แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีนะคะ คราวที่แล้ว เราพูดกันถึงเรื่องของชีวิตใช่ไหมคะ แล้วเราก็พูดว่าชีวิตนี่เราจะถือเอาตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้ ช่วงใดช่วงหนึ่งไม่ได้ ต้องถือว่าทั้งหมดทุกขั้นตอนของชีวิต ลำดับแห่งวัยของชีวิตนี่ เป็นระบบ มันจะต้องไปด้วยกัน ที่นี้การที่เราจะสามารถจัดระบบของชีวิตเพื่อให้มันดำเนินไปได้อย่างราบเรียบ และต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบ องค์ประกอบของชีวิตจำได้ไหม ประกอบด้วยอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : 4 ประการ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันจะต้องมีอะไรบ้างองค์ประกอบของชีวิต
ผู้ร่วมสนทนา : ปัจจัยของชีวิต ปัจจัย 4
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ปัจจัยของชีวิต สิ่งแวดล้อมของชีวิต ความรู้ที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง เราเพิ่งพูดกันไปถึงปัจจัยของชีวิตว่า ถ้าพูดถึงขั้นพื้นฐานก็ปัจจัย 4 ใช่ไหมคะ แต่อันที่จริงแล้วที่ เราเรียกร้องที่จะมีกันนี่ มันมากกว่าปัจจัย 4 เพราะอะไรเราก็ได้พูดกันไปแล้ว ซึ่งปัจจัยของชีวิตนี่มันจะมีมากน้อยเพียงไร มันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของชีวิตเหมือนกัน ที่จะมีอิทธิพลที่จะมากำหนดว่าปัจจัยของชีวิตคนต้องจะมีอย่างนั้น ควรต้องมีอย่างนี้ ซึ่งเราสรุปเรียกสั้นๆว่า สิ่งแวดล้อมของชีวิตนี่ ถ้าหากว่าเราจะจัดให้มันเป็นอย่างไรก็ตาม มักจะกำหนดสิ่งที่เราเรียกว่าค่านิยมขึ้น ค่านิยมคืออะไร องค์ประกอบที่ 2
ผู้ร่วมสนทนา : สิ่งที่สังคมทำตามๆกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สิ่งที่เราทำตามๆกัน คือเรานิยมทำตามๆกัน แล้วเราก็ถือว่าถ้าเราทำตามๆกันแล้วมันเป็นค่า มันมีค่า มันเป็นค่าของชีวิต แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : เท่าที่คุยกันแล้ว รู้สึกจะไม่จริงซะแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันจะไม่จริง แล้วสิ่งที่จะสรุปเป็นค่านิยมของชีวิต เราก็จะบอกไปว่าอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา : การศึกษา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การศึกษาต้องได้รับปริญญา ถ้าไม่มีปริญญาแล้วจะไปทำมาหากินอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : มีเกียรติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แต่อันที่จริงคนที่ไม่ได้รับปริญญา มีความสำเร็จในชีวิตก็ไม่น้อย ใช่ไหม ปริญญาบัตรดีเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ผู้ร่วมสนทนา : เกียรติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เกียรติ เราก็ตีความหมายของคำว่าเกียรติ ไปที่ตรงไหน ไปตรงที่มีความศึกษาดี ความมีฐานะดี ฐานะการเงินการทองดี มีตำแหน่งการงานดี มีบริวารล้อมรอบมากมาย มีอื่นๆ มีอำนาจ มีลาภยศอะไรต่างๆเหล่านั้น นั่นละเรามักจะไปตีกันว่าถ้าใครมีอย่างนั้นคือผู้มีเกียรติ หรือบางทีเราก็จะเรียกว่าใครเป็นผู้เจริญแล้ว ก็คือผู้ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว เราถือว่าเป็นผู้ที่เจริญแล้ว เช่นไปศึกษาต่อต่างประเทศกลับมา นี่เป็นผู้เจริญแล้ว เพราะได้ไปเมืองที่เขาเจริญแล้ว ที่เรายกย่องเป็นประเทศที่เจริญแล้ว แต่อันที่จริงนี่ เมื่อได้มาที่สวนโมกข์นี่ไม่กี่วันนี้ ก็จะมองเห็นใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ฝรั่งเป็นร้อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ฝรั่งที่เขามาจากประเทศที่เจริญแล้วนี่ล่ะ กลับมาที่อยู่กับดินกินกับทรายอย่างที่เราอยู่ มาเดือนหนึ่งนี่ หลายสิบ หกเจ็ดสิบ แปดสิบ มาเป็นร้อยก็มี ร้อยกว่าก็มี นั่นนะแสดงว่า เป็นข้อคิดนะ อย่างน้อยเป็นข้อคิด ให้เราได้สังเกตุว่า ค่านิยมที่เราตีความกันว่าผู้เจริญแล้ว ต้องอย่างนั้นๆ อย่างที่ว่านี่มันจริงหรือเปล่า ถ้าจริงแล้ว ทำไมพวกนี้ถึงวิ่งหนีสิ่งที่เขามีแล้ว สิ่งที่เรากำลังตะเกียกตะกายหา มาหาชีวิตธรรมชาติ อย่างที่เราอยู่กันนี่ มาหาความเรียบง่าย มาหาความอยู่ง่ายกินง่าย ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายแก่ชีวิตเลย แต่เขากลับพอใจ
ฉะนั้นเรื่องของค่านิยมนี่ อยากจะฝากให้ใคร่ครวญกันให้มาก เพราะมันมีอิทธิพลเหลือเกินที่จะกระตุ้น เพื่อจะทำให้เราตะเกียกตะกายเพื่อหาปัจจัยของชีวิตอย่างโน้นอย่างนี้ จนเกินความจำเป็น
ผู้ร่วมสนทนา : ตัวที่ทำให้เกิดการกระตุ้นทำให้เราอยากทำตามค่านิยม มันเกิดตรงไหนของจิตใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันก็เกิดที่จิตนี่ล่ะ เกิดที่ตรงไหนของจิตใจ
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่จะต้องย้อนพูดกันอีกหน่อยหนึ่ง ที่จริงเราเคยพูดกันมาในตอนอื่นๆมาแล้ว ถึงเรื่องของจิตนี่นะคะ ถ้าเราจะดูว่าจิตนั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน เราจับไม่ได้ เพราะจิตนี้มันไม่มีตัวตนใช่ไหมคะ เป็นนามธรรมอย่างยิ่งเลย เราจับมันไม่ได้ แต่เรารู้สึกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้สึกชอบ ไม่ชอบ ดีใจหรือว่าเสียใจหม่นหมองนี่ เราก็บอกว่าใจรู้สึกอย่างนั้น ใจรู้สึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะดูจิตอยู่ที่ไหนเราก็ดูที่ความรู้สึก ดูที่ความรู้สึกแล้วก็อะไรล่ะ ที่ทำให้เกิดความรู้สึก ก็คือความคิด ความคิดที่มันเกิดขึ้นในจิต ความคิดดีมันก็ทำให้จิตดี สบาย ความคิดไม่ถูกต้อง ความคิดที่มันขัดอกขัดใจ มันหม่นหมอง มันก็ทำให้จิตไม่สบาย เพราะฉะนั้นถ้าจะดูว่าอะไรทำให้รู้สึกอย่างนี้ มันก็คือ ที่จิตเป็นอย่างนี้ก็คือความคิด เพราะฉะนั้นการที่เราจะต้องศึกษาถึงเรื่ององค์ประกอบของชีวิตอีกอย่างหนึ่งก็คือความรู้ที่ถูกต้อง เดี๋ยวเราจะต้องพยายามที่แสวงหาให้ชีวิตนี้ได้มีความรู้ที่ถูกต้อง อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะถ้าหากมีความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมาแล้ว สติปัญญามันก็ถูกต้อง สติปัญญาถูกต้องก็หมายความว่า จะคิดจะเห็นจะทำอะไร ก็จะพอทำให้เกิดความถูกต้องไปด้วย ที่นี่อะไรล่ะที่มาบทบังความรู้ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้
ผู้ร่วมสนทนา : กิเลส
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อาจจะเรียกง่ายๆ คือสิ่งที่เรียกว่ากิเลส
ผู้ร่วมสนทนา : ความต้องการอยากได้โน้นได้นี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความต้องการหรือถ้าใช้ในทางคำพูดของธรรมะท่านเรียกว่าตัณหา ตัณหาคือความอยาก ตัณหาในที่นี่ไม่ใช่หมายถึงแต่เรื่องของทางเพศหรือทางอารมณ์ แต่มันหมายถึงความอยากทุกชนิดที่เกิดขึ้นในใจ อันเนื่องมาจากความโลภ โลภะ อยากได้ หรือโทสะ ไม่อยากได้ แต่มันก็เป็นความอยากนั้นล่ะ คืออยากจะได้ กับอยากไม่เอา อยากจะเอากับอยากไม่เอา แต่มันก็เป็นความอยาก นี่ก็ทำให้จิตดิ้นรน หรือบางทีก็เป็นเพราะโมหะ โมหะที่มันไม่แน่ใจ นี่มันอยากแน่ หรือไม่อยากแน่ จะเอาหรือไม่เอาแน่ นี่มันเป็นโมหะ มันวนเวียนอยู่ สรุปมันก็เป็นตัณหา เดี๋ยวก็ตัณหาอยากได้ พออกพอใจ เดี๋ยวก็ตัณหาไม่อยากได้ ไม่พออกไม่พอใจ เดี๋ยวก็อยากเป็น ไม่เป็น อะไรอย่างนี้ มันจะอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ล่ะ ก็จะบอกได้ว่า ชีวิตของมนุษย์เราที่ทำให้ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะเหตุว่ามันอยู่กับความอยาก ชีวิตนี้อยู่กับความอยาก จริงไหม แล้วก็นึกสิว่าความอยากของเรานี่ เราได้สมความอยากไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่สมเลยครับอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่สมเลย มันอยากแล้วไม่ได้
ผู้ร่วมสนทนา : อยากแล้วมันได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยากแล้วไม่ได้
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่ได้แล้วก็ผิดหวัง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เสร็จแล้วก็ผิดหวัง แล้วทำอย่างไร
ผู้ร่วมสนทนา : ก็โกรธ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โกรธ
ผู้ร่วมสนทนา : เหมือนเป็นคนบ้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เหมือนเป็นคนบ้า จริง บ้าด้วยความโกรธ พอโกรธก็เป็นคนบ้า ก็เรียกว่าพอเราบ้านี่ ไม่ได้บ้าเฉยๆ เราไม่ได้บ้าอยู่ในใจ เรามักจะมีการชดเชย ชดเชยด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเช่น เท่าที่เคยได้ยิน ผู้ชายพอผิดหวัง ผิดหวังในความรัก อกหัก หรือบางทีก็ผิดหวังในเรื่องของการงานก็ตาม ผู้ชายเขามีทางออกหลายอย่างเช่น
ผู้ร่วมสนทนา : กินเหล้า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กินเหล้า เที่ยวเตร่ต่างๆ ไนต์คลับหรือว่าผับอะไรก็ไม่รู้นะ ไปเที่ยวต่างๆ เพื่อจะเป็นการชดเชย กินเหล้าให้มันเมาสะ มันจะได้ลืม แล้วลืมจริงไหมๆ
ผู้ร่วมสนทนา : หัวเราะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ลืมจริงไหม ลืมตอนเมา เพราะมัวเมาอยู่กับน้ำเหล้า ที่เข้าไปย้อมใจ มันก็ลืม พอเหล้าซา นึกขึ้นได้ๆ เจ็บใจอีกแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา : กินใหม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กินใหม่ ให้มันเมาต่อไปอีก
ผู้ร่วมสนทนา : ทีนี้หมดตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ หมดตัวทางธรรมดีนะ ไม่ใช่หมดตัวทางโลก ถ้าหมดตัวทางธรรมดี เพราะทางธรรมที่เราพูดกันอยู่นี่ เพื่อให้มันหมดตัว มันไม่หมด ไปหมดทางโลก คือหมดอะไร หมดสติปัญญา ความคิดเห็นที่ถูกต้องใช่ไหมคะ เพราะมันเมาตลอดเวลานี่ มันจะไปรู้สึกอะไรได้ ว่าอะไรคือถูก อะไรคือผิด มันอยู่กับความมัวเมา เหมือนกับอยู่ในที่มืดอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร นี่อยู่กับความชดเชย แล้วน่าเสียดายด้วยว่าชดเชยในทางที่ผิด กินเหล้า เที่ยว จนกระทั่งเสเพลต่างๆ บางทีนี่ผู้หญิงก็เป็นนะ เดี๋ยวนี้นะ ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ชาย บางทีก็ชดเชยด้วยวิธีนั้นหรือด้วยการพนันหรือด้วยอบายมุขต่างๆ หรือบางคนก็ชดเชยด้วยการว่า ไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้ว เคยทำงานดีๆ ขยันขันแข็ง มีความเจริญรุ่งเรือง แต่พอผิดหวังในการงาน
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่ทำล่ะงาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จะเป็นเพราะอะไรก็ตามที เอาล่ะไม่ทำแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา : ทำดีไม่ได้ดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วใครเสีย
ผู้ร่วมสนทนา : ตัวเราเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตัวเราเอง ไม่ใช่มีใครเสีย
ผู้ร่วมสนทนา : เราเองเสีย เพราะสบายไม่ได้ทำงาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สบาย ไม่ต้องได้เงินเดือนด้วย ตอนแรกก็ยังได้อยู่ แต่พอต่อไป เขาก็เชิญไปทำที่อื่น เพราะฉะนั้นที่คิดว่าจะได้ มันก็ไม่ได้ มันก็มีแต่เสีย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว อะไรล่ะ เป็นอุปสรรค อะไรที่มันทำให้ความรู้ที่ถูกต้อง เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความอยากนี่ล่ะ ชีวิตของมนุษย์เรานี่อยู่กับความอยาก จริงไหม เราปล่อยชีวิตของเราอยู่กับความอยากตลอดเวลา อยากโน้น อยากนี่ จนกระทั่งอยู่กับความดิ้นรน ไม่ได้อยู่เฉยได้เลย พอไม่ได้สมอยาก ชดเชย ชดเชยมัน ไม่ได้ชดเชยด้วยความถูกต้อง ชดเชยด้วยมิจฉาทิฐิ ความคิดผิด เห็นผิดต่างๆนานา เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีเวลา คือจิตมันมัวเมา มัวเมาอยู่กับความอยาก มัวเมาอยู่กับความชดเชย ว่าชดเชยอย่างไร ก็เลยไม่มีเวลาที่จะมามองดูว่า ธรรมชาติแท้ๆของชีวิต มันคืออะไร จริงไหม
ผู้ร่วมสนทนา : จริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่มีเวลาได้ดูเลย เพราะเวลาที่จะเรียกว่าให้หูตาสว่างสักที ไม่มี ไม่เกิดขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ เลยไม่มีโอกาสได้ดูว่าชีวิตจริงๆว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นอันนี้ความรู้ที่ถูกต้อง จึงไม่ได้เกิดขึ้น เพราะความรู้ในที่นี่นะคะ เราไม่ได้หมายถึงความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน ไม่ได้หมายถึงความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัย เราก็เรียนวิชาต่างๆ ที่เป็นศาสตร์ต่างๆนี่มามากมายจนได้ปริญญาบัตร จากปริญญาตรีบ้าง ปริญญาโทบ้าง ปริญญาเอก เป็นดอกเตอร์ นั้นเป็นวิชา วิชาความรู้ เราก็ได้วิชาความรู้เหล่านั้นมาประกอบอาชีพ มาประกอบอาชีพทำมาหากิน มีหลักมีฐาน อะไรๆต่อไปอย่างนั้น แต่แล้วก็อย่างที่ว่า เราก็ทำตามค่านิยม เอาวิชาเหล่านี้มาส่งเสริมค่านิยมที่ทำให้เรามัวเมาไปยิ่งขึ้น โดยเราคิดว่าความเป็นผู้เจริญ ความเป็นผู้เกียรติเอยู่อย่างนั้นๆ ที่เราว่ามาแล้ว แต่เท้ที่จริง ความรู้ที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ ที่จะให้เราหันมามองดูว่าความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะให้เรากำจัดความอยาก เพื่อที่จะให้เรากำจัดวิธีชดเชยชีวิตด้วยหนทางที่ผิดนี้ มันคือความรู้อีกอย่างหนึ่ง ซี่งเป็นความรู้ที่เราจะต้องศึกษาจากโรงเรียนธรรมชาติเท่านั้น โรงเรียนอื่นจะไม่มีความรู้อย่างนี้ให้ เป็นโรงเรียนธรรมชาติ เพราะเราจะพูดกันถึงเรื่องของสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ ธรรมชาติจะให้สิ่งที่เป็นความจริง ความจริงของธรรมชาตินั้นที่เราพูดกันมาแล้ว เป็นอย่างไรค่ะ ที่เราพูดมาถึงเรื่องของความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ องค์ประกอบที่ 3 ของชีวิต ก็คือการศึกษาของความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อกี้นี้ ธีรพรบอกว่า เราอยากได้ แล้วเราก็หวัง พอเราไม่ได้สมหวัง เราก็เสียใจ โกรธแค้นแล้วก็ชดเชยด้วยอาการต่างๆ ที่พูดมาแล้ว จนกระทั่งเราเป็นบ้า เพราะเราไม่รู้ๆ เพราะเกิดไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง เพราะเราคิดแต่เพียงว่าเมื่อเราทำอย่างนี้ มันต้องได้อย่างนี้สิ ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : เพราะเราคิดว่าเราทำถูกแล้วนี่ ที่เราทำชดเชย เราคิดว่าเราทำถูก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วใครเป็นคนบอกว่าถูกหรือผิด มันคืออะไร เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ตัดสินๆ
ผู้ร่วมสนทนา : เอาตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นนะสิ เราเอามาจากบรรทัดตัวเราเอง เราเอาตัวเราเองมาเป็นไม้บรรทัดที่จะวัด ที่นี่ว่ามันถูก ทีนี่พอเราเอาตัวเองเป็นไม้บรรทัดขึ้นมาวัด เราก็มีอะไรเป็นจุดศูนย์กลาง
ผู้ร่วมสนทนา : ตัวเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ตัวเราเป็นจุดศูนย์กลางใช่ไหมคะ ตัวเราเป็นจุดศูนย์กลางก็คือฉันว่าอย่างนี้ ฉันว่าอย่างนี้มันถูกต้อง เพราะอย่างนั้นมันต้องถูกต้อง นี้คนอื่นเขามีไหม
ผู้ร่วมสนทนา : เขาเรียนมาสูง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เขาก็มีนะ
ผู้ร่วมสนทนา : เขาเรียนมาสูง เราเรียนมาสูง เราก็ว่าเราถูก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วคนที่สูงเท่าเรา เรียนสูงเท่าเรามีไหม
ผู้ร่วมสนทนา : มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สูงกว่าเรามีไหม
ผู้ร่วมสนทนา : มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าเขาเรียนสูงกว่าเรา เขาไม่ถูกยิ่งกว่าเราเหรอ ที่นี้เราจะเอาอะไรมาวัดกันล่ะ เวลานี้มีแค่ปริญญาเอก ต่อไปมันอาจจะมีมหาเอกขึ้นมาก็ได้ มีปริญญาอุดมเอกขึ้นมาก็ได้ อภิเอกขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้ใช่ไหมคะ เพราะไอ้ศาสตร์ต่างๆที่เรียนกันในโรงเรียน สมัยที่ครูยังเป็นนักเรียนอยู่ มันยังไม่มีศาสตร์อะไรมากเหมือนอย่างเดียวนี้เลย เดี๋ยวนี้มีศาสตร์ต่างๆเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้นต่อไปในอนาคตนี่ ก็อาจจะมีการคิดค้นเรียกว่าไม่รู้จบ แล้วจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้าเราจะใช้ตัวเรานี้เป็นบรรทัดฐาน ในการวัดอยู่เรื่อยนะคะ ถ้าเราจะใช้ตัวเราเป็นบรรทัดฐาน ในการวัดอยู่เรื่อย เห็นจะยาก ที่ว่ายากเพราะอะไร เพราะตีกันไม่รู้จบ ตีกันตาย ทุกวันนี้ก็ตีกันอยู่แล้วใช่ไหมคะ ไม่ตีกันด้วยกำลัง ก็ตีกันด้วยคำพูด ตีกันด้วยทิฐิ ตีกันด้วยท่าทีต่างๆนานา ตั้งป้อมเข้าหากัน เราตีกันตลอดเวลา แล้วสบายไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่สบาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่สบาย
ผู้ร่วมสนทนา : ทุกข์ทั้ง 2 ฝ่าย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วที่เราทำอะไรมาทุกอย่างนี่ เราทำเพื่ออะไร เราตะเกียกตะกายเล่าเรียนศึกษามา ทำงานทำการด้วยความเหนื่อยยาก หรือบางคนก็ตั้งครอบตั้งครัว เพื่ออะไร เพื่อให้สบายหรือเพื่อให้เป็นสุข หรือเพื่อให้เป็นทุกข์
ผู้ร่วมสนทนา : เพื่อให้สบาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพื่อให้สบาย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า พอเรารู้สึกมีปัญหาเกิดขึ้น แล้วเราก็ทำไป แล้วมันก็ไม่สบายอยู่นั้น แล้วเราจะบอกได้หรือคะ ว่ามันถูก
ผู้ร่วมสนทนา : สงสัยน่าจะไม่ถูกสะแล้วล่ะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันก็น่าจะไม่ถูก ถ้าเราถือว่าสิ่งที่ควรจะเป็นความถูกต้องคือความสบายใจ แต่ความสบายใจในที่นี่ต้องพูดกันให้ชัดๆนะคะ ว่าเป็นความสบายใจเพราะเรารู้สึกว่ามันถูกต้อง มันเกิดประโยชน์ ไม่ใช่สบายใจเพราะเราได้อย่างใจ ถ้าสบายใจเพราะได้อย่างใจ เราก็เคยใช่ไหมคะ แล้วสบายใจอย่างนั้นนี่ มันยั่งยืนไหม มันก็ไม่ยั่งยืน
ผู้ร่วมสนทนา : มันร้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันร้อน คือประเดี๋ยวมันก็ต้องเปลี่ยนแล้ว แล้วความสบายใจอย่างนั้นมันชั่วครั้ง ชั่วคราว มันก็เปลี่ยนไปล่ะ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอีกล่ะ ทีนี้ความสบายใจ ที่พอเราได้รับความสบายใจแล้ว เราจะหยุด เราจะไม่ไปอีก นั่นล่ะ ความสบายใจอย่างนั้น ที่เราต้องการ เพราะเราจะได้หยุด ความดิ้นรน อย่างที่เขาบอกชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไรนะ เกิดมาเพื่ออะไร คำตอบเวลานี้ที่อยากจะบอกว่า ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อหยุดความดิ้นรน หรือทำให้ความดิ้นรนที่เรามีตลอดเวลานี้ สิ้นสุดเสียที ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อหาหนทางที่จะสิ้นสุดความดิ้นรน นี่ละถ้าจะสิ้นสุดความดิ้นรน มันจะมีหนทางอย่างนี้ มันจะมีวิธีอย่างนี้ ที่เราจะทำได้ คือหาความรู้ที่ถูกต้อง ว่าอะไรคือความรู้ที่ถูกต้องของชีวิต แล้วความรู้นี้ เมื่อเรารู้แล้ว มันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เพราะมันจะแสดงสัจจะคือความจริงของมัน ในตัวของมันเองนี่
ให้เราเห็นอยู่เสมอ และจะคงรักษาความจริงอันนั้นไว้ อย่างชนิดที่ไม่เสแสร้ง ไม่หลอกลวง จะคงที่อยู่เช่นนั้นตลอดไป นี่ละคือความจริงและความจริงนี้ เราจะศึกษาจากที่ใดไม่ได้ นอกจากศึกษาจากธรรมชาติ ธรรมชาติรอบตัวเรา และโดยสำคัญที่สุด ธรรมชาติที่ตัวเรา ที่ตัวเราตั้งแต่หัวจรดเท้า
ผู้ร่วมสนทนา : ที่ตัวเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่ตัวเรา รวมทั้งที่ใจเราอีกด้วยเหมือนกัน ที่เราจะต้องศึกษาให้มันรู้
ผู้ร่วมสนทนา : จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ไม่มีเวลามาธรรมชาติอย่างนี้ อยู่ที่บ้านจะศึกษาธรรมชาติอยู่ที่ไหน อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เวลาอยู่บ้าน ยังอยู่กับตัวนี้หรือเปล่า ตัวนี้ยังอยู่หรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : อยู่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วทำไมจะต้องถาม มีเวลาศึกษาศึกษาไหม เพราะว่าตัวนี้ก็คือธรรมชาติอันหนึ่งใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะฉะนั้นการที่จะศึกษาธรรมชาติ ถ้าไม่มีเวลาจะออกป่า ออกเขา ออกทะเล ก็ยังศึกษาได้เพราะธรรมชาติอยู่กับเราตลอดเวลาใช่ไหมคะ เราไปกับมันตลอดเวลา มีทั้งธรรมชาติที่มองเห็นคือรูปร่างกายนี้ มีทั้งธรรมชาติที่อยู่ข้างในคือตัวจิต ที่มันแสดงอาการของความรู้สึก ขึ้นลงๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราก็ศึกษาจากธรรมชาติที่ตัวนี่ล่ะดีที่สุด ทำไมถึงว่าดีที่สุด เพราะเป็นของจริง เป็นของจริงที่อยู่ติดตัวเราใช่ไหมคะ มันอยู่ติดตัวเรา เพราะฉะนั้น มันหาไม่ยาก ดูเมื่อไร เห็นเมื่อนั้น ศึกษาเมื่อไรรู้เมื่อนั้น
ผู้ร่วมสนทนา : แต่จริงไม่อยากรู้เรื่อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ไม่อยากดูเพราะอะไร กลัว ขี้ขลาดๆ ขี้ขลาดทำไม ขี้ขลาดเพราะดูแล้วจะเห็นของจริง
ผู้ร่วมสนทนา : ทำไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เห็นของจริงที่ของจริงอันนี้มันไม่ได้สวยงามเสมอไป ไม่สวยงามในมาตราฐานของเรา มาตราฐานของเราๆไม่ยอมรับว่ามันสวยงาม เราไม่ยอมรับว่ามันน่ารัก น่าชม เพราะมันไม่ได้อย่างใจเรา แต่ถ้าหากว่าเราค่อยๆทำใจให้คุ้นเคย เราจะค่อยๆเห็นว่า สิ่งที่น่ารัก น่าชมมันก็เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ไอ้สิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าชม ขี้เหล่ มันก็เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง แล้วเราจะค่อยๆเคยชิน เคยชินกับสิ่งที่น่ารัก น่าชม ที่อยากได้มาก ค่อยรู้สึกว่า มันก็อย่างนั้นเอง แล้วความดิ้นรนก็จะลดลง แล้วความรู้ที่ถูกต้องจะค่อยๆเกิดขึ้น ซึ่งมันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง เผอิญเราไม่มีมีเวลาที่จะได้พูดกันอีกแล้วในตอนนี้ ก็เห็นจะต้องจบเรื่ององค์ประกอบของชีวิต เอาเพียงแค่ข้อที่ 3 คือแสวงหาความรู้ ที่ถูกต้อง เพื่อเกิดการกระทำที่ถูกต้อง ที่เราจะพูดกันต่อไปให้คราวหน้านะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ