แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาหลายปัญหาของการฝึกสมาธิ ของการสวดมนต์ภาวนานี้ก็ต่างกัน นี้เป็นการสวดมนต์ บางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี่นะครับ เวลาสวดมนต์เราอัดเทปไว้ได้ไหมครับ แล้วก็ตั้งจิตสมาธิตามไป ผมว่าเราต้องไปฟังคำตอบจากท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันดีกว่านะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือการที่เราฟังเทปสวดมนต์ใช่ไหมคะ แล้วก็สวดตาม ถ้าสวดตามด้วย ในขณะที่สวดตาม ไม่ได้สวดแต่ปาก แต่ว่าใจนั้นมันใคร่ครวญตามถ้อยคำไปด้วย อย่างนี้ท่านก็บอกว่าเราจะเกิดปัญญา เพราะมันเป็นเหมือนกับวิปัสสนา เพราะว่าในความหมายของบทสวดมนต์แต่ละบทนี่ ล้วนแล้วแต่จะสอนให้รู้ว่ามันไม่มีอะไรเที่ยง คือสอนเรื่องกฎไตรลักษณ์นี่ ชัดเจนเลย ไม่มีอะไรเที่ยง แล้วก็ไม่มีอะไรทนอยู่ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนจริง ๆ เลยสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายในเรื่องไหน แล้วก็จะทำให้ใจของเรานี้มีความกล้าหาญที่จะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นถ้าหากว่าฟังตามแล้วใคร่ครวญตาม จะได้ประโยชน์ในการเกิดปัญญาในทางธรรม ทีนี้ถ้าถามว่าเป็นกุศลไหม มันก็เกิดกุศลจิต คือจิตมันจะน้อมไปในทางธรรม มันไม่เป็นอกุศลจิตที่จะน้อมไปในทางกิเลส มันจะน้อมไปในทางธรรม แต่ถ้าจะมาฟังเทปสวดมนต์ แล้วก็สวดตาม เพราะหวังว่าฉันได้บุญ ถ้าอย่างนั้นแล้วก็เรียกว่าไม่ได้ใช้ปัญญา แล้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ก็จะเป็นการสวดเหมือนนกแก้วนกขุนทอง มีความอดทนสวดเพื่อหวังว่าจะได้บุญ และบางทีก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบุญคืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าอย่างนั้นคงต้องอธิบายต่อแล้วครับว่า บุญคืออะไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บุญก็คือความสบายใจ คือทำแล้วมันเกิดความสบายใจ แต่ถ้าหากความสบายใจนี้ มันเป็นความสบายใจเฉย ๆ เหมือนกับเพื่อพักผ่อนเท่านั้นเอง มันก็น้อยไป ถ้ามันเป็นความสบายใจที่มันเป็นกุศล คือมันทำให้เราเกิดสติ สมาธิ ปัญญา แล้วก็รู้ว่าจะได้นำสติ สมาธิ ปัญญานั้นมาแก้ไขปัญหาของความทุกข์อย่างไร รู้ไปจนกระทั่งมองเห็นเหตุของความทุกข์ ว่าต้นเหตุความทุกข์จริง ๆ ก็เพราะยึดมั่นในตัวตนนี้ แล้วก็ดูไป ศึกษาไป ใคร่ครวญไป จนเห็นเข้าถึงความเป็นอนัตตา นั่นก็จะหมายความว่าเป็นบุญอันสูงสุด แต่ถ้าหากว่า โอ้ สบายใจดี มันก็บุญเรี่ย ๆ เรี่ย ๆ ดินอยู่แค่นั้น
ผู้ดำเนินรายการ : อ้าว ไม่ใช่อย่างที่คนเฒ่าคนแก่บอก ไปวัดทำบุญอะไรต่าง ๆ เก็บเป็นผลบุญไว้ เผื่อชาติหน้าได้นำกลับไปใช้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันก็ดี มันก็ดีกว่าไปเก็บอย่างอื่นนะคะ หรือว่าเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไร้สาระ มันก็ยังดีกว่า แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราได้รับคำสอน คำแนะนำที่ถูกต้อง เราก็จะรู้ได้ว่า เราไม่จำเป็นจะต้องคอยไปถึงชาติหน้า เพราะชาติหน้าเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึง แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าชาติหน้าเราจะได้อะไร ๆ อย่างที่เราสะสมไว้เดี๋ยวนี้ มันจะมีใครมาจี้เอากลางทาง เราก็ไม่รู้เหมือนกันใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเรื่องของชาติหน้า ชาติก่อนนี่ ครูไม่ได้ปฏิเสธว่าจริงหรือไม่จริงอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่กล้าที่จะบอกว่าจริง ๆ เพราะครูเองก็ยังไม่รู้ ไม่รู้ชาติก่อน ชาติหน้าของตัวเองเลยใช่ไหมคะ แต่เราแน่ใจชาตินี้ คือเราแน่ใจชาตินี้ เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันขณะนี้ ถ้าเราทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วล่ะก็ เราต้องได้รับผลที่ถูกต้อง คือจิตไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ปัจจุบันขณะนี้ก็คือเข้าสู่อนาคต อนาคตมันก็เหมือนกับชาติหน้าของเรา แล้วก็เป็นชาติหน้าที่เรารู้ได้ เห็นได้ พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง มันไม่ดีกว่าหรือ นี่ก็อยากจะชวนให้ทุกท่านลองคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราทำเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันขณะนี้ให้ดีที่สุด แล้วก็เราก็ได้เดี๋ยวนี้ดีที่สุด มันจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะมันเห็นผลทันตา มันชื่นใจกว่าที่จะไปคอยชาติหน้าที่ไม่รู้เมื่อไหร่และเป็นอะไร จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่เดี๋ยวนี้มันจริง ๆ เราพิสูจน์ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ถ้าอย่างนั้น อย่างรายที่ถามเมื่อคราวที่แล้ว ที่ถามว่านั่งสมาธิแล้วเห็นนิมิตอะไรต่าง ๆ เห็นอดีตต่าง ๆ นี่ เป็นไปได้ไหมครับว่าเขามีความรู้สึกไปผูกพันกับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็มันคงเป็นอยู่ที่ในจิตใต้สำนึกของเขา เขาไปนึกถึงสัญญาเดิม ๆ ที่มันผ่านมา ก็ไม่ต้องไปผ่านในชาติก่อนหรอก ก็เวลาล่วงเลยผ่านมาตามอายุของเขา เขาจะอายุ 20 30 50 60 ก็ตามประสบการณ์ของชีวิต คืออดีตชาติ ก็ชาติปัจจุบันนี้แหละ อดีตของขณะที่ยังหายใจอยู่นี่ มันผ่านมาแล้วก็ซึมซับเอาไว้ อย่างที่ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แล้วเสร็จแล้วพอจิตสงบ มันก็มีโอกาสโผล่ขึ้นมา เหมือนอย่างที่เราเปรียบว่า สภาพของจิต ถ้าวุ่นวายก็เหมือนกับน้ำกระเพื่อม นึกออกไหม ที่เรานั่งข้างสระหรือข้างคลอง น้ำกระเพื่อม มันก็มองไม่เห็นข้างล่าง แต่ถ้าหากว่าน้ำมันใส แล้วมันก็นิ่ง ก็สามารถมองเห็นข้างล่าง นี่ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่จิตมันสงบนิ่ง โอกาสอะไรที่มันเก็บ ๆ เอาไว้ ซับซ้อนไว้ มันก็มีโอกาสที่จะโผล่ ยิ่งจิตที่มันพัวพัน แล้วก็ผูกพันมาก มันก็มีโอกาสจะขึ้นมาให้เห็น เพราะฉะนั้น พอมันขึ้นมาให้เห็น จะว่าดีก็ดีนะคะ จะว่าดีในแง่ที่ว่า เออ เราจะได้ศึกษามันว่า สิ่งนี้นี่มันเป็นสิ่งที่เมื่อตอนนั้นเราทุกข์แทบเลือดตากระเด็น บัดนี้มันโผล่มาให้เราเห็นอีก เราจะร้องไห้อย่างนั้นอีกไหม ถ้าหากว่าเราได้ใช้สติปัญญา เราก็จะ โอ้ย มันเป็นเพียงสิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันไม่มีอะไรเที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนสักอย่าง อาศัยปัญญาดูนิมิตที่เกิดขึ้น นิมิตอันนั้นมันก็จะหายไป แล้วมันก็จะไม่กลับมาทำร้ายรบกวนเราอีก
ผู้ดำเนินรายการ : อิทัปปัจจยตานี่คืออะไร แล้วปฏิจจสมุปบาทกับอิทัปปัจจยตานี่ กฎอันเดียวกันหรือไม่ อยากให้อธิบายโดยเฉพาะเรื่องของอิทัปปัจจยตา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อิทัปปัจจยตานะคะ ถ้าแปลตามศัพท์ก็หมายความว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี นั่นก็คือว่า เมื่อเหตุอย่างใด ผลก็เป็นอย่างนั้น เมื่อสิ่งนี้มี เช่นสมมติว่า เอาง่าย ๆ ถ้าอุปาทานมี ไอ้สิ่งนี้ก็มี ผลก็คือความทุกข์ มันต้องมีแน่ถ้ามีอุปาทาน ทีนี้เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่ออุปาทานไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นอิทัปปัจจยตาก็คือเป็นกฎแห่งเหตุและผล ที่จะบอกให้มนุษย์รู้ว่าชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ค่ะ ไม่ว่าต้นหมากรากไม้ ภูเขา น้ำ ฟ้า ทะเลอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันล้วนแล้วเกิดขึ้นและเป็นอยู่ตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอย ๆ เพราะคนเรามักจะนึกอยากให้นั่นมี นี่ไม่มี นั่นไป นี่อยู่ ตามใจของตัวเอง นี่ไม่ใช่กฎอิทัปปัจจยตา นั่นมันเป็นไปตามใจคิดของกิเลสตัณหา ที่อยากจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นกฎของอิทัปปัจจยตาจึงเป็นกฎแห่งเหตุและผล
แล้วถ้ามนุษย์เราหันมาศึกษากฎอิทัปปัจจยตา ด้วยสติและปัญญา ด้วยการวางใจเป็นกลาง เอาอคติอะไรต่ออะไรออกไปเสียก่อน เราจะเห็นอิทัปปัจจยตา อย่างวันนี้เห็นไหม เห็นอิทัปปัจจยตาไหม วันนี้เห็นไหม ตั้งแต่เช้าลืมตาขึ้นมา ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับอิทัปปัจจยตาอะไรบ้างจนเดี๋ยวนี้ นี่อย่างเรานึกว่า ทำไมเราถึงได้มีโอกาสมานั่งพูดกันตรงนี้ได้ นี่มันเกี่ยวอะไรกับกฎอิทัปปัจจยตาไหม เกี่ยวไหม มองเห็นไหม เพราะอะไรที่เรามานั่งพูดกันอยู่ตรงนี้ได้ นี่เพราะอะไร เพราะมันมีแสงแดด มีอากาศดี อากาศโปร่ง ฝนไม่ตก ทำไมจึงมีแสงแดดล่ะ แสงแดดนี่เป็นเหตุที่ทำให้เรามีความสบาย มีความแห้ง คือไม่มีฝนมาตกให้เปียก เราจึงได้มานั่งพูดกันตรงนี้ได้ ทีนี้ถ้าเราย้อน ย้อนรอยสืบสาวกฎอิทัปปัจจยตาว่า แล้วทำไมถึงมีแสงแดด ทำไมวันนี้ถึงมีแดดจ้า ได้ตากเสื่อ ตากเสื้อ ตากผ้ากัน ทำไม อ๋อ ดวงอาทิตย์นี่มีมาก่อน แล้วก็มีมานาน ได้ จะตอบอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่า แหม มันกระโดดเหลือเกิน มันกระโดดมากเกินไป อย่างน้อยเราก็มองดูว่า ก็เพราะว่าที่มันมีแสงแดดจ้าได้นี่ ก็เพราะมันไม่มีเมฆใช่ไหม มันไม่มีเมฆ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี เมื่อไม่มีเมฆมันก็มีแสงแดดออกมาได้ พระอาทิตย์มีโอกาสที่จะส่องแสงได้เต็มที่เพราะไม่มีเมฆมาบดบัง ทีนี้ถ้าเราถามต่อไปอีก แล้วทำไมถึงไม่มีเมฆล่ะ เพราะอะไร นี่ก็นักวิทยาศาสตร์แล้วนะ ที่เราเรียนวิทยาศาสตร์มาแล้ว เราก็จะตอบได้ว่า เพราะมันไม่ได้มีไอน้ำมารวมตัวกันเข้าจับเป็นก้อนเมฆ แล้วเพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่ได้แตกกระจายออกมาเป็นฝน นี่คือลักษณะของกฎอิทัปปัจจยตา
เพราะฉะนั้นเราก็ดูได้ในอิทัปปัจจยตาในชีวิตประจำวัน แล้วทำไมวันนี้เราถึงได้ บางคนถึงได้มานั่งอย่างนี้ อย่างพวงทองนี้ ตอนนี้ทำไมถึงมานั่งตรงนี้ได้ มีอิทัปปัจจยตาอะไรที่พวงทองมานั่งได้ตรงนี้ อ๋อ ก็เพราะเวลานี้เผอิญภารกิจทั้งหลายมันหมดแล้ว ใช่ไหม นี่ถ้าพูดง่าย ๆ เอาสั้น ๆ อิทัปฯ สั้น ๆ ที่เราจะเห็นได้ง่าย ๆ เพราะตอนนี้ธุระที่จะต้องทำมันหมด ก็มีเวลาว่าง ก็เลยได้มานั่งอยู่ตรงนี้ ผลก็คือได้มานั่งคุยธรรมะกัน แล้วพอเราคุยธรรมะกันแล้วนี่ มันก็จะเป็นเหตุ การคุยธรรมะตอนนี้เป็นผล ต่อจากนั้นก็จะเป็นเหตุ เป็นเหตุอะไร เป็นเหตุให้เกิดผลอะไร ทำให้จิตใจเราสบายขึ้นใช่ไหม มีความรู้ มีจิตใจที่สบายขึ้น นี่ก็เป็นผล พอมีความรู้ในทางธรรม มีจิตใจที่สบายขึ้นเป็นเหตุ มันก็จะเป็นผลให้เรารู้จักการฝึกฝนอบรมใจปฏิบัติธรรม แล้วก็การฝึกฝนอบรมใจปฏิบัติธรรมนี่ก็เป็นเหตุ แล้วมันก็จะเป็นผลให้จิตใจของเรามีความสบาย สะอาด สว่างหมดจดยิ่งขึ้น นี่คือกฎอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นชีวิตของมนุษย์ทุกคนนี่ เราเกี่ยวข้องอยู่กับกฎอิทัปปัจจยตาทุกขณะเลย ไม่ว่าเรื่องเล็ก ๆ เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องถ่าย นี่พูดเอาเรื่องประจำตัวนะ มันเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น ทำไมวันนี้ถึงต้องวิ่งเข้าห้องน้ำตั้งแต่ลืมตา นี่บางคน เพราะอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะว่าทานเยอะไปหน่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นนะ เพราะว่าคงจะได้ไปรับประทานอะไรที่มันผิด ที่มันไม่เหมาะสมกับสุขภาพกระเพาะของเราอย่างนี้เป็นต้น นี่มันก็เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องถ่าย ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ นี่ก็อย่าประมาท อย่าคิดว่ามันไม่มีกฎอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นกฎอิทัปปัจจยตาจึงเป็นกฎที่ทั้งเกี่ยวกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งเรื่องที่ใหญ่ยิ่งในชีวิตของเรา อย่างคนทำงานนี่ก็มักจะบ่นว่า ไม่ชอบ ไม่สนุกในการทำงาน นี่ก็ให้ดูอิทัปปัจจยตา ว่ามันมีอะไรเป็นเหตุที่ทำให้รู้สึกไม่สนุกในการทำงาน ทำงานแล้วไม่สนุก หาเหตุทีเดียว แทนที่จะมานั่งว่า เพราะเขา เพราะนาย เพราะเพื่อน เพราะลูกน้อง เพราะงบประมาณ เพราะโน่น เพราะนี่ แทนที่จะไปนึกว่า เพราะโน่น เพราะนี่ หันมาศึกษาดูว่าเพราะอะไรที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าหากว่าเราศึกษากฎอิทัปปัจจยตาทุกอย่างอย่างนี้แล้ว เราจะรู้เลยว่า อ๋อ ชีวิตนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวตน ตัวฉัน หรือว่าตัวเขา แต่มันขึ้นอยู่กับอะไร เหตุและปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยนี่ ที่มันมีเหตุมันมีปัจจัยนั่นนะ สำหรับในส่วนตัวของเรานั้นมันเพราะอะไร เพราะการกระทำใช่หรือเปล่า มันไม่ใช่เกี่ยวกับตัวนี้ มันไม่ใช่เพราะหัว มันไม่ใช่เพราะปาก หรือมันไม่ใช่เพราะแข้งขา เนื้อตัว แต่มันเกี่ยวกับการกระทำ ถ้าหากว่าการกระทำนั้นถูกต้อง ตามเหตุตามปัจจัยที่สมควรเป็น ผลมันก็คือไม่ต้องมีความทุกข์ คือมีแต่เกิดประโยชน์ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนศึกษากฎอิทัปปัจจยตา จะไม่ต้องไปโทษเทวดาฟ้าดิน หรือว่าลงโทษนี่เพราะกรรมเก่าของเรา แก้ไขไม่ได้ ที่จริงไม่ใช่เลย กฎอิทัปปัจจยตาจึงเป็นกฎที่อะไรล่ะ เรียกว่า
ผู้ดำเนินรายการ : เป็นวิทยาศาสตร์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง แล้วก็เป็นกฎของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเข้าควบคุมชีวิตของมนุษย์และทุกสรรพสิ่งในโลก ซึ่งทุกคนควรจะศึกษาให้เข้าใจ แล้วจะเกิดความฉลาด มองดูชีวิตรอบตัวด้วยเหตุและผล และปัญญา
ผู้ดำเนินรายการ : เสียดาย ปฏิจจสมุปบาทต้องเก็บไว้อธิบายต่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อิทัปปัจจยตาก็ยังไม่หมดเลย
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม เดี๋ยวเอาไว้คราวหน้านะครับ ท่านผู้ชมครับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ก็ได้บอกให้เราทราบถึงเรื่องของการประกอบเหตุที่ดี ผลที่ได้รับก็จะต้องดีตามนะครับ เรื่องกฎของอิทัปปัจจยตาเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยครับ