แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องของการเดินจงกรมหรือการฝึกสมาธิเป็นปัญหาหนึ่งของพวกเราที่ฝึกสมาธิกัน เราจะไปคุยกับท่านอาจารย์คุณรัญจวนถึงเรื่องนี้กันนะครับ การเดินจงกรมนั้นควรระลึกเพียงลมหายใจเข้าออก หรือว่าระลึกเพียงแต่ว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนี้แล้วแต่ว่าใช้วิธีไหน ถ้าสมมติว่าเขาใช้แบบที่เรียกว่ายุบหนอ พองหนอ เขาก็จะต้องนึกว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ เดินหนอ ยกหนอ อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าใช้อานาปานสติ คือลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด ก็ไม่ต้องไปพูดหรือบริกรรม ให้จิตนี้กำหนดอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว แล้วก็ไม่ต้องใส่ใจกับเท้า ไม่ว่าเท้าจะซ้ายก้าวก่อน หรือขวาก้าวก่อน ก็ไม่เป็นไร หรือเวลาเดิน มันจะเร็วไปบ้าง ช้าไปบ้าง เท้ามันจะตีกันไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร ให้พยายามกำหนดจิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าและออก ถ้าใช้อานาปานสตินะคะ แล้วถ้าพอเดิน ๆ ไป มันยาก มันยากกว่า ก็ไม่มีอะไรที่จะให้จับนอกจากรู้สึก เพราะฉะนั้นถ้าเดินไปแล้วมันจิตไม่สงบ ก็ให้หยุดยืน หยุดยืนแล้วก็หายใจเข้าออก ควบคุมให้ได้ จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตสงบก็ค่อย ๆ เดินต่อ แล้วถึงเวลาที่จะหมุนซ้ายหรือหมุนขวา ก็หมุนได้อีกเหมือนกัน คือจะกลับ หันกลับนี่ จะหมุนซ้ายก่อนขวาก่อนได้ทั้งนั้น ถ้าพอหมุนเสร็จแล้วรู้สึกว่าจิตยังไม่สงบก็ยืนก่อน ยืนควบคุมลมหายใจเข้าและออก รู้เข้ารู้ออกจนชัดจึงเดินต่อ นี่เป็นวิธีการเดินแบบอานาปานสติ กำหนดอยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียว
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วมือละครับควรจะไว้ตรงไหน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มือนี่ถ้าโดยปกติแล้วก็มีความรู้สึก ถ้าเราเอาไว้ข้างหน้านะคะ ไม่ต้องมากุมไว้ทางนี้ นี่เราเอาไว้สักอย่างนี้ ประสานกันอย่างนี้ แล้วเวลาเดินรู้สึกว่ามันมีความสำรวมดี แล้วมันมีความสมดุล แต่แกว่งแขนนี่ก็ขอไม่แกว่งแน่นอน เพราะการแกว่งแขวนมันทำให้มีความเคลื่อนไหว ขาดความสำรวมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเอาไว้อย่างนี้รู้สึกดี
ผู้ดำเนินรายการ : อีกท่านหนึ่งที่ถามบอกว่า การเดินนั้นกำหนดสติอยู่ที่เท้าหรือที่ลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่ลมหายใจถ้าใช้อานาปานสติ โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงเท้า เพราะว่าพอลมหายใจมันสงบ แล้วจิตมักควบคุมลมหายใจได้ ไอ้เท้าที่มันก้าวอย่างกวัดแกว่งหรือไม่สม่ำเสมอ มันจะค่อย ๆ เป็นธรรมชาติไปเอง ทีละน้อย ไอ้ที่ทีแรกมันก้าวไม่เรียบร้อย เพราะใจยังไม่สงบ พอสงบเข้า ทุกอย่างมันจะสงบไปหมด เพราะว่ากายลมมันอะไร เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งกายเนื้อใช่ไหม พอลมหายใจสงบ กายเนื้อมันสงบ รวมทั้งการเดินเท้านี่มันก็สงบไปด้วย
ผู้ดำเนินรายการ : มีผู้ถามอีกท่านบอกว่านั่งสมาธิ แล้วนอนสมาธิได้ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็นอนได้ ก็ถึงเวลานอนไง ถึงเวลานอนก็นอนสมาธิ แต่ว่าเวลาธรรมดานั้นไม่ควรจะเอามานอน เพราะว่าถ้านอนแล้วประเดี๋ยวก็จะเป็นข้อแก้ตัวว่า อุ๊ย ฉันนอนปฏิบัติสมาธินะตอนนี้ แล้วมันก็เลยนอนหลับไป เพราะฉะนั้นถ้าจะนอนสมาธิ ก็ใช้เมื่อถึงเวลานอน
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วการกำหนดลมหายใจ มันจะคล่องเหมือนกับเรานั่งสมาธิหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ ถ้าเราฝึกอยู่เสมอแล้ว ท่านอนนอนท่าสบาย คือนอนนี่อย่าทับแขนอย่าทับขา เราก็นอน สมมติว่าเรานอนหงายอย่างเรียบร้อยนะคะ แล้วมือนี่เราก็แบ หรือถ้าหากว่าเราจะนอนตะแคง เราก็ตะแคงขวา ถ้าเราจะนอนตะแคงนะ เราก็ตะแคงขวา พอตะแคงขวาแล้วก็อย่าให้มันทับ แล้วเราก็กำหนดให้ลมหายใจนี้เข้าและออก เข้าและออก ก็จะไม่เป็นอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : อย่างนั้นการหายใจก็จะไม่ติดขัด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ติดขัดค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ได้มาฝึกที่สวนโมกข์นะครับ ฝึกได้ประมาณห้าวัน พอวันที่หกก็เริ่มคิดฟุ้งซ่าน คิดไปเกือบทุกชนิด คิดข้ามจังหวัดไปด้วย บางวันหัวเราะจนเกือบอดไม่ได้ บางวันก็ร้องไห้ เมื่อคืนสุดท้ายนี้เขาบอกว่าตื่นตีสามขึ้นมานั่งสมาธิแล้วก็ร้องไห้ คิดถึงเรื่องในอดีต
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หมายความว่าอะไร ก็หมายความว่ากำลังเริ่มคิดถึงบ้าน เพราะว่ามันกำลังถึงวันจะกลับบ้าน ก็เกิดวิตกกังวลไปล่วงหน้ากับปัญหาที่บ้านที่เคยมีอยู่ แล้วก็เลยขาดสติ ที่บอกว่าปฏิบัติได้ดีห้าวันแรกใช่ไหมคะ มันก็ไม่น่าเชื่อ เพราะว่าถ้าปฏิบัติได้ดีจริง ๆ ห้าวันแรกแล้วละก็ มันจะต้องมีความมั่นคงในใจ แล้วมันจะมีความกล้าหาญ เรียกว่าอาจหาญ ว่า เออ นี่เรากำลังจะไปพบกับปัญหาที่บ้าน ที่ทำงาน หรือปัญหาครอบครัวอะไรก็แล้วแต่ เราจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร จะได้รู้จักเอาธรรมะเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าทำได้ห้าวันนี่ สงสัยว่าอาจจะเข้าใจผิดไปบ้างก็ได้ อาจจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาจะกลับบ้าน มันถึงได้มานั่งร้องไห้ เสียใจ คิดถึง กลัว ๆ เกิดกลัวไปล่วงหน้า นี่เรียกว่าอยู่ในอาการของโมหะ โมหะคือความหลง แล้วก็ถีนมิทธะนี่แน่นอน เห็นไหม วนเวียน ๆ อยู่กับความรู้สึกอันนั้นตลอดเวลาเลย ไม่สบายใจเลย เพราะฉะนั้นนี่ขาดสติอย่างไม่รู้ตัว
ถึงได้บอกว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาต้องต่อเนื่องทุกขณะ อย่างที่เคยพูดว่าทุกขณะนี่มันติดต่อกัน เร็วช้าแค่ไหนไม่มีขาดตอนเลย ต้องไม่มีขาดตอนเลย ถ้าไม่ขาดตอนเลย สติมันจะอยู่ มันก็จะเตือนตัวเองได้ว่า ร้องไห้ทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันไม่มีอะไรเที่ยง เราทำไมไม่ใช้สติปัญญาไปแก้ไขปัญหา นี้อยากจะให้ทราบถึงความสำคัญของการปฏิบัติว่าต้องต่อเนื่องอย่างนี้ ถ้าต่อเนื่องอย่างนี้ มันจะเหมือนกับเราสร้างกำแพงหรือป้อมปราการที่จะคอยป้องกันอันตรายทั้งหลาย ศัตรูจะเข้ามาจู่โจมไม่ได้ มันไม่มีช่องโหว่ช่องว่าง แต่ขณะใดที่เราลืม เราไม่สามารถจะกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจได้ นั่นคือการปล่อยช่องโหว่ให้ศัตรูเข้าจู่โจมได้ ศัตรูนี้ก็คือกิเลสนั่นแหละ แล้วก็ตัณหาอุปาทานทั้งหลายที่มันพร้อม พวกนี้มันพร้อม มันเตรียมตัวพร้อม ใครเผลอเมื่อไหร่มันเข้าโจมตีทันที เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่มีสติปัญญาจึงประมาทไม่ได้
องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้ตรัสแม้ในคำสุดท้าย ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานใช่ไหม ว่าท่านทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่างในบทสวดมนต์ปัจฉิมโอวาท ฉะนั้นอยากจะขอให้ทุกท่านที่สนใจการปฏิบัติสมาธิภาวนา ระมัดระวัง ระมัดระวังจิตให้จงหนักเลย ทุกขณะ อยู่กับลมหายใจให้ได้ แล้วจะไม่มีผลเป็นอย่างนี้ มันจะกลับไปด้วยความเบิกบาน พร้อมกับความกล้าหาญ อย่างน้อย ๆ สักอาทิตย์หนึ่งที่มันจะต่อสู้ได้ใช่ไหม พลังที่เราเติมไป นี่อะไรยังไม่ทันออกเลย ยังไม่ทันออกจากสวนโมกข์เลย พลังหายไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นให้หันมาทบทวน ทบทวนการปฏิบัติของตนใหม่ ว่ามันไปบกพร่องหรือไปอ่อนแออยู่ตรงไหน แก้ไขทันที
ผู้ดำเนินรายการ : หลายท่านบอกว่า เวลามาวัด หรืออย่างมาสวนโมกข์นี้ครับ ได้สัมผัสกับธรรมชาติก็สบาย กลับไปกรุงเทพก็กลับทำไม่ได้อีกแล้ว มันขาดช่วงไป สิ่งที่ชาร์จใส่ตัวไปมันใช้ไม่ได้พอไปถึงกรุงเทพ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช้ไม่ได้ เพราะว่าเครื่องชาร์จมันก็เซาะ มันก็ชำรุด ที่ว่าเอามาชาร์จนี่มันก็รั่ว ๆ ไหล ๆ มันก็ไม่ติดไปสักเท่าไหร่เครื่องชาร์จนี่ แล้วก็เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นที่ว่าพอมาถึงสวนโมกเข้าแล้วมันสบาย ก็ขอให้รู้เถิดว่า ที่สบายเพราะว่าได้ทิ้งของฉันเอาไว้ที่โน่น ที่บ้าน ที่กรุงเทพ ไม่ได้หอบมาด้วย แต่ก็ยังหอบตัวฉันมา เหมือนอย่างเจ้าของปัญหาเมื่อกี้นี้ หอบตัวฉันมา เพราะฉะนั้นพอจะกลับก็นึกถึงแต่ปัญหาของเรื่องตัวฉัน นี่เห็นไหม ถึงได้บอกว่าเรื่องความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนมันร้ายกาจที่สุด มันทำให้มนุษย์เราไม่สามารถจะสลัดอะไรทิ้งออกไปได้เลยที่เป็นปัญหาและความทุกข์ เพราะมันนึกถึงแต่เรื่องตัวฉัน ของฉัน พ่อฉัน แม่ฉัน พี่น้อง รวมทั้งทรัพย์สมบัติ ตำแหน่งการงาน ทุกอย่าง เพราะอะไรเป็นของฉัน มันก็มาหนัก หนักอยู่ในอก หนักอยู่ในอกแบกไม่ไหว นี่ตัวผอม ๆ อย่างเจ้าเลิศนี้ แล้วก็ตัวสูง ๆ อย่างนี้ ถ้ามีของฉันมาก ๆ แล้วละก็ มันเตี้ยลง ๆ ๆ อะไรเตี้ยลง รู้ไหม อะไรเตี้ยลง ใจมันเตี้ยลง ตัวสูงนี่ก็จริงนะ เดินสูง แต่ใจข้างในเตี้ยลง ๆ อยู่เรี่ยดินตลอดเวลา นี่ก็เพราะความหนักไง หนักของการแบกภาระที่เป็นของฉัน
เพราะฉะนั้นไอ้ความยึดมั่นในตัวตน ท่านถึงบอกว่าจะต้องศึกษาให้เข้าถึงสภาวะของอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่ว่าเป็นยอดของคำสอน ให้รู้ถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็เพื่อจะได้สามารถแก้ไขขัดเกลาความยึดมั่นในความเป็นตัวตน ที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย ให้ลดลงให้ได้ นี้คือตัวตน ฉะนั้นพอกลับไปถึง มันก็ไปพบตัวตน ข้าวของทั้งหลายที่วางไว้ระเกะระกะ ก็เก็บมาแบกใหม่ มันก็หนัก มันก็เหน็ดเหนื่อยใหม่ แล้วระหว่างที่มาที่สวนโมกข์ อาจจะนึกว่ามาพักผ่อน มาเที่ยว มาตากอากาศ มาสบาย ๆ เปลี่ยนบรรยากาศ เพราะฉะนั้นไม่ได้ใส่ใจในการปฏิบัติธรรม เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นสวนโมกข์จะเกิดขึ้นได้ในใจของผู้ใดก็ตามเมื่อผู้นั้นนำเอาไปปฏิบัติ มันถึงจะมีโมกขะ คือความเกลี้ยงจากกิเลสตัณหาอุปาทานได้
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ ไปวัดก็อย่าเพียงไปเพื่อทำบุญ หรือไปเพื่อความสบายใจนะครับ ไปเก็บหลักธรรมะดี ๆ มาฝึกฝนตัวเราเองกันบ้างนะครับ เพื่อจิตใจของเราจะได้สงบ แล้วก็มีความสุขในที่สุดกัน