แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ผมได้คุยปัญหาเรื่องความรักกับท่านอาจารย์คุณรัญจวนมาหลายต่อหลายตอนด้วยกันนะครับ ว่า รักอย่างไรถึงไม่มีทุกข์นะครับ แล้วก็รักแบบไม่ทุกข์คือเรื่องที่ทุกคนสนใจมากทีเดียวเลยนะครับ ไปพบกับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันต่อนะครับ หลังจากที่ฟังท่านอาจารย์พูดมาแล้วนี่ มีความรู้สึกทุกคนก็จะตระหนักว่า ความรักก็คือความทุกข์นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บอกว่าไม่ทุกข์ก็ได้ ทำไมถึงจะต้องชอบอ้างว่าความรักคือความทุกข์ ไม่ทุกข์ก็ได้ถ้ารักเป็น
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ แต่ส่วนใหญ่สุดท้ายก็ตระหนัก ก็พบละ มันก็ต้องทุกข์ช่วงใดช่วงหนึ่ง แล้วสมมติว่าถ้าเขาฟังอย่างนี้แล้วเกิดมีความรู้สึกว่า ฟังอย่างนี้แล้วไม่อยาก ไม่อยากมีคู่แล้วละ อยู่คนเดียวรู้สึกสบายใจกว่า เพราะว่าตัวเรา อัตตาเราเอง เราก็ยังตามไม่ทัน จับไม่ทัน อย่างนี้เขาเกิดลังเลขึ้นมาแล้ว ตอนนี้ลังเลสงสัย พอจะมีคำตอบต่อท่านที่ลังเลสงสัยบ้างหรือไม่ อย่างไรบ้างครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้ากำลังมีคู่รักอยู่แล้ว แล้วก็กำลังคิดว่าจะแต่งงานกันเมื่อไหร่ รับรองว่าคำที่เราพูดกันนี่ห้ามเขาไม่ได้หรอก ยังไงๆ เขาก็ต้องตกลงใจกันแน่ๆ แต่ถ้าหากว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่มีเหตุปัจจัยอะไร ที่จะทำให้ใจนึกอยากที่จะแต่งงาน หรือว่านึกอยากจะรัก ก็อาจจะได้คิด อาจจะได้คิดว่า เราสามารถที่จะทำให้ชีวิตนี้อบอุ่นเป็นสุขโดยไม่แต่งงาน โดยไม่มีคู่รักก็ได้ เราอาจที่จะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ในสังคมโดยที่ไม่ต้องมีครอบครัวก็ได้ คือหมายความว่าไม่ต้องมีลูกมีหลาน หรือบางคนถ้าจะพูดไปให้มากถึงกับว่าจะต้องมีผู้สืบตระกูล ถ้าจะว่าไปแล้วตระกูลที่สำคัญนี่คือตระกูลอะไร ตระกูลที่สำคัญนี่คือตระกูลอะไร ตระกูลมนุษยชาติ
ผู้ดำเนินรายการ : ขยายความด้วยครับ ขอขยายความยังงงๆ อยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็นึกดูสิว่า สิ่งต่างๆ ที่เราพบในสังคมทุกวันนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่ในหนังสือพิมพ์ก็ดี ในนิตยสาร หรือว่าเราฟังข่าวโทรทัศน์ เราก็พบคำปรารภของบรรดานักเขียนนักข่าวทั้งหลายใช่ไหม ว่าโลกของเราทุกวันนี้ สังคมของเราทุกวันนี้ มันค่อยๆ ห่างไกลจากโลกของความเป็นมนุษย์ไปทุกทีๆ แล้ว แล้วมันมีเหตุการณ์ทารุณร้ายกาจที่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่างน่าสยดสยอง อย่างน่าหดหู่ เพราะฉะนั้น อันนี้นี่เป็นตระกูลของมนุษยชาติที่เราควรจะช่วยกันรักษาไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราปรับเปลี่ยนพัฒนาความรักเฉพาะตัวบุคคล ที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะมีความเห็นแก่ตัวอยู่ในนั้น ขยายวงของความรักให้มีขอบเขตที่กว้างขวางออกไป คือว่ารู้จักรักคนอื่นเท่าๆ กับรักลูก รักหลานเรา หรือว่ารักเพื่อน รักพี่ รักน้อง รักตัวเราเอง อันนี้แหละจะเป็นความรักที่รักษาตระกูลของมนุษยชาติไว้ อย่างน่าชมเชย อย่างน่าภาคภูมิใจ สมกับความเป็นมนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้น ผมขอย้อนกลับไปที่จุดเดิมนะครับ ถ้าสำหรับคนที่ลังเลสงสัยอย่างนั้นนี่ครับ คือกำลังมองว่ามันเป็นตัวนิวรณ์ตัวหนึ่งหรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : วิจิกิจฉา
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ทีนี้ถ้าเขาจะตัดสินใจต่อไป มันก็ไม่ผิดใช่ไหมครับ ถ้าเขาเจอกัลยาณมิตรที่ดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ถ้าเขาแน่ใจ หลังจากที่เขาอาศัยสัปปุริสธรรมเข้ามาพิจารณาใคร่ครวญทุกข้อ ดูเหตุ เหตุอะไรที่จะต้องแต่งงาน มีเหตุอะไรที่ผลักดันที่จะต้องแต่งงาน แล้วก็ดูผล ถ้าแต่งงานมีคู่แล้วนี่ จะมีผลตามมาเป็นอย่างไร ก็สรุปเอาเองนะคะ คิดเอาเอง แล้วก็ตน ความพร้อมของตนที่พูดเมื่อกี้นี้ แล้วก็ประมาณ คือการที่จะมีคู่รักมีการแต่งงานเป็นคู่ครองกันนี่ ประมาณนี่คือความพอเหมาะพอดี จะดำเนินการวิธีไหนกันถึงจะอยู่ในความพอเหมาะพอดี พอเหมาะพอดีนี่ ถ้าพูดง่ายๆ คือในทางสายกลาง แล้วก็ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือว่าไม่มีปัญหาตามมา ที่จะไม่ให้เกิดเป็นปัญหา ไม่ให้เกิดเป็นความทุกข์ แล้วก็กาล กาลก็คือกาลเวลา เวลาตอนนี้มันเหมาะเจาะหรือยัง เหตุปัจจัยที่จะช่วยให้การแต่งงานตอนนี้ มันเหมาะหรือยัง เช่น มีเงินเพียงพอที่จะอยู่ด้วยกันหรือเปล่า ถ้าสมมติมีลูกขึ้นมา มีเงินเพียงพอจะเลี้ยงลูกไหม แล้วก็อายุอานาม อารมณ์ อะไรต่ออะไรต่างๆ เหล่านี้ ตอนนี้เหมาะดีแล้วหรือยัง กาลเวลาเหมาะ แล้วก็เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชนก็คือบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วก็คนคือบุคคลที่เราจะเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเราดูเหตุปัจจัยตามสัปปุริสธรรม แล้วมันก็เรียบร้อย พร้อม ก็แต่งได้ มีคู่ครองได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า มีความรักแล้วก็มีความตั้งใจที่จะมีคู่ครองอย่างมีสติ แล้วก็มีปัญญาในการที่จะเลือกคู่ครอง
เพราะฉะนั้น ถ้ามีสติและปัญญาอย่างนี้ แล้วก็ไม่ทิ้งธรรมะ คงฝึกฝนอบรมปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็หวังว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งธรรมดามันต้องมีบ้างละนะคะ อย่างที่เขาว่ากันฟันกับลิ้นกระทบกัน ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่เป็นคู่ครองกัน ก็คงจะแก้ปัญหาด้วยสติและปัญญา ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ถ้าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ก็คือเอากิเลสเข้ามาแก้ โลภ โกรธ หลง ปัญหาความอยากเอาอย่างใจฉัน และอุปาทานก็ต้องเอาให้ได้ มันก็ทะเลาะกันตีกัน จะตาย ถ้าอาศัยสติปัญญาอย่างนี้ไปเรื่อย ก็คงจะแก้ปัญหาหนักให้เป็นเบา หรือเบาก็ไม่มีเลย แล้วก็จะอยู่ด้วยกันด้วยสันติสุขมากกว่าที่จะเบียดเบียนกัน
ผู้ดำเนินรายการ : สิ่งหนึ่งที่เราพูดกันมาหลายครั้ง ก็คือ เรื่องของกัลยาณมิตรที่ดีนี่นะครับ อยากให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายวิธีเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความเป็นกัลยาณมิตรนั้น คือคนเรานี่ เกิดมาทีแรกก็เรียกว่าเป็นคน เป็นปุถุชน ปุถุชนนี่ก็คือคนหนา คนหนาในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นคน ประทานโทษ ที่เขาว่าเป็นคนหน้าด้านหรืออะไรนะคะ แต่หมายความว่า หนาไปด้วยธุลีของกิเลส คือมันอดโลภ โกรธ หลง ไม่ได้ตามสัญชาตญาณ เป็นไปตามสัญชาตญาณ แต่หลังจากการที่ได้ฝึกฝนอบรมใจ เพราะคำสั่งสอนคำแนะนำในทางที่ถูกต้อง ก็พัฒนาใจ จากการที่โลภมากก็เหลือโลภน้อย โกรธมากหลงมากก็น้อยลงลดลง ยึดมั่นถือมั่นมากก็น้อยลงลดลง ก็จะเป็นกัลยาณชน ก็คือเป็นชนที่ดี เป็นคนที่ดี แต่กัลยาณมิตรนี่ ท่านถือว่าเป็นเพื่อนอันประเสริฐทีเดียว อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทรงเปรียบพระองค์ท่านเหมือนกับกัลยาณมิตรของเพื่อนมนุษย์ ของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าหากว่ามนุษย์คนใดมีท่านเป็นกัลยาณมิตรแล้ว มนุษย์คนนั้นจะไม่มีวันพบกับความทุกข์ นี่เป็นคำเปรียบเทียบ
เพราะฉะนั้นก็หมายความว่ากัลยาณมิตรนี้ ก็คือ ผู้ที่เมื่ออยู่ร่วมกันหรือแม้จะไม่ได้อยู่ร่วมกันแต่เป็นเพื่อนกัน ก็ย่อมที่จะคอยแนะนำ คอยบอกกล่าวแต่ในสิ่งที่ดีงาม แล้วก็คอยตักเตือนเมื่อเกิดความผิดพลาดบกพร่อง กัลยาณมิตรก็จะชี้ช่องหนทางสว่างให้แก่เพื่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหญิงด้วยกัน เพื่อนชายด้วยกัน หรือว่าคู่รักซึ่งกันและกันก็แล้วแต่ จะไม่พาเพื่อนไปสู่อบายมุข จะไม่พาเพื่อนไปสู่หนทางต่ำของกิเลสต่างๆ นี่นะคะ แล้วก็ไม่พาตัวไปในทางที่เหลวไหล เรียกว่าจะช่วยพัฒนาเพื่อนให้เป็นคนที่งดงาม แล้วก็เป็นคนที่มีความสุขเบาบางจากกิเลส เยือกเย็นผ่องใสเป็นสุขยิ่งขึ้น นี่คือความหมายของผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร พูดง่ายๆ ก็คือจะแนะนำเพื่อนให้เป็นคนที่มีพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา แล้วก็ตรงกันข้ามก็คือไม่เป็นทาสของกิเลส ไม่เป็นทาสของตัณหาของอุปาทาน เพื่อขับไล่อวิชชา คือสภาพของความเขลา ความไม่รู้เรื่อง หรือความโง่ทั้งหลายออกไปจากใจ ให้เป็นคนฉลาดที่แท้จริง คือฉลาดทั้งข้างนอกและข้างใน ข้างนอกก็คือฉลาดจากการเรียนรู้ จากหนังสือหนังหาในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย ก็มีความรู้จะมาทำมาหากินตั้งหลักฐานได้ แต่ว่ายังไม่ฉลาดข้างใน เพราะยังไม่มีสติ สมาธิ ปัญญา ที่จะขัดเกลาความทุกข์นี่ เพราะไม่ทันต่อผัสสะ พอผัสสะเกิดขึ้นก็แพ้ทุกที ก็ทำให้เกิดเวทนา ซึ่งกัลยาณมิตรก็จะแนะนำให้รู้ว่า ต้นเหตุของความทุกข์อยู่ที่ผัสสะ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักควบคุมผัสสะให้ทันนะ แล้วก็จะแนะนำด้วยหนทางที่ถูกต้อง ด้วยวาจาที่น่าฟัง แล้วก็จะพูดในสิ่งที่เกิดสารประโยชน์ จะไม่ชวนเพื่อนนั้นเพ้อเจ้อเหลวไหล แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ
ผู้ดำเนินรายการ : ทีนี้บางคนเขาบอกว่า คนนั้นน่ะคือเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายของเขา อันนี้จะว่าร่วมเป็นร่วมตายอย่างเราที่รู้กัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็สุดแล้วแต่ผู้พูดว่าผู้พูดเป็นบุคคลชนิดใด ถ้าหากว่าผู้พูดเป็นมิจฉาชน ถ้าผู้พูดเป็นมิจฉาชน คนนั้นร่วมเป็นร่วมตายกับเราก็คือว่า เราจะไปชนกับใครเมื่อไหร่ จะไปจี้ไปปล้นใครเมื่อไหร่ เพื่อนคนนั้นก็ไปกับเราตลอดเวลา อย่างนั้นก็เรียกว่าในทัศนะของมิจฉาชน นี่เป็นคำของครูเองนะ ทีนี้ถ้าสมมติว่าคนที่พูดบอกว่า คนนี้เป็นคนร่วมเป็นร่วมตายกับเรา เขาก็เป็นคนธรรมดาๆ ที่เรียกว่าเป็นคนดีนี่ ก็อาจจะหมายถึงเวลาทำงานทำการ เราก็ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกัน ไม่ว่าจะทุกข์ยากลำบาก จะขาดแคลน จะกันดารอะไรก็ไม่ถอยหนี อย่างนี้ก็เลื่อนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นระดับของคนดีมีศีลธรรม แล้วก็ช่วยเหลือกัน ถ้าสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก เขาก็ไม่ต้องใช้ว่าร่วมเป็นร่วมตาย แต่เขาก็ใช้ว่าเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้นนี่อย่างที่บอกว่า ร่วมเป็นร่วมตาย เช้าฮาเย็นเฮด้วยกัน นี่ไม่ใช่แล้วนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ้อ..อันนั้นก็พากันร่วมเป็นร่วมตายเพื่อจะลงเหวด้วยกัน ลงเหวของความขาดสติ ของความมัวเมายิ่งขึ้นๆ อย่างนั้นก็ไม่ใช่เพื่อนร่วมเป็นร่วมตายที่ควรจะคบ เพราะว่าดึงลงต่ำ ดึงลงสู่ที่ต่ำ ไม่ได้ช่วยยกประคองให้สูงขึ้น อย่างนั้นควรที่จะทำตัวออกห่างเสียดีกว่า หรือถ้าเราสามารถช่วยเพื่อนคนนั้นได้ แล้วเราค่อยๆ มารู้ทางสว่าง เราก็ช่วยเขา ถ้าเขาพร้อมจะรับ เราก็เป็นเพื่อนกันต่อไป แต่ถ้าเขาพร้อมไม่รับ เราก็อาจจะต้องปล่อยตามอิทัปปัจจยตาของเขา จนกว่าวันหนึ่งเขาได้สัมผัสว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่นำความร้อนความไม่สบายมาสู่ คือเริ่มรู้จักความทุกข์ นั่นแหละเขาก็จะหันมาหาเราเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ ท่านอาจารย์คุณรัญจวน ก็ได้แนะนะครับ วิธีที่เราจะเป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายกันนั้นก็คือ เราเป็นเพื่อนแบบกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันนั้นจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดเลยนะครับ