แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เราจะไปฟังท่านพูดถึงเรื่องของ กฎปฏิจจสมุปบาท นะครับ ซึ่งผมอยากจะใช้ว่า เป็นกฎของวงจรของความทุกข์นะครับ ว่าอะไรเกิดอย่างหนึ่งแล้วไปสู่ความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง เป็นอย่างไร ไปพบกับท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือ ในทางพุทธศาสนานี่ ท่านจะไม่พูดว่าเรื่องสุข คือ จะไม่พูดถึงเรื่องความสุข เพราะว่าความเป็นจริงแล้วมันมีแต่ความทุกข์ เพียงแต่ว่า เมื่อใดพอได้อะไรได้อย่างใจต้องการ เช่น แหม กำลังหิวเหลือเกินพบร้านอาหารเข้า ได้กินซะอิ่มเลย เออสุขแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย เมื่อกี้ทุกข์เกือบตายเพราะหิวมาก แต่เสร็จแล้วอันนี้มันเป็นแต่เพียงสุขที่มันชดเชย ชดเชยเพราะมันได้อย่างใจ แต่ก็หมายความว่า ความทุกข์นั้นไปหลบ มันไปหลบซ่อนอยู่ข้างหลัง แต่มันไม่ได้หายไปไหน เพราะเรายังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะฉะนั้นมันก็เพียงแต่ว่า ในพุทธศาสนาจึงพูดถึงว่า มีแต่ทุกข์เกิด และทุกข์ดับ
พอทุกข์ดับไปชั่วขณะ คนทั่ว ๆ ไปก็จะบอกว่าสุข สุขเพราะได้อย่างใจ แต่ความจริงมันไม่ใช่ มันเป็นสุก ก.ไก่ อย่างที่เราเคยพูดกันแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ เจ้าชายสิทธัตถะ ในคืนสุดท้ายที่ท่านพยายามเหลือเกินที่จะต้องศึกษาใคร่ครวญ เอาจนเห็นจริงประจักษ์แจ้งในเรื่องของความทุกข์ เพราะที่ท่านเสด็จออกจากพระราชวังมา ก็เพราะต้องการจะรู้เรื่องของความทุกข์ เพราะท่านทรงอยู่กับสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าสุข สารพัดล้อมรอบตัวพระองค์หมดเลย แต่พระองค์อยากจะรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี่มันคืออะไร แล้วก็มันอาศัยอะไรความทุกข์จึงเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำอย่างไรมันถึงจะดับไปได้ จะต้องอาศัยอะไรมันถึงจะดับไปได้ เพราะฉะนั้นตลอด 6 ปี หรือ 6 พรรษาที่อยู่ในป่า ก็ทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้เรื่องเดียว พระองค์ก็ทรงรวบรวม ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่าข้อมูลจากการปฏิบัติของท่าน ที่ท่านทรงค้นพบมา
ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งเลยนะ คือใช้วิธีวิทยาศาสตร์ค้นพบ วิจัยวิจารณ์จากการกระทำ แต่เป็นเรื่องการวิจัยวิจารณ์ข้างใน แล้วก็ทรงรวบรวมข้อมูลเอาไว้จากประสบการณ์จริง ๆ ที่ได้ทรงทดลองด้วยตัวพระองค์เอง และผลที่สุดก็เชื่อว่า ท่านต้องทรงเห็นแล้วล่ะ แต่ท่านอยากจะเอาให้ชัดแจ้ง แล้วก็จะเอาให้มันเด็ดขาดให้ได้ ที่จะไม่ต้องกลับไปเป็นทุกข์อีกเลย เพราะฉะนั้นในคืนสุดท้ายนั้นแหละ จึงได้ทรงประทับนั่งที่ใต้ต้นอสันทะ แล้วก็ทรงปฏิญาณกับพระองค์เองว่า หากว่าเราไม่ตรัสรู้ในคืนนี้ คือไม่รู้เรื่องความทุกข์อย่างจะแจ้งชัดเจนจนประจักษ์จะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนั้นเลย แล้วผลที่สุดพระองค์ก็ใคร่ครวญจนทรงพบว่า อ๋อ ความทุกข์นี่ มันเกิดขึ้นได้อย่างนี้ แล้วมันก็ดับได้อย่างนี้ แล้วก็ทรงเรียกชื่ออันนั้นว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลว่า สิ่งซึ่งอาศัยกันแล้วทุกข์เกิด แล้วก็ในขณะเดียวกัน ก็อธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งซึ่งอาศัยกันแล้วทุกข์ดับ ซึ่งทั้งหมดมันจะมี 12 อาการ อาการที่ 12 ก็คือเป็นผล ผลก็คือทุกข์ ถ้าจะพูดเรื่องอธิบายเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท แหมมันอีกยาวเลย และเราก็เคยพูดยาวเอาไว้แล้วตั้งหลายครั้ง
ผู้ดำเนินรายการ : เอาสั้น ๆ เลย สำหรับท่านผู้ชม พอจะดูว่าอะไรมันเกิด ตัวไหนเป็นเหตุตัวไหนต่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าจะเอาง่าย ๆ ที่สุด ก็อย่างชนิดที่ว่าสัมผัสได้นะคะ เราสัมผัสได้ ก็คือว่าเมื่อเกิดผัสสะ ความทุกข์ก็คืออาการของเวทนาที่มันเกิดขึ้นในใจ คือ ความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบ ถูกใจ-ไม่ถูกใจ เกลียด-รัก พอมันเกิดขึ้นในใจเมื่อไหร่ ใจมันหวั่นไหวทันที จิตมันกระเพื่อม นี่เราจะสัมผัสได้ถึงความกระเพื่อม ความซัดส่ายของจิตที่มันเกิดขึ้นภายใน ทำไม อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตกระเพื่อมอย่างนี้ อ๋อ เพราะเวทนา ใช่ไหม เพราะมันมีเวทนา มันมีความรู้สึก และเวทนานี่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร อ๋อ ก็เพราะมันมีผัสสะ ผัสสะที่มากระทบ ผัสสะนี่คืออะไร ผัสสะนี่ก็คือสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายใน 6 อย่าง แล้วก็คู่ของมันที่เรียกได้ว่าเป็นวัตถุศึกษาของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ธรรมารมณ์ รูปก็คู่กับตา เสียงก็คู่กับหู กลิ่นคู่กับจมูก รสคู่กับลิ้น แล้วก็สัมผัสคู่กับกาย แล้วก็ธรรมารมณ์ คือความรู้สึกนึกคิดคู่กับใจ นี่มันเป็นคู่กัน ทีนี้พอมันมากระทบเท่านั้น พอตาเห็นรูป ถ้าตาเห็นรูปเฉย ๆ เรายังไม่รู้สึกอะไร นี่อย่างใครเขาเดินผ่านมา เขาเห็น โอ้ นี่คนนั่งเยอะ ก็เขามีตานี่ เขาก็มองเห็นคน มันก็เฉย ๆ ยังไม่เกิดอะไร เพราะคนที่นั่งนี่ยังไม่มีความหมาย ยังไม่มีความหมายต่อเขา แต่พอวิญญาณทางตามันรู้จักมองจ้องไป เอ๊ะ คนนั้นเรารู้จักนี่ ทำไมเมื่อก่อนนี้ไม่เอาไหนนี่ ทำไมถึงมาสนใจธรรมะขึ้นมาได้ นี่มีความหมายขึ้นมาแล้วคนนั้น มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมา นี่คือจะเกิดเวทนา
ผู้ดำเนินรายการ : อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องของว่า เมื่อเกิดผัสสะขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดเวทนาต่อไปไหมครับ คงต้องอธิบายย้อนกลับไปนิดหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ชมได้เข้าใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ถ้าจำได้ถึงหมวดที่ 2 ของอานาปานสติ เวทนานุปัสสนาภาวนา นั่นก็หมายถึง เรื่องของเวทนาว่า เวทนานี่มันร้ายกาจมาก เพราะมันเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต เป็นจิตตสังขาร คือมันจะปรุงแต่งจิตให้ปั่นป่วน วุ่นวายสารพัด พอเวทนา ความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบ ถูกใจ-ไม่ถูกใจ เอา-ไม่เอา ได้-เสีย สุข-ทุกข์ เกิดขึ้นในใจเมื่อไหร่ ใจมันปั่นป่วน วุ่นวาย ระส่ำระสาย แล้วก็ในภาษาธรรมะเราก็เรียกว่า นี่คือทุกข์ อาการอย่างนี้ เพราะมันทำให้จิตผิดจากความเป็นปกติ จิตปกติ ก็คือ จิตสงบ ราบเรียบ ไม่กระเทือน ไม่กระเพื่อมเลย มันราบเรียบ มีแต่ความเย็นผ่องใส ทีนี้พอเวทนาเกิดขึ้นจิตเริ่มกระเพื่อม มันจะกระเพื่อมมาก กระเพื่อมน้อย ก็แล้วแต่ดีกรี คือ อัตราของเวทนา ถ้าเวทนาความรู้สึกมันสูง มันเกลียดจัด โอ้โห มันก็อย่างนี้ ถ้ามันรักจัดจี๋จัดมันก็อย่างนี้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรียกว่าถ้ามันสุดโต่งเมื่อไหร่ มันก็จะกระเพื่อมรุนแรง อาจจะโยนขึ้น โยนลง หรือว่าส่ายซ้าย ส่ายขวา อะไรอย่างนี้ก็แล้วแต่ นี่เป็นอาการของเวทนา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้ว่า อะไรคือลักษณะของความทุกข์ อ๋อ พอเวทนาปรุงแต่งจิตเมื่อไร ทุกข์เกิดทุกที นี่พูดอย่างสั้นนะ อย่างสั้นอย่างสรุป
ทีนี้พอเราหันมาศึกษาเหตุปัจจัย ก็ต้องศึกษาดูว่า แล้วอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เวทนาเกิดขึ้น นี่แหละคือจุดที่ต้องระวังอย่างเป็นรูปธรรมและเราสัมผัสได้ สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยที่ให้เกิดเวทนาก็คือ ผัสสะ สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องศึกษาเรื่องของผัสสะ ให้รู้ว่าผัสสะคืออะไร ผัสสะก็คือสิ่งที่มากระทบ กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ใจที่ไม่เคยได้ฝึกอบรม ให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา พอเห็นรูป หรือว่าได้ยินเสียง หรือว่าได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสอะไร มันก็รับมาหมด ใจนี่มันรับ รับอย่างไร รับว่ามันจริง มันจริงอย่างนั้น เช่นถ้าสมมุติว่าเห็นรูป รูปร่างหน้าตาน่ารัก จะเป็นคน จะเป็นสัตว์ก็ตาม มันน่ารัก โอ๊ย ไอ้ลูกหมาปุกปุยตัวนั้น ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ใช่คนรักหมานัก แต่ยังอดเอ็นดูไม่ได้ ไอ้หมาปุกปุยนั่นน่ะ เห็นรูปเท่านั้น เกิดเวทนาทันที ชอบ แล้วก็ถ้าคนที่รักหมาบ้าหมา อุ๊ย อยากได้ นี่ของใครนี่ เขาจะขายเท่าไหร่ มีเงินจะซื้อเอา นี่เห็นไหม พอเวทนามันก็จะพาเอาตัณหา พาอุปาทาน พาเอาความเป็นตัวตน ตัวฉัน มันพามาหมดทุกอย่างเลย เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้ทุกข์ เกิดทุกข์มากขึ้น
ฉะนั้นเวทนานี่จึงต้องพยายามศึกษา แล้วก็ศึกษาเหตุของเวทนา คือ ผัสสะ เช่น พอเห็นหมามา แล้วหมานั้นมีความหมาย ก็เกิดความน่ารักน่าเอ็นดู อยากจะได้ ทีนี้ผัสสะอันนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรที่เป็นสิ่งกระทบ ก็ต้องเกิดจาก 3 อย่าง ให้จำไว้เสมอว่า ผัสสะที่จะทำให้จิตเกิดเวทนา จะต้องมี 3 ปัจจัย ก็คือ จะต้องมีอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 อย่าง แล้วก็มีอายตนะภายนอกที่เป็นคู่ของมัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิด แล้วก็ถ้าเพียงแต่ 2 อย่างนี้พบกัน ยังไม่มีความหมาย เวทนายังไม่เกิด เฉย ๆ เหมือนอย่างเราเดินผ่าน ต้นไม้ที่นี่เขียวชอุ่มดีนะ ก็เท่านั้น จิตมันไม่กระทบจิตใจให้เกิดรู้สึกกระเพื่อม เพราะชอบ ไม่ชอบ อืม มันเขียวดี ชอุ่มดี เย็นดี เพียงเท่านั้น แต่ถ้าสมมุติว่าวิญญาณของตาทำหน้าที่ คือของอายตนะภายในทำหน้าที่ โอ้โห ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นพิเศษ เขาบอกว่าต้นไม้แบบนี้หายากเลย ไม่มีที่อื่นอีกเลย มีอยู่แต่ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น ก็เข้าไปดูว่ามันจะมีหนทางตอนได้ไหม นี่พอเวทนาเข้าเท่านั้น มันมีความหมายขึ้นมาว่า ต้นไม้ต้นนี้มันเป็นต้นไม้พิเศษ เป็นต้นไม้หายาก เท่านั้นเอง เวทนาเกิดขึ้นในใจ นึกอยากได้ เข้าไปดู เห็นไหมมันนำเอาตัณหามาอย่างรวดเร็ว เช่นมันเกิด อุ๊ย ทำอย่างไรเราจะได้นี่ เราจะขอตอนเขาได้ไหมเพื่อจะเอาไป แล้วก็เกิดอุปาทานยึดมั่นว่า ฉันจะต้องเอาให้ได้ ไปเที่ยวไต่ถามหาเจ้าของ ใครเป็นเจ้าของนี่ ขอหน่อยเถอะ ไม่ให้ก็ขอซื้อ แล้วใครจะเป็นคนชำนาญในการตอน เห็นไหม ยึดมั่นถือมั่นความเป็นตัวเป็นตนว่า ฉันจะต้องเอาให้ได้ เกิดขึ้นมาทันที
ผู้ดำเนินรายการ : มาไวมากเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ทันนึกหรอก ท่านบอกเหมือนสายฟ้าแลบ มันเกิดขึ้นเหมือนสายฟ้าแลบ ปฏิจจสมุปบาท อาการของปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักผัสสะให้ดี ๆ ว่าต้องอาศัย 3 อย่าง 1 ก็คือ อายตนะภายใน 2 อายตนะภายนอก แล้วก็ 3 วิญญาณของอายตนะภายใน ทำหน้าที่ร่วมด้วย ผัสสะนั้นจะมีความหมาย มีอิทธิพลทำให้เกิดเวทนาขึ้นได้