แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : มีจดหมายจากท่านผู้ชมฉบับหนึ่งนะครับ เขียนมาถามว่า ขณะนี้มีการจะสอบเลื่อนระดับห้าเป็นระดับหก แต่ว่าเจ้าตัวไม่อยากที่จะไปสอบเลย ไปฟังคำถามและคำตอบจากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันนะครับ เจ้าตัวนั้นไม่อยากสอบนะครับ แต่คนอื่นก็มักจะมองว่า น่าจะไปสอบเพื่อความเจริญก้าวหน้า ตัวเองก็คิดว่าทำระดับห้าให้ดีที่สุดเท่านั้นก็พอแล้วนะครับ ทำสุขภาพให้แข็งแรง สุขภาพจิตให้สดชื่นโดยการปฏิบัติธรรม ทำจิตใจให้สงบดีกว่าต้องเป็นผู้บริหารระดับหก ซึ่งมีปัญหาต่างๆ ซึ่งหากทำใจให้สุขได้
แต่เจ้าตัวบอกว่า ดิฉันยังหวั่นไหวอยู่นะครับ ใจลึกๆ นั้นไม่อยากเป็นผู้บริหารนะครับ แล้วก็คิดว่าก้าวหน้าในทางธรรมดีกว่า ในชีวิตอยู่โดดเดี่ยว..แต่ไม่เหงา คอยติดตามดูจิตรู้ว่าเมื่อไหร่จิตสงบ รู้ว่าเมื่อไหร่จิตมีความอิจฉาริษยา พยาบาท มีความทุกข์ รู้แล้วก็ปล่อย ขณะนี้ปฏิบัติได้ขึ้นๆ ลงๆ ขณะอยู่คนเดียว แต่พออยู่รวมกับผู้อื่นก็รู้สึกหงุดหงิดบางครั้ง และก็ยังมีความโกรธ อยากได้คำตอบจากท่านอาจารย์ ข้อแรกบอกว่า อาจารย์สนับสนุนไหมเรื่องสอบเลื่อนระดับหกนี่นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย อิทัปปัจจยตา
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ อิทัปปัจจยตาอีกแล้วนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ควรจะดู เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าหากว่าเรายังรักที่จะทำงานอยู่ ที่จะอยู่ในทางโลกต่อไป เราก็ไม่ควรที่จะไปปิดกั้นตัวเอง เพราะควรจะให้มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และในขณะที่ใจเรายังมีธรรมะอยู่บ้าง เราก็รู้ว่า เราจะสอบโดยเราไม่โลภ ไม่โลภว่าเราจะต้องได้ แล้วก็ถ้าตำแหน่งมีน้อยก็ไม่ต้องแย่งกัน อะไรอย่างนี้ เราก็ทำไป ก็สอบไป
ทีนี้การที่เราจะอยากเป็นผู้บริหารหรือไม่อยากเป็นนั้นนะ ก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยอีกเหมือนกัน ถ้าหากว่าเรายังรักที่จะทำงาน แล้วก็อยู่ในวงงานอันนี้ ก็จะต้องมาถึง คือตำแหน่งนี้ก็จะต้องมาถึงตามเหตุปัจจัย เห็นไหม นี่มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย อิทัปปัจจยตา ทีนี้ถ้าเรายังอยู่ หน้าที่ของเราก็คือ เรียนรู้หน้าที่ของผู้บริหารให้ถูกต้อง ให้รอบด้าน แล้วก็ทำหน้าที่ของผู้บริหารด้วยความมีคุณธรรม
ถ้าหากว่าสามารถที่จะให้ความสุข ให้คำแนะนำตักเตือน เป็นกัลยาณมิตรของลูกน้องได้ จะเป็นโชคดีของลูกน้องมากเลย ที่มีหัวหน้างานเป็นผู้มีคุณธรรมอย่างนี้ ซึ่งกลับจะช่วยนำความสุขสงบเย็นสู่พวกลูกน้องในที่ทำงานนั้นด้วย ก็จึงคิดว่าถ้าทำได้อย่างนี้ ปัญหาในการบริหารก็คงจะลดลง แทนที่จะเต็มไปด้วยความอิจฉาตาร้อน แก่งแย่งชิงดีกัน อาจจะช่วยให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว ร่วมใจในการทำงาน ที่ทำงานอาจจะมีความอบอุ่นเป็นสุขก็ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ แต่รู้สึกว่าผู้ถามเจ้าตัวจะบอกว่า รู้สึกเวลาอยู่คนเดียวนะครับ รู้ว่าจิตสงบอย่างไร แต่ว่าพอมาอยู่กับคนอื่นก็จะหงุดหงิดนะครับ ตรงนี้เลยไม่แน่ใจว่าผู้ถามปฏิบัติได้จริงแค่ไหน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็แสดงว่ายังปฏิบัติน้อยไป เพราะว่าการอยู่กับผู้อื่น ผัสสะก็เกิดขึ้นได้ง่ายละ ถึงอยู่คนเดียวนี่ บางทีธรรมารมณ์ก็ยังมาได้เลย เพราะฉะนั้น ทางที่ถูกก็ควรที่จะฝึกปฏิบัติธรรมให้มากๆ แล้วก็อย่านึกว่าการฝึกปฏิบัติธรรมต้องมาอยู่วัดเท่านั้น ให้ถือว่าสิ่งที่ผัสสะที่เราพบในที่ทำงานนั่นแหละเป็นแบบฝึกหัด เป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่สุดเลย แล้วถ้าใครสามารถปฏิบัติได้ คนนั้นเก่งนะ เก่งกว่าคนที่มาอยู่วัด เพราะว่าเรียกว่า ปฏิบัติธรรมอยู่ท่ามกลางความร้อน ท่ามกลางปัญหา เรียกว่าเป็นนักสู้นักรบอย่างแท้จริงเลย เพราะฉะนั้นก็ควรจะฝึกปฏิบัติต่อไป แล้วถ้าใช้วิธีอานาปานสติ เราก็ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ยิ่งเราอยู่กับหมู่คนมากๆ ก็เอาลมหายใจต่างๆ ชนิดนี่แหละ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : ความรู้สึกหงุดหงิดก็จะลดน้อยลงไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะจิตมาอยู่กับลมหายใจ ที่หงุดหงิดเพราะเราทนต่อผัสสะไม่ได้ แล้วเราก็ยึดผัสสะนั้นเป็นจริงเป็นจัง
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เพราะฉะนั้นรายนี้ก็คือแนะนำให้ฝึกปฏิบัติต่อไปอีกนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าพูดถึงเรื่องหลักการบริหารที่ดีนี่นะครับ ที่มีคุณธรรมควรจะใช้หลักอะไรบ้างครับ ตัวหลักการเองนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หลักการของการบริหารที่ดี ก็เรียกว่า สัปปุริสธรรม นี่อันหนึ่งละ สัปปุริสธรรม ๗ พรหมวิหาร ๔ ในการที่จะต้องมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ผู้บริหารที่ดีนี่ เมตตากรุณาละก็ ก็มักจะมีกันล่ะ ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มุทิตาก็พอจะสร้างให้เกิดขึ้นได้ แต่อุเบกขานี่..ยาก พอปัญหาเกิดขึ้น หรือผัสสะกระทบ ถ้าฝึกปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งสามารถมีอุเบกขาได้ ก็สามารถจะอยู่ตรงกลางได้ นอกจากนั้นในการที่ศึกษาปฏิบัติธรรมนี่ ก็จะต้องรู้เรื่องของ อริยมรรคมีองค์แปด คือมีจิตที่เป็น สัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ ก็ย่อมจะต้องคิดถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่งานและเพื่อนร่วมงาน แล้วก็ตั้งใจจะทำให้ถูกต้องอย่างนั้น แล้วก็เสร็จแล้วก็ลงมือทำ พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา พากเพียรทุกอย่าง ก็ย่อมจะเกิดผลได้ดี
ผู้ดำเนินรายการ : ผู้บริหารที่มีคุณธรรมควรมีหลักอะไรบ้าง ท่านอาจารย์ได้บอกว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นตัวหลักการที่น่าจะใช้ในการบริหารงาน อยากให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายตัวหลักนี่อีกครั้งหนึ่งนะครับ ตัวเมตตากรุณา คนเขามักจะเข้าใจกัน เพราะว่าสังคมไทยเราคุ้นตัวนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แต่ว่าจริงๆ แล้วนี่ ถ้าหากว่าจะให้เป็นพรหมวิหาร ๔ อย่างแท้จริงละก็ ไม่ใช่เพียงแต่เมตตากรุณาธรรมดาๆ เมตตาอยากจะให้เขามีสุข กรุณาอยากจะให้เขาพ้นทุกข์ ซึ่งคนไทยเราก็เป็นคนใจอ่อนนะ เพราะฉะนั้นพอเห็นใครมีความทุกข์ก็อยากจะช่วยเหลือ แต่เสร็จแล้วพอคนนั้นพ้นจากความทุกข์ แล้วก็เกิดตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ก็น่าจะอนุโมทนายินดีใช่ไหม ก็กลับไม่ค่อยจะยินดี คือมุทิตานี่ไม่เกิดขึ้นแล้ว เกิดบางทีก็พาลไปอิจฉาริษยาแล้วด้วย โธ่..นี่แหม..ขึ้นมาได้ยังไง เราเคยช่วยแท้ๆ เมื่อก่อนอย่างโน้นอย่างนี้ ลำเลิกไปเลย นี่แหละยังเรียกว่ายังไม่ใช่มีพรหมวิหาร
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเมตตากรุณาที่แท้จริงนี่ละก็ ถ้าเกิดจากการปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างอานาปานสตินี่นะคะ ตั้งแต่หมวดที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ไปเรื่อยตามลำดับ และหมวดที่ ๔ นี่ ในการปฏิบัติวิปัสสนาจนสามารถมองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เกิดวิราคะขึ้นมา เมตตากรุณาที่แท้จริงจะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นอย่างไรนั่นก็คือเป็นเมตตาที่ไม่มีขอบเขตจำกัด กรุณาที่ไม่มีขอบเขตจำกัด คำว่าขอบเขตจำกัดก็เริ่มจากลูกหลานของเรา พ่อแม่พี่น้องของเรา แล้วก็เพื่อนฝูงเรา พรรคพวกเรา พอเป็นคนอื่นแปลกหน้ามา..ไม่เอา ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เมตตา ไม่กรุณา เพราะไม่ใช่พวกของฉัน อย่างนี้มันเป็นโลกๆ มากเกินไป ยังไม่ใช่ทางธรรม แต่ถ้าปฏิบัติไปจนอยู่ในทางสายกลางได้จะกลายเป็นเมตตากรุณาที่ไม่มีขอบเขต คือสามารถจะเมตตากรุณาแก่ลูกน้อง ทั้งที่ดีหรือไม่ดี ทำถูกหรือไม่ถูก แล้วก็จะแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อเราหรือเคารพยกย่องเรา แต่เราจะให้ความเมตตากรุณาได้อย่างปราศจากอคติ
ผู้ดำเนินรายการ : เจ้านายอย่างนั้นหายาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แต่ก็นี่พูดถึงกันว่า ถ้าเราจะทำใช่ไหม ก็จะเป็นหลักการจะทำ ถ้าจะไปยกตัวอย่างสูงสุดนะซึ่งไม่ได้หวังว่าเราจะทำได้ เหมือนอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ถ้าเราศึกษาพุทธประวัติ เราก็รู้ว่าพระเทวทัตนี่ ซึ่งเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของพระองค์นี่ ตั้งตัวเป็นศัตรูตลอด จนกระทั่งอยากจะแยกตั้งออกเป็นอีกนิกายหนึ่ง แข่งขันจนกระทั่งคิดทำร้ายคิดฆ่า แต่ว่าในพระทัยของพระองค์นั้น ถ้าใครไปทูลถามก็จะบอกว่า พระองค์จะทรงมีความรู้สึกต่อพระเทวทัตกับพระราหุลซึ่งเป็นพระโอรสเหมือนๆ กัน ซึ่งลูกนี่ก็จะต้องรักก่อนคนอื่น แต่สำหรับพระองค์นี่เหมือนๆ กัน เท่าๆ กัน ซึ่งก็ไม่ได้หวังว่าเราจะทำได้ แต่เป็นการเปรียบเทียบเพื่ออธิบายว่า เมตตากรุณาที่ไม่มีขอบเขตนี่ คือหมายความว่าอย่างนี้ ไม่จำกัดบุคคล ไม่เจาะจงบุคคล ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ถ้าหากว่าสามารถทำได้อย่างนี้ มุทิตานี่จะเกิดขึ้น จะมีความชื่นชมยินดีเมื่อเพื่อนมนุษย์ของเราไม่ว่าเป็นใคร เขามีความสุข เขามีความเจริญ เขาหลักมีฐาน หรือเขาปฏิบัติธรรมได้ดี เขาพบกับความสุขสงบยิ่งขึ้น ก็มีมุทิตา
ทีนี้ส่วนอุเบกขานั้นนะ ก็คือหมายถึงความวางเฉย แต่ความวางเฉยในที่นี้ไม่ใช่ความวางเฉยอย่างชนิดที่ว่า เพราะหงุดหงิด เพราะรำคาญ เพราะไม่ได้อย่างใจ หากว่าเราบอกว่า ฉันวางเฉยแล้ว ฉันไม่เอาแล้วเรื่องนี้ ฉันปล่อย ปล่อยหมด แต่ปล่อยเพราะไม่ได้อย่างใจ เกิดความหมั่นไส้ เกิดความหงุดหงิด เกิดความโกรธ นี่อุเบกขาของกิเลส ไม่ใช่อุเบกขาของธรรมะ ไม่ใช่อุเบกขาของพรหมวิหาร ๔ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเป็นอุเบกขาของธรรมะละก็ รู้ด้วยสติปัญญาว่า สิ่งนี้นี่เป็นสิ่งที่ควรจะทำ เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่จังหวะโอกาสเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตายังไม่อำนวย เราก็จำเป็นต้องวาง แล้วก็วางด้วยใจอันสงบ ไม่รู้สึกวิตกกังวลทุกข์ร้อน หรือว่าเป็นห่วง อาวรณ์หาอะไรอย่างนี้ แล้วก็ไม่มีโกรธ ไม่มีหงุดหงิด วางเฉยด้วยใจสงบ ด้วยใจยินดีเงียบๆ
แต่ว่าในขณะเดียวกันท่านก็บอกว่า ชำเลืองมองดูอยู่เสมอว่า เมื่อไหร่โอกาสให้ จังหวะให้ อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไข ทำทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์หรือเป็นเรื่องของบุคคล ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลที่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้ ช่วยทันทีเลย อย่างนี้ถึงจะเป็นอุเบกขาของธรรมะ แล้วในขณะที่ทำจิตวางเป็นอุเบกขานั้น จิตนั้นก็ยังคงพร้อมอยู่ด้วยเมตตาและกรุณา คือไม่ขาดเมตตากรุณาปราณี มีอยู่ในพื้นจิตเสมอ แต่ถ้าหากว่าเกิดหงุดหงิด ไม่ชอบใจ นั่นเต็มไปด้วยโกรธแล้ว..โทสะ เพราะฉะนั้น นั่นเป็นเรื่องของกิเลส ฉะนั้นนี่คือพรหมวิหาร ๔ ที่ถ้าเราสามารถทำได้เราจะมีครบ แต่ส่วนมากเรามักจะทำได้แค่เมตตากรุณาพื้นๆ พื้นๆ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ลึกซึ้งไปถึงกับว่ากว้างขวางกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกพ้องพี่น้อง จึงควรฝึกต่อไป ถ้าฝึกต่อไปจนกระทั่งเห็นชัดถึงความเป็นจริงของกฎธรรมชาติเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรที่เป็นเขาและเป็นเรา ที่มันให้ทั่วไปไม่ได้ เพราะมันแบ่งแยก..ฉัน แก เขา เรา เพราะฉะนั้นถ้ามีอันนั้นขึ้นเมื่อไหร่ ก็ไม่มีขอบเขต ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่เพื่อนมนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ เรื่องของหลักพรหมวิหาร ๔ จะใช้ได้กับผู้นำทุกระดับนะครับ ไม่เฉพาะเรื่องของผู้บังคับบัญชาในองค์กรเท่านั้น แต่สำหรับชีวิตประจำวันของเราก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นเดียวกันนะครับ