แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เมื่อคราวที่แล้วมีผู้ถามเรื่องของอิทัปปัจจยตา ซึ่งเราอธิบายไปส่วนหนึ่งแล้วนี่นะครับ ที่ยังค้างกันอยู่ ก็เขาถามว่าต่างจากปฏิจจสมุปบาทอย่างไร อยากให้อธิบาย โดยเฉพาะเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งท่านอาจารย์อธิบายไปว่ามันเป็นกฎของเหตุและผล รู้สึกว่ามันไม่ต่างจากวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนรู้กันทางโลกเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ก็เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง กฎอิทัปปัจจยตานี่ แต่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางนามธรรม คําว่าทางนามธรรมก็หมายความว่า มันไม่อย่างนักวิทยาศาสตร์ทางโลกนี่ เขาก็คิดค้น คิดสูตรทฤษฎีต่าง ๆ ออกมา แล้วผลที่สุดมันก็จะออกมาเป็นผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นที่พิสูจน์ได้ว่า นี่ นักวิทยาศาสตร์คนนี้เก่ง เพราะเขามีผลผลิตให้เห็น
ผู้ดำเนินรายการ : กฎของไอน์สไตน์อะไรอย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หรือว่ามี เอ้า พูดง่าย ๆ ก็มีเครื่องบิน มีไอพ่น มีลูกระเบิด มีปรมาณู มีอะไรนี่ ก็เพราะผลของการคิด แล้วก็ผลิตออกมาทางวิทยาศาสตร์ทางโลกนะคะ ที่เรียกว่าเป็นทางวัตถุ ทีนี้ทางฝ่ายกฎอิทัปปัจจยตานี่มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ มันมีเหตุ มันมีผล มันมีทฤษฎี แล้วก็มันพิสูจน์ได้ แต่ต้องพิสูจน์จากใจของเราเอง โดยศึกษาใคร่ครวญดู แล้วเราก็อาจจะเอาวิทยาศาสตร์ทางโลกเข้ามาช่วยเมื่อเรามองดูธรรมชาติรอบตัวข้างนอก เหมือนอย่างธรรมชาติวิทยานี่ เราเอามาศึกษาได้ ทำไมต้นไม้จึงเป็นอย่างนี้ ทำไมมันถึงมีใบอ่อน ทำไมมันถึงเขียวแก่ ทำไมมันถึงร่วงหล่น แล้วก็ทำไมมันถึงเปลี่ยนฤดู เหมือนอย่างเช่นของในต่างประเทศในตะวันตกที่เขามี พอถึงฤดูใบไม้ร่วง แหม มันก็ร่วงไปหมดเลย และก่อนจะร่วงมันก็เหลือง แล้วมันก็เป็นสีน้ำตาล แล้วมันก็เกลี้ยงออกไป แล้วพอถึงฤดูสปริงใบไม้ผลิ แหม มันก็ผลิสวยงาม สดชื่น แจ่มใสทั่วไปหมด นี่คือกฎอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น ถ้าหากว่าจะไปศึกษา หรืออย่างของเราก็มีฤดูหนาว ฤดูฝน แล้วก็ฤดูร้อน แล้วก็นี่ก็ดูกฎอิทัปปัจจยตา
ผู้ดำเนินรายการ : มีตั้งสามฤดู
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ไม่ใช่ว่าแต่ละฤดูนี่ทำไมมันมีอะไรเป็นเหตุปัจจัย อากาศถึงต้องเปลี่ยนอย่างนี้ นี้จากอากาศเปลี่ยน เหมือนอย่างเช่นในฤดูฝนอย่างนี้ เรามีฝนตกเรื่อย ทางภาคใต้ก็มีฝนตกมาก พอฝนตกมากเป็นเหตุ นี่เราเอาสั้น ๆ ที่สุดนะ ที่จริงถ้าย้อนขึ้นไป ก่อนฝนตกนี่มันจะมีเหตุปัจจัยอีกเยอะเลย ทีนี้เอาง่าย ๆ ทําไมฝนจึงตก ก็อย่างที่ว่านะ เป็นฤดูฝนอะไรก็แล้วแต่ ทีนี้พอฝนตกลงมาแล้ว ผลมันเป็นยังไง ถ้ามันตกพอเหมาะพอดี ต้นหมากรากไม้ก็เขียวชอุ่ม ชาวสวนก็ได้ผล ชาวไร่ก็ได้ผล ชาวนาก็ข้าวงาม ไม่ต้องข้าวน้ำท่วม แต่ถ้าหากว่าปีไหนน้ำมันมากเกินไป เพราะฝนตกมากเกินไป ผลก็คือน้ำท่วม น้ำท่วมแล้วชาวนาเป็นไง ชาวนาก็เสียหาย ล่มจม ขาดทุน ยากจน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขา ต้องเปลี่ยนจากที่อยู่ที่บ้าน ลูกหลานก็เข้ากรุงไปเป็นลูกจ้างเขา นี่ก็เป็นเหตุนะ และมันก็เป็นปัจจัยต้องเข้ากรุง พอเข้ากรุงเข้าเป็นเหตุ ไปถึงกรุงเข้าต้องไปทำงานตามโรงอุตสาหกรรม เป็นยังไง ไปพบกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปพบกับสิ่งที่ยั่วยุต่าง ๆ มันก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดหลงกรุง หลงกรุงแล้วก็หลงทาง หลงทางชีวิตไปเป็นอะไรล่ะ การพนันบ้าง อบายมุขต่าง ๆ เสพติดบ้าง หรือบางทีถ้าเป็นผู้หญิงก็ไปทำอะไรที่ไม่สมควร
นี่อิทัปปัจยตาทั้งนั้นใช่ไหม ที่มันเกี่ยวข้องอยู่กับชีวิตเรา นี่พูดถึงในสิ่งข้างนอก แล้วก็รวมทั้งตัวเรา ถ้าเราจะไปมองดูครอบครัว ครอบครัวของเราบางครอบครัวนี่ แหม ทําไมมันมีความอบอุ่นดี พ่อแม่ก็รักกัน ลูกก็รักกันเข้าใจ ลูกก็มีความเข้าใจพ่อแม่ว่าพ่อแม่มีปัญหาอย่างไร พ่อแม่ก็เข้าใจลูกว่าลูกมีปัญหาอย่างไร แล้วควรจะให้อะไรแก่ลูกถึงจะเหมาะสม ไม่เป็นความรักหรือความเมตตาที่เขาเรียกว่าพาลูกตกเหว ความรักความเมตตามาก ๆ ของพ่อแม่โดยปราศจากเหตุผล เอาแต่ความรักทุ่มให้ ทุ่มให้ก็เช่น ทุ่มเงินให้ ฉันรักลูกฉันมีเงินมาก ไป ลูกอยากได้เงินเท่าไรเอาไปใช้ นี่ก็เป็นความรักเมตตาตกเหว เพราะลูกที่ไม่ได้รับการแนะนำ สั่งสอนอบรมว่า ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรถึงจะถูกต้อง ก็อาจจะเอาเงินไปซื้อวีดีโอลามกต่าง ๆ หรือมิฉะนั้นก็ไปซื้อวีดีโอที่มันจะสอนอย่างพวกซาดิสม์อะไรอย่างนี้ ก็ทำให้จิตใจกลายเป็นคนหยาบกระด้าง หรือมิฉะนั้นก็หมกมุ่นแต่ในเรื่องของกามารมณ์ ก็ผิดหนทางไปเลย
เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าจะดูก็ อ๋อ ทำไมครอบครัวบางครอบครัว ทั้ง ๆ ที่มีเงินตั้งมากมาย แต่ทำไมลูกถึงไม่ดีสมใจพ่อแม่ที่อุตส่าห์หาเงินมาให้ ก็หันไปดูเหตุปัจจัย อย่าไปว่าแต่ว่าลูกไม่รักดี ต้องดูว่าเหตุปัจจัยในการอบรมของพ่อแม่ต่อลูกถูกต้องหรือเปล่า คือถูกต้องด้วยการที่ให้ทั้งความรัก ให้ทั้งคำสั่งสอนอบรม แล้วก็ให้ทั้งการติดตามดูแล และข้อสำคัญที่สุดคือให้เวลา มีเวลาให้แก่ลูกไหมที่จะนั่งคุย นั่งพูด นั่งสนทนากันว่า เออ วันนี้ลูกพบปัญหาอะไรบ้าง ลูกสบายใจไหม หรือว่าลูกมีอะไรที่ขัดข้อง แลกเปลี่ยนกันระหว่างพ่อแม่ลูก ช่องว่างระหว่างพ่อแม่ลูกก็จะหมดไป ถ้าเป็นอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า พ่อก็ทำหน้าที่พ่อถูกต้อง ให้ความรักอบอุ่น แล้วก็เป็นตัวอย่างกับลูกได้ที่ลูกจะประพฤติตาม โดยเฉพาะลูกผู้ชายที่ต้องการพ่อ แม่ก็ทำหน้าที่แม่อย่างถูกต้อง ทำบ้านให้เป็นสวรรค์ ไม่ว่าพ่อ ไม่ว่าลูก ใครย่างเท้าเข้ามาในบ้านมันเย็น มันเย็น มันสบาย มันไม่ร้อน ไม่นึกพอเข้าบ้านก็อยากวิ่งหนี ถอดรองเท้าถอดเสื้อได้ ทิ้งได้ วิ่งหนีไปอื่นเลย นั่นแม่ไม่ได้ทำบ้านให้เป็นสวรรค์ ทำบ้านให้เป็นนรก เพราะแม่หน้ายักษ์คอยอยู่เลย อ้อ มาแล้วเหรอ ฉันจะต้องเล่นงานแล้วนะ เพราะว่ามาไม่ตรงเวลา หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นนี่ดูเหตุปัจจัย ถ้าเราดูเหตุปัจจัยเราจะมองเห็น แม้แต่ในครอบครัว ว่าทําไมบางครอบครัวอบอุ่นเป็นสุขไม่ยาก บางทีไม่ร่ำรวย ยากจน พอมีพอกินพอใช้ แต่มันอบอุ่น มันเป็นสุข มันรู้สึกมั่นคง แต่บางครอบครัวร่ำรวยคฤหาสน์ใหญ่โต แต่มันเหมือนบ้านร้าง พอเข้าไปมันวังเวง ๆ ขอให้ดูอิทัปปัจจยตา คือกฎของเหตุและผล และถ้าเราดูอย่างนี้เราจะแก้ไขได้ เราจะไม่ไปโทษคนอื่น เพราะฉะนั้น กฎอิทัปปัจจยตาจึงเป็นกฎที่สูงสุดครอบงำชีวิตของมนุษย์ทุกคน ถ้าเราศึกษาแล้วเราจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสติและปัญญา
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์ครับ เราได้พูดถึงกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่าเป็นกฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กฎหนึ่ง ซึ่งเราทุกคนมองเห็นแล้วไปใช้ในชีวิตประจำวัน นี้ก็คงจะทำให้เราจะมี คือความสุขเกิดขึ้นระหว่างกันและกันนะครับ อยากจะให้ท่านสรุปซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะสรุปนะครับ อีกสักครั้งหนึ่งครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือเป็น เรียกว่าเป็นกฎสูงสุด เป็นกฎสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ทุกเวลานาที แม้แต่การนอน นี่ถ้าพูดถึงส่วนตัว กฎอิทัปปัจจยตาเกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวบุคคล ชีวิตครอบครัว ชีวิตในที่ทำงาน ชีวิตสังคม ชีวิตของชาติของประเทศ ชีวิตของโลกเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มาดูเถอะว่าจะอยู่ในอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น เหมือนอย่างในสังคมปัจจุบันนี้นะ เราจะได้ยินคําว่าอุ้มบ่อย ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ใช่ไหม เมื่อก่อนนี้พอพูดถึงคําว่าอุ้มนี่ มันมีความหมายว่ายังไง
ผู้ดำเนินรายการ : เอ็นดูรักใคร่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เอ็นดูรักใคร่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อุ้มลูกอุ้มหลาน เพราะความรัก ความเอ็นดูรักใคร่ อุ้มทะนุถนอม แต่เดี๋ยวนี้มันอุ้มคนละอย่างใช่ไหม พอเราอ่านหนังสือพิมพ์เข้า โอ้โห เดี๋ยวก็คนนั้นถูกสีนั้นอุ้ม คนนี้ถูกสีนี้อุ้ม อุ้มแล้วก็หายไปเลย กลายเป็นไม่มีลมหายใจ นี่อุ้มบัดนี้มันอุ้มด้วยอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : กระสุน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันอุ้มด้วยกิเลส มันอุ้มด้วยความเกลียดชัง มันอุ้มด้วยความอาฆาตพยาบาท ความเห็นแก่ตัว ทำลายล้างกัน ทําไมล่ะ มันมีอิทัปปัจจยตาอะไร ถึงได้ทำให้ความหมายของคําว่าอุ้มนี่มันแตกต่างกันถึงอย่างนี้ ทําไมมันถึงเดี๋ยวนี้พูดง่าย ๆ พออุ้มมันคืออุ้มไปฆ่า อุ้มสมัยก่อนนั้นน่ะ มันอุ้มไปเลี้ยงดู ไปอบรม ไปทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงให้มันมีความสุขยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้อุ้มไป อุ้มไปเพื่อฆ่าให้มันตาย นี่ดูอิทัปปัจจยตาไหม เพราะอะไร นี่คืออิทัปปัจจยตาที่มันเกิดขึ้นในสังคม ทําไมสังคมเดี๋ยวนี้มันถึงได้เปลี่ยนแปลงอย่างนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : ความอยากได้ ความโลภ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นแหละ ต้องหันไปศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุ ถ้าสาเหตุนั่นก็คือว่า ความโลภ โกรธ หลง เดี๋ยวนี้มันค่อนข้างรุนแรง มันมีอัตราสูง รุนแรงมากขึ้น แล้วทําไมมันถึงรุนแรง เพราะความยั่วยุ นี่ระหว่างที่พูดนี่คือแสดงถึงเหตุปัจจัยทั้งนั้นนะ นี่มันมีความยั่วยุมาก ความยั่วยุนี่เป็นเหตุ ความยั่วยุนี่ยั่วยุด้วยอะไร อะไรมันเป็นสิ่งที่เกิด วัตถุนิยม วัตถุนิยมก็เงิน เงินตรานี่แหละ พูดได้ว่าเห็นชัด เวลาที่อุ้มไปก็พร้อม ๆ กับรีดไปด้วย อ้าว อุ้มครั้งนี้เอามาก่อนสองล้าน อุ้มอีกทีหนึ่งเอามาห้าล้าน อุ้มอีกทีหนึ่งเอามาเจ็ดล้าน ไม่ถูกใจก็ฆ่าเลยหมกเลย นี่คือการอุ้ม นี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ก็เพราะเหตุว่ากิเลส ความโลภ โกรธ หลง ตัณหา ความอยาก และก็ความอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน พูดสรุปก็คือความเห็นแก่ตัวมันมาก เห็นแก่ตัวเพราะวัตถุนิยม เห็นแก่ตัวเพราะความมายา หลงในภาพแห่งความเป็นมายา เช่น หลงในตำแหน่ง หลงในอำนาจที่ฉันจะต้องมี เพราะฉะนั้นก็แสดงสิ่งเหล่านี้กันออกมา มันจึงทำให้ความหมายของคําว่าอุ้มนี่ ซึ่งมีความหมายที่น่ารักน่าเอ็นดู ด้วยความเมตตากรุณาปราณีทุกอย่าง มันเปลี่ยนไปอย่างตรงกันข้าม มันเป็นการอุ้มด้วยความพยาบาทอาฆาต มุ่งจองล้างจองผลาญทำลายกัน นี่เพราะอะไร เพราะเหตุ เพราะอิทัปปัจจยตา เพราะเหตุปัจจัย ขอโทษไม่ใช่เพราะอิทัปปัจจยตา แต่เพราะกระทำเหตุปัจจัยที่ไม่ถูกต้อง มันจึงเกิดเป็นอย่างนี้ขึ้น
ฉะนั้น สิ่งที่คนในสังคมควรที่จะสนใจศึกษา ก็คือไม่ใช่สนใจไปเที่ยวโทษกันแต่อย่างเดียว แต่ควรจะสนใจมาศึกษาดูว่า อะไรเป็นเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกันไปได้ถึงเพียงนี้ ในจิตใจของคนของมนุษย์เรานี่ ที่เคยอุ้มกันด้วยความรัก กลายเป็นอุ้มกันด้วยความอาฆาตพยาบาท เพื่อทำลายล้างชีวิตกัน อะไรเป็นสาเหตุ ตอบได้ไหมอะไรเป็นสาเหตุ
ผู้ดำเนินรายการ : ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถูกแล้วค่ะ นั่นเป็นสาเหตุ ถ้าย้อนถามอีกอย่างหนึ่งว่า สาเหตุอย่างนั้นมันเกิดขึ้นได้นี่เพราะมนุษย์มันขาดอะไรในปัจจุบันนี้ ตอบได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ขาดความรัก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขาดธรรมะ ไม่ต้องไปเที่ยววิ่งวนอยู่หรอก ตอบคําเดียว ตรงได้เลย ขาดธรรมะ เพราะว่าดูถูกธรรมะ ดูถูกธรรมะว่าธรรมะไม่มีค่า ธรรมะไม่มีราคา เป็นของคร่ำครึ เป็นของล้าสมัย ของอะไรสัตว์โบราณเต่าล้านปี แต่นี่แหละเพราะดูถูกธรรมะ สบประมาทธรรมะ สบประมาทธรรมชาติ เพราะฉะนั้นคนถึงเข้าไปใกล้วัตถุนิยม เข้าไปใกล้ซีเมนต์ เข้าไปใกล้คอนกรีต แล้วจิตใจก็กระด้าง เปลี่ยนจากจิตใจของมนุษย์ไปเป็นจิตใจของสัตว์โลกธรรมดา ที่ว่ามันชอบกันมันก็เข้าหากัน พอมันเกลียดกันมันก็เข้าหากันเหมือนกัน แต่มันกัดกันทำลายกัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะศึกษา ควรจะดูอย่างยิ่งของสังคมทุกวันนี้ ตลอดจนในชาติประเทศในโลก ก็คือคนเราตกเป็นทาสของวัตถุนิยมมากขึ้น แล้วผลที่สุดก็คือเกิดการทำลายล้างกัน นั่นก็เพราะขาดเหตุปัจจัยที่สำคัญของชีวิตของมนุษย์ คือขาดธรรมะ ดูถูกธรรมะ ไม่รู้ว่าธรรมะนี้คือลมหายใจของมนุษย์ ที่มนุษย์หายใจอยู่ทุกวัน ก็หายใจกันอยู่ทุกวันนี่แหละ แต่หายใจด้วยความร้อน ด้วยความเกลียดชัง ด้วยความเข่นฆ่ากัน แต่ถ้าหากว่าศึกษาธรรมะ นำธรรมะเข้ามาสู่จิตใจ ก็จะหายใจด้วยความรักและความเมตตาต่อกัน นี่แสดงถึงกฎอิทัปปัจจยตาอยู่ทุกขณะและทุกเรื่องด้วย จึงไม่ควรที่จะทอดทิ้งในสิ่งนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ เรื่องของคำศัพท์ทางพุทธศาสนานี้ ถ้าหากว่าเราได้ฟังคำอธิบายโดยละเอียด อย่างที่ท่านอาจารย์คุณรัญจวนได้อธิบายเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตาให้เราได้ฟังนี้ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปที่เราจะศึกษาธรรมะกันนะครับ