แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : พูดถึงเรื่องของกฎแห่งกรรม กรรมดีกรรมชั่วก็ยังค้างกันอยู่นะครับ จะไปคุยเรื่องนี้กับท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อนะครับ มีความเชื่อว่ากฎของกรรมนั้นมีจริง แล้วก็ผลของกรรมย่อมส่งผลมาถึงปัจจุบันและอนาคต ถามว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมบ้างหรือไม่ แล้วผู้ดำเนินรายการยังไปอ้างบอกว่าเพราะเคยได้ยินว่ามีพิธีตัดกรรม อันนี้ผมไม่เคยได้ยินตรงนี้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็นี่การจะตัดกรรม ก็ตัดตรงไหนละ
ผู้ดำเนินรายการ : ตัดที่ไม่ได้ทำชั่วครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เราก็ตัดตรงผัสสะนั่นแหละ กฏอิทัปปัจจยตานี่แหละจะช่วยตัดกรรม ถ้าหากว่าสมมุติว่าเราได้เคยกระทำสิ่งใดที่เป็นความผิดพลาดมาในอดีต จะผิดพลาดมากน้อยเพียงใดก็ตาม แทนที่จะไปมัวเศร้าหมองเสียใจรำพันแล้วก็สำนึกบาป เริ่มต้นใหม่เดี๋ยวนี้ แล้วก็กระทำสิ่งที่ถูกต้องคือที่เกิดประโยชน์ เท่านั้นแหละความรู้สึกที่มันเศร้าหมอง เศร้าหมองขุ่นมัวเพราะได้ทำอะไรผิด ไม่ถูกต้อง ก็ค่อยๆ ลดลง แล้วเราก็หมั่นทำสิ่งที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่ว่าเอาน้ำใสใส่ลงไปในแก้วที่มีน้ำโคลน มันก็จะค่อยๆ ไล่แก้วที่เป็นน้ำโคลนให้ใสเข้าทีละน้อยๆๆ ด้วยการหมั่นกระทำสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ผลที่สุดแก้วนั้นก็กลายเป็นแก้วที่ใสสะอาด แทนที่เราจะมาเสียเวลาเศร้าหมองเสียใจแล้วก็เลยหมดเรี่ยวหมดแรงไม่คิดแก้ไข แล้วก็เท่ากับว่าเราก็เพิ่มน้ำโคลนลงไปในแก้วนั้นยิ่งขึ้นๆ ไม่มีวันได้พบทางสว่าง
เพราะฉะนั้น กฏอิทัปปัจจยตานี่จึงแสดงให้เห็นได้ แล้วแต่ใครจะเลือกเอา ถ้าหากว่าเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องมันก็จะช่วยตัดกรรมให้หมดไป คำว่าตัดกรรมนี่ก็คือว่า จะไม่ทำให้เราต้องมีความหมองหม่นเป็นทุกข์เพราะสิ่งผิดพลาดที่ได้กระทำไปแล้ว เพราะเราจะทำสิ่งที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น เกิดประโยชน์มากขึ้น ถ้าเคยเป็นคนที่เกลียดชัง คือถูกคนเกลียดชัง คนอื่นเขาเห็นทำอะไรถูกต้อง แรกๆ เขาอาจจะสงสัยว่ามันจริงหรือเปล่า แต่พอเขาดูไป เออ..นี่มันหมั่นทำสิ่งถูกต้องยิ่งขึ้นเรื่อย เขาก็ต้องหันมานิยมชมชอบ..ใช่ไหมคะ คำสรรเสริญ คำยกย่อง ความยอมรับตามมา จิตใจก็มีความมั่นคงแล้วก็รู้สึกแน่ใจในสถานะของตน ยืนอยู่ได้ในสังคมอย่างสง่าผ่าเผย ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา เพราะฉะนั้นศึกษากฏอิทัปปัจจยตาดีกว่า เพราะมันคือกฎแห่งกรรมอยู่ในตัว
ก็กรรมคือการกระทำ..ใช่ไหมคะ กฎแห่งกรรมก็คือกฎแห่งการกระทำ อิทัปปัจจยตาก็บอกว่า ถ้ากระทำเหตุปัจจัยถูกต้อง ผลถูกต้อง ไม่เป็นทุกข์ กระทำเหตุปัจจัยไม่ถูกต้อง ผลก็ไม่ถูกต้อง คือเป็นทุกข์ นี่ก็คือกฎแห่งกรรม แต่ว่าเป็นกฎที่บอกให้ใช้สติปัญญาในการกระทำ แล้วก็สามารถจะกระทำได้โดยตัวเองด้วย จึงอยากจะขอ ขอสนับสนุนนะ และก็ขอร้องด้วยว่า ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นอิสระแก่ตัวเองนะคะ ไม่ต้องตกเป็นทาสของกรรมของเวรอะไรนี่ล่ะก็ หันมาศึกษาเรื่องของกฏอิทัปปัจจยตา แล้วก็พยายามที่จะประกอบเหตุปัจจัยด้วยการกระทำให้ถูกต้องในทุกหน้าที่ที่เราเกี่ยวข้อง ไม่ว่าเราจะมีหน้าที่เป็นพ่อ ก็ทำหน้าที่พ่อให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องไปเสียใจว่าเราเป็นพ่อที่ใช้ไม่ได้ เป็นตัวอย่างกับลูกไม่ได้เลย หรือหน้าที่ของแม่ หรือหน้าที่ของผู้เป็นครู เป็นทหาร เป็นตำรวจ ทำให้ถูกต้อง ไม่ต้องให้คนเขาต้องนินทาว่าร้าย ให้เราภูมิใจในหน้าที่ได้ ทุกหน้าที่เลย รวมทั้งหน้าที่ของลูกที่ควรจะมีต่อพ่อแม่ ทีนี้เราก็ติตัวเราเองไม่ได้ เราก็มีแต่ความนับถือตัวเอง และคนที่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม แล้วก็มีความรู้สึกในกฎแห่งกรรม ก็เพราะว่าไม่รู้จะแก้ไขยังไง แล้วก็เลยมีความรู้สึกเศร้าหมอง จนผลที่สุดอยากจะดูถูกตัวเราเองที่เราทำไมถึงเป็นอย่างนี้ๆ แก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าหันมาประพฤติปฏิบัติตามกฏอิทัปปัจจยตา มันยืนขึ้นได้ แก้ไขได้
ผู้ดำเนินรายการ : แทนที่จะไปหลงวนเวียนเขาวงกตกฎแห่งกรรมอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ซึ่งอันนี้มันชัดๆ มันตรง แล้วก็อย่างที่ว่า ถ้าจะถามว่าทำดีแล้วนี่ คือทำตามกฏอิทัปปัจจยตาแล้วแต่ผลยังไม่เป็นอย่างนั้นเลย เหมือนอย่างในการทำงานอย่างนี้เป็นต้น เราก็เคยพูดกันแล้วว่ามันมีเหตุปัจจัยอื่นซ้อน ถ้าหากว่าเป็นกฎอิทัปปัจจยตาที่ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องของเราโดยตรง คือที่เราจะทำเองโดยตรง เช่น เราหิว เหตุปัจจัยมันหิวมันถึงเวลาที่จะต้องกินอย่างนี้ เราก็เดินไปเข้าร้านอาหารแล้วกินแล้วก็อิ่ม ผลก็คืออิ่ม อิ่มเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงมันเห็นชัด แต่ถ้าเป็นเหตุปัจจัยของการทำงาน หรือเกี่ยวข้องกับสังคม มันยังมีตัวแปรมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ในสังคมหรือในการทำงานที่จะมาทำให้ผลไม่เป็นไปอย่างนั้นตรงไปตรงมาทันทีได้ เราก็ต้องยอมไป คอยไป แก้ไขไป แต่ไม่ยอมแพ้
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเราเสริมสร้างความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้วยการนึกถึงปาฏิหาริย์ของผลกรรมหรือนรกสวรรค์ เพื่อปลุกเร้าความเพียร จะถือว่าเป็นศรัทธาที่มุ่งไปในทางไสยศาสตร์หรือไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ค่อนข้างจะไปในทางไสยศาสตร์ ทำไมถึงไม่เอาสิ่งที่เราพิสูจน์ได้เอง อย่างที่เราพูดมาแล้ว มันชัดกว่า ถ้าเราจะไปหยิบเอาปาฏิหาริย์ต่างๆ นะคะ ก็ได้เหมือนกันแหละ คือมันเป็นการให้กำลังใจ เหมือนอย่างคนที่จะต้องรดน้ำมนต์เป่ากระหม่อมอะไรอย่างนี้ก็เป็นการให้กำลังใจ แต่ว่าทำไมละ ในเมื่อมันมีวิธีที่เราจะทำด้วยตัวเอง แล้วก็สร้างความมั่นคงให้แล้วก็แน่ใจพิสูจน์ได้ด้วย ทำไมไม่ลองอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ : กลัว?
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ใช่กลัวหรอก ขี้เกียจ ไม่มีกำลังใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ส่วนมากมักจะอ่อนแอ เป็นคนอ่อนแอ ไม่ค่อยอยากที่จะทำอะไรแบบนี้
ผู้ดำเนินรายการ : โดยวิธีอานาปานสติที่เราแนบไปนี่ มันไม่มีสิ่งที่ให้กำลังใจเลยหรือครับ ในตัวกระบวนการของการสอน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ถ้าฝึกปฏิบัติก็จะเห็นเองว่ามี ไม่ได้ฝึกปฏิบัติก็ไม่เห็นสิว่ามี
ผู้ดำเนินรายการ : คือไม่มีกระบวนการเป่ากระหม่อมรดน้ำมนต์บ้างเลยหรือครับ หมายความว่าไม่มีตัวนำชี้นำอะไรสักอย่างเลยหรือก่อนที่จะเป็นการปฏิบัติของเราเอง ท่านอาจารย์บอกว่าเราขี้เกียจที่จะทำที่จะฝึก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ต้องทุกข์นะสิ ก็เห็นความทุกข์ ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังไม่รู้จักว่าสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์มีลักษณะอาการอย่างไร แล้วตัวเองก็ทั้งๆ ที่เกลือกกลิ้งอยู่กับความทุกข์ก็ไม่รู้ว่านี่กำลังทุกข์ๆ ถูกเสียดแทง ทิ่มแทงเพราะความทุกข์ก็ยังไม่รู้ มันก็ต้องคอยไปจนกว่าจะรู้ พอรู้ความทุกข์เมื่อไหร่นั่นแหล่ะ อิ่มความทุกข์จนไม่ไหวแล้ว ชอกช้ำยับเยินจนไม่มีชิ้นดีแล้ว นั่นแหละมันจะต้องแสวงหาตามสัญชาตญาณอีกเหมือนกัน ว่าอะไรที่จะช่วยให้ผ่อนคลายจากการถูกทิ่มแทงของความทุกข์ได้ ตอนนี้แหละจะค่อยๆ เห็นคุณของธรรมะ
ผู้ดำเนินรายการ : สมมุติว่ารดน้ำมนต์ ๗ วัดแล้วก็ยังไม่หาย ก็เลยเริ่มคิดวิธีการที่จะช่วยเหลือตัวเองที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อาจจะเริ่มใช้ธรรมะที่บริสุทธิ์นี่ ธรรมะที่ตรงไปตรงมา
ผู้ดำเนินรายการ : ทีนี้อีกข้อหนึ่งคล้ายๆ กัน ถามบอกว่า ปัจจุบันนี้ผู้ที่บอกว่านับถือศาสนาพุทธมีการทำจิตนั่งสมาธิอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เดี๋ยวก็มีการนับถือพวกเทพพวกพรหมอย่างมากมาย โดยอ้างว่ารับรู้จากการนั่งสมาธิ ถามว่าท่านอาจารย์คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ เท็จจริงเช่นไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตอบมิได้ เพราะว่าไม่มีความรู้ถึงอย่างนั้น รู้แต่เพียงว่าถ้าเราฝึกสมาธิภาวนา ตามวิธีการที่ได้พูดไปหรือที่เราได้เรียนรู้มา เราก็จะรู้ว่าจิตที่มันร้อนนี่ ที่มันดิ้นรนด้วยความอยากด้วยความจะเอา มันค่อยๆ เย็นลง ลดละความอยากความจะเอาความยึดมั่น มันลดละไปเอง แล้วก็รู้ว่านี่คือถูกต้อง ทำไมถึงถูกต้อง ก็เพราะเหตุว่าเป้าหมายหรือสมมุติฐานของเรานี่คือเรื่องของความทุกข์ เราไม่ได้มีจุดหมายว่ามาฝึกสมาธิเพื่อจะมีหูทิพย์ตาทิพย์ หรือเพื่อได้เห็นโน่นเห็นนี่ นี่ไม่ใช่จุดหมาย แต่จุดหมายก็คือเพื่อดับความร้อนที่มีอยู่ในใจ ที่เรียกว่าความทุกข์ให้เย็นลง ถ้าฝึกปฏิบัติแล้วมันเกิดความเย็นขึ้น เราก็พิสูจน์ได้ตัวของเราเองได้ว่านี่คือการกระทำที่ถูกต้องแล้ว ก็ทำต่อไปอีกจนกระทั่งมันจะเย็นถึงที่สุด
ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเวลาที่ใครก็ตามเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรม มีเป้าหมายในใจเพื่ออะไร ถ้าหากว่ามีเป้าหมายในใจว่าเพื่อความทุกข์หรือรู้จักเรื่องของความทุกข์ และดับทุกข์ให้ได้ ก็จะใช้สิ่งนี้เป็นมาตรฐานหรือเป็นกฎเกณฑ์ในการที่จะวัด วัดผลว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าความทุกข์ลดลงถูกต้อง ถ้าความทุกข์ไม่ลดลงก็อาจจะต้องหาหนทางใหม่ แต่ก่อนที่จะตัดสินนะว่าไม่ถูกต้อง ขอได้ย้อนดูตัวเองเสียก่อนว่าได้ปฏิบัติเต็มที่หรือเปล่า เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเปล่า ถูกต้องตามคำสอนหรือเปล่า ถ้ามาฟังแล้วก็ทำบ้างไม่ทำบ้างแล้วก็บอกว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมต่อธรรมะ
เพราะฉะนั้นถ้าจะมาฝึกปฏิบัติธรรมต้องมีอิทธิบาท ๔ ถ้าขาดอิทธิบาท ๔ แล้วจะไม่มีความสำเร็จ อิทธิบาท ๔ ก็คือ ฉันทะ มีความพอใจในธรรมะ แล้วก็มี วิริยะ พากเพียรที่จะปฏิบัติ แล้วก็มีจิตตะ จิตใจก็จดจ่อ แทนที่จะไปจดจ่อกับเรื่องเงิน จดจ่อกับเรื่องความรัก จดจ่อกับกินกามเกียรติอะไรเหล่านั้น เอามาจดจ่อกับธรรมะ จดจ่อกับการปฏิบัติที่เรารู้อยู่แล้ว แล้วเสร็จแล้วก็ วิมังสา ก็คิดค้นหาวิธีที่จะแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติที่มันย่อหย่อน ที่มันไม่ได้ผล ดูสิเพราะอะไร อ้อ..นี่เราปฏิบัติไม่ได้ผลวันนี้เพราะมันกินมากเกินไป เราก็แก้ไขกินให้น้อยลง หรือว่าเป็นเพราะว่าเราเหนื่อยเกินไป ทำงานจนกระทั่งไม่มีเวลาพักแล้วก็มานั่งสมาธิก็โงกหงุบหงับ เราก็นอนพักเสียก่อนจนกระทั่งรู้สึกสดชื่นแจ่มใสจึงนั่งสมาธิ วิมังสาคือการใคร่ครวญ คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค แก้ไขอุปสรรค แล้วก็เพิ่มพูนความเจริญงอกงามในการปฏิบัติ ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจะต้อง หนึ่ง..เห็นความทุกข์ แล้วก็สอง..ใช้อิทธิบาท ๔
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ก็จะช่วยแก้ปัญหา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จะช่วยให้การปฏิบัติธรรมดำเนินไปได้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เรื่องของไสยศาสตร์อย่าไปสนใจเลยนะครับ สนใจแต่เรื่องของหลักธรรมะที่ถูกต้องจะดีกว่า จะช่วยให้ชีวิตเรามีความสงบเย็นนะครับ