แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : การทำสมาธิเมื่อจิตนิ่งสงบ เราเกิดความสงบสบายโดยลืมเวลาว่านานเท่าไหร่ อยากทราบว่าสิ่งนั้นมันเป็นนิพพานหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ต้องเข้าใจความหมายของคำว่านิพพาน ว่านิพพานคืออะไร คือถ้าเอาความหมายตามคำ นิพพานคือหมายถึงความเย็น ความเย็นนี่คืออะไร เราก็ต้องเปรียบดูระหว่างความร้อนกับความหนาวใช่ไหมคะ ถ้าร้อนมันก็ไม่สบายเหงื่อแตก ถ้าหากว่าหนาวมันก็สั่นเย็นยะเยือก มันไม่สบายทั้งสองทาง แต่ถ้าเย็นอย่างขณะนี้เรากำลังเย็นสบาย ๆ มันไม่หนาวมันไม่ร้อน งั้นนิพพานก็หมายถึงความเย็น
ที่นี้ความเย็น สภาวะของความเย็นที่เกิดขึ้นในจิตนี่คือลักษณะอย่างไร ก็หมายถึงสภาวะของความเย็นที่มันปราศจากการกระทบ หรือรบกวนของความโลภ โกรธ หลง ของความอยาก ไม่มีความดิ้นรนอยากโน่นอยากนี่ อยากมี อยากเป็น อยากได้ ไม่มีความรู้สึกจะยึดมั่นนั่น ยึดมั่นนี่ โดยเฉพาะตัวฉันนะ ตัวฉันนะ มันไม่มี แล้วก็มันมีแต่ความเมตตากรุณา มันมีแต่ความรู้สึกว่าเราจะทำหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่การงาน แก่เพื่อนฝูง มันมีแต่ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ดี และจิตนี้มันเป็นอิสระอยู่เหนือโลก คำว่าเหนือโลกก็คือเหนือสิ่งคู่ทั้งหลาย แล้วก็เหนือความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ช่วยย้ำสิ่งคู่อีกนิดนึงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สิ่งคู่ก็เช่น สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว สะอาด-สกปรก น่ารัก-น่าชัง ได้-เสีย รวมความสรุปก็คือทางบวกและทางลบ นี่คือสิ่งคู่ ซึ่งมันจะมีได้ตั้งหลายสิบคู่ ไม่ติดอยู่ในสิ่งนี้ เพราะรู้แล้วว่าการติดอยู่ในสิ่งนี้คือทางสุดโต่งไม่ใช่ทางสายกลาง เพราะฉะนั้นจากการปฏิบัติสมาธิภาวนามาตามลำดับนี่นะคะ จนกระทั่งจิตนี้เป็นจิตที่นิ่งสงบแล้วก็มีสภาวะของความว่างอย่างที่เราพูดกันหลายครั้งแล้ว สุญญตาวิหารปรากฏอยู่ เพราะไม่มีการรบกวนของกิเลสโลภ โกรธ หลงอะไร แล้วก็เป็นอิสระ เป็นจิตที่เป็นอิสระจริงๆ ไม่เป็นผูกพันข้องเกี่ยวกับอะไรเลยสักอย่างเดียว แต่รู้ อะไรถูกอะไรผิดก็รู้ แล้วก็รู้ด้วยว่าควรจะทำอะไรจึงจะเกิดประโยชน์ นี่แหละสภาวะของความเย็นเป็นนิพพาน
แล้วก็นิพพานอย่างนี้เราอาจจะเคยได้ลิ้มรสบ้างคนละนิดคนละหน่อยใช่ไหมคะ บางครั้งเกิดสภาวะของจิตที่เป็นอิสระอย่างนั้น มันก็เย็นสบายไม่ดิ้นรน ใครจะมาอะไรมันก็เฉยได้ ยอมได้ รับได้ แล้วก็แก้ไขไปตามสติปัญญา แต่เผอิญมันไม่อยู่นาน ทีนี้อย่างคุณที่ถามนี่บอกว่าถ้านั่งสมาธิไปจนนานๆ แล้วจิตสงบมันเป็นนิพานหรือเปล่า อันนี้ต้องดูเอง ต้องดูสภาวะข้างในของจิตของตนเอง ว่าปราศจากสิ่งกระทบรบกวนดังกล่าวแล้วหรือไม่ หากว่าไม่มีสิ่งใดเลย เป็นอิสระจริงๆ ไม่ใช่ความสงบเหมือนอย่างหินทับหญ้านะคะ ถ้านั่งสงบไปแล้วก็เหมือนเอาก้อนหินไปทับอยู่บนหญ้า หญ้ามันงอกไม่ได้ หญ้านี่อาจจะเปรียบกับกิเลส ตัณหา อุปาทานมันงอกไม่ได้ พอยกก้อนหินออก พออะไรผ่านมารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่าผัสสะเกิดขึ้นเอาทันทีเอาเรื่องทันที โกรธ คือมีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที โลภ โกรธ หลงเอาหมดพร้อมเลย อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ มันมีแต่ความสงบเท่านั้น
ผู้ดำเนินรายการ : มิน่ามีคนเขาบอกว่าบางรายไปเข้าวัดเข้าวา ดูนั่งสมาธิ ดูสงบ พอไปเจออะไรสักเรื่องเอาละเต้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นเพราะว่าอยู่แค่ความสงบ คือไปทำสมาธิเพียงแค่ความสงบ แต่ว่าไม่ไปถึงการพัฒนาปัญญา ที่เรียกว่าวิปัสสนา ไม่ไปถึงหมวดธรรมานุปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิที่จะสมบูรณ์และเกิดประโยชน์เต็มที่ ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนา คือทำจิตให้เป็นสมาธิสงบ และเป็นสมาธิสงบแล้วก็พัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะปัญญานี่มันจะเป็นความคม ความคมที่มันจะตัดสิ่งที่เป็นกิเลสอะไรทั้งหลาย หรือสิ่งที่เป็นความเศร้าหมองสิ่งที่เป็นความยึดมั่นมากระทบให้ขาดได้ ความยึดมั่นถือมั่นผูกพันขาดได้ แต่สมาธิท่านเปรียบเหมือนน้ำหนัก หากว่ามันมีแต่น้ำหนักเหมือนอย่างมีดทื่อ มันหนักมีดอีโต้เล่มใหญ่ แต่ฟันท่าไหร่มันก็ไม่เข้าเพราะมันไม่มีคม เช่นเดียวกันกับว่าถ้ามีแต่ความคมมีแต่ปัญญารู้นั่น รู้นี่สารพัด อิทัปปัจจยตาก็คล่อง ไตรลักษณ์ก็คล่อง แต่ไม่ได้ฝึกสมาธิมันก็ขาดน้ำหนัก
ผู้ดำเนินรายการ : คนที่จะทำสมาธิได้ดีจำเป็นต้องมีมรรคองค์ 8 มีศีล มีอิทธิบาท 4 มีพรหมวิหาร 4 ด้วยใช่หรือไม่ ถ้าเรามีทั้งหมดนี้นิวรณ์จะหมดไปหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ข้อสำคัญก็ต้องรู้เรื่องของนิวรณ์ก่อน ว่านิวรณ์คืออะไร แต่ว่าผู้ถามอาจอาจจะรู้แล้วก็ได้ ว่านิวรณ์คืออะไร แต่ว่าเพื่อว่าสำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจว่านิวรณ์คืออะไร นิวรณ์นี้ท่านบอกว่าเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค ที่มันจะขวางกันการทำความดีงามทุกอย่างทุกชนิดทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกถ้าอยากจะทำอะไรให้ดี ทำการงานให้ได้รับความสำเร็จ ถ้านิวรณ์มากรุ่นอยู่ในใจเรื่อยมันก็มาเอาเวลาไป ทำให้งานนั้นได้ผลกระพร่องกระแพร่งไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับการปฏิบัติในทางธรรม เช่น การทำสมาธิภาวนา ถ้ามีนิวรณ์ครุ่นอยู่ในใจ แทนที่จิตจะรวมเป็นสมาธิได้ก็ไม่สำเร็จเด็ดขาด เพราะฉะนั้นนิวรณ์นี่จึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องศึกษาและก็รู้จักมันให้ดี เพราะมันเป็นอุปสรรคกางกั้นการทำความดีงามทุกอย่างทุกชนิดจนกระทั่งจะไปถึงนิพพาน ถ้าตราบใดมีนิวรณ์อยู่ไปไม่ถึงแน่
เพราะฉะนั้นนิวรณ์นี้ก็มีอยู่ 5 อย่างนะคะ คงจะพอจำได้ อันแรกก็คือ กามฉันทะ กามฉันทะนี่มันก็เป็นลูกน้องของเจ้าตัวโลภ คือ โลภะ ถ้าอาการของความโลภเกิดขึ้นในใจ เราจะรู้ว่าเมื่อไหร่โลภ ท่านก็บอกให้ดูอาการของความโลภที่เกิดขึ้นในใจ คือ ความรู้สึกที่อยากจะกวาดเข้ามา ดึงเข้ามาเป็นของเราคนเดียว เห็นอะไรๆ จะเอาหมดทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรม เช่น ความดี ความเด่น ความดัง มันจะเอาเป็นของฉันของคนเดียว นั่นแหละคือความโลภ แล้วมันค่อนข้างรุนแรง ท่านจึงเรียกว่ากิเลส แต่ที่นี้บางทีความรุนแรงที่จะกวาด จะยื้อแย้ง จะดึงเอามาเป็นของเรานี่ มันไม่ออกหน้าออกตาถึงขนาดนั้น คือไม่น่าเกลียดถึงขนาดนั้น แต่มันยังครุ่นคิดอยู่ในใจ ครุ่นคิดอย่างได้รูปสวยน่ารัก อยากได้รสอร่อย อยากได้เสียงเพราะ อยากได้สัมผัสที่อ่อนโยนนุ่มนวล รวมความว่า กามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รวมไปถึงในเรื่องของกามารมณ์คือเรื่องเพศด้วย
ตราบใดพอนั่งลงจะทำงาน หรือนั่งลงจะทำสมาธิภาวนา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และกามารมณ์มันตามมารบกวนจิตแล้ว ใจมันประวัติไปถึงสิ่งที่เคยพบ เคยเป็น เคยเห็น คุ้นเคยมา หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกามารมณ์ นึกถึงรสอาหารที่รสอร่อย นึกถึงเสียงดนตรีที่ไพเราะ นึกถึงสัมผัสที่อ่อนโยน หรือว่าสถานที่ที่มีลมโชยอ่อนๆ มันเย็นสบาย นี่ก็เรียกเป็นกามฉันทะเหมือนกัน ซึ่งในใจก็นึกว่าแม้ทำยังไงเราจะได้กินข้าวร้อนๆ ดื่มกาแฟหอมๆ กรุ่นๆ แล้วก็อะไรอย่างนี้ ในขณะนั้นแทนที่จิตจะอยู่กับลมหายใจ มันไปแล้วไม่อยู่แล้ว มันไปอยู่กับสิ่งนั้น แล้วก็แหมสนุกสนาน แหมบางทีหน้านี่ยิ้มผ่องใสเพราะนึกถึงความเอร็ดอร่อยที่ได้กินเมื่อครั้งนั้นวันนั้นอะไรอย่างนี้ นี่ก็คือกามฉันทะ มันมาครุ่นๆ อยู่ในใจคือมันไม่ออกมารุนแรงแต่มันมาครุ่นๆ
ท่านจึงเปรียบนิวรณ์นี่มันเหมือนแมลงหวี่ แมลงวัน มันมาตอมนี่ มันก็ไม่ทำให้ถึงตาย ไม่ทำให้ถึงตาบอดแต่มันรำคาญ มันมาตอมอยู่นี่พอทำงานอยู่เดี๋ยวก็ต้องปัดมันทำให้เสียสมาธิเสียเวลา แต่ว่าถ้าเป็นกิเลสท่านเปรียบเหมือนเสือ มันกระโจนเข้ามามันขย้ำเลยไม่ตายก็ปางตายทำนองแบบนั้น
ทีนี้นี่คืออาการของนิวรณ์ เพราะฉะนั้นกามฉันทะตัวแรกเกิดขึ้นมันก็เป็นลูกน้องของความโลภ คือมันมีความอยากได้ มันมีอาการดึงเข้ามาเหมือนกัน นี่คือสังเกตว่านิวรณ์เกิดขึ้นในใจ ในตัวไหน ลักษณะไหนแล้วมันเกี่ยวข้องกิเลสอย่างไร
ทีนี้พอพ้นจากตัวกามฉันทะมาถึงตัวที่ 2 ก็ตรงกันข้ามกับเรื่องของกามฉันทะที่อยากได้ พอใจอยากได้ดึงมาเป็นของเรา มันกลายเป็นขัดใจ นึกๆ อยากได้มันก็ไม่ได้ แล้วก็บางทีก็ไปนึกถึงเรื่องไม่ถูกใจ ไม่พอใจ มันก็ขัดใจ หงุดหงิด อึดอัด รำคาญ ฮึดฮัดอยู่ในใจ จนหมั่นไส้อะไรอย่างนี้ มันก็นึกอยู่เรื่อยไม่จบ ใจมันก็ไม่ถึงกับโกรธอะไรรุนแรง แต่มันรู้ว่าใจมันไม่สะอาด ไม่สบายใจ แล้วมันหมองมัวมันก็ครุ่นๆ หงุดหงิดเหมือนกับเมฆบังอะไรทำนองนี้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้คือเรื่องของพยาบาท ซึ่งก็เป็นลูกน้องของโทสะ แล้วจะสังเกตได้อย่างไรก็คืออาการของมันตรงกันข้ามกับกามฉันทะ คือ ผลักออกไปเพราะไม่ชอบ นี่ก็คือนิวรณ์ตัวที่ 2 ที่เราต้องรู้จัก