แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาหนึ่งของการฝึกสมาธิก็คือ หลายคนอยากจะรู้ว่าฝึกไปฝึกมาจะไปถึงนิพพานหรือไม่นะครับ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของการนั่งสมาธิแล้วนี่จะสามารถแก้กรรมที่ไม่ดีของเราได้หรือไม่นะครับ ไปพบกับท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีกันเลยนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถึงได้ค่ะ เพราะว่าอย่างที่พูดแล้วว่า ถ้ารู้เรื่องของอานาปานสติอย่างถูกต้อง หมวดที่ ๑ ก็เริ่มด้วยการทำสมาธิใช่ไหมคะ ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ หมวด ๒ ก็เพิ่มปัญญาด้วยการศึกษาเรื่องของเวทนา จนกระทั่งเห็นความเป็นมายา ก็คือเห็นความเป็นอนิจจัง ความทนอยู่ไม่ได้ของมายา นี่จากสมาธิก็เพิ่มปัญญาขึ้นทีละน้อย แล้วก็ไปถึงเรื่องของจิต แล้วก็ทดสอบกำลังของจิต นี่ก็หมายความว่าเรามีทั้งสมาธิและก็มีทั้งปัญญา พอไปถึงหมวดที่ ๔ อย่างที่บอกแล้วว่าจะเป็นการปฏิบัติเพื่อพัฒนาปัญญา คือในทางด้านวิปัสสนาโดยตรง เพราะฉะนั้นโดยการปฏิบัติอานาปานสตินี้ก็จะเป็นไปโดยตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุดโดยไม่ต้องเปลี่ยน และก็ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องประกอบ คือเป็นเครื่องกำหนดในการปฏิบัติอย่างเดียว
ผู้ดำเนินรายการ : ถึงซึ่งนิพพานนี่ ก็ไม่ได้ว่าตาย ตายนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ้อ..นิพพานคือสภาวะของความเย็น ที่เต็มไปด้วยสุญญตาที่เกิดขึ้นในจิต
ผู้ดำเนินรายการ : อีกข้อหนึ่งนะครับ การนั่งสมาธิโดยการกำหนดลมหายใจ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะตั้งอยู่ในสมาธิได้เร็ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ตั้งใจ แต่ว่าอย่าข่มขู่บังคับ ตั้งใจแต่ว่าให้เป็นธรรมชาติ เบาๆ สบายๆ แล้วก็ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัตินั้นนี่ เรียกว่ากวาดอะไรที่มันหมักหมมอยู่ในใจนี่ออกไปเสียให้เกลี้ยง ความวิตก ความกังวล ความที่ไปยึดมั่นอยู่กับสัญญาในอดีต หรือความวิตกถึงในอนาคต อะไรที่มันจะมารบกวนจิตใจ กวาดออกไปให้เกลี้ยง ให้เป็นใจที่ว่าง และร่างกายของเรานี้ก็ให้พร้อม ไม่หิวไป ไม่เหนื่อยไป เสื้อผ้าให้มันหลวมสบายที่จะนั่งได้ และก็ไม่มีอะไรที่จะมารบกวนในสภาพแวดล้อมนั้น นี่ถ้าเราเริ่มเตรียมทั้งตัวเตรียมทั้งใจ เตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และก็อยู่ในความสำรวมแล้วก็ปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำ ไม่ช้าค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ผู้ถามก็คงจะมีอาการอย่างนี้ครับว่า นั่งสมาธิถึงระยะหนึ่งแล้วก็ปวดขาจนทนไม่ได้นะครับ ถามว่า กลัวเส้นเลือดจะตีบก็เลยรีบคลายสมาธิ ถามว่าผู้ที่นั่งสมาธิได้นานๆ เค้าทนกันได้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เพราะเขาไม่กลัว
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่กลัวเส้นเลือดตีบนี่นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ไม่กลัว เพราะเขารู้ว่าเรื่องของเส้นเลือดตีบนี่ไม่ใช่เพราะนั่งสมาธิ อาจจะเป็นเพราะว่ารับประทานอะไรๆ ที่เป็นของแสลง มันๆ ต่างๆ นั้น ที่จะทำให้เส้นเลือดตีบ เพราะฉะนั้นอย่ามากลัวเลยค่ะว่า เส้นเลือดจะตีบเพราะการนั่งสมาธิ
ผู้ดำเนินรายการ : ขณะนี้การนั่งสมาธิภาวนาเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากมักจะพูดต่อๆ กันว่าแก้กรรมได้ อยากทราบว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาสามารถแก้กรรมได้จริงหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ต้องรู้ไว้ก่อนว่า กรรมคือการกระทำ ใช่ไหมคะ ทีนี้กรรมคือการกระทำ แล้วก็การกระทำนี้จะมีผลในทางใด คือเป็นผลเป็นที่พอใจ ถูกใจ เกิดประโยชน์ ก็เพราะเหตุปัจจัยที่ได้กระทำมันถูกต้อง ตามกฎอิทัปปัจจยตา แต่ถ้าผลมันไม่ถูกต้อง มันทำให้มีปัญหาอยู่เรื่อย เป็นความทุกข์อยู่เรื่อย ก็เพราะได้ประกอบเหตุปัจจัยอย่างไม่ถูกต้อง เพราะความเห็นแก่ตัว ความนึกถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด แล้วจะเอาประโยชน์ของตัวเองมากกว่าส่วนรวม เพราะฉะนั้นกรรมนี่แหละคือการกระทำ ทีนี้คนที่พูดถึงเรื่องของกรรมนี่ก็มักจะนึกถึงว่า เพราะกรรมหมายถึงอะไรที่ไม่ดี อะไรที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง แล้วก็เราก็ไม่อยากแก้ไข ไม่อยากจะแก้ไข นี่ไม่พูดว่าแก้ไขไม่ได้นะครูพูดว่าไม่อยากจะแก้ไข ก็เลยโยนไปให้เรื่องของกรรม พอโยนไปให้เรื่องของกรรมแล้ว ตัวเหมือนก็สบาย หมดปัญหาลอยตัว ฉันรอตัวอยู่เหนือปัญหาแล้ว ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธ ชาวพุทธจะต้องรู้ว่าหรือพุทธศาสนิกชนควรจะต้องรู้ว่า กรรมคือการกระทำที่เป็นผลจากเหตุปัจจัยที่เราได้ประกอบเอง
ทีนี้มาถามว่า สมาธิภาวนานี่จะแก้กรรมได้หรือไม่ ก็แก้ได้จากกรรมคือการกระทำที่ชอบคิด ชอบวิตกชอบกังวล ชอบเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้จนจิตใจเป็นปัญหาไม่มีความสุขเลย การกระทำอย่างนั้นนี่ไม่ใช่การกระทำที่เกิดประโยชน์กับตัวเอง เราก็หันมาปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อจะทำจิตให้มีความสงบเยือกเย็น ผ่องใส เพราะฉะนั้นความวุ่นวายความสับสน ความวิตกกังวล ที่ทำให้จิตเป็นทุกข์จิตหนักเหน็ดเหนื่อยมันหายไป เพราะฉะนั้น กรรมของการกระทำที่ไม่ดีที่ทำให้จิตไม่สบาย ก็เปลี่ยนเป็นจิตที่สบาย เยือกเย็นผ่องใส แล้วก็ดูโลกด้วยความผ่องใส มีกำลังใจที่จะทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ : ที่จริงก็ดีนะครับ คนที่เศร้าหมองทั้งหลายมาฝึกสมาธิ จิตใจจะได้ผ่องใส
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ก็ได้ยินว่าอย่างนั้น ถ้าสามารถปฏิบัติธรรมได้จริงนะคะ
ผู้ดำเนินรายการ : การนั่งสมาธิกับการสะกดจิตตัวเองแตกต่างกันอย่างไร เมื่อปฏิบัติได้จริงสามารถรักษาโรคบางอย่างได้จริงหรือไม่ ผมเข้าใจว่าควรนั่งสมาธิมากกว่า นี่ตัวสะกดจิตนั่นไม่แน่ใจเหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จะถามว่าการนั่งสมาธิกับการสะกดจิตตัวเองเหมือนกันไหมนะคะ รู้สึกว่าการนั่งสมาธินี่เป็นการปฏิบัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าการสะกดจิตนี่ รู้สึกมีการข่มขู่บังคับว่าต้องอย่างนั้น ต้องเป็นคำสั่งว่าต้องอย่างนั้น ซึ่งรู้สึกว่าจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ แล้วก็เป็นคนละลักษณะของการทำสมาธิ นี่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องการสะกดจิตนะคะ แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า ผู้ใดที่อยากจะไปสะกดจิตใครนี่ ถ้าเขาได้เรียนมาอย่างถูกต้องในเรื่องของวิชาการในเรื่องการสะกดจิต ผู้นั้นก็คงจะต้องมีสมาธิคือต้องฝึกสมาธิเพื่อให้จิตนี้มีพลังพอสมควร แต่ทว่าถ้าเราพูดกันถึงสมาธิภาวนาของการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เราไม่มุ่งที่จะไปสะกด แต่เรามุ่งที่จะฝึกวินัยให้เกิดขึ้นแก่จิต เพื่อจะได้สามารถควบคุมจิตที่ชอบเที่ยวเถลไถลไปกับความคิดความรู้สึก อารมณ์ไม่ได้เรื่อง เพ้อเจ้อฟุ้งซ่านนี่ ให้เข้ามาอยู่ในร่องรอยที่ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเปล่าในชีวิต แล้วก็ใช้เวลาเหล่านั้นมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เสียจะดีกว่า
เพราะฉะนั้นการทำสมาธิอย่างนี้นี่ถ้าจะว่าจะแก้โรคได้ไหม ก็เท่าที่มองเห็นก็แก้โรคความเครียด คือความเครียดนี่มันแก้โรคได้แน่ เพราะว่าจิตใจที่มันวิตกกังวลมากๆ มันก็เต็มไปด้วยความเครียด พอเครียดมากๆ เข้าก็ทำให้เกิดเป็นโรคประสาท แล้วก็เป็นโรคจิต แล้วก็เป็นโรคอัมพาต เป็นโรคหัวใจ บางคนก็บอกเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็อีกหลายๆ โรคเลย เส้นโลหิตตีบก็อาจจะมาจากความเครียดนี่ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าการปฏิบัติสมาธิจะแก้โรคได้ไหม เมื่อใจสบายก็คือมันทำให้ใจสบาย พอใจสบาย โรคความเครียดหายไปให้อะไรๆ มันก็มีความสดชื่นมีความผ่องใสขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : เราต้องย้อนกลับไปที่ว่า เรื่องของลมเป็นเรื่องของกายของจิตมีสุขตลอดเวลาใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะใช่ค่ะ เพราะตามทางการแพทย์เขาก็บอกว่า ถ้าสมมุติว่าเวลาเครียดนี่ในร่างกายก็จะหลั่งสารอย่างหนึ่งที่เรียกเสียว่าสารทุกข์ละกัน มันจะทำให้ร่างกายทำให้เซลล์ในร่างกายไม่สามารถจะทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามธรรมชาติที่มันจะควรเป็น แต่พอเรามาฝึกสมาธิจิตใจผ่อนคลายมีความแจ่มใส มันก็จะหลั่งสารสุข ก็ทำให้ร่างกายมีความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าว่องไว เราก็พร้อมที่จะทำการงานให้มันเกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นการทำสมาธิก็เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมได้ฟังหลักธรรมะที่ดีกับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปแล้วนะครับ