แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งท่านอาจารย์คุณรัญจวนบอกว่า ถ้าเราสามารถควบคุมผัสสะได้นะครับ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในตัวเราก็จะน้อยลงไปมากทีเดียวนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ผัสสะเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม เพราะว่าผัสสะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเวทนา คือมีอิทธิพลที่ทำให้เกิดเวทนา เวทนาเกิดขึ้นในจิตเมื่อไหร่ จิตนั้นก็เป็นทุกข์ ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ก็แล้วแต่ความรุนแรงของผัสสะที่กระทบ ว่าจะมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็จึงต้องศึกษาว่า หนึ่ง ผัสสะคืออะไร สอง ผัสสะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็สาม เมื่อเกิดขึ้นมันมีผลอย่างไรบ้าง คือมันเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีผลอย่างไรบ้างที่จะกระทบในทางจิต เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ผัสสะเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม ถ้าควบคุมผัสสะได้เท่านั้นนะ โลกจะเย็น ๆ จิตใจเรานี้ก็จะมีแต่ความเย็นตลอดเวลา เพราะว่าเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นี่ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันมีอยู่เรื่อย จะไปห้ามว่า ไม่ให้มี ไม่ให้เกิด ไม่ได้ ตราบใดที่มีตา มันก็มีรูปคู่กัน เป็นวัตถุคู่กัน มีหู มันก็มีเสียงคู่กัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มันเกิดเป็นประจำ เราจึงไม่สามารถที่จะไปทำอะไรกับมันได้ ซึ่งมันเป็นธรรมชาติ แต่เราจะต้องฝึกควบคุมที่ใจของเรา ให้เป็นใจที่ฉลาด พร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งสมาธิ พร้อมทั้งปัญญา ถ้าหากว่ามีสติระลึกรู้ได้ทันว่า ถ้ายอมเป็นทาสของผัสสะเมื่อไหร่ เราก็ต้องเป็นทุกข์นะ คือเวทนาจะเกิดนะ แล้วก็ถ้ามีสมาธิความมั่นคงที่จะไม่ยอมแพ้ต่อผัสสะที่มากระทบ พร้อม ๆ กับมีปัญญาที่จะเห็นความจริงว่า ผัสสะเป็นเพียงสิ่งสักว่า ซึ่งมันเกิดแล้วมันก็ดับ มันไม่มีอะไรอยู่คงที่สักอย่าง ไม่ว่าจะกิริยาท่าทางที่น่าดูหรือไม่น่าดู วาจาที่น่าฟังหรือไม่น่าฟัง หรือเสียงที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะก็แล้วแต่ มันเกิดดับ ๆ ทันทีเลย สังเกตไหม มันเกิดดับ ๆ อย่างขณะนี้เรามีเสียงลม ลมนี่ก็เป็นผัสสะ ผัสสะทั้งทางกาย มาสัมผัสกาย กายอาจจะรู้สึกกำลังเย็นสบาย แล้วก็มันมีต้นหมากรากไม้เป็นเหตุปัจจัยอยู่ เพราะฉะนั้นพอลมกระทบมันก็มีเสียงจากลม เรียกว่าขณะนี้เราได้รับผัสสะจากลม ทั้งทางเสียงคือโดยเสียง แล้วก็โดยสัมผัส แล้วเรารู้สึกอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : เย็นสบายดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้ารู้สึกเย็นสบาย มันก็เย็นสบายอย่างนั้นเอง ไม่ต้องนึกว่า โอ๊ย ลมพัดตลอดวันหน่อยเถิด ฉันจะได้เย็นสบายตลอดวัน อย่างนี้ก็เรียกว่าผัสสะไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดเวทนาในจิต เพราะเรารู้เท่าทันว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับใช่ไหม นี่มันก็ดับไปแล้วใช่ไหม มันเกิดแล้วก็ดับ ถ้าเราสังเกตว่ามันเพียงแต่เกิดแล้วก็ดับ มันไม่ได้อยู่ตลอดไป เราก็จะไม่ไปยึดมั่นสัญญาที่เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรทั้งหลาย ว่าเป็นจริงเป็นจัง ว่ามันคงที่ มันจะต้องอยู่อย่างนั้น แล้วใจเราก็เลยเป็นทุกข์เพราะมัน นี่จึงต้องมีปัญญาให้เห็นทัน
ผู้ดำเนินรายการ : อย่างนั้นคนที่ทุกข์นี่ก็เห็นอะไรที่เป็นความทุกข์ของตัวเอง ก็เห็นเป็นสิ่งสักว่าเหมือนกัน เดี๋ยวมันก็เกิดดับ ๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ต้องเห็นผัสสะเป็นสิ่งสักว่า ไม่ใช่เห็นความทุกข์เป็นสิ่งสักว่า ต้องเห็นผัสสะเป็นสิ่งสักว่า คำว่าสิ่งสักว่าหมายความว่า สักว่าเท่านั้นเอง สักว่าเกิดแล้วก็ดับไป สักว่ามาแล้วก็ไป นี่คือคำว่าสักว่า มันไม่ได้อยู่จริง มันไม่ได้เป็นของจริง มันไม่มีตัวจริง นี่คือต้อง เห็นผัสสะว่าเป็นเพียงสิ่งสักว่า เพราะมันไม่จริง ไม่จริงก็เพราะว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎธรรมชาติ มันไม่มีอะไรมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถจะมองเห็นผัสสะเป็นเพียงสิ่งสักว่า ความทุกข์ก็ไม่เกิด จะไปคอยให้ทุกข์เกิดเสียก่อนจึงควบคุมไม่ได้ อย่างนั้นก็หมายความว่าเราแพ้แล้ว แพ้ผัสสะไปแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเป็นทุกข์เกิดแล้ว จะไปแก้จุดไหนของวงจรอันนี้ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ มันก็แก้ไม่ได้ มันทุกข์แล้ว หมายความว่าวงจรของความทุกข์ได้หมุนรอบไปแล้ว เหมือนสายฟ้าแลบ แล้วก็ถ้าหากว่าไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ความทุกช์ที่เกิดนี่ มันเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร ไม่ลองไปศึกษาดู แล้วก็จำอยู่นั่นแหละ มันก็จะต้องทุกข์แล้วทุกข์เล่า เหมือนอย่างคนบางคนที่ได้พบความสูญเสีย จะน้อยก็ตาม จะมากก็ตาม แล้วก็เอามาเสียใจคร่ำครวญ อาทิตย์ก็แล้ว เดือนก็แล้ว ปีก็แล้ว ไม่ยอมหยุดนั่นนะ เพราะมองไม่เห็น ฉะนั้นผัสสะจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม ให้รู้เท่าทันด้วยสติ สมาธิ และปัญญา จุดของความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นนี่ คือตรงจุดของผัสสะ ถ้าเราควบคุมไม่ทัน คือหมายความว่า รู้ไม่เท่าทันผัสสะด้วยสติและปัญญา มันก็จะเป็นอิทธิพล มีอิทธิพล ทำให้เกิดเวทนา ซึ่งส่วนมากพอฝึกปฏิบัติใหม่ ๆ เราแพ้กันทั้งนั้น พอผัสสะอะไรเกิดขึ้น เรามักจะแพ้ ทีนี้ถ้าสมมติว่าเราแพ้ที่จุดของผัสสะ คือเวทนามันเกิดแล้ว ก็ให้ทันว่านี่กำลังเกิดเวทนาแล้ว ให้ทันตรงจุดนี้ ซึ่งผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิต แล้วก็หมั่นศึกษา ค้นคว้า ดูความเกิดขึ้นภายในจิตเสมอ ก็จะรู้เท่าทันว่าพออาการภายในจิตมันเปลี่ยน มันมีอาการกระเพื่อม มีอาการกระตุก มีอาการสัญญาณอย่างใดที่แสดงความไม่ปรกติ ก็รู้ว่านี่ระวังนะ กำลังจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้วนะ เหตุร้ายนั้นมันก็คือเวทนาที่จะเกิดชอบ เกิดไม่ชอบ หรือบางทีมันพอชอบเข้ามาแล้ว ก็ให้รู้ทันว่านี่เริ่มชอบแล้วนะ หรือจะเริ่มเกลียดแล้วนะ แล้วก็หยุดให้มันทัน หยุดให้ทันด้วยสติ แล้วก็ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา พูดง่าย ๆ ก็ปัญญาตัดทันทีว่า อ๋อ มันเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองคือมันสักแต่ว่าเกิดขึ้น พร้อมกับใช้ลมหายใจที่เราได้ฝึกมาจากอานาปาสติ หายใจยาวแรง ไล่อารมณ์ของเวทนาออกไป แล้วก็ โอ้ มันเช่นนั้นเอง มันสักว่า มันเช่นนั้นเอง มันสักว่า จะเอาว่าท่องไปก่อนก็ได้ ถ้าเรายังไม่ซึมซาบจริง ๆ ท่องไป เพื่อที่จะข่มบังคับไม่ให้เวทนานั้นมันก่อเป็นรูปร่าง แล้วก็คงตัวมันอยู่ แล้วก็มีอิทธิฤทธิ์แรงขึ้น จนกระทั่งมันค่อย ๆ จางหายไป
ผู้ดำเนินรายการ : ยกตัวอย่างนะครับ สมมติมีผู้หญิงสวยอยู่คนหนึ่ง เกิดประทับใจ เวทนาเกิด เกิดหลงรักเข้า คราวนี้เกิดหลงรัก คืออยากได้เขามาเป็นคู่ครองของเราขึ้นมาจริง ๆ ตรงนี้มันตัดไม่ทันแล้วใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ ไม่ทันแล้ว นั่นตัณหามาแล้วนี่ เพราะฉะนั้นที่ทำไมถึงว่าต้องให้ทันเวทนา เพราะถ้าหากว่าเราไม่รู้ทันเวทนาที่กำลังเกิดขึ้น นี่หมายความว่าไม่ทันต่อผัสสะแล้วนะ มันก็เกิดเวทนา ทีนี้เวทนาเกิดแล้ว ยังไม่ทันอีก ยังไม่รู้อีกว่า นี่ตัวกำลังอยู่ในเวทนาลบหรือบวกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ายังรู้ไม่ทัน มันก็ต้องนำตัณหามาทันที จะเอาถ้าชอบ ถ้าหากว่าไม่ชอบก็ไม่เอา ไป ตัณหาไม่เอา แล้วก็พอตัณหาเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะนำไปสู่อุปาทาน ยึดมั่น ต้องเอาให้ได้ ต้องเอาให้ได้ ก็ต้องหาวิธีแล้ว วิธีใดวิธีหนึ่งที่ต้องให้ได้อย่างใจ แล้วเสร็จแล้ว มันก็จะต่อไปถึงภพ ภพ หรือ ภวะ คือความมีความเป็น ก็คือความเป็นผู้ที่จะเอาให้ได้ จากอุปาทานยึดมั่น ความเป็นผู้ที่จะเอาให้ได้ แล้วมันก็หยุดไม่ได้ พอหยุดไม่ได้เข้า มันก็เกิดเป็นชาติ ชา-ติ ทีนี้ ชาติ ชา-ติ ในที่นี้ก็ของปฏิจจสมุปบาทที่เรากำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้นะคะ ก็ต้องเข้าใจว่า มันหมายถึง ชาติ หรือ ชา-ติ ของความเกิด ของความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน เพราะฉะนั้นมันก็ทุกข์ทันที ฉันจะเอาเพราะฉันชอบ ฉันจะเอาฉันก็จะต้องเอาให้ได้ แล้วเสร็จแล้วมันก็เกิดความทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะขณะนั้นจิตร้อนรนแล้ว อาการของความร้อนรน ดิ้นรน กระเสือกกระสน เรียกว่าหัวซุนวิ่งหาหนทาง นั่นแหละความทุกข์ แต่บางคนไม่รู้ บางคนอาจไปคิดว่า ฉันกำลังพยายามนะนี่ กำลังใช้ความพยายาม แต่ใช้ความพยายามอย่างขาดสติใช่ไหม ใช้ความพยายามอย่างขาดสติ ทำไมเราถึงว่าขาดสติ เพราะมันมีตัณหา มีตัณหาที่จะเอาให้ได้อย่างใจ ตามกิเลสความโลภ เพราะฉะนั้นนี่มันเป็นฝ่ายแพ้ แพ้กิเลสไปแล้ว เป็นทาสของกิเลสไปแล้ว มันก็มีแต่ทุกข์ ๆ เท่านั้นเอง ฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนา หรือการศึกษาธรรมะ ต้องศึกษาเรื่องของคำว่าทุกข์ ความทุกข์ ให้เข้าใจชัดเจน มิฉะนั้นก็จะไปหลงว่า ความทุกข์นี่เป็นความพยายาม มันเป็นความขยัน มันเป็นความอุตสาหะ มันเป็นความดี ซึ่งมันก็ได้เหมือนกัน แต่มันคนละอย่าง เราต้องดูให้ซึ้งว่า ถ้าตราบใดที่ตัณหาร้อนรนอยู่ในนั้น ไม่ใช่หนทางของธรรมะ เป็นทาสกิเลสไปแล้ว เขาเรียกว่าถูกกิเลสคาบไปกินแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ : ฟังท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง แนะนำถึงเรื่องของวิธีดับความทุกข์ ให้เราเข้าใจถึงตัวทุกข์นี่ก่อนนะครับ ถ้าเราเข้าใจตัวทุกข์ก็สามารถที่จะสลัดความทุกข์ออกไปได้ จิตใจของเราก็จะสงบเย็นลงนะครับ เป็นการนำหลักธรรมะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรากันนะครับ