แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีทุกคนนะคะ วันนี้รู้สึกเป็นไงบ้างคะ มานั่งอยู่กลางดินกลางทรายอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ: ร่มเย็นดีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ร่มเย็น ไม่ร้อนเลยหรือคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ร้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เมื่อยปวดบ้างไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่เคยเลยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เคยเมื่อยไม่เคยปวด
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่เคยนั่งแบบสภาพอย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นน่ะสิ เพราะฉะนั้นถึงได้ถามว่า เมื่อยปวดบ้างไหม ที่มานั่งอย่างนี้ เมื่อยบ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดา แต่ทำไมถึงอดทนได้...เป็นเช่นนั้นเอง ถ้าสามารถที่จะมีความรู้สึกได้อย่างนั้นจริงๆ ก็ดี อันที่จริงขณะนี้ เรามาอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติ แล้วก็จะรู้สึกว่า มนุษย์เรานี่ มักจะเรียกร้องหาธรรมชาติ ใช่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : วิ่งหาธรรมชาติกันเรื่อยๆ เราวิ่งหาธรรมชาติกันทำไม แล้วเมื่อพูดว่า เราอยากจะมีชีวิตอยู่อย่างธรรมชาตินี่ โดยภาษาโลกๆ ที่พูดกัน เรามีความเข้าใจยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: ชีวิตธรรมชาติหรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่บอกว่าเราจะไปหาธรรมชาติ ฉันเบื่อเต็มทีแล้ว ในเมืองฉันอยู่ไม่ไหว ฉันจะไปหาธรรมชาติ พอได้ยินใครพูดว่าไปหาธรรมชาตินี่คือ เขาไปไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ไปในป่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไปป่า ออกไปป่า ไปท่องป่า ไปเที่ยวป่า หรือมิฉะนั้นก็ไปเขา ไปทะเล คือไปปีนเขา ไปลงทะเล อย่างนั้นเป็นต้น หรือก็ไปอยู่ที่ชนบทไกลไกล นั่นตามภาษาโลกๆ ก็จะมีความเข้าใจว่า ถ้าเราออกไปปีนเขา เราออกไปท่องป่า เราออกไปเที่ยวทะเล หรือ ออกไปอยู่ชนบทไกลๆ นั่นแหละ คือการไปอยู่กับธรรมชาติ ฉะนั้นในความหมายอย่างนี้นี่ หมายความว่าเขามองเห็นว่า ธรรมชาติในความหมายอย่างนั้น มันเป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: มันมีความสุข
ผู้ร่วมสนทนา: ทำให้สบายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันมีความแตกต่างกับชีวิตภายในเมืองก็คือว่า มันเรียบ มันง่าย มันมีความเรียบง่าย มันมีความธรรมดาๆ ไม่ต้อง ตบแต่งอะไรมากมาย เรียกว่า ถ้าเรามองดูธรรมชาติรอบตัว เราก็จะเห็นว่า สิ่งใดมันมีอยู่อย่างไร มันก็จะเป็นอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นคนที่บอกว่า ฉันวิ่งไปหาธรรมชาติ พอไปถึงก็ปีนเขา เอาอาหารขึ้นไปรับทานแล้วก็ไป อะไรนะ ไปตั้งแคมป์ ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไปตั้งแคมป์ แล้วก็เรียกว่า นอนกลางดินกินกลางป่า กันอยู่สักพักหนึ่ง เอาล่ะ รู้สึกว่าได้บริหาร หรือexercise กำลังกายเต็มที่ ตอนนี้ก็จะลงจากเขา ออกจากป่า ขึ้นจากทะเล กลับบ้าน แล้วเขาได้อะไรไปจากธรรมชาติ เมื่อมาอย่างนั้น ได้อะไรไปจากธรรมชาติ
ผู้ดำเนินรายการ : ได้ความสดชื่นไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้ความสดชื่นไป เรียกว่า เขามาเติมพลัง เพียงแต่ว่ามาเติมพลังจากธรรมชาติเท่านั้นเอง ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มาเติมพลัง มาเพื่อชดเชย เรียกว่า อยู่ในเมืองได้รับมลพิษต่างๆ มาก ก็มาหาอากาศบริสุทธิ์จากธรรมชาติ เรียกว่ามาเติมพลัง แล้วก็กลับไปใหม่ พลังที่เขาเติมนี่ เขาเติมพลังทางไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ทางกาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทางกาย พลังทางกาย ให้รู้สึกว่า ให้เราแข็งแรงขึ้น ให้เรามีความ พักผ่อนพอสบาย จิตใจมันจะได้ชุ่มชื่นเบิกบาน นี่เรียกว่าเติมพลังในด้านทางกายมาก โดยภาษาโลกๆ หรือภาษาคนที่พูดกัน พอบอกว่า จะไปหาชีวิตธรรมชาติ ก็คือ ไปอย่างที่เราพูดกันนี่ ไปพักผ่อนสักพักหนึ่ง ทิ้งจากสิ่งที่เคยข้องเกี่ยว สิ่งที่เคยเป็นภาระ ที่เคยแบก เอาไปสบายๆ สักพักหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเราพูดกันโดยภาษาธรรม ถ้าพูดกันถึงเรื่องของธรรมชาตินี่ เข้าใจไหมคะ ว่าเราหมายถึงอะไร ถ้าเราจะอยู่กับชีวิตธรรมชาติ ธรรมชาติคืออะไรล่ะ
ธรรมชาติก็คือสภาวะของความเป็นปกติ เป็นปกติ เป็นธรรมดา นี่มันเป็นสภาวะที่มันเกิดขึ้น เป็นปกติ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นโดยภาษาธรรมนี่ ถ้าเราพูดถึงว่า เราจะไปอยู่กับธรรมชาติหรือเราจะไปมีชีวิตธรรมชาติ นั่นก็คือว่า เราจะไปมีชีวิตอยู่หรือดำรงชีวิตอยู่ อย่างชนิดที่ว่ากลมกลืนกับธรรมชาติ สมคล้อยกับธรรมชาติ เข้าใจไหมคะ พูดอย่างนี้หมายความว่ายังไง กลมกลืนกับธรรมชาติ สมคล้อยกับธรรมชาติ
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ไปทำลายธรรมชาติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คะ
ผู้ดำเนินรายการ : ไปอยู่แล้วไม่ทำลายธรรมชาติหรือเปล่า กลมกลืน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ทำลายธรรมชาติ ก็มองดูสิคะ ธรรมชาติมีอะไรให้เราเห็นล่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ต้นไม้
ผู้ร่วมสนทนา: ใบไม้สีเขียว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ต้นไม้ ใบไม้นี่มันเป็นรูปธรรม แต่เมื่อเราเข้ามานี่ เราสัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติ ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือเรียกว่าชีวิตธรรมชาตินี่ เราไม่ได้มาสัมผัสกับตัวต้นไม้ ตัวก้อนหิน แต่ว่าทุกอย่างที่เรามองเห็น มันเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติ ซึ่งมันได้หล่อหลอมหรือสร้างสรรค์บรรยากาศอะไรให้เกิดขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : ความร่มเย็นหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความร่มเย็นความเรียบง่าย ความเรียบง่ายความเป็นธรรมดาๆ มองอะไรไปทางไหนดูมันมีความบริสุทธิ์ มันไม่มีการเสแสร้ง มันมีการเรียกร้องไหม มองดู ธรรมชาติเรียกร้องอะไรจากเราไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่มีอะไรเรียกร้อง ไม่เรียกร้องจากเราว่าเราจะต้องให้อะไร หรือว่าต้องเอาอะไรมาให้ฉัน แต่ธรรมชาตินี่ ถ้าใครได้เข้ามาคลุกคลีกับธรรมชาติ หรืออยู่ใกล้ธรรมชาติ ก็จะมองเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติจะบอกเราว่า ดูสิ เอาอย่างฉันสิ มองเห็นบ้างไหม ถ้าอยากจะมีชีวิตธรรมชาตินี่ เอาอย่างฉันสิ เอาอย่างอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: เรียบง่ายหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่า “หรือครับ” ตอบให้มันแน่ใจกว่านี้ ถ้าหรือครับนี่ มันแสดงว่ามันไม่แน่ใจเลย...ธรรมชาติบอกอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ความเรียบง่าย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมไม่เอาอย่างฉันสิ เอาอย่างฉัน เข้ามาแล้วก็มาดูสิว่าฉันอยู่กันยังไง นี่แหละธรรมชาติอยากจะบอก ความเรียบง่ายที่ธรรมชาติบอก ธรรมชาติบอกอะไรโดยนัยยะของความเรียบง่าย
ผู้ดำเนินรายการ : ความสงบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความสงบ ความเยือกเย็น ความไม่เอาอะไร เข้าใจไหม ความไม่เอาอะไร ความไม่ต้องเบียดเบียนกัน แต่ว่าเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันช่วยเหลือกัน พอเราเข้ามาในสู่ชีวิตธรรมชาติ จิตใจที่เคยร้อนรนจะเปลี่ยนไปยังไง
ผู้ดำเนินรายการ : เย็น สบาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เย็น เยือกเย็นผ่องใสขึ้น จิตใจที่กระด้าง กร้าว หยาบ จะเป็นยังไง
ผู้ดำเนินรายการ : อ่อนโยน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พอย่างก้าวเข้ามา อ่อนโยนขึ้น ใครมาบอกหรือเปล่า ต้องอย่างนี้นะ ไม่บอก มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ ใช่ไหมคะ นี่แหละคืออำนาจของธรรมชาติ หรืออิทธิพลของธรรมชาติ ที่ธรรมชาติไม่ได้เคยบอกว่า ฉันมีอิทธิพล ธรรมชาตินี่ มีอิทธิพลเหนือมนุษย์ทั้งหลายนะ เหนือใจของคุณนะ ธรรมชาติไม่เคยบอก แต่มันมีอยู่ในน้ำในเนื้อของธรรมชาติเอง ซึ่งใครที่จะมองเห็นได้นี่ต้องมาสัมผัส ต้องมาสัมผัส และก็สัมผัสด้วยใจ ไม่ใช่สัมผัสด้วยกาย ต้องมาสัมผัสด้วยใจอย่างชนิดที่ว่า เปิดใจพร้อมจะที่รับธรรมชาติ แล้วจึงจะมองเห็นว่า ธรรมชาตินี่บอกอะไรเราบ้าง ธรรมชาติแนะอะไรเราบ้าง เพราะฉะนั้นที่พูดว่าโดยภาษาธรรม ถ้าเราจะมีชีวิตอย่างธรรมชาตินี่ก็คือว่า มีชีวิตอย่างชนิดที่สมคล้อยกับธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นอย่างไร สมคล้อยกับความเป็นไปตามธรรมชาติ มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นธรรมชาติที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ถ้านึกไม่ออกก็จะบอกให้ว่า เราจะต้องนึกดูถึงสิ่งที่เรียกว่า กฎของธรรมชาติ เราจะต้องดำเนินชีวิตให้สมคล้อยกับสิ่งที่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติแสดงตัวให้เราเห็นอะไร พูดอีกครั้ง
ผู้ดำเนินรายการ : ความเรียบง่าย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความเรียบง่าย ความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมดาที่มีความตื่นเต้นไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่มีความตื่นเต้น มีความหดหู่ไหม ไม่มีความหดหู่ อย่างในประเทศเรา ฤดูกาลของเราในการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยเห็นมากใช่ไหมคะ แต่ในประเทศตะวันตกเราจะเห็น ถ้าใครเคยไป ฤดูหนาวหิมะขาวโพลน ใบไม้ไม่ค่อยจะมีตามต้น ฤดูใบไม้ร่วงร่วงเกลี้ยงเกลา ฤดูใบไม้ผลิ สวยงามบานสะพรั่ง เพราะฉะนั้นพวกชาวตะวันตก เขาจึงมีเพลงที่ว่า I love spring ฉันรักฤดูใบไม้ผลิ เพราะมันเป็นฤดูที่สดชื่นแจ่มใส อะไรๆ มันดูมีชีวิตชีวา ถึงฤดูร้อน มันก็ร้อน เขามีสี่ฤดู แต่ของเรานี่ ถึงแม้เราจะบอกว่า เรามีฤดูฝน มีฤดูร้อน มีฤดูหนาวก็ตาม แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงของฤดูต่างๆ เหล่านี้มันไม่ตัดกันให้เห็นชัดอย่างนั้น แต่ถึงกระนั้น เมื่อเวลาที่มันเกิดบรรยากาศของฤดูใบไม้ร่วงของที่ต่างประเทศ บางคนจะบอกว่า พอถึงฤดูใบไม้ร่วง พอมันเริ่มจะเข้า Fall Season ฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น พอมองดูใบไม้มันเริ่มผลัดสี จากสีเขียวเป็นสีเหลือง และจากเหลืองนี่กำลังเริ่มน้ำตาล และมันก็จะหล่น ร่วงหล่น ปลิวปรายลงมาบนพื้นดิน บอกแหมมันเศร้าจริง มันชวนให้จิตใจนี่เศร้าสลด และก็หดหู่ มันเหี่ยวแห้งยังไงบอกไม่ถูก แต่พอถึงฤดูหนาว มองอะไรมันขาวโพลนไปหมด มีแต่หิมะเกาะเต็มไปหมด ก็บอกแหมมันเย็นยะเยือก มันไม่ใช่เยือกเย็น เยือกเย็นนี่ดีใช่ไหม แต่นี่มันเย็นยะเยือก มันรู้สึกแหมเย็นยะเยือก อ้างว้าง โดยเฉพาะคนที่ต่างบ้านเมืองไป จะมีความรู้สึกเช่นนั้นมาก แต่พอถึงฤดูใบไม้ผลิ ชีวิตชีวากลับมา กลับคืนมา ดูชีวิตชีวาที่มันหายไปในระหว่างฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาวนะ ดูมันกลับคืนมา กลับคืนมาเอง นี่อะไรบอก ลองนึกในปฎิจจสมุปบาทสิคะที่เราพูดถึงกัน อะไรมันบอกว่า แหมหดหู่เหลือเกินในฤดูใบไม้ร่วง เย็นยะเยือกในฤดูหนาว แล้วก็สดชื่น ร่าเริง เบิกบานในฤดูใบไม้ผลิ อะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เวทนา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เวทนานี่เกิดจากอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ผัสสะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ผัสสะนี่เกิดจากอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: อายตนะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อายตนะ ถ้าหากว่าจะไล่ไป มันก็ยังไม่รู้จบ ถ้าหากว่าเข้าใจในเรื่องของปฎิจจสมุปบาทอย่างชัดเจน ก็จะบอกได้ทีเดียวว่า เหตุแห่งการที่ทำให้คนเกิดเวทนา ที่มันทำให้เกิดผัสสะขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งมีอำนาจทำให้เกิดเวทนา เพราะจิตนั้นมันทำไม ใครบอก เรียกว่า สลดหดหู่ ใครบอก ธรรมชาติไม่ได้บอกเลย จิตนั้นมันทำไม
ผู้ร่วมสนทนา: จิตบอก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันคิดไปเองใช่หรือเปล่า ที่เคยบอกว่าความทุกข์นี่ เพราะว่าเราคิดโน่นคิดนี่ ปรุงแต่งใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ใช่ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ลืมแล้วหรือคะ ว่านี่แหละความคิดที่ปรุงแต่ง คิดปรุงแต่งไปต่างๆนานา ทั้งๆ ที่ธรรมชาติไม่เคยบอก ปรุงแต่งไปว่า แหมมันเย็นยะเยือกในฤดูหนาว ปรุงแต่งไปว่ามันช่างเหี่ยวแห้งน่าสลด หดหู่ในใบไม้ร่วง ปรุงแต่งไปว่ามันร่าเริงแจ่มใส แท้ที่จริงธรรมชาติมันบอกว่า นี่คือความเป็นธรรมดา มันตกอยู่ภายใต้กฎของอะไร กฎของอนิจจัง ใช่ไหม กฎของอนิจจังคือความเปลี่ยนแปลง ใช่หรือเปล่า ทำหน้าสงสัย ใช่นี่เพียงครั้งแรกที่เราพบกัน เพิ่งจะเข้ามาย่างสู่ธรรมชาติ ก็เลยเป็นคนป่าอย่างนี้แหละ มาป่าแต่เป็นคนป่าสำหรับป่า ใช่ไหมคะ เป็นคนป่าสำหรับป่า เป็นคนป่าสำหรับธรรมชาติ นี่แหละ อย่าคิดว่าเป็นคนเมืองมาแล้วจะศิวิไลซ์เสมอไป แท้ที่จริงแล้วก็ Uncivilized เหมือนกันเมื่อเข้าป่า เพราะไม่รู้ว่า ธรรมชาติของป่านั้นน่ะ ความเจริญของป่านั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความที่จะบอกให้เรารู้ว่า มันไม่มีอะไร มันมีความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เรานั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สีเขียวบ้าง ใบไม้ที่ร่วงหล่น สีเหลืองบ้าง สีน้ำตาลบ้าง ดูเอาเอง ก็จะมองเห็นแล้วว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้น มันไม่แสดงความเสียใจ หรือสลดหดหู่เลยสักนิดเดียวนี่ มองดูสิ มันไม่มีน้ำตาหยด ไม่มีความคร่ำครวญ มันแสดงบอกเราแต่เพียงว่า นี่คือความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมดา
ผู้ดำเนินรายการ: มันพูดไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ สำหรับจิตของคนที่ไม่เคยเปิด สำหรับที่จะรักธรรมชาติ จะมองไม่เห็น จิตของคนที่เคยอยู่กับคอนกรีต อย่างที่คุณณรงค์ วงษ์สวรรค์ พูดถึงป่าคอนกรีต อยู่กับป่าคอนกรีต มันก็กระด้างเหมือนป่าคอนกรีต มันก็แข็ง มันก็เย็นเหมือนอย่างป่าคอนกรีต มันสัมผัสไม่ถึงกับความอ่อนโยน นุ่มนวล ที่ธรรมชาติมีให้อยู่ขณะนี้ มันสัมผัสไม่ถึงกับหัวใจของธรรมชาติ ที่พยายามจะบอกให้รู้ว่า แท้ที่จริงธรรมชาติมีอะไรให้แก่เราบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะพูดถึงชีวิตของธรรมชาตินั้นก็คือว่า โดยภาษาธรรม มนุษย์เราควรจะต้องรู้จักดำรงชีวิตให้กลมกลืน หรือ สมคล้อยกับธรรมชาติ นั่นก็คือ กับกฎของธรรมชาติ ให้มองเห็นอยู่เสมอว่า ธรรมชาตินั้นบอกอะไรเรา สิ่งที่เกิดขึ้น มันคืออยู่ภายใต้กฎธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ จะเรียกว่า จะเปลี่ยนโลก สมมติว่าโลกทางภูมิศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลง ไปอย่างไรก็ตาม มันก็ตกภายใต้กฎการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติยังคงแสดงกฎของความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นอยู่เสมอ ฉะนั้นที่บอกว่าชีวิตนี้เป็นชีวิตธรรมชาติ แล้วก็ ถ้าผู้ใดรักใคร่ชีวิตธรรมชาติก็จงรู้ว่าจะพยายามปรับใจของเราอย่างไร จึงจะสมคล้อยและกลมกลืนกับกฎของธรรมชาติ แล้วเราก็จะได้ยินคำบอกของธรรมชาติเอง คำบอกของธรรมชาติที่บอกว่า นี่แหละ สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า...มากไปกว่าการทำหน้าที่ การทำหน้าที่ของธรรมชาติ ธรรมชาติแสดงให้เราเห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ คือการทำหน้าที่ตามธรรมชาติเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้ และก็ทำหน้าที่โดยหวังไหม ว่าใครจะมาขอบใจ ลมพัดอยู่นี่ หวังไหมว่ามนุษย์จะต้องขอบใจนะ ขอบใจ ขอบใจลมที่พัดให้ฉันเย็น ไม่ ไม่ได้หวัง และก็ถึงแม้ถ้าเผอิญมีลมร้อนผ่านมา ก็อย่าโกรธนะ นี่ มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ของความเปลี่ยนแปลง มันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย สิ่งที่ธรรมชาติพยายามจะบอกแก่มนุษย์ก็คือว่า หน้าที่ หน้าหน้าที่มีอย่างไรจงปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด แล้วจะไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องดีใจ มันจะมีความเป็นปกติตามธรรมดา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์ควรจะใคร่ครวญ และควรจะนึกดูให้มากๆ ก็คือว่า ถ้าเช่นนั้นละก็ สัจจะของชีวิตของมนุษย์นี้คืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วก็
ผู้ร่วมสนทนา: ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเราปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องอยู่เสมอเป็นนิจศีล ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่เล็ก หน้าที่ใหญ่ หน้าที่ส่วนตัว หรือหน้าที่ส่วนรวม ถ้าสามารถปฏิบัติได้อย่างนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ในป่า เราก็อยู่กับธรรมชาติเหมือนกัน แต่อันที่จริงนะ มนุษย์ทุกคนก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่ แต่ไม่รู้ บางคนอาจจะเถียงว่า ก็เราไม่มีงานทำจะบอกว่าเราปฏิบัติหน้าที่ได้ยังไง บางคนว่างงาน คิดดูนะคะ คิดดูให้ดีๆ ถึงแม้จะว่างงานก็ยังปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติ ตายแล้ว ตายจริงๆ ตายทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ตายจริงๆ ก็ดูสิตื่นขึ้นทำอะไร ตื่นเช้าทำอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: เข้าห้องน้ำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เข้าห้องน้ำ ถ้าไม่เข้า ทำไมต้องเข้า ใครบังคับให้เข้า
ผู้ร่วมสนทนา: ทำหน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ ถ้าไม่ทำมันก็ไม่ได้ ทนไม่ได้ นี่ก็ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ เข้าห้องน้ำเสร็จ อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ
ผู้ดำเนินรายการ: ทานอาหารเช้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กินอาหาร นี่ก็ทำหน้าที่ตามธรรมชาติอยู่ใช่ไหม ถ้าไม่กินมันเป็นไง
ผู้ดำเนินรายการ: หิว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หิว และก็จะไม่มีเรี่ยวมีแรงที่จะดำรงชีวิตต่อไป ถึงเวลาเย็นค่ำ บางทียังไม่เย็นค่ำต้องทำยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: อาบน้ำทานข้าว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นอน ไม่นอนก็ไม่ได้ ต้องนอน นี่เป็นหน้าที่ นี่ยกตัวอย่าง อย่างง่ายๆ หรือถ้าจะพูดมาเหมือนเส้นผมบังภูเขา เราไม่เคยคิดเลยว่าเป็นหน้าที่ แต่ที่จริงทำหน้าที่ ธรรมชาติก็ทำหน้าที่ของมัน มนุษย์ก็ทำหน้าที่ของมัน แต่ถ้ามนุษย์ทำหน้าที่เพียงแค่นั้น มันก็น้อยเกินไป มันเป็นได้เพียงแค่คนไม่ถึงมนุษย์ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะเป็นมนุษย์ ก็ควรจะทำหน้าที่อะไร ที่ให้มันมาก และก็มีความหมายและก็มีประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่านั้น คือมีประโยชน์แก่งานที่เกิดขึ้น มีประโยชน์แก่ส่วนรวม มีประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงจะคุ้มหรือจะสมค่าแก่ความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นท่านจึงพูดว่า ผู้มีปัญญานั้น จะเคารพหน้าที่ เป็นสิ่งสูงสุด องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงเคารพหน้าที่เท่านั้น และความหมายของคำว่าธรรมะ สั้นๆเพียงคำเดียว ก็คือ หน้าที่ ที่ใดมีการปฏิบัติหน้าที่ ที่นั้นมีธรรมะ ผู้ใดดำรงชีวิตด้วยการปฏิบัติหน้าที่ คือการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมคล้อย กลมกลืนกับกฎของธรรมชาติ และนี่คือ ชีวิตธรรมชาติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ถ้าหากเราดำเนินชีวิตเช่นนี้ก็คือ มีชีวิตธรรมชาติอยู่เช่นนั้นตลอดเวลา ธรรมสวัสดีนะคะ