แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : วันนี้จะวนเวียนอยู่ในเรื่องของความรักกันต่อนะครับ ตามที่ท่านอาจารย์บอกครั้งที่แล้วว่า รักนี่ต้องไปปฏิบัติแก้ไขที่ตัวเราเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือ ถ้ารักแล้วเป็นทุกข์ แล้วอกหัก นี่ต้องแก้ไขด้วยตัวเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่งเขาไม่ควรปรับปรุงตัวอะไรเลยหรือ ทำไมให้พึ่งตัวเราอย่างเดียวเลย คือสมมุติว่าเมื่ออยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันแล้วนะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนี้มันเกี่ยวกับกฎอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตานี่เข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง อย่างเช่น พออยากจะมีคนรักสักคนหนึ่ง ทำไมถึงไม่ดูเหตุปัจจัย ทำไมถึงต้องรัก อะไรที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้จะต้องรัก ต้องมีความรัก คือผลที่เกิดขึ้นนี่มันรักเขา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าศึกษาเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยจากตัวเขา เหตุปัจจัยจากตัวเรา ว่าสามารถจะเข้ากันได้ไหม ก็อย่างที่พูดเมื่อคราวที่แล้วว่า รู้ไหมว่าที่เรารักเขานี่เพราะอะไร เพราะรูปหล่อหรือ ถ้าเพียงแค่เพราะเขารูปหล่อนี่มันไม่ได้ใช้สติปัญญาในการรักเลย มันรักอย่างหลับหูหลับตา หรือผู้ชายรักผู้หญิงเพราะรูปสวยอย่างเดียว เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเน่าเมื่อไหร่ก็ได้ ใช่ไหม ความหลงความหล่อ ความสวยความน่ารัก ประเดี๋ยวมันก็เน่า เดี๋ยวมันก็สลาย เดี๋ยวมันก็เหม็น มันไม่อยู่คงทน แค่สามเดือนบางทีก็เกินพอแล้ว
เพราะฉะนั้นมันต้องรักให้ลึกไปกว่านั้น คำว่าลึกนั่นก็คือต้องดูถึงสิ่งที่จะช่วยให้เราอยู่ได้ด้วยกันต่อไปอย่างเป็นเพื่อนกัน เช่น เป็นคนมีเมตตากรุณาต่อกันไหม เป็นคนมีความเข้าใจต่อกันไหม คือรู้จักเข้าใจคนอื่นไหม หรือเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตัวคนเดียว นี่ก็เห็นแก่ตัวอย่างเหลือเกินแล้ว แล้วก็ถ้าหากใครหวังความปลอดภัยในความรัก ก็ไม่ควรไปเกี่ยวข้องกับคนอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม จะต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วเมื่อเข้าใจแล้ว มีความเห็นใจไหม มีความพร้อมที่จะให้อภัยซึ่งกันและกันไหม แล้วก็เป็นกัลยาณมิตรที่จะตักเตือนซึ่งกันและกันได้หรือเปล่า นี่คือเหตุปัจจัยต่างต่างที่ควรจะได้ศึกษา ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะมาตกลงรัก พอรักไปแล้วมันไม่เหมือนอย่างที่คิดฝัน หรือหวัง แน่นอน มันก็ต้องเป็นทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ : ที่โบราณบอกให้ดูกันก่อน เพราะที่จริงตัวนี้เองที่ท่านสอนไว้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ คือต้องดูค่ะ ดูในที่นี้คือ ดูตาม สัปปุริสธรรม ที่เรียกว่าเป็นธรรมะของบัณฑิต ต้องรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ประชุมชน รู้บุคคล
รู้ตน ก็คือรู้ตัวของเราว่าพร้อม พร้อมในการที่จะมีคู่รักไหม เช่นเราเป็นคนขี้โกรธ แสนงอน นี่ถ้าพูดถึงผู้หญิงนะ เอาแต่ใจตัว นี่พร้อมจะมีคนรักไหม แล้วจะมีผู้ชายสักกี่คน หรือสักคนเดียวที่เขาพร้อมจะมาตามอกตามใจ ตามงอนง้อ อยู่ทุกฝีก้าว มีไหม ถ้าไม่มี แล้วเราแก้นิสัยนี้ไม่ได้ นี่ก็ยังไม่พร้อมแล้ว ไม่พร้อมที่จะมีคู่รัก ไม่พร้อมที่จะมีคู่ครอง ขืนมีมันก็แตก ใครที่จะไปทนไหว ผลที่สุดเขาก็ต้องทิ้งคนอย่างนั้น ที่จะเอาแต่ใจของตัวเองตลอดเวลา ยกเว้นจะมีสักหลายพันล้าน แต่เขายังรู้ว่าเอาใจไว้ก่อนอย่างน้อยก็ยังมีมรดกอยู่หลายพันล้าน ถ้าพันล้านนี่หมดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ไปกันได้ ก็เลิกกันได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องดูตน คือความพร้อม
นอกจากนี้ ถ้าหากว่าตนคือความพร้อม เราไม่มีนิสัยที่น่าเกลียดอย่างนั้น แต่ทว่าตรงกันข้าม มีนิสัยที่พร้อมจะเข้าใจ พร้อมจะเห็นใจ พร้อมจะแก้ไข และก็ปรับปรุงให้มันดีขึ้น แล้วก็พร้อมที่จะรักอย่างใจกว้าง คือไม่ใช่เห็นแก่ตัว แล้วก็ดึงเขาไว้ให้ติดตัวเราตลอดเวลา อย่างนั้นถึงจะเห็นแก่ตัว แล้วก็รักอย่างที่ว่าเขาจะต้องเป็นอย่างที่ฉันให้เป็น อย่างที่ว่ารักฉันก็ต้องรักหมาฉันด้วย นั่นคือรักที่ฉันต้องการอย่างไร เธอก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มันเห็นแก่ตัว ฉะนั้นถ้าหากว่าตนพร้อมที่จะรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว นี่กล่าวสรุป นั่นแหละ จึงค่อยรัก
ทีนี้ เสร็จแล้วก็ต้องดูบุคคล นี่เราไม่ได้พูดไปทีละข้อนะ เราพูดไปข้อสุดท้าย ต้องดูบุคคล บุคคลก็คือตัวคนที่เราจะรัก ว่าเขาเป็นอย่างไร เขาพร้อมอย่างที่เราพร้อมไหม แล้วก็ดูประชุมชน นั่นก็คือดูวงศาคณาญาติเขา ดูพี่น้องเพื่อนฝูงเขา ว่าเป็นบุคคลที่เราจะเข้าด้วยกันได้ไหม เพราะบางทีเราจะดูไกล อย่างที่เขาบอกว่า ดูคนที่เขาคบ หรือดูพ่อแม่พี่น้องเขา หรือว่าดูหนังสือที่เขาอ่าน ดูอะไรที่เขาชอบ มันก็เป็นการส่อแสดงถึงนิสัย ฉะนั้นการดูประชุมชนก็ดูวงศาคณาญาติ ว่าเราสามารถจะทนกับเขาได้ไหม จะอยู่ด้วยกันได้อย่างเรียบร้อยสันติสุขไหม นี่พูดง่ายง่ายนะ ถ้าเราดูสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าเราศึกษาเหตุปัจจัย แล้วถ้าหากว่าเหตุปัจจัยทุกอย่างมันลงตัวกันได้ ผลมันก็คือไม่ต้องประสบปัญหา เป็นกัลยาณมิตรต่อกันได้ จนถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร แล้วก็จูงเข้ามาหาธรรมะก็ยิ่งช่วยกันเย็น
ผู้ดำเนินรายการ : ฝันไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็แล้วแต่ อยากให้เป็นความจริงก็ทำให้มันเป็นจริง อยากฝัน ก็ฝันไป แล้วหล่นตุ้บลงมา แล้วก็หลังหักเป็นทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์ครับ ปัญหาที่จะเรียนถามวันนี้ เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันที่ทุกคนเจอ แล้วก็มีความทุกข์อยู่บ่อยๆ นั่นก็คือปัญหาความรักนี่นะครับ ก็คือมีผู้สงสัยว่า การที่เราปฏิบัติธรรมจนเราแก่ โดยที่สุดท้ายเราก็ไม่มีคู่ครอง เรียกว่ามันผิดธรรมชาติไหม ดูคนอื่นเขาก็มีคู่กันเยอะแยะ แต่เรานี่มันไม่มีคู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คำถามนี่มันแย้งอยู่ในตัว ถ้าเขาปฏิบัติธรรมแล้วเขาต้องไม่มีคำถามอย่างนี้ ถ้าผู้นั้นปฏิบัติธรรมไม่ต้องมาถามอย่างนี้ ว่าการไม่มีคู่มันผิดธรรมชาติไหม คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมหรอกจึงจะถามว่า การที่ไม่มีคู่ครองผิดธรรมชาติไหม เพราะจากการปฏิบัติธรรมก็รู้แล้วว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตนให้เรายึดเอาเป็นจริงเป็นจังสักอย่างเดียว ว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้น การที่จะมีคู่ครองหรือไม่มีคู่ครอง ตอบตามธรรมะ คือแล้วแต่เหตุปัจจัยกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อเหตุปัจจัยมันยังไม่อำนวย มันก็ไม่ต้องมี เหตุปัจจัยมันอำนวยมันก็มี หรือบางทีถ้าเขาศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรม แล้วเข้าใจในวิถีชีวิตของธรรมะแล้วก็ของธรรมชาติแล้ว ถึงแม้บางทีมีเหตุปัจจัยมา คือมีคนมาชอบ มาพอ แต่เขาก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะเหตุว่า การที่จะต้องมีคู่ครองอย่างชนิดที่เขารู้อยู่แกใจอย่างนั้นแล้ว มันเป็นภาระ เป็นความผูกพัน มันเป็นการสร้างสิ่งที่เป็นของเราขึ้นมา ตัวเราอยู่แล้ว มีของเรา มีคนอีกคนที่ต้องมาอยู่เคียงข้าง ตัวเราคนเดียวนี่ยังเอาใจตัวเองไม่ค่อยจะได้ ผัสสะเกิดทีไรเราก็เอาทุกที นี่จะหาผัสสะมาอยู่ติดตัวอีก เพราะฉะนั้นเขาก็คงจะเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะว่าถึงแม้จะไม่มีคู่ครอง เราก็สามารถที่จะมีความอบอุ่นจากความรัก ความรักของเพื่อนมนุษย์ที่เราจะมีให้คนอื่น แล้วมันก็จะมากลับถึงเราอีกโดยไม่รู้ตัว
แต่ว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ที่เป็นคนโลกแท้แท้ แล้วก็พอไม่ได้มีคู่ครองก็อาจจะรู้สึกว่า เรานี่ผิดเพื่อนเขารึเปล่า เพราะว่าเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมารุ่นเดียวกัน คนนั้นเขาก็มีคู่ คนนี้เขาก็มีลูก เรานี่มันอยู่โด่เด่อยู่คนเดียว เขาอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ นี่คืออัตตา เห็นไหม อัตตามันบอก เพราะว่าอีโก้ของฉันมันไม่เหมือนคนอื่นเขา คนอื่นเขามีกัน ฉันไม่มี เลยรู้สึกเหมือนว่าฉันนี่ด้อย นี่เป็นความรู้สึก ในใจอาจจะอยากมี ต้องการจะมีคู่ครอง แต่เผอิญเหตุปัจจัยยังไม่อำนวย มันก็เลยนำความคิดขึ้นมาว่า เรานี่ผิดธรรมชาติไหม ก็อยากจะบอกว่าไม่ผิดธรรมชาติเลย เพราะว่าเหตุปัจจัยยังไม่อำนวย เราก็ทำหน้าที่ที่เราเกี่ยวข้องอยู่ตั้งเยอะแยะ หน้าที่เป็นลูกบ้าง หน้าที่ในการงานที่เราทำ แล้วแต่ตำแหน่งอะไร หน้าที่ในฐานะเพื่อน หน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม มีหน้าที่จะทำเยอะแยะ จนเราจะสนุกไปเสียอีก
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์ครับ อีกมุมหนึ่งคือถ้าไม่มีคู่ครอง อยู่ไปแก่ๆ แล้ว ก็เหมือนจะไม่มีเพื่อน เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีเพื่อนปรนนิบัติอะไรแบบนี้ก็จะลำบากเหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ลองนึกดูสิคะ ว่าความเป็นจริงนั้น คู่ครองทั้งหลายที่แต่งงานกันนี่ ได้อยู่ปรนนิบัติกันทุกคู่หรือเปล่า บางทีก็อยู่กันตีกันหัวร้างข้างแตก แล้วก็ต้องเอาไปให้โรงพยาบาลเขาช่วยดูแล ให้หมอดูแล ให้พยาบาลดูแล หรือบางทีมีคู่ครองแล้วก็มีลูกมีเต้า ผลที่สุดก็ต้องไปอยู่บ้านคนชราคนแก่ อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น จะมาหวังเอาอะไรแน่ว่า ถ้าเรามีคู่ครอง ถ้าเรามีลูกแล้ว เราจะต้องอบอุ่น นี่คืออยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจยตา ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ทางที่สมควรแล้ว ก็ไม่ควรดิ้นรนให้ใจเกิดเป็นทุกข์ แต่กระทำหน้าที่ของเรานี้ให้ถูกต้องอยู่เสมอเถอะ แล้วเมื่อเหตุปัจจัยอำนวย แล้วเราก็ศึกษาดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง มันสมควร เพื่อที่จะมีกัลยาณมิตร ไม่ใช่เพื่อที่จะมีคู่ คือมีใครสักคนหนึ่งมาอยู่แก้เหงา ไม่ใช่แค่นั้น แต่เราปรารถนาที่จะมีกัลยาณมิตร ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนให้คำปรึกษาแนะนำกันไปเรื่อยเรื่อย อย่างนั้นเราจะตัดสินใจมันก็ไม่ผิดพลาดอะไร คือหมายความว่าทางธรรมะไม่ได้ห้าม หรือการปฏิบัติธรรมจะห้ามว่า ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วมีคู่ครองไม่ได้ ก็เปล่า พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยทรงห้ามว่าจะอยู่บ้านไม่ได้ หรือจะชักชวนคนมาบวช
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านยังมีธรรมะแบบผู้ครองเรือนสอนอยู่ด้วย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ถูกแล้ว คือ ฆราวาสธรรม4
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ นั่นก็เป็นเรื่องราวของหลักธรรมที่ได้คุยกับท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นะครับ