แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : พูดถึงเรื่องของปฏิจจจสมุปบาท หรือที่ผมพูดง่าย ๆ ว่าเป็นวงจรของความทุกข์ที่จะทำให้เราเรียนรู้ว่า เวลาความทุกข์มันเกิดนี่มันเกิดจากอะไรนะครับ ส่วนใหญ่เรามักไม่ค่อยรู้นะครับเวลาความทุกข์มันเกิดนะครับ ก็เรื่องของปฏิจจสมุปบาทนี่นะครับเป็นหัวใจสำคัญทีเดียว ถ้าเราเข้าใจ เราจะรู้จักเรื่องของความทุกข์มากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้เราดับทุกข์ได้ดีนะครับ ไปคุยเรื่องนี้กับท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สำหรับที่พูดถึงว่าปฏิจจสมุปบาทอธิบายว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์ดับ ทีนี้เราไม่มีเวลาที่จะพูดรายละเอียดทั้งสิบสองอาการ เราก็หยิบเอาจุดที่เราสามารถจะมองเห็นได้ แล้วก็สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็คือจุดของผัสสะ ฉะนั้นข้อแรกก็ต้องขอแนะนำว่า ทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าผัสสะคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร พูดง่าย ๆ เอาง่าย ๆ ก็คือว่า พอตาเห็นรูป อาจจะเป็นรูปคน สัตว์ หรือว่าต้นหมากรากไม้ หรือว่ากิริยาท่าทาง หรือวัตถุสิ่งของ นี่อย่างเข้าไปในห้างสรรพสินค้านั่นนะ โอ๊ย ผัสสะทางตาเยอะแยะเลย ทางหูก็มี กลิ่นก็มี เกือบจะว่าสารพัดนะคะ สัมผัสนี่ก็เยอะเลย เดี๋ยวก็เดินชนกัน กระแทกกัน เพราะฉะนั้นพอเราเข้าไปอย่างนั้นนี่ เราจะได้ผัสสะทุกอย่าง เดี๋ยวพอตามองเห็น อุ๊ย เสื้อมาใหม่ นั่นวิทยุแบบใหม่ หรืออะไร ๆ ใหม่ ๆ เป็นยังไงใจ
ผู้ดำเนินรายการ : อยากแล้วครับ อยากได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นน่ะเห็นไหม ไม่รู้ว่าเวทนาด้วยซ้ำ ไปตัณหาเลย ตัณหาไปเลย เห็นไหมความเร็ว ๆ เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่า มันเกิดเหมือนสายฟ้าแลบไงคะ มันมีทั้งหมดสิบสองอาการ แต่เราไม่เคยรู้หรอก เรารู้แต่ว่าเราทุกข์แล้ว และก็ไม่รู้ด้วยว่าความอยากได้ด้วยความลิงโลด นั่นก็คืออาการของความทุกข์ในทางธรรม เพราะมันทำให้จิตกระเพื่อม จิตมันผิดไปจากความเป็นปรกติ เราคิดแต่ว่าดีใช่ไหม เรานึกแต่ว่าดี แต่เราไม่รู้เลยว่านี่มันเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นมันต้องศึกษาอย่างต่อเนื่องกันให้หลาย ๆ อย่าง เราต้องรู้ด้วยว่า นี่มันเป็นความทุกข์ เป็นลักษณะอาการของความทุกข์ เพราะฉะนั้นสมมติเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้านี่ โอ้ มันมีผัสสะเยอะเลย ถ้าใครอยากจะฝึกปฏิจจสมุปบาทนะในเรื่องการดับทุกข์ พอก่อนจะไป เตรียมจิตใจไว้ให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ควบคุมให้จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก พอก้าวเข้าก็เดินเข้าไปอย่างผู้มีสติ มองเห็นนั่นใหม่ สวยดี บางทีมันยังคุมได้ เพียงแต่สวย เพียงแต่ใหม่ ยังไม่กระโจนเข้าไป ชอบ ไม่ชอบ แต่ว่าถ้าไม่ฝึกให้มันมั่นคง ไม่กี่ก้าว เดินไปไม่กี่ก้าว ไม่เอาแล้ว ใจมันเริ่มแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องฝึกให้แน่น
แล้วถ้าว่าไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นี่ท่านผู้ชม น่าจะไปฝึกเรื่องของผัสสะที่ในห้างสรรพสินค้าที่ชอบไปเดินอยู่ทุกหนทุกแห่ง แล้วก็จะรู้เลยว่าเราจะฝึกมันได้อย่างไร ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ว่า อ๋อ นี่มันกำลังเกิด พอเกิดนี่ เรารู้แล้วใช่ไหมคะว่าเหตุปัจจัยของความทุกข์ เอาง่าย ๆ คือผัสสะที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ธรรมารมณ์ มันจะทำให้ใจกระเพื่อม หมุนวนอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาการอย่างนี้คืออาการของความทุกข์ นี่ง่าย ๆ ที่สุด ทีนี้ถ้าเราไม่อยากให้จิตใจมันกระเพื่อม ซึ่งบางคนก็อาจจะมาเถียงบอกว่า กระเพื่อมก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่เป็นไรก็ไม่เป็นไร จนกว่าปล่อยให้มันกระเพื่อม จนกระทั่งไม่มีแรง ต้องไปนอน จนกระทั่งมืออ่อนเท้าอ่อนไม่มีแรงจะลุก นั่นแหละถึงจะรู้ว่ามันเป็นไร แล้วก็ที่มันเป็นไรนี่เพราะสะสมมันเอาไว้ทีละน้อย ๆ ด้วยความเขลาว่ามันไม่เป็นไร แต่ความจริงมันเป็นไร มันเหมือนกับสนิมที่เราปล่อยเอาไว้ทีละน้อย จนกระทั่งมันกัดกินเนื้อเหล็กดี ๆ นี่จนผุกร่อนไปหมด เพราะเราไม่สนใจที่จะขัดมันแต่ตอนแรกใช่ไหมคะ เช่นเดียวกันกับเรื่องลักษณะของเวทนา หรือความทุกข์ที่เกิด อย่าไปคิดว่ามันไม่เป็นไร ให้มันเป็นไรเสียตั้งแต่ต้น พอเกิดขัด ๆ ๆ แล้วมันก็จะเป็นเหล็กเนื้อดีอยู่ได้ตลอดเวลา จิตใจนี่ก็จะสงบ เยือกเย็น ผ่องใสอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนี่เรารู้แล้วว่า อะไรคือเหตุให้เวทนาเกิด คือผัสสะ แล้วก็รู้จักลักษณะของผัสสะ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความรู้สึกนึกคิดที่ผ่านมาทางใจ แต่สิ่งที่เราจะควบคุมก็คือที่ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นเสมือนทางผ่าน มันเป็นสื่อที่จะรับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่านั้นเอง
ถ้าหากว่าเราควบคุมจุดสำคัญ ที่เรียกว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่แม่ทัพจะต้องควบคุม ถ้าขืนตีตรงนี้ได้ หรือถ้าเปรียบกับรามเกียรติ์ก็เหมือนกล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ถ้าสมมติว่ารักษากล่องดวงใจนี้ไว้ได้ ไม่ให้หนุมานมาเอาไปกระทืบได้แล้วก็ปลอดภัย ปลอดภัยตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เรารักษาใจ คือเราฝึกที่ใจ ถ้าเราฝึกที่ใจของเรานี้ให้พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา อย่างที่เราพูดกันในลักษณะของอานาปานสติ ตั้งแต่หมวดที่หนึ่งถึงหมวดที่สี่ อย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เราก็จะทันต่อผัสสะและควบคุมได้ ความทุกข์ก็จะดับ เพราะฉะนั้นผัสสะเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมคือ หนึ่ง ต้องรู้จักมัน ว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็สอง เมื่อรู้จักแล้ว ต้องควบคุมมันให้ได้ ถ้าสามารถควบคุมผัสสะได้ ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า วิธีที่จะควบคุมผัสสะนี่ จะควบคุมได้อย่างไร นั่นก็คือ ที่ผัสสะมันทำให้เกิดเวทนาได้ ก็เพราะว่าใจมันอยาก มันยังมีความอยาก คือตัณหา มันมีความอยากตามกิเลสของความโลภ โกรธ หลง แล้วมันก็เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็มีตัวผู้อยากนี่ออกมาเต็มที่เชียว คืออัตตาตัวตนที่เป็นฉัน เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็ต้องทำลายสิ่งเหล่านี้ใช่ไหมคะ ทำลายสาเหตุคือเพื่อให้เราสามารถคุมผัสสะได้ทัน ฉะนั้นเราก็จึงต้องศึกษาสิ่งที่จะมาเป็นคู่ปรับ หรือว่าเป็นคู่ปราบเจ้าตัณหา กิเลส ตัณหา อุปทาน ยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ สิ่งที่จะมาเป็นคู่ปราบ เป็นผู้ปราบสิ่งนี้ได้นั้นก็คือ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกฎธรรมชาติ หนีไม่พ้น กฎไตรลักษณ์
ผู้ดำเนินรายการ : อีกแล้วเหรอครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แน่นอนที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ : วนไปวนมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ แน่นอนที่สุด ถ้าไม่รู้จักกฎไตรลักษณ์ เท่าไหร่ ๆ ก็ยังจะต้องเป็นทาสของผัสสะอยู่นั่นเอง จะต้องเป็นทุกข์ เพราะอะไรล่ะ ก็เพราะเราจะเห็นไหมผัสสะที่เกิดขึ้น คือจะเป็นรูปก็ดี ถ้ามันน่ารัก มันก็น่ารัก ๆ แล้วก็ยึดมั่นเอาเป็นจริงเป็นจัง ฉันจะต้องได้รูปที่น่ารักอันนั้น เหมือนอย่างคดีข่มขืนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในปัจจุบันนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าพอเห็นรูปที่น่ารัก ใจมันหยุดไม่ได้ สัญชาติญาณดิบมันเกิดขึ้นมาทันที มันถึงต้องตัณหา อุปทาน แล้วก็เกิดการกระทำ จนกระทั่งฉุดคร่าเขามา ทำลายเขา เห็นไหม เพราะฉะนั้นเราถึงต้องทันต่อผัสสะ ทีนี้วิธีแก้ก็คือ นั่นก็เพราะเห็นว่ามันน่ารักจริง ๆ แล้วก็ลืมไปว่า นี่มันเป็นแต่เพียงเนื้อ เพียงหนัง ซึ่งมันมีการสลาย มีการทนอยู่ไม่ได้ เพราะไม่เคยศึกษาว่าที่มันมองดูน่ารักน่าดูนี่ เพราะมันมีผิวหนังนี่หุ้มห่ออยู่ ถ้าเรามาศึกษาแล้วก็เราจะลองทดลอง ลองสมมตินึกดู ลอกผิวหนัง ถลกผิวหนังนี่ออกเสีย เหมือนกบตัวแดงๆ เหมือนไก่ตัวแดงๆ หมู เนื้อที่เราไปตามเขียงในตลาดนั่น เป็นไง
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่เอาแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็คือก้อนเนื้อใช่ไหม นี่คือหมั่นศึกษาอนิจจัง แล้วเราจะเห็นอนัตตาเลย ที่ว่าถลกออกมานี่ มันเห็นอนัตตาในนั้น เห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง เห็นทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ แล้วก็ไหนล่ะอนัตตา ที่น่ารักเมื่อกี้นี้มันหายไปไหน มันเหลือแต่ก้อนเนื้อแดง ๆ นั่น จะส่งให้ไปกอดสักหน่อยก็ไม่เอาแล้ว กอดไม่ลง วิ่งหนีด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นอันนี้เราจึงต้องศึกษากฎของไตรลักษณ์ แล้วเราก็จะเห็นเองว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ที่มันมองดูสวยงาม อ๋อ มันมีผิวหนังห่อหุ้มอยู่ นี่พูดอย่างหยาบ ๆ อย่างคร่าว ๆ มันมีผิวหนังห่อหุ้มอยู่ เป็นเหตุเป็นปัจจัย แล้วก็เผอิญตาโต จมูกสวย ปากอิ่ม อะไรอย่างนี้นะ มันก็เลยมองดูสวยงาม แต่พอลอกผิวหนังนี่ออกเสีย ขาดเหตุปัจจัยอันนี้ มันก็กลายเป็นสิ่งน่าเกลียดทันที นี่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างได้ชัด แล้วใจก็จะค่อยซึมซาบในเรื่องของอนัตตา อย่างที่บอกว่าให้ไปพิจารณาสิ่งสกปรก เหมือนอย่างขยะ หรืออย่างซากศพต่าง ๆ ไม่ว่าซากศพของคน หรือของสัตว์ นี่ถ้าเราหมั่นศึกษาอันนี้อยู่มาก ๆ เรื่อย ๆ จิตใจก็ค่อย ๆ มั่นคง มั่นคงด้วยสติ มั่นคงด้วยสมาธิ พร้อมกับปัญญาที่จะมองเห็นทะลุไปถึงความเป็นจริงว่า อ๋อ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นเอง แล้วเราก็จะสามารถหักห้ามใจต่อผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียงไพเราะเพียงใดก็ตาม ไม่ต้องไปติดเสน่ห์ของมัน ไม่ต้องตามไปดู
ผู้ดำเนินรายการ : อย่างหนุ่ม ๆ ที่ติดนักร้องคาเฟ่อย่างนี้ ก็ต้องพิจารณาตรงนี้ให้เยอะนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ แน่นอนควรจะต้องไปพิจารณาดูให้มาก ๆ หรืออย่างไปติดนายไมเคิล แจ็กสัน โอ้โห เสียเงินไปตั้งเท่าไหร่นั่นนะที่ไปซื้อตั๋วแต่ละที ถ้าซื้อตามราคาห้าพันบาทใช่ไหม ถ้าซื้อนอกราคาก็เป็นหมื่น ๆ เขาไปติดนายไมเคิล แจ็กสัน ติดเพราะอะไร นอกจากมันจะถือเป็นผัสสะอย่างแรง เพราะผัสสะนั่นมันกระทบอีโก้อย่างแรงเลย ใครเข้าไปดู โอ้โห ตั๋วนี่ตั้งห้าพันนะ มาคุยกับเขาได้ หรือบางทีนี่ฉันซื้อนอกราคา อยากไปดูเหลือเกินมันตั้งหมื่นนึง ฉันควักกระเป๋าเลย อวดอย่างโก้ แต่คนฟังบางคนเขาก็อาจจะสงสาร เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าต้องการจะควบคุมผัสสะ ก็คือต้องพัฒนาความเข้าถึงกฎธรรมชาติให้เข้าในใจให้ยิ่งขึ้น ๆ จนจิตพร้อมด้วยสติ สมาธิ และปัญญา
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องพิจารณาไตรลักษณ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : และอิทัปปัจจยตาไปด้วยในตัว
ผู้ดำเนินรายการ : กฏของไตรลักษณ์ เรื่องของอนิจจังไม่เที่ยงแท้นี่นะครับ ถ้าหากว่าเวลาเราไปงานศพ พิจารณาดูศพนี่นะครับ ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจเรื่องของเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้นครับ