แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ ธรรมะสวัสดีนะคะ เราก็คงจะคุยกันเรื่องของชีวิตต่อไป วันนี้อยากจะขอถามสักนิดหนึ่งได้ไหมคะ เผื่อว่าท่านผู้ชมจะได้ชวนนึก ชวนให้ท่านผู้ชมได้นึกขึ้นได้ด้วยว่า เราพูดถึงเรื่องของชีวิตนี้มีสาระสำคัญอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : ชีวิตคืออะไรใช่ไหมครับ ชีวิตคือส่วนประกอบของกายและจิต ซึ่งต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ด้วยกันตลอดเวลา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ชีวิตก็คือกายและจิต ที่มันจะต้องทำงานร่วมกัน คือกายกับจิตต้องทำงานด้วยกันตลอดเวลานะคะ แล้วก็ชีวิตอันที่จริง เมื่อเราพูดถึงชีวิตนี่ เราหมายถึงระบบของการดำเนินชีวิตทั้งชีวิต เมื่อเราจะให้ระบบของการดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ก็จำเป็นที่เราจะต้องรู้ว่าชีวิตนี้มันควรจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ หรือมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ : ๔ ประการ ๑.ปัจจัยของชีวิต
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ปัจจัยของชีวิต เราต้องมีปัจจัยของชีวิตแล้วก็
ผู้ดำเนินรายการ : ๒. สิ่งแวดล้อม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สิ่งแวดล้อมของชีวิตซึ่งมีอิทธิพลมากเลย ปัจจัยของชีวิตจะเป็นฉันใด มันมักจะเนื่องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมของชีวิต ซึ่งเรามุ่งไปที่สิ่งแวดล้อมของชีวิตที่จะมีอิทธิพล คือที่อะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ค่านิยม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่านิยม แล้วก็ที่เรามักจะอะไร ตะบึงดึงดันไปกับค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง นั่นก็เป็นเพราะอะไรที่เป็นสาเหตุ
ผู้ดำเนินรายการ : ตัณหา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตัณหา ความอยาก เพราะเราปล่อยให้ชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะเรานะ มนุษย์ทั่วไป มักจะปล่อยให้ชีวิตนี้อยู่กับความอยากมากกว่าอย่างอื่น ชีวิตนี้อยู่กับความอยาก แล้วพอไม่ได้สมอยากก็ชดเชย ชดเชยความอยากให้มันสาแก่ใจ พอบอกจะชดเชยให้มันสาแก่ใจ มันก็สาแก่ใจ แต่มันสาแก่ใจไปในทางที่มัวเมายิ่งขึ้น มัวเมายิ่งขึ้น ด้วยชดเชยด้วยสิ่งภายนอกต่างๆนานา เหมือนอย่างที่เรากล่าวมาแล้ว เพราะอะไร เพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง แล้วความอยากนี่ มันทำให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมาไม่ได้ มันมาบดบัง ทีนี้วิธีที่เราจะแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องได้นั้น เราจะแสวงหาที่ไหนคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ตัวเรา ที่ธรรมชาติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมชาติ ธรรมชาตินี้มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่เฉพาะแต่ธรรมชาติรอบนอก ไม่ต้องมาถึงสวนโมกข์ ไม่ต้องมาถึงป่าเขาลำเนาไพร ไม่ต้องไปเที่ยวทะเล ไม่ต้องไปปีนเขา ธรรมชาตินี้
ผู้ดำเนินรายการ : ตัวเรารึเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถูกแล้ว นี่ก็คือตัวธรรมชาติ ฉะนั้นใครที่บอกว่าจะศึกษาธรรมชาติแล้วไม่มีเวลา เรียกว่าเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น ฟังไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนเนี่ย มันลากนี่ไปเสมอนะคะ ดูเหมือนครูจะเคยเล่าเรื่องไม่ใช่นิทาน หนังสือเรื่องเด็กชายมะลิวัลย์ จำได้ไหม ที่ครูเคยเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับเด็กอ่าน รู้สึกว่าผู้เขียนจะเป็นประภัสสร
ผู้ดำเนินรายการ : ประภัสสร เสวิกุล
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นน่ะที่พูดถึงเด็กชายมะลิวัลย์ ที่เผอิญขาพิการนิดหน่อย แล้วเวลาเดินขาก็กระเผลก แล้วเพื่อนก็ล้อ ล้อว่าไอ้เป๋หรืออะไรนี่นะคะ แล้วเขาก็อาย รู้สึกว่าเจ็บใจมากทุกครั้งที่ได้ยินเพื่อนเรียกอย่างนั้น วันหนึ่งเขาก็ปรารภกับเพื่อนเขา เราไม่อยู่อะที่นี่ เราจะต้องหนีไปซะ ที่จริงยังเป็นเด็กนักเรียนประถมนะ เพื่อนก็ถามว่า เอ๊ แล้วเวลาแกไป แกจะเอาขาแกไปด้วยหรือเปล่า เด็กชายมะลิวัลย์ก็บอก อ้าว ขาของเรานี่ เราก็ต้องเอาไปสิ ก็คงเดาออก เพื่อนก็บอกว่า โอ๊ย ถ้าแกเอาขาแกไปด้วย แกก็หนีไม่พ้น หนีไม่พ้น แกจะหนีไปไหน เพราะขานี่มันอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นวิธีที่จะแก้ก็คือ แกต้องศึกษา นี่ไม่ได้พูดนะตอนนี้ครูต่อคำพูดแล้ว ต่อคำพูดของเพื่อนของเด็กชายมะลิวัลย์ เราก็ต้องมาศึกษาที่ตัวนี้ ที่ตัวธรรมชาติอันนี้ เราจะได้รู้จักแล้วก็เห็นจริงว่ามันเป็นยังไง
ถ้าเราศึกษามันเมื่อไหร่ เราก็จะมองเห็นว่าความรู้ที่ถูกต้องนั้นคืออะไร เราก็รู้มามากเลย มนุษย์เราทั้งหลายนี่มีความรู้กันเยอะสารพัด รู้จากการศึกษา รู้จากประสบการณ์ รู้จากสิ่งแวดล้อม จากหนังสือที่ได้อ่าน จากอะไรต่ออะไรต่างๆ เรารู้มาก แต่ความรู้เหล่านั้นมันไม่ได้หยุดความอยากของเรา บางทียิ่งรู้มากยิ่งอยากมาก แล้วก็ยิ่งดิ้นรนใหญ่เลย ชีวิตก็กลายเป็นการดิ้นรน และกระเสือกกระสน กระวนกระวายมากใหญ่เลย เพราะฉะนั้นเรายิ่งรู้ใหญ่ ยิ่งรู้มาก เราจึงทำอย่างไร เราถึงจะหยุดความดิ้นรนนั้นได้ นั่นก็คือว่า ต้องมองเห็นว่าวิชชา คือวิชา ช ตัวเดียว ก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่ชีวิตจะต้องการ เป็นปัจจัยหนึ่งของชีวิต
แต่ถ้าหากว่าเราให้ความสนใจแต่การที่จะศึกษาหาความรู้ด้านนอกอย่างนั้นอย่างเดียวแล้วล่ะก็ ชีวิตนี้มันยังไม่สมบูรณ์ มันจะต่อเนื่อง ระบบของชีวิตจะต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนไม่ได้ เราจึงควรที่จะต้องหาสิ่งที่เป็นความรู้อันถูกต้อง อันเกิดจากการศึกษาธรรมชาติ นั่นก็คือ หาความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากการศึกษาข้างใน หรือการศึกษาภายใน ก็ศึกษาที่ตัวนี้ ตัวธรรมชาติตัวนี้ แล้วก็ศึกษาลงไปที่ข้างใน ที่มันเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น ให้เราคิดอย่างนี้ ถ้าเรามองดูเรารู้เมื่อไหร่ รู้ความจริงของธรรมชาติอันนี้เมื่อไหร่ ว่าธรรมชาติที่แท้จริงนั้น มันคือความเปลี่ยนแปลง คือมันเป็นไปอยู่ทุกขณะ
ผู้ดำเนินรายการ : เอากระจกมาส่องเหรอ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าตอนแรกๆ ก็อาจจะใช้กระจกส่อง เพื่อให้มันสะท้อนมองหา มองเข้ามาเห็น อย่างน้อยถ้าเรามองเข้าไปลึกเข้าไปให้เห็นไม่ได้ เรามองดูกระจกของเรา กระจกที่จะส่องให้เห็น วันนี้หน้าตาเป็นอย่างไร แจ่มใส หรือวันนี้หน้าตาเต็มไปด้วยริ้วรอย หรือว่าวันนี้ผมขาวขึ้นอีกเส้น อย่างแม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดิน จำได้เลยเวลาอ่าน แม่พลอยส่องกระจกแล้วก็มองเห็นผมขาวเส้นแรก แต่แม่พลอยนี่คงจะเป็นผู้ที่ได้ศึกษาชีวิตอยู่ตลอดเวลา แล้วพอเห็นผมขาวเส้นแรก คนทั่วไปมักจะเป็นยังไง สาวๆ
ผู้ดำเนินรายการ : จะดึง ถอนออกมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำไมต้องดึง ต้องถอน
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะว่าอาย อย่าให้ใครรู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อาย ไม่ชอบ กลัว ตกใจ ทุกข์ใจว่าอะไร โอ๊ย เราจะแก่ซะแล้ว กลัวความแก่ ทั้งที่ความแก่นี่แหละคือความจริงของธรรมชาติใช่ไหมคะ แต่ก็กลัวความแก่ แล้วหนีพ้นไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่พ้นครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่กำลังแก่ทุกวันๆ ใช่ไหม ถึงจะยังสาวอยู่แต่กำลังเข้าสู่ความแก่ทุกวันๆ แล้วจะหนีไปไหน แต่แม่พลอยไม่ตกใจ จำได้เลยที่อ่านนี่ แม่พลอยไม่ตกใจ แม่พลอยมองเห็นว่า นี่เป็นธรรมดา ธรรมดาของชีวิตมันเป็นอย่างนี้เอง ธรรมดาของชีวิตมันเป็นอย่างนี้เอง นี่แหละเพราะแม่พลอยคงจะได้ศึกษาเรื่องธรรมชาติที่เป็นความจริงของชีวิตอยู่เสมอ พอเห็นเข้าไม่ตกใจ ไม่ตกใจก็ไม่ต้องเสียกำลังใจ ไม่ต้องชดเชย ไม่ต้องย้อมผม ไม่ต้องเสียเงินไปย้อมผม
ผู้ดำเนินรายการ : พูดอย่างนี้ยาย้อมผมขายไม่ดีเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าในบางครั้ง ในบางกรณี มันก็อาจต้องการเหตุปัจจัย
เหมือนสมัยก่อนนู้น ครูก็ย้อมเหมือนกันแหละผม เพราะครูรู้สึกว่าการย้อมผมนี่ มันก็เป็นความจำเป็นแก่กรณีในสมัยโน้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้นี่มันก็มองเห็นว่ามันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราจะต้องไปย้อมผม ที่พูดนี่ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีผมนะ แล้วก็เลยมาบอกว่าไม่ต้องย้อม แต่ว่าถึงมีผมก็คงจะยอม จะยอมให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะอย่างไรเสียเราก็ไม่สามารถจะฝ่าฝืนธรรมชาติได้ ธรรมชาติมันก็เป็นของมันอย่างนี้เอง ฉะนั้นอย่างที่แม่พลอยมองดู แล้วก็มองเห็นผมขาว แล้วแม่พลอยก็เฉยได้นี่ ก็คงจะได้ศึกษาเรื่องความจริงของธรรมชาติอยู่ อยู่เนืองนิตย์ก็ได้ จากประสบการณ์ในชีวิตก็ได้ ทีนี้อย่างจเลิศบอกว่า อะไรนะ
ผู้ดำเนินรายการ : กระจกมาส่อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เอากระจกมาส่อง สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถจะศึกษาธรรมชาติของตัวร่างกายนี้ได้ มันก็ดีเหมือนกัน มันก็เป็นวิธีการหนึ่งนะคะ เพราะพอเราส่องกระจกเราก็จะแต่งตัวให้สวย ตกแต่งให้งดงาม เราก็จะมองเห็นว่า เช้าวันนี้เป็นอย่างไร หรือส่องตอนเย็นเมื่อกลับจากบ้าน เป็นอย่างไร หน้าตาทำไมไม่สดชื่นเหมือนอย่างตอนเช้า มันเหตุปัจจัยอะไร
พอเห็นอย่างนี้ล่ะก็ อย่าไปมัวคร่ำครวญ ทำไมนะถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมนะถึงเป็นอย่างนี้ คือทำไมนะ เพราะมันไม่ถูกใจ มันอะไรล่ะ มันห่อเหี่ยว มันไม่สดสวยงดงาม อย่าไปมัวเสียใจ ดูเหตุปัจจัยทันที ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ อ๋อ วันนี้เราทำงานมาก มันมีงานเข้ามาไม่ได้หยุดหย่อนเลย จะหาเวลานั่งพักที่เรียกว่าให้หายใจสบายๆ ก็ยังทั้งยาก อ้อ นี่คือเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเมื่อเราทุ่มเทไปมากด้วยความที่รักในงานนั้น แล้วก็ด้วยความที่อยากให้งานนั้นดี เราก็เลยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมากกว่าธรรมดา แล้วพอกลับมาบ้านเข้า มองดูหน้าตามันก็เลยไม่สดชื่น นี่คือเหตุปัจจัย
พอเรารู้อย่างนั้นแล้ว ถ้าเรามีความรู้ถูกต้อง แล้วเราก็รับว่านี่เป็นธรรมดา ธรรมดาธรรมชาติของการทำงานมันก็เป็นอย่างนี้ จะแก้ไขอย่างไรล่ะ ไปอาบน้ำอาบท่า พักผ่อน ทำจิตใจให้สบาย ลืมปัญหาที่ทำงานซะ กินข้าว นอนให้หลับ
ผู้ดำเนินรายการ : แต่อย่าชดเชยด้วยการเที่ยวต่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็อย่าชดเชยด้วยการเที่ยวต่อ อย่าชดเชยด้วยการไปสนุกสนานเฮฮา หรือไปการเสพสุรายาเมาอย่างที่ว่า เพราะว่ามันจะยิ่งทำให้ตื่นเช้าขึ้น สลัวมัวเมางัวเงียยิ่งขึ้น แล้วก็จะดูตัวเองไม่ได้เลย นี่เรียกว่าเป็นการดูข้างนอก แต่ถ้าหากว่าเราส่องกระจกดูข้างนอกนี่นะ แล้วเราก็ดูแล้วก็ใคร่ครวญทุกทีที่เราเห็นอะไรความผิดแปลกเกิดขึ้นกับร่างกายนี้ แม้แต่ว่าบางทีเราจะเผอิญไปหกล้มแข้งขาหัก หรือว่าบางทีจะไปประสบอุบัติเหตุ บางทีเผอิญช่างตัดผมเขานี่ เวลาที่เราไปย้อมผมก็ดีนะ แล้วเสร็จแล้วยานี่ น้ำยานี่แหม มันไหลลงมามากเกิดเข้านัยน์ตา นัยน์ตาเกิดมันแดงไม่สวยงามเลย ก็มองให้เห็นว่านี่เป็นเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็แก้ไข อย่างนี้ก็เรียกว่าเราจะค่อยๆ มองเห็นความเป็นธรรมดา และความรู้ที่ถูกต้องจะค่อยๆ เกิดขึ้นในจิตเราทีละน้อย ละน้อย
ผู้ดำเนินรายการ : อย่างที่เขาเรียกว่า ปลงซะเถอะแม่จำเนียรเอ๊ย ว่าอย่างนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าในความปลงนั้นมีความยอมรับ และความยอมรับในความปลงนั้น เป็นความยอมรับอย่างเต็มใจ ไม่ได้บังคับ ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ฝืนใจ ไม่ต้องข่มใจ ไม่ใช่ยอมรับ ฉันยอมรับ ฉันยอมรับนะ แต่ว่าใจไม่ยอมรับเลยไม่ใช่อย่างนั้น นี่เรารับ รับด้วยความชื่นชม ชื่นบาน ชื่นบานแจ่มใส เพราะรู้แล้วว่านี่เป็นความจริง นี่เป็นความจริงที่ไม่มีใครจะฝืนกฎของธรรมชาติได้
ผู้ดำเนินรายการ : ผมว่ายากนะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ยากสิ เพราะฉะนั้นเราถึงได้ดิ้นรนกันอยู่ ยอมอยู่ในอ่างของความดิ้นรน หรือในบึงในบ่อของความดิ้นรน มากกว่าที่จะขึ้นจากบ่อ เพราะว่ามันยาก ไม่ยอมตะเกียกตะกายขึ้นมา
ผู้ดำเนินรายการ : ขั้นต้นที่ อย่างที่อาจารย์ว่าอยู่ในบ่อของความดิ้นรนนี่นะ อยากจะตะกายขึ้นมาสักขั้นหนึ่งน่ะ ขั้นต้นควรทำอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขั้นต้นควรทำอย่างไร อย่างทำอย่างจเลิศว่านี่แหละ ส่องกระจกดูกายเนื้อ แล้วเสร็จแล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลง ก็ใคร่ครวญดูเหตุปัจจัยของมัน พอใคร่ครวญก็มองเห็นว่า นี่คือความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมดาก็นึกดูนะคะ ดูเอง ทุกคนน่ะดูเอง ตื่นขึ้นเหมือนกันทุกเช้าไหม หน้าตาร่างกายเรา ถึงบ้านตอนเย็น นี่ทำงานกันแล้วทุกคน เหมือนกันทุกวันไหม หน้าตารวมทั้งจิตใจความรู้สึกของเราด้วย เหมือนกันทุกวันไหม
ผู้ดำเนินรายการ : เอาแค่นี้ก่อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน :เอาแค่นี้ก่อนง่ายๆ ดูแค่นี้ก่อน จะเห็นเลยว่า มันเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง ถึงแม้ในความที่บอก มันก็เหมือนกัน มันก็ยังมีความแตกต่างกันในดีกรีหรืออัตรา ใช่ไหมคะ มันยังไม่เหมือนกันซะทีเดียว มันไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย แต่พอเราเห็นความไม่เหมือนกันหรือความแตกต่างนี้ ไม่ต้องไปเสียเวลาคร่ำครวญกับมัน ดูเหตุปัจจัยทันที อะไรคือเหตุปัจจัย อะไรคือเหตุที่มันให้ทำเป็นอย่างนี้ อะไรคือปัจจัย เช่นอย่างสมมติว่า เหตุปัจจัยนี่นะคะ เหตุก็คือว่า คำพูด สมมติว่าคำพูดที่เราได้ยินมันมากระทบจิต ความรู้สึกของเราดังปังใหญ่ แล้วเราก็ยอมรับไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ : เพื่อนนินทา สมมติว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สมมติว่าเขาว่าเรา ไม่ต้องนินทาล่ะ เขาว่าเราตรงๆ นี่แหละ ด้วยคำพูดที่เรายอมรับไม่ได้ แล้วเสร็จแล้ว นี่เป็นเหตุที่กระทบ เสร็จแล้วจิตของเราในทันทีนั้นน่ะ มันนำเอาสัญญาความจำได้ว่า คนคนนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พูดอย่างนี้ ที่ว่าอย่างนี้ เราก็นำอันอื่นมาเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เหตุคำพูดที่เราได้ยินตอนนี้ มันยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น มันยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเราทนไม่ได้ เราจะต้องมีอาการตอบโต้ออกไป ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้
เพราะฉะนั้นอันนี้ เราก็ต้องดูเหตุปัจจัย แต่ถ้าเรารู้ว่า นี่มันก็เป็นธรรมดา คนนี้วันนี้เขาพูดอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาพูดอย่างนี้ เมื่อวันก่อน อาทิตย์ก่อน เขาพูดจาน่าฟัง น่าฟัง พูดเพราะๆ นี่มันก็เป็นเหตุปัจจัยเกี่ยวกับตัวเขาอีกเหมือนกัน วันก่อนเขาอาจจะมีความรู้สึกเป็นสุขใช่ไหม แล้วก็แหม เห็นใครก็อยากให้เป็นสุขด้วย แต่วันนี้เผอิญเขามันแห้งเหลือเกินในใจเขา มันก็เลยแล้งไปกับคนอื่นหมดทุกคนๆ นี่ก็เหตุปัจจัยของเขา แต่ถ้าเรารู้ความเป็นธรรมดา แล้วเราก็ย้อนไปดูเหตุปัจจัย เราก็หยุดได้ นี่แหละความรู้ที่ถูกต้อง
ผู้ดำเนินรายการ : อารมณ์ขุ่นมัวของเราก็ขาด ก็คลายลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็คลายลง แล้วก็จนกระทั่งหมดไปก็ได้ นี่ก็เกิดจากการที่เราจะดู ดูลงไปจนกระทั่งเราเห็นความจริงอันนี้ แล้วเกิดความรู้ที่ถูกต้องเกิดขึ้น ทีนี้ความรู้ที่ถูกต้องนี้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้การกระทำถูกต้อง
การกระทำนี้ก็ต้องประกอบด้วยกาย วาจา ใจ สามอย่าง แล้วก็ เราก็รู้แล้วว่า กายคือการกระทำทางกาย วาจาคือการที่พูดออกมา การกระทำจะน่าดู หรือว่าน่าชม นุ่มนวลอ่อนโยน วาจาจะไพเราะ ฟังสละสลวยรื่นหู มันก็ต้องแล้วแต่ แล้วแต่อะไร แล้วแต่ใจ ถ้าใจคิดดี วาจามันก็ดี กายคือการกระทำก็ดี ถ้าใจมันคิดไม่ดีคือคิดหม่นหมอง คิดขัดเคือง คิดไม่ชอบใจ วาจามันก็พรั่งพรูออกมาด้วยความร้อนแหละใช่ไหม แล้วการกระทำมันก็ฮึดฮัด มันก็ไม่น่าดู อาจจะเสียงดัง เอะอะ ตึงตังก็ได้ เพราะฉะนั้นนี่แหละ ท่านจึงบอกว่ากายกับใจนี่ มันต้องประกอบกัน ทำงานร่วมกัน ชีวิตของเราประกอบด้วยกายกับใจ ใจนี่เป็นประธาน กายก็คือมีกายกับวาจาที่ออกมาเป็นอาการที่ผ่านมาทางกาย ๒ อย่างนี่ เรามาจัดเข้าว่ามันอยู่ในกาย เพราะอะไร เพราะว่ามันปรากฎออกมา มันรู้ได้เห็นได้ โดยคนอื่นรู้ได้เห็นได้อย่างง่ายๆ อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันเนื่องจากใจ ถ้าหากว่ากาย วาจา จะเป็นอย่างไร มันก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นรู้ว่าชีวิตของเรานี้ประกอบด้วยกายกับใจ และกายกับใจนี้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้วาจาถูกต้อง เราอยากจะให้การกระทำถูกต้อง เราก็ต้องอบรมใจของเรา ทำใจให้ถูกต้อง แล้วเสร็จแล้ว ๒ อย่างนี้มันจะทำงานประสานกัน ก็เป็นคนที่มีแต่ความเยือกเย็น ผ่องใส เป็นสุข ใช่ไหมคะ การกระทำในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การกระทำทางกายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการกระทำทางกายที่เราจะ อะไรล่ะ บำรุงบำเรอกายด้วยอาหารอย่างดีวิเศษนั่นนะ หรือว่านอนด้วยที่นอนหนาอ่อนนุ่มนะ หรือว่าสวมเสื้อผ้างดงาม อยู่ในบ้านแอร์คอนดิชั่นสุขสบายอะไรอย่างนั้น ไม่ได้หมายถึงส่วนประกอบของกายข้างนอก แต่หมายถึงกายอันจะออกมาจากการกระทำและวาจา นี่ถ้ามัน กายกับใจเนี่ย มันทำงานประสานกัน มันจะมีความกลมกลืน แล้วระบบของการดำเนินชีวิตนี่ ถึงจะเป็นไปอย่างราบรื่น ราบรื่นแล้วก็ทำให้เกิดความสุข ชีวิตนี้ก็จะหยุดความดิ้นรนได้ ไม่ต้องดิ้นรนด้วยความอยาก
ที่จเลิศพูดเมื่อคราวก่อนโนันบอกว่าชีวิตคือการต่อสู้ ที่จริงก็จะเห็นว่า นี่จากการที่เราพยายามจะศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้อง ต่อสู้อย่างยิ่ง ต่อสู้กับอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ความไม่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า ต่อสู้กับตัณหา ต่อสู้กับความอยาก ต่อสู้กับกิเลสที่มันรุกเร้าเข้ามาในจิต เพราะเรายอมตน ยอมใจตกเป็นทาสของมันมานาน เพราะฉะนั้นตอนนี้นี่ ก็จะต้องต่อสู้อย่างยิ่งเลย ต่อสู้กับเจ้าตัวกิเลส ฉะนั้นถ้าจะถามว่า ชีวิตคือการต่อสู้ สู้กับอะไร ไม่ใช่ไปสู้รบกับใคร ใช่ไหม ไม่ได้ไปสู้รบต่อตีกับใครสักคนหนึ่ง ไม่ได้ไปสู้รบกับใครเลย
ผู้ดำเนินรายการ : สู้กับตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ต่อสู้อยู่กับใจของตัวเองนี่แหละ ใจที่เดี๋ยวก็จะดึงเอามา เดี๋ยวก็จะผลักออกไป เดี๋ยวก็เอา เดี๋ยวก็ไม่เอา เดี๋ยวก็เอา เดี๋ยวก็ไม่เอา ต่อสู้อยู่กับอันนี้ ใช่หรือเปล่า ตลอดชีวิตของเรา
ผู้ดำเนินรายการ : แต่เราแพ้มันเป็นส่วนใหญ่ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ต้องบอกหรอก แพ้ตลอด แพ้มาเรื่อย แพ้มาเรื่อย แพ้มาเรื่อย แล้วทีนี้เราจะยอมแพ้ต่อไปไหม ถ้าเราเห็นว่าเรานี้เป็นคนน่ะ เป็นคน เป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญา เป็นปัญญาชนผู้มีความฉลาดนี่ เราอยากจะแพ้ต่อไปไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่อยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่อยากก็หันมาศึกษาเรื่องของชีวิต ไม่ต้องไปศึกษาอื่น ศึกษามามากแล้วใช่ไหมคะ ศึกษามาจากวิทยาลัย มหาวิทยาลัย จนได้ปริญญากันมาก็มากมายแล้ว แต่ก็ยังต่อสู้อยู่นั่นเอง ไม่ได้ต่อสู้กับคนอื่น ต่อสู้กับข้างใน ถ้าชนะข้างในเมื่อไหร่ มันก็ไม่ต้อง ไม่ต้องไปต่อสู้กับคนอื่น ชีวิตนี้ก็ราบรื่น
เหมือนอย่างเด็กชายมะลิวัลย์ พอเขาได้ฟังเพื่อนเขาถาม แล้วแกไปแกจะเอาขาแกไปด้วยหรือเปล่า เท่านั้นแหละได้คิด มะลิวัลย์ไม่ย้ายโรงเรียน ไม่ไปไหนอีก เพราะรู้ว่าถึงไปไหน ขานี่มันต้องไปด้วย ยังไงเสียมันก็หนีไม่พ้น ตกลงเขาก็อยู่กับที่ แล้วก็ต่อสู้กับความเป็นธรรมดาที่เพื่อนจะล้อ ถ้าเราไม่สะดุ้งสะเทือนเสีย คำล้อนั่นมันก็ด้านไปเองใช่ไหม หมด หมดอำนาจจะมาทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ ความรู้ที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง แล้วรูปกับนาม หรือกายกับจิตก็จะทำงานอย่างประสานกัน ระบบของการดำเนินชีวิตก็จะค่อยต่อเนื่องกัน สัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน แล้วชีวิตนี้ก็จะเป็นชีวิตที่เรียกว่าเป็นสุข สงบเย็น สมกับที่เราต้องการยิ่งขึ้น
ธรรมสวัสดีนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ