเลย จิตว่าง นี่เป็นการปฏิบัติในหมวดที่สี่ของอานาปานสติ ที่ถึงนิโรธขั้นที่ 15 เป็นนิโรธ ทีนี้ถ้าหากว่าเมื่อจิตถึงซึ่งนิโรธ คือดับเสียได้ซึ่งความโลภโกรธหลง ความอยาก แล้วก็ความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง จิตนั้นย่อมมีแต่ความว่าง สุญญตา เมื่อมันว่างอย่างนี้ ความละวาง มันก็มีอยู่เองโดยอัตโนมัติ ละวางก็คือ อะไรผ่านมา จะถูกใจ ไม่ถูกใจ ไม่ยึด ไม่เอา เพราะเห็นเสียแล้วเป็นเช่นนั้นเอง ไม่รู้จะไปเอาเรื่องกับมันทำไมให้ใจเราเป็นทุกข์ เราก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามเพียงสิ่งสักว่า แต่มิได้หมายความว่างอมืองอเท้านะ อันนี้ต้องย้ำ เราไม่ใช่งอมืองอเท้า แล้วก็ปล่อยให้มันเกิดไปตามบุญตามกรรม มันจะเป็นอะไร จะดี จะชั่ว ช่างหัวมัน ไม่ใช่อย่างนั้น อะไรที่ควรจะต้องแก้ไข ก็แก้ไขด้วยสติปัญญา ด้วยความเมตตากรุณา ไม่ใช่ด้วยโทสะ ไม่ใช่ด้วยความโกรธ
ผู้ดำเนินรายการ: ที่ถามนี่อยากจะรู้ว่ามีไหมคนที่ดับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ อยู่เฉยๆ ก็ดับขึ้นมาได้หรือคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ไม่ต้องฝึกสมาธิ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้องฝึกเลย ถ้ายังงั้นก็ดับกันได้หมดทั้งโลก เพราะว่าอยู่ดีๆ ถ้านึกว่าจะดับ แล้วมันก็ดับได้ง่าย คงยังไม่เคยได้ยินนะคะ มันจะต้องมีการฝึกปฏิบัติในจิต อย่างน้อยถ้าหากว่าจะถามว่าจะดับได้เร็วหรือดับได้ช้าอย่างนี้ก็พอฟัง เพราะว่า ขึ้นอยู่กับว่า ต้นทุนของการปฏิบัติ ถ้าผู้ใดมีต้นทุนของการปฏิบัติมากก็อาจจะดับ ดับความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงได้เร็ว แต่ถ้าหากผู้ใดที่มีการปฏิบัติน้อย กระพร่องกระแพร่ง ครึ่งๆ กลางๆ ทำบ้างไม่ทำบ้าง กว่าจะดับได้จนตายก็ไม่แน่ว่าจะดับได้ เพราะฉะนั้น อันนี้มันจึงขึ้นอยู่กับผลของการปฏิบัติ แต่จู่ๆ จะดับโดยที่ไม่มีการปฏิบัติเลย ยังไม่เคยได้ยิน ก็นึกถึงอย่างเราจะดับไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม วัตถุง่ายๆ มันยังต้องหาอะไรดับ หรือเราจะปล่อยให้มันดับไปเอง มอดไปเอง ก็ต้องใช้เวลา ที่จะปุ๊บเดียวนี่ยังไม่มี
ผู้ดำเนินรายการ: แหม นึกว่าฟังครูบาอาจารย์อธิบายปั๊บ มีความรู้สึก สมาธิถึงปั๊บ ดับปุ๊บไปเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เหมือนอย่างในสมัยพุทธกาล
ผู้ดำเนินรายการ: อะไรอย่างนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนั้นก็เป็นเพราะว่าท่านฝึกปฏิบัติของท่านมาแล้ว พอได้ฟังธรรมที่ แหม มันจับเข้ามาที่ใจ มันถูกใจ มันชำระ มันพร้อมที่จะสะอาด พอมีน้ำบริสุทธิ์มาล้าง มันก็สะอาดได้เลย
ผู้ดำเนินรายการ: ยุคนี้คงยากเพราะมลพิษมันเยอะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ มลพิษมันมาก เราถึงต้องฝึกสมาธิเพื่อขับล้างมลพิษ
ผู้ดำเนินรายการ: อีกสักข้อหนึ่ง มีผู้ถาม ถามว่า ช่วยอธิบายเปรียบเทียบคำว่า ทุกข์ ในอริยสัจ 4 มีความหมายเหมือนกันหรือไม่ หรือแตกต่างอย่างไรกับ ทุกขัง ในไตรลักษณ์ ที่เราเคยพูดกันบ้างแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ เราพูดกันแล้วแต่อธิบายสั้นๆ ว่า ทุกข์ ในอริยสัจ 4 หมายถึง เรื่องของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ เช่น เจ็บปวด ขมขื่น เศร้าหมอง รัก ชอบ ยินดี ไม่ยินดี นั่นเป็นทุกข์ในอริยสัจ 4 ที่ท่านบอกว่า ควรจะต้องกำหนดรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ ถ้ารู้เรื่องของความทุกข์แล้ว เราก็จะรอดพ้นจากการอยู่กับข้าศึก เพราะความทุกข์นี่คือข้าศึก ที่มันเสียดแทง มันกัดจิตใจให้เจ็บปวดขมขื่นอยู่เสมอ
ส่วน ทุกขัง นั้นอธิบายถึง สภาวะอันเกิดขึ้นอยู่เป็นธรรมดาของความที่เพราะมันเปลี่ยนแปลง อนิจจัง มันจึงแสดงถึงสภาวะของทุกขังเกิดขึ้น คือทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ มันจะต้องเปลี่ยนไป มันจะรักษาสภาพคงที่ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนไป นี่คือทุกขังแสดงสภาวะของความทนอยู่ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกเจ็บปวด ที่เกิดขึ้นในใจ อย่างที่เรามองก้อนหิน มองต้นไม้ มองตัวเราเอง ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างเล็บนี้ เราอยากจะให้มันสั้น ต้องตัดทุกวันๆ มันก็ทนสั้นอยู่ไม่ได้ มันจะต้องยาวออกไปตามธรรมชาติ ผมอยากจะให้มันดำอยู่ตลอดเวลา มันก็จะต้องขาว มันไม่สามารถจะทนในสภาพที่มันเป็นอย่างทีแรกให้คงที่อย่างนั้นได้เลย นี่คือสภาวะของทุกขัง
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมได้ฟังเรื่องราวของการตอบปัญหาธรรมะกับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กันแล้วนะครับ