แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : พอพูดถึงเรื่องของจุดมุ่งหมายของการนั่งสมาธิ จริงๆแล้วนี่ ควรจะมีจุดมุ่งหมายอย่างไร เราจะไปคุยเรื่องนี้กับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าเราถือว่านี่เป็นจุดหมาย เราก็จะมุ่งเอาอย่างนี้อย่างเดียว แล้วก็จะมาด้วยความอยาก ด้วยความร้อน ต้องการให้ได้ พอนั่งไปทำสมาธิไปเมื่อไหร่จะเห็น เมื่อไหร่จะเห็น เมื่อไหร่จะได้ยินเมื่อไหร่จะได้ยิน เมื่อไหร่จะรู้อะไร ทำอะไร เหมือนวิเศษกว่าคนอื่น นี่มันเต็มไปด้วยกิเลสแล้ว ความโลภ โกรธ หลง พร้อมเลย ตัณหาความอยากยึดมั่นอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้น เรียกว่าจุดหมายอย่างนี้แล้วก็ มันจะมาเพิ่มพูนกิเลส ไม่ใช่มาลดละกิเลส ไม่ใช่ลดละตัณหาความอยาก
ผู้ดำเนินรายการ : คือสุดท้ายมันก็ไปยึดมั่นติดอยู่ตรงนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ติดอยู่ตรงนั้นแล้วก็ไม่ไปไหน แต่ถ้าสมมติว่าถ้าเรามาด้วยจุดหมายที่ว่านะคะ เพื่อมารู้จักเรื่องของความทุกข์ให้มากขึ้น แล้วก็มาฝึกวิธีจะดับทุกข์ให้มันสิ้นไป จุดหมายของเราอย่างนี้ แล้วเราก็รู้วิธีตามที่ท่านสอน เราก็ฝึกปฏิบัติไป ในขณะที่เราฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาประกอบ แล้วมันจะเกิดมีอะไรพิเศษขึ้นมา อย่างที่ท่านเรียกว่ามีนิมิตอย่างนี้ สมมติว่ามีนิมิตอะไรพิเศษขึ้นมาต่างๆ เราถือว่าเป็นผลพลอยได้ ครูนี่จะถือว่าเป็นผลพลอยได้ เราไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น มันก็เป็นผลพลอยได้ ที่เราจะมีประสบการณ์อะไรขึ้นมาอีกอย่างนึง แต่ประสบการณ์ที่เราพบอันนั้น เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ ซึ่งครูอาจารย์ท่านก็จะบอกให้รู้ว่า อย่าไปยึดติดมันนะ พอเรามีอะไรพิเศษเกิดขึ้นมาในระหว่างการปฏิบัติ ถ้าเกิดมันหลงว่า เรานี่วิเศษ เรานี่มีอะไรเหนือคนอื่น ติดอยู่ตรงนั้นเอง ติดแหงกตรงนั้นไม่ไปไหน
ผู้ดำเนินรายการ : มีครูบาอาจารย์เคยบอกผมบอกว่า อย่าสนใจมัน เวลาเห็น อย่าไปสนใจมัน สักครู่มันก็จะหายไปเอง อันนี้ถูกไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ถูกค่ะ เพราะถ้าหากว่าเราสนใจ มันก็จะมีอิทธิฤทธิ์มากขึ้น ก็เหมือนอย่างเราเห็นใคร เราสนใจ กิริยาท่าทางน่ารัก หน้าตาสวยงาม สนใจมาก พอให้ความสนใจนั่น คนนั้นเกิดรู้สึกเหมือนนี่เขากำลังสนใจเรา ค่อยๆ เล่นตัวขึ้นทีละน้อยๆ ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเกิดไปสนใจมัน มันก็จะมีความสำคัญ แล้วความสำคัญที่เกิดขึ้นนี่ มันไม่ใช่ตัวนั้นหรอก แต่ใจของเราสิที่ให้ความสำคัญ มันก็เลยสำคัญมากขึ้นๆ พอนั่งสมาธิถ้าไม่เห็นอันนี้ จิตไม่สบายแล้ว ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงสอนว่า ถ้ามันเกิดขึ้น ก็จงรู้ว่ามันเป็นเพียงสิ่งสักว่า ที่มันเกิดขึ้นตามหนทางของการปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนาเท่านั้นเอง แล้วก็ถ้าหากว่าจะแก้ไขให้มันหมดไป มันก็เป็นแต่เพียงสักว่าเกิด แล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ มันไม่ได้อยู่จริงจังเลย เมื่อก่อนนี้มันไม่มี นี่มันมีขึ้น เดี๋ยวมันก็ดับไป ถ้าหากว่าบางท่านที่ทำสมาธิภาวนาแล้วรู้สึกทำไม่ได้ คือสลัดมันไม่หลุด ก็จะเอาเรื่องของสัจธรรม คือกฎธรรมชาติเข้ามาดู แล้วมันก็จะหมดไป
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีจุดหมายอย่างนี้เราจะมุ่งที่ครูบาอาจารย์ ที่จะสอนตรง อบรมตรง ทีนี้พอครูบาอาจารย์ก็เป็นท่านหนึ่ง เป็นปัจจัยหนึ่ง ปัจจัยที่เราจะต้องใคร่ครวญอีกก็คือสถานที่ สถานที่ของการปฏิบัติธรรม ก็แน่นอนล่ะว่าเราสละชีวิตออกมาอย่างนี้ เราก็อยากจะพบสถานที่ที่มีความสงบ มีสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติ ให้มีบรรยากาศของธรรมะนี่อยู่ล้อมรอบตัว เราจะหายใจก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าบรรยากาศล้อมรอบตัวมันเป็นธรรมะ มันก็จะช่วยส่งเสริมกำลังใจ ให้สนใจในการจะปฏิบัติยิ่งขึ้น ฉะนั้นสถานที่ ที่เราจะได้รับความวิเวก ความสงบสงัด ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง แล้วก็อีกอย่างหนึ่งท่านก็พูดว่า ถ้าเรามีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตร คือเป็นสหธรรมมิตรที่มุ่งในการปฏิบัติธรรมด้วยกัน ก็จะเป็นกำลังใจแก่กันและกัน มีอะไรก็จะได้ปรึกษาสนทนากัน แต่ข้อนี้ยากมากเลย เพราะต่างคนต่างใจ เท่าที่เห็นครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านเล่าให้ฟัง ท่านก็บอกว่าตอนแรกก็อยากมีเพื่อนร่วมทางในการปฏิบัติ ผลที่สุดก็พบว่าตัวเรานี่แหละ
ครูก็เช่นเดียวกัน ครูก็ถือว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดนี่ หนึ่ง ครูบาอาจารย์ สอง สถานที่ ส่วนเรื่องอาหารการรับประทานพอเป็นพอไป แล้วส่วนสหธรรมมิตร คือกัลยาณมิตรในทางธรรม ถ้ามีก็ดี ถ้าไม่มีก็ต้องอาศัยตัวเราเอง ตอนนี้แหละ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ที่ถูกต้อง ก็ต้องมีแนวทาง แล้วแนวทางในสิ่งนี้ก็หมายความว่า เราพร้อม พร้อมที่จะอุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ด้วยความพากเพียร ด้วยความมานะบากบั่น ด้วยความมั่นคงในพระธรรม ด้วยความซื่อตรงต่อพระธรรม มั่นคงและซื่อตรงต่อพระธรรมนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราไม่หลอกล่อ หรือว่าคดโกงต่อพระธรรม ในขณะที่เราปฏิบัติบ้าง แล้วเราก็ไม่ได้ปฏิบัติบ้าง และเราก็บอกตัวเองว่าเรากำลังปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เราจะไม่เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น เราจะเตือนตัวเราเอง ในเรื่องความมั่นคงและซื่อตรงต่อพระธรรม เพราะครูมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญและจำเป็นมาก เพราะความซื่อตรงและมั่นคงต่อพระธรรม จะทำให้เราหมั่นฝึกปรือ อบรม ค้นหา คุ้ยเขี่ย สิ่งที่เป็นกิเลสอยู่ในใจของเราสม่ำเสมอ นี่คือความมั่นคงที่จะทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็จะซื่อตรงโดยไม่หลงไปว่า เราดีแล้ว เราสะอาดแล้ว เราบริสุทธิ์แล้ว ไปจนถึงว่าเราบรรลุแล้ว ซึ่งความเป็นจริงเรายังหาไปถึงไหนไม่ แต่เพราะความที่เราหลง แล้วเราก็ขาดความซื่อตรงต่อพระธรรม เราก็เลยมายกตัวเราเอง ถ้าหากว่าขืนหลงและไม่ซื่อตรงต่อพระธรรม ก็จบอยู่แค่นี้อีกเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้ไปไหน เพราะฉะนั้นแนวทางอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ต้องตั้งเอาไว้ในใจ
ผู้ดำเนินรายการ : แม้มีแนวทางอย่างนี้แล้วก็ตาม แต่ว่าจริงๆแล้วก็คงมีปัญหาอีกเยอะทีเดียวใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็แน่นะคะ เพราะว่า มองดูเหมือนกับว่าเผินๆ นะคะ ว่าผู้ปฏิบัติธรรมไม่เห็นทำอะไร วันหนึ่งก็กินไป นอนไป นั่งหลับตาไป นี่ความรู้สึกของคนบางคนที่อยู่ข้างนอก หรือว่าชาวโลกบางท่าน มีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าพบผู้ปฏิบัติธรรมจริงๆ นี่นะคะ งานนั้นไม่มีหมด งานนั้นจะมีอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงเลย แม้แต่ในขณะหลับ ก่อนหลับก็จะต้องฝึกจิตให้อยู่ในธรรม เมื่อลืมตาตื่นขึ้นก็ต้องเริ่มอบรมจิตให้อยู่ในธรรม ถ้าสมมติว่าก่อนหลับตา สามารถที่อบรมจิตให้อยู่ในธรรม ในระหว่างที่หลับนั่นแหละ คือการหลับอยู่ในธรรม พอลืมตาตื่น ก็ตื่นก็อยู่ในธรรม แต่ถ้าสมมติว่าไม่ฝึกตลอดเวลาแล้วละก็ ก็คือการคดโกงต่อพระธรรม แล้วมันก็จะต้องเป็นไปตามอิทัปปัจจยตา ประกอบเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ปฏิบัติมาตั้ง 20 ปี ทำไมถึงไม่เห็นผลสักที ก็เพราะเราไม่ซื่อตรงและมั่นคงต่อพระธรรมนั่นเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ นั่นก็เป็นแนวความคิดของการนั่งสมาธิกับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง นะครับ