แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ช่วงต่อไปนี้เราจะไปกราบท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กันต่อนะครับ ไปถามถึงเรื่องของศีล ศีลห้านี่ครับ ว่าศีลข้อสี่ ข้อห้า ที่ยังค้างกันอยู่นั้นนะครับ เราจะปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อให้เป็นคนที่มีศีลครบสมบูรณ์กันต่อไปครับ ถ้าหากไม่พูดเล่นบ้าง ชีวิตก็อาจจะจืดชืด ซีเรียส มีหลักเกณฑ์ความเหมาะสมอย่างไรในการปฏิบัติครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะเขายังไม่ได้ลิ้มรสของความสงบ ความสุขที่เกิดจากความสงบ มันเป็นความสุขที่มีรสชาติยิ่งกว่าการพูดเล่นพูดหัว แล้วก็หัวเราะ แล้วก็เหน็ดเหนื่อย แล้วก็หมดแรง เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบก็ว่า เขาถามว่ามีขอบเขตอย่างไรใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ : มีหลักเกณฑ์ ความเหมาะสมอย่างไรครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อันแรกก็ลองถามดูว่า ที่เราพูดเล่นพูดหัวนี่นะคะ พูดเพื่ออะไร พูดเพื่อให้คนเขาหัวเราะ พูดเพื่อให้เขาอยากฟัง แล้วก็พูดเพื่อให้เขาชมตัวเราเอง ว่าเรานี่เป็นคนฉลาด มีเรื่องรอบรู้ช่างคุยช่างเล่า แล้วมีปฏิภาณไหวพริบ พูดไปพูดมามันก็ติดเสน่ห์เสียงตัวเอง มันก็เลยพูดเรื่อยๆ มันก็สนุก แล้วจนกระทั่งผลที่สุดก็ฟังไม่เป็น แล้วเดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่า มีคนพูดมากกว่าคนฟัง แล้วถ้าหากว่าใครเป็นคนที่รู้จักฟังคนอื่น คนนั้นจะมีเพื่อนมากเลย เพราะใครๆ ก็อยากมาพูดๆๆ ให้ฟัง เพราะอยากหาคนฟัง พอได้ฟังแล้วมันได้ระบาย เพราะฉะนั้นคนที่ชอบพูดเล่นพูดหัวเนี่ย ควรจะถามตัวเอง พูดทำไม เพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไรบ้าง แล้วก็มันอยู่ในนิวรณ์ตัวไหนหรือเปล่า ถ้าจะว่าไปแล้ว ลองนึกดูสิคะ มันอยู่ในนิวรณ์ตัวไหนที่เราเคยพูดกัน นิวรณ์ตัวไหนในสี่ห้าตัวนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : ย้ำคิดย้ำทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันก็อยู่ในพวกพูดเล่นพูดหัว มันก็ฟูฟ่อง สนุกสนาน อุทธัจจกุกกุจจะ สามารถจะเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นทำไมเราถึงไม่คิดที่จะสงวนเวลา เพื่อการพูดที่เกิดประโยชน์ อย่างที่เราพูดถึงความสูญเปล่า ความสูญเปล่าทางการศึกษา ความสูญเปล่าทางทรัพย์สินเงินทอง ความสูญเปล่าทางปัญญา และไม่นึกถึงความสูญเปล่าทางเวลาที่มันหมดไปเพราะการพูดเล่นพูดหัวบ้างหรือ ทำไมไม่ลองคิดดูในแง่ลบบ้าง ว่ามันได้ประโยชน์อะไร แล้วก็แน่นอนที่สุด ถ้าปรารถนาจะรับศีลห้าให้บริสุทธิ์ แล้วถ้ายังคงชอบพูดเล่นพูดหัวอยู่ ก็จะรับได้อย่างมากแค่สี่ข้อ แล้วก็ถ้าจะว่าไปข้อที่ห้าก็กระพร่องกระแพร่ง เพราะมันขาดสติ มันถึงได้ชอบพูดเล่นๆหัวๆ ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ไม่ได้สาระแก่นสาร เสียเวลาไปเปล่าๆ พอกลับมาถึงจะนั่งโต๊ะทำงาน เหนื่อยเสียแล้ว เหนื่อยเพราะพูด เหนื่อยเพราะหัวเราะ ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ผู้ดำเนินรายการ : อีกข้อหนึ่งนะครับถามว่า ศีลข้อห้า ห้ามดื่มสุราโดยมีจุดมุ่งหมายว่าเพื่อป้องกัน การขาดสติ อย่างนี้ถ้ากินเหล้าโดยไม่เมาไม่ขาดสติ จะถือว่าไม่บาปได้หรือไม่ นี่รวมทั้งผู้ถามด้วยนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าแน่ใจ ถ้าแน่ใจ แต่ว่าส่วนมากแล้วก็ 99% ที่คิดว่าไม่ขาด แต่ความจริงมันขาด เหล้ามันไม่เข้าใครออกใคร เราก็เคยเห็นคนที่เวลาดีๆไม่กล้าทำอะไร ที่มองดูแล้วมันน่าเกลียด แต่พอถึงเวลาเมาเข้าแล้วมันไม่รู้ตัว พอหายเมานึกไม่ถึงว่านี่เราหรือ เพราะฉะนั้นต้องให้คนเขาถ่ายรูปไว้ให้ดู
ผู้ดำเนินรายการ : มาอีกข้อหนึ่งนะครับ เรื่องนี้ถามว่า จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ทำอย่างไร มีอะไรเป็นตัววัดว่าเราได้รักษาอย่างบริสุทธิ์แล้ว มีขอบเขตอย่างไร โดยเฉพาะศีลห้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นต้องเริ่มต้นด้วย การรักษาศีลอย่างที่ท่านเรียกว่า สมาทาน คือรักษาศีลด้วยความเข้าใจในเหตุผล ทำไมเราจึงรักษาศีล คือมีสัมมาทิฏฐิในการรักษาศีล ไม่ใช่รักษาศีลด้วยอุปาทาน ถ้ารักษาศีลด้วยอุปาทานก็คือรักษาเพื่อยึดมั่นถือมั่นในความเป็นคนมีศีล ใครๆ เขาจะได้ชมเรา ว่าเราเป็นคนมีศีล และเราก็จะได้ไปอวดใครๆเขาว่า วันนี้ฉันรับอุโบสถมา ฉันรับศีลแปดมา หรือว่าวันนี้ฉันรับศีลห้า ไม่ด่างพร้อยเลย แต่ที่มาคุยๆ ว่าไม่ด่างพร้อย รู้ไหม ข้อไหนมันด่างแล้ว ข้อไหน
ผู้ดำเนินรายการ : ข้อสี่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ข้อสี่มันด่างไปแล้ว เพราะมันเที่ยวอวดเขาแล้ว นี่มันรักษาศีลเพื่อประดับตัวเอง เพื่อศักดิ์เพื่อศรี อย่างนี้มันก็เป็นการรักษาศีลด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เอาศีลที่ไปรักษามา ที่ไปรับมานี่ ไปเที่ยวเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็มักจะไปค่อนขอด คนนั้นก็ข้อนั้นไม่บริสุทธิ์ ข้อนี้ไม่บริสุทธิ์ ของฉันนี่บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพราะฉะนั้นถ้าจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ละก็ ต้องรู้จุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อควบคุมกายให้ปกติ ควบคุมวาจาให้ปกติ ซึ่งมันก็จะช่วยควบคุมใจนี่ให้คิดอยู่ในทางถูกต้องด้วย คือมันประกอบกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะรักษาศีลด้วยสมาทาน มันจะมีสัมมาทิฏฐิ คือมีความคิดถูกต้อง แล้วเสร็จแล้วมันก็จะควบคุมวาจาให้ถูกต้อง ควบคุมการกระทำให้ถูกต้อง เรียกว่าใช้สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งนำ
ผู้ดำเนินรายการ : ศีลห้าข้อ ข้อไหนที่เป็นหัวใจของศีล
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่เป็นข้อที่สำคัญที่สุดนั่นหรือ ก็คิดว่าถ้าหากว่ามีสติ แล้วก็จะสามารถรักษาศีลข้ออื่นๆ ให้บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้น ศีลข้อที่ห้า ที่บอกว่าอย่าลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสุดโต่ง เกินความพอดี จนทำให้ขาดสติ ไม่เฉพาะแต่เพียงไปเสพสุรายาเมา หรือเสพสิ่งเสพติดเท่านั้น ถ้าขาดสติแล้วจะไม่สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องศีลข้อห้า นี่ไม่เฉพาะเรื่องของดื่มสุรา แต่เป็นเรื่องของการทำอะไรที่ไม่ขาดสติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คืออย่างเช่น เราหลงใหลในการดูโทรทัศน์ จนกระทั่งลืมการลืมงาน ลืมการเรียนสำหรับพวกเด็กๆ การบ้านก็ไม่อยากทำ ไม่อยากกิน ไม่อยากนอน นั่นก็เรียกว่าเป็นการลุ่มหลงจนขาดสติ
ผู้ดำเนินรายการ : ถามว่าทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะที่แท้จริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา ใจ แล้วก็เมื่อเราบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ก็จะมีความเมตตากรุณา มันเกิดขึ้นมาเองในใจ พรหมวิหารสี่มันจะมีอยู่เอง ก็จะเป็นพุทธมามกะได้
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ต้องไปขอ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าจะไปทำพิธีนะหรือ อันนั้นก็เป็นอีกอันนึง ก็ต้องไป ถ้าผู้ใดต้องการจะไปทำพิธี ก็ต้องไปหาพระสงฆ์ที่เคารพ แล้วท่านก็จะแนะนำ วิธีที่จะปฏิบัติตัวหรือปฏิญาณตัวเป็นพุทธมามกะ
ผู้ดำเนินรายการ : การทำทานอะไรจึงมีอานิสงส์มาก คือได้บุญมากๆ แล้วก็ต้องทำกับใคร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทานที่มีอานิสงส์สูงสุดก็คือ อภัยทาน อภัยทาน อภัยทานนี่เป็นทานที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ เพราะอะไร ก็เพราะว่าเป็นทานที่ทำได้ยากที่สุด ใช่ไหม การที่จะให้อภัยเขา ไม่ต้องควักกระเป๋าเลย ไม่ต้องไปหาเงินหาทองมา แต่ทำยากที่สุด อภัยให้ไม่ได้ เพราะมันโกรธ มันเกลียด มันแค้นจับอกจับใจ อภัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่า ถ้าผู้ใดสามารถทำอภัยทานได้ นั่นแหละเป็นทานสูงสุด ท่านทรงสรรเสริญ ท่านสาธุการ
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์อย่างนี้ทำให้นึกถึงมีบางคนเขาบอกว่า โกรธกันที่ว่าตาย ศพก็ยังไม่ยอมเผา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นแหละเพราะเขาไม่ยอม ไม่ยอมอภัย แล้วในใจก็เต็มไปด้วยความพยาบาทอาฆาต พอเอ่ยถึงคนๆนี้เมื่อไหร่ ใจก็ร้อน ร้อนอย่างกับนรก เป็นไฟนรกอยู่ในใจ แล้วมีประโยชน์อะไร ที่จะรักษาความรู้สึกอย่างนั้นเอาไว้ มันควรที่จะแก้ไขบริจาคมันออกไปเสีย บริจาคความโกรธ บริจาคความโลภ ความหลง นี่แหละจึงจะสามารถทำอภัยทานได้
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าอย่างนั้นขั้นตอน คือถ้าสมมติมีขั้นตอนอะไรไหมครับ ทำให้รู้สึกว่าเราอยากอภัยให้ผู้อื่น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อันแรกก็ด้วยการแผ่เมตตา นี่ไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แล้วก็หมั่นแผ่เมตตากรุณา แล้วก็หมั่นศึกษาในเรื่องของกฎธรรมชาติ ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่มันจะเที่ยงคงทนอย่างที่เราคิดเลย แม้คนที่เราเกลียด การกระทำที่เราไม่ชอบ ที่ไม่น่าดู มันก็เพียงเกิด-ดับ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่อยู่นิ่ง แต่สัญญาของเราที่จำเอาไว้ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมปล่อย ที่ทำให้เราแค้นไม่รู้จบ แล้วมันไม่ได้ทำร้ายใคร มันทำร้ายตัวเราเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ตรงไหนครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตรงไหน ก็จิตใจเราก็ไม่มีความสงบ มันก็เหมือนกับนรกเผาอยู่ตลอดเวลา พอนึกขึ้นมาทีไร มันฮึดฮัด มันไม่สบายเลย เพราะฉะนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องแผ่เมตตา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ แผ่เมตตา แล้วก็ปฏิบัติสมาธิภาวนาอานาปานสติทั้งสี่หมวดตามลำดับนี่ โดยเฉพาะในหมวดธัมมานุปัสสนาภาวนาให้มากๆ ผลที่สุด พอมันผ่อนคลายจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ถึงนิโรธ ถึงปฏินิสสัคคะ สลัดคืนไปหมด มันก็ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ความโกรธ ความแค้น ความไม่ชอบ มันก็ไม่เหลือ มันก็หมดไป
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แนะนำถึงเรื่องของศีลห้าแล้วจบด้วยเรื่องของการแผ่เมตตานะครับ ถ้าใครทำอะไรให้เราไม่ถูกใจ ก็แผ่เมตตาให้มากๆขึ้นนะครับ แล้วชีวิตของเราก็จะมีความสุขขึ้นนะครับ