แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : มีคนเล่าว่าการนั่งสมาธิถ้าไม่มีครูแล้วบางครั้งจะมีวิญญาณอื่นมาแทรก หรืออาจจะทำให้บ้าได้ ถามว่าจริงหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าจิตอยู่ในสมาธินะคะ ในขณะนั้นพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ สมมติว่าจะมีภาพอะไรผ่านมา สติมันก็มาทัน มันก็เป็นนิมิต สติก็มาทัน ก็จะพาปัญญามาบอกให้รู้ สิ่งนี้มันคืออนิจจัง ไม่ใช่ของเที่ยง มันเกิดแล้วก็ดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้เท่านั้นนะ มันกลัวเราแล้ว มันกลัวเรามันจะหายไปเลย แต่มันจะหลอกได้แก่ผู้ที่ไม่รู้ทัน คือสติไม่ทัน แล้วก็เกิดความกลัว ก็รู้ว่าอ้อไอ้นี่เราครอบได้ เพราะฉะนั้นที่จริงมันไม่ใช่มีอะไรหรอก แต่ใจของเรานี่เองมันก็มาเกิดกลัวเข้า แต่ความเป็นจริงพอเราเห็นแล้วว่า อ๋อนี่มันเกิดอะไรขึ้นมันก็เช่นนั้นเอง แล้วเราก็ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ เพราะฉะนั้นความเสียสติจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าได้รับคำสอนที่ถูกต้อง แล้วก็จะสามารถแก้ไขตัวเองได้ด้วย
ผู้ดำเนินรายการ : อย่างพูดถึงเรื่องนิมิต บางคนบอกว่าพอสมาธิดิ่งลึกลงไปแล้ว โหมันตกเหวลงไปเลยอย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกันใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อย่างนั้นก็เหมือนอย่างที่เขาเรียกว่าตกภวังค์ คือมันตกภวังค์ มันเข้าสู่ความเงียบขึ้นมาเฉยๆ มันนิ่งเฉยๆ แต่มันไม่เป็นไร แล้วก็เราก็ถ้าเรามีสติรู้อยู่ประเดี๋ยวมันก็จะขึ้นมา กลับขึ้นมา แล้วก็อยู่กับลมหายใจต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วประเภทอย่างที่ว่าตัวเองสูงเหมือนเปรตอะไรพวกนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นอาจจะเป็นจินตนาการที่มันเกิดขึ้นมามากกว่าละมั้ง
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่น่าจะเป็นนิมิตแล้วนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ไม่ใช่นิมิตแล้ว แล้วก็ในขณะนั้นจิตอาจจะไม่ได้อยู่ในสมาธิแล้วก็ได้ เพราะว่าจิตจะไปหยิบเอาสิ่งที่เคยรู้จักที่คุ้นเคยที่มันอยู่ในจิตใต้สำนึก แล้วก็เอามาคิดมานึกในระหว่างนั้น แล้วมันก็จินตนาการไปเป็นเรื่องเป็นราว ถ้ารู้ทันก็รีบดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจเปลี่ยนอิริยาบถซะ
ผู้ดำเนินรายการ : ก็มีผู้พูดว่าถ้ามีครูบาอาจารย์นั่งอยู่นี่ ครูบาอาจาย์จะมองเห็นเลยว่าจิตคนนี้เป็นยังไง จิตคนนั้นเป็นยังไง แล้วก็จะคุมให้เลย ถ้าเกิดนิมิตอะไรไม่ดี เพราะฉะนั้นเขาก็เลยถามมาอย่างนี้หรือเปล่าเป็นไปได้ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนี้ถ้าเราดูจากที่ได้เคยอ่านในพระพุทธประวัติ คือในประวัติของการปฏิบัติธรรม ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอน ท่านก็จะเรียกมา มานั่งฟังว่าการปฏิบัติทำสมาธิทำอย่างนี้อย่างนี้ หรือท่านแสดงธรรมเรื่องนั้นเรื่องนั้นให้ฟัง แล้วเสร็จแล้วท่านก็จะทรงถาม ใครเข้าใจไหม สงสัยอะไรต่ออะไรก็ซักถาม จนกระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้ง ท่านก็จะบอกว่าไป ไปหาที่นั่งเพื่อที่จะไปปฏิบัติใคร่ครวญธรรม ตามโคนไม้ ในถ้ำ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ท่านไม่เห็นปรากฏว่าท่านคุม มานั่งคุมว่าจะต้องมาสอบถามอารมณ์มันเป็นยังไงยังไง แต่เมื่อไปปฏิบัติแล้วมีปัญหา แล้วก็อยากจะทราบลายละเอียดในการแก้ไขปัญหาก็กลับมาทูลถามได้
เพราะฉะนั้นการที่จะว่ามีครูบาอาจารย์ท่านควบคุมว่า คนนี้จิตกำลังเป็นอย่างนี้ทำอย่างไร อันนี้ก็ต้องขอตอบว่าครูความรู้ไม่ถึง ความรู้ไม่ถึงที่จะอธิบายในสิ่งเหล่านั้น แต่มีความแน่ใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องนะคะ คำว่าถูกต้องนี่คือถูกวิธี ไม่หลงทาง และก็ลัดตัดตรงไปสู่การปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์เท่านั้น เพราะปัญหาในใจของมนุษย์นั่นก็คือความดับทุกข์ ฉะนั้นเพื่อความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าหากว่าเรามีอันนี้เป็นจุดมุ่งหมายอยู่แล้วล่ะก็ แล้วเราก็ฝึกปฏิบัติไป แล้วความหนักใจในเรื่องความทุกข์มันก็ผ่อนคลายไปเรื่อยๆ ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วเราก็รู้แล้วว่านี่เราทำถูก นี่คือถูกทาง เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ศึกษาเล่าเรียนถูกต้อง ฝึกปฏิบัติถูกต้อง มันก็สามารถจะช่วยตัวเองได้
ผู้ดำเนินรายการ : คำถามนี้ถามสั้นๆมาถามว่า การนั่งสมาธิแล้วให้ประโยชน์อะไรบ้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การนั่งสมาธิให้ประโยชน์อะไรบ้าง ก็จะช่วยทำจิตที่กระจัดกระจาย ซัดส่าย เพราะความวิตกกังวล เพราะความคิด เพราะอารมณ์ ความรู้สึก ถูกใจ ไม่ถูกใจ ซึ่งมันทำให้จิต เป็นจิตที่ไม่ปกติ เพราะมันมีความหนัก เหน็ดเหนื่อย มันหน่วง มันอึดอัด มันฮึดฮัด มันไม่สบาย เมื่อมาฝึกนั่งสมาธิ ก็เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจ แล้วจิตนี้ก็จะมีความสงบ มีความนิ่ง มีกำลัง มีความมั่นคง แจ่มใส ว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน เป็นจิตที่กระฉับกระเฉงทั้งร่างกายและจิตใจทั้งสมอง
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้นแน่นอนมีประโยชน์มาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ มีประโยชน์มากแล้วก็เชื่อว่า เดี๋ยวนี้การทำสมาธิก็เป็นที่นิยม เป็นที่นิยมของคนทั้งไทยทั้งฝรั่ง
ผู้ดำเนินรายการ : โดยเฉพาะฝรั่งนี่มาที่สวนโมกข์เยอะไหมคับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ มามาก แล้วเขาก็สนใจจริง แล้วมาถึงในการปฏิบัติพวกฝรั่งก็ตั้งใจ ถ้าจะว่าไปแล้วมากกว่าคนไทยหลายๆ คน เพราะเขามาอย่างชนิดเขารู้ฤทธิ์ของทุกข์ เขารู้ฤทธิ์ของวัตถุนิยม เขารู้ฤทธิ์ของความเจริญ รู้ฤทธิ์ถึงสิ่งอะไรต่ออะไรที่เขามีมามากมาย ที่เราอยากจะมีอย่างเขา และเขารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ช่วยเรื่องจิตเขาเลย ยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งทำให้จิตนั้นดิ้นรนกระวนกระวายมากยิ่งขึ้น เพื่อจะไขว่คว้าตะเกียกตะกายเอาให้มากขึ้น ก็เลยกลายเป็นการแข่งขันชิงดี เวลานี้สูงมาก และพอการแข่งขันชิงดีกันสูงมาก มันก็มีการเบียดเบียดซึ่งกันและกัน เรียกว่ามีการเอาตัวต่อตัวนี่เข้ามาตีกันด้วยประการต่างๆ คำว่าตีกันนี่คือการอุปมาอุปไมย ตีกันทางความความคิด ตีกันทางคำพูด ตีกันทางการกระทำ ด้วยการแข่งขันทุกอย่างที่จะทำลายซึ่งกันและกัน เพื่อให้ฉันได้มากกว่าเขา
เพราะฉะนั้นเขารู้เลย เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ที่เขามี ที่เขาเป็นอยู่นี่ แม้แต่การศึกษาปริญญาสูงๆ ก็ตาม มันไม่ได้สอนที่จะให้รู้จักควบคุมบังคับจิตใจให้อยู่ในระเบียบวินัย ที่จะสามารถคิดถูกต้อง พูดถูกต้อง ทำถูกต้อง เขาจึงเห็นแล้วว่าสิ่งที่ไม่ได้สอนในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา แต่ว่ามีอยู่มีสอนอยู่ในสถานที่ที่เรียบๆ ง่ายๆ กลางพื้นดินหินทรายอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เขาคิดว่ามันน่าจะลองดู ก็เป็นการแสวงหาอย่างหนึ่งของเขา เขาก็มาแสวงหามาทดลอง แล้วเมื่อเขามา เขาก็ประจักษ์ผลว่า มันได้ผลจริง มันดับความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ ที่เขาเคยมี ความร้อนรน กระเสือกกระสน แข่งขันชิงไหวชิงพริบ จะต้องเอาให้มากกว่าเขา มันลดลงไปเลย แล้วก็มันมีความสามรถในการควบคุมใจของตัวเอง ที่จะคิดตามใจเอาตามใจกิเลส คิดเลเพ ลาดพลาดไปในทางที่เสียหาย มันดึงใจขึ้นมาได้ด้วย มันทำให้จิตที่มันชอบจะไปในทางต่ำ มันก็กลับดึงใจขึ้นมาสู่จิตที่สูงขึ้น
คำว่า สูงขึ้น ในที่นี้ก็หมายถึง มันเป็นความงดงาม ความงดงามในที่นี้ตัวเองจะรู้สึก ความงดงามนี้คือ มันเป็นความรู้สึกอะไรกับผ่องใส ความผ่องใส ความความสดชื่น พร้อมๆ กับความเคียดแค้นชิงชังต่อชีวิต หรือต่อผู้คนหรือว่าอยากจะแก้แค้นอาฆาตพยาบาทมันลดไป แล้วก็ตรงกันข้าม มันกลับเกิดความเห็นอกเห็นใจ เห็นอกเห็นใจคนที่บางทีจะรู้สึกว่า คนนี้ไม่เห็นดี ทำอะไรไม่เห็นถูกเลย แต่มันมีความเห็นใจว่า บางครั้งเราก็เคยเหมือนเขา แล้วก็ความเมตตากรุณาก็กลับเข้ามาแทนที่ เกิดขึ้นมาในใจ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็น ชีวิตที่รู้จักมีความรัก และความรักในที่นี้ก็เรียกว่าเป็นความรักที่ถูกต้อง เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เพราะมันไม่ใช่เป็นความรักที่ปนไปด้วยความใคร่ ที่ถือเอารูปเสียงกลิ่นรสเป็นสำคัญ แต่มันเป็นความรักด้วยความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความพร้อมที่จะให้อภัย แล้วก็เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา พร้อมที่จะแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ผู้ดำเนินรายการ : เสียดายนะครับ เราคนไทย คนพุทธแท้ๆ ไม่ค่อยได้ศึกษาเท่าไหร่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เราก็หันมาสนใจ แต่ว่าน้อย แล้วพูดถึงในเรื่องของการปฏิบัติที่จะเอาจริงเอาจังก็น้อย เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว การปฏิบัติสมาธิภาวนานี้ ก็ต้องพูดว่า ผู้ใดรู้จักความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ ผู้นั้นจะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม โดยอาศัยสมาธิภาวนาเป็นศิลปะของการปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อรู้ว่าความทุกข์ ก็รู้ว่านี่เรากำลังเจ็บ เป็นโรคชนิดหนึ่งแต่ว่ามันเจ็บที่ใจ แล้วก็จะรักษาได้ด้วยธรรมะ เพราะฉะนั้นเขาก็จะเห็นคุณค่าและเขาก็จะพยายามอุตส่าห์ทุ่มเทความพากเพียรพยายามเพื่อรักษาให้หาย และก็หายได้ถ้าตั้งใจจะรักษา