แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ ธรรมสวัสดีค่ะทุกคน เมื่อคราวก่อนโน้นเราคุยกันถึงเรื่อง ชีวิตธรรมชาติ อยากจะลองถามว่า แล้วเคยคิดบ้างไหมว่าชีวิตคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ชีวิตน่ะหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็มีชีวิตอยู่ทุกคนใช่ไหมนี่ ชีวิตคืออะไร เคยบ่นบ้างไหมคะว่าชีวิตนี้มันลำบาก ไม่ไหวเลย ชีวิตนี้ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม บางคนก็ว่าต่างๆ นานา ทีนี้เคยนึกไหมชีวิตคืออะไร ก็แปลกนะทั้ง ๆ ที่บ่น
ผู้ร่วมสนทนา:ชีวิตคือการต่อสู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ชีวิตคือการต่อสู้ ต่อสู้กับอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: ต่อสู้กับปัญหาร้อยแปดที่เราต้องเจอ แต่ล่ะคน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ปัญหาร้อยแปดนี่มาจากไหน บางคนมากกว่าร้อยแปด เป็นหมื่นแปดพัน ปัญหามาจากไหน ปัญหาร้อยแปด
ผู้ร่วมสนทนา: ระหว่างเรากับคนอื่นบ้าง ระหว่างเรากับตัวเองบ้าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: : แล้วใครเป็นคนสร้างปัญหา ปัญหามันลอยมาทางไหน
ผู้ร่วมสนทนา: ตัวเราเป็นหลัก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: : ตัวเราเป็นหลัก หลักของปัญหา ไม่ใช่หลักของอย่างอื่น
ชีวิตคือการต่อสู้ ทีนี้ถ้าจะลองถามว่าอีกอย่างนึงใครจะมีคำตอบอีกอย่าง นอกจากชีวิต คือการต่อสู้
ผู้ร่วมสนทนา: ชีวิตคือละคร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: : ชีวิตคือละคร ทำไมเขาถึงเรียก ชีวิตคือละคร เพราะอะไร
ผู้ร่วมสนทนา: เป็นการแสดง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ละคร ก็รู้แล้วเราไปดูละคร เราไปดูหนังดูละคร เราดูของจริงหรือเปล่า เราไม่ได้ดูของจริงเราดูของที่เขาสร้างเรื่องขึ้นมา เล่นให้เราดู แต่อันที่จริงเบื้องหลังของการเล่นให้เราดู มันมีอะไรจริงอยู่ในนั้นไหม
ผู้ร่วมสนทนา: ชีวิตตัวละครน่ะเหรอครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันมีอะไรจริงอยู่ในเรื่องนั้นไหม เบื้องหลังนั้นไหม ลองนึกดู เคยดูหนังดูละครทุกคนใช่ไหมคะ มีไหม ความจริงอยู่เบื้องหลังนั้น
ผู้ร่วมสนทนา: ส่วนมากจะเสแสร้ง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วไปดูละครนี่ร้องไห้บ้างหรือเปล่า หัวเราะบ้างหรือเปล่า เวลาไปดูละครดูหนัง ไม่ใช่เฉพาะหัวเราะ มีทั้งหัวเราะ มีทั้งร้องไห้ มีทั้งปิติตื่นเต้นดีใจไปกับเขา พร้อมทั้งเศร้าหมองขมขื่นไปกับเขาด้วย ทรมาณไปกับเขาด้วย เขานี่คือ ตัวละคร ชีวิตของตัวละคร ที่เรารู้สึกไปกับเขาต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่ว่าเราตัวละครที่มันไม่ใช่ของจริงแล้วเราไปร้องห่มร้องไห้ เราไปหัวเราะเฮฮากับเขาทำไม ถ้าเราไม่รู้ว่าของจริง คนดีหรือคนบ้า เพราะว่าเราไม่รู้จักที่จะสะกดอารมณ์ของเรา ประเดี๋ยวก็ร้องไห้ ประเดี๋ยวก็หัวเราะ ถ้าเช่นนั้นจะบอกว่าชีวิตคือตัวละคร ชีวิตคือการต่อสู้ ควรจะดูให้จริงๆ ถึงเบื้องหลัง หรือว่าส่วนลึกที่สุดของคำตอบที่แท้จริงว่ามันว่ามันคืออะไร ทีนี้ถ้าจะพูดอย่างหนึ่งก็อาจจะบอกว่า ชีวิตนี้ที่เรียกว่าชีวิตนี่ มันประกอบด้วยอะไร หนึ่ง ต้องมีอะไร?
ผู้ร่วมสนทนา: กายเนื้อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ต้องมีรูปร่าง รูปกายเสียก่อน เมื่อมีรูปกายแล้วก็มี จิตใจ มีกายกับใจ นี่พูดโดยมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมหน่อย ก็คือชีวิตนี่มี กายกับใจ ถ้าไม่มีกายไม่มีใจ มันจะมาประกอบกันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ชีวิต ไม่ได้ ใช่ไหมคะ เพราะว่านี่มีกายหนึ่ง มีใจหนึ่ง พอมาอยู่รวมกันเข้าก็ทำงานร่วมกันนี่ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต”
นอกจากนี้ “ชีวิตคืออะไร” พอกายกับใจนี่มันมารวมทำงานร่วมกันเข้า มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ทีนี้เราก็จะบ่นว่าทำไมชีวิตเราจึงเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีก็ถูกใจ บางทีก็ไม่ถูกใจ เพราะอะไร มันต้องดูว่าชีวิตนี้คืออะไร ที่เราไม่ถูกใจนี่เพราะอะไร ที่เราถูกใจเพราะอะไร ทั้งนี้ท่านก็จะบอกว่า อันที่จริงแล้ว ชีวิตนี้ มันคือระบบของการดำเนินชีวิต หรือความเป็นไปทั้งหมดของชีวิต มันไม่ใช่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต บางคนอาจจะบอกว่า ชีวิตตอนเด็กของฉันนี่มันวิเศษ เป็นสุข มันเลอเลิศ บางคนบอกว่า ตอนนี้แหละเป็นตอนที่เป็นความสำเร็จสูงสุดของเราในชีวิต ยังไม่รู้ว่าข้างหน้าจะสำเร็จสูงสุดอย่างนี้ไหม ซึ่งอันที่จริงนี้ชีวิตนี้คือ ระบบของการดำเนินชีวิตทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ตั้งแต่เราเริ่มหายใจมาจนกระทั่งเราหยุดหายใจ นี่เป็นระบบของการดำเนินชีวิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่า ระบบของการดำเนินชีวิตทั้งหมดนี่มันจะต้องต่อเนื่องกันอย่างนี้ตามลำดับ ตั้งแต่ช่วงวัยเยาว์ที่สุด เป็นทารก เป็นเด็ก และก็เติบโตขึ้น แล้วก็เป็นหนุ่มสาว แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็เข้าสู่ความเป็นผู้ชรา หรือที่เรียกว่า ผู้สูงอายุ นี่ก็จะเป็นไปต่อเนื่องตามลำดับ ฉะนั้นเราเองก็จะมองเห็นแล้วว่า แต่ละช่วงของชีวิตนี้ เราจะไปมุ่งกระทำให้มันดีเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้นได้ไหม สมควรไหม ไม่ควรใช่ไหมคะ ถ้าชีวิตนี่เป็นการดำเนิน เป็นระบบของชีวิตที่มันจะต้องดำเนินไปทั้งหมดอย่างต่อเนื่องกันอย่างประสานกัน ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว แล้วเราก็ดำเนินชีวิตให้มันถูกต้องอย่างต่อเนื่องกัน เราคงไม่ต้องร้องใช่ไหม ไม่ต้องร้องว่าทำไมชีวิตถึงเป็นอย่างนี้ ทรมาณจริง ไม่ไหวแล้ว หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น
ผู้ร่วมสนทนา: ตอนนี้ผมลำบาก ชีวิตวัยเด็กสบายกว่า ไม่ใช่กับว่าผมอยากย้อนไปในวัยเด็ก ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่เลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นั่นเป็นไปได้ไหมคะ มันเป็นไปไม่ได้ แล้วเราจะร้องไปทำไม เมื่อเป็นไปไม่ได้เราก็ไม่ควรจะมาร้อง หรือเมื่อเราร้องไปแล้วเราก็ควรจะได้สติคิดว่า ร้องไปก็เสียเวลา เหนื่อยเปล่า ทางที่ถูกแล้วเราควรจะทำไม เราควรจะต้องเริ่มดูสิว่า เช่นนี้เราจะจัดการกับชีวิตอย่างไร เมื่อกี้นี้เราพูดว่า ชีวิตนี้ ประกอบด้วยกายและจิต หรือว่า รูปกาย กับใจนะ แต่สังเกตุไหม มนุษย์พวกเราโดยมาก รวมทั้งเราด้วย เรามักจะเอาใจใส่อะไรมากกว่ากัน
ผู้ร่วมสนทนา: กายครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาใจใส่ในเรื่องของกาย ต้องกินดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ต้องอยู่ดี นอนสบายนั่งสบายทำงานสบาย เพื่อว่าให้กายนี้แข็งแรงใช่ไหม ต้องหาเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ เพื่อให้ร่างกายนี้ดูหล่อเหลา งดงาม เก๋ไก๋ อันที่จริงแล้ว เพราะเราเอาใจใส่แต่กายมาก มีความเอาใจใส่แต่กายและเราก็ “ละลืมใจ” นี่เราลืมว่า กายกับใจต้องทำงานร่วมกัน พอลืมว่ามันทำงานร่วมกัน พอเราขาดการเอาใจใส่กับใจ ใจถูกปล่อยปละละเลย การประสานงานกันซึ่งมันจะต้องรวมกันเป็นหนึ่ง มันถึงจะเกิดผลดี มันก็เลยเกิด ขาดความพร้อมเพรียง เกิดขาดความสมัครสมานกันระหว่างกายกับใจ อันที่จริงแล้วถ้าจะว่าไปแล้ว ที่ความรู้สึกชอบไม่ชอบ สบายไม่สบาย อะไรบอก ใจเป็นผู้บอก ใจเป็นผู้กำหนดความรู้สึก ที่จะบอกว่านี่รู้สึกสบาย เบิกบานชุ่มชื่นผ่องใส เอาละอย่างนี้เราชอบ ใจบอก แล้วอย่างนี้เราไม่ชอบ เราไม่ถูกใจ เราไม่เอา ใจบอก แต่ว่าเราไม่เคยใส่ใจ “ในความต้องการของใจที่ถูกต้อง” หรือ “ความสนใจที่ถูกต้อง” เรามัวแต่คิดว่ากายมันเรียกร้องอย่างนั้น แท้ที่จริงสิ่งที่เรียกร้องคืออะไร “ใจ” ใจ เรียกร้องแต่ว่าเราเมินมองข้าม เราเลยไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียกร้องคือ “ใจ” และการเรียกร้องนั้นถูกหรือผิด สมควรแก่กรณีแห่งการเรียกร้องหรือไม่ เราก็ไม่ได้สนใจอีกเหมือนกัน เราเลยไม่รู้ แล้วเราก็เลยปรนเปรอมันไปทำตามมันไปทั้ง ๆ ที่ การเรียกร้องนั้นมันไม่ได้เหมาะสมหรือมันไม่ได้สมควร
อันนี้ทำให้ระบบของการดำเนินของชีวิต ที่ควรจะต้องถูกต้องอย่างต่อเนื่องกัน เลยเกิดขาดความต่อเนื่อง เพราะกายกับใจไม่ได้ทำงานอย่างประสานกัน อย่างที่เราจะเห็นกายเติบโตแข็งแรง แต่ว่า จิตใจ สมอง สติปัญญานั้น มันอ่อนลง มันอ่อนเพราะเหตุว่า มันขาดการทำนุบำรุง ทำนุบำรุงด้วยการที่ จะให้เกิดความคิดถูก เห็นถูก เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าชีวิตนี้มันก็ต้องมีองค์ประกอบเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าชีวิตนี่ มันต้องมีองค์ประกอบ องค์ประกอบของชีวิตที่จะทำให้ระบบของการดำเนินชีวิต เป็นไปอย่างถูกต้อง อย่างต่อเนื่องกันไปอย่างถูกต้อง มันก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยของชีวิต อันแรกที่มี “ปัจจัยของชีวิต” จากนั้นก็ “สิ่งแวดล้อมของชีวิต” จากนั้นก็ “ความรู้ที่ถูกต้อง” แล้วก็ “การกระทำที่ถูกต้อง”
ถ้า ๔ อย่างนี้มันประสานกันอย่างดีอย่างกลมกลืนกัน สัมพันธ์กัน ระบบของการดำเนินชีวิตก็จะถูกต้องงดงาม
ผู้ร่วมสนทนา: ปัจจัยของชีวิต สิ่งแวดล้อม ความรู้ที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: : ค่ะ นี่เป็นองค์ประกอบ ที่จะช่วยให้ ระบบของการดำเนินชีวิตนี้เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ปัจจัยของชีวิตถูกต้องหรือยัง
ผู้ร่วมสนทนา: อะไรคือ ปัจจัยของชีวิต
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ชีวิตต้องการปัจจัยอะไรบ้างล่ะคะ ลองนึกดูสิคะ มีชีวิตกันทุกคนและก็เรียกตัวเองว่าเป็นเจ้าของชีวิตกันทุกคน ชีวิตนี้ต้องการอะไรบ้าง
ผู้ร่วมสนทนา: ปัจจัย ๔
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่เรารู้กันอย่างง่ายๆ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค เป็นต้น พอหรือยัง ที่จริงก็น่าจะพอนะ ถ้าเรายอมรับชีวิตธรรมชาติมันก็น่าจะพอ แต่นี่เป็นเพราะเหตุว่า เรารู้สึกว่าชีวิตธรรมชาติยังไม่พอ เราเห็นว่า ๔ อย่างนี่มันไม่พอ มีแต่เพียงที่อยู่อาศัย มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มียารักษาโรค ยังไม่พอ ยังต้องการนับไม่ถ้วนถ้าเราจะหยิบเรียงออกมา แล้วไปมองดู มันมากเกินกว่าความต้องการเสียอีก
ผู้ร่วมสนทนา: ถ้าเราจะย้อนไปในยุคโบราณ แค่ปัจจัย ๔ ก็น่าจะพอ แต่ยุคนี้โลกมันเจริญก้าวหน้า จะให้เดินไปทำงาน สองชั่วโมงถึงที่ทำงานมันก็เป็นไปไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันเป็นไปไม่ได้ ถูกล่ะ อันนี้เราก็ต้องการ ก็ต้องมีปัจจัยอื่นที่จะช่วยให้ความสะดวกสบาย หรือความง่ายแก่การดำเนินชีวิตมากขึ้น ทีนี้ถ้าเรารู้ว่า ปัจจัยอื่นที่เพิ่มเติมมาข้างหลัง มันเพิ่มเติมมาโดยเราต้องการมันตามความจำเป็น มันก็จะไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่นี่เมื่อเรารู้ว่า เราจะต้องมีปัจจัยเพิ่มเติมมา แล้วเราก็เกิดความต้องการเกิดความอยากได้เกินความจำเป็นที่เราจะต้องมี เช่นอย่างสมมติว่า เราเดินไปไม่ได้ เราก็ใช้จักรยาน ราคาก็ถูกกว่าและก็ได้บริหารร่างกายอีกด้วยและก็มลพิษอะไรต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เราก็บอกว่าจักรยานใช้ไม่ได้หรอก เพราะมันไม่เร็วเพียงพอเราก็ต้องใช้จักรยานยนต์ พอใช้จักรยานยนต์เข้ามันก็เร็วดี แต่ว่าถ้าหากว่าขี่จักรยานยนต์เฉยๆ พอโก้เก๋ มันก็ไม่โก้เก๋เท่ากับจะต้องปล่อยเสียงดังๆ บอกให้ชาวบ้านเขาหันมาดูว่านี่นะดูนะ จักรยานเราโก้แค่ไหน เสียงของเราดังสนั่นแค่ไหน แสดงว่าเครื่องของเรา ดีหรืออะไรมันวิเศษกว่าคนอื่น แล้วผลที่ตามมาเกิดอะไร นอกจากทำความรบกวน จักรยานยนต์มันยังใส่อะไรวางอะไรยังไม่เพียงพอ มันก็ต้องมีรถยนต์ รถยนต์นั่ง มันก็ดีขึ้นอีกหน่อย ดูมันมั่นคงกว่าจะขับขี่จักรยานยนต์ แต่เสร็จแล้ว เราจะถือรถยนต์เป็นแต่เพียงพาหะนะ เพื่อพาเราจากบ้านไปที่ทำงาน หรือจากที่ทำงานแห่งนี้ไปกิจธุระที่อื่นแค่นั้น มันก็ดูจะไม่สมศักดิ์ศรีหรือยังไงก็ไม่ทราบ เราจึงต้องมีรถยนต์ที่โอ่อ่ากว่านั้น มีเครื่องประกอบภายในรถยนต์อีกเยอะแยะเลย เพราะคงทราบแล้ว มีทั้งทีวีก็มี มีทั้งสื่ออะไรต่างๆ อีกก็มี และก็ยังมีต่อไปอีกเยอะ นี่ก็เป็นเพียงการยกตัวอย่างอย่างง่าย ๆ อย่างนี้แหล่ะเราก็อาจจะบอกได้ว่ามันเกินความจำเป็นหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่มีก็ต้องอิจฉาเขาน่ะสิครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ้าว ทำไมต้องอิจฉาเขาล่ะ แล้วพออิจฉาแล้วร้อนไหมล่ะ นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องนึก พออิจฉาแล้วร้อน เราอยากร้อนไหมชีวิตนี้ อยากร้อนหรืออยากเย็น อยากเย็น เราได้พูดถึงชีวิตธรรมชาติ เราพอใจชีวิตธรรมชาติ แต่ก็เพียงชั่วขณะเวลาที่เรามาพบธรรมชาติ เพราะมันเย็น ใครๆ ก็วิ่งเข้าหาความเย็น แต่ในขณะเดียวกันลองนึกดูอีกที ใครเป็นคนนำความร้อนมาให้ ก็ตัวเราเองนี่แหละ เพราะฉะนั้นเราจึงควรที่จะต้องรู้ว่า เหตุปัจจัยของชีวิตตามความจำเป็นนี่ มันควรจะมีอะไรบ้างจึงจะไม่ทำให้เราเดือดร้อน ไม่ต้องทำให้เราดิ้นรนขวนขวายจนเกินกำลัง จนเกิดความเหน็ดเหนื่อย หนัก จนกระทั่งโรคประสาทกิน
ผู้ร่วมสนทนา: ให้พออยู่พอกินตามอัตภาพของแต่ละคนก็พอใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือเรียกว่าตามความจำเป็นของชีวิต ตามความจำเป็นของชีวิตในแต่ละกรณี และกรณีที่ว่านี้ก็เป็นกรณีที่ไม่เกินความจำเป็น เมื่อใดที่เราจะดูว่ามันเกินความจำเป็นเมื่อไหร่ ก็หมายความว่า เมื่อนั้น มันถูกสิ่งหนึ่งในจิตของเรากระตุ้นว่า ฉันต้องได้ ฉันต้องมีให้เหมือนคนอื่นเขา หรือยิ่งกว่าเขา อย่างที่เราเรียกกันว่า “ความอยาก” นั่นแหละ พอเกิดสิ่งนี้ขึ้นมาในใจเท่านั้นแหละ ปัจจัยของชีวิตมันจะต้องมีการเรียกร้องให้พรั่งพรูเข้ามาอย่างไม่เพียงพอเลย จากนั้นก็สิ่งแวดล้อมของชีวิต ซึ่งเป็นอันที่ ๒ นี่เรายังพูดยังไม่จบ แต่เรายังต้องไปสู่องค์ประกอบอื่นๆ แล้วเราจะมองเห็นเอง นะคะ
เพราะฉะนั้น สิ่งแวดล้อมของชีวิตนี่ มันก็มีอิทธิพลมากเหมือนกันต่อการที่เราจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร หรือมนุษย์จะกำหนดระบบชีวิตของตนอย่างไร เพราะสิ่งแวดล้อมของชีวิตที่อยู่ล้อมรอบเรานี่ บางทีมันมากำหนดสิ่งนึงที่เราเรียกกันว่า “ค่านิยม” หลายคนจะบอกว่าฉันไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะค่านิยมของสังคมเขาว่าอย่างนั้น ถ้าฉันไม่ทำอย่างเขาฉันจะยู่ในสังคมนั้นอย่างไร บางคนว่าอย่างนั้น แล้วก็บ่อยๆ ด้วย ทั้ง ๆ ที่ทุกครั้งที่ทำนี่ก็ไม่สบาย รู้สึกมันฝืนใจ ฝืนใจที่ต้องทำอย่างนั้น แต่ก็อุตส่าห์ทำไปเพราะว่า มันเป็นค่านิยมของสังคม และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าเราไม่ทำเดี๋ยวเขาไม่เรียกเรา ไม่รักเรา เราเป็นสมาชิกของสังคม เราก็ต้องทำตามเขา เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต หรือระบบการดำเนินชีวิตมากทีเดียว เราจึงควรที่จะต้องรู้จักจัดสิ่งแวดล้อมของชีวิตให้มันถูกต้องเหมาะสม ถ้าหากว่าเราถือว่า เราเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม เราก็ควรที่จะช่วยกันคิดจัดสรรสิ่งแวดล้อมของสังคมนี่ ที่มันจะอำนวยชีวิตของเราให้ดำเนินไปได้ด้วยความสะดวกสบายจริง แต่ในขณะเดียวกันด้วยความสบายใจด้วย ไม่เฉพาะแต่เพียงความสะดวกสบายทางกายแต่ให้มีความสบาย ความชื่นบานในใจให้เกิดขึ้นได้ด้วย
สิ่งแวดล้อมของชีวิตนั้นถ้าจะมากำหนดค่านิยม ก็ควรจะเป็นค่านิยมที่จะนำเราไปสู่ความมีจิตใจที่เบาสบายยิ่งขึ้นตามลำดับ
ผู้ร่วมสนทนา: คนเราจะไม่ทำตามค่านิยมที่ทำกันอยู่ในสังคมได้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้แหละที่เราจะต้องพูดกันถึง องค์ประกอบอันที่ ๓ ซึ่งตอนนี้ยังไม่อยากพูดถึงองค์ประกอบอันที่ ๓ เพราะอยากจะพูดซะก่อนว่า คืออยากจะให้ช่วยกันคิดเสียก่อนว่า สิ่งที่เราเรียกว่า ค่านิยมของสังคมนี่ มันประกอบไปด้วยตัวอะไรบ้าง อะไรบ้างที่เราบอกว่านี่ล่ะเป็นค่านิยมของสังคม อาทิเช่น นี่นะ คนมีเกียรติ เกียรติยศมันต้องอย่างนี้ เกียรติ คำกำจัดความของเกียรติคืออย่างนี้ คำจำกัดความของความฉลาดคืออย่างนี้ จำกัดความของคนเจริญแล้วผู้เจริญแล้วเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม ตามค่านิยมของสังคม ซึ่งกำหนดกันที่อะไร ส่วนมากกำหนดกันที่อะไร มีการศึกษา มีปริญญาบัตร มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี มีเงินทองทรัพย์สินจับจ่ายใช้สอยเพียงพอหรือว่าอย่างเหลือเฟือ ยิ่งมีเงินฝากธนาคารมากๆ ได้เท่าไหร่ยิ่งดี นอกจากนั้น ก็มีอื่นๆ ประกอบอีก นี่เราไปตีราคาที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้เราต้องตะเกียกตะกาย ใช่ไหม ที่จะต้องมีปัจจัยของชีวิตอย่างโน้นอย่างนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้มันสอดคล้องกับค่านิยมที่เรายอมรับแล้ว และเรากำหนดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมของชีวิตอันนี้ นี่คือจุดที่เราควรจะคิดให้มาก จริงล่ะชีวิตนี้ต้องมีค่านิยม แต่ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราก็น่าจะคิดสักนิดนึงว่า แล้วค่านิยมที่มนุษย์ควรกำหนดเพื่อส่งเสริมความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงควรจะเป็นค่านิยมอย่างไร ฝากให้คิด ฝากให้คิดนะคะ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ฝากให้ไปคิด เพราะฉะนั้นสำหรับตอนนี้ก็เห็นจะต้อง ธรรมสวัสดีก่อนนะคะ ธรรมสวัสดีทุกคนค่ะ