แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : รายนี้ท่านถามมาบอกว่า การใช้อุบายในการรักษาจิต โดยหยุดความคิด รัก โลภ โกรธ หลง เมื่อจิตเกิดขึ้น เกิดนึกขึ้นอย่างฉับพลันระหว่างการนั่งสมาธิภาวนาหรือการปฏิบัติงาน จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช้ลมหายใจ ใช้ลมหายใจที่เราได้ฝึกมาแล้ว แล้วก็เรารู้ว่าชนิดไหนมีประโยชน์อย่างไร หายใจยาวแรงไล่มันไป แรงไม่พอก็เอาให้ลึกที่สุด ครั้งเดียวไม่พอก็ 2-3 ครั้ง แล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจธรรมดาใหม่ นี่เป็นการปฏิบัติขั้นแรกที่ควรทำ พอจิตสงบได้แล้วก็ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของมันทีเดียว ว่าความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความโลภหลงอะไรเหล่านั้นมันหามีตัวมีตนไม่ เพราะว่าจิตที่เผอิญมันคิดผิดมันไปยึดว่ามีจริง ให้มองเห็นความเกิดดับเกิดดับของมัน แล้วก็จะค่อยๆ ละลายไป
ผู้ดำเนินรายการ : อีกท่านหนึ่งท่านถามว่าพอนั่งสมาธิตามลมหายใจแล้วก็จิตออกไปคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา เราถือโอกาสนำเรื่องนั้นมาพิจารณาความจริง หาเหตุปัจจัยและลักษณะไตรลักษณ์ได้หรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าผู้นั้นมีสติพอ คือมีสติมั่นคงที่จะไม่ไหลไปตามเรื่องนั้นน่ะ เพราะว่าเรื่องนั้นมันคือเป็นสัญญา คือเป็นสัญญาที่ได้อยู่ในใจ เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีตใช่ไหมคะ ซึ่งส่วนมากนี่ คนเรามักจะเกาะเกี่ยวอยู่กับอดีต แล้วเพราะฉะนั้นพอไปหยิบขึ้นมาเนี่ย จิตมันจะปรุงแต่งฟุ้งไปถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น จะดีจะชั่วจะรักจะโกรธจะเกลียด มันจะพรั่งพรูออกมาทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจะใช้วิธีปฏิบัติด้วยการใช้สัญญานี้เป็นแบบฝึกหัด ผู้นั้นต้องแน่ใจ ว่าเรานี้กำลังพร้อมด้วยสติ พร้อมด้วยสมาธิ จึงจะไม่หลงใหลเพ้อเจ้อไปกับมันด้วย แต่ถ้าหากว่ารู้ว่าเรายังไม่มั่นคงอย่า อย่าไปเอามัน
ผู้ดำเนินรายการ : มันปรุงแต่งใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ปรุงแต่ง เอาลมหายใจนี่แหละเป็นเครื่องกำหนดก่อน หรือเอาเวทนาที่ผ่านเข้ามานี่แหละ เพื่อฝึกไตรลักษณ์ ปลอดภัยกว่า
ผู้ดำเนินรายการ : การนั่งสมาธิและเดินจงกรมทำให้การนอนหมายถึงระยะเวลาการนอนเนี่ยครับ น้อยลงหรือไม่อย่างไร แล้วก็ทำให้ตื่นบ่อยๆ ด้วยหรือเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การนั่งสมาธิและเดินจงกรมทำให้การนอนนอนน้อยลงหรือเปล่า อันนี้มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การนอนเนี่ยจะน้อยจะมากเอาอะไรเป็นเกณฑ์ ถ้าจะถือจำนวนชั่วโมงของการนอนเป็นเกณฑ์มันก็ไม่แน่ใช่ไหมคะ บางคนอาจจะนอนตั้งคืนละ 8 ชั่วโมง แต่นอนหลับๆ ตื่นๆ มันก็ตื่นขึ้นมันก็ไม่สดชื่นแจ่มใสเหมือนกับไม่ได้นอน แต่ถ้าหากว่าบางคนนอน 3 ชั่วโมงหรือ 4 ชั่วโมงแต่หลับสนิท หลับสนิทอย่างชนิดที่ได้พักผ่อนเต็มที่ทุกอย่างเลย อย่างนั้นแค่นั้นมันก็พอ เพราะฉะนั้นคำถามที่ถามว่านอนเท่าไหร่ถึงจะพอ นอนน้อยไปหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับลักษณะของการนอน ถ้าหากว่าเราฝึกสมาธิภาวนานะคะ จนกระทั่งจิตมันอยู่ที่ คือมันสามารถเป็นจิตที่สงบนิ่งอยู่ได้แล้วละก็ มันจะไม่รบกวนเกี่ยวกับการนอนเลย ยิ่งจะสามารถบังคับใจได้ว่าเวลานี้ถึงเวลานอน จะบังคับใจได้คือให้สลัดสิ่งที่จะมาเป็นความกังวลหรือมารบกวนใกล้เวลานอนให้ออกไป แล้วจิตมันก็จะสงบแล้วก็หลับไปด้วยสติ เพราะฉะนั้นไม่ถือว่ารบกวน เช่นเดียวกับการเดินจงกรม ก็เป็นการฝึกหัดเพื่อให้จิตมีความชำนาญในการที่จะรวบรวมความสงบให้เกิดขึ้น รวบรวมสมาธิให้เกิดขึ้นในจิต เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปมันไม่น่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการนอน
การนอนน้อยจะเกิดปัญหาเพราะไม่สามารถจะควบคุมจิตให้พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ หรือง่ายๆ ก็คือว่าอยู่กับลมหายใจไม่ได้ พอเริ่มนอนเท่านั้นมันก็เริ่มคิดแล้ว คิดถึงวันนี้ที่ผ่านมา คิดถึงพรุ่งนี้ที่จะไปถึง แต่ลืมนึกถึงขณะที่กำลังนอนอยู่นี้มันควรจะหลับ ก็กลับลืมไปไม่คิด เพราะฉะนั้นหน้าที่เมื่อเราลงนอนแล้วละก็ เอาลมหายใจนี่แหละเป็นเพื่อน อยู่กับลมหายใจเพื่อจะได้หยุดการคิดซะ การคิดอดีต การคิดอนาคตที่จะต้องวิตกในวันพรุ่งนี้ แล้วจิตก็จะค่อยสงบๆ แล้วก็เป็นการหลับด้วยสติ แล้วก็จะตื่นด้วยสติ แล้วก็ส่วนมากก็บอกได้ว่ามันจะลุกขึ้นได้ด้วยความแจ่มใส
ผู้ดำเนินรายการ : ระหว่างการฝึกสมาธิก่อนนอนกับสมาธิตื่นขึ้นมาตอนตี 3 ตี 4 อันไหนจะดีกว่ากัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ละบุคคล ถ้าหากว่าผู้ใดที่ทำงานกลางวันเหนื่อย เหน็ดเหนื่อยมามากเลยใช่ไหมคะ แล้วก็จะมาฝึกสมาธิก่อนนอนก็คงเพลียอาจจะไม่ได้ผล ก็สู้นอนให้อิ่มแล้วก็อาจจะตื่นขึ้นเร็วกว่าธรรมดา เช่น เคยตื่นตี 4 ก็ตื่นตี 3 หรือว่าตื่นตี 5 ก็ตื่นตี 4 แล้วก็ทำตัวให้แจ่มใส ล้างหน้าล้างตาให้จิตใจกระปรี้กระเปร่า บริหารร่างกายนิดหน่อย แล้วก็ลงนั่งทำสมาธิจะได้ผลดีกว่า
ผู้ดำเนินรายการ : ถามว่าการนั่งวิปัสสนาแบบอานาปานสตินี้ นั่งเก้าอี้แทนนั่งขัดสมาธิได้หรือไม่ เพราะว่านั่งได้นาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของร่างกายนะคะ เช่น ขาแข้ง กระดูก เคยผ่าตัดอะไรอย่างนี้ ก็น่าจะลองนั่งแบบขัดสมาธิกับพื้น เพราะว่าถ้านั่งแล้วจะรู้สึกว่ามันมีอะไรที่แตกต่างกันที่เกิดขึ้นภายในใจ เช่น พอนั่งไปนี่จิตถึงความสงบนี่ มันสงบได้ง่าย เพราะมันมีความสำรวมมีความบังคับอยู่ในตัว แต่ถ้าเรานั่งเก้าอี้นี่ บางทีเราจะเผลอไผล นั่งตามสบาย ทอดเนื้อทอดตัว ขาดความสำรวม แต่เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของแข้งขานะคะ เช่น ไปผ่าตัดมา หรือว่าคนสูงอายุมากเหลือเกินอย่างนั้นก็จะผ่อนผันก็ได้ แต่ว่าต้องนั่งด้วยความสำรวม
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ เราได้เรียนรู้เรื่องการฝึกสมาธิจากท่านอาจารย์รัญจวน อินทรคำแหง ไปแล้วนะครับ