แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : พูดเรื่องของปัญหาธรรมะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องของความรักนะครับ ความรักอย่างไรถึงไม่มีทุกข์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวนะครับ สำหรับการสนทนากับท่านอาจารย์รัญจวนในวันนี้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือความหมายว่าเขารักกันนะ ผู้หญิงกับผู้ชายเขารักกัน แล้วผลที่สุดเขาก็ตกลงปลงใจอยู่ด้วยกัน ก็ลองนึกดูว่า ความรักนี่มันก็ดีหรอก เขาก็เรียกว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม มันทำให้โลกนี้สวยงาม มีความอบอุ่นอะไรทำนองนี้ แต่ทีนี้ลองนึกดูว่า ในระหว่างที่รัก เอาตั้งแต่เริ่มรัก ในระหว่างที่รักนี่ มันเย็นสบายดีอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : จริงๆ แล้วไม่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่ กระวนกระวาย ถ้าสมมุติว่ามันไม่มีอุปสรรคขัดขวาง มันก็มีความคิดถึง มีความคิดถึง มีความห่วงใย มีความนึกว่าเขาจะสบายดีหรือเปล่า มีอันตรายอะไรหรือเปล่า เขารักเราหรือเปล่านะ จริงหรือเปล่า มันก็คิดวุ่นวายไปเรื่อยๆ อย่างนี้ถ้าหากว่าคิดวุ่นวายไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ในทางธรรมท่านบอกว่าจิตนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะยึดมั่น ยึดมั่นในเรื่องของความรักของคนรักคนนั้น ว่าเรารักเขาเพราะฉะนั้นเขาก็จะต้องเป็นของเรา แล้วตัณหาความอยาก ก็อยากจะให้เขารักเราเหมือนอย่างเรารักเขา อยากให้เขาได้อยู่ใกล้เราเหมือนเราอยากอยู่ใกล้เขา
เพราะฉะนั้นอย่างนี้ที่ถามว่า ถ้ารักกันแล้ว แล้วก็อยู่เย็นเป็นสุขอย่างนี้ มันมีทุกข์ไหม ก็ลองดูใจของตัวเอง ว่ามีไหม ความดิ้นรนกระวนการวายอย่างว่า นอกจากว่า เรารักกันด้วยสติทั้งคู่ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาในเรื่องของธรรมะ ก็รักกันด้วยสติ มีสติที่จะยับยั้งใจตัวเอง เมื่อแน่ใจในกันและกันแล้ว ก็ไว้ใจในกันและกันได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปห่วงหากังวล ถึงเวลาที่เรานัดพบกันเมื่อไหร่เราก็พบกัน ถึงเวลาที่เราจะมีกิจวัตรที่ต้องช่วยเหลือทำงานอะไรกัน เราก็ช่วยกัน เสร็จแล้วเรายังไม่ได้อยู่ด้วยกัน เราก็แยกกันกลับบ้าน แต่ถ้าหากว่าเราแยกไปแล้วใจมันยังกังวล กังวลวิตก กังวลอาวรณ์ นึกถึงอยู่ตลอดเวลา มันก็ยังเป็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ แล้วเราก็คิดว่านี่เป็นความสุข แต่มันก็ยังดี ยังดีกว่าความรักอีกอย่างหนึ่งที่รักแล้วมันไม่ได้สมใจ แล้วโกรธแค้นประหัตประหารกัน
เพราะฉะนั้นที่พูดถึงว่า ความรักหรือตัวคนรักนั่นมันก็เป็นผัสสะ แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักที่จะรักอย่างชนิดมีธรรมะประกอบ เรารู้ว่า รักมันก็สักแต่ว่ารัก แล้วก็ยังไงๆ รักก็ดีกว่าเกลียดนั่นแหละ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นรักมันก็ดี แต่ว่ารักแล้วอย่าให้เป็นทุกข์เพราะความรัก ถ้ารักแล้วต้องเป็นทุกข์เพราะความรัก เขาเรียกว่าเรากินเหยื่อของความรักนั้นตลอดเวลา มันก็ไม่ใช่รักอย่างเป็นนายของความรัก แล้วแทนที่ความรักจะทำให้ชีวิตสวยงามอบอุ่น มันกลับร้อนรนด้วยความกระวนกระวาย
ผู้ดำเนินรายการ : นึกถึงความรักของวัลยาขึ้นมาทันที
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความรักของวัลยานั่นคนละอย่าง วัลยาเขาไม่ใช่รักเรื่องเพศ นั่นเขารักมนุษยชาติ ถ้าจะพูดไปนะ ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นั่นมันเป็นความรักที่เขารักเพื่อนมนุษย์ ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาไม่ได้รักเฉพาะตัวบุคคลคนใดคนหนึ่ง แต่เขารักอยากจะหาหนทางให้เพื่อนมนุษย์ได้มีความสุขเสมอเหมือนกัน พ้นจากความขาดแคลน พ้นจากปัญหา อย่างนั้นเป็นความรักที่เรียกว่ามีธรรมะ มีธรรมะ เพราะเขาไม่ได้รักอย่างเห็นแก่ตัว
ความรักเฉพาะคน คือเฉพาะคู่ของตนเอง มันมีความเห็นแก่ตัวสอดแทรกอยู่ในนั้น เราปรารถนาดี เราอยากให้คนรักของเรามีสุข มีอะไรทุกอย่าง และบางทีเราก็หวงกัน ใช่ไหม หวงกันไม่อยากให้คนอื่นเขามาได้อะไรอย่างที่คนรักของเราควรจะได้ กลัวเขาจะมาดีเท่าคนรักของเรา หรือกลัวเขาจะมาแย่งเอาไป เพราะฉะนั้นอย่างนั้นเรียกว่า รักอย่างเห็นแก่ตัว รักเฉพาะตัว เพื่อตัวเองคนเดียว แต่อย่างของวัลยานั่น เขารักเพื่อนมนุษย์ เขารักแล้วก็คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขด้วย ซึ่งก็เรียกได้ว่าเมื่อเขารักแล้ว เขาก็รู้ว่า หน้าที่ของมนุษย์ก็คือทำสิ่งที่ถูกต้อง คือเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่เฉพาะแต่เกิดประโยชน์แก่ตัวเรา และเราก็มีผลพลอยได้ที่สูงสุด คือความอิ่มใจ พอใจ แล้วก็สดชื่นเบิกบานที่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าทุกคนรักอย่างวัลยาได้ก็ดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ ก็อยากจะให้มองเห็นอย่างนี้ การศึกษาธรรมะจะช่วยอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์รัญจวนครับ ปัญหาของปฏิจจสมุปบาทที่เราพูดกันอยู่หลายครั้งนี่ครับ ขอยกตัวอย่างขึ้นมาก็ดูเป็นที่สนใจของหลายๆท่านทีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่มองเห็นใกล้ตัวชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของความรัก น้องๆ ก็สนใจถามขึ้นมาว่า ความรักเมื่อรักแล้วนี่ รู้ว่ารักเป็นทุกข์ ถ้าเกิดอกหักขึ้นมา อย่างนี้ถามว่าจะทำอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความรักที่ไม่เป็นทุกข์มันก็มี ตัวอย่างความรักของวัลยา ถ้าหากวัลยามีธรรมะอยู่ในใจของตนจริง แล้วก็มีความรักที่อยากจะให้เพื่อนมนุษย์ได้มีความสุขทั่วกัน และในขณะที่เขากำลังพยายามทำหน้าที่เพื่อจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เหมือนอย่างนักพัฒนา พัฒนากรบางคน ที่ไปช่วยพวกชาวหมู่บ้านที่ชนบทอะไรต่างๆ เหล่านี้ ถ้าหากว่าเขามีธรรมะ เขาก็จะทำโดยไม่ต้องหวัง เขาจะใช้ความรู้ความสามารถของเขา เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีความอยู่ดีกินดี แล้วก็รู้จักชีวิตที่ดีขึ้น แต่เขาไม่หวัง แต่ว่าทำให้เต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ อย่างนั้นเขาจะไม่ทุกข์ เรียกว่าเป็นความรักที่อยากจะทำให้เกิดความสุขถ้วนหน้ากัน แต่ทว่าไม่ต้องเป็นทุกข์
แต่ถ้าหากว่าเขารักอย่างจะให้ประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็หวัง ว่าฉันทำเท่านี้อย่างนี้แล้วมันต้องเป็นสุข มันต้องได้ผลอย่างนี้ พอผลมันไม่เป็นอย่างนั้นก็เอามาเสียอกเสียใจ อย่างนี้ก็เรียกว่า มีความตั้งใจดี ปรารถนาดี แต่ยังขาดสติ คือขาดธรรมะที่จะช่วยรักษาใจของตัวเอง ให้คนอื่นมีความสุข แต่ใจของตัวเองนี่ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นอย่างวัลยานั่นน่ะ ที่เสนีย์ เสาวพงศ์ก็ไม่ได้บอก ว่าวัลยามีธรรมะในใจแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าหากเขามีธรรมะอยู่ในใจ เขาจะทำเต็มที่ แต่เขาไม่หวัง โดยความรักหรือความปรารถนาดีที่เขามีให้ก็ไม่เลือกผู้เลือกหน้า ไม่เลือกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นใคร เขาเห็นว่าใครมีความทุกข์ เขาอยากจะช่วยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นที่พูดว่า ความรักแล้วต้องเป็นทุกข์ ไม่แน่เสมอไป ถ้าเราเปลี่ยนความรักนั้น ให้เป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว
คือพอรักครั้งแรกโดยเฉพาะรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง หรือแม้แต่รักระหว่างพ่อแม่กับลูกก็ตาม มันมีความเห็นแก่ตัวอยู่ในนั้น เพราะอยากจะให้ลูกของฉันได้ดี แล้วก็ผู้ชายกับผู้หญิงก็อยากจะให้คู่รักของตัวได้อย่างนั้น เป็นอย่างนี้ หรือว่าเป็นอย่างใจของตัวเอง นั่นเป็นความรักที่เห็นแก่ตัว ถึงจะทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักรัก ขยายความรักนั้นให้มันมีขอบเขตกว้างขวางออกไป โดยลดละความเห็นแก่ตัวเสีย อย่ารักเขาแล้วก็จะเอาให้ได้อย่างใจของตัว แต่รักเขาอย่างที่เขาเป็น แล้วก็พร้อมที่จะเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย แต่ในขณะเดียวกัน คนเรามันต้องมีข้อบกพร่อง ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม ก็พร้อมที่จะรับข้อบกพร่องของกันและกัน แล้วก็พร้อมที่จะให้อภัย ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ตักเตือนเพื่อจะแก้ไขปรับปรุง อย่างนี้ความรักอันนั้นมันจะไม่เป็นความทุกข์ แต่จะเป็นความรักของกัลยาณมิตร อย่างที่ว่าจะอยู่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่เขาว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยาก นั่นเป็นคำอุปมาอุปไมย
แต่ก็หมายความว่า เขาอยู่กันด้วยความเห็นอกเห็นใจ ทีนี้อย่างชนิดที่รักแล้วมันเกิดไม่สมหวัง จะเป็นเพราะใครทรยศใครเราก็ไม่รู้ แล้วคนที่บอกว่าตัวถูกทรยศก็เกิดความอกหักขึ้น อกหักก็เพราะมันขาดสติ รักอย่างเห็นแก่ตัวอย่างยึดมั่นเอาจริงเอาจังว่าเขาจะต้องเป็นของฉัน แล้วเขาจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ต่อฉันตลอดไป พอเขาเปลี่ยนเมื่อไหร่ ยิ่งเปลี่ยนไปหาคนอื่น เราก็รู้สึกว่าเราอกหักแล้ว เพราะฉะนั้นบุคคลที่รู้สึกว่าอกหัก ก็จงหันเข้ามาหาธรรมะให้ถูกต้อง ศึกษาธรรมะให้ถูกต้อง แล้วก็ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา เพื่อทำจิตที่กำลังอ่อนแอรวนเร แล้วก็อยู่ในความสงสัยไม่แน่ใจ หรืออยู่ในความหมดหวัง ผิดหวัง ให้เป็นใจที่มีสติ แล้วก็มีสมาธิมั่นคง พร้อมกับฝึกฝนอบรมปัญญา คือในเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยซ่อมหัวใจที่หัก ให้มันแข็งแรงสมบูรณ์เหมือนเดิม
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วสุภาษิตฝรั่งที่บอกว่า Love me, love my dog นี่ใช่ไม่ได้เหรอครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นมันรักของกิเลส ถ้ารักฉันต้องรักหมาฉันด้วย โถ่เอ๋ย ก็เป็นคนแท้ๆ ทำไมถึงจะไปยอมกินเหยื่อถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะว่าให้ธรรมะซ่อมนี่นะ มันมีเคล็ดอยู่นิดเดียวว่าต้องซ่อมเอง ไม่มีโรงซ่อม ที่จะบอกว่าใครอกหักมา จะได้ตอกตะปูให้ ไม่มี
ผู้ดำเนินรายการ : ฟังที่ท่านอาจารย์อธิบายก็ไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องกลับไปทำกันเอาเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ต้องเอาไปปฏิบัตินะคะ