แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์ครับ เราค้างปัญหาของท่านผู้ชมท่านหนึ่งที่ถามเรื่องของนิวรณ์กันอยู่ ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องของนิวรณ์ 5 ว่ามี 5 อย่างผ่านเรื่องกามฉันทะไปเรื่องหนึ่งแล้วนะครับ ต่อไปก็พยาบาทต่อครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พยาบาท ตัวที่สอง ที่ตรงกันข้ามกับเรื่องของกามฉันทะ ในขณะที่กามฉันทะอยากได้ พยาบาทก็ไม่อยากได้ อยากจะผลักออกไป อยากจะกำจัดเสีย มันก็กรุ่น ๆ อยู่ในใจ พูดง่าย ๆ คือเป็นลูกน้องของโทสะ กิเลสตัวโทสะ ทีนี้ถ้าไม่นึกอยากดึงเข้ามา ไม่นึกอยากผลักออกไป บางทีมันก็วนเวียน จะเกิดอาการวนเวียนครุ่นคิดเหมือนกับพายเรือในอ่าง ก็อาจจะเริ่มต้นด้วยถีนมิทธะ ซึ่งเป็นคำบาลีอาจจะจำยาก ก็อาจจะจำว่า มันเป็นความรู้สึกหดหู่เหี่ยวแห้งใจ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง หรือพูดง่าย ๆ คืออย่างที่เขาพูดว่าจิตตก จิตมันตก จิตมันไม่มีกำลัง มันไม่อยากขยับเขยื้อน ไม่อยากจะทำอะไรเลย แล้วมันก็ครุ่นคิดอยู่ในเรื่องเดียวนั่นแหละ ถึงความหดหู่ เศร้าหมอง แห้งแล้ง เกรียมเผาอยู่ในใจ มันก็นึกอยู่อย่างนั้น นั่นเป็นตัวหนึ่ง ซึ่งน่ากลัวมาก
ถ้าหากว่าปล่อยให้เจ้าตัวนี้เกิดขึ้นอยู่ในใจ ความหดหู่เหี่ยวแห้งเนี่ย ซึ่งส่วนมากมันก็มักจะเกิดมาจากความรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง ไม่ได้สมความปรารถนา ความล้มเหลวในชีวิต พอซ้ำ ๆ เข้า แล้วก็ไม่รู้จักคิดให้ถูกต้องที่จะแก้ไขด้วยสติปัญญา ก็กลับปล่อยให้ใจจมลงไปในความเสียใจ แล้วก็ผิดหวังมากเข้า ๆ แล้วก็คิดซ้ำซาก ๆ ๆ ที่ภาษาจิตเวชบอกว่า ย้ำคิดย้ำทำ ถ้ามากอยู่อย่างนี้ อาการประสาทน่ากลัว เพราะฉะนั้นควรต้องรีบแก้ไขทันที ถ้าอาการของนิวรณ์ตัวถีนมิทธะ คือหดหู่ เหี่ยวแห้ง อ่อนเปลี้ยเกิดขึ้นนะคะ เพลียแรงอย่างนี้ล่ะก็ ต้องฝืนใจลุกขึ้น ลุกขึ้นให้กระฉับกระเฉง ออกวิ่งก็ได้ ไม่ทำอะไรก็ออกวิ่งให้เลือดลมมันเดิน หรือเล่นกีฬา จะไปว่ายน้ำ จะไปตีแบดมินตัน หรือจะไปชกมวย จะทำอะไรก็แล้วแต่
ผู้ดำเนินรายการ : แต่อย่าชกคนอื่นแล้วกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือหมายความว่า ทำใจให้มันกระฉับกระเฉง แล้วก็พยายามจะมองดูสิ่งที่ดี ๆ งาม ๆ ที่เราเองได้เคยทำ นึกถึงคุณความดี นึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล แม้แต่เราจะช่วยลูกหมาสักตัวให้พ้นจากการตกน้ำ หรือว่าให้ข้าวแมวโซกิน อะไรอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นความดี
ผู้ดำเนินรายการ : ออกไปทำบุญตักบาตรก็ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ใช่ค่ะ นึกถึงสิ่งดี ๆ งาม ๆ ก็จะช่วยลบล้างความหดหู่ เหี่ยวแห้งใจ ซึ่งจะทำให้หยุดการคิดวนเวียน ทีนี้ตัวที่ 4 ตรงกันข้ามกับตัวที่ 3 มีอาการวนเวียนเหมือนกัน แต่นี่ไม่วนเวียนหดหู่ วนเวียนฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ เหมือนกับล่องลอยไปในอากาศ ในขณะที่อีกคนนั่งหดหู่ เหี่ยวแห้ง ซุกตัวอยู่ตามมุม ตัวนี้ แหม มาออกเดินทำตัวก๋า ทำท่ากร่าง ชั้นนี่มันเก่ง ชั้นนี่มันดี ชั้นนี่มันมีอะไรต่ออะไรมากกว่าคนอื่นเขา มันมักจะเพ้อฝันไปในทางที่ทำให้จิตฟูขึ้น มันลอย แต่ก็คิดย้ำ คิดย้ำคิดทำอยู่ในเรื่องนั้น นี่ก็เป็นตัวที่ 4
ส่วนตัวที่ 5 นี่เขาบอกว่าเป็นตัวที่ร้ายที่สุด คือวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาก็คือความลังเลสงสัย ลังเลสงสัยไม่แน่ใจ เอาดีหรือไม่เอาดี ไปดีหรือไม่ไปดี กินดีหรือไม่กินดี อยู่ดีหรือไม่อยู่ดี จนกระทั่ง จะนอนดีหรือไม่นอนดี จะเข้าห้องน้ำดีหรือไม่เข้าห้องน้ำดี เข้าห้องน้ำตอนนี้จะหนักหรือจะเบาดี บางทีมันบ้าไปถึงขนาดนั้นนะ วิจิกิจฉานี่ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าวิจิกิจฉานี่ มันเล่นงานในชีวิตเราทุกวัน ตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา แต่เราไม่ได้สังเกต เราเห็นเป็นธรรมดา แล้วถ้าปล่อยมันสะสมวิจิกิจฉาเอาไว้มาก ๆ จะกลายเป็นคนอ่อนแอ โลเล เติบโตขึ้นไปทำงานทำการ เป็นหัวหน้าใครเขาได้ยากมาก แล้วก็จะไม่รู้จักบังคับบัญชาใคร นำใครเขาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้ไขด้วยสติปัญญา ด้วยสติปัญญานั้นก็คือสติปัญญาที่ถูกต้อง ด้วยจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐินั่นแหละ แล้วก็รู้จักเรื่องของกฎของธรรมชาติ แล้วก็ดูเหตุปัจจัย
ทำไมจึงทำให้เรามีจิตลังเลสงสัย คำตอบก็เพราะว่าเราไม่รู้ เราไม่รู้ในเรื่องนั้น เราจึงลังเลสงสัยไม่รู้ว่ามันถูกหรือมันผิด ควรทำหรือไม่ควรทำ ฉะนั้นก็อย่าไปมัวลังเล แก้ไขทันทีด้วยวิธีการหาความรู้ในเรื่องนั้น หาผู้ที่จะให้คำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้อง แล้วก็เริ่มทำให้มันถูกต้อง แล้วจะได้เกิดความมั่นใจขึ้นมาแทน แล้วก็วิจิกิจฉาก็จะค่อย ๆ ละลายไป อย่าปล่อยให้เกิดขึ้น
ทั้ง 3 ตัวหลังเนี่ย ถีนมิทธะซึ่งหดหู่เหี่ยวแห้ง แล้วก็อุทธัจจะกุกกุจจะเรียกก็ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ ล่องลอย ฟ่องฟู แล้วก็วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ทั้งสามตัวนี่คือลูกน้องของโมหะ หรือความหลง น่ากลัวมากเลย ฉะนั้นโมหะ กิเลสโมหะเนี่ยมันมองไม่ค่อยเห็น รู้จักยาก โทสะกับโลภะนี่มันรู้จักง่าย มันเห็นง่ายก็แปลผลอาการง่าย แต่โมหะนี่มันหมุนวนเวียนอยู่ เพราะฉะนั้นคนบางคนถึงได้บอก โอ้ ชั้นไม่มีแล้วไอ้ความหลง โมหะไม่มีแล้ว นั่นแหละคือหลง หลงจนไม่รู้ว่ากำลังหลง
ทีนี้ถ้าจะอธิบายว่า โมหะเนี่ยมีลักษณะอาการอย่างไร ก็มาดูอาการของนิวรณ์ 3 ตัว นี่แหละจะแจกแจงออกมาว่า อาการของโมหะมันอย่างนี่ ประเดี๋ยวมันก็วนเวียนอยู่กับความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง วนเวียนอยู่กับความฟุ้งซ่าน วนเวียนอยู่กับความลังเลสงสัย แล้วถ้าไม่ถอนใจออกมา โรคประสาทแน่นอน เพราะฉะนั้นนิวรณ์จึงเป็นอุปสรรคขวางกั้นการทำความดีงามทุกอย่างทุกชนิดให้สำเร็จ เพราะมันจะมากินเวลา มันกรุ่น ๆ อยู่ในใจ
ผู้ดำเนินรายการ : น่ากลัวเหมือนกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โอ๊ย น่ากลัวที่สุด ยังความน่ากลัว ความร้ายกาจของนิวรณ์ ถ้าเราปล่อยไปให้มันเกิดขึ้นในใจแล้วมันจะครุ่นอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็จะเอาเวลาของเราไป อย่างบางคนนั่งทำงานนี่ อย่างเวลาราชการ 8 ชั่วโมง ก็ไปตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน แล้วก็อยู่จนกระทั่งถึงเลิกงาน แต่มองดูวันนี้ไม่เห็นทำอะไรได้เลย ทั้ง ๆ ที่ก็นั่งอยู่ที่โต๊ะนี่ ก้มหน้าก้มตาเขียนอะไรต่ออะไรแต่ไม่เห็นผลงานออกมา นี่แหละลองไปสำรวจดูเถิดว่า ในวันนั้นเนี่ยที่มันทำงานไม่ได้เป็นน้ำเป็นเนื้อนี่ แล้วจิตใจมันถูกนิวรณ์เข้ามา แล้วก็ดึงเอาเวลาไปเท่าไหร่ เช่นคอยหยิบดินสอตั้งหน้าจะเขียน เริ่มจะเขียนรายงานว่างั้นเถอะ สมมตินะคะ พอจะเขียนเท่านั้นล่ะ ประเดี๋ยวไม่กามฉันทะ มันก็มา พอนึกถึงโน้น เมื่อวานนี้เพื่อนเขาพาไปเลี้ยงร้านที่เชลล์ชวนชิม เขาเพิ่งเปิดใหม่ มันอร่อยจริง ๆ ก็นั่งนึกถึงรสอร่อย นั่งไปนั่งมาน้ำลายก็ค่อนข้างจะไหล ทำยังไงจะได้กินอีกสักครั้ง แล้วก็ไม่ได้ดูนี่หมดไปกี่นาที อาจจะครึ่งชั่วโมงหมดไปแล้วกับกามฉันทะ ก้มหน้าลงจะทำงาน พอทำงานเข้า นี่มันอะไรเนี่ย ไม่แน่ใจเรื่องนี้ควรจะเป็นยังไง นี่เรื่องนี้ควรจะเป็นยังไง อย่างไหนมันถึงจะถูก แทนที่จะรู้ว่านี่กำลังวิจิกิจฉาแล้วนะ แล้วก็ควรจะแก้ด้วยการไปหาความรู้ทันที กลับมานั่งเอ๊ะทำไม เอ๊ะทำไม เอ๊ะเป็นยังไง เดี๋ยวก็ถามเพื่อนซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เสียเวลาไปอีกชั่วโมงหนึ่ง หมดไป อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์มันจะเข้ามารบกวนในระหว่างทำงาน
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิภาวนาจะช่วยให้เรามีสติ พอมีสตินี่มันก็จะตามทัน หากหันกลับไปดูข้างในเจอว่า ขณะนี้นิวรณ์อะไรกำลังเข้ามารบกวนเรา ดูอย่างไรก็ดูอาการที่มันเกิดขึ้น ถ้ามันดึงเข้ามา กามฉันทะอีกแล้ว มันผลักออกไป พยาบาทอีกแล้ว มันวนเวียนครุ่นคิด ก็ดูว่าครุ่นคิดแล้วเป็นยังไง มันฟุบหรือมันฟู ถ้ามันฟุบก็ถีนมิทธะ ถ้ามันฟูก็อุทธัจจะกุกกุจจะ เพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน ถ้ามันลังเลสงสัย วนเวียนอยู่กับความลังเลสงสัยวิจิกิจฉา เพราะฉะนั้นพอรู้สึกว่างานมันไม่เดินนะคะ หรือทำอะไรมันไม่ได้ผลอย่างที่ควร ดูทันทีว่าอะไรเข้ามารบกวนในจิตใจ นิวรณ์ตัวไหน ซึ่งต้องเป็นนิวรณ์แน่นอน ไม่มีอย่างอื่นที่เข้ามากรุ่น ๆ อยู่ในใจ เพียงแต่ว่าเป็นตัวไหน เสร็จแล้วก็ดูให้อีกมาก ๆ เหมือนอย่างการปฏิบัติสมาธิในหมวดที่สาม คือหมวดเรื่องจิตนี่ ที่บอกว่าให้ดูลักษณะธรรมชาติของจิตขั้นที่หนึ่งของหมวดที่สามใช่ไหม นี่แหละ ดูนิวรณ์ว่าตัวนิวรณ์ตัวไหนมันเข้ามารบกวนจิตมากที่สุด เราจะได้รู้ว่า เรามีธรรมชาติอยู่ใต้อำนาจของกามฉันทะ หรือพยาบาท หรือถีนมิทธะ หรืออุทธัจจะกุกกุจจะ หรือวิจิกิจฉา แล้วก็จะได้แก้ไขมันให้ถูกต้อง
เช่นถ้าสมมติว่าเราเป็นคนมักจะพยาบาท คือหงุดหงิดง่าย หมั่นไส้ง่าย เห็นนั่นก็ไม่ถูกตา คนนี้ก็ไม่ถูกใจ เรารำคาญ แผ่เมตตา แก้ไขด้วยการแผ่เมตตา สงสารเขา นึกถึงว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้อยากทำอย่างนั้น เขาไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น เพราะทุกคนอยากให้คนรัก ไม่อยากให้คนเกลียด แต่บางทีเขานึกไม่ทัน เขาคิดไม่ถึง รู้ไม่เท่าทันการณ์ ให้ความเมตตาสงสาร ก็จะแก้ไขพยาบาทไปได้ หรือถ้าหากว่ากามฉันทะมันมาก มันนึกถึงแต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าพอใจ ท่านบอกว่าให้ดูอะไรที่มันสกปรก ๆ เช่นมานั่งมองกองขยะก็ได้ แหมตอนที่เรากินกุ้งเนี่ยนะ ตัวโตกุ้งเผา จิ้มน้ำปลาที่เราทำถูกรสปาก อร่อยจริง ๆ แล้วมองดู ไหนกุ้งในกองขยะ กุ้งตอนนี้อยากกินอีกมั้ย
ผู้ดำเนินรายการ : ไปไหนแล้วไม่รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ พอเรามองไป ๆ มองนั่นกองขยะ ท่านให้มองดูสิ่งที่สกปรก เพราะว่ากามฉันทะมันชอบอะไรที่สวย ๆ งาม ๆ ใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นเราก็ไปดูสิ่งที่สกปรกเช่นขยะ เช่นซากศพ หมาตาย คนตาย อะไรก็แล้วแต่ มันจะช่วยทำลายความครุ่นอยู่กับกามฉันทะนี่ไปทีละน้อย ๆ หรือถ้าหากว่าไปตกอยู่ภายใต้ความหลง ก็หาความรู้ ทำสมาธิ มีปัญญาอย่างที่ว่า ก็จะแก้ไขนิวรณ์ได้ ท่านจึงบอกว่าเรื่องของนิวรณ์เป็นเรื่องที่ร้ายแรง แล้วก็ต้องศึกษาให้รู้จัก แล้วก็ต้องพยายามที่จะค้นดูว่าตัวไหนรบกวนมากที่สุด แล้วก็แก้ไขมันออกไป ท่านเปรียบนิวรณ์เหมือนกับฝุ่นละออง ฝุ่นละอองที่เราใส่แว่นตาอย่างนี้นะคะ เราต้องหมั่นเช็ดแว่นตา มิฉะนั้นแล้วตานี่มันจะมองอะไรไม่เห็นชัด เพราะมันมีฝุ่นละอองมาจับแว่น ฉะนั้นการที่เราจะเฝ้าดูจิตของเราอยู่เสมอว่านิวรณ์ตัวไหนรบกวน ก็เปรียบเหมือนกับการเช็ดแว่นตาให้ใส เพื่อที่ให้ใจนี้มองเห็นอะไรถูกต้องตามที่เป็นจริง