แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : เวลาเรามาอยู่วัดนี่ครับ รู้สึกว่ามีความสงบดีนะครับ แต่ว่าเวลากลับไปอยู่บ้านทำไมความสงบมันลดน้อยลงไป เป็นเพราะอะไรเราถึงจะสามารถอยู่กับความสงบได้ตลอดไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ปฏิบัติสม่ำเสมอ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ พอถึงบ้านแล้วก็วุ่นวายเหมือนเดิม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พออยู่วัด เรียกว่ามาวัดมาฝึกปฏิบัติธรรม ก็ตั้งอกตั้งใจ พอออกจากวัดก็ทิ้งไว้ตรงหน้าประตูวัด แล้วจะไปหวังว่าจะสงบได้ยังไงล่ะ และการมาฝึกปฏิบัติแค่สองวันสามวันเจ็ดวัน มันยังไม่ฝังรากเลย เหมือนกับว่าเราปลูกต้นไม้ เอาไปจ่อไว้กับดิน จ่อมไว้แค่นั้น แล้วก็ทิ้ง ไม่ได้มารดน้ำพรวนดิน มันก็ไม่เจริญเติบโตงอกงาม เพราะฉะนั้นทำให้สม่ำเสมอติดต่อกันทุกเวลานาที อย่าแก้ตัวว่าไม่มีเวลา เพราะว่าตราบใดที่ยังหายใจอยู่ เมื่อใช้อานาปานสติจะต้องสามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกขณะ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เรียกว่าต้องปฏิบัติทุกขณะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่
ผู้ดำเนินรายการ : อันนี้สภาพการณ์ สมมุติไปอย่างกลับไปกรุงเทพฯ นี่นะครับ สภาพการทำงาน ชีวิตก็วุ่นวายอุตลุดวุ่นวายเสียหมดนี่นะครับ ตรงไหนครับเวลาที่ว่าจะปฏิบัติให้ดูแล้วสงบเหมือนอยู่ในวัดอย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วไม่คิดหรือว่ายิ่งวุ่นวายเท่าไหร่แล้วยิ่งต้องการธรรมะ ทำไมไม่ย้อนกลับมาคิดอย่างนี้บ้าง
ผู้ดำเนินรายการ : คิดสิครับท่านอาจารย์ครับ แต่ว่ามันไม่เงียบไม่วิเวกอย่างนี้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็นี่เข้าใจผิด ว่าการปฏิบัติธรรมะจะต้องปฏิบัติที่วัด ใครบอก อาจจะมาเรียนรู้ที่วัด มาเรียนรู้วิธีการ มาหาคำสอนที่ถูกต้อง แล้วก็มาทดลองปฏิบัติพอให้รู้วิธีทำ แล้วเสร็จแล้วก็เป็นต้นทุนสำหรับที่จะไปฝึกปฏิบัติต่อที่บ้าน คนที่กำลังอยู่ในความวุ่นวายสับสนเต็มไปด้วยเวทนาที่เข้าครอบงำจิตนี่ จงรู้เถิดว่ากำลังเป็นโรคร้าย โรคอะไรที่ร้ายที่สุดเวลานี้ นั่นแหละคือไอ้นั่นแหละ โรคเอดส์นี่แหละ สะสมมันเอาไว้โดยไม่รู้ตัว แต่พอบอกว่านี่เป็นโรคเอดส์ ในร่างกายนะมีเชื้อเอดส์แล้ว ตกใจ ตายละ แต่ว่าทีนี้โรคเอดส์ในใจที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่สนใจ และผลที่สุดก็ต้องตายถูกมันกัดกินทีละน้อยๆ แล้วทำไมถึงไม่รักษาละ ทำไมไม่นึกย้อนถามตัวเองอย่างนี้บ้าง ก็ธรรมะมีอยู่ บอกอยู่ มีวิธีอยู่ เพียงแต่ว่าต้องทำเอง จะให้หมอมาฉีดยาไม่ได้ ต้องฉีดยาตัวเราเอง
ผู้ดำเนินรายการ : คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ เวลาเขามีปัญหาส่วนใหญ่จะไปหาจิตแพทย์กันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เชื่อไหมว่า จิตแพทย์ยังมาหาธรรมะเลย เชื่อเปล่า แล้วนี่เป็นความจริง เวลาที่เราจัดการอบรมฝรั่งโดยเฉพาะนี่ มีจิตแพทย์มาเยอะแยะเลย แล้วก็จิตแพทย์อย่างชนิดตัวใหญ่ๆ คลินิกใหญ่ๆ เขามาอวดว่าคลินิกของเขามีผู้ที่ทำงานอยู่ในคลินิกเขาตั้ง ๔๐ คน แต่จะเป็นจิตแพทย์ทั้งหมดหรือเปล่าเราไม่ได้ซัก แต่คงจะมีเจ้าหน้าที่ด้วย หมอด้วย พยาบาลด้วย ขนาดนั้นแหละ จิตแพทย์อย่างนั้นนะยังต้องมาหาธรรมะ บินมาเพื่อมาหาธรรมะ มาหาธรรมะก็มาเพื่อฝึกปฏิบัติสมาธิ ก็แสดงว่าจิตแพทย์เองก็รักษาผู้อื่น แต่ว่ารักษาในด้านทางกาย คำว่าใจในที่นี้ก็รักษาใจที่เป็นส่วนหนึ่งของกาย แต่ทว่าไม่ได้รักษาที่เป็นสาเหตุหรือเป็นรากเหง้าของความทุกข์ ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นธรรมะนี่แหละที่จะบอกโดยตรงว่าความทุกข์คืออะไร แล้วสาเหตุมาจากไหน แล้วจะแก้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ ท่านจึงทรงเป็นแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่ยิ่งกว่าแพทย์ใดๆ ในโลก เพราะว่าคำแนะนำ คำสอนของพระองค์นั้นสามารถรักษาโรคได้หยุดชะงัก ชะงัดที่สุด และก็ถ้าสมมุติว่าเรารักษาใจเอาไว้ได้อย่างเดียว ชีวิตประกอบด้วยกายใจ อะไรคือหลักของชีวิตละ
ผู้ดำเนินรายการ : ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ใจคือหลักของชีวิต กายนี่เป็นแต่เพียงเครื่องมือของใจที่จะสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องรักษาใจให้มั่นคง ให้เข้มแข็ง และก็ให้เป็นใจที่พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ถึงจะเป็นหลักของชีวิตได้ แล้วมันก็จะควบคุมกายนี่แหละให้กระทำอะไรๆ ที่ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเช่นนั้นพวกเราในเมืองกรุงนี้มีอะไรบังตาหรือเปล่าครับ ทำให้มองไม่เห็นวิธี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีความหลงตัว หลงตัวว่าคนเมืองกรุงนี่คนฉลาด มีปริญญามาก มีการศึกษามาก ก็ใช้สติปัญญาหาเหตุหาผลอะไรต่างๆ ตามที่ได้เรียนรู้มา จนกระทั่งใช้ศาสตร์กี่สิบศาสตร์ที่เรียนมาแล้วก็ไม่แก้ปัญหาได้ เมื่อนั้นแหละจึงจะมาหาสิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ แต่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายถึงศาสตร์ของธรรมะ ซึ่งเป็นรากฐานของศาสตร์ทั้งปวง พูดได้แน่นอนทีเดียวว่า ผู้ใดที่จะสำเร็จปริญญาเอกมาจากศาสตร์ใดๆ ก็ตาม ถ้าขาดธรรมะเป็นรากฐานของศาสตร์นั้นแล้ว จะไม่มีชีวิตที่สมบูรณ์ได้เป็นอันขาดเลย มีชีวิตได้ แต่เป็นชีวิตที่กะพร่องกะแพร่ง ขาดๆ เกินๆ ระหกระเหิน โดยไม่รู้ตัว
ผู้ดำเนินรายการ : อยากถามเรื่องของอัตตานี่นะครับ โดยมองในทางโลกแล้วตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถองค์ประกอบอื่นๆ ทำให้เป็นคนเด่นนะครับ จนผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับและชมเสมอ ในทางธรรมนะครับผู้ที่มองเห็นชมว่ามีความเยือกเย็นเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม ถามว่าทั้งสองอย่างตนเองประสบตัวอัตตาตัวนี้มาตลอด หากตนมีการปฏิบัติตามขั้นตอนตลอดไป หากปัญญายังมีไม่เพียงพอ ถามว่าจะมีวิธีการใดบ้างครับที่จะกั้นไม่ให้ตัวอัตตานี้เกิดขึ้นได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หมายความว่าเป็นคนเก่งทุกอย่าง
ผู้ดำเนินรายการ : ทั้งทางโลกทางธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อาจจะเก่งทางโลก เพราะว่าถ้าเก่งทางธรรมแล้วไม่ต้องถาม ไม่ต้องถามคำถามนี้ ก็จะรู้วิธีที่จะสกัดกั้นตัวอัตตาเอง ก็ด้วยการพิจารณาในเรื่องของไตรลักษณ์ ในเรื่องของอิทัปปัจจยตา จนผลที่สุดก็จะรู้ว่าที่ใครๆ เขาชมเขายอมรับนี่ ไม่ใช่เกี่ยวกับตัวตนร่างกายนี้ แต่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกต้อง แล้วเราก็เอาใจของเรานี่ออกมาจากตัวให้ไปอยู่กับการกระทำ แล้วเราก็จะรู้สึกว่า อ้อ..เรามีการกระทำที่ถูกต้อง ผลที่สุดมันลืมตัว ลืมว่าตัวเรานี่เป็นใครด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าเป็นบ้านะ เราลืมว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน แต่มันจะนึกถึงแต่ว่าจะทำอะไรถึงจะถูกต้อง จะทำอะไรถึงจะเกิดประโยชน์ แล้วเสร็จแล้วอัตตามันก็ลดลงไปเองโดยอัตโนมัติ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะฉะนั้นก็ปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการผู้ดำเนินรายการ : จะลดตัวอัตตาลงไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ จะเข้าใจเอง พอปฏิบัติธรรมมากขึ้นก็จะลืมไปว่าตัวเรานี่ที่ได้รับคำชมเชย ตัวเราได้รับคำสรรเสริญ ก็จะไปมองเห็นชัดว่าเพราะเราทำสิ่งที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์ ทั้งในหน้าที่การงาน ทั้งในส่วนรวม หรือว่าทั้งครอบครัว เราก็เลยเกิดความรู้สึกว่าการกระทำนี่แหละคือสิ่งที่เป็นคุณค่าของชีวิตของมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องของตัวของตน เพราะฉะนั้นอัตตาก็จะโตขึ้นไม่ได้ เพราะว่ามันเล็กลงๆ ตามลำดับ ในขณะที่การกระทำมีความสำคัญต่อชีวิตมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ อีกข้อหนึ่งนะครับ บอกว่าการที่อยู่กับตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องใช้ทั้งพระเดชพระคุณพร้อมกันไปกับการปฏิบัติงาน บางครั้งประสบปัญหาระหว่างการใช้พิจารณาโทษกับผู้ใต้บังคับบัญชา อาจจะมีถึงกับสั่งให้ออกจากราชการ และได้พิจารณาไตร่ตรองรอบคอบจากที่ได้ดำเนินตามขั้นตอนการพิจารณาการลงโทษแล้ว แต่จำเป็นก็ต้องดำเนินการ ถามว่าจิตวิตกกังวลว่าครอบครัวของผู้ใต้บังคับบัญชาจะขาดคนดูแล ครุ่นคิด นอนไม่หลับ ท่านอาจารย์มีวิธีการใดบ้างไหมครับที่ทำให้จิตของผู้ถามเป็นปกติขึ้นมานะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือถ้าหากว่าเรารู้กฎอิทัปปัจจยตานะคะ แล้วก็ปฏิบัติกฎอิทัปปัจจยตาอยู่เสมอในชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะรู้จะมองเห็นอิทัปปัจจยตาทั้งของเราและของเขา ของเขาที่เขาทำอย่างนั้นแล้วก็ทำให้ต้องมีการถูกลงโทษลงทัณฑ์จนกระทั่งถึงกับจะต้องไล่ออก ก็เพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทีนี้เราในฐานะผู้บังคับบัญชาถ้าหากว่าเราไม่ทำ เราทำหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาถูกต้องหรือเปล่า เราก็ต้องหันมาย้อนถามตัวเอง ถ้าเราไม่ทำเพราะเอาความสงสารเป็นที่ตั้งอย่างเดียว แล้วการกระทำของบุคคลผู้นั้นนี่จะให้ทำเกิดการเดือดร้อน เกิดความไม่สงบ เกิดความแตกแยก เกิดความเสียหายในการงานที่เกี่ยวข้องอยู่หรือเปล่า ถ้าสมมุติว่าการกระทำของเขาเป็นความเสียหายอย่างนั้น ซึ่งก็คงจะเป็นนะ ถึงได้มีการลงโทษอย่างนั้น แล้วเราก็ไม่ทำหน้าที่ของเรา เราก็ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องอีกนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นถึงแม้จะสงสารมันก็ต้องกระทำตามหน้าที่ แต่ในการกระทำนั้นอย่าให้มีจิตที่มีความพยาบาทอาฆาต ให้ทำด้วยความเมตตากรุณา อย่างเช่นเป็นต้นว่า เราอาจจะมองดูสิว่าคนๆ นี้มีส่วนดีอะไรบ้าง มีความสามารถความถนัดในส่วนตัวอะไรบ้าง แล้วเราก็แนะนำบอกกล่าวเขาในสิ่งที่เป็นความบกพร่อง แล้วเสร็จแล้วก็แนะนำที่จะหาดูว่าความสามารถความถนัดที่เขามี เขาอาจจะเป็นประโยชน์กับวงงานอย่างอื่นที่เขาจะทำได้ถนัดกว่า แล้วเราก็ให้การสนับสนุนในอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเราทำด้วยความเมตตากรุณาแล้วก็เป็นการช่วยเหลือเขาด้วย เป็นการให้โอกาสเขาด้วยที่เขาจะได้ทำงานที่ถูกต้อง แล้วอย่างนี้การที่จะลงโทษลงทัณฑ์ก็คงจะไม่ก่อให้เกิดความอาฆาตบาดหมางกัน แล้วก็ครอบครัวของเขาก็ยังจะมีหนทางที่จะมีรายได้จากผู้เป็นหัวหน้าของครอบครัวต่อไป ข้อสำคัญคือจงอย่าพยาบาทอาฆาต
ผู้ดำเนินรายการ : ได้พิจารณาอย่างนี้ก็ดีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่ามีคุณธรรม แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเจ้านายมีคุณธรรมก็จะมองดูการทำงานของลูกน้องอย่างทั่วถึง ไม่ได้มองถึงแต่การทำงานอย่างเดียว จะมองถึงลักษณะนิสัยใจคออะไรที่ควรจะช่วยแก้ไขตักเตือนแนะนำ นี่เป็นหน้าที่ของคนที่เป็นหัวหน้างาน คนที่เป็นหัวหน้างานจะมาเอาแต่งานอย่างเดียวแล้วไม่เอาคนคือไม่เอาลูกน้องในที่ทำงานเพื่อจะช่วยดูแลเขา ให้เขาได้รับความรู้ความคิดที่ถูกต้อง ให้มีความสุขมีสวัสดิการตามสมควร ก็ผิดหน้าที่ เพราะฉะนั้นความที่มีคุณธรรมของผู้เป็นหัวหน้างานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก