แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ช่วงนี้นะครับ เราจะไปเรียนถามปัญหาธรรมะกับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กันต่อนะครับ มีผู้ที่เขียนปัญหาถามมาสองเรื่องด้วยกันที่ผมไปถามท่านอาจารย์คุณรัญจวนในครั้งนี้ก็คือเรื่องของผู้ที่ทำสมาธิได้ดี บอกว่าตัวเองมีทำเรื่องของมรรคมีองค์แปดสมบูรณ์แล้ว มีศีล มีอิทธิบาทสี่ มีพรหมวิหารสี่ ต่างๆ เรียบร้อยแล้วนะครับ ถามว่า แล้วนิวรณ์มันจะหมดไปหรือไม่
กับอีกเรื่องหนึ่งนะครับ เรื่องของคนเราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องถือศีล 5 ชาวพุทธนี่นะครับจำเป็นหรือไม่ที่ต้องถือศีล 5 เราจะไปฟังคำตอบสองเรื่องนี้จากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กันนะครับ
การทำสมาธิได้ดี จำเป็นต้องมีมรรคมีองค์แปด มีศีล มีอิทธิบาทสี่ มีพรหมวิหารสี่ แล้วเขาถามเขาบอกๆ ว่า ถ้าเขามีทั้งหมดอย่างนี้แล้วนี่ นิวรณ์เขาจะหมดไปใช่หรือไม่ เราอธิบายนิวรณ์ให้ฟังมาหลายครั้งแล้วนะฮะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทีนี้ก็ ย้อนกลับมาอานาปานสติ เพราะเรากำลังพูดในเรื่องอานาปานสตินะคะ ก็พูดได้ว่าในการปฏิบัติอานาปานสติ ถ้าหากว่าปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบ ครบทั้ง 16 ขั้นตามลำดับ หมวดที่ 1 หมวดกายตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึง 4 หมวดที่ 2 เวทนาตั้งแต่ขั้นที่ 5 ถึงขั้นที่ 8 แล้วก็หมวดที่ 3 หมวดจิต ตั้งแต่ขั้นที่ 9 ถึง 12 แล้วก็หมวดที่ 4 หมวดธรรม ตั้งแต่ขั้นที่ 13 ถึงขั้นที่ 16 ถ้าเราปฏิบัติตามลำดับอย่างนี้ จะมีพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมอยู่ในนี้เลย
ผู้ดำเนินรายการ : ครบถ้วนอยู่แล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ครบถ้วนอยู่แล้ว เพราะในการปฏิบัติสมาธินั้น คือเดี๋ยวก่อนย้อนกลับมาว่า ศีลนี่คืออะไรและเพื่ออะไร ศีลนั้นก็คือสิ่งที่เรารับเพื่อที่จะให้เป็นสิ่งที่ควบคุม ควบคุมกาย ควบคุมวาจา ให้อยู่ในความเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีล 5 นี่แหละ เป็นศีลพื้นฐาน เป็นศีลรากฐาน ถ้าสามารถรักษาศีล 5 ได้อย่างสมบูรณ์พร้อม คือไม่ทำให้ด่างพร้อยนะคะ นี่ก็จะมีความเป็นปกติทางกาย ทางวาจา วาจาน่าฟัง พูดมีประโยชน์ ไม่เบียดเบียนทำร้ายใครด้วยวาจา การกระทำก็เป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์ไม่เบียดเบียน พูดง่ายๆ คือเป็นการกระทำที่ถูกต้อง วาจาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นนี่มีศีลอยู่แล้วในขณะที่ปฏิบัติสมาธิภาวนานี่นะคะ
แล้วมันก็มีปัญญาที่จะเกิดขึ้น ศีล สมาธิ มีอยู่แล้ว ความมั่นคงหนักแน่นในใจ ความเข้มแข็งที่จะตั้งมั่นกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน ปัญญาก็มองเห็นแจ้ง แจ้งในทางธรรม ว่าความเป็นจริงตามธรรมชาติมันคืออย่างไร แล้วก็จะช่วยให้คลายความยึดมั่นติดมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะตัวเอง เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติสมาธิภาวนาอานาปานสตินี่ จะมีพร้อมทั้งศีล แล้วก็สมาธิ แล้วก็ปัญญา หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า ไตรสิกขา ใช่ไหม ศีล สมาธิ ปัญญานี่คือไตรสิกขา ไตรสิกขานี้ก็มีพร้อมอยู่ในนี้ ทีนี้เมื่อมีพร้อมอยู่ในนี้แล้วนี่ อริยมรรคมีองค์แปดมีไหม
ผู้ดำเนินรายการ : มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แน่นอนที่สุด เพราะว่าก่อนที่จะทำสมาธิภาวนาอานาปานสติภาวนานี่ เราต้องมีเริ่มต้นด้วยอริยมรรคคือ สัมมาทิฏฐิ มีความคิดเห็นที่ถูกต้องแล้วว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาอานาปานสตินี้ มันมีประโยชน์ มันมีประโยชน์อย่างไรตามที่เราพูดกันมาหลายครั้งนี่นะคะ แล้วเราทำเพื่ออะไร แล้วเราก็เห็นว่ามันเกิดประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรทำ นี่เป็นปัญญาที่เราได้ฟัง แล้วก็รู้ แล้วก็เห็นว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็จะมีสัมมาสังกัปปะ ความตั้งใจที่จะทำ ซึ่งนี่เป็นองค์แห่งปัญญา จากนั้นก็มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ การกระทำ สัมมาอาชีวะ การดำรงตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง นี่เป็นเรื่องของศีล ซึ่งก็อยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดนี่แหละ เสร็จแล้วก็สัมมาวายามะ ความพากเพียรอย่างเด็ดเดี่ยวอาจหาญ จะต้องทำให้ได้ให้สำเร็จ แล้วก็สัมมาสติ ระลึกรู้ถูกต้อง ก็คือนำเอาปัญญามาใช้ถูกต้องทันท่วงทีในทุกกรณี เสร็จแล้วก็สัมมาสมาธิ ตั้งมั่น ตั้งมั่นที่จะทำอย่างไม่ถอยหลัง ยังไงๆ ก็จะต้องทำมั่นคงในการทำต่อไป นี่ก็เป็นองค์แห่งสมาธิใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น ก็เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปดก็มีพร้อมอยู่ในนี้แล้วด้วย แต่การที่จะสัมฤทธิ์ผลไปได้ต้องอาศัยอิทธิบาทสี่ อย่างที่เราเคยพูดกัน เพราะอิทธิบาทสี่คือเป็นบาทฐานของความสำเร็จในการทำการงานทุกชนิด ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเราทุ่มเทการปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยอิทธิบาทสี่ เริ่มต้นด้วยความรัก เพราะมองเห็นคุณค่าของมันแล้วว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วก็เริ่มต้นต่อไปด้วยวิริยะพากเพียรเอาให้เต็มที่ จิตตะ จดจ่อ ไม่ถดถอยไปจากเรื่องของสมาธิภาวนา วิมังสา หาทางแก้ไขปรับปรุงให้การปฏิบัตินั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นๆๆ ถ้าอิทธิบาทสี่นี่มั่นคง แล้วก็ยิ่งก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ก็แน่นอนที่สุด ผลที่สุดก็จะ นิวรณ์ทั้งหลายเข้ามารบกวนไม่ได้ เพราะว่าจิตใจมันมองเห็นชัดเสียแล้วว่า ไม่เห็นมีอะไรให้ยึดมั่นสักอย่าง นิวรณ์ที่มันเข้ามาได้ หรือตัวกิเลสที่มันเข้ามาได้ ก็เพราะว่ามันคิดว่าจริง นี่พอเรามีปัญญาชัดเจนแจ่มแจ้ง คม ตัดได้ นิวรณ์อะไรมันก็เกลี้ยง จิตมันก็สะอาด
ผู้ดำเนินรายการ : จำเป็นหรือไม่ที่ชาวพุทธทุกคนต้องถือศีล 5 แล้วก็จริงหรือไม่ที่ว่าถือศีลแล้ว เราทำผิดเพียงแค่เราคิดอยู่ในใจ ก็ถือว่าผิดแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือเรื่องของศีล 5 นี่นะคะ อยากจะบอกว่า ต้องเป็นศีลของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่ชาวพุทธเท่านั้น เพราะว่าเรื่องของศีล 5 นี่ จัดว่าเป็นสากลทีเดียว เป็นศีลสากล เพราะว่ารวมสรุปก็คือว่าไม่เบียดเบียน ถ้าสามารถที่จะรักษาศีล 5 ได้ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมทั้งตัวเราเองด้วยก็ไม่ทำให้ตัวเองต้องเจ็บปวด แล้วก็ไม่ลักขโมย แล้วก็ไม่ล่วงของรักผู้อื่น แล้วก็ไม่พูดจาที่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยประการทั้งปวง พูดแต่สิ่งที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์นะคะ แล้วก็ไม่ไปหลงใหลมัวเมาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนกระทั่งเสียการเสียงาน เกิดความเสียหายแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นพูดได้ว่า ศีล 5 นี่เป็นศีลที่ผู้เป็นมนุษย์ทุกคนพึงมี ไม่ว่าจีนไทยแขกฝรั่งทั้งนั้น ในความรู้สึกของครู รู้สึกว่าศีล 5 เป็นศีลสากล เป็นศีลสากลที่ไม่ขัดกันกับความเป็นมนุษย์ที่จะปฏิบัติได้ เพราะมันจะช่วยไม่ให้เกิดการเบียดเบียน
ที่นี้ถ้าถามว่า เพียงแต่คิดเท่านั้นก็ผิดศีลแล้วไหม ถ้าจะเอาผิดศีลจริงๆ นั่นนะ มันก็ต้องเริ่มต้นด้วยเจตนา คือต้องมีเจตนาซะก่อน เช่น มีเจตนาจะฆ่า แล้วเสร็จแล้วก็ลงมือ ลงมือกระทำที่จะฆ่า แล้วเสร็จแล้วสิ่งที่เราต้องการจะฆ่า จะเป็นคนเป็นสัตว์ก็ตาม ตายสมใจ นั่นเราก็ผิดครบบริบูรณ์ แต่ทีนี้ถ้าหากเพียงแต่คิดในใจ ยังไม่ได้ลงมือกระทำ มันก็ผิดในทางมโนกรรม คือมันเป็นความคิดที่อย่างน้อยผู้คิดก็รู้แล้วว่า นี่มันคิดไม่ถูก คิดสกปรก คิดเบียดเบียนคนอื่นเขา คิดฆ่าคนอื่นเขา แล้วตัวเองก็ไม่สบาย ถ้าเป็นคนที่ฝึกปฏิบัติธรรมอยู่ บางครั้งจะมีความเศร้าหมองเกิดขึ้นในใจด้วยซ้ำไป สลดสังเวชตัวเองว่า เราทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราได้มาศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าผิดไหม ก็คือมโนกรรม
ผู้ดำเนินรายการ : ไปสอดคล้องกับคำถามของอีกท่านหนึ่งนะครับ ถามว่า อยากให้ท่านอาจารย์ชี้แจงเกี่ยวกับการทำผิดศีล 5 รุนแรงถึงขนาดไหนจึงเรียกว่าผิดศีล เช่น บอกว่าถ้าเป็นมดตัวเล็กๆ นี่ ไม่ได้เจตนาบี้มันนี่จะถือว่าผิดศีลไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เรียกว่า ก็ไม่ถึงกับผิดเรื่ององค์ศีลทั้งหมด เพราะไม่มีเจตนา คือบางทีมดมันมาแล้วตัวมันเล็กแล้วเราก็ปัดไป โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็เรียกว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาท ความประมาทขาดสติ แล้วก็ไม่ควรจะประมาทขาดสติบ่อยๆ แล้วก็มาแก้ตัวว่าไม่ได้ตั้งใจ ถ้าอย่างนั้นละก็ มันมีความตั้งใจซ่อนอยู่ในนั้นโดยไม่รู้ตัว แต่ว่าเพื่อจะแก้ตัวก็เลยบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้นไม่ควรกระทำ
ผู้ดำเนินรายการ : อย่างข้อไม่ลักทรัพย์เขาบอกว่า ถ้าเป็นของของเพื่อนเรา เราหยิบไปใช้ก่อน แล้วเราค่อยมาคืนทีหลัง อันนี้ถือว่าไม่ลักทรัพย์ได้ไหม ถือว่ายังไม่ผิดศีลข้อ 2 ได้ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เรียกว่าด่างพร้อย ด่างพร้อยเพราะเหตุว่า..
ผู้ดำเนินรายการ : เราดันไปหยิบของเขาก่อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ คนเรามักจะอย่างนี้ มักจะนึกไม่เป็นไร ของเพื่อนเรา ของพี่เรา ของพ่อเราแม่เรา เอาไปใช้ก่อนได้ สตางค์กระเป๋าเดียวกันไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นอันนี้เราไม่รู้ว่าเจ้าของเขาเต็มใจหรือเปล่าที่จะอนุญาตให้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์สะอาดจริงๆ ไม่พึงกระทำ ควรจะขออนุญาตก่อน
ผู้ดำเนินรายการ : ข้อศีลข้อ 3 เขาบอกว่า อย่างเช่นถ้าเป็นแฟนกัน ยังไม่ได้แต่งงานกัน แต่ว่าไปหลับไปนอนด้วยกันแล้ว อย่างนี้เรียกว่าประพฤติผิดในกามไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าทั้งสองฝ่ายไม่มี ไม่มีผู้เป็นที่รักอยู่ก่อน เช่น ไม่ใช่สามีเขา ภรรยาเขา ไม่ใช่คู่รักเขาก่อน แล้วก็มีความตกลงใจกัน เรียกว่าปลงใจพร้อมกัน อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าผิด ในแง่ของศีลนะคะ แต่ถ้าพูดถึงความงดงามของขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละชาติ หรือแต่ละท้องถิ่น อันนั้นก็อาจจะไม่ถูกต้อง แต่ในแง่ของศีล ถ้าเป็นความตกลงพร้อมใจกันเอง ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการผิดศีล แต่ก็ควรจะให้อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง ที่ไม่ประเจิดประเจ้อ
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วพูดเล่นจนลืมเฉลยถือว่าพูดปดไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พูดเล่นจนลืมเฉลย ก็ถือว่าด่างพร้อยในข้อ 4 อีกเหมือนกันเพราะว่าในข้อ 4 นี่เรามักจะบอกว่า ถ้าไม่ขี้ปด คือถ้าไม่โกหก เราก็เป็นรักษาศีลข้อ 4 ถูกต้อง บริสุทธิ์ ความจริงไม่ใช่ เพราะในข้อ 4 นี่มันรวมหลายอย่าง ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเล่น ไม่พูดอะไรที่มันไม่มีแก่นสาร ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นข้อ 4 นี่ต้องพึงระวังไว้ให้มากๆ เลย
ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาธรรมะซึ่งท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ตอบให้ท่านผู้ชมที่มีข้อสงสัยทราบไปแล้วนะครับ ถ้าหากว่าท่านยังมีปัญหาธรรมะใดๆ ก็เขียนจดหมายมาถามกันได้ครับ